บางสื่อให้ฉายาเขาว่า ‘Prince’ บางคนก็ยกให้เขาเป็น ‘King’ และอีกหลายคนก็เรียกเขาว่า ‘เจ้าพ่อ’ แต่ไม่ว่าจะยกฉายาใดๆ ก็ตามให้แอนดี้ วอร์ฮอล สิ่งที่ทุกคนที่เสพงานของเขารับรู้ก็คือ การเป็นศิลปินป๊อปอาร์ตระดับไอคอน ที่สีสันบนชิ้นงานของเขายังคงจัดจ้านและเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทำงานสร้างสรรค์ มาตั้งแต่ครั้งเขายังมีชีวิตเพื่อสร้างผลงาน กระทั่งวันนี้ที่แอนดี้ วอร์ฮอล กลายเป็นตำนานที่ได้รับการกล่าวถึงแม้ยุคของเขาจะล่วงเลยมานานแล้ว ทั้งที่ครั้งหนึ่งเขาเคยเอ่ยประโยคเสียดสีล้อความโด่งดังเอาไว้ว่า “ในอนาคต, คนทุกคนจะได้โอกาสมีชื่อเสียงระดับโลกคนละ 15 นาที” แต่ 15 นาทีของแอนดี้ วอร์ฮอล กลับยาวนานกว่านั้นนัก 

เมื่อผลงานออริจินัลกว่าร้อยชิ้นของแอนดี้ วอร์ฮอล ข้ามน้ำข้ามทะเลมาจัดแสดงให้ได้ชมกันที่แกลเลอรี River City Bangkok เรากับช่างภาพจึงเทเวลาของบ่ายวันหนึ่งไปกับ นิทรรศการ ‘Andy Warhol : Pop art’ ที่ จันฟรังโก โรซินี แฟนตัวยงของแอนดี้ วอร์ฮอล ผู้ซึ่งวัยเด็กของเขาเคยได้พบกับเจ้าพ่อแห่งวงการป๊อปอาร์ตคนนี้ในนิทรรศการที่กรุงโรม และช่วงเวลาที่น่าจดจำนั้นเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการสะสมงานของศิลปินคนโปรด งานนี้ จันฟรังโก โรซินี รับหน้าที่เป็นภัณฑารักษ์คัดสรรงานมาแสดงด้วยตนเอง ทราบมาจากทีมผู้จัดว่า กว่าจะมาลงตัวที่ 128 ชิ้นที่เห็นอยู่นี้ มีการคัดสรรอย่างพิเศษ เพื่อให้การจัดแสดงครั้งแรกในเมืองไทยเป็นไปอย่างเพอร์เฟ็กต์ที่สุด

แน่ละว่างานนี้ย่อมมีผลงาน ป๊อปๆที่ต่อให้คนไม่ได้เป็นแฟนของแอนดี้ วอร์ฮอล์ ก็ยังรู้จักและคุ้นตากันดีอย่างกระป๋องซุปแคมป์เบลล์ ภาพวัว ภาพพิมพ์สีสันจัดของมาริลีน มอนโร เหมา เจ๋อตง หรือภาพกล้วยหอมที่ซ่อนนัยทางเพศเมื่อลอกเปลือกสีเหลืองแจ๋นออก บนปกอัลบั้มของ The Velvet Underground & Nico อัลเทอร์เนทีฟร็อกวงดังที่เขา ‘เจิม’ อัลบั้มแรกให้ด้วยภาพนี้เมื่อปี 1967 อยู่ด้วย แต่นอกเหนือไปกว่านั้น ยังมีภาพ ‘หน้า B’ ที่ถ้าอยู่ในปกเทปยุค 90s ก็ต้องบอกว่า เป็นเพลงดีแต่ไม่ได้รับการโปรโมตให้โด่งดัง นำมาจัดแสดงด้วย ที่ในหลายชิ้นนั้นก็ทำให้เรารู้จักแอนดี้ วอร์ฮอล มากขึ้นกว่าเดิม 

ประชาธิปไตยที่ซ่อนอยู่ในขวดโค้ก

ก่อนที่ผลงานของเขาจะสร้างชื่อด้วยพรสวรรค์ที่เผยตัวออกมาตั้งแต่ยังเด็ก และมีอิทธิพลต่อวงการศิลปะระดับโลก วอร์ฮอลผ่านชีวิตที่อัตคัดมาก่อน เขาเกิดในครอบครัวที่พ่อเป็นคนงานเหมืองและคนงานก่อสร้างที่อพยพมาจากประเทศสโลวาเกีย มาอาศัยอยู่อเมริกา และเมื่อพ่อของเขาเสียชีวิตก็นำมาสู่การตกระกำลำบากของสองแม่ลูกที่ยังอยู่ เขาเรียนหนังสือในโรงเรียนไฮสกูลท้องถิ่น และทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยเมื่อย้ายไปเรียนต่อที่สถาบันเทคโนโลยีคาร์เนกีในพิตต์สเบิร์ก ก่อนที่ชีวิตจะเริ่มต้นรุ่งเรืองเฟื่องฟูเมื่อได้งานเป็นนักออกแบบโฆษณาของนิตยสาร Harper’s Bazaar และเชื่อมโยงศิลปะเข้ากับวัฒนธรรมป๊อปในช่วง 1950s

หนึ่งในความเฉียบคมทางการคิดของวอร์ฮอล์ คือการที่เขามักนำเอาสิ่งใกล้ตัวมาสร้างสรรค์งาน กระทั่งขวดโค้กที่ถูกดื่มแล้วจนเหลือขวดเปล่า ก็เป็นวัตถุดิบที่เขานำมาเนรมิตผลงานอีกหลายชิ้น โดยเริ่มต้นที่เขาเอาขวดโค้ก 112 ขวด มาเรียงต่อกัน 7 แถว วางโลโก้โค้กไว้ด้านล่างทำให้ดูเหมือนเป็นภาพโฆษณา ของผลงานที่ชื่อ Green Coca-Cola Bottles ในปี 1962 สิ่งที่เขาซ่อนไว้ในภาพนี้ คือการสื่อถึงวัฒนธรรมบริโภคนิยมที่นำมาสู่การผลิตจำนวนมาก ในปี 1971 วอร์ฮอลเล่นกับขวดโค้กอีกครั้ง ด้วยการนำมันไปปรากฏอยู่บนปก ‘Andy Warhol’s Velvet Underground Featuring Nico’ อัลบั้มรวมเพลงฮิตของ The Velvet Underground ความหมายที่เขาซ่อนเอาไว้ในนั้นไม่ได้รับการเปิดเผย กระทั่งเรื่องนี้ปรากฏขึ้นในหนังสือ The Philosophy of Andy Warhol: From A to B and Back Again ที่เขาเขียนขึ้น และได้พบว่า โค้กมีความหมายถึงการพูดเรื่องประชาธิปไตยอยู่ในนั้น 

“สิ่งที่ยิ่งใหญ่จริงๆ เกี่ยวกับประเทศนี้ก็คือ อเมริกาเป็นผู้เริ่มต้นค่านิยมที่ผู้บริโภคร่ำรวยที่สุด ซื้อของสิ่งเดียวกันกับคนที่จนที่สุดซื้อ นั่นก็คือโคคา-โคล่า มันคือความเท่าเทียมกัน มีคุณภาพเท่ากันทุกขวด เอลิซาเบธ เทย์เลอร์รู้จัก ประธานาธิบดีรู้จัก ขอทานหรือคนเร่ร่อนก็รู้จัก และคุณเองก็รู้จักเหมือนๆ กัน”

เซเลบริตี้และกลุ่มคนข้ามเพศในพอร์เทรตของวอร์ฮอล 

งานพอร์เทรตของวอร์ฮอลที่เราคุ้นตา มักเป็นภาพของเหล่าเซเลบริตี้ระดับซูเปอร์สตาร์ ที่สะท้อนแง่มุมที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นของตัวตนที่เป็นสาธารณะ เทคนิคภาพพิมพ์ซิลค์สกรีนจากภาพถ่ายที่เขาเริ่มนำมาใช้เป็นครั้งแรกในภาพของมาริลีน มอนโร ซึ่งเป็นภาพโปรโมตหนังเรื่อง ‘Niagara’ ที่เธอแสดงนำ และกลายเป็นภาพที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกศิลปะสมัยใหม่ ใบหน้าของคนดังอีกหลายต่อหลายคนสถิตอยู่บนชิ้นงานที่โด่งดังข้ามเวลา ไม่ว่าจะเป็นไลซ่า มินเนลลี (เธอผู้นี้เองที่เป็นสื่อให้ จันฟรังโก โรซินี ได้พบกับวอร์ฮอล) งานชิ้นมาสเตอร์พีซที่เขามุ่งเน้นไปยังดวงตาที่จะถ่ายทอดแก่นแท้แห่งจิตวิญญาณออกมา งานพอร์เทรตของวอร์ฮอลปรากฏใบหน้าของเซเลบริตี้อีกมากมายหลายชิ้น ไม่ว่าจะเอลวิส เพรสลีย์ เอลิซาเบธ เทเลอร์ ประธานเหมา ไดอานา รอสส์ ฯลฯ และได้กลายเป็นหนึ่งในคุณสมบัติอันโดดเด่นในยุค 60s ที่สะท้อนวัฒนธรรมของซูเปอร์สตาร์ 

แต่ใช่ว่าแอนดี้ วอร์ฮอล จะให้ความสำคัญเฉพาะเซเลบริตี้ เพราะในงานอีกชุดหนึ่งที่ชื่อ ‘Ladies & Gentlemen’ เขาดึงประกายของความเป็นเซเล็บมาสวมไว้กับชาวแดรกควีนและคนข้ามเพศจากไนต์คลับผู้ไร้ตัวตนอย่างทัดเทียม วอร์ฮอลไตร่ตรองถึงแนวคิดทางเพศและอัตลักษณ์ที่คนเราสร้างให้ตัวเอง ว่ายากแค่ไหนสำหรับคนคนหนึ่ง ที่ชายจะเป็นชาย ชายจะเป็นหญิง หญิงจะเป็นหญิง และหญิงจะเป็นชายได้ แน่นอนว่าเขาไม่ได้คำตอบ 

ตำราอาหารฉบับล้อเลียนที่ชื่อ Wild Raspberries 

จันฟรังโก โรซินี ชี้เป้าเอาไว้ว่า ผลงานชิ้นที่หาชมได้ยาก และมีให้ชมที่งานชุดนี้ คือ ‘Wlid Raspberries’ หนังสือที่เขาร่วมทำกับซูซี่ แฟรงก์เฟิร์ต เพื่อนของเขา และจูเลีย วาร์โฮลา แม่ของเขา (วาร์โฮลาคือนามสกุลเดิมของวอร์ฮอล ที่เขาเปลี่ยนเองภายหลังเพื่อให้ดูเป็นอเมริกันขึ้นด้วยการตัด a ตัวสุดท้ายออก) หนังสือตำราอาหารเล่มนี้ทำขึ้นเพื่อล้อเลียนตำราทำอาหารฝรั่งเศส ที่ผู้คนมักทำตามตำราอย่างจริงจังจนเกินไป แถมยังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในสมัยนั้น พวกเขาจึงช่วยกันคิดสูตรอาหารโดยจูเลียเป็นคนเขียนตัวอักษรบรรยายสูตรอาหารต่างๆ และวอร์ฮอลวาดภาพประกอบ 

ความตั้งใจล้อเลียนที่เห็นได้จากการตั้งใจสะกดผิด และการเล่นมุกขำขันในรูปแบบหนังสือทำมือ พวกเขาจึงทำขึ้นมาได้เพียง 34 เล่ม แถมยังไม่ได้รับการตอบรับที่ดีนัก หนังสือที่ขายไม่ออกเหล่านี้จึงถูกส่งต่อเป็นของขวัญคริสต์มาสให้เพื่อนและคนในครอบครัวแทน น่าเสียดายที่เขาไม่อาจทำนายได้ว่า หนังสือทำมือเล่นๆ ของเขากับแม่ จะกลายเป็นของสะสมที่มีมูลค่าในตอนนี้ 

 

ซุปแคมป์เบลล์ที่มีความทรงจำเป็นเบื้องหลัง 

ภาพซุปกระป๋องแคมป์เบลล์เปรียบเสมือนตัวแทนของวอร์ฮอล เขาเองก็เคยกล่าวว่านี่เป็นผลงานที่เขาโปรดปรานที่สุด และยืนยันจะวาดต่อไปเรื่อยๆ กระทั่งมันกลายเป็นสัญลักษณ์และรอยต่อในการเปลี่ยนผ่านจากงานวาดมือไปสู่เทคนิคทรานส์เฟอร์จากภาพถ่าย 

ภาพวาดกระป๋องซุปแคมป์เบลล์ จัดแสดงขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1962 เป็นภาพวาดบนผืนผ้าใบจำนวน 32 ภาพ จัดเรียงเป็นระเบียบจนเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ เลียนแบบสินค้าที่วางขายบนชั้นในซูเปอร์มาร์เก็ต ลักษณะการทำงานซ้ำๆ ต่อเนื่องกันนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจที่เขาใช้ในผลงานชุดต่อๆ มา ความนิยมในภาพชุดนื้ ทำให้กระป๋องซุปแคมป์เบลล์ของวอร์ฮอล ไปปรากฏอยู่บนชุดเดรส ถุงช้อปปิ้ง ผ้ากันเปื้อน ไปจนถึงรองเท้าหนังที่มีเชือกผูกด้านข้างดูหรูหรา ที่จำหน่ายโดย Studio 54 ไนต์คลับชื่อดังของนิวยอร์กในยุค 70s

จะมีคนสักกี่มากน้อย ที่รู้ว่าเบื้องหลังความเฉิดฉายของกระป๋องซุปแคมป์เบล คือความทรงจำที่วอร์ฮอลมีต่อชีวิตวัยเยาว์ที่ขัดสนในฐานะลูกคนอพยพชาวสโลวาเกียที่มาอาศัยอยู่ในเพนซิลวาเนีย และต้องกินซุปกระป๋องแคมป์เบลเป็นอาหารทุกวัน ภาพของซุปแคมป์เบลล์จึงเป็นความอบอุ่นทางใจที่เขาเลือกมาห่มตัวเอง และยังคอยย้ำเตือนให้เขาคิดถึงแม่ของเขาอีกด้วย 

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนเสี้ยวของเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในนิทรรศการ ‘Andy Warhol : Pop art’ ซึ่งยังมีให้ชมจนถึงวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้ ที่ RCB Galleria โรงแรม River City Bangkok บัตรเข้าชมราคา 400 บาทสำหรับผู้ใหญ่ และ 300 บาทสำหรับเด็ก นักเรียน นิสิต/นักศึกษาและผู้สูงอายุ  ซื้อบัตรได้ที่ www.ticketmelon.com หรือที่ RCB Gallery Shop ชั้น 1 นอกจากนิทรรศการชุดนี้ RCB Galleria ยังมีนิทรรศการอื่นๆ ที่เปิดให้เข้าชมฟรีจัดแสดงอยู่ในแกลเลอรีด้วย 

Tags: , ,