‘แอกเนส’ แม่ชีฝึกหัดในคอนแวนต์ เธอผู้มีเสียงไพเราะราวกับของขวัญจากพระเจ้า และดูเป็นสิ่งมีชีวิตที่แสนบริสุทธิ์ผุดผ่อง คล้ายว่าในร่มเงาของศาสนานั้นคือที่ทางของเธออย่างที่สุด หากแต่มีผู้พบศพทารกแรกเกิดชุ่มเลือดอยู่ในตะกร้าใบหนึ่งในห้องของเธอ

‘มิเรียม’ คุณแม่อธิการรินี ผู้พาแอกเนสมาเข้าพบแพทย์ตามหน้าที่ เพื่อร่วมกันค้นหาความจริงจากแอกเนสว่าเธอท้องได้อย่างไร และใครเป็นคนฆ่าลูกของเธอ โดยคุณแม่ฯ เอง มาพร้อมความเชื่อในการตั้งครรภ์โดยบริสุทธิ์ หรือปฏิสนธินิรมล (virgin birth) อันศักดิ์สิทธิ์

‘คุณหมอมาร์ธา ลิฟวิงตัน’ หมอผู้ไม่มีทางเชื่อว่าแอกเนสท้องโดยปราศจากพ่อแน่ๆ หนำซ้ำยังมีเหตุแต่หนหลังให้เกลียดชี แอกเนสทำให้เธอนึกถึงน้องสาวผู้เสียชีวิตไปอย่างไร้เบาะแสในสำนักชี จึงพยายามยิ่งยวดที่จะช่วยเหลือแอกเนสจากเงาดำมืดของศาสนา

เราอยู่กับเพียง 3 ตัวละครนี้ตลอดระยะเวลาชั่วโมงครึ่ง หากแต่เราถูกตรึงให้นั่งอยู่ตรงนั้นด้วยทุกสิ่งอย่างของนักแสดง ลืมเรื่องอื่นในหัว จับจ้องสายตาไปที่เจ้าของถ้อยคำหรือแอบชำเลืองดูสีหน้าของผู้ที่ยังเงียบอยู่ ลุ้นสุดตัวให้หมอหรือแม่อธิการีณี—ใครก็ได้ ช่วยกอดแอกเนสสักทีเถอะ และก็ตามประสาคนขี้อิน น้ำตาก็ไหลออกมาในฉากที่แอกเนสระเบิดความรู้สึกที่ถูกกดทับมาเกือบชั่วชีวิต

นี่คือละครเวที Agnes of God จากสตูดิโอ Peel the Limelight ละครเล่นรอบแรกเมื่อวันที่ 8 มีนาคม หรือก็คือวันสตรีสากล แต่กว่าเราจะมีโอกาสได้ดูก็ปาเข้าไปรอบเกือบท้ายๆ แล้ว และกว่าบทความนี้จะเขียนเสร็จ พวกเขาก็คงเตรียมแสดงรอบสุดท้ายกันเรียบร้อย แต่อย่างไรเสีย เราพบว่าคงน่าเสียดายหากไม่ได้เขียนถึงงานชิ้นนี้ ที่เป็นผลงานกำกับของปีเตอร์ โอเนลล์ (Peter O’Neill) นำแสดงโดย สิรี ริ้วไพบูลย์ ผู้รับบทแอกเนส แคลร์ แสตนลีย์ (Claire Stanley) ผู้รับบทคุณแม่อธิการีณี และฮีน ศศิธร ผู้รับบทคุณหมอลิฟวิงตัน

Agnes of God คือบทละครเวทีของ John Pielmeier เมื่อปี 1979 ต่อมาถูกสร้างเป็นหนังโดยผู้กำกับนอร์แมน ยีวิซัน (Norman Jewison) ในปี 1985 และด้วยประเด็นอันสลักสำคัญ มันถูกนำไปแสดงเป็นละครเวทีแล้วหลายครั้ง ล่าสุดก็ที่กรุงเทพมหานครนี่เอง

การโต้ตอบดุเดือดเฉือนอารมณ์ตลอดทั้งเรื่อง ไม่ได้เป็นเพียงบทสนทนาของเหยื่อ ผู้ปกครองเหยื่อ และหมอ แต่ยังเป็นบทสนทนาเข้มข้นของศาสนาและวิทยาศาสตร์ อย่างเช่นน้ำจิ้มที่ว่าแม่อธิการิณีบอกเล่าถึงปาฏิหาริย์และการตั้งครรภ์อันบริสุทธิ์ หมอลิฟวิงตันมองว่าการตั้งครรภ์โดยปราศจากการปฏิสนธิมีเพียง ‘parthenogenesis’ ที่เป็นเรื่องของสัตว์ไร้กระดูกสันหลังเท่านั้น (คุณแม่ฯก็จังหวะดีด้วยการถามขึ้นอย่างรวดเร็วว่า ‘parthe what!?’ ราวกับสิ่งนี้ไม่มีอยู่ในพจนานุกรมของเธอแน่ๆ) หลังจากนั้นละครก็พาเราไปสู่คำถามที่ลึกและไพศาลกว่านั้นมาก

โดยที่คุณแม่อธิการิณี ตัวแทนของศาสนาก็ไม่ใช่บุคคลผู้ไม่ประสาโลกหรือห่างไกลความเป็นมนุษย์ เธอเป็นแม่คน ทำครอบครัวพัง และมีน้องสาวที่ผิดปกติใหญ่หลวง ขณะที่วิทยาศาสตร์ในที่นี้ก็ไม่ได้เป็นองค์ความรู้เถรตรงกระจ่างใส เพราะตัวหมอเองก็มีเลือดเนื้อจิตใจ มีเรื่องราวแต่หนหลังที่ทำให้เธอเกลียดแม่ชีและแม่ที่ทำร้ายลูกสาว เราเองเฝ้ามองตัวละครนี้จากมุมหนึ่งของห้อง และพบว่าเธอมีน้ำตาเคลือบอยู่ในตาเสมอ แถมทำท่าจะรื้นๆ ไหลลงมาเมื่อแอกเนสหลุดเล่าความเจ็บปวดออกมาในที่สุด

ด้วยเอเลเมนท์ของความบ้าคลั่งของคาทอลิกและสำนักชี เราได้กลิ่นของ ‘ความรักและปีศาจตัวอื่นๆ’ โดยกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ซึ่งในระดับความสะเทือนใจเทียบเท่า เรื่องนี้เล่าด้วยเสียงเยียบเย็นกว่า สัจนิยมมหัศจรรย์ที่ปรากฏเล็กน้อยในเรื่องคล้ายจะเป็นภาพเพ้อฝันที่ยิ่งทำให้ศาสนาเป็นพื้นที่ของหมอกละมุนสีเหลืองทองเปล่งประกาย แต่เต็มไปด้วยหลุมบ่อที่พื้น เป็นการวิพากษ์ศาสนจักรแบบที่ไม่ได้ยื่นบทฮีโร่ให้วิทยาศาสตร์หรือใครกระทั่งใครสักคน

ตลอดทั้งเรื่อง นักแสดงทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ แม่ชีทั้งสองอยู่แต่ในโลกของพวกเธอ ปล่อยให้การสื่อสารบางๆ กับคนดูเป็นหน้าที่ของหมอลิฟวิงตันเท่านั้น ดังนั้น ในทางหนึ่งละครได้ผลักเราเบาๆ ให้ออกห่างจากศาสนาและคอยจับจ้องเอาจากโลกภายนอก เพื่อจะเห็นเงามืดของที่นั่นได้ชัดเจนขึ้น และในเงามืดนั้นก็มีการข่มขืนและการคุมคามทางเพศ

ผลพวงจากประสบการณ์ที่จะเกิดได้เพียงแต่กับเพศหญิงเท่านั้น อย่างการเป็นชีลับที่ถูกปิดกั้นอย่างสิ้นเชิงจากโลกภายนอกและการตั้งครรภ์ ทั้งหมอและแม่อธิการีณีมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือช่วยเหลือแอกเนส เพียงแต่การช่วยเหลือนั้นถูกตีความคนละแบบ ใช้วิธีการคนละขั้ว ขณะที่หมอพยายามดึงแอกเนสสู่โลกความจริง คุณแม่ฯ ก็พยายามดึงเธอไว้กับโลกฝัน เรื่องค่อยๆ เผยว่าตลอดมา คุณแม่ฯ พบเห็นสิ่งผิดปกติหลายข้อเหลือเกิน ทั้งบาดแผลเลือดออกบนฝ่ามือแอกเนส การเอาผ้าปูที่นอนไปเผาโดยอ้างว่ามันเปื้อนประจำเดือน หรือกระทั่งการเติบโตของครรภ์สาว เธอมีส่วนร่วมถึงขั้นอยู่ในห้องที่แอกเนสคลอดลูกออกมาด้วยซ้ำ แต่เธอเลือกจะไม่พูดถึงมัน เพียงเพราะต้องการให้แอกเนสเป็นแอกเนสคนเดิมในโลกใบเดิม ที่ยังร้องเพลงไพเราะสรรเสริญพระเจ้าต่อไป

ในนามของศาสนาและเมตตาจิต เราเห็นภาพผู้หญิงที่กดผู้หญิงด้วยกันเองลงสู่ภาวะจำยอม ปล่อยตัวเองให้ไหลลอยไปตามความผิดบาปที่ตนไม่ได้ก่อ และอีกไม่นานนักเราก็เห็นสิ่งเดียวกันนั้นอีกครั้ง ในนามของความเป็นแม่และการพยายามป้องกันลูกจากรอยเดิมของตน แม่ผู้มักจะปวดหัวและได้ยินเสียงกระซิบจากทูตสวรรค์ ผู้รู้อะไรหลายอย่าง รู้กระทั่งว่าวันหนึ่งลูกสาวของเธอจะตั้งท้องขึ้นอย่างวันนี้

แอกเนสเผยออกมาในที่สุดว่าเธอเคยถูกแม่แท้ๆ ที่เคยเริงเมืองจนหมดหวังกับชีวิต แม่นำความสิ้นหวังมาลงที่แอกเนส ด้วยการดุด่าว่าเธอคือความผิดพลาด บังคับให้เธอถอดเสื้อผ้าและแตะต้องส่วนนั้นของเธอ (ในบทประพันธ์ออริจินัลพีคกว่านั้นอีก คือแม่ใช้บุหรี่จี้ตรงจุดนั้นของแอกเนสหลายต่อหลายครั้ง และหนำซ้ำตอนที่เข้าพบหมอลิฟวิงตัน หมอก็สูบบุหรี่ตลอดเวลา)

โดยไร้สุ้มเสียงหรือแม้แต่เงาของชายผู้ข่มขืน ละครทิ้งพื้นที่สีเทาให้คนดูเลือกเชื่อว่าแอนเนสตั้งครรภ์เพราะอะไร และเราพบว่าทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ เป็นผู้หญิงอีกเช่นกันที่ร่วมประกอบกรรมนี้กับแอกเนสจนเสร็จสมบูรณ์

เมื่อความจริงเปิดเผย ไม่ว่าฝ่ายไหนก็เจ็บปวด ไม่มีใครช่วยแอกเนสได้ เหตุผลที่เธอไม่ต้องการให้เด็กมีชีวิตต่อก็เป็นที่เข้าใจได้ แม้แต่คนคลั่งศาสนาที่สุดก็คงสาปแช่งไม่ลง (เออ—แต่ก็ไม่แน่) เธอไม่ได้อยากให้เด็กตาย แต่เธอกลัวจะเป็นแม่ที่ไม่ดีพอ แล้วเด็กก็จะเติบโตมาพังพินาศเหมือนที่เธอเคยโตมา โดยแม้แต่พื้นที่อบอุ่นเรืองรองที่สุดอย่างศาสนายังช่วยอะไรไม่ได้ พื้นที่ที่ดูก้าวหน้าอย่างวิทยาศาสตร์และโลกสมัยใหม่เองก็ดูจะไม่ได้ช่วยเธอเช่นกัน

แม่อธิการิณีลงท้ายว่าเธอเกลียดหมอ ที่ทำให้แอกเนสพูดความจริงออกมา และทุกอย่างก็จะไม่มีวันเหมือนเดิม Ignorance และ stupidity ที่เคยสั่งสมมาก็มีอันต้องมลายหายไป ส่วนหมอเองก็คงไม่อาจลืมชะตากรรมของแอกเนสที่เคยเวียนผ่านมาพบเพื่อจะบอกว่าบางครั้งสิ่งที่เธอยึดเหนี่ยวอยู่ก็ไม่ได้มีอำนาจพอจะช่วยอะไรได้เลย —แอกเนสเลิกกินอาหาร เลิกเป็นชี และเลิกมีชีวิตในที่สุด

ละครจบ ความมืดยังอื้ออึงในหัว เราเดินออกไปเติมเบียร์เพื่อเคลียร์อารมณ์ กลับเข้ามาในห้องเพื่อร่วม Q&A แอกเนสถอดชุดชีสีขาวออก กลายเป็นนักแสดงผู้มีบุคลิกสดใสและหนักแน่นมั่นใจ หมอลิฟวิงตันออกมาในชุดแคชชวลเป็นนักแสดงคุ้นตาที่มีรอยยิ้มประดับใบหน้า ส่วนคุณแม่อธิการิณี—เริ่ด เธอถอดชุดและบุคลิกน่าขนลุกนั้นออกกลายเป็นสาวผมแดงหัวเราะเก่ง และมีพลังงานล้นเหลือ

เราได้ร่วมฟังบทสนทนาของผู้ที่ต้องเข้าสู่บทบาทอันท้าทายอารมณ์ความรู้สึกอย่างยิ่ง แคลร์ร้อง yes อย่างดีอกดีใจที่เราสารภาพออกไปว่าตัวละครของเธอทำให้เราขนลุก ขณะที่ฮีน ในฐานะหญิงสาวมุสลิม เธอเล่าว่าเธอเชื่อมโยงกับบทนี้เพราะเคยผ่านกระบวนการหาเหตุผลที่จะเชื่อในพระเจ้าเหมือนๆ กัน

ด้วยคำถามที่เราพยายามตอบอยู่ในหัว เราถามมันกับผู้กำกับด้วย ว่าหากเขาเป็นพระเจ้า อะไรจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับแอกเนส และคำตอบของเขาก็คือ “หากผมเป็นพระเจ้า ผมคงไม่สร้างแอกเนสขึ้นมาบนโลกใบนี้ตั้งแต่ต้น แต่ในเมื่อเธอเกิดขึ้นมาแล้ว เชื่อว่าก็อาจจะมีเหตุผลที่ทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้น อย่างน้อยก็เป็นความเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่จะเกิดกับแม่อธิการิณีและคุณหมอนั่นแหละ”

และสิรีผู้กลายเป็นแอกเนสได้อย่างสมบูรณ์ขณะแสดง ก็ได้ทิ้งท้ายกับเราว่า “ทุกคนสามารถผิดพลาดได้ทั้งนั้นแหละ อยู่ที่ว่าเราจะดีลกับมันยังไงมากกว่า”

ตลอดทางกลับบ้านและจนถึงตอนนี้ที่ลงมือเขียน แอกเนสจึงยังคงอยู่กับเรา และเหตุผลที่เรื่องนี้เกิดขึ้นก็อาจจะเพื่อสร้างคำถามจำนวนมาก ที่วนอยู่ในหัวเราและคนดูอีกหลายคน คำถามซึ่งต้องการคำตอบและอาจนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือเพศใดก็ตาม   

Fact Box

Agnes of God จากสตูดิโอ Peel the Limelight
มีรอบการแสดงวันที่ 8-10, 15-17 และ 22-23  มีนาคม 2561 เวลา 19.30 น.
ติดตามรายละเอียดได้ทาง Agnes of God by John Pielmeier 

Tags: , ,