2 ปีก่อน เป็นครั้งแรกที่ อุทิศ เหมะมูล ได้จัดนิทรรศการศิลปะ ภาพร่างของปรารถนา เพื่อแสดงผลงานภาพเขียนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ร่างของปรารถนา นวนิยายเล่มล่าสุดของเขา หากใครมีโอกาสได้แวะเวียนไปคงจะจดจำกลุ่มภาพสเก็ตช์และงานจิตรกรรมที่หมกมุ่นอยู่กับเรือนกายเปลือยเปล่า และกิจกรรมทางเพศซึ่งแสนจะยั่วเย้าเร่าร้อนได้เป็นอย่างดี
2 ปีผ่านไป อุทิศกลับมาอีกครั้งกับนิทรรศการศิลปะครั้งใหม่ในชื่อ ความสุขของแสง : The Light of Day เขาบอกว่างานชุดนี้ไม่ดุดันเท่าเก่า ไม่หวังจะปลุกเร้า แต่เลือกหยิบฉวยรายละเอียดเล็กๆ ในชีวิตประจำวันมาคลี่ให้เห็น
ภายในพื้นที่โปร่งโล่งของ The Factory Gallery ณ The Jam Factory ที่แสงอาทิตย์ส่องผ่านตลอดวัน อุทิศในชุดสีฟ้าสว่างยิ้มกว้างขณะค่อยๆ นั่งลงตรงหน้าภาพวาดชุดหนึ่งของเขา ก่อนจะเริ่มต้นเล่าถึงเรื่องราวของนิทรรศการศิลปะครั้งนี้
ระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่นิทรรศการ ภาพร่างของปรารถนา จนมาถึงงานนี้ คุณทำอะไรอยู่บ้าง
ก็เขียนหนังสือ เขียนนิยายเรื่องใหม่ ตั้งแต่แสดงงานครั้งที่แล้ว เราก็ตัดสินใจว่าจะกลับมาวาดรูปอีกครั้ง ระหว่างนั้นเราก็วาดรูปอยู่ตลอดเวลา
นิทรรศการนี้เริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร
มันเดินหน้าต่อมาจาก ภาพร่างของปรารถนา คืองานชุดนั้นจะค่อนข้างดุเดือด เลือดพล่าน เร่าร้อน แต่จากจุดนั้นเราค่อยๆ เดินออกจากความต้องการจะนำเสนอความรุนแรงในเรื่องเพศ นัยยะในเรื่องเพศ รวมถึงท่วงท่าและปฏิบัติการณ์ของคน มาสู่ความงามในชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งที่จับต้องได้มากขึ้น มีความใกล้ชิดกับตัวศิลปินมากขึ้น
ใน ภาพร่างของปรารถนา ข้อมูลทั้งหมดที่เรานำมาวาดจะมาจากหนังโป๊ สิ่งที่เรามองหาคือท่วงท่า และความหมายในกิจกรรมทางเพศ ที่จะสามารถเชื่อมโยงการรับรู้ของคนไปสู่บริบทอื่น และความหมายอื่นได้ แต่พอเป็นงานชุดนี้ เราไม่ได้จับที่ท่าที ท่าทาง แต่เป็นอากาศ และบรรยากาศที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวแบบ หรือสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาของชีวิตประจำวัน เป็นโมงยามความงดงามเล็กๆ ที่เราสามารถไปจับภาพมาได้ สิ่งที่ชัดเจนมากๆ ในงานชุดนี้จึงคือความอ่อนหวาน สิ่งที่เราเข้าไปสัมผัสคืออารมณ์ละเอียดอ่อนของมนุษย์ ทั้งในเรื่องที่เป็นส่วนตัว และเรื่องที่ไม่ต้องแสดงออกชัดเจน
แต่เราก็ยังเห็นภาพวาดที่สะท้อนเรื่องเพศในงานแสดงชุดนี้อยู่นะ
พอตัวความคิดของเราคลายออก แน่นอนว่าแม้ตัวแบบจะเป็นเปลือยอยู่ แต่มิติของความเปลือยน่ะมันมากกว่าการเปลือยร่างกาย เพราะบางทีการเปลือยร่างก็นำไปสู่มิติอื่น สิ่งที่เปลือยที่สุดในภาพชุดนี้สำหรับเราคือการเปลือยอารมณ์ อารมณ์ของภาพที่แตกต่างไปจากร่างของปรารถนาที่เราจะกระชากเปลื้องผ้าตัวแบบออกเพื่อให้ผู้ชมเห็น แต่งานครั้งนี้จะมีเรื่องเล่ามากขึ้น เราไม่ได้อยากจะถ่างตาคนดูให้จับจ้องไปที่ภาพเหมือนกับภาพร่างของปรารถนา ครั้งนี้เราไม่ได้บังคับแล้ว
อารมณ์และความรู้สึกของคุณในการทำงานชุดนี้เปลี่ยนไปไหมเมื่อเทียบกับช่วงภาพร่างของปรารถนา
ก็เปลี่ยนนะ เพราะเราทำงานที่ใกล้เคียงชีวิตขึ้น เอาแค่มุมมองในการสร้างงานของผู้วาดเองก็เปลี่ยน ภาพร่างของปรารถนาจะเหมือนการจัดแสดงภาพบนเวที แต่ว่างานชุดนี้ไม่ใช่การจัดแสดงบนเวทีแล้ว แต่เหมือนการที่เราค่อยๆ พาผู้ชมเข้าไปในบ้านของตัวละคร เข้าไปดูในห้องน้ำ แทนสายตาของเรากับสายตาของคนดู คือคุณไม่ได้ดูการแสดงของแบบอีกแล้ว แต่อาจเป็นหลังการแสดงของพวกเขา ที่กำลังอาบน้ำ แปรงฟัน เปลี่ยนเสื้อผ้า สวมยกทรง ไปว่ายน้ำ หรือเที่ยวทะเล เป็นมุมมองหลังจากงานแสดงครั้งก่อน คือถ้าภาพร่างของปรารถนาเป็นการแสดงบนเวที งานครั้งก็นี้คือการเข้ามาในพื้นที่ส่วนตัวของตัวแบบ
หมายความว่าในครั้งนี้ ตัวแบบในรูปก็อาจไม่ได้รู้ตัวว่ากำลังถูกจับจ้องอยู่
ใช่ครับ
คุณได้ชื่อ Light of the Day มาจากไหน
ภาพชุดนี้เป็นการสำรวจมองความสัมพันธ์ของมนุษย์ผ่านตัวแบบ ผ่านมุมมองที่ใกล้ชิด และแนบแน่น งานครั้งนี้เลยมีความลึกซึ้งขึ้น เราพยายามคิดชื่องานเป็นภาษาอังกฤษ รู้ว่าอยากได้อารมณ์ประมาณไหน ก็นึกถึงประโยคเริ่มต้นของ Lolita ที่ว่า “Lolita, light of my life…” แต่เราอยากได้คำที่กระชับสั้น จนเราไปเจอชื่อ ‘The Light of Day’ จากชื่อหนังสือของเกรแฮม สวิฟต์ (Graham Swift) นักเขียนชาวอังกฤษ เราว่ามันเป็นชื่อที่เพราะมาก เราเลยยืมชื่อนี้มาใช้
แล้วอย่างนิยามของแสงในงานแสดงครั้งนี้ คุณหมายถึงแสงจากธรรมชาติเพียงอย่างเดียว หรือหมายถึงแสงอื่นๆ ร่วมอยู่ด้วย
เราหมายถึงแสงทุกอย่างแหละ ระหว่างเขียนภาพเราก็สำรวจความเป็นแสงไปด้วย คือแสงในที่นี่ก็มีตั้งแต่แสงอาทิตย์ ซึ่งก็มีตั้งแต่แสงอรุณ ยามสาย กลางวัน เย็น แสงค่ำ รวมถึงแสงไฟ หรือแสงที่มาจากตัววัตถุที่ทึบแสง เราวาดหมด ค่อยๆ สำรวจมิติของแสงว่าเกิดจากอะไรได้บ้าง และแน่นอน แสงแห่งความทรงจำ เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้น ที่เราเคยได้รับ ได้เห็น ได้สัมผัส และได้รู้จักมัน
เรียกได้ไหมว่ารูปทั้งหมดในงานนี้มาจากเรื่องจริง
จะพูดอย่างนั้นก็ได้นะ เพราะมันมาจากตัวประสบการณ์ชีวิตของศิลปิน ประกอบไปด้วยสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเรา
คิดว่าคนดูจะรู้จักคุณมากขึ้นไหมหลังจากเดินดูนิทรรศการครั้งนี้
ในฐานะที่เราเป็นนักเขียน คนอ่านมักชอบพูดว่า อุทิศชอบเขียนแต่เรื่องจริง เหมือนออกมาจากชีวิตจริงของตัวนักเขียนมากๆ ตัวงานชุดนี้ก็อาจให้ความรู้สึกแบบนั้นก็ได้ แต่ไม่ว่าจะจริง หรือแต่ง สิ่งที่เราทำไปก็ล้วนต้องใช้กระบวนการทางศิลปะในการสร้างขึ้นมาอยู่แล้ว คือถ้าผู้ชมปักใจเชื่อแต่แรกว่าเป็นเรื่องจริงในชีวิตอุทิศ เขาก็จะปิดโอกาสตัวเองที่จะให้กระบวนวิธีทางศิลปะเข้าไปเชื่อมโยงกับประสบการณ์ของเขา การมีความทรงจำ หรือประสบการณ์อย่างเดียวไม่พอ ในฐานะศิลปินเราต้องใช้ศิลปะถ่ายทอดออกมา มันคงไม่จริงไปทั้งหมด แต่ขอแค่ให้สัมผัสรับรู้ได้ว่านี่คือจริงในอารมณ์ จริงในจินตภาพที่เกิดขึ้น
ในคำบรรยายของนิทรรศการนี้ คุณพูดถึงความเป็นพื้นที่สาธารณะในฐานะพื้นที่ซึ่งแสงส่องผ่าน ช่วยอธิบายตรงนี้หน่อยได้ไหม
เราก็พูดสวยๆ หล่อๆ ไปงั้นแหละ (หัวเราะ) จริงๆ คือเราพยายามจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ว่า เหมือนการเดินเข้ามาในแกลเลอรี ก็เหมือนการเดินเข้ามาในห้องของคนๆ หนึ่ง มันเป็นพื้นที่ส่วนตัว แต่เมื่อใดก็ตามที่พื้นที่ส่วนตัวถูกเผยแพร่ออกไป ไม่ว่าจะด้วยรูปแบบไหน มันก็จะกลายเป็นสาธารณะขึ้นมา ไม่ว่าจะด้วยการถ่ายรูปห้องแล้วโพสต์ลงบนเฟสบุ๊ก อินสตาแกรม หรือแค่เราพอใจที่จะโชว์มันออกไป ความหมายของพื้นที่ก็เปลี่ยนไปด้วย
พอความหมายของพื้นที่เปลี่ยน มันเลยมีการปะทะกันระหว่างพื้นที่ส่วนตัว กับพื้นที่สาธารณะที่ถูกกำหนดด้วยสื่อ หรือช่องทางที่เกิดขึ้น มันเลยเป็นการไหลเวียน การถูกเห็น การได้มอง หรือการที่ตัวพื้นที่ส่วนตัวเองต้องการโชว์ หรือเรียกร้องความสนใจจากสาธารณะ คือการต้องการถูกมองเห็น ซึ่งก็คือแสง คืออากาศ ข้ามไปข้ามมาระหว่างความเป็นส่วนตัว กับความเป็นสาธารณะ เราเลยแสดงให้เห็นถึงแสง และอากาศที่ผ่านเข้ามา
ในชีวิตปัจจุบัน โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย พื้นที่ส่วนตัวของเรามันถูกเห็นด้วยคนเป็นร้อย ใครๆ ก็เห็นได้ อยู่ที่ไหนก็เห็นได้ นิยามของพื้นที่มันเลยเลือนไป เราว่าบางทีคนก็ไม่ทันฉุกคิดเหมือนกันนะเวลาเรามีเฟซบุ๊ก หรือไอจี แล้วคิดว่านี้คือบ้านของตัวเอง คิดว่าจะโพสต์อะไรก็ได้ พูดอะไรก็ได้ แต่พื้นที่ส่วนตัวนี้ความหมายมันต่างไป เพราะมันถูกเชื่อมโยงกับคนอื่นด้วย เราจะคิดว่านี่คือพื้นที่ส่วนตัวโดยไม่ตระหนักว่ามันก็เป็นพื้นที่สาธารณะที่ซ้อนกันอยู่ไม่ได้ เพราะมันจะถูกเห็นไม่ใช่แค่จากเราเพียงคนเดียว
ประเด็นนี้เหล่านี้รบกวนจิตใจคุณไหม การโพสต์ในพื้นที่ส่วนตัวแต่มันกลับเป็นเรื่องสาธารณะ
ก็ไม่นะ เราก็ค่อยๆ ถามให้เกิดความเข้าใจ ให้ความเข้าใจกับตัวเอง เพราะเราก็ยังไม่ตายเนอะ ไม่ใช่จะโง่ ตะพึดตะพือว่า เฮ้ย นี่คือห้องของกู มึงไม่พอใจ มึงก็ออกไปสิ มันไม่ได้ อย่างพื้นที่สาธารณะในการแสดงงานศิลปะครั้งนี้ ที่ถึงแม้ว่าจะนำเสนอเรื่องส่วนตัว แต่ก็ผ่านกระบวนการคัดกรอง ยังไงก็ตามเรายังเป็นผู้ที่เปิดและปิด และสร้างขอบเขตให้กับคนที่จะเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ได้ ด้วยวิธีที่เราจะนำเสนอออกไป
อย่างคุณเองก็ดูจะเป็นคนที่กล้าจะเปิดภาพส่วนตัวให้คนได้เห็นอยู่เหมือนกัน อย่างภาพร่างกายเปลือยเปล่าของตัวเองที่จัดแสดงในงานครั้งนี้
สำหรับเรา ภาพวาดยังไงก็จะแตกต่างกับรูปถ่ายอยู่แล้ว ถ้าเราถ่ายตัวเองโป๊ทั้งตัวแล้วไปโพสต์เฟซบุ๊ก มันก็จะทุเรศทุรังเกินไป (หัวเราะ) แต่พอมันผ่านการวาดรูป ผ่านกระบวนการที่เราคัดกรองตัวเอง ซึ่งมันไม่ใช่ภาพสดๆ ออกไปเหมือนรูปถ่าย เมื่อมันผ่านกระบวนการทางสุนทรียะเหล่านี้ไปแล้ว มันก็แตกออกไปจากตัวเราด้วย ภาพของอุทิศ แต่ก็ไม่ใช่อุทิศที่อยู่ตรงนี้ ต่อให้เห็นทั้งตัว ก็ไม่ใช่อุทิศที่ถอดเสื้อผ้าให้เห็นทั้งตัว มันเป็นอีกตนหนึ่งไปแล้ว เราเลยไม่เคยมีปัญหาเรื่องนี้ ไม่เคยอายที่จะเสนอภาพตัวเองในฐานะของ self portrait เราสร้างตัวตนใหม่ขึ้นมา เหมือนกับแบบทุกแบบที่มันอาจมีคนจริงอยู่ก็ได้ แต่มันก็เป็นตัวตนใหม่ของคนนั้น ไม่ว่าจะในทางวรรณกรรม หรือจิตรกรรม
เล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมว่าผลงานต่างๆ ในนิทรรศการครั้งนี้ คุณใช้เทคนิคทางศิลปะอะไรบ้าง
เราก็วาดไปตามความเข้าใจของตัวเอง มีหลายๆ ภาพที่ถ่ายรูป แต่แน่นอนว่ามันไม่ได้เห็นเหมือนกับตอนที่ตาเห็น เวลาถ่ายรูปมาก็จะอารมณ์เสียว่า วงแสงพวกนี้มาจากไหน มันไม่ใช่อย่างที่ตาเห็นเลย (หัวเราะ) แต่อย่างน้อยมันก็เป็นไกด์ไลน์ได้แหละ เราก็เอามาวาด ในแง่เทคนิคของกระบวนการสร้างงานก็โดยปกติเลย นักเรียนศิลปะก็รู้กันอยู่แล้วว่ามันจะมีสีโทนร้อน กับโทนเย็น สีโทนร้อนให้ค่าเป็นแสงอยู่แล้ว สีโทนเย็นก็ให้ค่าเป็นเงา แต่นั่นก็แค่พื้นฐานแหละ
แต่ในงานครั้งนี้จะมีเรื่องของสีคู่ตรงข้าม ตัวสีที่อยู่คู่ตรงข้ามที่พอผสมกันแล้วจะให้ค่าเป็นสีดำ หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า สีเน่า ไม่ควรผสมกันเลยเพราะจะเน่า ในแม่สีจะมีสีเหลือง แดง น้ำเงินใช่ไหม ซึ่งสามสีนี้น่ะ จะมีสีที่ไม่ว่าจะเอาแม่สีผสมยังไงก็ให้สีนั้นไม่ได้ เช่น เอาน้ำเงินไปผสมกับอะไรก็ให้สีส้มไม่ได้ เพราะเป็นสีคู่ตรงข้ามกัน ซึ่งถ้าน้ำเงินเจอส้มก็เน่า สองคือสีเหลืองเอาไปผสมกับอะไรก็ไม่มีทางได้สีม่วง และถ้าม่วงเจอเหลืองก็จะเน่า สุดท้ายคือแดงที่ผสมยังไงก็ไม่ได้เขียว แล้วถ้าสองสีนี้เจอกันก็เน่า ในภาพชุดนี้ทั้งหมด เราใช้สีคู่ตรงข้ามในการสร้างแสงและเงาเป็นส่วนมาก ถ้ามองจะเห็นว่าเราจะไม่ค่อยใช้สีดำในภาพ แต่จะสร้างค่าสีดำจากการใช้สีคู่ตรงข้าม
เรามองว่าตัวเองก็เหมือนเด็กอนุบาลนะ มาตั้งคำถามกับการใช้สีใหม่ เราอยากสร้างความหมายของการใช้สีให้มีความหมายกับตัวเรา ว่าทำไมเราถึงเลือกใช้สีคู่ตรงข้ามมาผสมกัน คำถามที่ใหญ่ขึ้นคือเราคิดว่าในชีวิตของมนุษย์ โดยเฉพาะในความสัมพันธ์ มันไม่ใช่แค่เห็นต้องตรงกันแล้วจะไปด้วยกันได้ หรืออยู่กันรอด แต่มันมีทั้งส่วนที่ขัดแย้งกัน ไม่เข้ากัน แต่มันอยู่ที่วิธีที่เราจะจัดการกับความไม่ลงรอย เพื่อทำให้ความสัมพันธ์มันดำเนินไปได้
ปกติแล้วภาพที่มีอยู่ในหัวคุณ กับภาพที่เสร็จออกมาจะเป็นภาพเดียวกันไหม
บางทีก็ไม่ แต่คือการที่มันจะไม่เหมือน ไม่ได้แปลว่ามันไม่ใช่ บางภาพมันก็ได้ของตัวมันเอง ซึ่งแค่นี้เราจบแล้ว เหมือนเราได้เจออะไรใหม่ๆ ระหว่างวาดไปบางครั้งเราตั้งใจจะให้ได้มากกว่านี้ แต่พอระหว่างทำเรากลับพบว่า เออ ก็ได้แล้วนี่ จะต้องพยายามอะไรอีกมากมาย กระบวนการแบบนี้มันเคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ที่เราจะยังยื้อจะทำ ยังไปขยี้ซ้ำอยู่อีกทั้งที่มันโอเคอยู่แล้ว ถ้ามันผ่านไปแล้วมันก็จะไม่ย้อนกลับมา แล้วก็จะมานั่งเสียดาย ล้างสีออกก็ไม่ได้อีก
งานจิตรกรรมมันมีแต่ต้องทับ ต้องทำเพิ่ม เอาออกไม่ได้ เป็นธรรมชาติของมัน เราว่าต้องจับเซนส์ของความบังเอิญให้ได้ ซึ่งจะต่างกับงานวรรณกรรมที่พอเราเขียนเสร็จ ถ้ารู้สึกยังไม่ใช่ เราก็ยัง copy paste มาลองเขียนอีกแบบได้
เราว่าสิ่งสำคัญคือต้องหาความบังเอิญให้ได้ ความบังเอิญที่เกิดจากมือเรา แล้วรู้จักพอ หลายชิ้นในงานแสดงนี้เกิดจากความบังเอิญนะ บางภาพเราไม่ได้จะให้เป็นอย่างนี้หรอก แต่พอทำไปได้สัก 60% ก็มานั่งมองว่า จะยังมีอะไรต้องใส่มากกว่านี้อีกเหรอ เพราะอารมณ์ที่เราอยากจะใส่ไปก็มีอยู่แล้ว มันได้โดยตัวเอง ไม่จำเป็นต้องมีอย่างอื่น หรือองค์ประกอบอื่นแล้ว แค่นี้แหละ นิ่ง สงบ เวิ้งว้าง มีเสียงแล้ว จบ
อย่างในกรณีของภาพร่างของปรารถนาก็เป็นการต่อยอดมาจากวรรณกรรม แล้วกับนิทรรศการครั้งนี้ล่ะ จะมีการต่อยอดไปในรูปแบบอื่นอีกไหม
จริงๆ มันก็ไม่เชิงหรอก มันก็มีการต่อยอดแหละ แต่เราไม่อยากพูดว่ามันจะเชื่อมโยงกันขนาดนั้น แต่งานชุดนี้มันเกิดขึ้นพร้อมๆ กับช่วงที่เรากำลังเขียนนิยายเรื่องใหม่ ซึ่งเราคิดว่าบรรยากาศของมัน พื้นอารมณ์เลยจะเป็นแบบเดียวกัน ชุดความคิดที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา ที่เกิดขึ้นกับตัวศิลปินน่ะ มันเป็นชุดเดียวกัน อันหนึ่งถูกแปลงเป็น painting อีกหนึ่งก็ถูกแปลงเป็น literature เราเขียนนิยายเสร็จแล้วแหละ แต่ยังไม่รู้จะพิมพ์เมื่อไหร่ ตอนนี้ก็ดูภาพชุดนี้ไปก่อนแล้วกัน (ยิ้ม)
Tags: อุทิศ เหมะมูล, ร่างของปรารถนา, ความสุขของแสง : The Light of Day, ภาพร่างของปรารถนา