“ขณะนี้มีแพทย์ติดเชื้อไปแล้วหลายคน ทางกระทรวงจะมีมาตรการลดความเสี่ยงของพวกเขาอย่างไรบ้าง?” เป็นคำถามที่นักข่าวถามคุณอนุทิน ชาญวีรกูล ภายหลังเป็นประธานเปิดกิจกรรมรณรงค์ “CLEAN Together: คนไทยรวมพลังป้องกันโรค” ณ บริเวณโถงอาคาร 3 ของสำนักงานปลัดกระทรวง เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2563 แต่คำตอบของท่านกลับทำให้นิวส์ฟีดเฟซบุ๊กของผมลุกเป็นไฟตั้งแต่ช่วงบ่าย จนถึงก่อนนอนหน้าจอมือถือของผมก็ยังอุ่นอยู่
ซึ่งถือเป็นบทเรียนราคาแพงของคุณอนุทิน ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
-
ตอบไม่ตรงคำถาม แต่โป๊ะแตก! ว่ามีบุคลากรฯ ไม่ได้ติดเชื้อจากการทำงาน
“เท่าที่ผมได้รับรายงานมานะครับ” คุณอนุทินพยักหน้ารับคำถามตั้งแต่ก่อนที่นักข่าวจะถามจบ และตอบอย่างมั่นใจว่า “การติดเชื้อของแพทย์จากการปฏิบัติหน้าที่ให้การรักษาโควิดยังไม่มี นี่คือสิ่งที่จะต้องไปหวดกันนะครับ” ฟังครั้งแรกแล้วรู้สึกโกรธขึ้นมาทันทีว่าทำไมท่านถึงไม่ได้รับรายงานว่ามีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อแล้ว 4+2+3 = 9 รายในช่วง 3 วันมานี้ “อันนี้ต้องยอมรับ พวกเราก็ไม่พอใจนะครับ” ใช่! พวกผมก็ไม่พอใจ
แต่พอมาฟังอีกรอบ (และอีกหลายรอบตอนเขียนบทความ) ผมก็เริ่มจับคำสำคัญที่คุณอนุทินพูดออกมาได้ 2 คำ คือ ‘แพทย์’ และ ‘(การติดเชื้อ) จากการปฏิบัติหน้าที่’ หรือจะเป็นเพราะท่านต้องการพูดถึงเฉพาะ ‘แพทย์’ (Doctor) ไม่ใช่ ‘บุคลากรทางการแพทย์’ (Health care worker) อย่างที่ผมเข้าใจ ซึ่งจะหมายถึงทุกคนที่ทำงานในโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล เภสัชกร เจ้าหน้าที่ห้องแล็บ/ห้องเอ็กซเรย์ พนักงานเข็นเปล รวมถึงแม่บ้านที่มีโอกาสสัมผัสขยะติดเชื้อด้วย เพราะทุกคนซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อจากผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่ระดับความเสี่ยงนั้นอาจมากน้อยต่างกัน
ส่วน ‘จากการปฏิบัติหน้าที่’ ซึ่งหมายถึงการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ขณะดูแลรักษาผู้ป่วย จะเป็นไปได้อย่างไรที่บุคลากรทางการแพทย์ทั้ง 9 รายจะไม่ติดเชื้อจากการทำงานแม้แต่รายเดียว ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าท่านพูดเฉพาะเจาะจงถึงเฉพาะ ‘แพทย์’ เพียงอาชีพเดียว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะนักข่าวใช้คำว่า ‘แพทย์’ และอาจเป็นไปได้ว่าท่านก็ได้รับรายงานมาว่าไม่มี ‘แพทย์’ ที่ติดเชื้อจากการปฏิบัติหน้าที่ด้วยอย่างที่ท่านต้องการ ‘หวด’
“วันนี้ผมได้มีการสื่อสารข้อมูลจากการสัมภาษณ์ออกไป ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่สบายใจกับเพื่อนร่วมงานของผมทุกคน” ซึ่งจากคลิปขออภัยบุคลากรทางการแพทย์ในเวลาต่อมา คุณอนุทินก็ได้ยอมรับว่าตอบไม่ตรงคำถาม “วันนี้ผมอาจจะมีความกดดัน และไม่ทันได้ฟังคำถามให้ดี และไปตอบคนละเรื่องกับคำถาม” แต่ได้ชี้แจงเพิ่มเติมด้วยว่า “ผมได้รับรายงานว่ามีแพทย์ที่ติดเชื้อ 3-4 คน ซึ่ง…ท่านเหล่านั้นไม่ได้ติดเชื้อจากการให้การดูแลรักษาคนไข้”
โป๊ะแตก! ความไม่พอใจของผมกลายเป็นความสงสัยทันทีว่าท่านได้รับรายงานอะไรจากผู้บริหารระดับสูงอีกบ้างที่บุคลากรฯ ทำงานด่านหน้ายังไม่รู้
-
ละเลยปัญหาสำคัญของบุคลากรฯ ส่วนใหญ่ ซึ่งทำงานด่านหน้าอย่างหวาดวิตก
“ฉันนี่ถอดหมวก ถอดถุงมือ ถอดแมสก์เลย … (อุทาน) ไม่เป็นมันแล้วหมอ พูดมาได้เขาป้องกันตัวเองไม่ดี คุณส่งอะไรมาให้เขาใช้บ้าง ทุกวันนี้หน้ากากอนามัย ฉันยังขอรับบริจาคอย่างกับขอทาน ชุด PPE ฉันใช้เสื้อกันฝน Face shield ฉันก็ทำเอง รองเท้าบู๊ทไม่มีเอาถุงร้อนมาหุ้มเท้าแล้วใช้สกอตเทปพันอีกที ทุเรศสิ้นดี!” โพสต์หนึ่งที่เดือดมากในนิวส์ฟีดของผม (ผมขออนุญาตเปลี่ยนคำให้สามารถ ‘ออกสื่อ’ ได้นะครับ ท่านสามารถอ่านอีกครั้งด้วยคำสรรพนามอีกชุดหนึ่ง)
ทันทีที่บุคลากรทางการแพทย์ได้ยินคำให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงของตัวเองแทบไม่มีใครคุมอารมณ์โกรธอยู่ อย่างที่เพื่อนของผมอีกคนโพสต์ว่า “ผมแนะนำให้ฟังคลิปคุณอนุทิน พูดถึงบุคลากรทางการแพทย์วันนี้ครับ ถ้าฟังแล้วอารมณ์นิ่งได้ถือว่าท่านบรรลุแล้ว ยินดีด้วยนะครับ” ทุกคนต่างสามัคคีกันออกมาแสดงความไม่พอใจกับสิ่งที่ท่านให้สัมภาษณ์ในวันนี้ โดยเฉพาะคำว่า ‘หวด’ และท่อนที่ว่า
“สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เฝ้าระวังตัวเอง ซึ่งเราควรต้องเป็นบุคคลตัวอย่าง ต่อให้ไม่เป็นบุคคลตัวอย่าง เราก็จะต้องเป็นคนที่ alert ตัวเองอยู่ตลอดเวลา ว่าช่วงนี้มีสถานการณ์ระบาดของโรค เราต้องเซฟตัวเองให้มากที่สุด” ซึ่งมีลักษณะตำหนิและสั่งสอนผู้ปฏิบัติงาน (สังเกตว่าท่อนนี้ใช้คำว่า ‘บุคลากรทางการแพทย์’) เพราะนักข่าวถามท่านถึงบุคลากรฯ ส่วนใหญ่ที่มีความเสี่ยง ไม่ใช่บุคลากรฯ ส่วนน้อยที่ท่านได้รับรายงานว่าไม่ได้ติดเชื้อจากการรักษาคนไข้
คำให้สัมภาษณ์แรกของท่านสะท้อนความไม่เข้าใจการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ไม่เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นว่าพวกเขากำลังหวาดกลัวกับการติดเชื้อจากการทำงานให้ท่านอยู่ ถึงแม้จะระมัดระวังตัวเต็มที่แล้ว แต่พวกเขาก็หวาดวิตกว่าจะติดเชื้อจากการที่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันตัวเองที่เหมาะสม เช่น หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ชุด PPE หรือชุดอวกาศ ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่สามารถในการจัดสรรอุปกรณ์เหล่านั้นให้เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย
และถ้าหากพวกเขาติดเชื้อ ก็จะนำเชื้อไปสู่สมาชิกในครอบครัวที่เขารักได้
ความคับข้องใจนี้จึงระเบิดออกมาในทันทีที่ท่านให้สัมภาษณ์ ซึ่งในเมื่อไม่มีความเข้าใจแล้ว ก็เลยไม่มีถ้อยคำที่ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่แม้แต่คำเดียว
“วันนี้ถ้าผมสื่อสารไม่ดี ผมต้องขออภัยจริงๆ ผมอาจจะมีปัญหาในการสื่อสารในช่วงนี้ เพราะว่าความกดกันก็เยอะนะครับ จะพยายามปรังปรุงตัวเอง ให้ชัดเจนยิ่งกว่านี้ ขอให้ท่านได้มั่นใจครับว่าผมมีความเป็นห่วงพวกท่านทุกคน และผมต้องการให้พวกท่านประสบความสำเร็จ เราชนะโรคโควิดด้วยกัน ผมถือโอกาสนี้พูดว่าผมเสียใจในสิ่งที่ผมสื่อสารไม่ผ่าน”
“แต่ผมจะปรับปรุงตัว และขอให้ท่านให้โอกาสผม ขอให้มั่นใจว่าผมไม่มีเจตนาร้ายใดๆ กับพวกท่านเลย มีแต่ความรักความห่วงใย ขอให้มั่นใจครับ ขอบคุณครับ” คุณอนุทินอาจมีปัญหากับการสื่อสารอย่างที่ท่านยอมรับในคลิปที่ถัดมา แต่ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก จึงได้แต่หวังว่าท่านจะไม่ผิดพลาดเช่นนี้อีก ที่สำคัญไปกว่านั้นคือการแสดงฝีมือให้บุคลากรฯ เห็นว่าท่านสามารถทำได้อย่างที่ท่านห่วงใย และเมื่อนั้นความมั่นใจก็จะตามมา
ว่าแต่แพทย์ 3-4 คนที่ท่านอนุทินกล่าวถึงนั้นติดเชื้อมาจากไหน และพวกผมที่เรียกร้องให้มีการจัดสรรอุปกรณ์ป้องกันตัวเองเพียงพอกับเจ้าหน้าที่กำลังปกป้องความผิดของพวกเขาอยู่หรือไม่
-
อาชีพเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อ แต่การติดเชื้ออาจไม่ได้เกิดขึ้นตอนประกอบอาชีพ
1 ใน 3 ของวันจันทร์-ศุกร์ เป็นเวลาทำงานของผมและใครหลายคน หากทำงานสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19 ก็จะมีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อ ยิ่งถ้าเป็นบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งต้องขึ้นเวร-ทำงานนอกเวลาด้วย ความเสี่ยงของพวกเขาก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น โดยประวัติเสี่ยงด้าน ‘อาชีพ’ ได้เข้ามาอยู่ในเกณฑ์ของผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) อย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ โดยระบุว่า “เป็นผู้ที่ประกอบอาชีพที่สัมผัสใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ” (11 ก.พ. 63) และอีกข้อหนึ่งว่า “เป็นบุคลากรทางการแพทย์หรือสาธารณสุขที่สัมผัสกับผู้ป่วย” (18 ก.พ. 63)
ดังนั้นหากผู้ที่ประกอบอาชีพ 2 กลุ่มนี้มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หรือหายใจหอบเหนื่อยก็จะต้องสงสัยไว้ก่อนว่าติดเชื้อมาจากผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ หรือผู้ป่วยในโรงพยาบาล
แต่ทว่า “โรคติดต่อ จะไม่ติดต่อ หากคนไม่ติดต่อกัน” อย่างที่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภากล่าวในการแถลงข่าวของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 63 โควิด-19 จะติดต่อกันก็ต่อเมื่อมีการสัมผัสใกล้ชิด เช่น อาศัยอยู่บ้านเดียวกัน พูดคุยกัน หรืออยู่ข้างนอกบ้านในสถานที่เดียวกับผู้ป่วย ซึ่งอากาศถ่ายเทไม่สะดวก หรือโดนไอจามรด ดังนั้นช่วงเวลาอีก 2 ใน 3 ของวัน นอกเวลางานก็มีโอกาสติดเชื้อได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่ถ้าเส้นทางชีวิตประจำวันไม่ได้เกี่ยวข้องกับคนอื่น โอกาสนั้นก็จะน้อยลงตามไปด้วย
เพราะฉะนั้นที่คุณอนุทินพูดว่าแพทย์ 3-4 คน ไม่ได้ติดเชื้อจากการปฏิบัติหน้าที่รักษาโควิดก็มีความเป็นไปได้ ซึ่งแสดงว่าได้มีการสอบสวนโรคมาแล้ว หากท่านมีรายละเอียดก็ควรจะชี้แจงให้ประชาชนทราบ เพราะข่าวการติดเชื้อของบุคลากรฯ นอกจากจะเสียขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่ด่านหน้าแล้ว ยังทำให้ประชาชนหวาดกังวลด้วยว่าโรงพยาบาลจะกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อ และไม่กล้าเข้าไปตรวจรักษาด้วย
ทั้งนี้การควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลสามารถจัดการได้ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับบุคคล (Personal protection) คือการป้องกันตัวเองของบุคลากรทางการแพทย์ เช่น การล้างมือก่อนและหลังสัมผัสผู้ป่วย การสวมชุด PPE (ซึ่งหลาย รพ.ยังขาดแคลนอยู่) ระดับการบริหารจัดการ (Administrative control) คือการคัดกรองผู้ป่วย การตรวจวินิจฉัยโรคและการแยกผู้ป่วยที่รวดเร็ว และระดับสภาพแวดล้อม (Environmental control) คือการทำความสะอาด การจัดสถานที่ตรวจให้มีอากาศถ่ายเทสะดวก เป็นต้น
บทเรียนอย่างน้อย 3 ข้อจากการตอบคำถามเกี่ยวกับมาตรการการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลของคุณอนุทินที่ผมสรุป ได้แก่ 1. การตอบไม่ตรงคำถาม 2. การตอบคำถามในเชิงลบ นำมาซึ่งความไม่พอใจของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งส่วนใหญ่กำลังปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ แต่มีความกังวลถึงความปลอดภัยของตนเองและครอบครัว สุดท้าย 3. ข่าวบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้ออาจไม่ได้ติดเชื้อมาจากการทำงานก็ได้
ซึ่งต้องมีการสอบสวนโรคและสื่อสารออกมาอีกครั้ง
Tags: อนุทิน ชาญวีรกูล, โควิด-19