เป็นข่าวดังทั่วโลก กับกรณีของ จอห์น อัลเลน เชา (John Allen Chau) อายุ 26 ปี จากรัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ที่ถูกลูกธนูยิงจนเสียชีวิต หลังจากพยายามพายเรือคายัคเข้าไปที่เกาะนอร์ธ เซนติเนล  (North Sentinel) หนึ่งในหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ของอินเดีย เขาเป็นรายล่าสุดที่พยายามเข้าไปยังเกาะต้องห้ามแห่งนี้

ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ทหารเรือของอังกฤษบรรยายถึงการเดินทางเข้าไปยังเกาะนอร์ธ เซนติเนล ที่ห่างไกล ล้อมรอบด้วยปะการังในทะเลอันดามันว่า ได้พบกับชนเผ่าที่ดำรงชีพด้วยการล่าสัตว์กลุ่มหนึ่งซึ่งกินรากไม้และเต่าเป็นอาหาร เก็บกะโหลกของหมูป่าไว้

เมาริซ ไวดอล พอร์ทแมน (Maurice Vidal Portman) เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของอังกฤษเขียนหนังสือไว้เมื่อปี 1899 ว่า เขาลักพาชาวเกาะหลายคนออกมา ให้อยู่ที่บ้านของเขาบนเกาะที่ใหญ่กว่า ซึ่งอังกฤษใช้เป็นคุก แล้วก็คอยเฝ้าดูชาวเกาะค่อยๆ ป่วยและตาย จากนั้นเขาก็ส่งลูกหลานของชาวเกาะกลับไป แล้วยุติการทดลองนี้ที่เขาบอกว่าล้มเหลว

ศตวรรษต่อมา มีคนนอกกลับไปที่เกาะอยู่บ้าง พื้นที่สวนใหญ่เป็นป่าละเมาะ มีลักษณะเป็นเนิน มีขนาดประมาณเกาะแมนฮัตตัน ของนิวยอร์ก ใครที่กล้าเข้าไปเยือนก็จะได้รับการทักทายด้วยลูกธนู ในทศวรรษ 1970 ผู้อำนวยการสารคดีเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกก็ถูกลูกธนูปักที่ขา 1 ดอก ไม่มีใครรู้ว่าทำไมพวกเขาไม่เป็นมิตรกับคนภายนอก

การเสียชีวิตของเชาดูเหมือนว่าจะเป็นการปะทะทางวัฒนธรรมระหว่างชาวต่างชาติที่รักการผจญภัย ซึ่งต้องการเผยแผ่ศาสนาคริสต์กับชุมชนที่เข้าถึงได้ยากที่สุดของโลก

เชาไปเยือนหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์มาแล้ว 4 ครั้ง และหลงใหลความงามของธรรมชาติและการโดดเดี่ยวของมัน การติดต่อกับชาวเซนทิเนล ครั้งแรกสุดไม่ได้เป็นไปด้วยดี วัยรุ่นคนหนึ่งยิงธนูใส่เขา ซึ่งเจาะคำภีร์ไบเบิลจนเป็นรู

แต่เขาก็ตัดสินใจกลับไปที่เกาะอีกครั้ง ด้วยความรู้สึกว่าเขาเป็นเครื่องมือของพระเจ้า ครั้งสุดท้าย เชาจ้างชาวประมงกลุ่มหนึ่งด้วยเงิน 350 เหรียญสหรัฐให้ไปส่งเขาในตอนกลางคืน ชาวประมงเตือนเขาแล้วว่าอย่าไป แต่สุดท้ายเชาก็พายเรือคายัคเข้าไปพร้อมกับคัมภีร์ไบเบิล

มีการเปิดเผยบันทึกยาว 13 หน้าที่เขียนด้วยปากกาและดินสอ ซึ่งเขาให้ไว้กับชาวประมงที่ไปส่ง เผื่อว่าเขาไม่ได้กลับออกมา

คืนก่อนที่เขาจะเข้าไปที่เกาะ ดูเหมือนเชาจะเผชิญกับความกลัวว่าตัวเองกำลังจะตายได้ “ผมกลัว ดูดวงอาทิตย์ตกและมันสวยมาก ร้องไห้นิดหน่อย สงสัยว่านี่จะเป็นการเห็นดวงอาทิตย์ตกครั้งสุดท้ายของผม”

เขาเดินทางตอนกลางคืนเพื่อหลบเลี่ยงเจ้าหน้าที่ หลังจากไปถึงเกาะ เขาพยายามเข้าหาชาวเกาะด้วยการให้ปลา กรรไกร เข็มกลัด และร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า ในบันทึกมีข้อความที่เขาพยายามจดภาษาและท่าทางของชาวเกาะนี้ไว้  ตอนท้ายของบันทึก เชาสงสัยว่า เขาควรจะล้มเลิกความปรารถนาของตัวเอง หรือกลับไปที่เกาะและเสี่ยงกับผลที่จะตามมา

ในบันทึก เขาเขียนว่า พระเยซูได้มอบความเข้มแข็งแก่เขาให้เข้าไปยังสถานที่ต้องห้ามของโลกนี้ “พระผู้เป็นเจ้า เกาะแห่งนี้เป็นที่มั่นสุดท้ายของซาตาน ซึ่งไม่มีใครรู้จักหรือมีโอกาสได้ยินชื่อของพระองค์ใช่หรือไม่”

“ผมคิดว่า ผมจะมีประโยชน์มากกว่าถ้ามีชีวิต แต่พระผู้เป็นเจ้า ผมมอบเกียรติยศทั้งหมดไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม” เขาขอให้พระเจ้าให้อภัยต่อ “ใครก็ตามบนเกาะแห่งนี้ที่พยายามฆ่าผม โดยเฉพาะถ้าเขาทำสำเร็จ”

ชาวประมงที่ช่วยเหลือเขา 7 คนถูกจับด้วยข้อหาที่มีส่วนก่อฆาตกรรมและละเมิดกฎหมายคุ้มครองชนเผ่าดั้งเดิม ครอบครัวของเชาโพสต์ในอินสตาแกรมขอให้ทางการอินเดียปล่อยตัวทั้ง 7 คนโดยบอกว่า  “เขาออกไปด้วยเจตจำนงของเขาเอง” และครอบครัวของเชาให้อภัยต่อผู้ที่ฆ่าเขา

กฎหมายอินเดียระบุว่าความพยายามในการติดต่อกับชนเผ่าต่างๆ บนหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของอินเดียในมหาสมุทรอินเดียผิดกฎหมาย เพื่อคุ้มครองวิถีชีวิตของพวกเขา

ที.เอ็น พันดิท (T.N. Pandit) นักมานุษยวิทยาชาวอินเดียที่เข้าไปเกาะนี้แล้วหลายครั้งในช่วงปี 1967-1991 บอกว่า ความไม่เป็นมิตรของพวกเขาเป็นเรื่องง่ายๆ พวกเขาต้องการอยู่ตามลำพัง ตอนนั้นเขาหย่อนของขวัญที่เป็นมะพร้าวและกล้วย ขณะที่ชาวเซนทิเนลซ่อนอยู่ป่า มองดูพวกเขาอย่างระแวดระวัง  “พวกเขาต้องไม่ชอบใจ เพราะถือธนูและลูกดอกไว้”

“พวกเขาไม่ต้องการอะไรจากคุณ เราไปหาพวกเขา พวกเขาสงสัยว่าเรามีเจตนาไม่ดี จึงต่อต้าน”

นักมานุษยวิทยาเชื่อว่าผู้ที่อยู่บนเกาะนี้สืบเชื้อสายมาจากผู้อพยพในแอฟริกาซึ่งมายังอันดามันเมื่อหลายพันปีก่อน คนบนเกาะนี้เป็นหนึ่งในหมู่เกาะอันดามันที่ติดต่อกับโลกภายนอกน้อยมาก ตั้งแต่อินเดียเป็นเอกราชจากอังกฤษ นักมานุษยวิทยาหลายกลุ่มพยายามเข้าไปศึกษาพวกเขา แต่ไม่มีใครบรรลุเป้าหมาย หลายครั้งชาวเซนทิเนลหันหลังให้นักมานุษยวิทยา และนั่งหมอบลง ราวกับว่าพวกเขากำลังขับถ่าย

ตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าพวกเขาเรียกกันอย่างไร หรือว่ามีคนกลุ่มอื่นๆ ในโลกนี้ที่เข้าใจภาษาของพวกเขาหรือไม่ เคยมีการนำชนเผ่าอื่นที่คิดว่าใกล้เคียงที่สุดเข้าไปที่เกาะ เพราะคิดว่าอาจจะมีความคล้ายกันบ้าง แต่ก็ไม่มีใครเข้าใจภาษาของอีกฝ่าย

สิ่งที่ไปไกลที่สุดก็น่าจะเป็นปี 1991 เมื่อนักมานุษยวิทยากลุ่มหนึ่งยืนในน้ำสูงระดับเอวใกล้ชายฝั่ง แล้วส่งมะพร้าวให้เป็นของขวัญ แต่ไม่กี่ปีต่อมา “การส่งของขวัญ” นี้ก็สิ้นสุด

ตอนนี้ทางการอินเดียกำลังชั่งน้ำหนักว่าควรจะดำเนินคดีฆาตกรรมหรือนำศพของเชากลับมาหรือไม่ ตำรวจบางนายกลัวว่า ถ้าต้องไปที่เกาะเพื่อเอาศพกลับมา ตำรวจอาจจะถูกฆ่าเช่นกัน

ที่มา:

 

ที่มาภาพ: Handout / SURVIVAL INTERNATIONAL / Indian Coast Guard / AFP

Tags: , , , ,