วันนี้ (6 กุมภาพันธ์ 2024) สำนักพระราชวังบักกิงแฮมออกแถลงการณ์ว่า สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 (Charles III) ทรงได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคมะเร็ง ส่งผลให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่บางอย่างในอนาคตได้ ท่ามกลางความกังวลของสังคมบางส่วนถึงความเหมาะสมในบทบาทประมุขแห่งรัฐ
ทั้งนี้ ทางการแถลงว่า ชาร์ลส์จะเข้ารับการรักษาตัว และพักการทรงงานที่เกี่ยวข้องกับการพบปะสาธารณชนชั่วคราว โดยไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดอาการป่วย หรือชนิดของโรคมะเร็งอย่างแน่ชัด และเน้นย้ำว่า กษัตริย์แห่งอังกฤษจะรายงานผลการวินิจฉัยของแพทย์แก่สาธารณชน เพื่อเป็นบทเรียนถึงผลกระทบของผู้ป่วยโรคมะเร็งสำหรับทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม สำนักพระราชวังฯ ยืนยันว่า ชาร์ลส์ไม่ได้ป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก แม้จะทรงเข้ารับการผ่าตัดเมื่อไม่นานมานี้ พร้อมเน้นย้ำว่า พระองค์ยังคงมีจิตใจที่เข้มแข็งในระหว่างเข้ารับการรักษา อีกทั้งยังสามารถดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐและทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้เฉพาะเรื่อง ได้แก่ การประชุมส่วนพระองค์หรือการลงพระปรมาภิไธยเอกสารใน ‘กล่องสีแดง’ อันเป็นสัญลักษณ์ของกษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร
ขณะที่สำนักข่าวเพรสแอสโซซิเอต (Press Associate: PA) รายงานว่า ภารกิจบางส่วนจะถูกส่งต่อให้กับ วิลเลียม เจ้าชายแห่งเวลส์ (Prince of Wales) องค์รัชทายาทคนสำคัญ หลังจากยุติการทรงงานชั่วคราว 3 สัปดาห์ เพื่อดูแล แคเทอรีน เจ้าหญิงแห่งเวลส์ (Princess of Wales) พระชายา ในช่วงเข้ารับการผ่าตัดบริเวณช่องท้องที่ผ่านมา
นอกจากนี้ เดอะการ์เดียน (The Guardian) คาดว่า ชาร์ลส์อาจเข้าร่วมประชุมกับองคมนตรีได้ตามปกติ แต่รายละเอียดยังคงอยู่ในการพิจารณา ขณะที่แผนการพบปะนายกรัฐมนตรีในทุกสัปดาห์มีโอกาสเปลี่ยนแปลง หากแพทย์แนะนำให้พระองค์หลีกเลี่ยงการพบปะผู้คนให้มากที่สุด
ก่อนหน้านี้ มีรายงานการพบเห็นชาร์ลส์ครั้งสุดท้ายที่ตำหนักซานดริงแฮม (Sandringham) นอร์ฟอร์ก (Norflok) กับสมเด็จพระราชินีคามิลลา (Queen Camilla) ด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม พร้อมทั้งโบกมือทักทายพสกนิกรที่พบเห็น โดยไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด
ปฏิกิริยาของราชวงศ์และทั่วโลกจากอาการป่วยของกษัตริย์แห่งอังกฤษ
ด้านพระราชวงศ์ ได้แก่ เจ้าชายวิลเลียม และเจ้าชายแฮร์รี ดยุกแห่งซัสเซกซ์ (Duke of Sussex) พระราชโอรสทั้งสองพระองค์ รวมถึงเจ้าหญิงแอนน์ พระวรราชกุมารี (Princess Royal) เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดยุกแห่งเอดินบะระ (Duke of Edinburgh) และเจ้าชายแอนดรูว ดยุกแห่งยอร์ก (Duke of York) พระอนุชาและพระกนิษฐารับทราบอาการป่วยจากชาร์ลส์เป็นการส่วนพระองค์เรียบร้อย
เบื้องต้น ทางฟากครอบครัวซัสเซกซ์ยืนยันว่า เจ้าชายแฮร์รีมีกำหนดการเยือนสหราชอาณาจักรภายในไม่กี่วัน โดยสื่อต่างประเทศคาดว่า เขาจะเดินทางตามลำพัง ขณะที่ เมแกน ดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ (Duchess of Sussex) จะพำนักที่สหรัฐอเมริกา พร้อมลูกอีก 2 คนเช่นเคย
ด้านรัฐบาล ริชี ซูนัก (Rishi Sunak) นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เขียนข้อความในแอปพลิเคชัน X เพื่อโต้ตอบข่าวคราวว่า ชาร์ลส์จะต้องหายดีและขอให้กษัตริย์แห่งอังกฤษฟื้นตัวจากอาการดังกล่าว ซึ่งมีท่าทีเช่นเดียวกับ บอริส จอห์นสัน (Boris Johnson) และลิซ ทรัสส์ (Lizz Truss) อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ
ขณะที่ เคียร์ สตาร์เมอร์ (Keir Starmer) หัวหน้าพรรคแรงงาน (Labour Party) ระบุข้อความสั้นๆ ให้กำลังใจว่า ขอให้ชาร์ลส์หายจากอาการป่วยโดยเร็ว
สำหรับรีพับลิก (Republic) กลุ่มต่อต้านสถาบันกษัตริย์ในอังกฤษก็แสดงท่าทีต่ออาการป่วยของชาร์ลส์ว่า พวกเขารู้สึกเสียใจที่ได้ยินเรื่องนี้ และขอให้พระองค์ฟื้นตัวโดยเร็ว แต่ก็ยืนยันว่า ชาร์ลส์ควรได้รับการรักษาเท่าเทียมเหมือนมนุษย์ทุกคน
ปฏิกิริยาดังกล่าวยังรวมถึงสหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีความสนิทชิดเชื้อกับอังกฤษเป็นพิเศษ โดย โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่า เขารู้สึกเป็นห่วง และพูดคุยกับชาร์ลส์เรียบร้อย ก่อนจะขอให้พระเจ้าอวยพรให้สหายจากอังกฤษปลอดภัย
นอกจากนี้ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) อดีตผู้นำสหรัฐฯ และแคนดิเดตตัวเต็งในการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2024 ก็โพสต์ข้อความลงโซเชียลมีเดียเพื่อให้กำลังใจชาร์ลส์ว่า
“พระองค์เป็นคนที่วิเศษมาก ผมรู้จักพระองค์อย่างดีตอนดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และผมขอภาวนาให้พระองค์หายจากอาการป่วยโดยเร็ว”
คำถามที่ตามมาจากอาการป่วย: เมื่อสังคมตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของกษัตริย์ในการปฏิบัติหน้าที่
แม้จะมีผู้คนให้กำลังชาร์ลส์อย่างล้นหลาม ทว่าสาธารณชนบางส่วนกำลังตั้งคำถามต่อการทำหน้าที่ของประมุขแห่งรัฐ โดยเฉพาะปัจจัยทางกายภาพที่อาจทำให้ชาร์ลส์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างไม่เต็มที่ หากเทียบกับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (Elizabeth II) พระมารดาผู้ล่วงลับ
ไม่ใช่แค่สารพัดอาการป่วยเรื้อรังในอดีต แต่การดำรงตำแหน่งกษัตริย์ในวัย 70 ปีอาจถูกตั้งคำถาม แม้เดอะการ์เดียน (The Guardian) วิเคราะห์ว่า ชาร์ลส์มีความระแวดระวังในการทำงานภายใต้ข้อจำกัดข้างต้นเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประชาชนบางส่วนไว้วางใจในสถาบันกษัตริย์อังกฤษ แสดงให้เห็นจากการยืนกรานว่า พระองค์ยังสามารถทำงานได้ดี โดยไม่ต้องพึ่งพาวิลเลียมหรือแคเทอรีน แม้จะมีอาการป่วยก็ตาม
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของพระองค์ยังคงเป็นสิ่งที่น่าจับตามองในอนาคต หากพิจารณาจากผลการสำรวจ โดยประชาชนชาวอังกฤษมากกว่า 50% ระบุว่า ชาร์ลส์ทำหน้าที่ในฐานะกษัตริย์ได้ดี ขณะที่ 9% ระบุว่า เขาปฏิบัติหน้าที่ย่ำแย่มาก ซึ่งในอนาคตตัวเลขดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงได้
เอ็ด โอเวนส์ (Ed Owens) นักประวัติศาสตร์ผู้เขียนหนังสือ After Elizabeth: Can the Monarchy Save Itself? แสดงความคิดเห็นผ่านนิวยอร์กไทม์ (New York Times) ว่า อาการป่วยของชาร์ลส์อาจเป็นคำถามสำคัญในเชิงรัฐธรรมนูญว่า ราชวงศ์อังกฤษจะดำเนินอย่างไรต่อในอนาคต
“การที่กษัตริย์หายไปจากสายตาของสาธารณชน ทำให้ราชวงศ์ต้องพยายามทำอะไรบางอย่างมากกว่านี้” โอเวนส์ระบุ พร้อมทั้งอธิบายว่า อาการป่วยของชาร์ลส์ยิ่งทำให้สถาบันกษัตริย์ใกล้เคียงกับความเป็นมนุษย์และเปราะบางถึงขีดสุด หากพิจารณาในมุมของรัฐธรรมนูญอังกฤษ
ก่อนหน้านี้ ชาร์ลส์ต้องเข้ารับการรักษาจากอาการป่วยหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดไส้เลื่อนในปี 2003 ก้อนในจมูกปี 2008 และโควิด-19 ในปี 2020 แต่เหตุการณ์รุนแรงที่สุดและส่งผลกระทบต่อพระองค์จนถึงทุกวันนี้ คืออุบัติเหตุจากการเล่นโปโล (Polo) ตลอดระยะเวลา 40 ปี สะท้อนจากการพก ‘เบาะหนังสีแดงชนิดพิเศษ’ เพื่อบรรเทาอาการปวดหลังทุกครั้งที่ทรงงาน
ย้อนกลับไปในปี 1980 พระองค์เคยตกจากหลังม้าและถูกเตะในระหว่างการแข่งขันที่วินด์เซอร์ (Windsor) และต้องเข้ารับการรักษาด้วยการเย็บแผลถึง 6 เข็ม ก่อนจะถูกตีที่คอเข้าอีกครั้งหนึ่งทำให้เสียงหายไปถึง 10 วัน
ยังไม่รวมเหตุการณ์ในปี 1990 แขนขวาของชาร์ลส์หักลงในระหว่างการเล่นโปโล ทำให้ต้องเข้ารับการรักษาในปี 1992 แต่ก็บาดเจ็บซ้ำอีกครั้งในปี 1993 ตามมาด้วยอุบัติเหตุจากการล่าสัตว์ในปี 1998 และปี 2001 ซึ่งมีรายงานว่า พระองค์เข้ารับการผ่าตัดกระดูกอ่อนบริเวณเข่าขวา เพราะร่างกายสึกหรอจากการทำกิจกรรมกลางแจ้งที่รุนแรงเกินไป
อ้างอิง
https://www.nytimes.com/2024/02/05/world/europe/king-charles-cancer.html
https://twitter.com/RepublicStaff/status/1754581110183383087
Tags: The Momentum ANALYSIS, ชาร์ลส์ที่ 3, คามิลลา, Charles III, อังกฤษ, ประมุขแห่งรัฐ, ราชวงศ์อังกฤษ, Elizabeth II, สหราชอาณาจักร, กษัตริย์, สถาบันกษัตริย์, กษัตริย์อังกฤษ, Analysis