ประเทศไทยสู่ปี 2030: จับกระแสอนาคตอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว’ รายงานฉบับใหม่โดย อมาเดอุส (Amadeus) บริษัทเทคโนโลยีด้านการท่องเที่ยวระดับโลก ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) และสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (พาต้า) ระบุว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องวางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเดินทางและการท่องเที่ยวให้มีความชาญฉลาดยิ่งขึ้น เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตด้านรายได้ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในทศวรรษหน้า

  ไซมอน เอครอยด์  รองประธานกรรมการ ฝ่ายวางแผนกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาธุรกิจ อมาเดอุส กล่าวว่า “อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในไทยเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่มาก และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart city นั้นก็มีโอกาสเติบโตได้  เพราะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทยมีการเติบโตถึง 6 % ต่อปี ซึ่งเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของทั่วโลก ซึ่งอยู่ที่ 3.4 % เท่านั้น”

4 เสาหลักเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ประชา อัศวธีระ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ภาคใต้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้กล่าวถึงการนำเสนอ 4 ประเด็นหลักที่ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญในทศวรรษหน้า ได้แก่ การเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของสนามบิน การพัฒนาระบบการเชื่อมต่อระหว่างท่าอากาศยานและเมือง การผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อยกระดับประสิทธิภาพเครือข่ายการคมนาคมในเขตเมือง และการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะนักท่องเที่ยวล้นเมือง ซึ่งล้วนต้องอาศัยการนำเทคโนโลยีอัจฉริยะไปประยุกต์ใช้

ไซมอน เอครอยด์ รองประธานกรรมการ ฝ่ายวางแผนกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาธุรกิจ อมาเดอุส

การเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของสนามบิน

  ในส่วนแรกรัฐต้องเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินผ่านการพัฒนาระบบต่างๆ ภายในสนามบิน แม้ว่ารัฐบาลจะขยายพื้นที่ภายในสนามบิน แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยว อย่างที่เห็นว่าเมื่อเข้าไปในสนามบินแล้ว คนแน่นขนัดและใช้เวลาอย่างมากในการเข้าสู่พื้นที่ตรวจค้นสัมภาระ เกิดการกระจุกตัวอยู่ที่ส่วนของการเช็คอิน ทำให้ไม่สามารถใช้พื้นที่อื่นๆ ได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด และการที่นักท่องเที่ยวจะเข้าสู่ส่วนของการเช็คอินช้า จะส่งผลให้เงินที่จะได้จากนักท่องเที่ยวในการเข้าดิวตี้ฟรีลดน้อยลงตามไปด้วย โดยทางบริษัทอมาเดอุสจึงใช้เทคโนโลยี Facial Recognition ที่สามารถตรวจสอบใบหน้าของผู้โดยสารได้อย่างอัตโนมัติมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ซึ่งได้ลองใช้เทคโนโลยีดังกล่าวแล้วที่ลอสแองเจลลิส สหรัฐอเมริกา ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปใช้บริการดิวตี้ฟรีได้รวดเร็วขึ้นโดยไม่ต้องเสียเวลา

การพัฒนาระบบการเชื่อมต่อระหว่างท่าอากาศยานและเมือง 

  การขยายการเชื่อมต่อจากท่าอากาศยานสู่เมือง ด้วยการทำให้ระบบการคมนาคมขนส่งในหลายๆ รูปแบบเชื่อมต่อกันอย่างไร้รอยต่อ เพื่อประหยัดเวลา และสะดวกสบายยิ่งขึ้น และมีแนวคิดที่จะแก้ไขตั๋วโดยสารให้ตั๋วใบเดียวสามารถใช้ได้กับการขนส่งทุกระบบ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องบิน รถราง รถไฟ และรถบัส  นอกจากนี้ การสร้างความสะดวกสบายให้แก่การเดินทางได้ก็คือ ท่าอากาศยานจำเป็นจะต้องสร้าง Hub หรือศูนย์กลางของการเดินทางไปสู่จุดต่างๆ ที่มีทั้งรถบัสเข้าสู่เมืองและการขนส่งรูปแบบอื่นๆ

  การขยายการเชื่อมต่อจากท่าอากาศยานสู่เมืองนี้ ได้เริ่มดำเนินการแล้วผ่านการพัฒนาเมืองภูเก็ต จะเห็นว่าที่ภูเก็ตมีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหลักในการขับเคลื่อนจีดีพีของประเทศ โดยจะเห็นว่าในปี 2018 ภูเก็ตสร้างรายได้ไปกว่า 477,000,000 บาท มากเป็นอันดับสองของประเทศรองจากกรุงเทพฯ

ถ้าคิดเป็นสัดส่วนรายได้ของภูเก็ต จะเห็นว่า 2.8 % มาจากภาคเกษตร และอีก 97 % มาจากที่พัก โรงแรม รวมถึงการขนส่ง หากแต่จีดีพีของภูเก็ตยังขึ้นๆ ลงๆ ในบางปี พูดได้ว่าเศรษฐกิจของภูเก็ตยังไม่ยั่งยืนเท่าใดนัก จึงจำเป็นจะต้องสร้างการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นที่ภูเก็ต 

แนวทางในการสร้างการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนนั้น ต้องใช้แนวคิดเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City มาเป็นหนึ่งในเครื่องมือ ด้วยการสร้าง Smart Living หรือการดำเนินชีวิตอย่างอัจฉริยะผ่านการใช้เทคโนโลยีมาช่วยสร้างความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยวภายในเมือง ซึ่งตอนนี้มีกล้อง CCTV ทั่วเมืองภูเก็ต มากถึง 3,000 ตัว  รวมทั้งติดตั้งกล้องที่สามารถอ่านป้ายทะเบียนรถได้ 40 ตัว และมีกล้องที่จดจำใบหน้าคนได้ซึ่งติดตั้งบริเวณทางเข้าเมืองภูเก็ตจากเส้นทางจังหวัดพังงา 

ประชา อัศวธีระ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ภาคใต้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า)

ความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน

ประชากล่าวเพิ่มเติมว่าการทำเมืองอัจฉริยะให้สำเร็จ ไม่ใช่แค่รัฐจะต้องดำเนินการอย่างเดียว แต่จะทำอย่างไรให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและพัฒนาในส่วนของการจัดการเมือง
เขายกตัวอย่างว่ามีภาคเอกชนหลายกลุ่มสนใจเข้าร่วมการพัฒนาเมืองภูเก็ตให้เป็น Smart City จึงมีการรวมตัวกันของกลุ่มนักธุรกิจภายในเมือง ก่อตั้งกลุ่มภูเก็ตพัฒนาเมืองขึ้น 

  ตัวอย่างหนึ่งโปรเจกต์ที่ทำไปแล้วผ่านการร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน คือ Phuket Smart Bus การเชื่อมต่อการเดินทางออกจากสนามบินภูเก็ตสู่ตัวเมือง ตั้งแต่ เมษายน 2561 เพื่อแก้ปัญหาเรื่องระบบขนส่งมวลชนภายในจังหวัดภูเก็ตและเพื่อช่วยลดจำนวนยานพาหนะบนท้องถนน โดยเราสามารถใช้บัตร Rabbit card ในการจ่ายเงินค่าโดยสารได้ รวมถึงมีกล้องวงจรปิด จีพีเอส และไวไฟสาธารณะ 

การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะนักท่องเที่ยวล้นเมือง

ไซมอน เอครอยด์ รองประธานกรรมการ ฝ่ายวางแผนกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาธุรกิจ อมาเดอุส กล่าวว่า บริษัทอมาเดอุสมีการเก็บข้อมูลการจองตั๋วโรงแรมและตั๋วการเดินทางของนักท่องเที่ยว จากข้อมูลดังกล่าวสามารถนำมาวิเคราะห์ได้ว่า นักท่องเที่ยวมักจะค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวล่วงหน้าก่อนจะเดินทางกี่เดือน หรือ คนที่เลือกจะไปภูเก็ตจะไปเที่ยวที่เมืองไหนต่อ หลังจากเก็บข้อมูลแล้วเราจะหาวิธีออกแผนการตลาดให้ถูกจุด เพื่อวางแผนให้คนมาเที่ยวเมืองรองได้มากยิ่งขึ้น นักท่องเที่ยวจะได้ไม่ล้นเมืองในเมืองหลักอย่างภูเก็ตหรือเชียงใหม่ เป็นต้น

  ประชากล่าวเพิ่มเติมว่าเราจะคิดวิธีใช้ข้อมูลมาลดปัญหาการท่องเที่ยวกระจุกตัวยังไงบ้าง เป็นเสมือนบันไดอีกขั้นในการทำ Smart City 

  “เมืองๆ หนึ่งจะฉลาดได้ ไม่ใช่เพราะการมีไวไฟหรือเซ็นเซอร์ภายในเมือง แต่เมืองนั้นต้องมีข้อมูลเพื่อใช้ในการบริหารจัดการ” 
  Smart City Service คือการอำนวยความสะดวกให้กับทุกคนที่เข้ามายังเมือง แต่อีกหน้าที่หนึ่งคือการเป็นตัวเก็บข้อมูลให้กับเมือง แต่ก่อนอาจทำได้จากการที่ภาครัฐลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลมา 

“เมื่อทำ Smart City แล้ว เราสามารถได้ข้อมูลจากเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การมีไวไฟสาธารณะ ประโยชน์ข้อหนึ่งคือการทำให้ทุกคนเข้าถึงการบริการทางอินเทอร์เน็ตได้อย่างทั่วถึง แต่ประโยชน์อีกข้อหนึ่ง คือการเก็บข้อมูลว่าในหนึ่งวัน มีอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีที่เข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตกี่เครื่อง อีกทั้งเรายังเก็บข้อมูลได้จากการเสิร์ชของนักท่องเที่ยวเพื่อดูว่าในแต่ละวัน นักท่องเที่ยวเดินทางไปที่ไหนกันบ้าง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะถูกนำมารวมกับข้อมูลภาครัฐ และผสมรวมกันเพื่อนำตัวเลขไปศึกษาพฤติกรรมการท่องเที่ยวและศึกษาข้อมูลที่ตอบสนองการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์

อมาเดอุส ดีป้า และ พาต้า มองว่า หากประเทศไทยต้องการจะบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในอนาคต คณะทำงานด้านการท่องเที่ยว หน่วยงานท้องถิ่น และธุรกิจบริการ ควรสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ เพื่อการวิเคราะห์แบบเรียลไทม์ (Real-time Analysis) และการวางโมเดลด้วยเทคนิคการทำนายข้อมูล (Predictive Modeling) เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยให้ก้าวหน้าและยั่งยืนต่อไป 

Tags: