คุณชอบอาหารอิตาเลียนไหม,

โดยเฉพาะอาหารอิตาเลียนตอนใต้ที่รสชาติจัดจ้าน เกิดจากผืนดินอันแสนอุดมสมบูรณ์ด้วยอิทธิพลของมหาภูเขาไฟตั้งแต่วิสุเวียสจนถึงสตรอมโบลี

แล้วคุณชอบแจ๊ซหรือเปล่า,

แจ๊ซ – ดนตรีแบบนิวออร์ลีนส์ที่เต็มไปด้วยเครื่องเป่า ประชันกันด้วยเมโลดี้และโทนเสียงหลากหลายอันเกิดจากทั้งความคิดและความรู้สึกที่สั่งสมผ่านประวัติศาสตร์สีผิวมายาวนาน

และคุณชอบความสุขไหม

ความสุข – ที่ไม่จำเป็นต้องเกิดจากเรื่องหนึ่งเรื่องใดโดยจำเพาะ อาจเป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากความมั่งคั่งทางการเงิน ความสุขที่เกิดจากการได้ลงมือทำสิ่งที่รัก หรือกระทั่งความสุขที่เกิดจากการไม่ได้ลงมือทำอะไรมากนัก เพียงแต่ลงทุนลงแรงไปกับมัน ประคับประคองจัดการความเสี่ยงต่างๆ แล้ว ‘นั่งดู’ ความสุขเหล่านั้นผลิดอกผลออกมาเป็นความงามบางอย่าง

ถ้าคุณชอบอาหารอิตาเลียน ชอบฟังแจ๊ซ และหลงรักความสุข บางทีคุณอาจอยากรู้เรื่องของผู้ชายคนนี้ก็ได้

ผู้ชายที่ดูเผินๆ คล้ายเป็นเพียงนายธนาคาร นักการเงิน หรือนักลงทุนธรรมดาๆ คนหนึ่งที่หลายคนอาจรู้สึกว่าหยั่งถึงได้ยาก

แต่โดยเนื้อแท้แล้ว อภินันท์ เกลียวปฏินนท์ – ซีอีโอหรือประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร หรือ KKP ไม่ได้เป็นนักการเงินที่ราบเรียบมิติเดียวเช่นนั้น

เราพบกันในร้านอาหาร Mediterra – ร้านอาหารที่จัดวางรสลิ้นแบบอิตาเลียนตอนใต้เข้าคู่กับรสหูรื่นดนตรีแจ๊ซหลากแบบ ในยามเย็นที่ดนตรียังไม่เล่น ด้านหลังของเราก็มีเครื่องเล่นแผ่นเสียงพร้อมแผ่นเสียงกองโตยืนยันความรื่นรมย์อยู่

ใช่ – ด้านหนึ่งรื่นรมย์ไปกับความงามของอาหารอันพิถีพิถัน ไวน์ที่ดรายกำลังพอดี และเสียงดนตรีในร้านอันละเมียด

แต่ก็ใช่ – ในอีกด้านหนึ่ง, เรากำลังจะสนทนากับนักการเงินคนหนึ่งด้วยบางเรื่องเจือกระแสแน่นหนัก เพียงเอ่ยคำว่าธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์ คำว่า ‘รื่นรมย์’ ก็คล้ายถูกผลักห่างออกไปคนละจักรวาลทันที

แต่เป็นซีอีโอคนนี้นี่แหละ ที่เป็นคนคนเดียวกับเจ้าของร้านอาหารและแจ๊ซบาร์แห่งนี้ ดังนั้น ทั้งสองมิติที่ว่าจึงผสานรวมอยู่ในตัวเขา จนบางครั้งก็เผลอคิดไปว่า – หรือเขาจะมีสองร่าง

สองร่าง – แบบเดียวกับที่ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) และบริษัท หลักทรัพย์เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) มาควบรวมกัน แม้ทั้งคู่จะเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเงินๆ ทองๆ เหมือนกัน แต่ฟากหนึ่งคือธนาคารที่มีวิธีคิดแบบงานกิจวัตร ผิดพลาดไม่ได้ ส่วนอีกฟากคือบริษัทหลักทรัพย์ที่ต้องเขม้นตามองไปในอนาคตเพื่อวางแผนล่วงหน้าเสมอ การบริหารองค์กรที่แตกต่างในรายละเอียดอย่างนี้จึงไม่ง่ายนัก

ทุกปี อภินันท์จะเขียนจดหมายถึงพนักงานด้วยความยาวเกินสิบหน้า เพื่อบอกเล่าข้อมูล ประเมินประมวล และคาดการณ์ความเป็นไปในอนาคตให้เพื่อนๆ พนักงานได้รับรู้ – ซึ่งนั่นก็เป็นอีกเรื่อง ที่ซีอีโอคนอื่นๆ มักไม่ค่อยทำกัน

ว่ากันว่า – บางคราวเขาก็ไปนั่งเขียนจดหมายที่ว่าในบาร์แจ๊ซ…

The Momentum ชวนคุณมาคุยกับผู้ชายคนนี้ เพราะเราเชื่อว่าคุณอยากรู้เหมือนที่เราอยากรู้ – ว่าส่วนผสมต่างๆ เหล่านี้ มากลมกล่อมอยู่ในตัวผู้ชายคนหนึ่งได้อย่างไร

โดยเฉพาะส่วนผสมที่มีชื่อว่า – ความสุข

…..

ปีนี้คุณเขียนจดหมายถึงพนักงานหรือยัง 

ยังเลย ปกติผมจะเขียนปลายปี เพราะกว่าแผนธุรกิจจะเสร็จก็สักปลายเดือนธันวาคม ก็จะยาวจนปีใหม่ถึงจะไปหาเวลาเขียน ปกติก็จะไปเขียนในคาเฟ่บ้าง หรือบางทีมันตันๆ ก็ออกไปเบรกที่บาร์

ยังนึกไม่ออกว่าคุณเขียนออกมายี่สิบสามสิบหน้าได้อย่างไร 

มันเป็นเรื่องงาน ข้อมูลมันเป็นคอนเทนต์ใหญ่ไง ไม่ได้เป็นเรื่องความคิดเห็น มีบ้างที่จะเขียนถึงพนักงานเป็นคนๆ แต่ถ้ามันเป็นแง่ลบ ก็จะพยายามหลีกเลี่ยงการเอ่ยชื่อ  แต่บางครั้งก็อยากจะใส่ชื่อเพื่อขอบคุณ เหตุผลที่ลุกมาเขียนจดหมายคือบางทีคนไทยมีการพูดคุยกันแบบเกรงใจกัน จึงเป็นความตั้งใจส่วนหนึ่งอยู่แล้วที่จะเขียนถึงทั้งเรื่องดีและไม่ดี  แต่บางเรื่องถ้าเป็นเรื่องไม่ดี การพูดถึงบุคคลจะมากไป ผมเลยเขียนถึงหน่วยงานมากกว่า

เกียรตินาคิน-ภัทร ถือเป็นธุรกิจสองแบบที่แตกต่างกัน ในฐานะซีอีโอ คุณดูแลความต่างนี้อย่างไร

ผมไม่แปลกใจที่คนจะรู้สึกว่ามันเป็นสองร่าง ซึ่งต้นตอมันก็มาจากอย่างนั้นด้วย ต้นตอมาจากการควบรวม รากเหง้าก็มาจากคนละอันกัน แม้พื้นฐานคือเรื่องธุรกิจการเงินเหมือนกัน แต่ culture มันต่างกัน ค่อนข้างชัดว่าอย่างหนึ่งเป็นตลาดเงิน อีกอย่างหนึ่งเป็นตลาดทุน ธุรกิจธนาคารเป็นตลาดเงิน ส่วนฝั่งตลาดทุนก็คือเรื่องของตลาดหลักทรัพย์ จึงมีฟังชันก์ที่ต่างกันชัดเจน

พอมันต่างกัน เราก็มานั่งคิดว่าสุดท้ายเนื้อหามันต่างกันจริงไหม หรือว่าคนทำงานมีวิธีการแตกต่างกันไหม เราพบว่า สิ่งที่มันหลอมให้อยู่ด้วยได้คือแก่นของมัน เราพยายามจะพัฒนาหลักการขึ้นมา ซึ่งเป็นเรื่องที่เราปฏิบัติต่อเนื่องอยู่แล้ว ส่วนใหญ่หลักการเหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงที่เป็นสากล เป็นเรื่องที่ถ้าทำได้ตามนั้น ไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่ดี เราใช้แก่นเหล่านี้ในการหล่อหลอมการทำงาน แต่ถึงเวลาแยกย้ายกันไปทำงาน โดยธรรมชาติก็จะต่างกันไป แต่ขอแค่ทุกคนพอมาเป็น KKP หรือเกียรตินาคินภัทร ก็ต้องยึดถือแก่นเดียวกัน

ถ้ามองจากสายตาคนภายนอก การทำงานธนาคารเหมือนงานที่ทำเป็นกิจวัตร เป็นงานวันต่อวัน จึงต้องอยู่กับปัจจุบัน แต่งานด้านตลาดหลักทรัพย์เป็นงานที่ต้องวางแผน มองไปข้างหน้า เท่ากับอยู่ในอนาคตเกือบตลอดเวลา ธรรมชาติของคนทำงานแตกต่างกันอย่างไร 

ธนาคารที่เป็น retail bank ถ้าเปรียบแบบหยาบๆ งานจะเป็นสายพานการผลิต เหมือนโรงงานสับปะรดกระป๋อง คนนึงปอกเปลือก คนนึงคว้าน คนนึงใส่กระป๋อง แต่ละคนจัดการส่วนของตัวเองเป็นขั้นๆ ไปแบบมีประสิทธิภาพสูงสุด ส่วนงานตลาดทุนจะต่างออกไป คนที่ทำดีลจะต้องรู้ทั้งหมด ไม่ใช่ไขน็อตอันเดียวแล้วทำซ้ำไปเรื่อยๆ แต่ต้องวิ่งทุกอย่างจนเสร็จออกมาเป็นเครื่องจักรหนึ่งชิ้น โดยธรรมชาติจึงมีอุดมคติคนละแบบและต่างกันอยู่แล้ว

สำหรับ retail banking ทุกอย่างต้องเป๊ะ ต้องเป็นไปตามกฎระเบียบ แต่ก็มีงานธนาคารที่เป็นรายใหญ่ๆ เหมือนกัน อันนี้เป็นสิ่งที่ผมพยายามมาก เพื่อให้เราสามารถขยับตัวมาอยู่กับลูกค้าได้มากขึ้นนิดนึง แต่ในฐานะที่เป็นผู้ปล่อยกู้ก็ต้องห้ามเจ๊งนะ (หัวเราะ) คือถึงเราต้องต่อรองกับลูกค้าเพื่อผลประโยชน์ แต่เราก็ต้องช่วยให้เขาดีขึ้น โดยเติมฟังชันก์ของการเป็นที่ปรึกษาเข้าไป ไม่ใช่ให้ตัดสินใจเองว่าจะกู้ไปทำอะไร แต่เมื่อเขามาหาเรา เราต้องช่วยคิด แล้วตัวเองต้องหยุดการทำงานเป็นโรงงานการผลิตอย่างเดียว หันมาเติมความเป็นคู่คิดเข้าไปด้วย

คือความสามารถในการให้กู้ต่อรายของเราอาจจะอยู่ที่แค่หมื่นกว่าล้าน แต่ธนาคารใหญ่กว่าเราอาจจะทำได้ถึงแสนล้าน ถ้าแข่งกัน เราไม่มีทางแข่งได้ เพราะต้นทุนทางการเงินเราแพงกว่า ผมถึงบอกคนของผมตลอดว่า เราเป็นธนาคารเล็ก เราต้องเติมความเป็นหุ้นส่วนหรือการเป็นที่ปรึกษา ทำให้เขาได้ประโยชน์มากขึ้นก่อน เสร็จแล้วถ้าเขากู้เรา ก็เป็นอีกเรื่องนึง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราต้องขยัน เร็ว ต้องคมกว่า

เราสามารถนำข้อมูลจากฝั่งหลักทรัพย์ไปใช้กับลูกค้าฝั่งธนาคารได้ไหม 

ได้ ตามขอบเขตที่ลูกค้าเห็นชอบ (consent) และตามกฎหมายกำหนด อย่างเวลาเราจะทำดีล แล้วเราบอกว่าจะแชร์ข้อมูลระหว่างธนาคารกับหลักทรัพย์ ลูกค้าต้องรับรู้และต้องเห็นว่าเป็นประโยชน์กับเขา ไม่ใช่ว่าเราใช้ข้อมูลด้านหนึ่งเพื่อเอาประโยชน์จากเขา หลักการคือเท่านี้เลยครับ คือ ลูกค้าต้อง consent

สำหรับคุณ ความสุขของคนทำงานการเงินคืออะไร 

ผมคงตอบแทนคนอื่นไม่ได้ แต่ถ้าสำหรับผมเอง ผมเริ่มมาจากการทำงานธนาคารเพื่อการลงทุน (investment bank) เป็นพื้นฐาน ผมว่า investment bank ที่สนุกที่สุดคือเป็นคนคิดอะไรขึ้นมาก่อนคนอื่น เป็นคนไปโน้มน้าวให้ลูกค้าเห็นด้วย เสร็จแล้วถ้าเขาทำและประสบความสำเร็จ เราก็ได้ดูเขาโตไปด้วยกัน ได้เห็นเขาประสบความสำเร็จขึ้น รวยขึ้น แล้วถ้ามันมาจากเรา ก็จะสร้างคุณค่าในวงการให้เรา เราไม่ต้องหาลูกค้าใหม่ตลอดเวลา ลูกค้าเดิมจะมาใช้เราเป็น house  bank อย่างนี้คือสนุกที่สุดแล้วสำหรับการทำงานด้านนี้

แต่ผมว่าความสุขเป็นเรื่องปัจเจกมากๆ แต่ละคนมีความสุขต่างกันไป จึงต้องหลอมกันด้วยหลักการ และต้องตระหนักถึงความต่างของแต่ละคนก่อน หลักการหนึ่งที่เรามีคือ – เมื่อชนะต้องฉลอง ฉลองแบบธรรมชาติด้วยนะไม่ใช่เฟคๆ มา คือเวลาเหนื่อย เราต้องให้เครดิตทุกคน

ดูเหมือนคุณเชื่อเรื่องความเสรีของระบบตลาด

อันนี้ผมยอมรับเลยว่าผมโดนล้างสมองมาจากนายของผม (หัวเราะ) คือคุณบรรยง พงษ์พานิช เขาเป็นคนที่เชื่อตลาดจริงๆ เป็นคนที่เชื่อในการแข่งขัน ผมเชื่อว่า คนใน KKP ที่อยู่มาหลายปี จะเชื่ออย่างนั้น ไม่ใช่เชื่อแบบศาสนานะ แต่เชื่อว่ามันจะเป็นประโยชน์กับเราจริงๆ ถ้าถามว่าทำไมมันเป็นตัวผลักดันหลัก ก็ต้องมองย้อนหลังไป เราจะพบว่าเกียรตินาคินภัทรประสบความสำเร็จบนหลักการนี้มาตั้งแต่ต้น คือด้วยการแข่งขันเสรี ให้กลไกตลาดทำงาน เราไม่แข่งขันด้วยการไปอิงเส้นสาย เราจึงรู้สึกว่าความเชื่อนี้เป็นสิ่งที่เราควรโปรโมท

แต่ต้องยอมรับว่าช่วงที่ผมมาทำมันง่ายกว่าช่วงเวลาของรุ่นพี่ๆ ตอนนั้นกว่าจะก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา ทั้งเรื่องความเชื่อ เรื่องกลไกตลาด เรื่องการเชื่อตลาดทุน เป็นสิ่งที่ไม่ง่ายนัก แต่ความที่ประเทศไทยเราตามหลังประเทศที่เจริญแล้วเยอะมาก จึงนำตัวอย่างในต่างประเทศที่พิสูจน์แล้วว่าถูกต้องและดีมาทำได้ มีช่วงหนึ่งที่นำกลไกการตลาดมาแทนการเจรจา แล้วมันประสบผลสำเร็จไง จากนั้นเขาก็ต่อยอด ทำให้ลึกขึ้น ที่ผมว่าผมง่ายกว่าเยอะ เพราะผมเองถึงอยู่มา 20 ปี  แต่ผมอยู่ในช่วงที่พิสูจน์ความสำเร็จเรื่องกลไกตลาดมาแล้ว ผมแค่มาต่อยอดกับมัน เราประสบความสำเร็จด้วยวิธีแบบนี้ บุคลากรเราจึงเชื่อแบบนี้

สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาต่อความเชื่อแบบกลไกตลาดเสรีคือผู้กำกับควบคุมหรือ regulator คุณมีวิธีรับมืออย่างไรกับ regulator 

เราไม่มีปัญหากับ regulator เพราะถ้าเกิดเข้าใจตรงกัน วิธี regulate ที่ดีที่สุดก็คือการกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน จะได้ไม่ต้องไป regulate ใคร ใครทำไม่ดีมันจะอยู่ไม่ได้เอง 

แปลว่าต้องหาสมดุลในเรื่องนี้?

การหาสมดุลต้องหาตลอด ในฝั่งตลาดทุน regulator อาจจะเข้าใจเราแล้ว เชื่อแล้ว มีน้ำหนักแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่าพอเราย้ายมาฝั่งธนาคารพาณิชย์ เรายังไม่ได้ความเข้าใจนั้นจาก regulator ก็เป็นหน้าที่ที่เราต้องพิสูจน์กันเรื่อยๆ ต้องทำความเข้าใจ ต้องลดช่องว่าง แม้กระทั่งในฝั่งตลาดทุนที่มีน้ำหนักอยู่แล้ว บางครั้งก็อาจเกิดความไม่สมดุลได้ตลอดเวลา แค่มีการเปลี่ยนบุคลากรใหม่ ก็อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ หรือถ้าเหตุการณ์ข้างนอกเปลี่ยน ก็อาจต้องมาพูดคุยกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก

ทราบว่าปีนี้ เกียรตินาคินภัทรได้จัดทำหนังสือเล่มใหญ่เกี่ยวกับต้นไม้ใหญ่ในไทยโดยเฉพาะ ต้องถามว่าในฐานะองค์กรที่ทำงานด้านการเงินและการลงทุน ทำไมถึงสนใจประเด็นเชิงสิ่งแวดล้อม

ผมชอบอยู่แล้ว คนรอบตัวผมก็ชอบ แล้วที่คิดว่าน่ารำคาญใจที่สุดคือในกรุงเทพฯ นี่ เรื่องต้นไม้มันเละเทะจริงๆ หลายปีก่อนเราเคยให้ทุนเรื่องการตัดแต่งต้นไม้ เรื่องรุกขกร แต่เรื่องนี้เป็นปลายเหตุแล้วไง สมมุติว่าเราทำเรื่องวิธีตัดแต่งต้นไม้ แต่พอมีหน่วยงานที่ทำงาน เขาก็จะมี KPI เป็นเรื่องความเร็ว ความไม่ขวางสายไฟ อะไรทำนองนี้ เช่นตัดแต่งต้นไม้หนึ่งต้นให้เวลาแค่ 3 นาที ฉะนั้นจึงยังไม่ได้ผล ถ้าถามว่า ทำไมเกียรตินาคินภัทรทำเรื่องนี้ คำตอบคือโดยองค์กรที่เป็นธุรกิจก็ต้องมีอะไรคืนสู่สังคม โดยเฉพาะเรื่องที่ยังไม่มีน้ำหนักพอในสังคม เราไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็นต้นไม่ใหญ่อย่างเดียว เพราะทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันหมด

เราคุยกันว่าถนนอย่างถนนอโศกที่เราอยู่นี่ มันเป็นถนนที่คนได้ยินแล้วรู้สึกในแง่ลบสุดๆ ทั้งรถติด น้ำท่วม ความไม่เป็นมิตรกับต้นไม้กับคนเดิน เลยคิดว่าจะพยายามทำเรื่องนี้ คือแทนที่จะไปทำที่อื่น ก็ทำที่ที่เราอยู่นี่แหละ แล้วไม่ใช่แค่เรื่องของต้นไม้ แต่เป็นเรื่องของผังเมืองด้วย อยากทำให้มันเป็นถนนที่คนใช้แล้วปลอดภัย อยากให้ต้นไม้ทำให้คุณภาพชีวิตเราดีขึ้น เรายังไปดูต้นซากุระที่ญี่ปุ่น ไปดูชมพูพันทิพย์ที่กำแพงแสนกันได้เลย ทำไมอโศกถึงจะทำไม่ได้ ก็เลยร่วมคิดกับทาง มศว. ประสานมิตร ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษา และมีพื้นที่ใหญ่อยู่แล้ว พยายามรวมอาสาสมัคร รวมคนเก่งๆ เรื่องผังเมือง หลายคนก็พร้อมจะร่วมกันแชร์เรื่องแย่ๆ เหล่านี้

นอกจากเกียรตินาคินภัทรที่ดูเหมือนมีสองร่างแล้ว คล้ายว่าตัวตนของคุณก็มีสองร่างด้วย ด้านหนึ่งคือด้านที่เป็นนักการเงิน กับอีกด้านหนึ่งคือความสนใจในดนตรี

คือผมชอบฟังเพลง ผมเป็นลูกคนจีน สมัยนั้นพ่อแม่นิยมส่งลูกส่งไปเรียน เปียโน ไวโอลิน แต่ผมไม่ได้เรียนขนาดนั้น พ่อแม่ผมสนับสนุนการชอบฟังเพลงอ่านหนังสือ แต่ไม่ได้พาไปเรียนพิเศษเป็นเรื่องเป็นราว แต่ก็มีเทปรวมเพลงต่างๆ ของฝรั่งมาให้ฟัง เทปของ peacock ถ้ารุ่นเดียวกันคงรู้จัก (หัวเราะ) พอดีพี่สอบเอนทรานซ์ได้ พ่อเลยซื้อเครื่องเล่นแผ่นเสียงให้ ทุกคนจึงรวมค่าขนมซื้อแผ่นมาฟัง แต่พอโตก็ไม่ได้มีเวลามาฟังขนาดนั้น ผมเคยไปเรียนที่อเมริกาและแวะไปนิวออร์ลีนส์บ่อย ช่วงนั้นได้ฟังแจ๊ซเยอะ แต่หลักๆ คือไปกินเหล้า (หัวเราะ) ไปที่บาร์ มีค็อกเทล แล้วนิวออร์ลีนส์มีแจ๊ซแบบที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านโปรด พวกวง Preservation Hall เราก็สนุกกับมัน ผมไปสองปี ก็พัฒนาเรื่องดนตรีมากขึ้น แล้วพอฟังไป มันยิ่งไปค้นเพลงเก่าขึ้นเรื่อยๆ อย่าง ดุ๊ค เอลลิงตัน, หลุยส์ อาร์มสตรอง, เอลลา ฟิตซ์เจอรัลด์, บิลลี่ ฮอลิเดย์

นั่นทำให้คุณอยากเป็นเจ้าของบาร์แจ๊ซด้วยไหม 

ประมาณนั้น มันแวบๆ เข้ามานะ (หัวเราะ) อยากให้เป็นที่แฮงเอาท์ ปกติผมจะใช้เวลากับเพื่อนร่วมงานเยอะ ถ้าเป็นที่ที่ไม่ต้องนัดกันก็จะดีมาก ถ้าไม่ต้องกังวลว่าร้านจะปิดมั้ย สถานที่จะโอเคไหม ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นนั่นแหละ ว่าอยากให้มีที่ที่มีเพลงที่เราชอบฟัง เป็นที่ที่รีแล็กซ์ เป็นที่ที่ไม่ต้องนัด ใครจะมาก็มา แต่ก็ไม่ถึงขนาดต้องขวนขวายทำ แต่บังเอิญผมมาเจอกับหุ้นส่วนคนนี้ เลยเกิดเป็น Mediterra ขึ้นมา

ร้าน Mediterra เปิดตัวในปีที่วิกฤตล้อมประเทศจริงๆ ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจทั้งวิกฤตโรคระบาด ในฐานะนักการเงิน ทำไมคุณเลือกเปิดร้านในจังหวะเวลาและสถานการณ์แบบนี้ 

ตอนที่ผมเจอหุ้นส่วน เขาทำร้านอีกร้านหนึ่งอยู่ เป็นร้านที่ผมกินประจำ ร้านเล็กๆ ใกล้ๆ ออฟฟิศ แต่เขากำลังจะปิด เลยถามไถ่กัน ที่จะปิดไม่ใช่เพราะร้านไม่ดี แต่ร้านเขาไม่สามารถ scale up มากพอได้ คือเปิดมา 5 ปีแล้ว ประสบความสำเร็จในเรื่องชื่อเสียง มีลูกค้าประจำ ได้เรตติ้งดี แต่ตัวสเกลมันยังไม่ได้ ผมเลยมีไอเดียขึ้นมา และมองว่าอาจเป็นโอกาสได้ คุยกันแล้วเขาหายไปสามเดือน ผมนึกว่าคงไม่ได้ทำแล้ว แต่เขากลับมาพร้อม proposal แบบมืออาชีพมาก ละเอียดมาก มีข้อมูลต่างๆ ครบ มีแค่ไม่กี่เรื่องที่ผมต้องมาปรับหรืออาจจะไม่เห็นด้วย ผมมองว่านี่คือจุดเริ่มต้น ถ้าผมไม่เริ่ม ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ผมอยากมีที่แฮงค์เอาท์ แต่ผมไม่อยากเจ๊ง ผมจึงใช้เวลากับมันอย่างมากในการคิด bussiness model ต่างๆ ให้ละเอียด ทำไมผมถึงเชื่อในการทำร้านอาหารอิตาเลียน ทำไมถึงต้องเป็นอาหารอิตาเลียนตอนใต้ ทั้งๆ ที่การแข่งขันสูง แล้วทำไมผมถึงให้คุณค่ากับหุ้นส่วนมาก นั่นเพราะผมมีอาชีพหลักของผมแล้ว แล้วก็ผมไม่อยากมีภาระ ผมมีสันดานแข่งขันที่อยากชนะ อยากประสบผลสำเร็จ จึงเน้นหนักกับการวางแผนช่วงแรกละเอียดมากๆ ช่วงแรกๆ ผมเข้ามาบ่อยมาก เพราะอาจจะยังไม่ลงตัว  แต่พอลงตัวแล้ว ผมจะส่งต่อเลย งานที่เป็นการเงินการลงทุนก็เหมือนกัน พอมันลงตัวแล้ว ดีลทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ผมจะรู้ความสนใจของตัวเอง ผมถึงต้องหาคนที่มีในสิ่งที่ผมไม่มี ส่วนร้านอาหาร ผมมีหุ้นส่วนที่คอยดูให้ผม

คุณมีส่วนร่วมในการดีไซน์อาหารไหม 

ไม่ค่อย เพราะผมให้คุณค่าความเป็นผู้เชี่ยวชาญ แล้วผมอยากให้มันเป็นอาหารที่ authentic จริงๆ มีหลายเรื่องที่ผมพยายามจะลดช่องว่างระหว่างความเป็นต่างชาติกับคนไทย แต่คนตัดสินใจคือเขา ยกตัวอย่างเช่น ร้านอิตาเลียนใต้ตามคอนเซ็ปต์ที่เป๊ะจริงๆ จะไม่มีเนื้อวัวเลย แต่ผมบอกเขาว่าคนไทยชอบกินเนื้อ ก็เลยมีเนื้อโผล่มา หรือทำไมร้านนี้ไม่มีคาร์โบนาร่า ถึงผมจะบอกว่าคนไทยชอบกิน เขาก็ไม่ทำ เพราะคาร์โบนาร่าไม่ใช่อาหารอิตาเลียนตอนใต้ หรือว่าบอกเขามาหกเดือนแล้วว่าคนชอบกินลาซานญานะ เขายังไม่ทำเลย ผมเคยโน้มน้าวเขา แต่เขาอาจจะคิดว่ามันธรรมดาไปก็ได้ ผมก็ไม่ยุ่ง เราเคารพกัน

แล้วเรื่องดนตรีในร้าน คุณจัดการอย่างไร

คือผมเป็นคนดื่ม ผมชอบไปอยู่ในร้านเหล้าที่มีนักดนตรี และมีเพื่อนที่เป็นเจ้าของร้าน Adhere ที่บางลำพู ซึ่งดนตรีร้านนั้นเวลาเขามีเซสชั่นแจมกัน จะมีคนมาทั้งไทยทั้งต่างประเทศ แล้วผมคุ้นถึงขั้นสนิทกับเจ้าของร้าน พอจะทำร้านอาหารแล้วผมต้องหานักดนตรี ผมเลยคิดถึงเขา จึงขอให้ช่วยมาดูที่ร้านและช่วยแนะนำ จึงเป็นที่มาของวงดนตรีแจ๊ซที่นี่ ตอนนี้ 3 วง ก็มีสลับกันบ้าง

คนที่ชอบดนตรี ความสุขจะอยู่ที่การได้เล่น ความสุขของคนชอบทำอาหารก็อยู่ที่การได้ทำอาหาร แต่ความสุขของคนที่เป็นเจ้าของหรือเป็นคนลงทุนโดยที่ไม่ได้ทำมันเป็นอย่างไร แตกต่างอย่างไรกับความสุขของคนที่ได้ลงมือทำ

อย่าเรียกว่าความสุขทั้งหมดเลย เพราะบางทีความไม่สุขก็มี เช่นผมอยากให้คนกินอาหารแยกจากคนฟังเพลงได้ อย่างพอเลยสามทุ่มแล้วก็น่าจะเป็นกลุ่มคนฟังเพลง แต่ก็ยังทำไม่ได้ ผมอยากให้นักดนตรีประสบความสำเร็จด้านการเล่นดนตรีเพื่อคนที่มาฟังเพลงด้วย แต่เรื่องนี้ยังไม่ประสบผลเท่าไหร่

สำหรับคุณ คำว่า wealth นอกเหนือจากเรื่องเงินแล้ว ยังมีความหมายอะไรอื่นอีกไหม

ตอนเด็กๆ ผมและเพื่อนๆ ไม่ได้อยู่สบายมากนะ แต่ก็ไม่ได้กังวลมาก รู้ว่าที่บ้านก็พอมีอยู่บ้าง แต่ทุกคนก็รู้ว่าต้องรับผิดชอบตัวเอง เวลามองย้อนกลับ ผมว่าระหว่างที่ยังไม่มีตัวเงิน ผมมีเวลา มีความสนุก ความไม่ต้องฝืนใจกับอะไรตลอดมา ตัวเงินมาทีหลังด้วยซ้ำ การสร้างเนื้อสร้างตัวเป็นผลลัพธ์มากกว่า การมีเป้าหมายกับหน้าที่ของตัวเอง ความเชื่อในกลไกตลาด สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นมาเอง จะเรียกว่าเป็น wealth ก็ได้

แต่ละช่วงชีวิตมันต้องเรียนรู้ ต้องบาลานซ์ แต่ละช่วงชีวิตมันจะมีความมั่งคั่งคนละแบบ ผมว่าอย่าไปพยายามมากนัก  แต่ละช่วงให้รู้ไว้หลวมๆ รู้ประโยชน์ของแต่ละเรื่องว่าเราทำอะไรไปเพื่ออะไร แต่ไม่ต้องไปขวนขวายมากนัก คุณบรรยงพูดตลอดว่า ถ้า supply ไม่มา ก็ให้บริหาร demand เอา

แต่ช่วงหลังนี้ wealth เรื่องสุขภาพของผมน่าจะแย่สุด (หัวเราะ)

ปีนี้เป็นปีที่ยากลำบาก หลายคนบอกว่าปีหน้าจะยิ่งยากลำบาก สำหรับปี 2021 ที่จะถึงนี้ คุณมองความเสี่ยงในเรื่องต่างๆ อย่างไรบ้าง และเห็นอนาคตของประเทศอย่างไร

ในมุมมองผม ความเสี่ยงที่มีในปัจจุบันทุกคนเห็นอยู่แล้ว แต่ KKP พยายามจะทำเรื่องโครงสร้างของประเทศ ยุคผมไม่เป็นไร แต่มันเป็นเรื่องของรุ่นที่ต้องโตต่อไป ปัญหาเชิงโครงสร้างนี่ใหญ่โตมาก

อย่างเรื่องจำนวนนักวิทยาศาสตร์ ประเทศที่เจริญแล้วเขามี 20% แต่เรามี 1.6 % วิทยาศาสตร์ที่ว่ารวม วิศวะ วิทยาศาสตร์ หรือเทคโนโลยีต่างๆ หมดนะครับ หรือจำนวนของสิทธิบัตรในประเทศสิงคโปร์ เขา 2,000 ต่อประชากรหนึ่งล้านคน ส่วนของเรามี 160

ผมคิดว่าเรื่องพวกนี้เป็นความเสี่ยง เหมือนเรากำลังเป็นกบที่ถูกต้มอยู่ในน้ำเย็น รู้ตัวอีกทีเมื่อน้ำร้อนก็คือตายไปแล้ว เรามีปัญหาตั้งแต่เรื่องการเปลี่ยนผ่านไปเป็นสังคมสูงวัย ทำไมฝรั่งทิ้งการลงทุนในไทย ทำไมเราถึงไม่เติบโต มันชัดมากว่าประเทศเราเกือบจะแย่แล้ว มันเสี่ยงมโหฬารมาก แค่การเปลี่ยนรัฐบาลก็อาจไม่ช่วยนะ ผมว่าสุดท้ายเป็นเรื่องการศึกษาเลย

แต่ข้อที่ไม่ได้แย่มาก ผมว่าถ้าให้เปรียบเทียบ ประเทศไทยเหมือนคนที่ไม่ได้มุ่งมั่นว่าจะโต แต่ก็ไม่จนนัก ยังใช้ชีวิตระวังมาตลอด แต่นึกไม่ออกว่าแล้วจะสร้างเนื้อสร้างตัวให้คนรุ่นลูกหลานอย่างไร เพราะการกระจายอำนาจแย่มาก ความเหลื่อมล้ำก็สูงมาก เรื่องนวัตกรรมไม่ดี เรามีแนวคิดเรื่องเปิดเสรี เรื่องกลไกตลาด  แต่เราก็ยังก้าวข้ามเรื่องโกงไปไม่ได้สักที

ผมมองว่า ถ้าเราใช้กลไกตลาดเสรีไปเรื่อยๆ เป็นเวลานานๆ มันจะโอเคนะ แต่ตอนนี้มันยังไม่เสรีจริง คนที่มีอำนาจก็ยังมีอำนาจไปเรื่อยๆ

Tags: , , , ,