ไม่เพียงเขย่าความรู้สึกของผู้ชมจำนวนมหาศาล ไวรัลคลิปที่ทีมวิจัยทางทะเลจากมหาวิทยาลัยเท็กซัส เอ แอนด์ เอ็ม ดึงหลอดพลาสติกออกจากรูจมูกเต่าทะเลเมื่อประมาณสองปีที่แล้ว ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างแรงกระเพื่อมให้คนหันมาสนใจขยะพลาสติกแท่งเล็กจนถึงปัจจุบัน

ดังเห็นได้จากความพยายามของภาคส่วนต่างๆ ในการ ลด-ละ-เลิก ใช้หลอดพลาสติกซึ่งปรากฏเป็นข่าวบ่อยครั้งและเพิ่มความถี่ขึ้นเรื่อยๆ

นับตั้งแต่การรณรงค์ของกลุ่มอนุรักษ์ต่างๆ เช่น กลุ่ม StrawFree.org ในสหรัฐฯ แคมเปญ Straw Wars ในลอนดอน แคมเปญ Straws Suck ในแคนาดา ฯลฯ เพื่อขอความร่วมมือจากผู้บริโภคให้งดใช้หลอด และเชิญชวนผู้ประกอบการร้านอาหาร ผับ บาร์ ให้เลิกเสิร์ฟหลอดพร้อมเครื่องดื่ม เปลี่ยนไปแจกหลอดเฉพาะลูกค้าที่ต้องการใช้

แม้แต่ฟาสต์ฟู้ดยักษ์ใหญ่อย่างแมคโดนัลด์ยังกระโดดร่วมขบวน ด้วยการประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า จะเลิกแจกหลอดพลาสติกในร้านสาขากว่า 1,300 แห่งทั่วสหราชอาณาจักร โดยย้ายหลอดไปเก็บไว้หลังเคาน์เตอร์ จะหยิบให้เฉพาะลูกค้าที่ร้องขอเท่านั้น พร้อมกับทดลองใช้งานหลอดกระดาษในบางสาขาช่วงเดือนพฤษภาคมนี้

นอกจากนี้ ยังมีการใช้ไม้แข็ง คือออกกฎหมายควบคุมหลอดพลาสติก เช่น

เมืองเดวิส รัฐแคลิฟอร์เนีย กำหนดให้ร้านอาหารสอบถามลูกค้าที่นั่งรับประทานภายในร้านว่าต้องการหลอดหรือไม่ และเสิร์ฟหลอด 1 อันให้เฉพาะคนที่ต้องการใช้ตั้งแต่ 1 กันยายน ปีที่แล้ว แต่ยังไม่ควบคุมในส่วนของการซื้ออาหารและเครื่องดื่มกลับบ้าน

เมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน กำลังจะห้ามร้านขายอาหารและเครื่องดื่มใช้หลอดและอุปกรณ์การกินที่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งกลางปี 2561 นี้ โดยให้สอบถามลูกค้ากลุ่มเทค อะเวย์ว่า ต้องการหลอดและอุปกรณ์การกินด้วยหรือไม่ พร้อมทั้งจัดเตรียมหลอด ส้อม มีด ที่ผลิตจากวัสดุย่อยสลายได้หรือรีไซเคิลได้ไว้ทดแทน

ผลการตอบรับที่ซีแอตเทิลดีมาก ยังไม่ทันถึงกำหนดบังคับใช้ ผู้ประกอบการรายย่อยประมาณสองร้อยรายก็ร่วมแคมเปญ “Strawless In Seattle” เปลี่ยนไปใช้ทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกันอย่างคึกคัก

ข้ามมาฝั่งยุโรปกันบ้าง รัฐบาลสก๊อตแลนด์เพิ่งประกาศเมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า จะแบนหลอดพลาสติกภายในปลายปี 2562 โดยต้องหารือกับผู้เชี่ยวชาญถึงวิธีที่เหมาะสม และอาจนำมาตรการบังคับให้ผู้บริโภคจ่ายเพิ่มเข้ามาใช้ร่วมด้วย เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานตามแผนการลดขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งก็ได้ประกาศห้ามใช้แท่งพลาสติกในการผลิตคัตตอนบัตไปแล้วก่อนหน้านี้

ถ้าเป็นภูมิภาคเอเชีย ไต้หวันดูจะก้าวหน้าที่สุดเพราะแถลงอย่างเป็นทางการในเวลาไล่เลี่ยกับรัฐบาลสก๊อตแลนด์ว่า กำลังจะเริ่มใช้กฎหมายควบคุมขยะพลาสติก โดยให้ร้านอาหารชั้นนำรายใหญ่ๆ หยุดบริการหลอดพลาสติกแก่ลูกค้าที่นั่งรับประทานในร้านตั้งแต่ปี 2562 และขยายข้อบังคับนี้สู่ร้านอาหารทั่วไปในปี 2563

จากนั้น ค่อยขยับความเข้มงวดสู่ผู้บริโภค โดยบังคับให้ลูกค้าจ่ายเพิ่มสำหรับหลอด ถุงช้อปปิ้ง แก้วน้ำ และอุปกรณ์การกินที่ย่อยสลายได้ ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายห้ามพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งทุกชนิดภายในปี 2573 ตามโรดแมปที่หน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลไต้หวันกำหนดไว้นั่นเอง

เมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน กำลังจะห้ามร้านขายอาหารและเครื่องดื่มใช้หลอดและอุปกรณ์การกินที่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งกลางปี 2561

#ไม่หลอดเนาะ ในประเทศไทย

เมื่อหันมองสถานการณ์ในบ้านเรา…

การรณรงค์ให้เลิกใช้หลอดพลาสติกโดยสมัครใจเริ่มก่อตัวชัดขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา อาทิ

กลุ่ม ReReef กับเครือข่ายร้านกาแฟและร้านอาหารหัวใจสีเขียว (Green Cafe Network) ริเริ่มขบวนการงดหลอด Straws on Request โดยร้านที่เข้าร่วมขบวนการต้องเปลี่ยนจากเสิร์ฟเครื่องดื่มพร้อมหลอดแบบเดิมๆ มาเป็นแจกหลอดแก่ลูกค้าที่แจ้งความต้องการเท่านั้น

และกลุ่ม greenery.org ที่ชักชวนใครๆ มามอบของขวัญให้โลกตั้งแต่ต้นปี โดยกำหนดภารกิจท้าทายเดือนละ 1 ภารกิจ ให้ผู้สนใจร่วมลงมือทำและแบ่งปันเรื่องราวผ่านกลุ่ม Greenery Challenge ในเฟซบุ๊ก เริ่มเดือนมกราคมด้วย ‘ขวดเดียวแก้วเดิม’ ซึ่งแม้จะเน้นที่การพกกระติกหรือแก้วน้ำส่วนตัวเพื่อลดขยะขวดน้ำพลาสติกและแก้วพลาสติกจากการซื้อเครื่องดื่มในแต่ละวัน ยังต้องแถมพ่วง #ไม่หลอดเนาะ เข้าไปด้วยเพื่อลดขยะหลอดพลาสติกได้อีกชิ้น พร้อมกับเสนอสารพัดหลอดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้เป็นทางเลือก

แต่มาตรการบังคับคงเกิดขึ้นได้ยาก เพราะประเทศไทยเลือกแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยแนวทางประนีประนอมมาตลอด การรอคอยให้รัฐออกกฎหมายแล้วประชาชนค่อยขยับปฏิบัติตาม จึงไม่เข้าท่านักกับวิกฤตขยะพลาสติกขณะนี้

ทั้งจากผลสำรวจโดยทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยจอร์เจียที่ระบุว่า ประเทศไทยทิ้งขยะลงทะเลมากเป็นอันดับ 5 ของโลก และจากผลการศึกษาของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ซึ่งรายงานการจำแนกขยะในทะเลว่า พบหลอดพลาสติกมากเป็นอันดับ 2 รองจากถุงพลาสติก

นอกจากเป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเลโดยตรงแล้ว พลาสติกที่ลอยเท้งเต้งในน้ำเค็มนานๆ ยังสลายตัวเป็น ‘ไมโครพลาสติก’ หรือเศษพลาสติกขนาดจิ๋วเกินกว่าสายตาเราจะมองเห็น จากนั้นก็เข้าสู่ห่วงโซ่อาหารผ่านทางแพลงค์ตอน กุ้ง ปลา ตามลำดับขั้นการกิน

…ปลุกตัวเองได้แล้วนะผู้บริโภคลำดับสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร

รัฐบาลสก๊อตแลนด์เพิ่งประกาศเมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า จะแบนหลอดพลาสติกภายในปลายปี 2562

ไม่ต้องรอให้ใครเริ่ม ผู้บริโภคเริ่มก่อนเลย

อย่างไรก็ดี มาตรการ ลด-ละ-เลิก การใช้หลอดพลาสติกโดยสมัครใจที่ดำเนินการกันอยู่ในขณะนี้ ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่รู้สึกรู้สากับปัญหา ซึ่งมีจำนวนเพียงหยิบมือเท่านั้น แต่ก็ยังเชื่อว่าจะสามารถขยายวงกว้างขึ้นได้หากพวกเราลงมือทำอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับสื่อสารความจำเป็นของการบอกเลิกหลอดพลาสติกไปเรื่อยๆ

ผู้ประกอบการร้านอาหารและเครื่องดื่มที่ใส่ใจเรื่องนี้อาจสื่อสารกับลูกค้าผ่านป้ายขนาดเล็กที่ตั้งบนโต๊ะหรือบนเคาน์เตอร์สั่งอาหารเครื่องดื่ม ผ่านคำอธิบายที่แทรกอยู่ในเมนูเครื่องดื่ม หรือแม้แต่พูดคุยบอกกล่าวกับลูกค้าตรงๆ

ขณะที่ผู้บริโภคซึ่งนิยมลงมือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตัวเองก่อน ก็สามารถยืนยันเจตนาไม่รับหลอดพลาสติกให้ร้านอาหารและเครื่องดื่มรับรู้ได้เช่นกัน เพียงแต่ต้องช่วงชิงจังหวะบอกให้ทัน ก่อนเขาจะเสียบหลอดตามความเคยชิน บางครั้งพลาดบอกช้าเกินไป พนักงานจึงหยิบหลอดใหม่เอี่ยมออกจากแก้วแล้วหย่อนลงถังขยะให้จี๊ดใจเข้าไปอีก

อย่างกรณีของฟาสต์ฟู้ดที่เล่าไปข้างต้นนั่น ซีอีโอเปิดเผยว่า “ลูกค้าหลายคนบอกเราว่า ไม่ต้องการหลอด และถ้าพวกเขาต้องการใช้ ก็จะเอ่ยปากขอพนักงานเอง เราจึงลงมือทำสิ่งนี้”

…เห็นไหม ลูกค้าก็มีพลังพอที่จะเปลี่ยนแปลงผู้ประกอบการด้วย

ใครเริ่มรู้สึกอยากเลิกหลอดพลาสติกขึ้นมาตะหงิดๆ แต่กระอักกระอ่วนที่จะประกบปากกับแก้วนอกบ้าน ขอแนะนำให้พกหลอดที่ใช้ซ้ำได้ เช่น หลอดซิลิโคน หลอดสเตนเลส แต่ต้องไม่ลืมซื้อแปรงไซส์จิ๋วมาล้างทำความสะอาดภายในหลอดด้วยนะ หรือจะติดกระติกน้ำส่วนตัวไปไหนมาไหนก็ได้เช่นกัน

ทั้งหมดนี้ก็แค่อยากให้ช่วยๆ กันคนละมือละไม้ จะได้ไม่มีหลอดพลาสติกใดต้องจบการเดินทางในรูจมูกของเต่าทะเลตัวไหนอีกแล้ว