หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติประกาศใช้มาตรา 44 ขยายระยะเวลาการจ่ายค่างวดของคลื่น 900 เมกะเฮิตซ์ จากแต่เดิม 4 งวด เป็น 10 งวด และเปิดโอกาสให้ทีวีดิจิทัล 22 ช่อง สามารถคืนใบอนุญาติได้โดยไม่ต้องจ่ายค่างวดที่เหลืออีก 13,622 ล้านบาท รวมถึงยกเว้นค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัลปีละ 1,960 ล้านบาท จนสิ้นอายุใบอนุญาติ
ในส่วนของทีวีดิจิทัล ในข้อ 10 ของประกาศฉบับนี้ระบุว่า ผู้ประกอบการรายใดที่ประสงค์คืนใบอนุญาติ ให้แจ้งเป็นหนังสือยังสำนักงาน กสทช. ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คำสั่งมีผลบังคับใช้ และให้สำนักงาน กสทช. พิจารณากำหนดค่าชดเชยให้แก่ผู้รับใบอนุญาติดังกล่าวตามความเหมาะสม ทั้งนี้ ผู้รับใบอนุญาติประกอบกิจการทีวีดิจิทัลทั้ง 22 ช่อง ไม่ต้องนำเงินประมูลในงวดที่ 5 และ 6 มาชำระให้กับ กสทช. ส่วนรายที่นำเงินมาชำระแล้วก็สามารถมาขอคืนได้
ทางด้านผู้ประกอบการโทรคมนาคม ได้แก่ เอไอเอส ทรู และดีแทค จะได้รับการขยายระยะเวลาการจ่ายค่างวดเพิ่มเป็น 10 งวด จากแต่เดิมที่ เอไอเอส และทรู ต้องจ่ายงวดสุดท้ายเป็นจำนวนเงินรวมภาษีมูลค่าเพิ่มประมาณ 63,000 ล้านบาทในปี 2563 ก็ให้เปลี่ยนเป็นทยอยจ่ายงวดละ 12,800 ล้านบาทต่อปี จนถึงปี 2567 ทางด้านดีแทคที่ประมูลเป็นรายหลังสุดให้จ่ายงวดสุดท้ายจนถึงปี 2570
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เคยเขียนบทความลงใน 101.world มองสาเหตุการขาดทุนของทีวีดิจิทัลไว้ 3 ประการ ได้แก่ การเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วมาก และความบกพร่องของ กสทช. ตามที่ศาลปกครองเคยชี้ไว้ ดร.สมเกียรติมองว่าสาเหตุ 2 ประการแรก เป้นความเสี่ยงโดยปกติของการทำธุรกิจจึงอยู่นอกขอบเขตการรับผิดชอบของรัฐ แต่ในประการที่ 3 เป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการทำงานของ กสทช. เอง ทั้งความเชื่องช้าในการแจกคูปอง การกระจายกล่อง ตลอดจนการจัดการกับเอกสารต่างๆ จึงควรชดใช้และช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม ต้องเป็นไปในขอบเขตที่เหมาะสมและถี่ถ้วนรอบคอบ
ในส่วนของผู้ประกอบการโทรคมนาคม ดร.สมเกียรติมองว่า การที่รัฐเข้าช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคมอาจจะไม่สมเหตุสมผลนัก เพราะผู้ประกอบการในส่วนดังกล่าวไม่ได้สูญเสียผลกำไรจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี อีกทั้งยังไม่พบว่าภาครัฐ หรือ กสทช. ดำเนินการผิดพลาดอย่างมีนัยยะสำคัญในส่วนนี้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการโทรคมนาคมมีค่าใช้จ่ายใน 3 งวดแรก ตกเพียงงวดละ 17,000 ล้านบาท และให้จ่ายงวดสุดท้าย 64,000 ล้านบาท ซึ่งแตกต่างจากการประมูลคลื่นความถี่โดยทั่วไปในต่างประเทศ และการประมูลคลื่น 3G ที่ผ่านมาในประเทศไทย ที่มักจะให้จ่ายค่าประมูลทั้งหมดตั้งแต่ช่วงแรก
ดังนั้น การขยายระยะเวลาจ่ายและยกประโยชน์ลดหย่อนหนี้ให้กับผู้ประกอบการโทรคมนาคม อาจจะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ที่ควรจะได้สูงสุดกว่า 30,000 ล้านบาท โดยส่วนต่างตรงนี้ มาจากความต่างของดอกเบี้ยภายใต้กรอบเงื่อนไขระยะเวลาปกติ 1.5% ตามเงื่อนไขการประมูล กับดอกเบี้ยการจ่ายค่าประมูลล่าช้า ซึ่งสูงถึง 15% ต่อปี
และล่าสุด ดร.สมเกียรติ ได้ออกมาโพสต์ผ่านเฟสบุ๊ค Somkiat Tangkitvanich ได้วิจารณ์เรื่องนี้เพิ่มเติมว่า “ผู้ที่จะเสียเปรียบจากมาตรการดังกล่าวคือประชาชนผู้เสียภาษี เพราะการที่รัฐยืดหนี้ให้ทั้งสามรายคือ การยกผลประโยชน์ของประชาชน 2.4 หมื่นล้านบาท ให้กับนายทุนโทรคมนาคม” อีกทั้ง เขายังไม่เห็นด้วย ในข้ออ้างที่ว่า ให้ยืดหนี้ให้ผู้ประกอบการ เพื่อที่ผู้ประกอบการเหล่านี้จะได้มีเงินมาประมูลคลื่น 5G เพราะเห็นว่า ประเทศไทยยังไม่มีบริการเชิงพาณิชย์ที่ต้องใช้ระบบ 5G อย่างชัดเจน และอันที่จริง ในปัจจุบันมีเพียง จีน เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกาบางเมืองเท่านั้น ที่เปิดให้บริการคลื่น 5G ในเชิงพาณิชย์
เขาเสริมด้วยว่า รัฐบาลประยุทธ์ขาดความรับผิดชอบทั้งในทางกฎหมายและในทางการเมือง โดยในทางกฎหมาย การใช้มาตรา 44 ทำให้ฝ่าย คสช. มีอำนาจที่จะไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ในการกระทำของตน ส่วนในทางการเมืองก็ทำให้ คสช. รอดพ้นจากการโจมตีของฝ่ายตรงข้ามว่าเอื้อประโยชน์ให้นายทุน ทั้งนี้ เขากล่าวทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า “เราคงอดคิดไม่ได้ว่า แม้คสช. จะประกาศตัวเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แต่รัฏฐาธิปัตย์แท้จริงที่เหนือกว่า คสช. ก็คือกลุ่มทุนบางกลุ่มนั่นเอง”
อ้างอิง:
- https://www.thairath.co.th/content/1542465
- https://www.the101.world/nbtc-for-whom/
- https://www.thairath.co.th/content/422826
- https://www.facebook.com/exthaipbs/posts/ทวงเงินกว่า-2พันล้าน-ผู้ประกอบการกล่องรับสัญญาณดิจิทัล-จี้-กสทช-เร่งจ่ายเงินตกค้/389703851213171/
เครดิตรูป:
NICOLAS ASFOURI / AFP
Tags: มาตรา 44, กสทช., คสช.