เคยคิดมาตลอดว่าการมีเพื่อนอยู่ต่างประเทศ น่าจะทำให้การเที่ยวของเรา มีอรรถรสแบบคนท้องถิ่นโดยเฉพาะเมืองที่มีเสน่ห์จากความหลากหลายทางวัฒนธรรมและมีฉากหลังของความเก๋ไก๋แบบตัวเมืองอย่างเมลเบิร์น แต่มุมมองคำว่าไปเที่ยวระหว่างคนที่อยู่อาศัยกับคนที่มาเป็นครั้งคราวก็ต้องมีการปรับความเข้าใจกันหน่อย  ฉันบอกเพื่อนว่า ไปกินข้าวฟรี เดินดูอารามเก่าของคนยากไร้ กันไหม เราจึงตัดสินใจกระโดดขึ้นรถบัส (สาย 200 หรือ 207ก็ได้) ไปทางเหนือของเมลเบิร์นและอีกครึ่งชั่วโมงต่อมา ก็มาถึง แอบบอตส์ฟอร์ด คอนแวนต์ (Abbotsford Convent)

ข้าวฟรีที่ร้าน Lentil As Anything

เราไปถึงแอบบอตส์ฟอร์ด ในช่วงสาย เมลเบิร์นหายใจเข้าออกเป็นการกินเบรกฟาสต์และบรันช์ชนิดที่แต่ละร้านไม่มีใครยอมใคร แต่เรากลับเลือกหิ้วท้องมาที่ร้านอาหารมังสวิรัติ Lentil as Anything ร้านที่ทำให้อิ่มท้องและอิ่มอกอิ่มใจ ด้วยคอนเซปต์ที่ชัดเจนว่าอาหารทุกมื้อไม่ได้ทำมาฟรีๆ แต่คนเราควรมีอิสระในการเลือกว่า อยากจ่ายเท่าไรก็ได้ตามที่พอใจ ไม่ว่าจะด้วยบัตรเครดิต เงินสดหรือจะเลือกจ่ายเป็นน้ำพักน้ำแรงก็ยังได้ 

Lentil as Anything เปิดให้บริการตั้งแต่มื้อเช้าจนถึงมื้อเย็น เมนูมื้อเช้าค่อนข้างแฟนซี ช่วยเปิดประสบการณ์อาหารวีแกนของเรามากขึ้น แต่มื้อกลางวันจะเปิดเป็นบุฟเฟต์อาหารให้ตักกินกันจนอิ่มแทนค่ะ เสียเวลาเถียงกันว่าจะวางเงินไว้ที่โต๊ะ หรือเดินไปยื่นให้พนักงานคนไหนดีตั้งนานสองนานจนอาสาสมัครที่ร้านช่วยแนะนำ อันที่จริงทางร้านมีป้ายติดอธิบายในแต่ละจุดไว้อย่างครบถ้วน รวมถึงตอนจ่ายเงินที่มีเคาเตอร์ตั้งกล่อง และเครื่องรูดบัตร พร้อมป้ายรายละเอียดแบบคร่าวๆ ว่าอาหารที่เรากินไปมีค่าใช้จ่ายในการผลิตประมาณเท่าไร

แอปพลิเคชั่น ที่ช่วยย่นระยะ 2 ศตวรรษของสถานที่ไว้ภายใน 45นาที  

ฉันนำทางเพื่อนในการเดินเล่นรอบๆ ด้วยแอปพลิเคชั่นของแอบบอตส์ฟอร์ด ชื่อ The Convent ที่มีฟังก์ชั่น Self-Guide ในการเดินเล่นด้วยตัวเอง ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของสถานที่จะเด้งขึ้นมาอัตโนมัติ ครอบคลุมทั้ง 11 อาคาร 

 แอบบอตส์ฟอร์ดสร้างขึ้นตั้งแต่สมัย 1850 ก่อนที่แม่ชีจากคณะ Good Sheperd จะเข้ามาซื้อที่ดินสร้างเป็นอารามในช่วงคริสตวรรษที่ 1863 (ยุคแห่ง Victoria Gold Rush) ที่ประชากรจำนวนเพิ่มขึ้นมาก แต่กลับประสบปัญหาความยากจนรุนแรง วัตถุประสงค์ของการก่อตั้ง คือเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ด้อยโอกาส เด็ก ผู้หญิง ในด้านที่พักและอาหาร

Processed with VSCO with a6 preset

จุดพีคของเศรษฐกิจและสังคมของออสเตรเลีย ในปี 1905 ก็คือจุดพีคของคอนแวนต์เช่นกัน  ด้วยจำนวนผู้อยู่อาศัยพุ่งไปมากถึง 1,000 กว่าคนในรั้วอารามนี้ รายได้หลักของที่นี่คือ การทำธุรกิจซักผ้า อาคารที่ฉันสนใจมากที่สุดคือ Mercato และ Mgdalene Laundry Room อดีตสถานที่ประกอบการซักผ้าหลักของอารามที่แม่ชีและผู้อยู่อาศัยจะร่วมกันซักผ้าและรีดผ้าตามที่ได้รับการว่าจ้าง แอปพลิเคชั่นพาเรามายืนหน้าอาคาร 1 ชั้นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่ปัจจุบันถูกดัดแปลงไปเป็น Industry School และแกลลอรี่ ออฟฟิศต่างๆ

 

แต่ประวัติศาสตร์ไม่ได้มีแค่ด้านสว่างเสมอไป

ฉันมาหยุดที่อาคาร The Sacred House เป็นหอพักในสมัยก่อน ตัวอาคารอยู่ด้านในสุดทำให้มองไม่เห็นจากรั้วภายนอก นอกจากคนยากไร้แล้ว ผู้อยู่อาศัยที่นี่ก็คือคนที่สมัยนั้นมองว่าทำตัวนอกกรอบสังคม ทั้งจารีตและกฏหมาย สิ่งที่น่าสนใจ คือ เด็กหลายคนที่อยู่ที่นี่ ไม่ใช่เด็กกำพร้า แต่ความจนในยุคนั้นมันน่ากลัวเสียจนครอบครัวที่มีรายได้น้อย เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือเป็นคนอพยพเลือกที่จะส่งลูกหลานมาอยู่ที่ Foster Care แทน  กรงเหล็กและผนังในหอ The Sacred House มีรอยแตกจากความเก่า แทนรอยร้าวในจิตใจของผู้อยู่อาศัยหลายคนเช่นกัน

 ผลพวงความเศร้าเหล่านี้ มาจากสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง, ยุค Australian Depression, ยุคตื่นทอง (Gold Rush), การปกครองที่ไร้ประสิทธิภาพด้านสังคมสงเคราะห์ และความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ “หดหู่ว่ะ” ฉันหันไปพูดกับเพื่อนขณะเราขึ้นอาคารไปที่ชั้น 2 ที่ปัจจุบันเป็นโรงพิมพ์ผ้าและขายของคราฟต์ ความรู้สึกมันตีกันไปหมด เพราะเราอดที่จะตั้งคำถามกับคำว่า “บ้าน” แห่งนี้ไม่ได้ และในตอนนั้นผู้อยู่อาศัยเขาจะแฮปปี้กับการทำงานเข้าแลกและกฏเกณฑ์ต่างๆ ไหมนะ

ซึ่งดูเหมือนจะไม่ใช่แค่ฉันคนเดียวที่สงสัย ดังที่ปรากฏใน The Journal of the Australian Catholic Historical Society34 (2013) James Franklin ได้เขียนถึงข้อพิพาทที่ว่า ระบบการซักผ้าโดยใช้เด็กและผู้ยากไร้ในคอนแวนต์ของประเทศออสเตรเลียไม่ต่างจากระบบทาสได้อย่างน่าสนใจและตรงไปตรงมาในทุกแง่มุม อาทิ ประสบการณ์โดยตรงจากอดีตผู้ที่อยู่อาศัยในคอนแวนต์สมัยก่อน มุมมองจากคนภายนอกและเหล่าแม่ชี รวมทั้งคำอธิบายว่า ข้อกล่าวหานี้อาจจะเป็นหนึ่งใน propaganda ของศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ที่กำลังเฟื่องฟูขึ้นมาในขณะนั้นก็ได้

 

แอบบอตส์ฟอร์ด คอนแวนต์กับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

เมื่อยุคสมัยเริ่มเปลี่ยน เด็กสาวหลายๆ คนเริ่มได้รับโอกาสในการออกไปใช้ชีวิตข้างนอกอาราม เหล่าแม่ชีได้ขายอารามนี้ในตอนท้าย จนปี 1980 La Trobe University เข้ามาใช้อาคารต่างๆ เป็นมหาวิทยาลัยอย่างเต็มรูปแบบ และด้วยทำเลทองของสถานที่ ที่ติดกับแม่น้ำยาร่าและมีฟาร์มเลี้ยงสัตว์คอลลิงวูด (Collingwood Farm) แอบบอร์ตฟอร์ดคือทำเลทองชั้นดีในการก่อสร้างเป็นอพาร์ตเม้นท์ที่อยู่อาศัย แต่การจะทุบอาคารที่ความเป็นมาที่ยาวนานแบบนี้ทิ้งง่ายๆ ย่อมเป็นเรื่องที่ทำร้ายจิตใจอยู่พอสมควร ยิ่งตัวสถาปัตยกรรมของแอบบอตส์ฟอร์ดเองก็ต่างจากทุกอาคารในรัฐวิคตอเรียอีก ชาวบ้านและนักกิจกรรมเลยออกมาร่วมกันต่อสู้ตั้งแต่ปี 1995 ผ่านการใช้มีเดียรูปแบบต่างๆ จนในที่สุดได้รับชัยชนะในปี 2004 แอบบอตส์ฟอร์ดเลยยังคงอยู่แค่เปลี่ยนเป็นศูนย์กลางของงานศิลปะและวัฒนธรรมที่ไม่หวังผลกำไรแทน

 รายได้หลักของที่นี่มาจากเงินบริจาค เพื่อช่วยพัฒนาและทำนุบำรุงให้เป็นศูนย์รวมของชุมชนต่อไป  หากใครมาหยุดที่หน้าอาคารอารามเก่าตอนนี้มีร้านอาหาร และร้านคอนแวนต์ เบเกอรี ที่พึ่งมาเปิดได้ไม่นาน (จำชื่อร้านนี้ไว้ดีๆ นะคะ เดี๋ยวเราจะเล่าให้ฟังเพิ่มเติมในตอนท้าย) ทั้งยังมีอาร์ตแกลอรี่กว่า 100 แห่งอยู่ด้านบนและด้านล่าง ในช่วงสุดสัปดาห์ คอนแวนต์จะแปลงร่างกลายเป็นตลาดนัดค่ะ หรือหากสนใจสมัครคลาสเรียนต่างๆ ที่นี่ก็มีให้เลือกตั้งแต่ โยคะ การแสดง จนถึงสมาคมนิยมเสียงหัวเราะ (Laughter Club) เป็นต้น

มองแอบบอตส์ฟอร์ด คอนแวนต์  ผ่านความเขียวชอุ่มของสวนและแม่น้ำ

เราเดินอ้อมไปที่ Clarke St. Gate (ทางเข้าหลักในสมัยก่อน) และเดินเลาะสวนลง Yaara Bend Park ที่สามารถทะลุไปสู่ Collingwood Farm ได้  ริมสวนมีแม่น้ำยาร่า (Yaara River) ตัดผ่านเมื่อหันหลังกลับมามองที่แอบบอตส์ฟอร์ดแล้วไม่ต่างจากภาพบ้านเรือนในยุโรปในสมัยก่อนเลยค่ะ ถึงว่าทำไมเขาอยากที่จะอนุรักษ์ลักษณะอาคารแบบนี้ไว้ “เหมือนบ้านแถว Downton Abbey เลย” ฉันพึมพำ แต่เพื่อนกลับบอกว่า “สวนตรงนี้เหมือนเมืองกาญมากกว่า”

เราเดินออกเลาะสวนคอลลิงวูดเจอน้องแกะและน้องม้าเพื่อกลับไปขึ้นเเทรม มีป้ายบอกว่า “น้องๆมีการคุมอาหารอย่างเข้มงวด จะป้อนอะไรก็คิดถึงสุขภาพของน้องๆ หน่อยนะ” สวนนี้มีโปรแกรมและกิจกรรมในการใกล้ชิดบรรดาสัตว์ต่างๆ ระบุไว้ในเว็บไซต์ค่ะ และบริเวณหน้าสุดของฟาร์ม มีร้านฟาร์มคาเฟ่ (Farm Cafe) ตั้งอยู่ จำร้านคอนแวนต์ เบอเกอรี่ ที่ฉันพูดถึงเมื่อสักครู่ได้ไหมคะ

ในเริ่มแรกบริเวณนี้มีร้านคาเฟ่ที่ขายกาแฟและขนมแค่ “ฟาร์ม คาเฟ่” แห่งเดียวเท่านั้น จนเมื่อมีเบเกอรีมาเปิดใหม่ในคอนแวนต์ ทางร้านฟาร์ม คาเฟ่เจ้าแรกก็เตรียมใจรอร้านเจ๊ง เพราะคิดว่าร้านคู่แข่งน่าจะดึงลูกค้าไปหมด แต่ผิดคาดค่ะเพราะทั้งสองร้านกลับขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ด้วยตัวเลือกที่มากขึ้นดึงดูดลูกค้าหลากหลายรูปแบบมากขึ้น ในหน้าเว็บไซต์ของฟาร์ม คาเฟ่เคยพูดถึงเรื่องนี้และบอกว่า “บางครั้งการทำธุรกิจ การมีคู่เเข่งก็ดีเหมือนกัน”

แอบบอตส์ฟอร์ด คอนแวนต์ ได้รับการยกให้เป็นหนึ่งใน National Heritage Building ยังมีความเจ็บปวดของเรื่องราวประวัติศาสตร์ของออสเตรเลียแฝงอัดแน่นในด้านสังคมและความเป็นอยู่ ทุกสถานที่ประวัติศาสตร์ย่อมมีอดีตที่ไม่สวยงาม แต่ประเด็นคือ เขาไม่เคยลืม ในปี 2009 รัฐบาลออสเตรเลียได้แถลงคำขอโทษอย่างเป็นทางการให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบในช่วงดังกล่าวที่เรียกว่า Forgetten Australia สามารถหาอ่านคำแถลงนั้นได้ ที่นี่

Tags: ,