“สวัสดีครับ ขอขอบคุณสำหรับทุกๆ กำลังใจที่ส่งเข้ามานะ
ผมจะพยายามอ่านทุกข้อความ ก็ไม่เคยคิดว่าจะมีคนสนใจเรื่องราวของเด็กตัวเล็กๆ คนนึงได้มากมายขนาดนี้ ขอบคุณจริงๆ

ขอบคุณทุกๆ กำลังใจ ตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา
จากนี้ผมคงจะพักและทุ่มเทเวลากับการเรียน

นิรนาม_”

ข้อความของ ‘นิรนาม_’ @ssj_2475 หลังจากได้รับการประกันตัวในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เผยแพร่ในเพจเฟซบุ๊ก ‘ในนามความสงบเรียบร้อย’ ซึ่งเป็นเพจบอกเล่าเรื่องราวของนักโทษการเมือง และในกรณีนี้ ทางเพจยังระดมทุนค่าประกันตัวให้แก่นิรนามด้วย 

น่าสนใจว่ากรณีนี้เป็นการระดมทุนช่วยเหลือคดีเกี่ยวกับเสรีภาพที่เร็วที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดย 27 ชม.ที่เปิดระดมทุน ตั้งเป้า 500,000 บาทเพื่อให้ครอบครัวนำไปประกันตัว แต่คนโอนเงินเข้ามาสูงถึง 1.6 ล้านบาท (รายละเอียดอ่านที่นี่) ที่สำคัญ ผู้ใช้ทวิตเตอร์หลายคนเปลี่ยนชื่อเป็น ‘นิรนาม’,  แฮชแท็ก #Freeนิรนาม ติดเทรนด์อันดับต้นของทวิตเตอร์ และยังไปโผล่ในป้ายผ้าของบรรดานักศึกษาที่ชุมนุมประท้วงหลังศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ด้วย

ใครที่ไม่ได้ติดตามโลกทวิตเตอร์ คงต้องกล่าวก่อนกว่า นิรนาม_ เป็นชื่อของแอคเคาน์ทวิตเตอร์ @ssj_2475 ก่อนถูกจับกุมมีผู้ติดตาม 1.3 แสนราย ปัจจุบันมีผู้ติดตาม 1.5 แสนกว่าราย และนิยามตัวเองในทวิตเตอร์ว่า 

ประวัติศาสตร์ไทย มีอะไรให้ค้นหาอีกมากมาย
นอกตำราเรียน ที่จะทำให้มุมมองเธอจะเปลี่ยนไป ตลอดกาล
Ps.การเมืองและนานาสาระ

ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักในวงกว้าง (ขึ้น) เมื่อศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนแจ้งว่า มีการร้องเรียนว่านิรนามถูกตำรวจจับกุมที่บ้านพักจังหวัดชลบุรีเมื่อ 19 ก.พ.2563 วันต่อมาตำรวจนำตัวไปฝากขังยังศาลจังหวัดพัทยาพร้อมคัดค้านการประกันตัว ให้เหตุผลว่ายังสอบสวนไม่เสร็จเหลือพยานอีก 6 ปาก สุดท้ายศาลก็ไม่ให้ประกันโดยให้เหตุผลว่า “เป็นเรื่องร้ายแรง เกรงจะหลบหนี” จากนั้นครอบครัวยื่นขอประกันอีกโดยวางหลักทรัพย์เป็นเงินสด 100,000 บาท ศาลชั้นต้นปฏิเสธ ทนายความยื่นประกันอีกครั้งเพิ่มวงเงินประกันตัวเป็น 500,000 บาทก็ยังได้รับการปฏิเสธ จึงทำการอุทธรณ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงิน 200,000 บาทในวันที่ 24 ก.พ. เขาจึงถูกคุมขังเพียง 5 วัน

เว็บศูนย์ทนายฯ อ้างปากคำของครอบครัวซึ่งเล่าถึงการจับกุมว่า 

“เวลา​ 10.30 น.​ ได้มีผู้มากดออดเรียกหน้าประตูห้องของครอบครัว เมื่อเปิดออกไป มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบเกือบ 10 นาย กรูกันเข้ามา เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการแสดงหมายค้น ซึ่งออกโดยศาลจังหวัดพัทยา ลงวันที่ 19 ก.พ.63 ทางตำรวจได้เข้าตรวจค้นห้องพัก ยึดโทรศัพท์มือถือจำนวน 2 เครื่องไป ก่อนที่ทั้งนิรนามและพ่อกับแม่จะถูกตำรวจพาตัวไปยัง สภ.เมืองพัทยา โดยไม่ได้มีหมายจับ” 

ตำรวจเชิญตัวทั้งเจ้าตัว พ่อและแม่ไปสถานีตำรวจ แยกกันสอบคนละห้อง และใช้เวลาราว 6 ชม. มีการปรินท์ข้อความในทวิตเตอร์ออกมาราว 30 แผ่น 

“หลายข้อความเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ พร้อมกับแจ้งให้เขาให้ความร่วมมือบอกรหัสผ่านของโทรศัพท์มือถือเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าดู และให้ยินยอมรับว่าเป็นเจ้าของบัญชี ‘นิรนาม_’ จริง โดยระบุว่าถ้าไม่ยินยอมจะดำเนินคดี ตำรวจยังมีการถ่ายรูปและบันทึกวิดีโอเอาไว้ตลอดการพูดคุย” ศูนย์ทนายฯ ระบุ

อย่างไรก็ตาม เมื่อตำรวจนำตัวนิรนาม_ไปขอฝากขัง ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ตำรวจใช้หลักฐานเพียง 1 ข้อความซึ่งเป็นการทวีตภาพเกี่ยวกับรัชกาลที่ 10 และมีข้อความในเชิงเสียดสี พร้อมแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 14 (3) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2560 “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา”

กรณีนี้มีเรื่องน่าแปลกใจหลายประการ 

1.ในโลกทวิตเตอร์ซึ่งเป็นพื้นที่แห่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมากที่สุดในเวลานี้ ท่ามกลางความคิดเห็นมากมาย ทำไมจึงเป็น ‘นิรนาม_’ ซึ่งโพสต์เรื่องเหล่านี้มานาน โดยส่วนใหญ่เป็นไปในแนวให้ข้อมูล และวิพากษ์วิจารณ์โดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย 

2.เป็นเรื่องน่าแปลกใจที่ศาลชั้นต้นไม่ให้ประกันตัว ทำให้ถูกคุมขังในเรือนจำหลายวันก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะให้ประกัน ทั้งนี้เนื่องจากตั้งแต่ราวปี 2560 เป็นต้นมา ดูเหมือนแนวโน้มการใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต่อผู้ต้องหาที่ถูกกล่าวหาว่าดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์นั้นลดลงอย่างมากจนไม่มีให้เห็นแล้วในปัจจุบัน ไม่ใช่ว่าไม่มีการดำเนินคดี แต่การดำเนินคดีลักษณะนี้มีน้อยลงและเจ้าหน้าที่หันไปใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ยุยงปลุกปั่นฯ แทน กระนั้นก็ตาม ข้อหาเหล่านี้มีโทษต่ำกว่ามาตรา 112 จึงได้รับการประกันตัวเพื่อสู้คดีตั้งแต่แรกเริ่ม 

3.การสืบสวนของตำรวจใช้วิธีการเช่นไร เพราะมันส่งผลต่อผู้คนจำนวนมากในโลกทวิตเตอร์ โลกแห่งเสรีภาพมีความปลอดภัยแค่ไหน

ในกระบวนการสืบหาตัวคนโพสต์ข้อความ โดยปกติแล้วเจ้าหน้าที่ต้องได้ IP Address ของเป้าหมายก่อน จากนั้นจึงไปสอบถามกับบริษัทให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) กรณีนี้คือ ทรู เพื่อเชื่อมโยงว่าไอพีฯ นี้ใช้เบอร์โทรศัพท์อะไรและใช้ชื่อใครจดทะเบียน ไล่ไปทีละขั้น ทั้งนี้ต้องหมายเหตุไว้ด้วยว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับล่าสุดได้แก้ไขให้เจ้าหน้าที่นำ IP Address ไปขอข้อมูลกับ ISP ได้เลยโดยไม่ต้องขอหมายศาล หรือผ่านกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลให้ยุ่งยากเหมือนพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับก่อน โดยเรื่องนี้สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติเคยแสดงความกังวลว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับนี้จะเปิดโอกาสให้รัฐบาลไทยออกคำสั่งไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตให้เก็บข้อมูลการใช้งานอินเทอร์เน็ตของผู้ใช้บริการได้โดยไม่ต้องขออนุญาตศาลซึ่งเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่มากเกินไป 

ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้คือ จะได้ IP Address ได้อย่างไร 

ในคำร้องขอฝากขังของตำรวจระบุว่า ก่อนเกิดเหตุมีการจับตา “กลุ่มที่มีแนวคิดต่อต้านสถาบันฯ” อยู่แล้ว

“จากการดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์โดยแหล่งข่าว พบว่า บัญชีทวิตเตอร์ “นิรนาม_” มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของบริษัททรู 2 ครั้ง ในวันที่ 16 ม.ค. ใช้ไอพีแอดเดรส xxx และ 17 ม.ค. ใช้ไอพีแอดเดรส xxx” คำร้องฝากขังระบุ 

“การดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์โดยแหล่งข่าว” คืออะไร ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่คนในแวดวงกฎหมาย-ไอที มักยกตัวอย่างรูปแบบในคดีที่เคยเกิดขึ้นว่า มีการส่งสปายไปคุยเพื่อหลอกให้เป้าหมายกดลิงก์แล้วเก็บ IP Address 

ยิ่งชีพ อัฌชานนท์ จากไอลอว์ องค์กรที่ติดตามคดีเสรีภาพที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มานาน ระบุว่า ระบบการหาตัวด้วยหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ก่อนหน้านี้ คือ 1. ต้องมี IP Address ก่อน ซึ่งได้จากเจ้าของเว็บหรือแพลตฟอร์ม  2.แล้วเอา IP ไปถาม ISP ว่า ใครเป็นคนใช้ IP นี้ จึงได้ชื่อคนจดทะเบียน 3. แล้วต้องสืบต่ออีกว่า คนโพสต์เป็นคนเดียวกับที่จดทะเบียนไหม กรณีที่จับผู้ใช้ทวิตเตอร์ บริษัท ทวิตเตอร์ เคยบอกว่ามีนโยบายไม่ให้ข้อมูลของผู้ใช้ และไม่มีสำนักงานในไทย จึงไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ทวิตเตอร์อาจจะไม่ให้ข้อมูลก็ได้

“Transparency Report ของทวิตเตอร์ ถ้าไม่โกหก เขาบอกว่า รัฐบาลไทยขอข้อมูลนิดหน่อยตอนปี 2014 หลังจากนั้นไม่มีเลย แต่รายงานก็ยังอัปเดตไม่ถึงปี 2020 ดังนั้น กรณีนี้ถ้าตำรวจเดินมือเปล่าไปหาทรูแล้วบอกว่า ขอข้อมูลผู้ใช้บัญชีนี้หน่อย ทรูไม่น่ารู้ได้ เพราะทรูไม่ได้เข้าถึงหลังบ้านทวิตเตอร์ว่าใครล็อกอินเข้าบัญชีนั้น อย่างไรก็ตาม ตำรวจไทยยังมีอำนาจในการแฮก ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 18(7) ซึ่งต้องขอหมายศาลก่อน ยังไม่ชัดเจนว่า มีการแฮกไหม ต้องรอดูในชั้นสืบพยาน แต่วิธีที่ตำรวจไทยเก่งกว่าการใช้กฎหมายหรือใช้เทคนิค คือ การสืบเสาะทางสังคม เช่น การปลอมตัวไปแชตคุยด้วย การติดตามและส่องดูว่า รีทวีตใคร คุยกับใคร ถ้าเผลอไปมีปฏิสัมพันธ์ด้วยก็จะมีโอกาสให้ตำรวจเข้าถึง IP Address ของผู้ใช้นั้นๆ ได้” ยิ่งชีพระบุในทวิตเตอร์ของเขา 

นี่เป็นเรื่องที่น่าจับตาและต้องดูว่าจะมีการต่อสู้คดีอย่างไร ส่วนขั้นตอนต่อจากนี้นั้น หลังจากที่นิรนาม_ประกันตัวได้ ตำรวจและอัยการมีเวลา 84 วันในการรวบรวมหลักฐานว่าจะส่งฟ้องดำเนินคดีในศาลหรือไม่ 

 

นิรนาม_ คือใคร 

หากเข้าไปสำรวจในทวิตเตอร์ของนิรนาม_ จะพบว่า เขาเป็นเด็กหนุ่มอายุ 20 ปีที่สนใจประวัติศาสตร์การเมืองอย่างยิ่ง โดยมักทวีตเอกสารเก่า วิดีโอเก่า และเล่าเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญและลึกลับในอดีต ไม่ว่าจะเป็นกรณีประหาร นายชิต บุศย์ เฉลียว ฯลฯ หรือการรื้อฟื้นประวัติศาสตร์กระแสรอง เช่น เรื่องราวของนายจำกัด พลางกูร การเซ็นเซอร์หนังสือการเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เป็นต้น

ข้อมูลจากผู้ที่เคยพูดคุยกับเขาระบุว่า นิรนามเป็นเด็กหนุ่มที่เก็บตัว เข้าสังคมไม่เก่ง ไม่ได้เรียนในระบบโรงเรียนปกติ แต่เรียน กศน.ตั้งแต่ประถมจนจบมัธยมและกำลังศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยเปิด แต่เขาน่าจะเป็นนักอ่านตัวยง แรงบันดาลใจของนิรนามชัดเจนว่าคือ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ที่ต้องลี้ภัยการเมืองไปยังประเทศฝรั่งเศส 

“บางทีก็แอบอิจฉา อ.สมศักดิ์นะ ที่แกมีแพชชั่นด้านนี้ ค้นคว้าและศึกษาเรื่องนี้มาเกือบสี่สิบปี โดนกระทำ โดนขู่ โดนโจมตี โดนสบประมาทต่างๆ นาๆ  ขนาดล้มป่วยหนักก็พักจนเริ่มฟื้น แล้วอุตส่าห์กลับมาทำต่อ

ตัวนี่เองติดตามมาไม่ถึงสิบปี ยังเริ่มเหนื่อย
บับเมื่อไหร่สังคมนี้จะเปลี่ยนซักทีวะ ท้ออ” 

13 ก.พ.2563

“สิ่งหนึ่งที่ทำให้ทึ่งในตัว สศจ. อย่างมากๆ คือการที่แกสู้ แล้วสู้มาตลอด ตั้งแต่หนุ่มยันแก่
รอดจากความตายมาก็นับครั้งไม่ถ้วน โดนยิงถล่มบ้าน โดนกฎหมายอยุติธรรมคุกคาม
ถูกพรากจากคนที่รัก พรากจากอาชีพที่รัก ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ ต้องล้มป่วยลง
แต่ก็ไม่เคยทำให้แกหยุดสู้ ตลอด 40 กว่าปี” 

25 ธ.ค.2563

ภาพจากทวิตเตอร์นิรนาม_

ผู้ที่เคยคุยกับนิรนาม_ระบุว่า นิรนาม_เริ่มสนใจการบ้านการเมืองมาตั้งแต่ช่วงมัธยมต้น ด้วยเหตุหลายอย่าง เช่น ไปยืนอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ตามร้านหนังสือบีทูเอส การได้ฟังพิธีกรช่อง ASTV ด่าอาจารย์สมศักดิ์ ทำให้เขาไปค้นหาและติดตาม อ.สมศักดิ์ ในเฟซบุ๊กมาโดยตลอด 

“สิ่งที่เรารู้มันมีทั้งจริงและไม่แน่ใจ เรื่องที่ไม่มั่นใจก็อยากให้สังคมเอามาถกกัน” เขาบอก

“ใช้ชื่อ นิรนาม มาตลอดเพราะไม่ได้อยากมีตัวตน บางครั้งมีเปลี่ยนคำต่อท้ายบ้าง” เขาบอก

นี่น่าจะเป็นสปิริตของสมศักดิ์ เจียมฯ คือ การค้นคว้าอย่างหนัก การสร้างการถกเถียง ผสมกับสปิริตแบบคนยุคไซเบอร์ที่วัดกันที่ “เนื้อหา” หรือ “ประเด็น” โดยไม่สนว่าตัวผู้พูดเป็นใคร เคยเป็นใคร 

นิรนาม_ บอกเล่าด้วยว่าที่ผ่านมาถูกคุกคามมากมาย มีการตอบโต้อย่างรุนแรงหลายรูปแบบ บางคนทักมาด่าเฉยๆ บางทีถูกแคปไปไว้ในเพจที่จะมีคนไม่เห็นด้วยมารุมด่า มีคนขู่ว่าอยากฆ่าให้ตายก็มี การมีผู้ติดตามนับแสนไม่ได้หมายความว่าทุกคนฟอลโลว์เขาด้วยความชื่นชม

“สังคมแบบนี้ไม่ปกติ” นิรนามพูด

หลังจากเขาถูกจับกุมในฐานะ ‘นิรนาม’ เสริมสุข กษิตประดิษฐ์ อดีตหัวหน้าข่าวสายทหารของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ โพสต์ข้อความระบุว่าชื่อนามสกุลว่า ‘นิรนาม_’ คือใคร 

“เวลาโพสต์จาบจ้วงเอามันส์ ใช้ถ้อยคำถ่อยสารพัด คิดว่าไม่มีใครตามตัวได้…ถูกจับได้อ้างละเมิดเสรีภาพในการด่าคนโดยไม่ต้องรับผิดชอบ มาเตือนอีกรอบพวกคึกคนองในทวิตที่ยังเพลิดเพลินกับการโพสต์ด่า เฟคนิวส์ จาบจ้วง คิดว่าไม่มีใครตามได้ สันติบาลเดินหน้าเต็มสูบ หากยังไม่เลิกพฤติการณ์อย่างที่ชอบทำ.
ส่งรายชื่อให้ฝ่ายความมั่นคงและ DE ตามต่อ” เหตุผลของนักข่าวอาวุโส

กรณีของนิรนาม_มีคำถามมากมายรอให้สังคมช่วยค้นหาคำตอบ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นควรอยู่ตรงไหน ประวัติศาสตร์ที่เรารับรู้เป็นความจริงหรือไม่ การจัดการของตำรวจในครั้งนี้ต้องการส่งสัญญาณอะไร มีการดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายไหม และเอาเข้าจริง หรือ ‘นิรนาม’ คือ เด็กหนุ่มที่โดนจับหรือสามารถเป็นใครก็ได้ที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่อาจนิ่งเฉย และพร้อมจะยืนยันเสรีภาพทางความคิด

 

แหล่งข้อมูล 

https://twitter.com/ssj_2475

https://www.tlhr2014.com/?p=16073

https://freedom.ilaw.or.th/node/793

https://tinyurl.com/IPevidence

https://prachatai.com/journal/2020/02/86499

https://prachatai.com/journal/2020/02/86441

https://prachatai.com/journal/2020/02/86485

 

Tags: ,