หากใครได้ติดตามความเคลื่อนไหวในแวดวงภาพยนตร์ไทย อาจคุ้นเคยอยู่บ้างกับภาพยนตร์เล็กๆ ชื่อ Ameen หรือ อมีน ที่สร้างกระแสเป็นที่พูดถึงในปี 2015 ทั้งๆ ที่มันไม่ได้สร้างในระบบสตูดิโอ แถมยังไม่ได้ออกฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วไปเลยด้วยซ้ำ หากแต่มูลนิธิมุสลิมเพื่อสันติและสถานีโทรทัศน์ไวท์ชาแนล กลุ่มผู้สร้างใช้วิธีพาหนังไปตระเวนฉายตามหอประชุมต่างๆ ทั้งในกรุงเทพมหานคร และอีกหลายๆ จังหวัดในภาคใต้ จนได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่นจากกลุ่มผู้ชมที่มีทั้งผู้ชมชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่และผู้ชมศาสนิกอื่นผู้สงสัยใคร่รู้

Ameen ว่าด้วยชายหนุ่มลึกลับ (เรย์ แมคโดนัลด์) ที่ประสบอุบัติเหตุจนสูญเสียความทรงจำ เขาตื่นขึ้นมาในชุมชนมุสลิมที่หยิบยื่นมิตรภาพให้รวมไปถึงตอบคำถามที่เขามีต่อวิถีชีวิตมุสลิมด้วยความโอบอ้อมอารี แต่ขณะที่เขากำลังเริ่มต้นชีวิตใหม่ อดีตและความทรงจำดำมืดของเขาก็ค่อยๆ คืบคลานกลับมา

หนึ่งในสิ่งที่ทำให้ Ameen ได้รับการพูดถึงหนีไม่พ้นการวางตัวในฐานะ ‘หนังฮาลาล’ เรื่องแรก ซึ่งผู้กำกับ ฮามีซี อัคคี-รัฐ ชี้ว่าหมายถึงหนังที่ “ถูกต้องตามหลักศาสนาทุกอย่าง” และได้รับการตรวจสอบพิจารณาจากกลุ่มนักวิชาการด้านศาสนาอย่างละเอียดแล้วว่าไม่ได้ละเมิดบทบัญญัติศาสนา นั่นคือหนังต้องปราศจากสิ่งที่ศาสนาถือว่า ‘หะรอม’ (สิ่งต้องห้าม) ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเสนอภาพคนแสดงเป็นศาสดามูฮัมมัด (ซ.ล.) การเปิดเผยเรือนร่างสตรี เหล้าอบายมุข ไปจนถึงเสียงดนตรี

เมื่อเงื่อนไขความเป็นหนังฮาลาล ประกอบเข้ากับความตั้งใจที่จะเทอดพระเกียรติศาสดา เพื่อตอบโต้กับหนังจากฟากตะวันตกหลายๆ เรื่องที่หากไม่ทำลบหลู่ศาสดาก็มักนำเสนอภาพอิสลามในมุมร้ายๆ Ameen จึงเป็นหนังที่เลือกเล่าเรื่องราวชีวประวัติท่านศาสดาผ่านการบอกเล่าของตัวละครในเรื่องแทน

โดยเมื่อตัวละครที่เดินเรื่องเป็นคนความจำเสื่อมผู้ฉงนฉงายไปกับวิถีชีวิตมุสลิม หนังจึงราวกับใช้ตัวละครตัวนี้เป็นเสมือนร่างทรงของคนดูต่างศาสนิก ที่อาจไม่เข้าใจหรือไม่เคยล่วงรู้มาก่อนว่าอิสลามเป็นอย่างไร ซึ่งก็สอดรับไปกับหนึ่งในเป้าประสงค์สำคัญข้อหนึ่งของผู้สร้าง นั่นคือการพยายามเชื่อมสะพานความเข้าใจไปถึงผู้ชมที่ไม่ใช่มุสลิม และแสดงให้เห็นว่าอิสลามที่จริงแล้วแตกต่างจากสิ่งที่ถูกนำเสนอมาโดยตลอดในสื่อกระแสหลัก

แน่นอนว่าหนังฮาลาลจากกลุ่มผู้สร้างดังกล่าวไม่ได้จบลงที่ Ameen เพราะหลังจากนั้นมายังได้มีหนังฮาลาลตามมาอีก 2 เรื่อง ได้แก่ U-turn จุดกลับใจ (2016) กำกับโดย บรรเลง หัศนี และ Adam จันทร์แยก โลกแตก ญิน (2017) ที่เป็นการกลับมากำกับอีกครั้งของฮามีซี โดยในผลงานเรื่องหลังนี่เองที่ตัวหนังพยายามก้าวมาโต้ตอบกับภาพจำของอิสลามที่ผลิตโดยสื่อตะวันตกอย่างตรงไปตรงมายิ่งขึ้น รวมไปถึงใช้ลูกเล่นเชิง narrative ที่แพรวพราวขึ้นกว่าเดิม

คราวนี้ตัวละครหลักของเรื่องที่มีชื่อเดียวกับหนัง (รับบทโดย เคน สตรุทเกอร์) เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่มีครอบครัวอยู่ในไทย และหลังจากที่สร้างหนังต่อต้านอิสลามมาโดยตลอด อยู่ๆ เขาก็เกิดเปลี่ยนใจหันมาทำหนังเชิดชูอิสลามขึ้นมา ทำให้ชายผู้เกลียดชังอิสลามคนหนึ่ง (รับบทโดย เดวิด อัศวนนท์) โกรธแค้นถึงขั้นวางแผนขึ้นรถอาดัมมาเพื่อหมายเอาชีวิต ทางเดียวที่จะรอดคืออาดัมต้องเล่าพล็อตหนังเรื่องใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ ระหว่างทางจนกว่าชายผู้นั้นจะพอใจ

ผ่านกรอบการเล่าเรื่องในทำนองของ อาหรับราตรี (ที่ตัวละครต้องเล่านิทานเรื่องใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ เพื่อยื้อความตาย) เช่นนี้เองที่ Adam พาคนดูพุ่งทะยานผ่านสายธารเรื่องราวต่างๆ ที่ตัดข้าม-ผสาน-ปนเปกันมากมาย เราจึงเห็นการปะทะกันอย่างบ้าคลั่งของเรื่องเล่าต่างตระกูลหนัง (genre) เพราะในขณะที่เส้นเรื่องหลักทำตัวเหมือนโร้ดมูฟวี่ปนธริลเลอร์ เรื่องเล่าของอาดัมดันตีวงกว้างตั้งแต่หนังไซไฟ หนังแอ็คชั่นสาดกระสุน ไปจนถึงหนังผี

แม้การถ่ายทอดในหลายๆ ส่วนของหนัง —ไม่ว่าจะเป็นบทพูดหรืองานคราฟต์ต่างๆ จะยังดูขาดๆ เกินๆ อยู่บ้าง แต่คงไม่อาจปฏิเสธได้ถึงความทะเยอทะยานของตัวผู้สร้างในการผสาน genre ต่างๆ อย่างสนุกสนาน ความน่าสนใจอีกขั้นของ Adam นอกจากการเป็นหนังฮาลาล จึงเป็นการเล่นล้อไปกับความเป็นหนังของมันเอง ราวกับจะชี้ว่าหลาก genre ที่ได้รับความนิยมในโลกภาพยนตร์นั้นก็สามารถถูกนำมารับใช้เป้าประสงค์ของการเชิดชูพระเจ้าได้

ดังจะเห็นได้จากหนึ่งในเรื่องเล่าของอาดัมที่ว่าด้วยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์กับนักการเมืองที่เดินทางไปหาพระเจ้าเพื่อแสดงพลังอำนาจของมนุษย์ แต่กลับต้องร้องหาพระเจ้าเสียเองเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันในยานบิน หรือจะเป็นเรื่องราวของสมาชิกลัทธิญี่ปุ่นที่ว่าจ้างให้นักฆ่ามาฆ่าตนเองเพราะไม่อยากเผชิญวันสิ้นโลก แต่เมื่อได้มาเรียนรู้เกี่ยววันสิ้นโลกของอิสลาม เขาจึงต้องหนีเอาชีวิตรอดจากเหล่านักฆ่า…ที่มีหัวหน้าคลั่งหนังแบทแมนของคริสโตเฟอร์ โนแลน! และอาศัยกันอยู่ในโกดังชื่อ ฌอง-ลุก โกดาด์ แลนด์!

ในแง่หนึ่ง เราอาจมองได้ว่ามันเป็นความพยายามที่จะสอดไส้เรื่องราวของพระเจ้าและอิสลามเข้าไปในขนบเรื่องราวเดิมๆ เพื่อให้หนังเป็นมิตรกับคนดูต่างศาสนิกมากขึ้น เพราะแม้พวกเขาอาจไม่คุ้นชินกับอิสลาม แต่อย่างน้อยก็ยังอาจคุ้นชินและบันเทิงไปกับ genre หนังพวกนี้และการอ้างอิงถึงเกร็ดเล็กน้อยในโลกภาพยนตร์ได้ ในขณะที่ Ameen วางคนดูไว้ตำแหน่งเดียวกับตัวละครหลัก Adam กลับกันคนดูออกมาแล้วปล่อยให้คนดูสนุกกับ genre ของหนังพร้อมๆ กับที่เรียนรู้เกี่ยวกับอิสลามไปด้วยในตัว

ความพยายามเช่นนี้เองที่สะท้อนความเป็นหนังฮาลาลของมันได้ดียิ่ง เพราะหากภาพยนตร์กระแสหลักนั้นเต็มไปด้วยสิ่งหะรอม อย่างฉากเซ็กส์ ฉากโป๊เปลือย เสียงดนตรี และการหมิ่นหยามพระเจ้ากับศาสดา การทำให้ภาพยนตร์กลายมาเป็นสิ่งที่ฮาลาลก็คือการเฉือนตัดสิ่งเหล่านี้ทิ้งไป ราวกับเป็นการชำระให้สิ่งผิดบาปออกไป และทำให้สิ่งที่เคยดูแล้วบาปอย่างภาพยนตร์ทั่วไปกลายมาเป็นสิ่งที่ดูแล้วไม่บาป ดนตรีประกอบที่ปรากฏในหนังจึงเหลือแค่เสียงขับร้องไร้เครื่องดนตรี ผู้หญิงที่ปรากฏในหนังนั้นหากไม่เป็นเด็กหญิงก็เห็นเพียงเรือนร่างใต้ผ้าคลุมสีดำที่เปิดเผยแค่ดวงตา (แต่น่าสงสัยเพิ่มเติมอีกว่าถ้าหากข้อห้ามทางศาสนากลายมาเป็นเงื่อนไขให้สิ่งนั้นๆ ไม่อาจปรากฏในหนังได้ แล้วทำไมการฆ่าหรือความรุนแรง-แม้จะเป็นการกระทำจากตัวละครต่างศาสนิกก็ตาม-จึงสามารถมีอยู่ในหนังได้)

อย่างไรก็ดีการชำระให้หนังฮาลาลนั้นย่อมไม่ใช่การชำระเอาเงื่อนไขทั้งหมดที่พ่วงมากับหนังออกไปด้วย ลักษณะการเล่าเรื่องผ่าน genre นั้นยังคงอยู่และถูกนำมาใช้ทำตามเป้าหมายของการเชิดชูศาสนา เช่นเดียวกับชุดความเข้าใจหรือสมมติฐานบางอย่างที่ตัวคนทำมีต่อภาพยนตร์ หนังฮาลาลเรื่องนี้จึงวางอยู่บนท่าทีอันก้ำกึ่งของผู้สร้าง ด้านหนึ่งคือการต่อต้านความผิดบาปของภาพยนตร์ อีกด้านคือความเชื่อมั่นในพลังของภาพยนตร์และการเล่าเรื่อง ว่ามันสามารถช่วยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องได้ ดังนั้นคำถามว่า ‘จะสร้างหนังฮาลาลมาทำไมตั้งแต่แรก’ จึงได้รับการตอบใน Adam ไปแล้วว่าคนทำเชื่อว่า หนัง (ซึ่งหลายครั้งเต็มไปด้วยหะรอม) เป็นได้มากกว่าสื่อบันเทิง และการเล่าเรื่องมีพลังในการจรรโลงจิตใจคน ไม่ต่างจากที่ตัวอาดัมหวังว่าเรื่องที่เขาเล่าจะทำให้ชายผู้เคียดแค้นหันมาสู่ทางที่ถูกต้องได้

การตั้งต้นให้หนังฮาลาลมีขึ้นมาเพื่อคัดง้างกับภาพจำเกี่ยวกับอิสลามนั้นทำให้ทั้ง Ameen และ Adam (อนึ่ง ผู้เขียนขอหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงกรณีของ U-turn จุดกลับใจ เพราะยังไม่มีโอกาสได้ดู) ตกอยู่สถานะของผู้โต้กลับอย่างชัดเจน และลดทอนศักยภาพที่หนังฮาลาลอาจไปถึงได้ลงไปอย่างน่าเสียดาย นั่นเพราะการโต้กลับของหนังฮาลาลทั้งคู่ทำผ่านสมมติฐานที่คนทำมีต่อ ‘พวกเขา’ ที่เป็นสื่อตะวันตก กับ ‘พวกเรา’ ที่เป็นมุสลิมที่ดำรงชีวิตตามหลักการอิสลามที่ถูกต้อง โดยไม่อาจพาหนังไปถึงข้อถกเถียงที่ไกลกว่าการแบ่งขั้วอย่างหยาบๆ ได้ ว่าพวกเขาที่ว่านั้นคือใครกันแน่ และพวกเราที่พูดถึงก็มียังมีแง่มุมอันซับซ้อนหลากหลายที่ยังไม่ได้ถูกแสดงออกมา กระทั่งว่าความแตกต่างหลากหลายภายในพวกเราเองนั้นฮาลาลหรือไม่

ข้อวิพากษ์ข้างต้นอาจฟังดูไม่ยุติธรรมนักกับหนังฮาลาลที่ยังเพิ่งเริ่มลองผิดลองถูกมาได้แค่ไม่กี่เรื่อง แต่คงน่าเสียดายไม่น้อยหากผู้สร้าง—ที่มีศักยภาพจะพัฒนาฝีไม้ลายมือต่อไปได้อีกไกล จะจำกัดตัวเองอยู่เพียงการสร้างหนังบนฐานของการโต้กลับอยู่เช่นนี้ แน่นอนว่าการตอบโต้นั้นไม่ใช่สิ่งผิดในตัวมันเอง แต่เรื่องราวนั้นสามารถถูกบอกเล่าออกมาจากผ่านฐานอื่นๆ ได้อย่างมีพลังไม่ต่างกัน หรืออาจมากกว่าก็เป็นได้ เพราะมันอาจเปิดเผยให้เห็นแง่มุมใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยถูกเผยออกมาจากการโต้กลับ และอาจก้าวสู่การถกเถียงในเรื่องใหม่ๆ ที่หลุดพ้นไปจากข้อถกเถียงตอบโต้

ยิ่งไปกว่านั้น หลักธรรมคำสอนทางศาสนายังถูกจับยัดใส่ลงไปในหนังอย่างโต้งๆ ไม่ว่าจะเป็นการเล่าถึงบทบัญญัติที่ว่าไว้ในอัลกุรอานผ่านปากคำหรือการบอกเล่าตรงๆ ของตัวละคร หรือจะเป็นบทสรุปของเรื่องราวที่แฝงการตัดสินเชิงศีลธรรมตามหลักศาสนา เราจึงได้เห็นตัวละครที่ดำเนินชีวิตผิดเพี้ยนไปจากแนวทางอิสลามได้พบกับบทเรียนราคาแพงในตอนท้าย ตัวอย่างเช่นสองพ่อลูก ที่คนพ่อเล่นไสยศาสตร์มนตร์ดำ (ที่ถือว่าผิดหลักอิสลาม) ในขณะที่คนลูกรักคนเพศเดียวกันและขอให้พ่อช่วยเหลือในความรักอันเป็นไปไม่ได้ของตน ซึ่งแน่นอนว่ากว่าคนพ่อจะยอมละทิ้งทางที่ผิดและหันมาปฏิบัติตนตามหลักการได้ก็เมื่อลูกโดน ‘ญิน’ เข้าสิงจนสติสตางค์ไม่สมประกอบไปเสียแล้ว

ในขณะที่หนังฮาลาลมีท่าทีต่อต้านลักษณะโฆษณาชวนเชื่อในหนังตะวันตก ว่าหนังเหล่านี้มอมเมาให้คนดูรับค่านิยมที่ผิดเพี้ยน ผู้สร้างหนังฮาลาลเองก็อาจต้องตอบให้ได้เหมือนกันว่าสิ่งที่ตัวเองกำลังเล่าอยู่นั้นถือเป็นโฆษณาชวนเชื่อด้วยหรือไม่ และการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องจริงแท้นั้นสามารถได้มาจากการต่อสู้บนระนาบของการชวนเชื่อจริงหรือ

เหนือสิ่งอื่นใด เมื่อหนังสร้างอยู่บนฐานของการแบ่งเขาแบ่งเรา หรือแบ่งแยกระหว่างทางที่ถูกต้องกับทางที่ผิด ก็เสี่ยงไม่น้อยต่อการเบียดขับคนดูบางกลุ่มออกไป ความตั้งใจดั้งเดิมที่จะทำหนังเพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่คนในวงกว้างก็อาจสูญไปอย่างน่าเสียดาย

Tags: , , , , , ,