จากบทความก่อนที่ผมได้วิเคราะห์โครงสร้างประชากรกับผลการเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลไปแล้วนั้น ในบทความนี้จะนำผลการเลือกตั้งทั่วประเทศ มาวิเคราะห์ดูว่ามีความสัมพันธ์กับโครงสร้างประชากรของแต่ละจังหวัดหรือไม่
โครงสร้างประชากรที่ใช้ในการวิเคราะห์นำมาจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกระทรวงมหาดไทย ณ สิ้นปี 2561 ข้อมูลนี้จึงเป็นตัวแทนของผู้มาลงคะแนนเสียงในแต่ละเขต ซึ่งแน่นอนว่าคงจะไม่ตรงกับผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งจริง เพราะเราไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนผู้มาใช้สิทธินั้นมีอายุเท่าไหร่ การใช้โครงสร้างประชากรแบบนี้จึงอยู่บนสมมติฐานว่าคนทุกช่วงอายุออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งในสัดส่วนเท่าๆ กัน
การศึกษานี้จะแบ่งประชากรออกเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มคนรุ่นใหม่อายุตั้งแต่ 18-35 ปี กลุ่มวัยกลางคนอายุตั้งแต่ 36-54 ปี และกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป โดยจะใช้สัดส่วนของประชากรทั้งสามกลุ่มนี้ไปวิเคราะห์หาความสัมพันธ์กับสัดส่วนของคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับในแต่ละจังหวัด โดยจะพิจารณาเฉพาะ 4 พรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงรวมทั้งประเทศมากที่สุด ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ และพรรคประชาธิปัตย์
สัดส่วนคนรุ่นใหม่ต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศอยู่ที่ร้อยละ 32.66 โดยกลุ่มสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีสัดส่วนกลุ่มคนรุ่นใหม่สูงที่สุด โดยมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 40 ทั้งปัตตานี (43.61) นราธิวาส (42.81) และ ยะลา (42.70) ในขณะที่สิงห์บุรีคือจังหวัดที่มีสัดส่วนคนรุ่นใหม่ต่ำที่สุดเพียงร้อยละ 27.92 ตามมาด้วยแพร่ (28.06) และชัยนาท (28.07)
เมื่อนำสัดส่วนคนรุ่นใหม่มาวิเคราะห์กับผลของการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัดพบว่าไม่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยยะสำคัญกับสัดส่วนคะแนนเสียงของพรรคพลังประชารัฐและอนาคตใหม่
แต่สัดส่วนของคนรุ่นใหม่ แปรผกผันกับสัดส่วนคะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทย และแปรผันตรงกับสัดส่วนคะแนนเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ นั่นคือ จังหวัดที่มีสัดส่วนของคนรุ่นใหม่สูงจะมีคะแนนของพรรคเพื่อไทยน้อย แต่จะมีคะแนนของพรรคประชาธิปัตย์ในสัดส่วนที่สูง (ข้อมูลทางสถิติ)
สำหรับสัดส่วนของประชากรวัยกลางคน จากการวิเคราะห์พบว่าไม่มีความสัมพันธ์ที่มีนัยยะสำคัญทางสถิติกับคะแนนเสียงของทั้ง 4 พรรคการเมืองใหญ่
สำหรับสัดส่วนของประชากรสูงอายุต่อจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด จังหวัดที่มีสัดส่วนดังกล่าวสูงสุดคือสิงห์บุรีที่ร้อยละ 35.34 ตามมาด้วยลำพูน (35.18) และลำปาง (34.36) ส่วนจังหวัดที่มีสัดส่วนประชากรสูงอายุน้อยที่สุดคือภูเก็ตที่ร้อยละ 20.35 ตามมาด้วยนราธิวาส (21.19) และกระบี่ (21.52) ทั้งนี้สัดส่วนของทั้งประเทศอยู่ที่ร้อยละ 27.46
เมื่อนำสัดส่วนประชากรสูงอายุมาวิเคราะห์กับคะแนนเสียงของ 4 พรรคการเมืองใหญ่พบว่ามีความสัมพันธ์อย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติเฉพาะกับพรรคเพื่อไทย โดยพรรคเพื่อไทยจะได้รับคะแนนเสียงในสัดส่วนที่สูงในจังหวัดที่มีสัดส่วนประชากรสูงอายุมาก แต่ไม่พบว่าสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุนี้มีความสัมพันธ์กับคะแนนเสียงของ 3 พรรคการเมืองที่เหลือ (ข้อมูลทางสถิติ)
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาคะแนนเสียงของพรรคอนาคตใหม่ พบว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างมากกับเขตที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่งผู้สมัครลงแข่งขัน ส่วนหนึ่งก็เพราะการยุบพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวทำให้ในจังหวัดนั้นพรรคอนาคตใหม่ได้รับคะแนนเสียงที่สัดส่วนที่สูง เช่น แพร่ ฉะเชิงเทรา
นอกจากนี้ เราอาจพิจารณาว่าทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ มีจุดยืนประการหนึ่งที่เหมือนกันคือต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. ในการวิเคราะห์สุดท้ายจึงนำคะแนนเสียงของพรรคการเมืองทั้งสองมารวมกัน เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์กับโครงสร้างประชากร
โดยผลการวิเคราะห์พบว่า สัดส่วนคะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ จะแปรผกผันกับสัดส่วนของคนรุ่นใหม่ แต่จะแปรผันตรงกับสัดส่วนของประชากรวัยกลางคนและประชากรสูงอายุ
กล่าวโดยสรุปคือ จังหวัดที่มีสัดส่วนคนรุ่นใหม่สูง คะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยรวมกับพรรคอนาคตใหม่ก็จะน้อย ในทางกลับกัน จังหวัดที่มีสัดส่วนประชากรวัยกลางคนและประชากรสูงอายุมากทั้งสองพรรคก็จะได้รับคะแนนเสียงในสัดส่วนที่มากเช่นกัน (ข้อมูลทางสถิติ)
บทความนี้เป็นเพียงการวิเคราะห์เบื้องต้นเพื่อหาความสัมพันธ์ของโครงสร้างประชากรกับคะแนนเสียงที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับ (Correlation) ไม่ใช่การวิเคราะห์หาปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกตั้ง (Causation) ซึ่งจำเป็นต้องรวมตัวแปรอื่นๆ ที่มีผลต่อการลงคะแนนเสียงเข้ามาในการวิเคราะห์ด้วย
หมายเหตุ:
- ผู้เขียนยังได้วิเคราะห์สัดส่วนของกลุ่มผู้มีสิทธิออกเสียงครั้งแรก (New Voter) ที่มีอายุตั้งแต่ 18-25 ปี ผลที่ได้ไม่แตกต่างจากการวิเคราะห์กลุ่มคนรุ่นใหม่ (18-35 ปี)
- จังหวัดที่ไม่นับรวมในการวิเคราะห์เนื่องจากมีข้อมูลแตกต่างจากจังหวัดอื่นมาก (Outliers) ได้แก่
- สัดส่วนคนรุ่นใหม่: ปัตตานี นราธิวาส ยะลา แม่ฮ่องสอน สตูล กระบี่ ตาก
- สัดส่วนคะแนนพรรพลังประชารัฐ: สระแก้ว ชัยนาท
- สัดส่วนคะแนนพรรคอนาคตใหม่: แพร่
- ผลการเลือกตั้งจากประกาศของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2562 ผู้เขียนขอขอบคุณ คุณ Mark Jmn ในการแปลงข้อมูลจากเอกสารต้นฉบับ