บทความชุดนี้ นำข้อมูลผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการในพื้นที่ 49 เขตในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ) มาวิเคราะห์กับข้อมูลต่างๆ

โดยในบทความแรกจะวิเคราะห์ผ่านโครงสร้างประชากรในแต่ละพื้นที่จากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกระทรวงมหาดไทย เพื่อหาคำตอบว่า คนรุ่นใหม่กับผู้สูงอายุมีความนิยมต่อพรรคการเมืองที่แตกต่างกันหรือไม่

โครงสร้างประชากรที่ผมจะนำมาวิเคราะห์ จะขอแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มคนรุ่นใหม่ (Young Voter) ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 18 ถึง 35 ปี ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งก็คือกลุ่มผู้สูงอายุ (Elderly Voter) ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ทั้งนี้แต่ละเขตเลือกตั้งก็จะมีสัดส่วนของประชากรทั้งสองกลุ่มนี้ไม่เท่ากัน

สัดส่วน Young Voter อายุ 18-35 ปี

โดยเขตที่มีสัดส่วนคนรุ่นใหม่ต่อผู้มีสิทธิออกเสียงสูงที่สุดคือปทุมธานี เขต 3 ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตนั่นเอง โดยมีสัดส่วนคนรุ่นใหม่สูงถึงร้อยละ 35.7 และพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดก็คืออนาคตใหม่

เขตเลือกตั้งที่มีสัดส่วนคนรุ่นใหม่มากเป็นลำดับถัดมาคือกรุงเทพมหานคร เขต 10 และเขต 17 โดยมีพรรคที่รับคะแนนเสียงมากที่สุดเป็นเพื่อไทยและพลังประชารัฐ

ส่วนเขตที่มีสัดส่วนคนรุ่นใหม่น้อยที่สุดคือนนทบุรี เขต 2 ที่ร้อยละ 26. 24 ทั้งค่าเฉลี่ยของทั้ง 49 เขตในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ที่ร้อยละ 29.87

สัดส่วน Elderly Voter อายุ 55 ปีขึ้นไป

สำหรับสัดส่วนผู้สูงอายุต่อจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดนั้น กรุงเทพมหานคร เขต 1 มีสัดส่วนสูงสุดที่ร้อยละ 41.24 ตามมาด้วยกรุงเทพมหานคร เขต 30 และเขต 2 ตามลำดับ โดยทั้งสามเขตผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐก็ได้รับชัยชนะทั้งหมด

สำหรับเขตที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุน้อยที่สุดก็คือปทุมธานี เขต 3 กรุงเทพมหานคร เขต 17 และ 16 ตามลำดับ โดยสัดส่วนเฉลี่ยทั้ง 49 เขต อยู่ที่ร้อยละ 30.30

อย่างไรก็ตาม เมื่อนำสัดส่วนของผู้มีสิทธิออกเสียงแบ่งตามกลุ่มอายุทั้งสองกลุ่มไปวิเคราะห์สัดส่วนของคะแนนที่แต่ละพรรคได้รับในแต่ละพื้นที่ โดยการวิเคราะห์ 5 พรรคหลักได้แก่ เพื่อไทย พลังประชารัฐ อนาคตใหม่ ประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย พบว่าไม่มีความสัมพันธ์ที่มีนัยยะสำคัญทางสถิติ ส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากตัวแปรทางการเมืองหลายอย่างเช่น การที่บางเขตพรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่งผู้สมัคร เป็นต้น

ผู้เขียนจึงเปลี่ยนมาพิจารณาสัดส่วนของผู้สูงอายุต่อคนรุ่นใหม่ เทียบกับสัดส่วนของคะแนนพรรคพลังประชารัฐต่อคะแนนพรรคอนาคตใหม่ อันเป็นสองพรรคที่ได้คะแนนมากที่สุดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

เทียบสัดส่วนคะแนนพรรคพลังประชารัฐต่อคะแนนพรรคอนาคตใหม่

ทั้งนี้พื้นที่ที่มีอัตราส่วนผู้สูงอายุมากกว่าคนรุ่นใหม่มากที่สุดก็ยังคงเป็นกรุงเทพมหานคร เขต 1 ตามมาด้วยกรุงเทพมหานคร เขต 30 ซึ่งพรรคพลังประชารัฐได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดไปทั้งคู่

อย่างไรก็ตาม นนทบุรี เขต 2 ที่มีอัตราส่วนดังกล่าวสูงถึง 1.4 พรรคที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดคือเพื่อไทย เมื่อพิจารณาเขตเลือกตั้งที่มีอัตราส่วนผู้สูงอายุต่อคนรุ่นใหม่ต่ำที่สุดคือปทุมธานี เขต 3 ที่มีสัดส่วนเพียง 0.53 ก็หมายถึงจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงที่เป็นวัยรุ่นมีมากกว่าผู้สูงอายุเกือบ 2 เท่า และพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดคือพรรคอนาคตใหม่ แต่กรุงเทพฯ เขต 17 ที่อัตราส่วนนี้น้อยเป็นลำดับรองลงมา พรรคพลังประชารัฐกลับเป็นพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด   

เมื่อมาเทียบพื้นที่ที่มีสัดส่วนคะแนนเสียงของพรรคพลังประชารัฐต่อพรรคอนาคตใหม่สูงที่สุด พบว่าส่วนใหญ่อยู่จังหวัดสมุทรปราการ สำหรับพื้นที่ที่สัดส่วนคะแนนเสียงของพรรคพลังประชารัฐต่อพรรคอนาคตใหม่น้อยที่สุดคือกรุงเทพมหานคร เขต 25

เมื่อนำสัดส่วนของประชากรที่มีอายุมากกว่า 55 ปีต่อประชากรอายุ 18-35 ปีมาวิเคราะห์ร่วมกับสัดส่วนคะแนนของพรรคพลังประชารัฐต่อพรรคอนาคตใหม่ พบว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติระดับ 0.1 (ดูตามภาพประกอบ)

อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นำข้อมูลของปทุมธานี เขต 3 และกรุงเทพมหานคร เขต 25 มารวมในการวิเคราะห์เนื่องมาจากมีสัดส่วนของคะแนนพรรคพลังประชารัฐต่อพรรคอนาคตใหม่ที่แตกต่างจากเขตอื่นค่อนข้างมาก (Outliers) พบว่าแม้เขตเลือกตั้งที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุต่อคนรุ่นใหม่มาก พรรคพลังประชารัฐก็จะได้รับคะแนนเสียงมากกว่าพรรคอนาคตใหม่ในสัดส่วนที่สูง แต่ความสัมพันธ์ดังกล่าวก็จะไม่มีนัยยะสัมพันธ์ทางสถิติ

ข้อสรุปเบื้องต้นของการวิเคราะห์นี้ คือยังไม่สามารถบอกได้ว่าโครงสร้างประชากรมีผลต่อการเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

โดยข้อจำกัดสำคัญของการวิเคราะห์นี้คือ คนในแต่ละวัยมาใช้สิทธิเลือกตั้งกันเท่าไหร่ การใช้โครงสร้างประชากรจึงเป็นการสันนิษฐานเบื้องต้นว่าทุกช่วงอายุมาใช้สิทธิเลือกตั้งในสัดส่วนเท่ากัน และอีกข้อมูลสำคัญซึ่งยังขาดสำหรับการวิเคราะห์ชิ้นนี้คือผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจาก กกต. !!!

 

หมายเหตุ

  1. รายละเอียดทางสถิติ (https://www.dropbox.com/s/ihbem4b76j7ljvz/Stat_election1.pdf?dl=0)
  2. ข้อมูลจำนวนประชากรในแต่ละพื้นที่ ณ สิ้นปี 2561 จากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
  3. ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ จากเวบไซต์ elect.thematter.co (ณ วันที่ 25 มีนาคม 2562 เวลา 4:30 น.)
  4. บทความชิ้นนี้เป็นเพียงการวิเคราะห์เบื้องต้น ไม่สามารถใช้อ้างอิงในทางวิชาการได้ โดยผู้เขียนจะปรับปรุงบทวิเคราะห์เพื่อเป็นรายงานศึกษาฉบับสมบูรณ์ต่อไป

 

 

Tags: , , , , ,