นิทรรศการศิลปะนานาชาติ Skulptur Projekte Münster เป็นหนึ่งในนิทรรศการศิลปะที่ยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดในโลก จัดขึ้นในเมืองมึนส์เทอร์ (Münster) ประเทศเยอรมนี ในทุกๆ 10 ปี นิทรรศการนี้ถูกริเริ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี 1977 โดย โคนิก และ เคลาส์ บุสมันน์ (König & Klaus Bussmann) โดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเยียวยาเมืองมึนส์เทอร์ที่ซบเซาและเสียหายจากสงคราม ด้วยการแสดงงานประติมากรรมและงานศิลปะสาธารณะ (Public Art) ในพื้นที่เมืองเก่าที่กำลังฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ และเพื่อเป็นการสร้างเสริมสุนทรียภาพและความรู้ให้กับสาธารณชนด้วยงานศิลปะร่วมสมัยด้วย

ศิลปินชั้นนำของโลกอย่าง โจเซฟ บอยส์ , คาร์ล อังเดร, โดนัลด์ จัดด์, ริชาร์ด เซอร์รา , ริชาร์ด ลอง, บรูซ นาวมัน (Bruce Nauman), และ คเลยส์ โอเดนเบิร์ก ต่างก็เคยแสดงผลงานในนิทรรศการนี้มาแล้วทั้งสิ้น ทุกวันนี้มันเป็นนิทรรศการแสดงงานประติมากรรมและงานศิลปะสาธารณะร่วมสมัยที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก และในปี 2017 ที่ผ่านมา นิทรรศการนี้ก็เวียนกลับมาจัดขึ้นอีกคำรบเป็นครั้งที่ 5

ด้วยความที่มันเป็นนิทรรศการที่ค่อนข้างซีเรียสจริงจังเอาการ งานที่แสดงในนิทรรศการนี้จึงมักจะมีประเด็นอันเข้มข้นเกี่ยวกับสังคม การเมือง หรือแม้แต่ศาสนา ด้วยความที่มันเป็นนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยที่ติดตั้งในพื้นที่สาธารณะและชุมชน ผลงานแต่ละชิ้นที่แสดงในนิทรรศการนี้จึงต้องผ่านการอนุมัติเห็นชอบจากทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม (Civil Society) ของเมือง ซึ่งกว่าจะทำได้ก็ต้องผ่านการอภิปรายถกเถียงเพื่อให้ผ่านการอนุมัติกันอย่างเข้มข้นยาวนาน จึงไม่น่าแปลกใจที่กว่ามันจะจัดได้แต่ละครั้งก็ต้องรอคอยกันเป็นทศวรรษแบบนี้

ในคราวนี้เราจะพูดถึงผลงานของศิลปินที่ร่วมแสดงในนิทรรศการ Skulptur Projekte Münster  ที่มีความโดดเด่นและถูกพูดถึงมากที่สุดชิ้นหนึ่ง มันเป็นผลงานของศิลปินผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในศิลปินร่วมสมัยคนสำคัญที่สุดของตุรกี ผู้มีชื่อว่า ไอเซ่ แอคมัน (Ayşe Erkmen)

เกิดในปี 1949 ที่เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี แอคมันจบการศึกษาสาขาประติมากรรมจาก Academy of Fine Arts แห่งอิสตันบูล ในปี 1977 และเข้าร่วมโครงการศิลปินพำนักนานาชาติของ DAAD (ทุนการศึกษาจากองค์กรแลกเปลี่ยนทางวิชาการของเยอรมนี) ในเบอร์ลิน ปัจจุบันเธออาศัยและทำงานอยู่ทั้งในกรุงเบอร์ลิน และอิสตันบูล

นับตั้งแต่ปี 1977 แอคมันทำงานศิลปะกับพื้นที่เฉพาะเจาะจงอย่างห้อง พื้น ผนัง เพดาน หน้าต่าง ประตู ใต้ถุน หลังคา ด้านหน้าอาคาร ไฟติดเพดาน ช่องแสง และลิฟต์โดยสาร และถึงแม้โครงการศิลปะเชิงวิจัยของเธอจะทำงานกับพื้นที่อันเฉพาะเจาะจงในโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมเหล่านั้น ทั้งในแง่ของภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ รวมถึงทำงานกับสภาพแวดล้อมรอบข้าง ทั้งในเชิงกายภาพและสังคม ผลงานของเธอมักจะไม่ได้เป็นการสร้างวัตถุอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา หากแต่เป็นการปรับเปลี่ยนสถาปัตยกรรม สภาวะ และบริบททางสังคม รวมถึงแฝงนัยยะทางการเมืองอันเข้มข้นอย่างยิ่งเข้าไปด้วย

แอคมัน เป็นที่รู้จักในวงกว้างจากผลงานที่เธอเป็นตัวแทนของประเทศตุรกี ร่วมแสดงในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิสเบียนนาเล่ ครั้งที่ 54 ในปี 2011 ด้วยผลงานชื่อ Plan B (2011) ในศาลาตุรกี (Turkish Pavilion) ในอาคาร Venetian Arsenal ที่ประกอบด้วยโครงข่ายของท่อน้ำหลากสี ที่นอกจากจะเป็นทั้งประติมากรรมจัดวางเฉพาะพื้นที่แล้ว มันยังเป็นระบบบำบัดน้ำเสียที่ดูดน้ำเสียจากลำคลองของเมืองเวนิส ภายนอกอาคาร มาผ่านกระบวนการกรองด้วยระบบ รีเวอร์ส ออสโมซิส (Reverse Osmosis) (ก็ระบบเดียวกับที่ใช้ในตู้กดน้ำดื่มบ้านเรานั่นแหละ) ที่ติดตั้งอยู่ในท่อภายในพื้นที่แสดง จนเปลี่ยนเป็นน้ำสะอาดที่ดื่มได้ปล่อยกลับลงสู่คลอง ผลงานชิ้นนี้ของเธอเป็นการแสดงออกถึงความสัมพันธ์อันซับซ้อนและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ของเมืองเวนิสที่มีต่อน้ำนั่นเอง

Plan B (2011), ศาลาตุรกี, มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิสเบียนนาเล่ ครั้งที่ 54, ถ่ายภาพโดย Roman Mensing, ภาพจาก https://hyperallergic.com/388051/walking-on-water-at-skulptur-projekte-munster/

Plan B (2011), ศาลาตุรกี, มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิสเบียนนาเล่ ครั้งที่ 54, ถ่ายภาพโดย Roman Mensing, ภาพจาก https://www.flashartonline.com/article/ayse-erkmen/

หรือ Kuckuck (2003) ผลงานที่แสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปะ St. Gallen ในเมืองเซนต์ กัลเลน, สวิตเซอร์แลนด์ ที่แชร์พื้นที่กับพิพิธภัณ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ โดยเธอเปลี่ยนพื้นที่ภายในของพิพิธภัณฑ์ให้กลายเป็นนาฬิกาคุกคู (หรือนาฬิกาที่มีนกโผล่ออกมาร้องบอกเวลา) แต่แทนที่จะเป็นนกแกะสลักตัวเล็กโผล่ออกมาจากหน้าต่างตามปกติ ระบบนาฬิกาของเธอกลับหยิบยืมสัตว์สตัฟฟ์จากคอลเล็คชั่นของพิพิธภัณ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติที่มีทั้ง จระเข้เคแมน อีแร้ง แอนทิโลป สิงโต มาวางบนแท่นติดล้อ และปล่อยให้ไหลเลื่อนมาจ๊ะเอ๋กับผู้ชมในห้องแสดงงานตามเวลาที่ตั้งเอาไว้

Kuckuck (2003), พิพิธภัณฑ์ศิลปะเซนต์ กัลเลน, สวิตเซอร์แลนด์, ภาพจาก https://teztaze.wordpress.com/2009/12/08/malzeme-olarak-simdi-ve-burasi-ayse-erkmen/

ในปี 1997 แอคมันเคยแสดงงานในนิทรรศการ Skulptur Projekte Münster ครั้งที่สาม ด้วยผลงานศิลปะที่เป็นที่อื้อฉาวและกล่าวขานกันอย่างมาก โดยแรกเริ่มเดิมที เธอแสดงเจตจำนงที่จะทำงานศิลปะในมหาวิหารเซนต์ปอล ซึ่งเป็นวิหารนิกายโรมันคาทอลิกชื่อดังของเมืองมึนส์เทอร์ แต่ข้อเสนอของเธอกลับถูกปฏิเสธโดยคณะกรรมการคริสตจักร ถึงสามครั้งสามครา ด้วยเหตุผลต่างๆ นาๆ แต่หลายคนสงสัยว่า เหตุผลที่แท้จริงก็คือ มันเป็นผลงานศิลปะร่วมสมัยที่ทำโดยศิลปินที่มาจากประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ยิ่งไปกว่านั้นศิลปินคนที่ว่ายังเป็น ‘ผู้หญิง’ อีกด้วย (ซึ่งก่อนหน้านี้ในอดีตนิทรรศการ Skulptur Projekte Münster เป็นพื้นที่ที่จำกัดให้แต่ศิลปินเพศชายมาแสดงงานแต่เพียงเท่านั้น)

แต่ในเวลานั้น แอคมัน (ผู้อาศัยและทำงานทั้งในเบอร์ลินและอิสตันบูล) ศิลปินหญิงชาวตุรกีผู้เปี่ยมปฏิภาณไหวพริบและแสนจะดื้อรั้นผู้นี้ก็หาได้ย่อท้อไม่ ถึงแม้เธอจะตัดสินใจที่จะไม่แสดงงานในมหาวิหาร หากแต่เปลี่ยนไปแสดงงานบนพื้นที่กลางอากาศ สูงขึ้นไปเหนือมหาวิหารแทน หลังจากทำการค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายสิทธิในการครอบครองทรัพย์สินของคริสตจักรของเยอรมัน ว่ามีผลครอบคลุมไปถึงความสูงบางส่วนเหนือยอดมหาวิหารเท่านั้น

ผลลัพธ์ก็คือผลงาน Sculptures on air (1997) หรือ ‘ประติมากรรมกลางอากาศ’ ที่หยิบยืมเอาประติมากรรมรูปศาสนบุคคลในศาสนาคริสต์จากศตวรรษที่ 15, 16 และ 17 ในกรุของพิพิธภัณฑ์ Westphalian State Museum of Art and Cultural History (หรือในชื่อปัจจุบันว่า Landesmuseum für Kunst und Kulturgeschichte (LWL)) มาใส่ไว้ในกระเช้าแขวน และหิ้วขึ้นสูงไปบนท้องฟ้าด้วยเฮลิคอปเตอร์ ให้ลอยอยู่เหนือมหาวิหารอยู่ชั่วขณะหนึ่ง ก่อนที่จะถูกนำไปหย่อนลงบนหลังคาพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ตรงกันข้ามมหาวิหาร โดยให้ตั้งอยู่ที่นั่น และจ้องมองลงไปยังวิหารต้นเรื่อง ราวกับเป็นยามรักษาการณ์ผู้ระแวดระวัง จนกระทั่งประติมากรรมชิ้นถัดไปถูกยกขึ้นตั้งแทนที่

Sculptures on air (1997), Skulptur Projekte Münster ครั้งที่ 3, มึนส์เทอร์, เยอรมนี, ถ่ายภาพโดย Roman Mensing / artdoc.de ภาพจาก https://www.skulptur-projekte-archiv.de/en-us/1997/projects/77/

ผลงานชิ้นนี้เป็นเหมือนการวิพากษ์วิจารณ์ท่าทีของคริสตจักรที่มีต่อผลงานศิลปะร่วมสมัย หรืออันที่จริง ต่อตัวตนและสถานภาพของศิลปินต่างชาติต่างศาสนาอย่างเธอนั่นแหละ ซึ่งการทำงานศิลปะครั้งนี้ก็ก่อให้เกิดความขุ่นเคืองแก่เหล่าคริสตจักรและนักบวชเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะเป็นการเสียดสีพวกเขาโดยตรงแล้ว วันที่แสดงงานดังกล่าวก็ยังตรงกับวันที่ทางวิหารจัดพิธีมิสซา ซึ่งเสียงเฮลิคอปเตอร์ก็รบกวนแก่พิธีอย่างมาก

ด้วยงานศิลปะชิ้นนี้ แอคมันนับเป็นการท้าทายอำนาจของคริสจักรโดยตรง เหล่านักบวชต่างก็ประณามเธอว่าเป็นผู้ทำลายความสงบสุขของเมืองและดูหมิ่นศาสนา และพิพิธภัณฑ์ที่มีส่วนในการสนับสนุนการทำงานชิ้นนี้ก็ถูกศาสนจักรฟ้องร้อง แต่ในทางกลับกัน ปฏิกิริยาของสาธารณชนในขณะที่เฮลิคอปเตอร์หิ้วประติมากรรมขึ้นไปบนท้องฟ้ากลับเป็นตรงกันข้าม เหล่าผู้ชมที่อยู่ในเหตุการณ์ต่างรู้่สึกตื่นเต้นและสนุกสนานรื่นรมย์ไปกับกิจกรรมทางศิลปะครั้งนี้กันถ้วนหน้า ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้สะท้อนถึงความขัดแย้งไม่ลงรอยกันระหว่างสาธารณชนและศาสนจักร รวมถึงตั้งคำถามถึงความเป็นชนชั้นที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในพื้นที่ในสังคมร่วมสมัย

ผลงานชิ้นนี้ยังทำให้ผู้ชมหลายคนนึกไปถึงฉากในหนังของผู้กำกับชั้นครูชาวอิตาเลียน เฟเดอริโก เฟลลินี (Federico Fellini) อย่าง La Dolce Vita (1960) ที่เฮลิคอปเตอร์หิ้วรูปปั้นพระเยซูคริสต์บินข้ามฟ้ากรุงโรมเพื่อนำไปถวายองค์สันตะปาปาที่นครรัฐวาติกันอีกด้วย

Sculptures on air (1997), Skulptur Projekte Münster, Berlin. ถ่ายภาพโดย Roman Mensing, ภาพจาก https://www.flashartonline.com/article/ayse-erkmen/

กลับมาที่งานที่เราเกริ่นเอาไว้ตั้งแต่ตอนแรกกัน หลังจากที่เธอทำผลงานประติมากรรมลอยฟ้า ในนิทรรศการ Skulptur Projekte Münster ไปในปี 1997 แล้ว ในปี 2017 หรืออีก 20 ปีให้หลัง เธอก็กลับมาทำงานในนิทรรศการนี้อีกครั้ง กับผลงานที่มีชื่อว่า On Water (Auf dem Wasser) (2017)

โดยเธอทำผลงานศิลปะที่เปิดโอกาสให้คนที่มาชมงานสามารถเดินลงไปบนแม่น้ำที่ทอดผ่านกลางเมืองนี้ได้ราวกับปาฏิหาริย์ ไม่ต่างอะไรกับพระเยซูและอัครสาวกในศาสนตำนานผู้สามารถเดินบนผิวน้ำได้อย่างน่าอัศจรรย์

ซึ่งอันที่จริงมันก็ไม่ใช่ปาฏิหงปาฏิหาริย์อะไรหรอก หากแต่แอคมัน ทำการติดตั้งสะพานข้ามแม้น้ำที่เชื่อมระหว่างสองฝั่งท่าเรือทิศเหนือและทิศใต้ของเมืองเข้าไว้ด้วยกัน โดยซ่อนตัวสะพานที่ทำขึ้นจากตู้คอนเทนเนอร์, คานเหล็ก และตะแกรงเหล็กเอาไว้ใต้ผิวน้ำ จนทำให้ดูเหมือนกับว่าคนที่กำลังเดินข้ามสะพานกำลังเดินอยู่บนผิวน้ำยังไงยังงั้น ซึ่งนอกจากสะพานข้ามแม้น้ำที่ว่านี้จะเป็นผลงานศิลปะของเธอแล้ว เหล่าบรรดาผู้คนที่กำลังเดินข้ามสะพานนั้น ก็กลายเป็นนักแสดงที่กำลังปรากฏตัวอยู่บนเวทีของเธอโดยไม่รู้ตัวด้วยเหมือนกัน

นอกจากงานชิ้นนี้จะเป็นการยั่วล้อตำนานอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ในศาสนาคริสต์ ด้วยการทำให้การเดินบนน้ำเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ใครๆ ก็ทำได้ (ซึ่งการเดินบนน้ำก็เป็นอะไรที่คนตะวันตกยั่วล้อกันเป็นปกติอยู่แล้ว เพราะการล้อเลียนและเล่นตลกกับศาสนาเป็นเรื่องปกติในวัฒนธรรมตะวันตกในปัจจุบัน) แอคมันยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาด้านสังคมวิทยาและธรรมชาติของการวางผังเมือง ความแตกต่างระหว่างพื้นที่เมืองสองฝั่งที่ถูกขีดคั่นด้วยแม่น้ำ ด้วยผลงานประติมากรรมสังคมชิ้นนี้ เธอแสดงให้เห็นถึงการเอาชนะอุปสรรคที่กีดขวางการเข้าถึงกันและกันของชุมชนและวัฒนธรรมในสองฟากฝั่งแม่น้ำ ทั้งในเชิงอุปมาและในเชิงกายภาพจริงๆ

บ่อยครั้งที่แม่น้ำมักถูกใช้เป็นเส้นแบ่งขอบเขตอันชัดเจนในแผนที่ทางการเมือง ในขณะที่ทางน้ำและคลองที่มนุษย์ขุดขึ้น ก็มักจะเป็นจุดเริ่มต้นและตัวเร่งปฏิกิริยาสำหรับการพัฒนาของเมือง เส้นทางน้ำมีสถานภาพอันคลุมเครือในกระบวนการแห่งอารยธรรม โดยมันเป็นได้ทั้งโอกาสและอุปสรรค เป็นทั้งเส้นทางและเส้นแบ่งไปพร้อมๆ กัน ผลงานของแอคมันไม่เพียงสะท้อนการแบ่งแยกทีว่านี้ หากแต่เธอสร้างสะพานเชื่อมระหว่างสองพรมแดนที่ถูกแบ่งแยกอย่างตรงไปตรงมา ด้วยการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ ที่ปกติใช้ขนส่งสินค้าบนเรือเดินสมุทร ที่แล่นไปบนผิวน้ำ ให้กลายเป็นเส้นทางเดินใต้น้ำที่เชื่อมพื้นที่เมืองสองฟากฝั่งที่ถูกแยกออกจากกันด้วยลุ่มแม้น้ำเข้าไว้ด้วยกัน

On Water (2017), Skulptur Projekte Münster ครั้งที่ 5, มึนส์เทอร์, เยอรมนี, ถ่ายภาพโดย Henning Rogge, ภาพจาก https://www.skulptur-projekte-archiv.de/en-us/2017/projects/182/

On Water (2017), Skulptur Projekte Münster ครั้งที่ 5, มึนส์เทอร์, เยอรมนี, ภาพจาก http://www.saha.org.tr/en/projects/project/ayse-erkmen-on-water

On Water (2017), Skulptur Projekte Münster ครั้งที่ 5, มึนส์เทอร์, เยอรมนี, ถ่ายภาพโดย Henning Rogge, ภาพจาก https://www.artforum.com/print/201710/the-artists-artists-72449

กระบวนการทำงานอันโดดเด่นของแอคมันแสดงให้เห็นถึงความพยายามอันยาวนานในการค้นคว้าหาข้อมูลอย่างลึกซึ่งจริงจังในการทำงานศิลปะแต่ละโครงการ (อันเป็นลักษณะของงานศิลปะร่วมสมัยที่เรียกว่า Research-Based Art นั่นเอง) ผลงานแต่ละชิ้นของเธอถูกสร้างขึ้นโดยเชื่อมโยงกับบริบททางประวัติศาสตร์ และภูมิศาสตร์ของพื้นที่แสดงงานอย่างแนบแน่น ยิ่งไปกว่านั้น เรื่องราวทางประวัติศาสตร์, วัฒนธรรม และผลกระทบทางสังคมของผู้ชมและผู้คนที่อยู่ในพื้นที่แสดงงาน ก็เป็นหนึ่งในองค์ประกอบอันสำคัญในผลงานของเธอด้วยเช่นกัน แม้งานแต่ละชิ้นจะสร้างขึ้นมาอย่างยากลำบากและเต็มไปด้วยอุปสรรค แต่เธอก็ไม่เคยยอมจำนนและงอมือเท้ารับชะตากรรม หากแต่เธอปรับเปลี่ยนผลงานศิลปะของเธอให้กลมกลืนเข้ากับปมปัญหาและสถานการณ์อย่างเปี่ยมปฏิภาณไหวพริบ

ผลงานประติมากรรม ศิลปะจัดวาง และศิลปะสาธาณะของเธอท้าทายความเป็นไปได้ทั้งทางสังคม การเมือง ศาสนา และดึงเอาศิลปะ ที่เคยเป็นสิ่งที่สูงส่งไกลตัว ให้ลงมาอยู่ใกล้ชิดกับวิถีชีวิตประจำวันของผู้คน ด้วยวิธีการอันเรียบง่าย หากแต่ลุ่มลึกและชาญฉลาด

นอกจากจะร่วมแสดงงานในนิทรรศการ Skulptur Projekte Münster สองครั้ง รวมถึงมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิสเบียนนาเล่ ครั้งที่ 54 แล้ว แอคมันยังแสดงงานในเทศกาลศิลปะ อิสตันบูลเบียนนาเล่ อีกสามสมัย รวมถึงแสดงในมหกรรมศิลปะในเซี่ยงไฮ้ เบอร์ลิน กวางจู (เกาหลีใต้) และชาร์จาห์ (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) เป็นอาทิ ผลงานของเธอได้ถูกแสดงและสะสมในพิพิภัณฑ์ศิลปะชั้นนำทั่วโลก

ปัจจุบัน ไอเซ่ แอคมัน มีอายุ 69 ปี เธออาศัยและทำงานอยู่ทั้งในกรุงเบอร์ลิน และอิสตันบูล

 

ข้อมูลจาก

https://news.artnet.com/art-world/brief-history-skulptur-projekte-muenster-968450?utm_content=buffer9a15b&utm_medium=social&utm_source=facebook.com&utm_campaign=socialmedia

http://ayseerkmen.com/

https://en.wikipedia.org/wiki/Ay%C5%9Fe_Erkmen

https://www.flashartonline.com/article/ayse-erkmen/

https://www.skulptur-projekte-archiv.de/en-us/2017/projects/182/

https://hyperallergic.com/388051/walking-on-water-at-skulptur-projekte-munster/

https://vernissage.tv/2017/07/06/ayse-erkmen-on-water-skulptur-projekte-munster-2017/https://www.skulptur-projekte-archiv.de/en-us/1997/projects/77/

ที่มาภาพปกบทความ

https://ayse-erkmen.divisare.pro/projects/347063-on-water

Tags: , , , ,