2024 ไม่ใช่ปีที่ดีสำหรับใครในหลายเรื่อง อย่างน้อยกับวงการสื่อมวลชนและการเมืองโลก
ว่ากันว่าปีนี้คือจุดเปลี่ยนของวงการสื่อมวลชนไทย หลังต้องเผชิญ ‘โดมิโนวิกฤตสื่อฯ’ จากเศรษฐกิจตกต่ำและการเข้ามาของเทคโนโลยี จนภาพของสื่อชื่อดังเก่าแก่ทยอยปิดตัวลง พนักงานหลายร้อยชีวิตตกงาน และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานของบริษัทหลายแห่ง กลายเป็นเรื่องคุ้นชินไปโดยปริยาย
ขณะที่โลกมาถึง ‘จุดเดือด’ ครั้งสำคัญในรอบหลายปีที่ผ่านมา ทั้งอุณหภูมิที่สูงเป็นประวัติการณ์เพราะ ‘ภาวะโลกเดือด’ (Climate Change) ‘สงครามและความขัดแย้ง’ ทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน, สงครามอิสราเอล-กาซา รวมถึงข้อพิพาทระหว่างจีน-ไต้หวันที่ยังคงยืดเยื้อ ซ้ำด้วย โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) กำลังหวนคืนสู่เก้าอี้ผู้นำสหรัฐอเมริกา ประเทศมหาอำนาจที่สามารถกำหนดทิศทาง ‘ระเบียบโลก’
แน่นอนว่า หนึ่งในคนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้โดยตรง คือ กรุณา บัวคำศรี หรือ ‘นา’ หญิงผู้ทรงอิทธิพลแห่งวงการสื่อมวลชนไทยด้านข่าวต่างประเทศ ที่เราต่างจดจำเธอด้วยน้ำเสียงเจื้อยแจ้วเป็นเอกลักษณ์ และประเด็นการนำเสนอข่าวอันแหลมคม หาตัวจับยากในวงการสื่อฯ ไทย
เริ่มต้นปีใหม่ด้วยการอำลารายการโทรทัศน์อย่าง รอบโลก Daily ทางช่อง PPTV ก่อนเข้าสู่โลกของคอนเทนต์ครีเอเตอร์ออนไลน์อย่างเต็มตัวในช่องทางยูทูบ (Youtube) ด้วยรายการ รอบโลก by กรุณา บัวคำศรี ที่วิเคราะห์ข่าวต่างประเทศรายวันอย่างจัดเต็ม พร้อมทั้งสานต่อสารคดีเชิงข่าวที่เปรียบดังตัวตนและเลือดเนื้อของเธอในรายการ Flashpoint จุดร้อนโลก ร่วมกับ Thai PBS ขณะที่ยังสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับวงการธุรกิจไทย ด้วยการเปิดตัวแบรนด์สินค้ารักษ์โลกอย่าง TARA Essentials ที่มุ่งผลักดันเรื่อง ‘สิ่งแวดล้อม’ กับ ‘สินค้า’ ให้เป็นเรื่องเดียวกัน
ด้วยเหตุนี้ เมื่อ Another Year, Another Milestone คอลัมน์ของ The Momentum ที่พูดถึง ‘การเปลี่ยนแปลง’ และ ‘จุดพลิกผัน’ ของบุคคลหลากแวดวง วนมาถึงพร้อมกับช่วงเวลาสิ้นปี เราจึงไม่รีรอที่จะขอนั่งจับเข่าคุยกับกรุณา ทั้งในฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง คนเก๋าเกมแห่งวงการสื่อ และตัวแม่ด้านข่าวต่างประเทศของเมืองไทย ถึงความเป็นไปตลอดปี 2024
“โลกจะยุ่งขนาดไหน ปล่อยมันไป” คือความเชื่อของกรุณาจากบทเรียนครั้งสำคัญ เมื่อชีวิตเดินมาถึงจุด ‘สงบ’ จากคลื่นพายุในวันวาน
1
ชีวิตและการเปลี่ยนแปลง
“การเปลี่ยนแปลงในปีนี้คือเรื่องของหน้าที่การงาน อาจเป็นคลื่นที่ทำให้คนรู้สึกว่า เหมือนเจอ ‘พายุ’ แต่จริงๆ แล้ว มันทำให้เราสงบลง”
คือคำตอบจากกรุณา เมื่อเราถามถึง ‘จุดพลิกผัน’ ของเธอในปี 2024 ตามที่ใครหลายคนเชื่อ คือการออกจากช่อง PPTV และไม่ได้ทำรายการโทรทัศน์ รอบโลก Daily อีกต่อไป ก่อนจะเสริมว่า สำหรับเธอเหตุการณ์ครั้งนี้เหมือนกับการเปลี่ยน ‘สถานที่ทำงาน’ เท่านั้น และความล้มเหลวไม่ใช่เรื่อง ‘เลวร้าย’ สำหรับเธอ
“ล้มเหลวไม่เป็นไร I don’t care. I don’t even care. คือเมื่อก่อนเราล้มเหลวไม่ได้ เพราะเราอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บริษัทขายของได้ แต่ตอนนี้ I’m on my own way. โอเค เรามีทีมงานก็จริง แต่เรารู้ว่า ตนเองอยู่ในสถานะที่จะดูแลน้องๆ จนถึงฝั่งได้ คือถ้ามันไปไม่ได้จริงๆ เราการันตีได้เลยว่า ทุกคนต้องได้รับการดูแลอย่างดี
“สุดท้าย ถ้าเราสำเร็จ เราก็จะรู้ว่าเราทำได้ด้วยตนเอง ไม่ได้ให้คนพยุงอยู่ เพราะเราลงมือทำเอง แต่ถ้าล้มเหลว ก็ถือว่าสิ่งที่เราคิดมันผิดว่า ทำแบบนี้แล้วจะรอด ก็ไม่เป็นไร ถือว่าได้ลองแล้ว”
กรุณาเล่าว่า เธอเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงไว้ล่วงหน้าหมดแล้ว เพราะสัญชาตญาณความเป็น ‘คนข่าว’ ตั้งแต่ไหนแต่ไร เป็นเหตุทำให้รู้สึกเลิกทำงานไม่ได้ โดยเฉพาะยิ่งเห็นสถานการณ์โลกที่มีความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในช่วงนี้
นอกจากข่าวต่างประเทศที่เป็นความสนใจส่วนตัวดั้งเดิมแล้ว อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เธออยากเดินหน้าทำงานในวงการสื่อต่อไป คือ ‘ช่องว่าง’ ในการทำข่าว โดยเฉพาะการสนับสนุนให้บุคลากรเดินทางไปทำข่าวในต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญทำให้ข้อมูลใกล้เคียงกับคำว่า ‘ความจริง’ มากขึ้น
“สำหรับเรา คนถามเยอะมากว่า ทำไมต้องเดินทาง ทำไมต้องเจอคน คือถ้าเกิดว่า เรานั่งอยู่กับโต๊ะหรืออยู่กับที่ เราก็อ่านเฉพาะสิ่งที่เราเห็นอย่างเดียว เราจะไม่มีทางเข้าใจความอย่างลึกซึ้งเลย
“เราอาจจะเป็นคนที่ชอบไปสัมผัส ไปได้กลิ่น ถึงแม้เราไม่ได้สะท้อนผ่านงานเขียน หรือการพูดของเราทุกครั้ง แต่พอเราได้ไปเห็น เราจะได้ข้อมูลหรือความรู้สึกบางอย่างที่ไปต่อยอดหรือทำความเข้าใจในเรื่องนั้นได้
“เพราะฉะนั้น เรามักจะพูดกับคนในทีมมาตลอดว่า การลงพื้นที่หรือการได้ไปคุยกับคนสำคัญมาก เพราะการอยู่หน้าจอ เราจะได้ข้อมูลจากการเหมารวมหรืออคติของบทความ ซึ่งไม่ผิด แต่การได้ไปเห็นของจริงมันดีกว่า
“ถ้าเราบอกว่า มันไม่จำเป็นที่ต้องลงไปดูพื้นที่จริง เราก็จะเถียง เพราะว่าในที่สุด ถ้าเรามองเรื่องราวจากหน้าจอหรือจาก AI (Artificial Intelligence) หรืออะไรก็ตาม ซึ่งมันสร้างข้อมูลจากของมนุษย์ทั้งหมด ถ้ามนุษย์ไม่แสวงหาข้อมูลต้นฉบับ (First-hand Information) สิ่งที่เราได้จะเป็นการตั้งสมมติฐานหรือคิดเอง แล้วโลกของข่าวก็จะห่างความเป็นจริงมากขึ้น”
ทว่ากรุณายอมรับตามตรงว่า ลำพังการทำคอนเทนต์ในโลกออนไลน์ ไม่ได้มี ‘ศักยภาพ’ มากพอที่จะทำให้เธอและทีมงานสามารถสร้างสรรค์ข่าวเชิงลึกได้ ดังนั้นการหารายได้ด้วยช่องทางอื่นจึงเป็นเรื่องจำเป็นมาก
TARA Essentials แบรนด์สินค้ารักษ์โลก และความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ทั้งในแง่ธุรกิจและการทำคอนเทนต์ จึงเกิดขึ้นมาเปรียบดัง ‘ขา’ ที่ 2 และ 3 คอยค้ำจุนเส้นเลือดหลักอย่างการทำสื่อออนไลน์และสารคดีข่าวของกรุณา
“ถ้าเราทำสินค้าหรือสร้างแบรนด์ มันก็ควรจะสะท้อนความเชื่อมโยงในสิ่งที่เราทำ คือปัญหา Climate Change นี่คือสิ่งที่เราอยากทำมาตลอด แบรนด์ TARA จึงเกิดขึ้นมาเพื่อผลิตสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เสื้อผ้าหรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ แต่ทุกอย่างที่ออกมาจะยึดโยงหัวใจสำคัญคือ การใช้ทรัพยากรให้ระวังที่สุด”
TARA Essentials ใช้วิธีคิด ‘กลับหัว’ จากธุรกิจเสื้อผ้าทั่วไป เพราะในกรรมวิธีการผลิตเสื้อผ้าทั่วไปแล้ว ร้านค้ามักจะคิดค้นหรือออกแบบดีไซน์เสื้อผ้าก่อน จึงคอยสั่งตัดทอใหม่ แต่กรุณาเลือกพิจารณาวัตถุดิบก่อน คือ ‘ผ้าเดดสต็อก’ (Deadstock) หรือผ้าที่ไม่ใช้แล้ว จากนั้นจึง ‘ระดมสมอง’ ต่อว่า จะสามารถสร้างสรรค์หรือผลิตอะไรได้บ้าง โดยมีพาร์ตเนอร์คือ Moreloop เพราะปรัชญาและวิธีการทำงานของแบรนด์เน้นความยั่งยืน สวนกระแส Fast Fashion ที่เป็นปัญหา ‘บาดใจ’ สำหรับเธอ
“เรามีประสบการณ์การไปทำสารคดีเรื่อง Fast Fashion ที่บังกลาเทศ มันอิมแพ็กต์กับเรามากนะ คือเห็นผ้าถูกเผา แรงงานได้รับค่าแรงน้อยมาก เรารู้สึกว่ามันไม่แฟร์
“เสื้อผ้าที่เราใส่ เราไม่รู้หรอกว่ามันทำลายอะไรไปบ้าง มันทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เราเห็น Fast Fashion ที่เราใส่ แล้วขายได้ตัวละ 199-299 บาท มันแปลว่า คนใช้แรงงานเขาไม่ได้ค่าแรงเหมาะสมกับสิ่งที่เขาควรจะได้ด้วยซ้ำไป
“สำหรับเรา ที่มาของสินค้าหรือของที่เราขาย ต้องออกมาแฟร์ที่สุดกับสิ่งแวดล้อมและคนที่ทำให้เรา เราต้องไปดูโรงงาน วิธีการจัดการ สภาพความเป็นอยู่คนงานที่ตัดเย็บเป็นอย่างไร ซึ่งเราแฮปปี้มาก และตัววัตถุดิบก็เป็นผ้าที่คนไม่ใช้แล้ว แต่สามารถใช้ได้อีก แค่เพียงมันไม่ถูกใช้ เพราะมันล้าสมัย (Out of Fashion) ไปแล้ว
“เราเข้าใจนะ เพราะก็ชอบแฟชั่นเหมือนกัน แต่เราก็รู้สึกว่า ในฐานะของแฟชั่น คุณไม่สามารถเดินหน้าผลิตอย่างเดียวและทำลายสิ่งแวดล้อมได้” กรุณายังเล่าว่า ขณะนี้ยังมีกลุ่มพาร์ตเนอร์อีกจำนวนหนึ่งที่กำลังร่วมกันสร้างผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นขึ้นมา โดยไม่ได้หยุดอยู่แค่เสื้อผ้า
นอกจากนี้พาร์ตเนอร์สำหรับการทำคอนเทนต์ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งออกมาในรูปแบบรายการ Flashpoint จุดร้อนโลก ร่วมกับ Thai PBS โดยมีจุดเด่น คือ การหยิบเหตุการณ์สำคัญในปัจจุบันมาเล่าถึง ‘แก่น’ ลงลึก เพราะสำหรับกรุณาแล้ว การทำข่าวเชิงสารคดีเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะบริบทของโลกที่เกิดเหตุการณ์มากมาย แต่ยังไม่มีรายการข่าวทั้งในโทรทัศน์หรือออนไลน์ที่ให้ข้อมูลทั้งในแง่บริบททางสังคมและประวัติศาสตร์เชิงลึกมากพอ
“เราอาจจะเห็นมีคนทำ (ข่าวต่างประเทศ) เยอะ แต่บางครั้งมันไม่ได้มีหลักฐานในเชิงประจักษ์พยาน ซึ่งไม่จำเป็นที่เราต้องเห็นกับตัวหรือกับตา แต่มันอาจจะคือการโควตคำพูดของคนที่เคยพูดจากหนังสือพิมพ์ หรือสิ่งที่เขาเคยให้สัมภาษณ์ ซึ่งงานพวกนี้ต้องใช้เวลาและพลังมาก
“เช่น ประธานาธิบดีปูติน (วลาดีมีร์ ปูติน – Vladimir Putin) เมื่อปี 2008 เขาเคยพูดไว้ที่บูคาเรสต์ (Bucharest) ว่า ถ้าเกิดยูเครนเข้านาโต จะโดน (โจมตี) นะ ซึ่งถ้าเราทำงานข่าว มันไม่มีคนกลับไปรื้อเอกสารขนาดนี้
“หรือเราทำเรื่องไต้หวัน เรากลับไปรื้อเอกสารสมัย โจว เอินไหล (Zhou Enlai) คุยกับ คิสซิงเจอร์ (เฮนรี คิสซิงเจอร์ – Henry Kissinger) หรือกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ไปดูในคลังเก็บเอกสารว่า เอกสารที่ปลดจากการเป็นความลับ (Declassified) มีอะไรบ้าง แล้วมันคืออะไร
“งานพวกนี้มันใช้เวลา ซึ่งบ้านเราไม่มี บ้านเรามีการพูดกันเยอะว่า อะไรเกิดขึ้น คนนู้นคนนี้เป็นอย่างไร แต่คุณไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ และเราพูดอีกครั้งว่า ไม่จำเป็นต้องลงพื้นที่เสมอไป แต่หลักฐานเชิงประจักษ์มันอยู่ในรูปแบบของห้องสมุด คลังเก็บเอกสาร หรือในอินเทอร์เน็ต มันต้องใช้เวลาในการสืบค้นเพื่อย้อนกลับไปบอกว่า นี่คือต้นเหตุของปัญหาทั้งปวง”
ทั้งหมดนี้คือ ‘หนทาง’ อยู่รอดสำหรับกรุณา จากการเปลี่ยนแปลงในปี 2024 ที่จะได้ไม่ต้องพึ่งพิง ‘สปอนเซอร์’ แหล่งเงินทุนสำคัญในการทำงานสื่ออย่างเดียว เพราะบางครั้งด้วยปัจจัยหลายอย่าง ทำให้เธอค่อนข้างรู้สึก ‘กระอักกระอ่วน’ หากจะต้องทำงานที่ไม่สอดคล้องกับจุดยืน
“ทุกอย่างออกมาจากสมองน้อยๆ ของเรา โดยคิดว่า มันน่าจะเป็นทางอยู่รอดของคนที่อยากทำงานสื่อ ถามว่าเราหวังจากโฆษณาได้ไหม ก็ได้ แต่เรามีเงื่อนไขหลายอย่าง สมมติทำเรื่อง Climate Change เราก็จะลำบากใจว่า ถ้าเราพูดถึงเรื่อง PM2.5 หรืออะไรก็ตาม ถ้าเรารับของเจ้านี้ เราจะพูดได้เต็มปากไหม
“คือถ้าเรายึดอุดมคติมากๆ เราก็จะลำบากใจและกระอักกระอ่วน เราก็เลยโอเค เราไม่ปิดสปอนเซอร์นะ แต่จะคิดเยอะนิดนึง แค่รู้สึกว่า เราอยากจะทำงานในแบบของเรา”
2
โลกของสื่อมวลชน
ทำในสิ่งที่ตัวเองหลงใหล และหาเงินมาทำสิ่งที่ตนเองหลงใหล
อาจจะไม่ใช่แค่ทางออกในการทำงานของ กรุณา บัวคำศรี แต่รวมถึง ‘วงการสื่อฯ ไทย’ ในอนาคต หลังเธอสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของสื่อครั้งใหญ่คือ การแตกแยกย่อย (Fragment)
จากสังคมไทยในยุคแอนะล็อก ฟังข่าวจากวิทยุ และอ่านเรื่องราวจากหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นเครื่องมือทาง ‘อำนาจ’ ที่สั่นสะเทือนสังคมได้ที่สุดในยุคสมัยนั้น มาวันนี้ โลกของอินเทอร์เน็ตได้แปรเปลี่ยนให้ทุกคนเข้าข้อมูลถึงได้ง่ายขึ้น เป็นเหตุให้ ‘สื่อ’ กระจัดกระจายไร้ทิศทางตามการเปลี่ยนแปลง
“เมื่อก่อน สิ่งที่ทรงพลังมากที่สุดคือหนังสือพิมพ์ เพราะในบ้านเรา วิทยุโทรทัศน์ไม่ได้มีข่าวที่สะท้อนชีวิตชาวบ้านจริงๆ ตอนที่เราเริ่มทำงานช่วงปี 2536-2537 หนังสือพิมพ์เฟื่องฟูอยู่ ขณะที่โทรทัศน์เริ่มจะเฟื่องฟู เราก็เห็นการทำงานของสื่อที่มี ‘อุดมการณ์สูงมาก’ ถึงขั้นเราต้องปกป้องเสรีภาพของสื่อด้วยชีวิต ยุคนั้นคือการทำสื่อในรูปแบบนี้
“อย่างตอนที่เราทำที่บางกอกโพสต์ (Bangkok Post) เขาจะเข้าใจว่า ไม่มีใครสามารถมาล้ำสิทธิของกองบรรณาธิการ เพราะข่าวแบบนี้มันขายได้ ยืนได้ด้วยตัวเองได้ เนื่องจากโลกอยู่ในยุคที่คนต้องการข้อมูล หนังสือพิมพ์จึงยังอยู่ได้หรือขายโฆษณาได้ บรรณาธิการแทบจะไม่แตกต่างจากเจ้าของ เราคิดว่าคนสื่อรุ่นนั้นได้สนองตัณหาของการเป็นสื่อมวลชน
“แต่พออินเทอร์เน็ตเข้ามา สื่อจึงเริ่มแตกทิศทาง ภูมิทัศน์ของวงการเริ่มเปลี่ยน เราจะเริ่มเห็นว่า หนังสือพิมพ์ 5 ฉบับกระจายไปเยอะขึ้น นั่นหมายความว่า เม็ดเงินก็กระจายตาม และความเข้มข้นของเนื้อหาก็ลดลง”
กรุณามองว่า ในอนาคต สื่อจะแตกแยกแยกย่อยมากขึ้น โดยลักษณะเด่นคือ มีความเฉพาะทางสูง และผู้ชมจะจดจำแค่ ‘ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน’ ไม่ใช่แค่ความนิยมแบบวงกว้างเหมือนในอดีตอีกต่อไป และนั่นอาจเป็นทางออกของวงการสื่อฯ ไทยท่ามกลางคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
“เรามองภูมิทัศน์ของสื่อว่า จะแตกแยกย่อยมากขึ้น และต่อให้ยังคงความแมสได้ แต่มันจะไม่ได้เกิดขึ้นในทำนองที่คนหนึ่งคนเป็นตัวแทนของทุกอย่าง คนจะจำแค่ว่า อ๋อ คนนี้เก่งเรื่องอาหาร เหมือนยูทูบเบอร์ ต่อไปสื่อจะเป็นแบบนั้น
“คนจะมาดูเพราะตัวบุคคล ยกเว้นสื่อที่เป็นที่นิยมมากและมีต้นทุนสูง เช่นในต่างประเทศ คือ BBC หรือสำนักข่าวใหญ่ๆ ที่ต้องทำทุกอย่าง อันนั้นเป็นไปได้ แต่บ้านเราจะน้อยลงเรื่อยๆ แม้กระทั่งสื่อโทรทัศน์อย่างช่อง 3 5 7 9 ต่อไปนี้คนก็อาจจะจำว่า ช่อง 3 มีข่าวพี่ยุทธ (สรยุทธ สุทัศนะจินดา) ถ้าเรื่องละครคนจะดูช่อง ONE คือเขาจะมองแค่จุดเด่น เขาจะไม่เปิดแช่ไว้ตลอดเวลาอีกต่อไป
“นี่คือความอยู่รอดของสื่อในอนาคต เราต้องทำในสิ่งที่เราหลงใหลกับมัน อยู่กับมันได้ตลอดเวลา โดยที่ไม่รู้สึกเหนื่อยหรือเบิร์นเอาต์เพราะเราชอบมัน
“เรามองว่า เราต้องพยายามตั้งสติ แล้วถามว่า แพสชันของตนเองอยู่ตรงไหน เราทำอะไรได้ดีที่สุด แล้วอะไรที่เราอยู่กับมันได้โดยที่เป็นเนื้อเลือดของเรา กลั่นออกมาแล้วคนรู้ว่าคือตัวเรา เพราะถ้ามันไม่ใช่ เราจะจมไปกับทะเลอันกว้างใหญ่ เราต้องมีตัวตนให้มากที่สุดในแง่ของการสร้างเอกลักษณ์ ทำให้คนรู้เลยว่า อันนี้งานเรา ต่อให้คนจะดูน้อยลง แต่ถ้าเป็นกลุ่มคนที่เราสร้างคอมมูนิตี้ขึ้นมาเอง มันก็จะอิมแพ็กต์สังคม คือเราไม่คิดการใหญ่สำหรับสื่อ”
ขณะที่เราพูดถึงอิทธิพลของ ‘ทุน’ ที่เข้ามามีบทบาทในสื่อมากขึ้น กรุณาเห็นต่างว่า ทุนกับสื่อเป็นของคู่กันตลอด ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด และเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก แม้แต่ชาติมหาอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นวอลล์สตรีทเจอร์นัล (Wall Street Journal) ที่อยู่ภายใต้แอมะซอน (Amazon) หรือรูเพิร์ต เมอร์ด็อก (Rupert Murdoch) กับสกายสปอร์ต (Skysport)
“ทุนกับสื่ออยู่ด้วยกันตลอด ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะคนทำสื่อก็คือคนทำธุรกิจ เพียงแต่ความท้าทายของการทำสื่อ โดยเฉพาะการทำข่าว คือ เราต้องสร้างสมดุลอย่างไรให้สามารถทำข่าวได้ โดยที่ไม่ต้อง ‘ประนีประนอม’ กับทุน
“เรื่องนี้คือความท้าทายของคนทำข่าวในทุกยุคทุกสมัย อย่างในต่างประเทศ กรณีวอชิงตันโพสต์ (Washington Post) กับเรื่อง ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) ในสงครามเวียดนาม มีหนังที่เล่าเรื่องนี้ คือสำนักข่าวรู้ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ปกปิดประเด็นทุกอย่าง และจะต้องรายงาน
“เจ้าของวอชิงตันโพสต์ก็คิดว่า คนที่จะถูกเปิดโปงคือผู้มีอำนาจ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของนิกสัน และเป็นเพื่อนสนิทที่มากินข้าวที่บ้านตลอด แต่กองบรรณาธิการบอกว่า เรื่องนี้มันสำคัญ คุณต้องรายงาน และจัดการอย่างไรต่อ
“มันไม่ใช่เรื่องใหม่เลยที่เจ้าของธุรกิจต้องตัดสินใจระหว่างการรักษาความสุจริตของกองบรรณาธิการ (Editorial Integrity) กับผลประโยชน์ หรือคอนเนกชันทางธุรกิจ มันเกิดมาทุกยุคทุกสมัย มันเป็นความท้าทายของสื่อและเจ้าของสื่อด้วย
“มันเป็นเรื่องความอยู่รอด ไม่มีอะไรที่ขาวดำ แล้วเราก็เข้าใจเจ้าของสื่อ รวมถึงคนทำสื่อด้วย ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่เราจะทำอย่างไรให้สื่อทำงานของตนเองได้ ในขณะที่ธุรกิจก็ต้องเดินต่อไปได้
“เรามีอุดมคติ อุดมการณ์ และความตั้งใจในการทำงานก็จริง แต่ในท้ายที่สุดคุณต้องการเงินในการทำงาน และคุณต้องเข้าใจนายทุนด้วยว่า ในที่สุดสื่อคือการทำธุรกิจ ขณะที่นายทุนก็จะเข้าใจว่า สื่อหรือฝ่ายข่าวก็ต้องทำงานเหมือนกัน สุดท้ายมันคือเรื่องความสมดุล ต้องคุยกันหรือสนทนาเพื่อหาจุดที่ไปได้ทั้งสองทาง”
“แล้วทำไมสื่อจึงเป็นอาชีพที่เงินน้อย?” เราโพล่งคำถามที่อยู่ในหัวออกมากับนักข่าวอาวุโสวัย 53 ปี หลังจากประมวลเรื่องราวทั้งหมด ก่อนที่เธอจะใช้เวลานั่งคิดสักครู่ และให้คำตอบที่คาดไม่ถึงว่า ที่จริงแล้ว อาชีพที่มีความสำคัญกับโครงสร้างสังคม มักจะมีเงินเดือน ‘น้อย’ หมดด้วยซ้ำ แต่เสียงของแวดวงสื่อฯ ‘ดัง’ กว่าอาชีพอื่น จึงทำให้ดูเหมือนว่าเป็นปัญหาเพียงกลุ่มเดียว
“ปัญหานี้เกิดขึ้นเพราะอะไร เราคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรามีทัศนคติและความรู้ว่า การชมสื่อได้มาอย่างฟรีๆ เราชอบบอกว่า เราดูสื่อที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องจ่ายเงิน ซึ่งสื่อเดียวที่คนจ่ายเงินจริงๆ เพื่ออ่านคือหนังสือพิมพ์นะ ที่เหลือวิทยุ โทรทัศน์ฟรีหมด
“มันจึงอาจกลายเป็นความรู้สึกของคนว่า เราไม่เห็นต้องจ่ายเงินเลย ก็เป็นสาเหตุให้คนทำสื่อต้องไปหาเงินทางอื่น ซึ่งบริษัทก็ไม่มีเงินมากพอที่จะมาให้เงินเดือนสูงๆ หรอก”
สำหรับกรุณา ภาวะดังกล่าวคือ ‘งูกินหาง’ เพราะเมื่อคิดจะแก้ไขปัญหาในจุดใดจุดหนึ่ง ก็มักจะมีอุปสรรคตามมา โดยเฉพาะเรื่องเงินทุน หากจะแก้ต้องเริ่มจากโครงสร้างทั้งหมด แต่ลำพัง วิธีการของเธอก็ ‘เล็ก’ เกินไปสำหรับระบบใหญ่อันกว้างใหญ่
“สมมติสื่อที่อยากทำเรื่องลึกๆ ยาวๆ มีคุณภาพ เขาก็ทำไม่ได้ เพราะมีคนบอกว่า ถ้าทำได้แค่นี้ฉันก็ไม่จ่ายหรอก แล้วเราจะเริ่มต้นจากตรงไหน เราไปโทษคนดูไม่ได้หรอกที่เขาไม่จ่าย แต่เราก็มักจะบอกอยู่ดีว่า ก็คุณไม่จ่ายเงินให้เรา แล้วจะทำอะไรต่อได้ มันวนไปวนมาแบบนี้ สุดท้ายก็มาตกที่คนทำงาน
“เพราะฉะนั้นถ้าจะเริ่มต้น เราต้องคิดทั้งระบบว่า สื่อจะเริ่มตั้งหลักอย่างไร เช่น สร้างผลิตภัณฑ์ แต่ก็เกิดคำถามอีกว่า ทำไมคนยอมจ่ายเงินดูเน็ตฟลิกซ์ เพราะรู้สึกดูแล้วคุ้ม มันจึงเป็นคำถามต่อมาว่า ทำยังไงให้คนรู้สึกว่าจ่ายเงินให้สื่อมวลชนแล้วคุ้มจะจ่าย ก็เป็นปัญหาอีกว่า สื่อจะเอาเงินตรงนั้นมาจากไหน
“เราก็คิดไม่ออก เพราะเราตัวเล็กเกินไปในระบบใหญ่ แต่เราคิดออกในส่วนของเราว่า เราสื่อสารกับคนโดยตรง ทำแบรนด์ได้ หาพาร์ตเนอร์ ถ้าจุดนี้แข็งแรง ก็จะทำให้คอนเทนต์แข็งแรงตาม แล้วถ้าคนดูอยากสนับสนุนก็มีอะไรตอบแทนให้ ไม่ต้องจ่ายเงินค่าข่าว แต่เป็นค่าเสื้อ ค่าผลิตภัณฑ์ ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ใน Ecosystem สำหรับเรา”
เราทิ้งท้ายด้วยคำถามสั้นๆ ที่ดูจะตอบยากว่า ‘สื่อไทยจะอยู่รอดได้ไหม’ ทว่ากรุณาตอบทันทีว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ ‘นายทุน’ อย่างเดียว เพราะการมีสื่อในมือสำหรับนายทุนยังมีความสำคัญในด้านอื่น นอกเหนือจากผลประโยชน์ในแง่ธุรกิจ ก่อนจะชวนตั้งคำถามที่ไม่มีคำตอบถึงบทบาทของ ‘สื่ออิสระ’ นับต่อจากนี้
“สื่ออิสระจะอยู่ได้ไหม ตรงนี้น่าตั้งคำถามมากกว่า เราเพิ่งคุยกับพี่แยม (ฐปณีย์ เอียดศรีไชย) ว่า เราต้องหาโมเดลใหม่ เพื่อหารายได้ให้อยู่ได้ เพราะเรารู้ว่าตนเองอยากทำอะไร แต่จะมีเงินทำไหม เพราะต้องคิดถึงโมเดลของรายได้ ซึ่งน่าพูดคุยต่อ”
กรุณายังเชื่อว่า ภาพของสื่ออิสระที่ไม่อยากทำงานกับ ‘นายทุน’ น่าจะปรากฏการณ์ที่แพร่หลายในอนาคต นับเป็นการบ้านของแวดวงสื่อมวลชนที่ต้องหาทางออก และจับตาดูกันต่อไป
3
ข่าวต่างประเทศในนามของงานและแพสชัน
‘ทำไมเราต้องสนใจเรื่องนอกบ้านก่อนบ้านของเรา’
‘ใครจะรบกันก็ปล่อยเขาไป ไทยเอาตัวรอดก่อน’
เชื่อว่าอาจเป็นคอมเมนต์อันคุ้นเคยสำหรับหลายคน เมื่อต้องติดตามข่าวต่างประเทศทั้งในรูปแบบบทความหรือรายการทางโทรทัศน์ แม้คือ ‘คำถามโลกแตก’ ที่ไม่มีวันจบสิ้น แต่เมื่อมีโอกาสนั่งจับเข่าคุยกับตัวแม่ของวงการข่าวต่างประเทศ เราตั้งคำถามดังกล่าวกับกรุณาโดยถอดหัวโขนคนทำงานออกไปว่า ทำไมข่าวต่างประเทศจึงสำคัญสำหรับทุกคนในยุคนี้
กรุณาให้คำตอบกับเราทันทีว่า ‘สำคัญ’ เพราะเรื่องต่างประเทศเป็นมากกว่าข่าว แต่ใกล้ตัว และสร้างผลกระทบโดยตรงในทุกอณูของชีวิตโดยที่เราไม่รู้ตัว เธอค่อยๆ ยกตัวอย่าง โดยย้อนเล่าเรื่องราวจากชีวิตในวัยเด็กของเธอเอง เมื่อครั้งอาศัยอยู่ที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว บ้านของเธอติดกับชายแดนกัมพูชา และต้องเผชิญหน้าความขัดแย้งอันเป็นส่วนหนึ่งของ ‘สงครามเย็น’ แต่ขณะนั้นกลับไม่รู้เลยว่าคืออะไร
“เราไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่เราใช้ชีวิตในทุกวันนี้ ครึ่งหนึ่งมาจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของข้างนอก ต่อให้เราไม่ได้อยู่ในวงการข่าว เราเป็นประชาชนธรรมดา แต่สิ่งที่เราใช้ ของที่เรากิน เสื้อผ้าที่เราใส่ มันมาจาก Supply Chain เช่น เสื้อที่เราใส่ มันไม่ได้ผลิตจากเมืองไทย ถ้าแยกส่วนออกมาจะเห็นว่า ฝ้ายมาจากแอฟริกา สารเคมีมาจากเยอรมนี หรือขนมปังที่เรากิน ก็มาจากข้าวสาลีปลูกในยูเครน มันคือ Supply Chain ของโลก หมายความว่า ถ้าเหตุการณ์กระทบที่ไหน เราก็โดนหมด เราต้องซื้อของแพงขึ้น
“อีกเหตุผลหนึ่ง เราคิดว่าเป็นเรื่องของชีวิตมนุษย์คนหนึ่ง ถ้าเราถามว่าทำไมเราต้องรู้เรื่องนี้หรือสนใจเรื่องนี้ คุณไม่ต้องสนใจก็ได้ คนไม่ต้องสนใจข่าวต่างประเทศได้ไหม ได้ แต่มันต้องมีเพื่อให้คนที่สนใจ
“เพราะตอนเรายังเด็ก เราอยากรู้เรื่องกัมพูชาสู้กันนะ แต่มันไม่มีอะไรแบบนี้ให้ดูเลย จนเรารู้เรื่องนี้เมื่อโตขึ้นมา เพราะอ่านหนังสือถึงได้รู้และประติดประต่อได้ว่า แถวบ้านเราคือสงครามเย็น ทั้งที่เกิดขึ้นและสร้างผลกระทบกับเราโดยตรง แต่เราไม่รู้เรื่องเลยว่าคืออะไร
“แล้วมันก็เศร้ามากว่า 50 ปีผ่านไปยังเหมือนเดิม ลึกๆ ยังมีคนน้อยมากที่จะอธิบายว่า อะไรเกิดขึ้นที่พม่า เพราะฉะนั้นหากถามว่าทำไมคนไทยต้องสนใจเรื่องข่าวต่างประเทศ เราตอบเลยว่า ไม่ต้องสนใจก็ได้ แต่มันจะมี ‘คนที่สนใจ’ เพราะเราก็เคยตั้งคำถามว่า ทำไมไม่มีคนเล่าเรื่องนี้ให้ฉันฟัง”
เมื่อเราถามต่อว่า ทำไมสื่อฯ ยังควรจะเดินหน้าเผยแพร่เรื่องที่ ‘ไม่แมส’ ซึ่งหากเทียบกับบริบทข่าวต่างประเทศในเมืองไทยก็นับว่าเข้าข่าย เพราะเป็นสิ่งที่ ‘ไกลตัว’ จากผู้ชม และไม่ได้รับความนิยมในวงกว้างเท่าไรนัก เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ในปัจจุบันการทำคอนเทนต์ยังต้องอาศัย ‘Engagement’ อย่างยอดไลก์ ยอดแชร์ หรือความสนใจจากคนในสังคมจำนวนมาก
“เพราะเป็นเรื่องที่ควรจะบอกคน”
ผู้สื่อข่าววัย 53 ปีตอบคำถาม ก่อนจะขยายความว่า สื่อในปัจจุบันมี 2 ประเภทคือ สื่อที่ทำเรื่องเฉพาะคนที่อยากรู้อยากเห็น และสื่อที่ทำหน้าที่ ‘พา’ คนไปเจาะลึกปัญหาบางอย่าง ซึ่งต้องอาศัยพลังงานมหาศาล และสร้างอิทธิพลมากในการขับเคลื่อนสังคม
“คือถ้าเราเลือกทำเฉพาะดึงคนได้ เราก็จะจบลงกับการทำข่าวเรื่องดาราเลิกกัน เพราะธรรมชาติของคนเราก็จะอยากรู้เรื่องนี้ เราไม่ได้โทษคนดูนะ เราก็เป็นเหมือนกัน เพราะนิสัยของมนุษย์คืออยากรู้อยากเห็นว่า เรื่องอะไรเกิดขึ้น แต่สื่อในอีกรูปแบบหนึ่งคือการทำหน้าที่พาคนไปดูว่า ปัญหานี้ทำไมจึงสำคัญ
“ประเภทนี้ยากมาก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยพลังงานและความอดทนในการทำ นั่นถึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมต้องมีสื่อมวลชน เพราะจะทำข่าวประเภทแรกไม่ต้องเป็นสื่อก็ได้ สมมติเราไม่ได้เป็นสื่อ เราบอกได้เลยว่าคนนี้เลิกกัน หรือไปบ้านลุงพลแล้วไลฟ์ มันไม่ต้องใช้อะไรเยอะ
“แต่ข่าวแบบที่ 2 คือเรื่องที่คนไม่รู้ ไม่ใช่ว่าเขาไม่สนใจนะ แต่ว่ามันอาจจะยากเกินไปในการเข้าถึง อย่างเราทำเรื่องภูมิภาคซาเฮล (Sahel) ในรายการ Flashpoint มีคนเขียนในคอมเมนต์ล่าสุดว่า เขาเกิดมา 56 ปีเพิ่งรู้ว่ามีภูมิภาคซาเฮล จากตอนแรกที่บอกว่าจะทำเรื่องนี้ คนสงสัยว่าเรื่องอะไร หรือเรื่องเหมืองลึกใต้ทะเล คนตั้งคำถามว่า อะไรวะ ต้องบอกว่า สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่กับข้อมูลเหมือนสื่อมวลชน เขาไม่มานั่งตาม นั่งอ่านเรื่องพวกนี้ เพราะฉะนั้นมันคือหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ต้องหยิบขึ้นมา และบอกคนว่า มีเรื่องแบบนี้อยู่นะหรือมันสำคัญอย่างไร อันนี้คือการทำงานของสื่อมวลชนจริงๆ
“ไม่เช่นนั้นจะมีสื่อมวลชนไปทำไม อินฟลูเอนเซอร์ก็ทำได้ เพราะฉะนั้น ถ้าสื่อมวลชนจะอยู่รอดได้ คุณต้องทำแบบที่ 2 ไม่เช่นนั้นก็เรียกตนเองว่า เป็นสื่อประเภทแรกหรือกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์
“แต่สำหรับเรา ถ้ายังมีปัญญาอยู่ เราก็อยากทำงานแบบที่ 2 ซึ่งอาจจะเรียกว่า เป็นสื่อดั้งเดิม (Old School) ก็ได้ เราว่ายังสำคัญอยู่ ถ้าเราเชื่อในเรื่องของสังคมจะดีขึ้นได้ หากมีข้อมูลเชิงลึก และทำให้เกิดบทสนทนาในเชิงสร้างสรรค์ ไม่ใช่การดูแล้วด่าต่อ ขำ หัวเราะ จบ อันนั้นดูได้ แต่มันต้องอันที่ 2 มันต้องมีสื่อที่เอาเรื่องบางอย่างที่คนไม่สนใจขึ้นมา
“คุณไม่ต้องเห็นด้วยกับเราก็ได้ แต่เราอยากให้มันเป็นพื้นที่เปิด และมีบทสนทนาอย่างสร้างสรรค์ว่า ทำไมเราต้องทำแบบนี้ ทำไมเราต้องขุดเหมืองลึกใต้ทะเล หรือทำไมเรื่องนี้เราต้องสนใจ ตรงนี้คือกระบวนการทำให้สังคมมีมิติที่เราพยายามหาทางออกร่วมกันได้
“เรื่องบางเรื่องต่อให้เป็นประสบการณ์ในต่างประเทศ ถ้าเราเอาประสบการณ์นี้มา แล้วสร้างบทสนทนาที่สร้างสรรค์ เรามองว่ามันเคลื่อนสังคมไปได้”
กรุณายอมรับว่า เธอชอบการทำงานแบบสารคดีเชิงข่าวมากกว่า ไม่ใช่แค่ความสนใจส่วนตัว แต่ในตลาดสื่อของเมืองไทย คอนเทนต์เชิงลึกยังน้อยอยู่มาก แม้จะใช้เวลามากกว่าปกติ และใช้พลังใจในการค้นคว้าข้อมูลราวกับทำการ ‘วิทยานิพนธ์’ แต่ก็ถือว่าเป็นอะไรที่คุ้มค่า จนสามารถสละทั้งชีวิตและเวลาให้ได้
“เราชอบงานเชิงลึก ใช้เวลา พลังงาน หรือแพสชันที่สูงมากว่า คุณจะสามารถนั่งหน้าคอมพิวเตอร์เป็นวันๆ เพื่อหาเอกสารชิ้นเดียวได้หรือไม่ มันไม่มีคนทำ และเราชอบทำงานแบบนี้
“มันทำให้เราได้อยู่กับเรื่องนั้นแบบจริงจัง มันไม่ใช่แค่ว่าใครพูดอะไร เราชอบอะไรที่ใช้เวลา ทำความเข้าใจลงลึก และความท้าทายของงานนี้ คือข้อมูลมหาศาลที่เรามี เราจะทำให้ผู้ชมเห็นภาพยังไง อันนี้คือสิ่งที่เราชอบ”
วิธีคิดดังกล่าวยังถูกปรับใช้กับ ‘ทีมงานคู่ใจ’ ที่อยู่เบื้องหลังผลงานในช่องรอบโลก by กรุณา บัวคำศรี หรือรายการ Flashpoint จุดร้อนโลก โดยกรุณาเล่าว่า เธอมักจะให้น้องๆ ได้เขียนบทหรือวางเรื่องเป็นของตนเอง ขณะที่ตนเองจะทำหน้าที่ ‘ชี้แนะ’ บางอย่าง โดยไม่พยายามไปครอบงำการทำงานทั้งหมด อาจจะแค่แก้ไขงานให้ดู แล้วให้เจ้าของผลงานไปพิจารณาต่อ จนถึงให้ข้อมูลเพิ่มเติมบางอย่าง
นอกจากเนื้อหา ความท้าทายในการทำข่าวต่างประเทศสำหรับกรุณา คือการทำให้คนดูมีส่วนร่วมกับเนื้อหา ซึ่งถือเป็นเรื่องยากสำหรับการนำเสนอข้อมูลซับซ้อน โดยมีเทคนิคไม่ลับ คือ การออกแบบให้คนดูต้อง ‘ตื่น’ ตลอดการชมวิดีโอ
“ถ้า 5 นาทีแรก คุณเอาไม่อยู่ คนจะไปแล้ว เพราะฉะนั้นในทุก 1-2 นาที คุณต้องหาวิธีดึงคนเข้ามาเป็นระยะ มันต้องมีศิลปะในการวางข้อมูล ทุกๆ 3 นาที ต้องสะดุ้งตื่น ต้องดึงให้เข้ามีส่วนร่วมกับเนื้อเรื่อง
“ตรงนี้จะต่างจากกับการเขียนบทความ ซึ่งเราสามารถกลับไปอ่านได้ แต่สำหรับโทรทัศน์หรือวิดีโอต้องต่อเนื่องตลอด เหมือนการดูหนัง คนดูอยากดูไปเรื่อยๆ ไม่ได้อยากกลับมาย้อนดู ฉะนั้นการดึงคนให้มีส่วนร่วมกับงาน เป็นสิ่งที่ยากมากของการทำข้อมูลลักษณะนี้”
กรุณาอธิบาย ก่อนที่จะย้ำส่วนสำคัญของการทำข่าว คือการไม่สนใจคำด่าหรือคอมเมนต์เชิงลบที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง (Hate Speech) เว้นเสียแต่จะเป็นข้อความหรือข้อมูลผิดพลาด ซึ่งจำเป็นมากที่ต้องตรวจทานซ้ำอีกรอบ รีบแก้ไขและขอโทษ
4
บทเรียนชีวิตที่ล้ำค่า
‘ความสงบในใจสำคัญที่สุด’
คือสิ่งที่ กรุณา บัวคำศรี วัย 53 ปี ตกผลึกในฐานะ ‘บทเรียน’ ครั้งสำคัญของปี 2024 หลังใช้เวลานั่งคิดไตร่ตรองพักใหญ่ โดยยอมรับว่า การเคยอยู่ใน ‘สปอตไลต์’ ทำให้จิตใจว้าวุ่นมาก แต่การออกมาทำงานโดยมีตนเองเป็นเจ้านาย กลับทำให้รู้สึกสงบกว่าที่หลายคนคิด
“ตอนที่เรายังอยู่ในแสงสีหรือแวดวงการต่อสู้ ใจเราจะไม่ค่อยสงบ เรามักจะมองคนอื่นว่าเป็นอย่างไร ทำอะไร แต่ปีนี้ โดยเฉพาะช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เราพยายามลดการรับรู้เรื่องคนอื่นน้อยลง โดยเฉพาะในเรื่องที่จำไม่เป็น และอยู่กับตัวเองมากขึ้น
นักข่าวหญิงอาวุโสค่อยๆ เปลี่ยนอิริยาบถในท่านั่งที่สบายๆ ก่อนจะเล่าว่า สิ่งที่เธออยากได้ในชีวิตตอนนี้มากที่สุด คือ ‘เวลา’ ให้กับตนเอง หรือทำอย่างไรก็ได้ให้ใจของเธอสงบมากที่สุด นั่นก็คือการได้อยู่กับงานสารคดีเชิงข่าว
“ตอนนี้บทเรียนที่ได้คือ โลกจะยุ่งขนาดไหน ปล่อยมันไป เราเปลี่ยนโลกไม่ได้ สิ่งที่พยายามทำคือทำยังไงให้ใจของเราสงบที่สุด วิธีที่ทำก็คือ อยู่กับงานที่เราสงบ คือมันมีงานบางอย่างที่ทำให้เราสงบลง เช่นทำสารคดี เพราะเราอยู่กับตัวเองหรือสิ่งที่สนใจ อยากรู้ และอยากให้เวลากับมัน แค่นี้จริงๆ
“แต่ก่อนชื่อของเรา อนาคตของเราถูกผูกไว้กับคนอื่น เราหวั่นเกรงว่า โฆษณาจะไม่เข้า คนดูเท่าไร อันนี้คือปัจจัยทำให้เราในฐานะคนทำข่าวคิดว่า มันจะจบลงตรงไหนวะ เช่น เปิดเรตติงดู วันไหนสูงก็ดีใจ พอวันรุ่งขึ้นตกก็เหี่ยว
“นี่คือชีวิตคนทำข่าวในช่วงหลังๆ เลย แล้วเราเชื่อว่าทุกคนเป็น มันถูกผูกโยงกับการตัดสินของคนอื่นทั้งสิ้น ทั้งเอเจนซีที่จะซื้อหรือไม่ซื้อ คนดู ข้อวิพากษ์วิจารณ์ โดยที่เราไม่มีสิทธิที่จะไปบอกเลยว่า ทำไมเราต้องทำแบบนี้ ทำไมเราเลือกแบบนี้
“แต่พอเราหลุดออกมาแล้ว มันคืออนาคตเรา ยิ่งถ้าทำยูทูบ คนไม่ดูไม่เป็นไร เราทำให้คนอยากดู คนดูแล้วด่าก็ไม่เป็นไร ด่าก็ด่าไป หรือแม้แต่เราไปคุยว่า ซื้อสปอนเซอร์ไหม ถ้าเขาไม่ซื้อก็ไม่เป็นไร เพราะในท้ายที่สุดแล้วทำต่อไม่ได้ก็ถือว่าล้มเหลว
“พออนาคตอยู่ในมือ ใจเราจะนิ่งขึ้น เราไม่ต้องแคร์ว่า เมื่อวานคนดูฉันเท่านี้ วันนี้เอเจนซีไม่ซื้อ วันนั้นการตลาดบอกแบบนี้ ทำไมฉันแต่งตัวแบบนี้ ทำไมผมเป็นแบบนี้ I don’t even care. I just want to do whatever I want. I’m free.”
แม้ไม่มีใครรู้ว่า การทำสิ่งใหม่จะผลิดอกออกผลอย่างไรในอนาคต แต่กรุณาย้ำว่า เธอไม่กลัว ‘ความล้มเหลว’ แม้แต่น้อย เพราะตอนนี้ โชคชะตาทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวของเธอเอง
5
บทสรุปและรอบโลกปี 2024 กับ กรุณา บัวคำศรี
“ถ้าเลิกทำสื่อฯ มีอะไรอย่างอื่นอยากทำไหม”
“เราคงเลิกทำข่าวไม่ได้ แต่มันจะอยู่ในแพลตฟอร์มไหน เช่น สารคดีข่าว ซึ่งเป็นสิ่งที่เรายังอยากทำไปเรื่อยๆ เพราะเราชอบ เราอยู่กับมันได้และรู้สึกว่า มันสร้างผลบวกหรืออิมแพ็กต์กับคนได้ อาจจะไม่ได้เยอะมาก แต่นี่คือสิ่งที่หล่อเลี้ยงมนุษย์ แต่ขอย้ำว่า ทำในรูปแบบของฉันนะ เราจะไม่ทำแบบเรตติงต้องแข็ง หรือต้อง Breaking News ตลอด”
เป็นคำตอบที่ทำให้รู้สึกแปลกใจอยู่ไม่น้อย เพราะเราคาดหวังว่า กรุณาอาจมีความฝันเรียบง่ายเหมือนใครหลายคน เช่น การเดินทางรอบโลกโดยไม่เกี่ยวข้องกับโลกของสื่อมวลชน หรือแม้แต่การนั่งนอน อยู่บ้านเฉยๆ หลังจากต้องทำงานตัวเป็นเกลียวตลอด 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา
แต่แล้วความประหลาดใจก็หายไปในพริบตา ทันทีที่ได้เดินสำรวจบ้านของกรุณา เพราะของตกแต่งในบ้านของเธอ ไม่ว่าจะเป็นซากรถถังยูเครนชิ้นเล็ก แผนที่ประเทศอิรัก รูปภาพบนผนังจากกาซา หรือชั้นหนังสือที่เต็มด้วยเรื่องราวรอบโลก เป็นสิ่งที่สามารถบอกได้ว่า ความรักในข่าวต่างประเทศและการเป็นสื่อมวลชน ฝังรากลึกไปถึงก้นบึ้งหัวใจเสียแล้ว
เพราะด้วยสถานการณ์โลกที่เต็มไปด้วยความอลหม่าน เราในฐานะคนทำงานจึงอดถามด้วยความสงสัยไม่ได้ว่า ในอนาคตเธออยากเดินทางไปทำข่าวที่ไหน กรุณาตอบทันทีเหมือนเช่นเคยว่า ‘ทุกที่’ แต่ถ้าเจาะจงจากสถานการณ์ปัจจุบัน ก็ต้องเป็น ‘ประเทศซีเรีย’ หลังระบอบ อัล-อัสซาด (Al-Assad) ล่มสลาย มีการเปิดเผยสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้ระบอบเผด็จการเมื่อ 50 ปีก่อน และไม่มีใครรู้ว่า ‘มหาอำนาจ’ รอบด้าน จะเข้ามามีบทบาทในสมการความขัดแย้งนี้อย่างไร
“คือถ้าเรานั่งดูซีเรียจากตรงนี้ เราก็จะรู้แค่ว่าอะไรเกิดขึ้น แต่การลงไปพื้นที่ เราได้กลิ่น เราได้เห็นรายละเอียด”
ถือว่าบทสนทนาจุดประเด็นคำถามเกี่ยวกับภาพรวมการเมืองโลกในปี 2024 โดยกรุณาเห็นว่า ขณะนี้โลกกำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หลังถูกบดบังด้วยช่วงเวลาแห่งความสงบ (Peace Time) แต่ไม่ได้หมายความว่า ปัญหาจะหายไป จากจุดนี้อาจกล่าวได้ว่า ‘สงครามเย็น’ ยกที่ 2 กำลังจะเริ่ม และผสมผสาน ‘สงครามร้อน’ (Hot War) ด้วย
“สงครามเย็นยกที่ 2 กำลังเริ่ม และอาจจะมีสงครามร้อนด้วย คือสงครามเย็นเป็นสงครามตัวแทน ใช้ Proxy เช่น กัมพูชาหรือเวียดนาม แต่ตอนนี้ไม่ได้เป็นแบบนั้น เช่นกรณียูเครนกับรัสเซีย โอเค อาจจะมีคนบอกว่าเป็นตัวแทนก็จริง แต่ ‘ผู้เล่นใหญ่’ อย่างรัสเซียลงมาเล่นเอง ไม่ใช่กลุ่มของคาดีรอฟ (รามซาน คาดีรอฟ – Ramzan Kadyrov) รบกับยูเครน มันคือการเผชิญหน้าของรัสเซียกับโลกตะวันตก หรือในรูปแบบรัฐกับรัฐ
“จริงอยู่อาจจะมีกรณีเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ที่เป็นการเผชิญระดับรัฐ แต่ไม่ใช่ในลักษณะของมหาอำนาจลงมารบเอง สถานการณ์นี้ก่ำกึ่งระหว่างสงครามตัวแทนกับสงครามรัฐ จะเรียกว่าเป็นสงครามเย็นยกที่ 2 แต่มีความร้อนอยู่
“แล้วถ้ามันต้านไม่ได้ อย่างอัล-อัสซาดออกมาบอกว่า พวกที่ยืดกรุงดามัสกัส (Damascus) เป็นพวกเคอร์ดิส (Kurdish) นี่ก็เป็นสูตรสำเร็จเดียวกับที่ปูตินใช้ เราไม่รู้ว่าจะรู้เลยว่าอะไรเกิดขึ้นหลังจากนี้ แล้วอิสราเอลก็เพิ่งบุกซีเรียไป อันนี้เหมือนสงครามเย็นผสมกับเหตุการณ์ในปี 1979 (โซเวียตบุกอัฟกานิสถาน) แล้วเราคาดเดาไม่ได้”
เมื่อเราขอให้กรุณาจัดอันดับเหตุการณ์ที่ ‘สร้างผลกระทบ’ ครั้งใหญ่ในการเมืองโลก เธอเลือกเหตุการณ์ในซีเรีย สงครามในกาซา และการที่ โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ กำลังกลับมานั่งเก้าอี้ผู้นำอีกครั้ง
“ยากมากถ้าให้เลือกระหว่างซีเรียกับทรัมป์ เพราะกาซากับอิสราเอลไม่ได้อิมแพ็กต์ขนาดนั้น ขยายความคือ กาซากับอิสราเอลมีภูมิศาสตร์ที่ไม่ได้ติดกับมหาอำนาจ อยู่แค่ในโซนอิสราเอล อียิปต์ และเมดิเตอร์เรเนียน อาจบอกได้ว่า เป็นความขัดแย้งที่ต้านทานได้
“ขณะที่ซีเรียเชื่อมโยงกับมหาอำนาจโดยตรงมากกว่า เช่น ตุรกี สหรัฐฯ รัสเซีย และอิหร่าน มันเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญ แต่ถ้าไม่ใช่เหตุการณ์ซีเรีย ก็คงเป็นเรื่องของทรัมป์ ซึ่งเราคิดว่า เขาเป็นนักการเมืองที่น่าสนใจและนอกกรอบ (Unorthodox) หมายความว่า ผู้นำสหรัฐฯ แต่ก่อนจะมีสูตรสำเร็จที่พอจะคาดการณ์นโยบาย เช่น รีพับลิกัน (Republican Party) หรือเดโมแครต (Democratic Party) จะมีแนวทางบางอย่างที่เหมือนกัน เพราะนโยบายมาจากข้ารัฐการประจำ หรือเป็นนโยบายหลักของสหรัฐฯ
“แต่ทรัมป์ไม่ใช่นักการเมืองและไม่ใช่นักธุรกิจซะทีเดียว เขามีคาแรกเตอร์ที่พิเศษ เพราะฉะนั้นนโยบายสหรัฐฯ ของทรัมป์ในสมัยที่ 2 จะนอกกรอบ และใช้วิธีการที่เราไม่เคยเห็นจัดการกับปัญหา ซึ่งยังไม่ได้บอกว่าดีหรือไม่ดีนะ แต่มันไม่เหมือนเวลาที่เราเห็น จอร์จ ดับเบิลยู. บุช (George W. Bush) และบารัก โอบามา (Barack Obama) ซึ่งเรารู้ว่าเขาจัดการยังไง
“คือจะใช้คำว่า ทรัมป์ดำเนินนโยบาย ‘ตามใจฉัน’ ไม่ได้ซะทีเดียว เพราะประธานาธิบดีมีผู้สนับสนุน มีฐานเสียง มีผลประโยชน์เยอะแยะ ดังนั้นทรัมป์ไม่ได้ตัดสินใจอะไรตามใจตนเอง แต่ดูผลประโยชน์รอบข้างทั้งหมด”
สำหรับประเด็นที่น่าจับตามองในปี 2025 กรุณาจับจ้องไปที่สงครามรัสเซีย-ยูเครน, ปัญหาในตะวันออกกลาง ความขัดแย้งในอินโดจีน และปัญหาจีน-ไต้หวัน โดยเฉพาะการตั้ง ‘เงื่อนเวลา’ ของ สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ผู้นำสูงสุดจีนที่ต้องการรวมไต้หวันภายในปี 2049
1 ชั่วโมง 10 นาที เวลาในการพูดคุยกับกรุณาผ่านไปอย่างรวดเร็ว แม้จะสามารถนั่งฟังเธอเล่าเรื่องชีวิตและการเมืองโลกได้ทั้งวัน แต่เราก็ตัดสินใจถามคำถามสุดท้ายไปว่า ในฐานะคนไทย เราควรสนใจสถานการณ์โลกอะไรเป็นพิเศษไหม
“สนใจทุกเรื่อง สนใจเรื่องไหนก็ดูเรื่องนั้น (หัวเราะ)”
คือคำตอบอันแสนเรียบง่ายของนักข่าวอาวุโส พร้อมด้วยแววตาสดใสที่พร้อมรับมือกับทุกอุปสรรคและการเดินทางนับต่อจากนี้ ไม่ใช่แค่เรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะจากเรายกใหญ่ แต่ก็ทิ้งให้ขบคิดเรื่องราวของตนเองในปีนี้ว่า บางทีชีวิตก็อาจจะต้อง ‘ปล่อยจอย’ จากความกังวลต่ออนาคตที่ยังมาไม่ถึงบ้าง
Fact Box
- หากมีเวลาว่างจากการทำงาน กรุณามีงานอดิเรกที่ชื่นชอบคือ นั่งเล่นใต้ต้นไม้ เล่นกับสุนัขคู่ใจ 2 ตัว คือ มาร์ลีย์กับมายา หรือเดินเล่น กินกาแฟ และอ่านหนังสือ แต่หากไม่มีนัด ก็มักจะไม่ค่อยไปไหน
- หนังสือที่กรุณาอ่านขณะนี้ คือ Cosmos โดย คาร์ล เซแกน (Carl Sagen) มีเนื้อหาเกี่ยวกับปรัชญาวิทยาศาสตร์เรื่องจักรวาล ซึ่งกรุณาบอกว่า หนังสือนี้ทำให้มองเห็นว่า “เราไม่ได้สำคัญขนาดนั้น”