สถานการณ์ปัจจุบันในซูดาน: ‘ความขัดแย้ง’ ที่มีความเสี่ยงสูงกลายเป็น ‘สงครามกลางเมือง’

เมื่อวานนี้ (23 เมษายน 2023) สำนักข่าวอัลจาซีรา (Al Jazeera) รายงานสถานการณ์ปัจจุบันในซูดานถึงการล่มของเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เนื่องจากการสู้รบระหว่างกองทัพซูดาน (Sudan Armed Forces: SAF) กับกองกำลังกึ่งทหารติดอาวุธ (Rapid Support Forces: RSF) ที่ปะทุขึ้นในคาร์ทูม (Kharthum) เมืองหลวงของประเทศ รวมถึงเมืองอื่นๆ ในวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา

ประชาชนภาคส่วนอื่นๆ ได้รับผลกระทบจากจากความขัดแย้งครั้งนี้เป็นอย่างมาก สิ่งอำนวยความสะดวกถูกทำลาย อาหารและน้ำกำลังจะหมด มูซา อาลี อิบราฮิม (Musa Ali Ibrahim) นักศึกษาแพทย์ชาวไนจีเรีย เล่าถึงสถานการณ์นี้ว่า เขาและคนอื่นๆ ถูกทิ้งในเมืองซูดาน และไม่มีปัจจัยดำรงชีวิตเพียงพอ

“เราติดอยู่ในโซนสงครามแห่งนี้ เราไม่มีอาหารให้กิน ไม่มีน้ำให้ดื่ม

“ร้านค้าข้างนอกมหาวิทยาลัยปิดหมด แม้ว่าคุณจะมีเงิน แต่มันไม่มีความปลอดภัยเลย” เขาให้สัมภาษณ์กับอัลจาซีรา

ผู้คนในซูดานพยายามแสวงหาน้ำดื่มท่ามกลางการสู้รบในซูดาน (ที่มา: Reuters)

แอ็กเคานต์ทวิตเตอร์ชื่อ ‘Netblocks’ อธิบายสาเหตุว่า การขัดข้องของอินเทอร์เน็ต สืบเนื่องจากการขาดแคลนพลังงานและสถานการณ์อันยากลำบากในการหาไฟฟ้าสำรอง รวมถึงการเชื่อมต่อเหลืออยู่เพียง 2% จากอัตราทั้งหมด อย่างไรก็ตาม สัญญาณมือถือยังคงพอใช้งานได้ท่ามกลางการสู้รบอย่างหนัก

แม้ว่ากองกำลังทั้งสองฝ่ายเจรจาเพื่อหยุดรบเป็นเวลา 72 ชั่วโมง แต่การปะทะยังคงเกิดขึ้นในเช้าวันอาทิตย์ที่ผ่านมา มีรายงานจากผู้สื่อข่าวว่า พบเห็นควันลอยพุ่งมาจากทางตอนเหนือของเมืองหลวง ประกอบด้วยเสียงปืนใหญ่ดังทั่วบริเวณทำเนียบประธานาธิบดี รวมถึงที่อยู่อาศัยของประชาชนทางตะวันตกด้วยเช่นกัน

นักวิเคราะห์หลายคนคาดการณ์ว่า แนวโน้มการเกิดสงครามกลางเมืองจากความขัดแย้งในครั้งนี้ มีโอกาสสูงเป็นอย่างมาก หลังจากการสู้รบคร่าชีวิตผู้คนนับ 400 ศพ และแพร่ขยายอย่างรวดเร็ว ทั้งรอบเมืองคาร์ทูม และเมืองแฝด ออมดุรมาน (Omdurman) 

แต่บริเวณน่ากังวลมากที่สุด คือภูมิภาคดาร์ฟูร์ (Darfur) เพราะเป็นพื้นที่กำลังฟื้นตัวจากการสู้รบและการสังหารหมู่ในอดีต ซึ่งตอนนี้มีรายงานถึงความรุนแรงที่ขยายตัวขึ้น เกิดการปล้นสะดม และสังหารพลเรือนมากมาย

ความเสี่ยงของการเกิดสงครามกลางเมือง ยังประกอบด้วยปัจจัย ‘ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย’ ที่จะทำให้เรื่องราวบานปลายยิ่งขึ้นไปอีก

“การสู้รบนี้มีตัวแสดงหลักสองฝ่ายก็จริง แต่หากมันดำเนินต่อไป สถานการณ์นี้จะซับซ้อนไปเรื่อยๆ ทั้งการแทรกแซงจากภายนอก ทหาร กองกำลังติดอาวุธ และผู้กระทำความรุนแรงอื่นๆ ที่ไม่ใช่รัฐ” อเล็ก เดอ วาล (Alex de Waal) นักวิเคราะห์จากศูนย์ซูฟาน (Soufan) ในนิวยอร์กวิเคราะห์ 

ยิ่งไปกว่านั้น ยังไม่มีความคืบหน้าด้านความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ทั้งจากองค์การระหว่างประเทศระดับโลกและภูมิภาคอย่าง ‘สหภาพแอฟริกา’ (African Union: AU) ซึ่งมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากความรุนแรงครั้งนี้อย่างสูง

“การสู้รบอาจขยายไปสู่สงครามกลางเมือง ซึ่งสร้างแรงกระเพื่อมที่กระทบต่อเสถียรภาพภูมิภาคทั้งหมด” องค์กรนอกภาครัฐ International Crisis Group กล่าว

“ความท้าทายของวิกฤตครั้งนี้ คือความขัดแย้งที่ขยายตัวไปทั่วประเทศ รวมถึงเพื่อนบ้าน ชาด แอฟริกากลาง ซูดานใต้ และเอธิโอเปีย” คาเมรอน ฮัดสัน (Cameron Hudson) นักวิชาการประจำศูนย์ยุทธศาสตร์และการศึกษาระหว่างประเทศในกรุงวอชิงตันอธิบาย 

ซึ่งตรงกับการรายงานขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) เรื่องอัตราผู้ลี้ภัย 1-2 หมื่นคน หลบหนีการสู้รบไปยังชาด ประเทศเพื่อนบ้านที่ติดกับซูดานมากที่สุด

เกิดอะไรขึ้นกับซูดานในอดีต? 

ซูดานเป็นอีกหนึ่งประเทศ ซึ่งประสบปัญหากับสภาวะการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างมาก เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นจากการรัฐประหารของจอมเผด็จการ อุมาร์ อัล บาชีร์ (Omar Al-Bashir) ในทศวรรษ 1980 และครองอำนาจมาโดยตลอด 

ตลอดระยะเวลา 30 ปี บาชีร์ปกครองประชาชนด้วยความกลัวและใช้ความรุนแรงมาตลอด โดยเรื่องราวอันแสนโสมมอันเป็นที่เลื่องลือของคนทั่วโลก คือเขาถูกตั้งข้อหาโดยศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court: ICC) ก่อ ‘อาชญากรรมต่อมนุษชาติ’ (Crimes against humanity) จากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) และสังหารหมู่ในเมืองดาร์ฟูร์ ซึ่งกินระยะเวลาระหว่างปี 2003-2008 

ต่อมา ประชาชนจำนวนมากไม่สามารถทนความโหดร้ายของบาชีร์ จึงออกมาประท้วงเพื่อขับไล่เขาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2019 แต่ก็เกิดการรัฐประหารของกองทัพซูดาน และมีข้อตกลงแบ่งอำนาจการปกครองให้กับกลุ่มพลเรือนในระหว่างการเปลี่ยนผ่านนี้ 

เรื่องราวดูเหมือนจะผ่านไปได้ดี อย่างไรก็ตาม สัจจะไม่มีในหมู่โจร เพราะข้อตกลงนี้กลายเป็นโมฆะ หลังจากกองทัพทำการรัฐประหารรัฐบาลพลเรือนอีกรอบในปี 2021 โดยขับไล่ อับดัลลา ฮัมด็อก (Abdalla Hamdok) นายกรัฐมนตรี รวมถึงจำคุกร่วมกับพรรคพวก

แต่สุดท้าย กลุ่มทหารเกิดแตกความเห็นเป็นสองพวก โดยฝ่ายกองทัพซูดาน นำโดยพลเอก อับเดล ฟัตตาห์ อัล บุรฮาน (Abdel Fattah al-Burhan) ผู้นำตัวจริงของซูดาน และกองกำลังกึ่งทหารติดอาวุธ RSF ภายใต้ โมฮาเหม็ด ฮัมดัน นากาโล (Mohamed Hamdan Dagalo) รองประธานาธิบดี หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘เฮเมตตี’ (Hemeti) ซึ่งชนวนความขัดแย้งของสองคน คือเวลาที่เหมาะสมของการรวมกองกำลัง RSF เข้ากับกองทัพซูดาน รวมถึงตำแหน่งผู้กุมบังเหียนของกองทัพ 

การสู้รบเกิดขึ้นในวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายต่างโทษกันเองว่า เป็นต้นเหตุของความรุนแรง กองทัพซูดานกล่าวหา กองทัพ RSF ระดมพลอย่างผิดกฎหมาย ในขณะที่ RSF ก็ตอบโต้ว่า กองทัพซูดานพยายามยึดอำนาจเต็มรูปแบบอีกครั้ง ด้วยแผนการร่วมมือกับผู้ภักดีของบาชีร์

ท่าทีของประชาคมโลกต่อสถานการณ์ในซูดาน

สหภาพแอฟริกา

เริ่มต้นจากปฏิกิริยาขององค์การระหว่างประเทศระดับภูมิภาคที่ใกล้ชิดกับสถานการณ์มากที่สด สหภาพแอฟริกาออกแถลงการณ์ระงับการเข้าร่วมกิจกรรมของซูดาน จนกว่าทั้งประเทศเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยและปกครองโดยรัฐบาลพลเรือน โดยให้เหตุผลว่า ซูดานขาดความคืบหน้าในการจัดตั้งองค์กรเปลี่ยนผ่าน และ AU ประณามต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสหภาพ สอบสวนสถานการณ์ และนำเรื่องเข้าสู่สภาต่อไป

อย่างไรก็ตาม คณะมนตรีความมั่นคงและสันติภาพแห่งสหภาพ AU (The African Union’s Peace and Security Council) ต่อต้านการแทรกแซงจากภายนอก รวมถึงเรียกร้องให้สองฝ่ายแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี และหันหน้าเข้าหากันเพื่อเจรจา

สหภาพยุโรป (European Union: EU)

ในขณะที่สหภาพยุโรปออกแถลงการณ์ประณามการใช้กำลัง พร้อมเรียกร้องให้เหล่าฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ  และอยู่ในช่วงการวางแผนอพยพพลเมืองจากซูดาน ทันทีที่กระบวนการรักษาความปลอดภัยพร้อม

“เรากำลังประสานงานปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือพลเมืองออกจากพื้นที่เกิดเหตุ ซึ่งตอนนี้ความเสี่ยงสูงอย่างมาก รวมถึงประเมินวิธีการอื่นๆ อีกเช่นกัน” เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ EU กล่าว

อีกทั้งเขายังเสริมว่า ทั้งสหภาพและประเทศสมาชิกทั้งเจ็ดที่มีภารกิจในซูดาน รวมทั้ง ฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี กำลังหาทางนำพลเมือง 1,500 คน ที่ติดอยู่ในคาร์ทูมออกไปทางภาคพื้นดินแทน เนื่องจากสนามบินถูกปิด

นอกเหนือจากนี้ รายงานระบุถึงอาการบาดเจ็บของเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านมนุษยธรรมของ EU จากการถูกยิง และเกิดการลอบทำร้ายเอกอัครราชทูตยุโรปประจำซูดานในบ้านพักของเขาอีกด้วย 

สหรัฐอเมริกาและจีน

โจ ไบเดน ผู้นำแห่งสหรัฐอเมริกาออกแถลงการณ์ถึงปฏิบัติการนำเจ้าหน้าที่รัฐฯ และนักการทูตบางประเทศออกจากพื้นที่ ซึ่งสำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuter) รายงานในวันนี้ว่า ภารกิจดังกล่าวสำเร็จเป็นที่เรียบร้อย โดยสามารถนำผู้คนจำนวนหนึ่ง ราว 100 คนออกมาได้ และใช้เวลา 1 ชั่วโมงในปฏิบัติการภาคพื้นดิน ก่อนจะบินออกจากพื้นที่ตามรายงาน

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังคงเหลือแผนการช่วยเหลือพลเมืองติดค้างบางส่วน โดยจะวิธีใช้ที่รัดกุมมากขึ้น เช่น โดรนหรือภาพถ่ายทางดาวเทียมเพื่อตรวจจับภัยคุกคามที่อาจมากับการเดินทาง นอกเหนือจากนั้น ไบเดนยังขอให้มีการหยุดยิง และปฏิบัติข้อตกลงด้านมนุษยธรรม ยอมรับเจตจำนงอีกฝ่าย แต่ยังไม่มีแผนความช่วยเหลือเป็นรูปธรรมต่อสถานการณ์ในแอฟริกา

ในขณะที่จีนกำลังเปิดแบบสอบถามประชาชนว่าต้องการอพยพหรือไม่ และกำลังอยู่ในกระบวนการวางแผน รวมถึงกระทรวงต่างประเทศของจีนออกแถลงการณ์เรียกร้องขอให้สองผู้นำหยุดใช้กำลัง อย่าสร้างความบานปลายไปมากกว่านี้ และเดินหน้าเจรจาต่อกัน

สถานการณ์ในซูดานจะสร้างปัญหาให้กับจีนพอสมควร ทั้งในด้านการลงทุน และความต้องการเป็น ‘ตัวกลาง’ ในการเจรจาสันติภาพในภูมิภาคแอฟริกา อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวเซาท์ไซนามอร์นิงโพสต์ (South China Morning Post) ประเมินว่า จีนยังคงให้ความสำคัญกับซูดานอยู่ดี เพราะความสำคัญในด้านเศรษฐกิจ

ไทย

กระทรวงต่างประเทศ กำลังอยู่ในแผนการช่วยเหลือ โดยมี 15 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าหารือแผนการเป็นที่เรียบร้อย รวมถึงชี้แจงสถานการณ์ของชาวไทยในซูดานปัจจุบันจำนวน 250 คน แบ่งเป็นนักเรียนไทย-มุสลิม 200 คน และพลเมืองทั่วไป 50 คน ซึ่งยังปลอดภัยดีอยู่

อ้างอิง

https://www.aljazeera.com/news/2023/4/16/sudan-unrest-what-is-the-rapid-support-forces

https://www.aljazeera.com/news/2023/4/22/sudan-crisis-whats-next-after-one-week-of-deadly-fighting

https://www.aljazeera.com/news/2023/4/18/darfur-on-edge-as-violence-spreads-amid-sudan-power-struggle

https://www.aljazeera.com/news/2023/4/18/darfur-on-edge-as-violence-spreads-amid-sudan-power-struggle

https://www.youtube.com/watch?v=8TnSybPgiQs&ab_channel=AlJazeeraEnglish

https://www.icc-cpi.int/darfur/albashir

https://www.bbc.com/thai/international-65292394

https://au.int/en/articles/sudan-suspended-african-union

https://www.aa.com.tr/en/africa/african-union-warns-against-external-interference-in-sudan-crisis/2874042

https://www.france24.com/en/africa/20230421-eu-plans-possible-evacuation-for-citizens-in-conflict-hit-sudan

https://www.consilium.europa.eu/en/press/press-releases/2023/04/19/sudan-statement-by-the-high-representative-on-behalf-of-the-european-union-on-the-latest-developments/

https://www.scmp.com/news/china/diplomacy/article/3217431/violence-sudan-test-chinas-ambitions-africa-analysts

https://www.mfa.go.th/th/content/presscon210423

Tags: , , , , , , , , , , ,