ถ้าจะนึกถึงผลไม้ยอดนิยมสักชนิด ‘ส้ม’ น่าจะเป็นผลไม้ที่คนส่วนใหญ่คิดถึงเป็นอันดับแรก ด้วยรสชาติที่ถูกปาก กินง่าย มีคุณประโยชน์มากมาย อาทิ วิตามินซีในเนื้อที่ช่วยบำรุงผิว มีสารช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ อีกทั้งยังเป็นผลไม้มงคล และถูกใช้เป็นของชำร่วยยอดฮิตเกือบทุกเทศกาล เรียกได้ว่าส้มแทบจะอยู่กับพวกเราในทุกช่วงเวลา

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ส้มจึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงอันดับต้นๆในท้องตลาด และเมื่อมีความต้องการที่จะบริโภคผลไม้ชนิดนี้มากขึ้นเท่าไหร่  ผู้ผลิตก็ยิ่งต้องสรรหาวิธีที่จะช่วยเพิ่มจำนวนผลผลิต ส้มต้องถูกเร่งการผลิตเกินกว่าที่ควรจะเป็น เฉลี่ยแล้ว 3-4 ครั้งต่อปี และแน่นอนว่าการผลิตที่เร่งรีบเพื่อให้ได้ผลผลิตสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ย่อมมีสารเคมีอันตรายเข้ามาเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อย

จากการสุ่มตรวจของ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ไทยแพน (Thai-PAN) พบว่า ส้ม ที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตบ้านเรา มีสารเคมีอันตรายตกค้างอยู่ถึง 55 ชนิด เช่น สารคาร์เบนดาซิม, สารคาร์โบฟูราน, สารอะเซตามิพริด โดยค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.364 มิลลิกรัม ซึ่งเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย (MRL) การที่ได้รับสารเคมีดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค รวมไปถึงอาจส่งผลให้ทารกมีภาวะพิการแต่กำเนิด นอกจากนี้ยังส่งผลต่อฮอร์โมนเพศ ไปจนถึงเซลล์สมองและระบบประสาท อีกด้วย

ความเชื่อและพฤติกรรมของผู้บริโภคคือจุดเริ่มต้นของการสร้างวงจร ‘ส้มปลอดภัย’

ดังที่กล่าวข้างต้นว่า ส้มขนาดใหญ่ สีทองแวววาว ที่วางจำหน่ายในตลาดหรือแม้กระทั่งตามซูเปอร์มาร์เก็ต แท้จริงแล้วอาจไม่ได้ปลอดภัยเหมือนอย่างรูปลักษณ์ภายนอก เพราะทั้งผลอาจเต็มไปด้วยสารพิษที่เกิดขึ้นจากกระบวนการการเพาะปลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งส้มนอกฤดูกาลที่ผลจะอ่อนแอเติบโตได้ช้า ผู้ผลิตจึงต้องใช้สารเคมีตั้งแต่ระยะเริ่มติดดอก ระยะติดผล ช่วงตอนผลมีขนาดเท่าลูกปิงปอง ไปจนถึงช่วงเลี้ยงผิวให้สวย และก่อนการเก็บผลผลิต โดยปราศจากการเว้นระยะก่อนการเก็บเกี่ยว (Withholding Period) นอกจากนี้สารเคมีส่วนใหญ่ที่ใช้มักเป็นสารชนิดดูดซึม (Systemic)  ที่ต่อให้ล้างด้วยน้ำเปล่าหรือด่างทับทิม ก็ยังคงเหลือสารพิษตกค้างอยู่ เนื่องจากสารเคมีดังกล่าวได้ถูกฉีดเข้าไปในลำต้น และเกิดกระจายไปจนถึงเนื้อในของผล

มาถึงตรงนี้หลายคนคงสงสัยแล้วว่าแล้วผู้บริโภคอย่างเราจะทำอย่างไรได้บ้าง

เพื่อให้การรับประทานส้มในครั้งต่อไป เป็นการรับประทานส้มที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ โดยสิ่งที่ผู้บริโภคต้องเริ่มเป็นอันดับแรกคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เน้นการรับประทานผลไม้ตามฤดูกาล เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ผู้ผลิตใช้สารเคมีเกินความจำเป็น ซึ่งสำหรับส้มแล้ว ช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการรับประทาน คือตั้งแต่เดือนธันวาคม – มีนาคม

ถัดมาเป็นการปรับเปลี่ยนความเชื่อและค่านิยม โดยเฉพาะความเชื่อที่ว่าส้มที่มีลักษณะลายดำผลเล็ก คือส้มใกล้เน่า เป็นส้มตกเกรด  หรือค่านิยมที่ว่า ส้มที่ดี คือ ส้มที่ผิวเกลี้ยง ผลกลมโต แท้ที่จริงความเชื่อและค่านิยมดังกล่าวเป็นความเชื่อและค่านิยมที่ผิด เพราะจริงๆแล้ว ส้มที่มีลายดำ ผลเล็ก เป็นส้มที่มีสารเคมีตกค้างน้อย ส่วนส้มผิวเกลี้ยง ผลกลมโต มักจะเป็นส้มที่มีการตกค้างของสารเคมีมากกว่า ผู้บริโภคควรปรับเปลี่ยนความเชื่อและค่านิยมดังกล่าว และหันมาให้ความสำคัญกับประโยชน์ที่จะได้รับจากการรับประทานส้ม มากกว่ารูปลักษณ์ที่สวยงาม

ห้างค้าปลีก: ปราการสำคัญของการคัดกรองและส่งมอบส้มปลอดภัย

นอกจากการปรับเปลี่ยนความเชื่อ และพฤติกรรมในการบริโภคแล้ว สิ่งที่มีความสำคัญอีกประการหนึ่งคือการส่งเสียงเรียกร้องไปยังผู้จัดจำหน่ายว่า ‘พวกเราต้องการให้ส้มที่จำหน่ายในตลาดซูเปอร์มาร์เก็ตและตลาดทั่วไปเป็นส้มที่ปลอดภัย’ เพราะการส่งเสียงดังกล่าวเป็นการสะท้อนถึงความต้องการแท้จริงของผู้บริโภค ด้วยเหตุนี้เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งได้แก่ การเข้าถึงอาหารปลอดภัย ภาคีเครือข่ายกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอ็อกแฟมประเทศไทย (Oxfam) จึงได้จัดกิจกรรมรณรงค์ ‘หยุดส้มอมพิษ’ (Orange Spike) เพื่อเป็นช่องทางให้ทางผู้บริโภคส่งเสียงเรียกร้องไปยังซูเปอร์มาร์เก็ต โดยมีเป้าหมายคือ กระตุ้นให้ซูเปอร์มาร์เก็ตแต่ละแห่ง มีการเปิดเผยแหล่งที่มาและกระบวนการการผลิตส้ม รวมไปถึงมีการดำเนินมาตรการในการตรวจสอบย้อนกลับและคัดกรองส้มตั้งแต่ต้นน้ำอย่างจริงจัง โดยเชื่อว่า เมื่อเสียงเรียกร้องจากผู้บริโภค รวมกับความสามารถและอำนาจในการต่อรองของซูเปอร์มาร์เก็ต จะสามารถกระตุ้นให้ผู้ผลิตลดใช้สารเคมีอันตรายในการดูแลส้ม อีกทั้งให้ทางหน่วยงานรัฐ ได้เห็นปัญหาของการใช้สารพิษ เพื่อให้มีมาตรการควบคุมปริมาณสารเคมีที่ไม่ได้เฉพาะเจาะจงที่ส้มเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงสินค้าและผลิตภัณฑ์ทุกประเภท

  • ข้อเรียกร้อง สำหรับแนวทางข้อเรียกร้องของแคมเปญ หยุดส้มอมพิษ ที่จะส่งต่อไปยังซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วประเทศ ประกอบด้วยซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำทั้งหลายในประเทศ ต้องติด QR code บนส้ม และ ณ จุดจำหน่าย เพื่อบอกถึงแหล่งที่มาของกระบวนการผลิตส้ม และกระบวนการสุ่มตรวจสารเคมีในส้ม โดยข้อเรียกร้องนี้สามารถให้ประชาชนลงนามผ่าน dearconsumers.com/th/petition
  • ซูเปอร์มาร์เก็ต ตัวแทนจำหน่าย ต้องดำเนินการตรวจสอบแหล่งเพาะปลูกส้ม ที่นำมาจำหน่าย ซึ่งในกระบวนการตรวจสอบจะต้องสามารถบอกได้ถึง วิธีเพาะปลูก รายการสารเคมีที่ใช้ และมีการพัฒนากระบวนการคัดกรองที่มีประสิทธิภาพก่อนนำสินค้าวางจำหน่าย เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

 

(ตัวอย่างภาพของส้ม ที่วางขายบนแผงซูเปอร์มาร์เก็ตในปัจจุบัน)

หากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภค และซูเปอร์มาร์เก็ตหันมาให้ความสนใจในประเด็นดังกล่าว รวมถึงร่วมกันผลักดันเพื่อให้เกิดวงจรห่วงโซ่อุปทานส้มปลอดภัยอย่างจริงจัง เชื่อว่าในอนาคตกระบวนการในการเพาะปลูกส้ม จะมีการพึ่งพาใช้สารเคมีน้อยลง จนถึงวันที่ส้ม จะกลายเป็นผลไม้ที่ปลอดภัยและมีประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างแท้จริง

สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับกิจกรรม หยุดส้มอมพิษ (Orange Spike) ได้ในวันที่ 2 ธันวาคม ที่กำลังจะถึงนี้ ณ ลานเซ็นทรัลคอร์ท ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ตั้งแต่เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป โดยผู้เข้าร่วมงานสามารถแชร์ข้อมูลกิจกรรมนี้ให้ผู้อื่นทราบได้ด้วยการติดแฮชแท็ก  #หยุดส้มอมพิษ #ส้มอมพิษให้มันจบที่ล็อตนี้ #เราไม่เอาส้มอมพิษ #ดราม่าส้มอมพิษ #ToxicOrange และ #StopToxicOrange ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ

 

ติดตามข้อมูลรายละเอียดกิจกรรม หยุดส้มอมพิษ (Orange Spike) เพิ่มเติมได้ที่เพจผู้บริโภคที่รักได้ที่ด้านล่างนี้

https://www.facebook.com/DearConsumers

 

Fact Box

  • แคมเปญ ‘ผู้บริโภคที่รัก’ มีจุดเริ่มต้นจาก ‘ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก’ กิจกรรมนี้ มีเป้าหมาย คือ การสร้างความร่วมมือกันระหว่างผู้บริโภคและผู้ค้าปลีก ในการขับเคลื่อนตลาดอาหารในประเทศไทยอย่างยั่งยืน ในห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเล ไก่ กล้วย และส้ม เพื่อผลักดันให้ตลาดอาหารในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและต่อสวัสดิภาพของผู้บริโภค โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มสหภาพยุโรป SWITCH Asia II Programme และสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสวีเดน (Sida)
Tags: ,