กีฬาเป็นสิ่งที่โหดร้าย และไม่เคยใจดีสำหรับทุกคน
ไม่ใช่เพียงเพราะการฝึกฝนอันยากลำบาก จนทำให้ใครหลายคนต้องยอมแพ้ล้มเลิก หรือไม่ว่าจะเป็นความพยายามในการทุ่มเท เวลา หยาดเหงื่อ และแรงกายไปจนรู้สึกท้อแท้ แต่สัจธรรมที่โหดร้ายที่สุดในเกมกีฬาคือ ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับผลของความพยายามนั้นเสมอไป ‘ผู้ชนะ’ เท่านั้นที่จะสามารถเฉิดฉายท่ามกลางแสงไฟ และผู้ชนะก็มีเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้น
แล้วอะไรที่ทำให้ผู้แพ้สามารถเปลี่ยนสถานะตัวเองไปสู่ตำแหน่งผู้ชนะได้ล่ะ? แอนเจลา ลี ดักเวิร์ธ (Angela Lee Duckworth) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันเคยพูดบนเวที TED Talk ว่า ส่วนประกอบสำคัญที่สร้างความสำเร็จคือ ‘ความทรหด’ (Resilience) ความเพียร ความพยายาม และความดื้อดึงที่ไม่ยอมแพ้ต่อผลลัพธ์ที่อยู่ข้างหน้า
และตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ‘เทนนิส’ – พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ฮีโร่เหรียญทองโอลิมปิก กีฬาเทควันโดหญิงคนล่าสุดของไทย
ในช่วงแรกของเทนนิส เธอเคยลองเล่นกีฬาหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง วอลเลย์บอล ซึ่งล้วนพานพบกับความล้มเหลวมาตลอด เป็นนักกีฬาวิ่งที่ไม่เคยวิ่งแซงคนอื่นได้ เป็นนักวอลเลย์บอลก็ไม่เคยได้ลงสนามเป็นตัวจริง กระทั่งเธอได้มาเริ่มเอาจริงเอาจังกับกีฬาเทควันโด ที่คิดว่าตัวเองทำได้ดีกว่ากีฬาชนิดอื่นๆ จนได้รับเหรียญรางวัลในการแข่งขันครั้งแรก — เหรียญทองแดง แต่ที่ได้รับเพราะมีผู้เข้าร่วมเพียงแค่ 3 คนเท่านั้น ก่อนจะใช้เวลานานถึง 3 ปี กว่าจะได้รับเหรียญทองแรกในการแข่งขัน
แม้แต่ฮีโร่เหรียญทองโอลิมปิกยังเคยมีช่วงเวลาที่จมปลักอยู่กับความพ่ายแพ้ผิดหวัง และความอับอายที่เธอต้องใช้ความ ‘ทรหด’ เพื่อที่จะฝ่าฟันความรู้สึกเหล่านั้นไปให้ได้ แน่นอนว่าเทนนิสในวันที่พ่ายแพ้ครั้งแรกกับในครั้งที่ร้อย ย่อมแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเธอถึงคู่ควรกับเหรียญทองโอลิมปิก
การซ้อมเตะพันครั้งที่สร้างปาฏิหาริย์ ณ กรุงโตเกียว
การเดินทางนับพันไมล์ ล้วนเริ่มต้นจากก้าวแรกที่กล้าออกจากสถานที่ที่คุ้นเคย เช่นเดียวกันการจะไปถึงเป้าหมายได้นั้น ต้องเริ่มจาก ‘ลงมือทำ’ แม้จะเป็นเรื่องยากสำหรับใครหลายคน แต่สำหรับเทนนิส เธอก้าวเข้าสู่วงการเทควันได้เพียงเพราะเหตุผลว่าที่บ้านเป็นครอบครัวนักกีฬา และเธอมองว่าท่าเตะของเทควันโดนั้นเท่ดี
อย่างไรก็ดี เส้นทางการเป็นนักกีฬาเทควันโดนั้นไม่ได้ ‘เท่’ อย่างที่เธอวาดฝันไว้ เพราะเบื้องหลังภาพการแข่งขันที่เธอเห็นในโทรทัศน์ ล้วนเป็นผลมาจากการพยายามทุ่มเทอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะกับนักกีฬาทีมชาติที่จำเป็นจะต้องเข้าค่ายกักตัว กว่าที่เธอจะมาถึงทุกวันนี้ได้ ต้องใช้เวลาฝึกฝนเป็นเวลาถึงสิบปี
ช่วงเวลาสิบปีที่เทนนิสฝึกซ้อมลูกเตะมากกว่าหมื่นครั้ง การฝึกฝนร่างกายให้มีความพร้อมที่สุดสำหรับการแข่งขันเป็นเรื่องจำเป็นมาก และที่สำคัญคือการฝึกสภาพจิตใจให้ไม่รู้สึกกดดันระหว่างแข่งขัน ก็เป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ ประสบการณ์สิบปีของเธอได้ถูกพัฒนาจนกลายเป็นลูกเตะที่ถูกปล่อยออกมาใน 7 วินาทีสุดท้ายก่อนหมดเวลาการแข่ง และช่วยให้เธอพลิกล็อกเอาชนะคู่แข่งไปได้อย่างฉิวเฉียด ทำให้เธอคว้าเหรียญทองโอลิมปิกกลับประเทศไทยได้ในที่สุด
วันนี้นอกจากจะดู ‘เท่’ ในสายตาคนไทย เธอยังกลายเป็นแรงบันดาลให้กับนักกีฬาเทควันโดรุ่นต่อมาอีกด้วย
ยิ่งตั้งเป้าหมายที่ ‘เป็นไปไม่ได้’ มากเท่าไร ความ ‘เป็นไปได้’ ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น
สิ่งที่นักกีฬาผู้ประสบความสำเร็จอย่าง เลอบรอน เจมส์, คริสเตียโน โรนัลโด, มูฮัมหมัด อาลี ฯลฯ มีเหมือนกันคือ ‘ความกล้าที่จะฝัน’ และ ‘ความทะเยอทะยานอันไร้ขีดจำกัด’ หากในวันนั้นโรนัลโดพอใจที่จะเล่นให้กับทีมชั้นนำของโปรตุเกส เขาคงจะไม่มีทางได้กลายเป็นตำนานของสโมสรเรอัลมาดริด หรือหากอาลีไร้ความทะเยอทะยาน คงไม่กลายเป็นแชมป์ผู้ได้รับฉายา ‘ผู้ยอดเยี่ยมตลอดกาล’ (The Greatest) อย่างแน่นอน
เช่นเดียวกับเทนนิสในวันที่เริ่มต้นเล่นกีฬาเทควันโด เธอต้องพบกับช่วงเวลาที่สับสน ลังเล ไม่มั่นใจในตัวเอง แต่ถึงอย่างนั้น เธอก็มีเป้าหมายยิ่งใหญ่ไว้ในใจอยู่เสมอ นั่นคือการเป็น ‘นักกีฬาทีมชาติ’ ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับเด็กสาววัย 14 ปี ที่อาจจะต้องโยนชีวิตวัยรุ่นทิ้งไป แทนที่ด้วยตารางการฝึกซ้อมอันเข้มงวด โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเวลาที่ทุ่มเทลงไปนั้น จะสามารถทำให้เธอเป็นนักกีฬาทีมชาติได้อย่างที่หวังไว้หรือไม่
แต่ใครจะเชื่อว่าสุดท้ายแล้ว เป้าหมายที่ดูเป็นไปไม่ได้เมื่อสิบปีก่อน วันนี้เธอได้เป็นตัวแทนของประเทศในฐานะของนักกีฬาเทควันโดทีมชาติ เดินทางไปแข่งขันในมหกรรมโอลิมปิก 2020 ณ กรุงโตเกียว และสามารถคว้าเหรียญทองประวัติศาสตร์กลับมาให้คนไทยทั้งประเทศได้ภาคภูมิใจด้วย
หากเด็กหญิงเทนนิสไม่กล้าฝันใหญ่ในวันนั้น เรื่องราวในวันนี้อาจจะแตกต่างกันไปก็เป็นได้
ไม่ยอมแพ้จนถึงวินาทีสุดท้าย
ในการแข่งขันเทควันโดหญิงรุ่นน้ำหนัก 49 กิโลกรัม รอบชิงชนะเลิศ เทนนิส ตัวแทนจากประเทศไทย ต้องพบกับ อาเดรียนา เซเรโซ อิเกลเซียส (Adriana Cerezo Iglesias) นักกีฬาจากสเปน เชื่อว่าใครที่ได้รับชมการถ่ายทอดสดแมตช์นั้น คงต้องมีอาการหายใจไม่ทั่วท้อง ลุ้นจนหัวใจแทบหยุดเต้น
การแข่งขันยกแรกเป็นไปไปอย่างสูสี ทั้งสองฝ่ายผลัดกันดูเชิงสลับกับออกอาวุธ สกอร์จบลงอยู่ที่ 4-2 โดยนักกีฬาจากแดนกระทิงดุขึ้นนำไปก่อน แต่ในยกสอง บรรยากาศก็ดุเดือดยิ่งขึ้น ต่างฝ่ายต่างผลัดกันเตะทำแต้ม จนในช่วงสุดท้ายของการแข่งขันคะแนนอยู่ที่ 10-9 โดยสเปนมีคะแนนขึ้นนำอยู่ จากเวลาที่เหลืออยู่เพียงแค่ 7 วินาทีนั้น ดูเหมือนว่าเหรียญทองจะหลุดลอยไปอยู่ในมือของนักกีฬาสเปนแล้ว
โดยไม่มีใครคาดคิด เทนนิสปล่อยลูกเตะไม้ตายไปยังบริเวณศีรษะคู่ต่อสู้จนได้ 2 แต้ม แซงขึ้นนำได้อย่างปาฏิหาริย์ ส่งผลให้ประเทศไทยคว้าเหรียญทองแรกและเหรียญทองเดียวในการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกเกม 2020
หลังจบการแข่งขัน ผู้สื่อข่าวได้สอบถามความรู้สึกของเธอว่า เกิดอะไรขึ้นในช่วง ‘7 วินาทีสุดท้าย’
“ตอนนั้นไม่ได้รู้สึกกดดันอะไร เพียงแต่รู้สึกแค่ว่า เวลายังไม่หมด เราต้องทำแต้มให้ได้ก็เท่านั้นเอง”
น้ำเสียงเด็ดเดี่ยว แววตามุ่งมั่นของเทนนิสขณะพูดถึงช่วงเวลาท้าทายที่สุดในชีวิตของเธอ สะท้อนให้เห็นถึงหัวใจที่ไม่ยอมแพ้ของฮีโร่เหรียญทองโอลิมปิกคนนี้ได้เป็นอย่างดี
SYI: Spirit จิตวิญญาณอันไม่ย่อท้อต่อความเป็นไม่ได้ ที่ทำลายทุกข้อจำกัด
เรื่องราวของ ‘เทนนิส’ – พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ บอกกับเราว่า สิ่งเดียวที่จะกำหนดว่าเราจะไปถึงเป้าหมายได้หรือไม่คือ ‘ทัศนคติ’ ความคิดที่ไม่ย่อท้อต่อความล้มเหลว ความกล้าที่จะฝันถึงสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ความแน่วแน่ต่อเป้าหมายของตัวเอง และที่สำคัญที่สุดคือ ‘ความกล้า’ ที่จะลงมือทำ เพราะท้ายที่สุดแล้ว แค่ลงมือทำ ทุกสิ่งก็เป็นไปได้
เช่นเดียวกับแคมเปญ SYI (Start your Impossible) ของโตโยต้า หนึ่งในผู้สนับสนุนที่พานักกีฬาไทยได้ไปโชว์ศักยภาพยังการแข่งขันโตเกียว โอลิมปิก 2020 ได้บอกกับทุกคนว่าถ้านักกีฬากล้าฝัน กล้าทำ คนไทยกล้าเชียร์ เพียงแค่นี้ก็พิสูจน์ได้อย่างชัดเจนแล้วว่า “คนไทยรวมใจ ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้” แม้กระทั่งการพิชิตสังเวียนโอลิมปิกก็ตาม
ภาพ: AFP, Reuters
Tags: Tokyo 2020, Start your Impossible, พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ, Toyota, Olympics, Advertorial