แท่งสี่เหลี่ยมหน้าตาบ้านๆ เสาไม้ทื่อๆ หยาบขรุขระ แผ่นโลหะหน้าตาธรรมด๊าธรรมดาที่วางเรียงอย่างเป็นระเบียบบนพื้น กล่องที่ทำจากโลหะหรือพลาสติกใส แขวนเรียงรายเรียบง่ายบนผนัง กล่องสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ หรือวัตถุรูปทรงเรขาคณิตอันเรียบง่ายที่ทำจากไม้อัด อลูมิเนียม เหล็ก

สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบอันสำคัญในงานศิลปะของศิลปินกลุ่มหนึ่งในนิวยอร์กและลอสแองเจลิสในช่วงต้นทศวรรษที่ 1960 ที่อยู่ในกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะที่มีชื่อเรียกว่า มินิมอลลิสม์ (Minimalism)

มินิมอลลิสม์ เป็นกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะที่ถือกำเนิดขึ้นในนิวยอร์กช่วงต้นทศวรษ 1960 เป็นปฏิกิริยาต่อต้านศิลปะแนวแอ็บสแตร็กต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ ที่เฟื่องฟูในอเมริกาในช่วงก่อนหน้า ที่ทำงานศิลปะแนวสลัดสี สาดสี เทสี เพื่อแสดงออกทางอารมณ์  ศิลปินรุ่นต่อมาเกิดเบื่อหน่าย และรู้สึกว่า ลำพังอารมณ์ความรู้สึกไม่ใช่ทางออก และไม่สามารถสื่อสารความคิดได้ แต่เป็นเพียงความงามที่เกิดจากความชำนาญในทักษะศิลปะ พวกเขาจึงคิดค้นแนวทางการทำงานศิลปะที่ละทิ้งอารมณ์ความรู้สึก ด้วยการใช้เทคนิคการผลิตหรือเครื่องไม้เครื่องมือจากโรงงานหรือระบบอุตสาหกรรม

น่าตลกดีที่การผลิตซ้ำในระบบอุตสาหกรรมที่เคยเป็นศัตรูกับงานศิลปะในยุคหนึ่ง กลับกลายเป็นกระบวนการที่ใช้ในการสร้างงานศิลปะในอีกยุคหนึ่งแทน

นอกจากจะละทิ้งอารมณ์ความรู้สึกแล้ว ศิลปินเหล่านี้หลีกเลี่ยงการทำงานที่แอบแฝงสัญลักษณ์ เรื่องราว หรือการอุปมาเปรียบเปรยถึงสิ่งอื่นใด หากแต่หันมาให้ความสำคัญกับเนื้อแท้และสาระสำคัญของวัตถุหรือวัสดุที่ใช้ในการสร้างงานแทน จนเกิดเป็นการสร้างสรรค์แบบใหม่ที่จงใจหลีกเลี่ยงหรือแม้แต่ล้มล้างสุนทรียะและความงามทางศิลปะแบบเดิมๆ ลงอย่างสิ้นเชิง

ศิลปะมินิมอลลิสม์ ขยายขอบเขตแนวคิดของศิลปะแนวนามธรรม (Abstract art) ที่ว่า ศิลปะควรมีความจริงแท้เป็นของตัวเอง โดยไม่ต้องลอกเลียนสิ่งอื่นใด เพราะเรามักจะคิดว่า ศิลปะคือการนำเสนอภาพแทนจากมุมมองในโลกแห่งความเป็นจริง (ไม่ว่าจะเป็นภาพแทนของบุคคล ทิวทัศน์ หรือวัตถุข้าวของต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ภาพวาดซุปกระป๋อง ก็เป็นภาพแทนของซุปกระป๋องของจริงนั่นแหละนะ) หรือเป็นการสะท้อนประสบการณ์ภายในของบุคคลอย่างอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด (แบบเดียวกับงานศิลปะแอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชันนิสม์) เป็นอาทิ แต่ศิลปินมินิมอลลิสต์ไม่พยายามนำเสนอภาพแทนเหล่านั้น พวกเขาต้องการให้ผู้ชมมองเห็นและตอบสนองต่อสิ่งที่อยู่ข้างหน้าพวกเขาอย่างตรงไปตรงมา

ดังนั้น สื่อ วัสดุ หรือสิ่งที่ศิลปินใช้สร้างเป็นตัวงาน จึงเป็นความจริงแท้ด้วยตัวมันเอง ไม่ได้เป็นตัวแทนของอะไรทั้งสิ้น ดังคำกล่าวของศิลปินผู้เป็นต้นแบบของมินิมอลลิสม์อย่าง แฟรงค์ สเตลล่า (Frank Stella) ที่ว่า “What you see is what you see” (สิ่งที่คุณเห็น ก็คือสิ่งที่คุณเห็นนั่นแหละ)

ศิลปินมินิมอลลิสต์เชื่อว่า สุนทรียะในงานศิลปะของพวกเขาคือการนำเสนอรูปแบบและคุณค่าของความงามอันบริสุทธิ์เที่ยงแท้ (เพราะมันไม่ได้เสแสร้งหรือพยายามเป็นอะไรมากไปกว่าตัวของมันเอง) นั่นก็คือความเรียบง่าย ความมีระเบียบ และความสอดประสานกลมกลืนทางทัศนธาตุนั่นเอง

ปฏิกิริยาจากนักวิจารณ์ศิลปะ

เมื่อผลงานศิลปะแบบมินิมอลลิสม์ถูกแสดงในหอศิลป์ในนิวยอร์กเป็นครั้งแรกในปี 1963 และในพิพิธภัณฑ์อีกหลายแห่งในเวลาต่อมา นักวิจารณ์ศิลปะส่วนใหญ่ในเวลานั้น (ยังไม่นับสาธารณชนทั่วไปที่ได้ชมงาน) ยังไม่ทันได้เตรียมตัวเตรียมใจรับมือกับสิ่งที่เขาได้พบเห็น พวกเขารู้สึกสับสนและประหลาดใจกับวัตถุข้าวของธรรมดาสามัญที่ดูไม่เป็นศิลปะเอาเสียเลย ที่ถูกนำมาแสดงในหอศิลป์

ความสับสนประหลาดใจนั้นก็ถูกแสดงออกมาเป็นชื่อที่นักวิจารณ์เหล่านั้นเรียกขานกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะที่เกิดขึ้นใหม่ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ยากจะทำความเข้าใจเหล่านี้ อาทิ A.B.C. art, Cool art, Rejective art, Reductive art, literalism art, systemic painting และ Art of the Real แต่ในที่สุดก็มาลงตัวที่ชื่อ มินิมอลลิสม์ (Minimalism) ซึ่งเป็นชื่อที่น่าจะโดนที่สุด อาจเพราะมันนิยามวิถีทางที่ศิลปินลดรูปแบบและองค์ประกอบทางศิลปะให้เหลือจำนวนน้อยนิดที่สุด ไม่ว่าจะเป็นสีสัน รูปทรง เส้นสาย และพื้นผิว คำว่า Minimal ถูกใช้เป็นครั้งแรกในปี 1965 โดยนักปรัชญาศิลปะชาวอังกฤษ ริชาร์ด โวลไฮม์ (Richard Wollheim) ในข้อเขียนที่มีชื่อว่า Minimal Art ของเขา

เปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ถ้าป็อปอาร์ตหยิบเอาเรื่องราวและสิ่งของรอบตัวทั่วไปที่คนรู้จักคุ้นเคยและนิยมชมชอบมาใช้ทำงานศิลปะ มินิมอลลิสม์ก็ไปไกลและหนักข้อยิ่งกว่า ด้วยการหยิบเอาวัตถุดาษดื่นธรรมดาสามัญที่คนส่วนใหญ่มองข้ามมาทำเป็นงานศิลปะนั่นแหละ

อิทธิพลทางความคิด ก่อนจะมาสู่ ‘มินิมอลลิสม์’

มินิมอลลิสม์ ได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากงานจิตรกรรมนามธรรมแบบเรขาคณิต (Geometric Abstraction) ของกลุ่มเบาเฮาส์ และศิลปินในกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะ De Stijl อย่าง พีต มอนเดรียน (Piet Mondrian) ที่ลดทอนรูปแบบและเรื่องราวในภาพวาดจนเหลือแต่รูปทรงเรขาคณิต เส้นสาย และสีสันพื้นฐานอันเรียบง่าย หรือผลงานศิลปะนามธรรมในกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะ Suprematism ที่นำโดยจิตรกรชาวรัสเซีย คาซิมีร์ มาเลวิช อย่าง ภาพ Black Square (1915) หรือ สี่เหลี่ยมสีดำธรรมด๊าธรรมดาอันเลื่องลือ

และกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะ รัสเซียนคอนสตรัคติวิสม์ (Russian Constructivism) ที่ใช้รูปทรงเรขาคณิต การผลิตแบบแยกชิ้นส่วน และการใช้วัสดุแบบอุตสาหกรรมในการสร้างผลงานศิลปะ หรือผลงานของประติมากรชาวโรมาเนีย คอนสแตนติน บรังคูซี (Constantin Brâncuși) ที่ใช้รูปทรงเรขาคณิตและแพทเทิร์นซ้ำๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในผลงานประติมากรรม Endless Column (1935)

และผลงาน จิตรกรรมเอกรงค์ (Monochrome Paintings) ของศิลปินชาวฝรั่งเศส อีฟว์ คไลน์ (Yves Klein) (ที่วาดด้วยสีน้ำเงินที่เขาคิดค้นขึ้นมาเอง) ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้บุกเบิกพัฒนาการของศิลปะมินิมอล

หรือผลงานศิลปะเรดี้เมดส์ ของ มาร์เซล ดูชองป์ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจและต้นแบบของการใช้วัสดุสำเร็จรูปที่ผลิตในระบบอุตสาหกรรมมาทำเป็นงานศิลปะ

รวมถึงผลงานจิตรกรรมของศิลปินแอ็บสแตร็กต์เอ็กซ์เพรสชันนิสม์อย่าง แฟรงค์ สเตลลา (Frank Stella) ในช่วงปลายยุค ’50s ที่มีรูปแบบที่ต่อต้านความเป็นแอ็บสแตร็กต์เอ็กซ์เพรสชันนิสม์ อย่าง Black Paintings (1958-60) ภาพวาดริ้วแถบสีดำหนาบนพื้นขาว ที่ราบเรียบ ไร้ฝีแปรง แบนราบ รวมถึงผลงานจิตรกรรมแถบสีที่ไม่อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมตายตัว และผลงานจิตรกรรมสามมิติ ที่ขยายขอบเขตความเป็นไปได้ของงานจิตรกรรม มากกว่าการอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมที่ถูกแขวนเป็นเครื่องประดับบนผนัง ผลงานของเขามีความเป็นส่วนผสมระหว่างานจิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรม อันเป็นลักษณะที่ส่งอิทธิพลให้กับจิตรกรรมแบบมินิมอลลิสต์อย่างสูง และอันที่จริงเขาเองก็ถูกยกให้เป็นต้นแบบของศิลปินมินิมอลลิสต์อีกด้วย

แฟรงค์ สเตลลา: Tomlinson Court Park I (1959) ภาพวาดในชุด Black Paintings ภาพจาก http://www.marcobrianza.it/marco-cadioli-necessary-lines/

ศิลปินมินิมอลลิสต์ สร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่ดูคล้ายกับข้าวของเครื่องใช้ที่ถูกสร้างขึ้นจากโรงงาน เพื่อปฏิวัติคำจำกัดความเดิมๆ ของศิลปะที่เคยผูกติดกับการเล่าเรื่องของศิลปินไปอย่างสิ้นเชิง ด้วยการใช้วัสดุสำเร็จรูปที่ผลิตจากระบบอุตสาหกรรม ที่มีรูปทรงเรขาคณิตอันเรียบง่ายและซ้ำๆ กัน เพื่อเน้นย้ำตัวตนของมันบนพื้นที่แสดงงาน และบังคับให้ผู้ชมเผชิญหน้ากับขนาดและการจัดวางของรูปทรงเหล่านั้นอย่างตรงไปตรงมา และสัมผัสกับประสบการณ์ทางกายภาพของมันอย่างรูปทรง สัดส่วน ความสูง น้ำหนัก แรงโน้มถ่วง พื้นผิว หรือแม้แต่แสงและเงา

แฟรงค์ สเตลลา: Harran II (1967) ภาพจาก https://www.guggenheim.org/artwork/4003

พวกเขาเสาะหาหนทางในการทำลายขนบความคิดเดิมๆ ของศิลปะ ด้วยการลบเลือนเส้นแบ่งระหว่างงานจิตรกรรมและประติมากรรม และปฏิเสธความเชื่อที่ว่า ศิลปินมีสิทธิพิเศษในการสร้างสรรค์ผลงานอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว มุมมองแบบประชาธิปไตยในงานศิลปะ ปรากฏชัดทั้งในผลงาน นิทรรศการ และข้อเขียนของศิลปินมินิมอลลิสต์คนสำคัญหลายต่อหลายคน

อนึ่ง ศิลปะมินิมอลลิสม์ ถือกำเนิดขึ้นเคียงคู่กับกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะอีกแนวทางอย่าง ศิลปะคอนเซ็ปชวล (Conceptual art) ซึ่งศิลปินมินิมอลลิสต์หลายคนก็ทำงานในแนวทางนี้ควบคู่กันไปด้วย นอกจากนั้น พวกเขายังมีบทบาทในฐานะนักเขียน ผู้เขียนทฤษฏีและบทความเชิงวิชาการที่สนับสนุนและขับเคลื่อนกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะทั้งสองแบบนี้ให้ขยายขอบเขตกว้างไกลกว่าเดิม

ศิลปะมินิมอลลิสต์คนสำคัญ

โดนัลด์ จัดด์ (Donald Judd) ศิลปินชาวอเมริกัน มีผลงานชิ้นเด่น อย่าง Untitled (1969) เป็นการนำเสนอศิลปะวัตถุรูปทรงธรรมดาสามัญอย่างกล่องสี่เหลี่ยมธรรมดาๆ มาจัดแสดงในรูปแบบที่แตกต่างจากขนบทางศิลปะแบบเดิมๆ ด้วยการแขวนกล่องรูปทรงซ้ำๆ กันบนผนังเรียงกันในแนวดิ่ง จัดด์ เรียกผลงานประติมากรรมของเขาเหล่านี้ว่า ‘โครงสร้างขั้นพื้นฐาน’ (Primary structures) กล่องสี่เหลี่ยมที่ดูเย็นชา ดาษดื่น สามัญ และดูเหมือนจะถูกผลิตจากโรงงานเหล่านี้ ถูกแขวนบนผนังแบบเดียวกับงานจิตรกรรม แต่มันก็มีความเป็นสามมิติยื่นออกมาเหมือนงานประติมากรรม

โดนัลด์ จัดด์: Untitled (1969) ภาพจาก https://www.guggenheim.org/artwork/1741

ผลงานของจัดด์ นับเป็นการท้าทายขนบของความแตกต่างระหว่างสื่อศิลปะทั้งสองประเภทอย่างมาก อันที่จริง ตัวเขาเองปฏิเสธว่าตัวเองเป็นศิลปินมินิมอลลิสม์ด้วยซ้ำ แต่เรียกขานงานตัวเองว่าเป็น “วัตถุเฉพาะ” (specific objects) ซึ่งยากจะนิยามว่าเป็นงานจิตรกรรมหรือประติมากรรมกันแน่เสียมากกว่า นอกจากจะเป็นศิลปินคนสำคัญของกลุ่มมินิมอลลิสม์แล้ว เขายังเป็นหนึ่งในนักเขียนคนสำคัญที่สร้างทฤษฏีทางสุนทรียะเกี่ยวกับงานศิลปะมินิมอลลิสม์ขึ้นมาด้วย

โรเบิร์ต มอร์ริส (Robert Morris) ประติมากรชาวอเมริกันผู้เป็นที่รู้จักจากงานศิลปะที่ทำจากกล่องไม้อัดทาสีขนาดใหญ่รูปทรงสี่เหลี่ยม รูปทรงคล้ายเสา และตัวอักษรแอล ประติมากรรมรูปทรงเรขาคณิตอันธรรมดาสามัญและไม่โดดเด่นเตะตาเหล่านี้ เดิมทีถูกใช้เป็นอุปกรณ์ประกอบฉากบนเวทีบัลเล่ต์ (ซึ่งเขาเองก็เคยเป็นนักเต้นบัลเลต์มาก่อนด้วย) ผลงานอีกชิ้นที่โดดเด่นของเขาคือ Untitled (mirrored cubes) (1965/71) กล่องสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ที่ทำจากกระจกเงา ซึ่งพัฒนาขึ้นจากความสนใจเกี่ยวกับคุณสมบัติทางสายตาของวัสดุและวิธีการรับรู้ของมนุษย์

โรเบิร์ต มอร์ริส: L-Beams (1967) ภาพจาก https://aevansmaker.wordpress.com/2017/04/07/after-modernism-recap/

โรเบิร์ต มอร์ริส: Untitled (1965), reconstructed (1971) ภาพจาก http://www.tate.org.uk/art/artworks/morris-untitled-t01532

ด้วยการบุผิวกล่องด้วยกระจกเงา เขาบังคับให้ผู้ชมต้องเผชิญหน้ากับตัวเอง มากกว่าจะชื่นชมความงามของศิลปะ ซึ่งเป็นการนำเสนอประสบการณ์การรับรู้และมองเห็นอันแปลกใหม่ให้กับผู้ชม นอกจากทำงานประติมากรรมจากไม้อัดและกระจกแล้ว เขายังทำงานศิลปะจากขนสัตว์ สิ่งทอ ศิลปะการแสดงสด บอดี้อาร์ต และศิลปะบนผืนโลก (Earth art) นอกจากนั้นเขายังเขียนงานทางวิชาการศิลปะที่ลงตีพิมพ์ในนิตยสารทางศิลปะชั้นนำอย่าง Artforum อีกด้วย

โซล เลวิตต์ (Sol LeWitt) ศิลปินชาวอเมริกันผู้มีความเกี่ยวข้องกับกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะอันหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มินิมอลลิสม์ และ คอนเซ็ปชวลอาร์ต เขาเป็นศิลปินปัญญาชนคนสำคัญของกลุ่มมินิมอลลิสม์ ผู้มีชื่อเสียงโดดเด่นในช่วงปลายยุค ’60s จากผลงานจิตรกรรม วาดเส้นบนฝาผนัง และงาน ‘โครงสร้าง’ (structures – ซึ่งเป็นชื่อที่เขามักใช้เรียกผลงานประติมากรรมของเขา) นอกจากนั้น เขายังทำงานในหลากสื่อหลายแขนงอย่าง ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย ศิลปะจัดวาง และหนังสือศิลปะ ผลงานชิ้นโดดเด่นของเขาคือ Two Open Modular Cubes/Half-Off (1972) ที่เป็นโครงสร้างลูกบาศก์แบบเปิดโล่งสองอันที่เชื่อมต่อกัน เขากล่าวถึงผลงานชุดนี้ว่า

“สิ่งที่น่าสนที่สุดของลูกบาศก์นี้คือมันไม่น่าสนใจเอาเสียเลย”

เมื่อรวมกับการตั้งชื่อที่ไม่สื่อความหมายชัดเจน ผลงานชุดนี้แสดงให้เห็นถึงการใช้วัตถุเพื่อแสดงความเป็นตัวของมันเอง โดยไม่เป็นสัญลักษณ์หรือเป็นตัวแทนของสิ่งอื่นใด

ถึงแม้เขาจะอ้างว่าลูกบาศก์เหล่านี้ไม่มีความน่าสนใจในตัวเอง แต่เขาก็ใช้มันเป็นเหมือนจุดก้าวกระโดดในพัฒนาการทางศิลปะของเขา ด้วยการใช้โครงสร้างรูปทรงตารางที่เน้นย้ำความสนใจเกี่ยวกับระบบและส่วนจำเพาะที่สามารถทำซ้ำและขยายตัวเองไปได้เรื่อยๆ จนบางครั้งถึงจุดที่วุ่นวายและไร้เหตุผล ซึ่งลักษณะของความเรียบง่าย ไร้สีสัน และความเป็นรูปทรงเรขาคณิตอันตายตัวของผลงานเหล่านี้นี่เอง ที่เป็นตัวอย่างอันสมบูรณ์แบบของสุนทรียะแบบมินิมอลลิสม์อย่างแท้จริง นอกจากจะเป็นศิลปินมินิมอลลิสต์คนสำคัญแล้ว เขายังเขียนทฤษฎีทางศิลปะที่มีส่วนร่วมในการพัฒนากระแสศิลปะทั้งมินิมอลลิสม์และคอนเซ็ปชวลอาร์ตอย่างมากอีกด้วย

คาร์ล อังเดร (Carl Andre) ศิลปินชาวอเมริกันผู้เป็นที่รู้จักจากผลงานประติมากรรมแผ่นโลหะสี่เหลี่ยมหน้าตาธรรมดาสามัญที่วางเรียงเป็นตารางหรือแถวตรงอันเรียบง่ายธรรมดา เสียจนคนอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ถ้ามันง่ายจนใครๆ ก็สามารถทำได้แบบนี้ แล้วมันจะเป็นศิลปะตรงไหนหว่า?

คาร์ล อังเดร: Steel Zinc Plain (1969) ภาพจาก http://www.tate.org.uk/art/artworks/andre-steel-zinc-plain-t07148

ผลงานของเขาเป็นการท้าทายกรอบคิดและคุณค่าทางสุนทรียะแบบเดิมๆ ด้วยการเอางานศิลปะลงจากผนัง และวางมันลงบนพื้นหรือทางเดิน เพื่อกระตุ้นการรับรู้ของผู้ชมว่าจะมีปฏิกิริยาอย่างไร นอกนั้นเขายังทำงานในรูปแบบของบทกวี ทั้งในรูปแบบของงานวรรณกรรมและงานทัศนศิลป์ (ด้วยการใช้พยัญชนะและถ้อยคำประกอบสร้างเป็นรูปทรงใหม่ขึ้นมา)

แดน ฟลาวิน (Dan Flavin) ศิลปินอเมริกันผู้เป็นที่รู้จักจากผลงานประติมากรรมและศิลปะจัดวางที่ทำจากหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ที่มีขายทั่วไปในท้องตลาด เขาเปลี่ยนแปลงประสบการณ์ในการมองเห็นของผู้ชม และหลีกหนีจากขนบทางศิลปะแบบเดิมๆ ด้วยการนำหลอดไฟเหล่านั้นมาประกอบเป็นโครงสร้างรูปทรงเรขาคณิตง่ายๆ อย่างรูปทรงตาราง เส้นตรง และวางเรียงซ้ำๆ ต่อเนื่องกัน

แดน ฟลาวิน: “Monument” 1 for V. Tatlin (1964) ภาพจาก https://www.artsy.net/artwork/dan-flavin-monument-1-for-v-tatlin

แดน ฟลาวิน: untitled (in honor of Harold Joachim) 3 (1977) ภาพจาก http://artandphotography-uog.blogspot.com/2016/04/dan-flavin-ikon-gallery.html

นอกจากตัวหลอดไฟที่ประกอบกันเป็นรูปทรงต่างๆ แล้ว แสงและสีที่เปล่งออกมาจากหลอดไฟก็เป็นองค์ประกอบอันสำคัญในผลงานของเขาอีกด้วย ด้วยแสงสีเหล่านี้ เขาสร้างสุนทรียะทางศิลปะรูปแบบใหม่อันน่าทึ่ง ซึ่งเกิดจากสิ่งที่จับต้องสัมผัสไม่ได้ หากแต่ปรากฏตัวและเผชิญหน้าผู้ชมในพื้นที่แสดงงานอย่างทรงพลังขึ้นมา

Post-Minimalism หลังยุคมินิมอลลิสม์

ในช่วงปลายยุค ’60s-’70s กระแสศิลปะมินิมอลลิสม์เฟื่องฟูและยึดครองพื้นที่ในโลกศิลปะทั้งในอเมริกาและยุโรป ด้วยการผลักดันของเหล่าภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑ์ นักค้างานศิลปะ และสื่อมวลชนต่างๆ (ที่ตีพิมพ์ข้อเขียนและทฤษฎีของศิลปินมินิมอลลิสต์) รวมถึงระบบการอุปถัมภ์ใหม่ๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน (เห็นไหมล่ะว่าศิลปะมีชีวิตอยู่โดยลำพังไม่ได้) ทำให้กระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะอย่างมินิมอลลิสม์ขยายขอบเขตกว้างไกลออกไปทั่วโลก

แนวคิดอันเรียบง่ายและละทิ้งการตกแต่งประดับประดาของมินิมอลลิสม์ได้ขยับขยายไปยังวงการสร้างสรรค์อื่นๆ อาทิ สถาปัตยกรรม งานตกแต่งภายใน งานออกแบบเฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์ ที่ผสมผสานกับปรัชญาแห่งความเรียบง่ายแบบเซนของญี่ปุ่น (ซึ่งงานออกแบบมินิมอลลิสม์นี้เอง ที่เป็นบรรพบุรุษของผลิตภัณฑ์สไตล์มินิมิลลิสม์ของแบรนด์ Apple ในปัจจุบัน) วรรณกรรม ดนตรี ศิลปะการเต้นรำ ไปจนถึงศิลปะการทำอาหาร (ศิลปะการทำอาหารแนวใหม่จากปารีส (nouvelle cuisine) ที่มีการตกแต่งน้อยและแคเลอรีต่ำ ก็เป็นปรากฏการณ์รูปแบบหนึ่งของมินิมอลลิสม์เช่นเดียวกัน)

หลังจากปลายยุค ’60s จนถึงช่วงต้นยุค ’70s มีการถือกำเนิดขึ้นของศิลปะแนวทางใหม่ที่เรียกว่า Post-Minimalism (ศิลปะยุคหลังมินิมอลลิสม์) ซึ่งได้รับอิทธิพลจากแนวความคิดและสุนทรียะของมินิมอลลิสม์ และพยายามต่อยอดและขยายขอบเขตความคิดให้ไปไกลกว่าเดิม ด้วยการใช้ข้าวของในชีวิตประจำวัน วัตถุธรรมดาสามัญที่แสดงออกถึงสุนทรียะของเนื้อแท้แห่งวัตถุ

ไม่ว่าจะเป็นผลงานของศิลปินอเมริกัน อีวา เฮสส์ (Eva Hesse) ที่ใช้วัสดุอุตสาหกรรมอย่างพลาสติกเรซิ่น สร้างรูปทรงตาราง และรูปทรงต่อเนื่องซ้ำๆ แต่ในขณะเดียวกัน เธอก็ใช้กระบวนการแบบหัตถกรรมในการสร้างงานศิลปะ เพื่อเติมสัมผัสของความเป็นมนุษย์และรูปทรงของสิ่งมีชีวิตลงไปในงานของเธอ

อีวา เฮสส์: Sans II (1968) ภาพจาก https://www.sfmoma.org/artwork/99.364

ในทางกลับกัน ผลงานของศิลปินอเมริกันเลื่องชื่อ ริชาร์ด เซอร์รา (Richard Serra) ซึ่งเป็นประติมากรรมขนาดมหึมาที่สั่งทำด้วยเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม ก็เป็นการขยายขอบเขตของแนวคิดและสุนทรียะแบบมินิมอลลิสม์อย่างท้าทายยิ่ง

ริชาร์ด เซอร์รา: One Ton Prop (House of Cards) (1969) ภาพจาก https://aevansmaker.wordpress.com/2017/04/07/after-modernism-recap/

. ริชาร์ด เซอร์รา: Inside Out (2013) ภาพจาก https://www.artsy.net/artwork/richard-serra-inside-out

หรือผลงานของ โรเบิร์ต สมิธสัน (Robert Smithson) ที่ก่อให้เกิดความท้าทายอย่างมากต่อแนวคิดเดิมๆ ของงานประติมากรรม และขยายขอบเขตทางสุนทรียะแบบมินิมอลลิสม์ ด้วยผลงานศิลปะบนผืนดิน (Land art) ที่ทำขึ้นโดยรถแทรกเตอร์บนพื้นที่กลางแจ้ง และจัดแสดงแต่เพียงภาพถ่ายเท่านั้น ผลงานของเขาและศิลปินในแนวทางเดียวกันอย่าง ไมเคิล ไฮเซอร์ (Michael Heizer) ริชาร์ด ลอง (Richard Long) และ วอลเธอร์ เดอ มาเรีย (Walter de Maria) ที่ขยับขยายยักย้ายศิลปะออกจากพื้นที่หอศิลป์ และเปลี่ยนผืนโลกให้กลายเป็นทั้งวัตถุดิบและพื้นที่แสดงงานเหล่านี้ ได้ลบเลือนเส้นแบ่งระหว่างงานประติมากรรมและวัตถุ และสร้างความหมายใหม่ๆ ของศิลปะและการสร้างสรรค์ขึ้นมา

โรเบิร์ต สมิธสัน: Spiral Jetty (1970) ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Robert_Smithson

ถึงแม้มินิมอลลิสม์จะประสบความสำเร็จอย่างสูงและได้รับการยกย่องว่าเปิดเส้นทางใหม่ๆ ให้กับโลกศิลปะ แต่มันก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากขบวนการสตรีนิยม (Feminism) ว่าเป็นเพียงผลงานศิลปะที่แสดงการโอ้อวดอำนาจของสังคมชายเป็นใหญ่ และเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำทางเพศ

โดยศิลปะแบบสตรีนิยม (Feminist art) ที่พัฒนาขึ้นพร้อมกับศิลปะ Post-Minimalism เองก็แสดงออกถึงความเป็นปฏิปักษ์ต่อแนวคิดแบบมินิมอลลิสม์อย่างโจ่งแจ้ง ด้วยการสร้างงานในรูปแบบหัตถกรรมทำด้วยมือ และสอดแทรกความเป็นพิธีกรรม ความเชื่อ และสัญลักษณ์ รวมถึงบูชาเทพสตรีซึ่งแสดงออกถึงพลังอำนาจของอิตถีเพศอย่างชัดเจน

โปสเตอร์จากนิทรรศการในปี 1974 อันอื้อฉาวของ โรเบิร์ต มอร์ริส ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Robert_Morris_(artist)

การกระทบกระทั่งครั้งใหญ่ระหว่างกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะและสังคมทั้งสองเกิดขึ้นในปี 1974 ในนิทรรศการของศิลปินมินิมอลลิสต์คนสำคัญอย่าง โรเบิร์ต มอร์ริส ในหอศิลป์ Leo Castelli ในนิวยอร์ก โดยโปสเตอร์ของนิทรรศการ เป็นภาพของมอร์ริสเปลือยร่างท่อนบนที่พันด้วยโซ่ และสวมหมวกทหารนาซี ซึ่งส่งผลให้กลุ่มสตรีนิยมที่เข้าร่วมในกระแสเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนลุกฮือขึ้นต่อต้านเขาและโปสเตอร์เจ้าปัญหาดังกล่าว จนลุกลามกลายเป็นการเรียกร้องให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศในวงการศิลปะ และกลายเป็นรากฐานอันมั่นคงของกระแสศิลปะแบบสตรีนิยมไปในที่สุด

 

ภาพประกอบหน้าแรก:  โซล เลวิตต์, Two Open Modular Cubes/Half-Off (1972) ภาพจาก http://www.tate.org.uk/art/artworks/lewitt-two-open-modular-cubes-half-off-t01865

ข้อมูล:

หนังสือ Minimal Art โดย Daniel Marzona สำนักพิมพ์ TASCHEN

เว็บไซต์ http://www.theartstory.org/movement-minimalism.htm

http://www.tate.org.uk/art/art-terms/m/minimalism

https://en.wikipedia.org/wiki/Minimalism

https://en.wikipedia.org/wiki/Postminimalism

Tags: , , ,