หน้าปกหนังสือแบบเรียนและสมุดหลายสิบเล่มที่ผลิตขึ้นในช่วง พ.ศ. 2500 – 2520 ถูกย่อขนาดลงบนกรอบผ้าใบสีขาว ศิลปินเลือกใช้เทคนิคการวาดภาพปกหนังสือลงผ้าใบทีละเล่ม มีขนาดเท่าเล่มจริง รวมถึงรายละเอียดที่อยู่บนหน้าปก ไม่ว่าจะเป็นรหัสหนังสือที่ถูกกำหนดขึ้นโดยห้องสมุด หรือร่องรอยแห่งความขาดหายที่เกิดขึ้นจากการเวลายังคงปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด ตามเส้นและเงาฝีแปรงของศิลปิน  

นิทรรศการ ‘ประเทศเล็กที่สมบูรณ์’ โดยศิลปิน ประทีป สุธาทองไทย จัดขึ้นที่ 100 ต้นสน แกลลอรี่ ในระหว่างวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 – 5 พฤษภาคม 2562 นำเสนอภาพปกหนังสือที่ผลิตขึ้นจากอำนาจส่วนกลางหรือรัฐไทยในยุคสงครามเย็น ผู้ทำหน้าที่ในการสร้างประวัติศาสตร์และเล่าเรื่องของความเป็นคนไทยและคนอีสานผ่านระบบการศึกษาของประเทศ บนร่องรอยความเว้าแหว่งของการผลิตภาพจำ ศิลปินจัดเรียงและนำเสนอประวัติศาสตร์เหล่านั้นขึ้นใหม่ผ่านภาพวาดและงานวิดีโอจัดวางของเขา เพื่อให้เห็นถึงมิติของเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาหนึ่งของไทย  

ปกหนังสือเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงอุดมศึกษาของไทยในช่วง พ.ศ. 2500 – 2520 ทำหน้าที่หลักในการผลิตและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจต่างๆ ให้เกิดขึ้นในสังคมในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ แน่นอนว่าหนังสือเรียนหลายเล่มผลิตขึ้นจากรัฐบาลผ่านกระทรวงศึกษาธิการและนำไปแจกจ่ายตามโรงเรียนในแต่ละพื้นที่ จุดที่น่าสนใจของหนังสือและสมุดเหล่านี้นอกจากมันจะผลิตชุดความรู้ คุณธรรม ศีลธรรม ภาพจำบางอย่างขึ้นมาในสังคมแต่ละยุคแล้วนั้น หนังสือพวกนี้ยังมีสัญลักษณ์ห้ามขาย โดยประทับตราของกระทรวงศึกษาธิการเอาไว้ ในแง่หนึ่งมันเกิดผลดีกับการศึกษาที่ขยายโอกาสให้กับทุกคนไม่ว่าจะมีสถานะทางการเงินแบบใด หาอ่านและศึกษาได้ง่ายจากในโรงเรียน การผลิตสร้างประวัติศาสตร์และวาทกรรมของรัฐบาลจึงแพร่ขยายไปยังท้องถิ่นแต่ละภูมิภาคได้อย่างทั่วถึง

ปกหนังสือเรื่อง นิทานร้อยบรรทัด เล่ม ๔ เรื่อง ประเทศเล็กที่สมบูรณ์ ของชั้นประถมปีที่ ๕ ปกหนังสือสีเขียวทาบทับด้วยภาพบ้านไม้ยกใต้ถุนสูงกลางทุ่งข้าวสีเขียวและพืชสวนผลไม้ ประกอบกับกังหันลมขนาดใหญ่ที่วางอยู่ตรงกลางภาพ แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ในสังคมเกษตรกรรมของไทยในหลายพื้นที่ พื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติมากมายเป็นสิ่งสำคัญในการหล่อเลี้ยงชีวิตของพวกเขา แน่นอนว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศผู้นำในทางอุตสาหกรรมหรือเทคโนโลยี แต่ประเทศเล็กๆ แห่งนี้ก็อุดมไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติมากมายที่ทำให้คนในชาติมีความสุขไม่น้อยไปกว่าใคร วาทกรรมประเทศเล็กที่สมบูรณ์จากภาครัฐจึงเกิดขึ้นเพื่อปลอบประโลมและสร้างคุณค่าให้กับวิถีชีวิตของคนไทยในยุคสงครามเย็น  

ในขณะที่ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ของประเทศที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยกลับมีภาพที่แตกต่างออกไปจากวาทกรรมเหล่านั้น พื้นที่แห่งความแห้งแล้งและไร้การพัฒนากลายเป็นภาพลักษณ์ของภูมิภาค ทำให้คนในพื้นที่ส่วนใหญ่พยายามดิ้นรนเข้ามาเป็นแรงงานในเมืองหลวงและพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ ภาพจำที่แห้งแล้งของผืนดินอีสานกับการอพยพเข้ามาเป็นแรงงานของชาวอีสาน จึงถูกผลิตซ้ำอยู่เสมอในประวัติศาสตร์กระแสหลักของไทย ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งของภาพวาดปกหนังสือที่อยู่ในนิทรรศการก็ได้ตอกย้ำกับผู้ชมถึงวาทกรรมซ้ำซากที่ว่านี้

แต่ในขณะเดียวกัน มีปกหนังสือบางเล่มที่ผู้เขียนสนใจ ภาพวาดปก สารคดีท่องเที่ยวเพื่อสนับสนุนการเดินทางท่องเที่ยว อีสาน เล่ม 1 และ 2 ผลิตภาพวัฒนธรรมและประเพณีของอีสาน ภาพหญิงสาวในชุดประจำชาติพันธ์และภาพขบวนนางรำเซิ้งซึ่งเป็นเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์และประเพณีของท้องถิ่นถูกนำมาขึ้นปกนิตยสาร ไม่เพียงแค่ประวัติศาสตร์ในรูปแบบของการเป็นพื้นที่แห้งแล้งไร้ซึ่งความเจริญเท่านั้น แต่อีสานยังมีภาพจำในรูปแบบอื่นที่เกิดจากส่วนกลาง ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ภาครัฐกำลังพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นในยุคสมัยนั้น นิตยสารถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเผยแพร่ บอกกล่าวและเชิญชวนให้คนจากต่างพื้นที่เข้าไปทำความรู้จักกับวัฒนธรรมอีสาน ผ่านประเพณีและวิถีชีวิตในท้องถิ่น ภาพที่เกิดขึ้นบนปกหนังสือจึงบ่งบอกถึงความเป็นเอกลักษณ์ ในขณะเดียวกันก็ให้ภาพความแตกต่างระหว่างภูมิภาคกับเมืองหลวงซึ่งเขียนและผลิตชุดความรู้ออกมา     

นอกจากภาพวาดปกหนังสือแล้ว ภายในนิทรรศการยังมีผลงานวิดีโอจัดวาง 2 ชิ้น “อีสานฉันรู้ คุณเข้าใจ ฉันรู้ คุณเข้าใจอีสาน” (2018) ถ่ายทอดภาพการเลี้ยงวัวในพื้นที่ของภาคอีสาน และการจัดเตรียมงานเลี้ยงรื่นเริงด้วยการไปซื้อข้าวของที่ตลาดชุมชน ภาพเคลื่อนไหวที่ศิลปินสร้างขึ้น กำลังพยายามสร้างพื้นที่ใหม่นอกเหนือไปจากเหล่าปกหนังสือซึ่งถูกนำมาจากร่องรอยของอดีต วิดีโอพยายามถ่ายทอดความธรรมดาสามัญของวิถีชีวิต ของผู้คนและพื้นที่ในภาคอีสาน พวกเขามีข้าว มีน้ำ ทำการเกษตรและปศุสัตว์ การแลกเปลี่ยนค้าขาย อีกทั้งยังมีงานพิธีรื่นเริงคอยหล่อเลี้ยงสังคมไม่ต่างไปจากคนในพื้นที่อื่นๆ ตอบโต้กันไปกับภาพวาดปกหนังสือ ไม่มีเสียงหัวเราะจากอีสาน ของ นายรำ ซึ่งมีภาพปกเป็นภาพประติมากรรมนู่นต่ำของผู้หญิงและทารกกำลังร้องไห้จากการจากไปของรัชกาลที่ 5 ที่ประดับอยู่บริเวณสะพานมหาดไทยอุทิศ หรือที่เรียกกันติดปากว่าสะพานร้องไห้

ประติมากรรมชิ้นนี้ถูกทำให้กลายเป็นภาพปกของหนังสือที่กำลังพยายามถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นอีสานผ่านสายตาคู่หนึ่ง ซึ่งเป็นอีสานที่แห้งแล้งและขาดแคลนซึ่งทรัพยากร วิดีโอจึงนำเสนอภาพอีกหนึ่งภาพที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกันในพื้นที่ของอีสาน การใช้ชีวิตที่ธรรมดาสามัญ ไม่อาจลบภาพจำและภาพผลิตซ้ำของอีสานในมุมเดิมได้ แต่ก็ได้ลองเล่าเรื่องราวใหม่ในปัจจุบันที่ต่างไปจากในอดีต ต่างไปจากบริบทของภาครัฐเสียบ้าง

ปกหนังสือที่เดินทางมาจากอดีตล้วนเต็มไปด้วยร่องรอยที่ยืนยันถึงอายุขัยของหนังสือแต่ละเล่มไม่ว่าจะเป็นสีปกที่ซีดเซียวหรือขอบกระดาษที่ไม่แหลมคม เทปกาวยึดหน้าปกที่กำลังจะขาดให้เข้ากับตัวเล่ม กาลเวลากำลังกลืนกินหน้าปกเหล่านั้นทีละเล็กทีละน้อย เช่นเดียวกับประวัติศาสตร์ในเล่มที่กำลังถูกแทนด้วยประวัติศาสตร์ชุดใหม่เพื่อตอบสนองกับอุดมการณ์รัฐในปัจจุบัน เผยแพร่ผ่านแบบเรียนและระบบการศึกษา เช่นเดียวกันกับอุดมการณ์และวาทกรรมชุดเดิมในแบบเรียนยุคสงครามเย็น ถึงแม้กาลเวลาจะทำให้ภาพจำแบบเดิมเลือนหายไป แต่มันยังคงมีตัวตนอยู่บนพื้นที่ของประวัติศาสตร์เอง เช่นเดียวกันกับการใช้เทคนิคภาพเขียนของศิลปิน ที่ขับเน้นภาพปกหนังสือเหล่านั้นเป็นประวัติศาสตร์ด้วยตัวของมันเอง โดยปราศจากการอ้างอิงไปถึงตัวบทเดิม แต่เพียงแค่ภาพหน้าปกก็สามารถเล่าประวัติศาสตร์ของตัวมันเองได้

นิทรรศการ ประเทศเล็กที่สมบูรณ์ จึงกำลังชวนผู้ชมเข้าไปตั้งคำถามเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของวาทกรรมที่ปรากฏอยู่ในสังคมในแต่ละช่วงเวลาของหน้าประวัติศาสตร์ ผ่านการผลิตสร้างความรู้ความเข้าใจในหนังสือและแบบเรียนที่กำกับการรับรู้ของผู้ชมตั้งแต่ปกหนังสือ รวมไปถึงเนื้อหาในเล่ม อีกทั้งยังชวนให้คำนึงถึงกาลเวลาที่กำลังจัดการกับความรู้แต่ละชุดที่ถูกผลิตออกมา ผ่านการลงเส้นและเงาของศิลปินในภาพเขียนปกหนังสือแต่ละชิ้น

หลังจากภาพเขียนและวิดีโอที่อยู่ใน 100 ต้นสน แกลเลอรี่จัดแสดงไปแล้ว ในช่วงท้ายของนิทรรศการ ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม – 28 เมษายน จะมีงานเพอร์ฟอร์มชุด ‘สัตว์มนุษย์ Humanimal’ โดย ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักจิตบำบัดด้วยศิลปะการเคลื่อนไหว ที่จะผู้ชมเข้าไปตั้งคำถามในประเด็นเรื่องการสร้างขึ้นของความรู้ การดำรงอยู่และการเลือนหายไปของตัวมันเอง การแสดงชุดนี้ ดุจดาวนำมาจาก นิยายอันโด่งดัง เขียนโดย พ.ต.อ. ลิขิต วัฒนปกรณ์ ซึ่งเป็นคุณปู่ของเธอเองหนังสือเล่มนั้นชื่อว่า ‘สัตว์มนุษย์’ ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในพ.ศ. 2519

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/events/2243021719271044/

อ้างอิง:

ประชาไท. คุยกับศิลปิน ‘ประเทศเล็กที่สมบูรณ์’ นิทรรศการอีสานในมุมมองรัฐไทยผ่านแบบเรียน. (ออนไลน์). ที่มา : https://prachatai.com/journal/2019/01/80438 (เข้าถึงเมื่อ 16/01/2019)

Tags: ,