การประชุมกลุ่มเอเปคที่ปาปัวนิวกินีเมื่อวันอาทิตย์จบลงโดยไม่สามารถออกแถลงการณ์ได้ นับเป็นครั้งแรกที่เขตเศรษฐกิจเสรีที่ว่านี้ไม่อาจบรรลุฉันทามติ หลังจากจีน-สหรัฐฯ โจมตีกันและกันอย่างเผ็ดร้อน ต่างฝ่ายต่างพยายามแข่งอิทธิพลและช่วงชิงการนำในย่านเอเชีย-แปซิฟิก

เวทีเอเปคในปีนี้ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงพอร์ตมอร์สบี มีบรรยากาศตึงเครียดผิดแผกจากในปีที่ผ่านๆ มา เพราะจีนโจมตีสหรัฐฯ ที่ดำเนินนโยบายสงครามการค้า ขณะที่สหรัฐฯ เล่นงานจีนในเรื่องการลงทุนข้ามชาติ

ในเมื่อสองมหาอำนาจงัดข้อกันในประเด็นที่เป็นหัวใจของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก พอจบการประชุมในวันอาทิตย์ เวทีจึงต้องเก็บฉาก บรรดาผู้นำ 21 ประเทศและเขตเศรษฐกิจแยกย้ายกลับบ้าน โดยไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันเพื่อออกเป็นคำประกาศตามธรรมเนียมปฏิบัติ

ภาพโดย SAEED KHAN / AFP

เจ้าภาพปาดเหงื่อ ยักษ์ 2 ตนเขม่นกันในห้อง

ตั้งแต่ผู้นำเอเปคเริ่มการประชุมประจำปีตั้งแต่ปี 1993 เป็นต้นมา มีการออกปฏิญญาของผู้นำชาติสมาชิกเมื่อสิ้นสุดการประชุมทุกครั้ง

สัญญาณลบเริ่มตั้งเค้าตั้งแต่วันเสาร์ เมื่อประธานาธิบดีจีน สีจิ้นผิง วิจารณ์นโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ขณะที่รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไมค์ เพนซ์ สวนกลับด้วยการวิจารณ์นโยบาย “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”

ทั้งสองเรื่องถือเป็นนโยบายใหญ่และผลประโยชน์สำคัญของแต่ละฝ่าย เมื่อมหาอำนาจทั้งสองใช้เวทีเอเปคถล่มซึ่งกันและกัน ที่ประชุมจึงเต็มไปด้วยความอลหม่าน

แม้บรรดาเจ้าหน้าที่ของชาติสมาชิกพยายามแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง หาทางตะล่อมประเด็นที่ทุกฝ่ายจะพอยอมรับเป็นข้อสรุปร่วมกันได้ แต่ท้ายที่สุดก็คว้าน้ำเหลว

ระหว่างแถลงข่าวภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรีของปาปัวนิกินี ปีเตอร์ โอ’นีล ถูกนักข่าวซักว่า สมาชิกเอเปคประเทศไหนไม่ยอมรับแถลงการณ์ เขาตอบว่า “คุณก็รู้ มียักษ์ใหญ่ 2 ตนอยู่ในห้อง” แล้วบอกว่า ประเดี๋ยวจะออกถ้อยแถลงของประเทศเจ้าภาพในฐานะประธานการประชุมแทน

จีนเริ่มขาย One Belt, One Road

บรรยากาศเริ่มระอุในวันศุกร์ หลังจากสีจิ้นผิงซึ่งไปถึงปาปัวนิวกินีก่อนวันประชุมได้นัดพบบรรดาผู้นำประเทศเกาะแถบแปซิฟิก แล้วลงมือ ‘ขายของ’ ด้วยการชูความริเริ่มแถบและเส้นทาง จึงถูกบรรดาชาติตะวันตกเขม่นมองว่า จีนกำลังขยายบทบาทเข้ามาในพื้นที่ที่เป็นเขตอิทธิพลของอเมริกาและพันธมิตร

ภาพโดย FAZRY ISMAIL / AFP

ผู้นำจีนยังได้ไปเปิดโรงเรียนและถนนในเมืองหลวงของประเทศเจ้าภาพ ซึ่งสร้างด้วยความช่วยเหลือจากจีนด้วย

ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงบอกปัดว่า บีอาร์ไอ (Belt and Road Initiative) ไม่ใช่แผนขยายอำนาจทางภูมิรัฐศาสตร์ แต่มุ่งสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง ตะวันออกกลาง ยุโรป และแอฟริกา อีกทั้งไม่ใช่ “กับดักหนี้สิน” อย่างที่ใครๆ พูดกัน

สียังโจมตีรัฐบาลทรัมป์ด้วยว่า ดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้า ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นนโยบายที่ “สายตาสั้น” และ “จะต้องล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า”

สหรัฐฯ ยั่วกลับ จีบประเทศพันธมิตร ปิดล้อมอิทธิพลจีน

ข้างฝ่ายรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยิงหมัดตรงว่า ประเทศทั้งหลายไม่ควรยอมตกเป็นหนี้ที่จะลดทอนอธิปไตยของตัวเอง พร้อมกับเย้ยแผนการของจีนว่าเป็น “แถบ (สายเข็มขัด) รัดพุง” และ “ถนนเดินรถทางเดียว”  ซึ่งสหรัฐฯ จะไม่ทำเยี่ยงนั้น

ในเรื่องสงครามการค้า เพนซ์ประกาศว่า สหรัฐฯ จะคงการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนไว้ต่อไป ตอนนี้เรียกเก็บจากสินค้าจีนมูลค่า 250,000 ล้านดอลลาร์ ต่อไปอาจขึ้นไปอีกกว่าเท่าตัว จนกว่ารัฐบาลปักกิ่งจะเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งวอชิงตันกล่าวหาว่าจีนค้าขายเอาเปรียบสหรัฐฯ บังคับให้เอกชนอเมริกันถ่ายทอดเทคโนโลยี และขโมยทรัพย์สินทางปัญญา

เขาบอกว่า วอชิงตันต้องการมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับปักกิ่ง โดยมีข้อแม้ว่าจีนจะต้องเคารพอธิปไตยของเพื่อนบ้าน ทำการค้าแบบเสรี เป็นธรรม และต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน รวมทั้งปรับปรุงการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ รองประธานาธิบดีอเมริกันยังได้พบกับผู้แทนของไต้หวันที่ไปร่วมประชุมเอเปคด้วย ซึ่งคงสร้างความขุ่นเคืองแก่จีนอย่างไม่ต้องสงสัย

เพนซ์ซึ่งไปร่วมประชุมแทนทรัมป์ ยังบอกด้วยว่า อเมริกาจะร่วมมือกับออสเตรเลียพัฒนาฐานทัพเรือที่เกาะเมนัสของปาปัวนิกิวนี ซึ่งเคยเป็นฐานทัพอเมริกันเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง นักสังเกตการณ์มองว่าแผนการนี้เป็นความพยายามปิดล้อมอิทธิพลของจีนในแปซิฟิกใต้

นอกจากนี้ เมื่อวันอาทิตย์ สหรัฐฯ ยังจับมือกับพันธมิตร คือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น ประกาศจัดทำโครงการเพิ่มกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ต มูลค่า 1,700 ล้านดอลลาร์ฯให้แก่ประเทศเจ้าภาพการประชุมด้วย โครงการนี้จะทำให้ประชากรราว 70 เปอร์เซ็นต์ของปาปัวนิวกินีมีไฟฟ้าใช้ จากระดับปัจจุบันที่มีไฟฟ้าแค่ 13 เปอร์เซ็นต์ นัยว่าแผนการนี้เป็นการแข่งกับจีนในการซื้อใจมวลมิตร

นายกรัฐมนตรีปาปัวนิวกีนี ปีเตอร์ โอ’นีล (ตรงกลาง) โชว์เอกสารโครงการเพิ่มกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า ที่ลงนามโดย สกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย (ซ้าย) ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น (คนที่สองจากซ้าย) ไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ (ขวา) และจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ (คนที่สองจากขวา) ในระหว่างการประชุมเอเปค เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2018
(ภาพโดย SAEED KHAN / AFP)

 

เรียกได้ว่า ในเวทีเอเปคปีนี้ จีนกับสหรัฐฯเผชิญหน้ากันอย่างแหลมคม ทั้งในทางวาทะ และในความเคลื่อนไหวเชิงยุทธศาสตร์

เอเปคจัดเป็นเขตเศรษฐกิจเสรีที่มีน้ำหนักมากในระบบเศรษฐกิจการเมืองโลก ปรากฏการณ์ที่ปิดการประชุมโดยไร้ข้อสรุปเช่นนี้ ถือเป็นสัญญาณที่น่าวิตกสำหรับทุกประเทศไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ตราบเท่าที่มหาอำนาจจีน-สหรัฐฯ ยังคงเผชิญหน้า การค้าการลงทุนทั่วโลกย่อมไม่อาจราบรื่น

 

อ้างอิง:

 

Tags: , , , , , ,