“สมัยก่อนบ้านผมเป็นเหมือนสวนสัตว์ เราเลี้ยงสัตว์เยอะมาก หลายชนิดมาก ผมเลยโตมาในครอบครัวที่รักสัตว์” โชคดี สมิทธิ์กิตติผล เล่าถึงแบ็กกราวนด์ตั้งแต่ตอนที่เขายังไม่รู้ว่า ในอนาคตจะได้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือสัตว์โดยตรง

ก่อนหน้าจะมาร่วมงานกับ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) ในตำแหน่งผู้จัดการแคมเปญสัตว์ฟาร์ม เขาผ่านงานด้านการรณรงค์มาแล้วหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิเด็ก ภัยพิบัติ การศึกษาหรืองานพัฒนาชุมชน

แต่เมื่อได้มาทำงานเกี่ยวกับสัตว์ในฟาร์มเป็นครั้งแรกเมื่อไม่กี่ปีก่อน เขาก็พบว่าคนส่วนใหญ่ยังไม่ได้ตระหนักถึงปัญหาเรื่องสวัสดิภาพของสัตว์ในฟาร์มเท่าที่ควร และยังไม่เข้าใจถึงต้นเหตุที่ต้องมีการรณรงค์เรื่องนี้ ซึ่งตัวเขาเองในอดีตก่อนที่จะเริ่มทุ่มเทให้กับแคมเปญ ‘เลี้ยงหมูด้วยใจ’ (Raise Pigs Right)  ก็เป็นหนึ่งในคนส่วนใหญ่เช่นกัน

(โชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการแคมเปญสัตว์ฟาร์ม ขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก)

การที่คุณบอกว่าคนอีกมากยังไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้ คุณวัดจากอะไร จากคนรอบตัวหรือจากในวงกว้าง

ทั้งสองอย่างเลย ลองสังเกตดูว่าเราไม่ค่อยเห็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับการช่วยหมูหรือช่วยไก่ในฟาร์ม เราเห็นข่าวเกี่ยวกับคนช่วยหมาแมว หรือเห็นเวลาคนโพสต์ว่าซื้อวัวไปปล่อยก่อนที่จะถูกส่งไปโรงเชือด แต่เรื่องของสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์มจริงๆ มีการพูดถึงน้อยมาก ทั้งที่สัตว์ฟาร์มก็เป็นสัตว์ที่มีหัวใจและความรู้สึกเช่นเดียวกัน

แล้วการช่วยเหลือสัตว์ฟาร์มของเรา เราไม่ได้ทำแค่เพราะความสงสารเท่านั้น แต่เป็นการทำงานเพื่อพัฒนาระบบอาหารในภาพรวมให้ดีขึ้น เพราะแน่นอนว่าเรื่องนี้จะส่งผลกระทบที่ดีขึ้นต่อเราในฐานะผู้บริโภคด้วย คนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้ข้อมูลส่วนนี้มากเท่าไร หลายคนยังคงมองว่าการช่วยเหลือสัตว์พวกนี้เป็นเรื่องตลก เพราะสุดท้ายสัตว์ฟาร์มก็ต้องกลายมาเป็นอาหารอยู่ดี

 

สำหรับตัวคุณเองก่อนมาทำเรื่องนี้มีความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน

เอาจริงๆ เข้าใจน้อยมาก ก่อนหน้านี้เราเห็นคนที่หันมากินผักมากขึ้น ลดเนื้อสัตว์ ก็ยังมองว่าเป็นเรื่องของเหตุผลด้านสุขภาพมากกว่า แต่เราไม่เคยตระหนักว่า การที่คนเรากินเนื้อสัตว์น้อยลงจะมีส่วนช่วยโลกนี้ได้อย่างไรบ้าง พอมาทำงานเรื่องนี้ก็เหมือนเป็นการเบิกเนตรเลย ทำให้รู้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากเพราะมันไม่ใช่แค่ช่วยชีวิตสัตว์ชนิดหนึ่งให้รอด แต่ยังมีผลกระทบกว่านั้นอีกมาก

พอยิ่งทำ เราก็ยิ่งเห็นความสำคัญ แล้วเวลาที่เราไปบอกต่อคนอื่น คนอื่นก็เริ่มตระหนักและเห็นด้วย ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและช่วยในการสื่อสารออกไปอีกต่อหนึ่ง จุดนี้เลยกลายเป็นความสนุกในการทำงานของเราเหมือนกันนะว่าต้องทำอย่างไรถึงจะให้คนรับรู้และเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น

 

แคมเปญเลี้ยงหมูด้วยใจเริ่มต้นได้อย่างไร

ต้องอธิบายก่อนว่า แคมเปญสัตว์ฟาร์มเป็นแคมเปญที่ทางองค์กรเริ่มทำในปี 2561 หลังจากที่เราทำงานด้านสัตว์มาหลายด้าน เราพบว่าเรายังไม่เคยทำแคมเปญเกี่ยวกับสัตว์ฟาร์มมาก่อน ทั้งที่จริงๆ แล้ว สัตว์ฟาร์มเป็นสัตว์ที่ได้รับผลกระทบด้านสวัสดิภาพมากที่สุดทั้งในแง่ความรุนแรงและจำนวน

พอตั้งเป้าหมายว่าเราจะทำงานในประเด็นนี้กัน แต่ละประเทศที่อยู่ในเครือข่ายองค์กรก็มาคุยกัน ดูว่าประเทศไหนที่มีปัญหาเรื่องนี้และคิดว่าน่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ประเทศไทยก็บอกเลยว่าเราจะทำ เพราะคิดว่าระบบฟาร์มอุตสาหกรรมในบ้านเราควรเปลี่ยนแปลง และเราก็เชื่อว่าถ้าคนในประเทศตระหนักถึงเรื่องนี้ ก็จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้

จากจุดนั้นเลยเป็นที่มาของแคมเปญเลี้ยงหมูด้วยใจ หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า Raise Pigs Right เราพยายามหาคำภาษาไทยที่จะสื่อสารให้เข้าใจได้มากที่สุด จนมาลงที่ชื่อนี้เพราะเรามองว่ามันคือกุญแจสำคัญของการทำอุตสาหกรรม และสัตว์ก็เป็นสิ่งมีชีวิต หมูก็มีหัวใจ มีความรู้สึก ถ้าเราเลี้ยงด้วยการให้หมูได้มีชีวิตที่ดี มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี ก็จะทำให้ห่วงโซ่อาหารดีไปด้วย

แบบไหนที่เรียกว่าชีวิตที่ดีสำหรับหมูในฟาร์มอุตสาหกรรม

เราต้องยอมรับว่าสัตว์ที่อยู่ในฟาร์มอุตสากรรมไม่ได้มีชีวิตที่ดี ดังนั้น สิ่งที่เราพยายามทำอยู่ก็คือการให้เขาได้ใช้ชีวิตแย่น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ตามหลักสวัสดิภาพ 5 ประการ ซึ่งเปรียบเหมือนกับหลักสิทธิมนุษยชนของมนุษย์นั่นเอง

เราจะดูว่าหมูที่อยู่ในฟาร์มมีความกลัวหรือเปล่า ได้รับความเจ็บปวดจากการดูแลไหม ได้รับอิสรภาพให้เคลื่อนไหวหรือสามารถแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติได้หรือเปล่า ซึ่งเราพบว่าในระบบฟาร์มอุตสาหกรรมมันมีวิถีปฏิบัติหลายอย่างที่ขัดกับหลักการดังกล่าว ทำให้หมูเจ็บปวดทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจ ที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงเราในฐานะผู้บริโภค

ยกตัวอย่างเช่น แม่หมูจะมีหน้าที่เป็นแค่ผลิตลูก ทั้งชีวิตถูกเลี้ยงอยู่ในคอกเล็กๆ ที่แม้แต่จะกลับตัวยังทำไม่ได้เลย มีหน้าที่แค่กินและรอผสมพันธุ์ เมื่อคลอดลูกเสร็จไม่นานก็จะถูกพรากลูกไป และวนอยู่แบบนี้จนพวกมันไม่สามารถตั้งท้องได้อีก หรือลูกหมูที่ต้องถูกตัดตอนอวัยวะ เช่น การตัดหาง ตัดฟัน ขลิบหู หรือตอนสด ตั้งแต่ภายในสัปดาห์แรกที่พวกมันเกิดมา วิธีการเหล่านี้เป็นไปเพื่อให้หมูสามารถทนอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เลวร้ายในฟาร์มอุตสาหกรรมได้

วิธีการเลี้ยงหมูเช่นนี้นำมาซึ่งการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การเกิดแบคทีเรียดื้อยาหรือซุปเปอร์บักส์ (Superbugs) ในฟาร์มอุตสาหกรรม เหมือนกับเวลาเราเจ็บคอนิดหน่อยแล้วซื้อยามากินเองบ่อยๆ กินดักไว้ก่อนจะเป็นหนัก พอกินบ่อยเข้า ก็เกิดอาการดื้อยา หมูเองก็เหมือนกัน แล้วอาการดื้อยาของสัตว์ในฟาร์มก็ส่งต่อมาถึงผู้บริโภค ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้บริโภคที่กินเนื้อสัตว์เท่านั้น แต่เชื้อเหล่านั้นยังมีการปนเปื้อนไปสู่แหล่งน้ำธรรมชาติอีกด้วย ดังนั้น สิ่งที่เราพยายามจะบอกในเรื่องฟาร์มหมูก็คือ มันไม่ใช่แค่เรื่องของหมู แต่เป็นเรื่องของเราทุกคน

 

 

(ภาพลูกหมู ที่จะต้องถูกถอนฟันออกเพื่อป้องกันการกัดกับลูกหมูตัวอื่น)

มีตัวเลขของการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มอุตสาหกรรมไหม

จากการสำรวจเราพบว่ายาปฏิชีวนะที่ผลิตขึ้นในโลกนี้ 3 ใน 4 ส่วน ถูกนำไปใช้ในฟาร์มอุตสาหกรรม แล้วยาปฏิชีวนะที่ใช้นั้นก็เป็นยากลุ่มเดียวกับกับที่ใช้เพื่อรักษาโรคในคน นั่นหมายความว่าหากเราได้รับเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่มาจากฟาร์ม ไม่ว่าจะผ่านการกินหรือปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม เราก็จะดื้อต่อยาปฏิชีวนะชนิดนั้นๆ ด้วย เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกที่ระยะหลัง เราจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับโรคที่มาจากการดื้อยามากขึ้น บางคนเคยกินยาบางเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยพื้นฐานอย่างเจ็บคอ หรือแผลติดเชื้อ แต่หลังๆ เริ่มรู้สึกว่ายาตัวเดิมใช้ไม่ได้ผลแล้ว จึงต้องกินยาที่แรงขึ้นไปเรื่อยๆ

จากสถิติคนไทยเสียชีวิตจากเชื้อแบคทีเรียดื้อยามากถึงปีละ 38,000 คน ซึ่งถือว่าสูงมาก สูงกว่าโควิด-19 ในไทยอีก แต่คนยังไม่ได้ตระหนักว่าแบคทีเรียดื้อยาส่วนใหญ่มาจากระบบปศุสัตว์ที่ล้มเหลว

ในระดับโลก มีการพูดถึงเรื่องซูเปอร์บักส์กันขนาดไหน

เขาใส่ใจเรื่องนี้กันค่อนข้างมาก อย่างองค์การอนามัยโลกเองก็ประกาศให้ความสำคัญกับปัญหานี้ เพราะทั่วโลกมีคนเสียชีวิตจากแบคทีเรียดื้อยาเยอะมาก ปีละกว่า 700,000 คน ประเทศไทยเองก็มีการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ส่วนใหญ่ยังให้น้ำหนักกับเรื่องการซื้อยามากินเองเป็นหลัก แต่การพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มเพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะยังถูกพูดถึงน้อยมาก

ถ้าเทียบกันระหว่างโควิด-19 กับเรื่องซุปเปอร์บักส์ คนจะให้ความสำคัญกับเรื่องแรกมากกว่า แต่ในความคิดของเราที่เป็นคนทำงานด้านนี้ ซุปเปอร์บักส์ก็ไม่ได้รุนแรงน้อยไปกว่ากัน ถ้าเปรียบเทียบแล้ว โควิด-19 เหมือนกับน้ำท่วมฉับพลัน ที่มาครั้งหนึ่งก็สร้างความเสียหายอย่างมาก แต่ซุปเปอร์บักส์เป็นเหมือนน้ำที่ค่อยๆ เอ่อขึ้นมาช้าๆ ที่เราคิดว่าปล่อยไปก่อนก็ได้ แต่วันหนึ่งมันจะเพิ่มสูงขึ้นจนท่วมหัวเรา และในวันนั้นเราจะรู้สึกว่ามันสายเกินไป หน้าที่ของเราคือต้องทำให้คนตระหนักถึงเรื่องนี้ก่อนที่มันจะกลายเป็นปัญหาที่เราควบคุมไม่อยู่

 

(ภาพหมู ที่ถูกเลี้ยงในฟาร์มเปิดแบบมีคุณภาพ)

 

 

ในช่วงสถานการณ์ปัจจุบันของไทยที่ความสนใจของคนหมู่มากอาจจะอยู่ที่เรื่องการเมืองหรือเรื่องอื่นมากกว่าเรื่องสวัสดิภาพของสัตว์ ในฐานะคนที่ทำงานด้านนี้จะทำอย่างไรให้คนเห็นความสำคัญเรื่องนี้ด้วย

แม้จะไม่มีปัญหาเรื่องการเมือง แต่การสื่อสารให้คนเห็นความสำคัญของการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์มก็เป็นความท้าทายของเรามาโดยตลอด เราอยากให้คนเข้าใจว่า เรากินอาหารทุกวัน ทุกครั้งที่กิน เราอยากให้เขาได้คิดถึงแหล่งที่มาของอาหารมากขึ้น นอกเหนือจากความอร่อย

สิ่งที่เราทำอยู่นั้นเราไม่ได้บอกให้คุณเลิกกินเนื้อสัตว์ คือถ้าคุณลดปริมาณการกินได้ แน่นอนว่ามันก็ดี แต่ถ้าจะกิน เราก็อยากให้คุณเลือกสนับสนุนเนื้อสัตว์ที่มาจากฟาร์มที่ดี เพราะการเลือกของคุณจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารได้ทั้งหมด มันเป็นเรื่องดีมานด์และซัพพลายง่ายๆ ดังนั้น งานที่สำคัญของเราคือต้องทำให้คนตระหนักเรื่องนี้เพิ่มขึ้นและร่วมกับเราในการเรียกร้องอาหารที่เคารพสัตว์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยสร้างระบบอาหารที่มีมนุษยธรรมและยั่งยืนในอนาคต

เรารณรงค์เรื่องนี้มากว่า 2 ปี  ทุกวันนี้ การทำงานของเราเริ่มผลิดอกให้เห็นความเปลี่ยนแปลงบ้างแล้ว ผมเชื่อว่าถ้าคนตระหนักเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์มมากขึ้น และเลือกสนับสนุนเนื้อสัตว์จากฟาร์มที่ดี รวมถึงเรียกร้องไปยังหน่วยงานต่างๆ ให้แก้ไขปัญหานี้ทั้งระบบ เราจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้แน่นอน ผมเชื่อแบบนั้น

Fact Box

  • ‘เลี้ยงหมูด้วยใจ (Raise Pigs Right)’ เป็นแคมเปญที่องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) มุ่งรณรงค์และเรียกร้องหมูในฟาร์มมีสวัสดิภาพที่ดีขึ้น โดยทำงานร่วมกับทั้งฝั่งต้นน้ำอย่างผู้ผลิต ฟากคนกลางอย่างซูเปอร์มาร์เก็ต ไปจนถึงปลายน้ำอย่างผู้บริโภคให้ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ รวมถึงเข้าใจผลกระทบจากวิถีปฏิบัติในอุตสาหกรรมฟาร์มปัจจุบันที่ส่งผลกระทบมาถึงตัวเองและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง
  • ผู้บริโภคสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ หรือร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงด้วยการลงชื่อเรียกร้องให้หมูในอุตสาหกรรมฟาร์มได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นได้ที่ https://www.worldanimalprotection.or.th/raise-pigs-right-environment
Tags: , ,