วัดมิใช่แค่พื้นที่ในการสักการะบูชาและสงบจิตใจของชาวพุทธเท่านั้น หากแต่ยังเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เชื่ิอมโยงกับเหตุการณ์ในอดีตได้อย่างดี และเมื่อศึกษาลงไปถึงสถาปัตยกรรม ภาพจิตกรรม และประวัติของวัด ก็พอจะทำให้เราเห็นภาพอย่างกว้างๆ ว่า ครั้งหนึ่งวัดเหล่านี้เคยมีความสำคัญอย่างไร
อาจารย์นัท-จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา วิทยากรอิสระด้านศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์
เช่นเดียวกับสองวัดสำคัญที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม้จะอยู่คนละด้านกัน คือวัดราชาธิวาสราชวรวิหารอยู่ฝั่งเกาะรัตนโกสินทร์ใกล้เทเวศน์ ส่วนวัดทองนพคุณอยู่ฝั่งธนบุรีย่านคลองสาน ทั้งสองวัดมีความเกี่ยวเนื่องกันในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
เรานั่งเรือล่องไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาและความสำคัญของทั้งสองวัดจากอาจารย์นัท-จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา วิทยากรอิสระด้านศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์
อุโบสถวัดราชาธิวาสวรวิหาร
อุโบสถวัดราชาธิวาสคือต้นแบบหอประชุมจุฬาฯ
ตามประวัติของวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร เดิมชื่อวัดสมอราย จนในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดราชาธิวาสวิหาร” มีความหมายว่า “อันเป็นที่ประทับของพระราชา” เนื่องจากเป็นวัดแรกที่เป็นที่ประทับจำพรรษาของพระภิกษุเจ้าฟ้าแห่งราชวงศ์จักรี นั่นคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎทรงผนวชและจำพรรษา ที่วัดแห่งนี้ และได้ก่อตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายขึ้นมา
สิ่งที่มีความโดดเด่นของวัดราชาธิวาสวรวิหารคือ อุโบสถของวัดที่มีสถาปัตยกรรมไม่เหมือนอุโบสถวัดอื่น มีลักษณะเป็นทรงขอมคล้ายนครวัด ออกแบบโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
ภายในอุโบสถวัดราชาธิวาสวรวิหารประกอบห้องสามตอนคือ ห้องหน้าเป็นระเบียง ห้องกลางเป็นห้องพิธี มีพระสัมพุทธพรรณีเป็นพระประธาน มีนพปฏลมหาเศวตฉัตร หลังพระประธานเป็นซุ้มคูหา มีภาพจิตกรรมฝาผนังภายในแสดงเรื่องพระเวสสันดรชาดก โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเป็นผู้ร่างภาพ และ ศ.ซี.ริโกลี (C. Rigoli) จิตรกรชาวอิตาเลียนเป็นผู้เขียนด้วยการใช้สีปูนเปียก (Fresco)
ขณะที่ศาลาการเปรียญตั้งอยู่หน้าวัด สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงสร้างให้เลียนแบบจากศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี ถือเป็นศาลาการเปรียญที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ซึ่งอุโบสถวัดราชาธิวาสวรวิหารเป็นต้นแบบของหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะสถาปนิกผู้ออกแบบหอประชุมจุฬา คือพระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช สุขยางค์) และพระพรหมพิจิตร (อู๋ ลาภานนท์) ทั้งคู่เป็นศิษย์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทำให้หอประชุมจุฬาเป็นอาคารสถาปัตยกรรมไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีการดัดแปลงศิลปะขอมผสมผสานกับศิลปะไทย ใช้หลังคากระเบื้องเคลือบสีเช่นเดียวกับที่พบในอุโบสถวัดคือสีเขียว สีส้มและสีแดงอิฐ
อุโบสถวัดทองนพคุณ
อุโบสถวัดทองนพคุณชมความงามจิตรกรรมแปลกตา
วัดทองนพคุณสร้างขึ้นสมัยอยุธยาตอนปลาย (ไม่ปรากฎผู้สร้าง) เดิมชื่อวัดทองล่าง ต่อมาพระยาโชฎึกราชเศรษฐี เป็นผู้บูรณะซ่อมแซมและถวายเป็นพระอารามหลวงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้รับพระราชทานนามว่า วัดทองนพคุณ
จิตรกรรมฝาผนังข้างหลังพระประธานเป็นรูปพระวิสูตร หรือผ้าม่าน
ความน่าสนใจของวัดทองนพคุณอยู่ที่อุโบสถ ซึ่งทางวัดไม่ได้เปิดให้ชมเป็นการทั่วไป ภายนอกอุโบสถเป็นหลังคาลด 2 ชั้น ด้านหน้ามีรูปเทพอุ้มผ้าไตร ด้านหลังมีพานรองบาตร หน้าต่างเป็นช่องกลม หน้านางด้านข้าง ข้างละ 4 ช่อง ลวดลายปิดทองประดับกระจก ส่วนพระวิหารหลังคาลด 2 ชั้น ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา ถือปูนเกลี้ยง หน้าบันประดับกระเบื้องสีและถ้วย จาน ชาม อาคารก่ออิฐทรงไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
เหล่าทวยเทพคลี่พระวิสูตรออกมาทั้งด้านซ้ายและขวา
ความงดงามอยู่ที่ภายในอุโบสถ โดยมีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปั้นปางมารวิชัย จิตรกรรมฝาผนังข้างหลังพระประธานเป็นรูปพระวิสูตร หรือผ้าม่าน และมีเหล่าทวยเทพคลี่พระวิสูตรออกมาทั้งด้านซ้ายและขวา และด้านข้างรอบอุโบสถเป็นเรื่องมหาเวสสันดรชาดก เขียนโดยพระครูกสินสังวร และตรงข้ามพระประธานเป็นพระไตรปิฎกทั้ง 3 หมวด ได้แก่ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก วางซ้อนกันอยู่บนตั่ง
อาจารย์นัทให้ข้อสังเกตว่าปกติอุโบสถวัดอื่นจะไม่เขียนภาพจิตรกรรมแบบนี้ คือหลังพระประธานมักเป็นภาพไตรภูมิ และตรงข้ามพระประธานจะเป็นพุทธประวัติตอนมารผจญ แต่ภาพจิตรกรรมของอุโบสถวัดทองนพคุณหาเป็นเช่นนั้นไม่
มีเรื่องเล่าว่า รัชกาลที่ 4 เสด็จพระราชดำเนินมาถวายผ้าพระกฐินที่วัดแห่งนี้ ทรงตรัสชมว่าแปลกตา และจะเลื่อนสมณศักดิ์พระครูกสินสังวร ให้เป็นพระราชาคณะ แต่พอเห็นภาพเหล่านางเทพธิดากำลังฟ้อนรำในลักษณะโป๊เปลือย ด้วยรัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าไม่เหมาะสมที่จะอยู่ในวัด ทำให้พระครูกสินสังวรไม่ได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์อีกเลย
*เราไปสองวัดนี้โดยขึ้นเรือท่าเรือส่วนตัวของโครงการบันยันทรี เรสซิเดนซ์ ริเวอร์ไซด์ ซึ่งเป็นคอนโดมิเนียมหรูบนที่ดินริมโค้งน้ำแห่งสุดท้ายในกรุงเทพฯ และมีเรือให้บริการเฉพาะลูกค้าโครงการ*
*ภาพบางส่วนจากอาจารย์นัท-จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา วิทยากรอิสระด้านศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์*
Tags: วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร, วัดทองนพคุณ