1. แม้กระแสในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์จะไม่ตูมตามเท่านักการเมืองของคนอีกเจเนอเรชัน แต่อย่าลืมว่า ‘สุเทพ เทือกสุบรรณ’ หรือ ‘ลุงกำนัน’ ของชาว กปปส. คือคนที่เคยระดมมวลชนมหาประชาชนหลักล้านและสร้างกระแสป็อปให้กับการชุมนุมใหญ่บนท้องถนนมาแล้วเมื่อ 5 ปีก่อน

แล้วพลังขับเคลื่อนเพื่อประชาชนที่เคยพลุ่งพล่านบนท้องถนนในวันนั้น มาวันนี้เป็นอย่างไร? กลุ่มที่เคยมีพลังและ ‘เสียงดัง’ จะยังคงอำนาจเหมือนก่อนไหม? นี่เป็นคำถามท้าทายทุกฝ่าย

เพราะระยะเวลา 5 ปีก็นานพอที่จะทำให้ลมเปลี่ยนทิศ และคนเปลี่ยนช่วงวัยไปตามวันเวลา เราเริ่มเห็นมวลชนกลุ่มใหม่ๆ หลายกลุ่มออกมาเป็นแนวหน้าของการเคลื่อนไหวและสร้างสีสันทางการเมือง เมื่อบริบทของสังคมไม่เหมือนเดิมก็ยิ่งทำให้การเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 น่าลุ้นและตื่นเต้นเกินคาดเดา

ก่อนจะไปถึงวันนั้น เราจึงชวน ‘ลุงกำนัน’ – สุเทพ เทือกสุบรรณ มานั่งคุยกันยาวๆ เพื่อสำรวจแนวคิดในฐานะที่เขาเองก็เป็น opinion leader หรือผู้นำทางความคิดของมวลชนคนเมืองจำนวนมหาศาล แถมวันนี้เขามีหมวกเพิ่มสองใบ คือ แกนนำพรรครวมพลังประชาชาติไทย และประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย

ลองสำรวจจุดยืนของสุเทพ ผ่านการนั่งคุยเรื่องเก่าๆ ในอดีต และมองไปสู่อนาคตข้างหน้าว่าเขาและ ‘ประชาชน’ จะเคลื่อนตัวต่อไปกับวิธีคิดใด

 

 

 

ช่วงนี้นักการเมืองคนอื่นเดินสายหาเสียง แต่คุณสุเทพเดินสาย ‘คารวะแผ่นดิน’ กิจกรรมนี้มีเป้าหมายอะไร

การไปเดินคารวะแผ่นดิน คารวะประชาชน ในเป้าหมายแรก คือไปอธิบายให้พี่น้องประชาชนได้เข้าใจว่า ทำไมจึงต้องมีพรรคการเมืองที่แท้จริงของประชาชน ที่เราตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทยขึ้นมา เพื่อจะให้เป็นพรรคการเมืองของประชาชนที่แท้จริง เนื่องจากว่ายังไม่เคยมีพรรคการเมืองของประชาชนที่แท้จริงเลยในประเทศไทยนับตั้งแต่เราเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 เป็นต้นมา

 

พรรคการเมืองของประชาชนต้องเป็นอย่างไร

ผมยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจนอย่างนี้ว่า เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเสร็จใหม่ๆ ก็มีคณะราษฎรซึ่งเข้ามายึดกุมอำนาจทางการเมืองในประเทศไทย ต่อมาคณะราษฎรก็แตกกัน จอมพล ป. (พิบูลสงคราม) ก็ตั้งพรรคของจอมพล ป. นายปรีดี (พนมยงค์) ก็ตั้งพรรคของนายปรีดี นายควง (อภัยวงศ์) ก็ตั้งพรรคของนายควง ต่อมาม.ร.ว.คึกฤทธิ์ (ปราโมช) ก็ตั้งพรรคของหม่อมฯ คึกฤทธิ์ แล้วใครต่อใครก็ตั้งกันมาเรื่อย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม (กิตติขจร) ก็ตั้งพรรคของตัวเอง หลังจากนั้นก็มีพรรคของกลุ่มซอยราชครูซึ่งในที่สุดก็กลายมาเป็นพรรคของนายบรรหาร ศิลปอาชา แล้วก็มีพรรคของนายทักษิณ ชินวัตร

เราจะเห็นว่าพรรคการเมืองเหล่านี้มีเจ้าของพรรค คนเหล่านั้นเป็นเจ้าของพรรค ก็กวาดต้อนเอาบรรดานักการเมืองเข้ามาอยู่ในพรรคของตัวเอง แล้วก็ทำงานการเมืองตามคำสั่งของเจ้าของพรรค หรือกลุ่มหุ้นส่วนของเจ้าของพรรคเป็นคนบงการชี้นำ

แล้วเรามีประสบการณ์ที่ชัดเจนว่า พรรคการเมืองที่รับใช้หัวหน้าพรรค เจ้าของพรรค ไม่ค่อยฟังเสียงประชาชน ตัวอย่างสดๆ ร้อนๆ ชัดๆ เมื่อคราวที่พรรคเพื่อไทยพยายามผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับ ‘สุดซอย’ ประชาชนทั้งประเทศเขาไม่เอาด้วย ไม่มีธรรมเนียมที่ไหนที่จะออกกฎหมายล้างความผิดให้ผู้ที่กระทำความผิดอาญาแผ่นดิน ฆ่าคนตาย เผาบ้านเผาเมือง ทุจริตคอร์รัปชัน เขาไม่ฟัง ดึงดันจะเอากฎหมายนี้ออกมาให้ได้ ยกมือโหวตกันตอนตี 4 กว่าที่ประชาชนเรียกว่า ลักหลับ ทั้งที่ประชาชนออกมาชุมนุมคัดค้านแล้วนะ เขาไม่ฟัง จะเอาชนะให้ได้

นักการเมืองเหล่านี้ เวลาจะรับใช้เจ้าของพรรคการเมืองนี่ยอมเป็นยอมตาย ทำอะไรสารพัดอย่าง เสี่ยงคุกเสี่ยงตะรางแทนเจ้าของพรรคก็เอา แม้กระทั่งเรื่องที่ใช้อำนาจในทางการเมืองเพื่อประโยชน์ของเจ้าของพรรคก็ทำมาแล้ว กรณีที่แก้กฎหมายโทรคมนาคมเพื่อให้นายทักษิณ ชินวัตร ขายหุ้นให้บริษัทเทมาเส็กได้ก็ชัดเจน แก้กฎหมายเสร็จสามวัน ขายให้เทมาเส็กเลย หรือกรณีแก้กฎหมายสรรพสามิตเพื่อจะให้ธุรกิจของครอบครัวนายทักษิณไม่ต้องจ่ายเงินส่วนแบ่งให้กับรัฐ ทำจนกระทั่งรัฐมนตรีก็ติดคุกไป อย่างนี้เขาก็กล้าทำ

 

ถ้าอย่างนั้น แสดงว่าเสียงเลือกตั้งของคนจำนวนมากที่เคยลงคะแนนเสียงให้พรรคเพื่อไทย ไม่สามารถเป็นตัวชี้วัดได้ว่านั่นคือเสียงของประชาชน?

คือผมชี้ให้เห็นว่า พรรคการเมืองเหล่านั้น ความที่เขาไม่ใช่พรรคการเมืองของประชาชน เขามุ่งที่จะไปรับใช้เจ้าของพรรคมากกว่ารับใช้ประชาชน ยังไม่ปรากฏว่ามีพรรคการเมืองไหนที่จะทุ่มเท ยอมเป็นยอมตายที่จะมาแก้ไขปัญหาให้กับปัญหาความทุกข์ยาก ความเดือดร้อนของประชาชนจริงๆ

ประชาชนเหล่านี้ เวลาเลือกตั้งก็เพียงแต่คิดวาทกรรม จะแก้ปัญหาคนจน จะแก้ปัญหาปากท้องประชาชน จะดูแลแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม แต่เอาจริงๆ ก็ไม่ใช่ วิธีการที่คนเหล่านี้หรือพรรคการเมืองเหล่านี้ทำ มันกลายเป็นแข่งขันกัน เอากิเลสของประชาชนมาหลอกล่อ เลยกลายเป็นนโยบายประชานิยมอย่างที่เราเห็น โดยไม่ได้มีเหตุมีผลมารองรับ

ผมยกตัวอย่างเช่น เวลาเขาต้องการได้เสียงจากชาวนา เขาก็บอกว่า เขาจะรับจำนำข้าวเปลือกจากชาวนาทุกเมล็ด เกวียนละ 15,000 บาท ไม่มีเหตุผลสนับสนุนเลยว่า ทำไมต้องเป็น 15,000 บาท แถมยังเกิดความไม่เสมอภาคไม่เท่าเทียมกันอีก เกษตรกรไม่ได้มีเฉพาะชาวนา ยังมีชาวไร่ข้าวโพด ชาวไร่มันสำปะหลัง ชาวไร่อ้อย ชาวสวนยางพารา ชาวสวนปาล์ม ที่เขามุ่งเป้าไปที่ชาวนาเพราะว่าจำนวนเยอะนะ เป็นก้อนเป็นกำ อันนี้ผมเห็นชัดว่า ไม่ได้มีความสุจริตใจที่จะช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเสมอภาคกัน เพียงเลือกเอาว่าตรงไหนที่จะทำให้ได้คะแนนเสียงมากกว่าก็เอาตรงนั้น

 

พรรครวมพลังประชาชาติไทยจะแตกต่างไปจากนี้?

ใช่ ใช่ วันนี้เราถือว่านี่คือพรรคของประชาชน เพราะฉะนั้นภารกิจของพรรคของประชาชนก็คือแก้ปัญหาของประชาชน เราเป็นพรรคชาวบ้าน มุ่งแก้ปัญหาของชาวบ้าน ผมไปเดินคารวะแผ่นดินมา ก็ไม่ใช่แค่ไปอธิบายว่า ทำไมเราต้องมีพรรคการเมืองของประชาชน ทำไมต้องชวนประชาชนมาร่วมกันเป็นเจ้าของพรรคนี้ ผมยังไปฟังอีกว่าประชาชนก็กำลังทุกข์ร้อนเรื่องอะไร เขาคิดอ่านอย่างไร ผมไปเดินมา 70 กว่าจังหวัด ประชาชนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เศรษฐกิจของชาวบ้านกำลังวิกฤตมาก ถ้าปล่อยไว้ปัญหานี้จะใหญ่โต จนกระทบประเทศโดยส่วนรวม

 

เห็นคลิปเผยแพร่ช่วงคุณสุเทพเดินคารวะแผ่นดิน มันมีปฏิกิริยาที่หลากหลาย และมีปฏิกิริยาเชิงลบด้วย

ผมก็นั่งจด จด จด สิ่งที่ชาวบ้านพูด ผมฟัง ชาวบ้านเขาก็ฟังไปด้วย ชาวบ้านก็พูดเรื่องนี้แหละ คือต้องทำความเข้าใจก่อนนะ ราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำมันไม่ได้มาเกิดขึ้นเมื่อวานนี้หรือปีที่แล้ว มันต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว เอาเป็นว่าราคายางพาราตกต่ำมาตั้งแต่สมัยที่คุณยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) เป็นนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้นะฮะ ถ้าพวกเราจำได้ คุณยิ่งลักษณ์เคยมอบให้คุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นคนแก้ไขปัญหายางพารา แล้วในที่สุดก็แก้ไขไม่ได้ พอชาวบ้านไม่มีเงิน แม่ค้าแม่ขายก็ขายของไม่ได้ ผมเดินตลาดสดมาเรียกว่าทุกจังหวัด ผมตื่นตี 4 ตี 5 แล้วไปเดินตลาดสด พบแม่ค้า พบคนที่มาซื้อข้าวซื้อของ ตลาดสดส่วนใหญ่ซบเซา คนมาซื้อน้อย คุยกับพ่อค้าแม่ขายตามห้องแถวต่างๆ แม่ค้าในตลาดสดก็จะบอกผมว่า ลุงกำนันจะคิดอ่านอะไรก็รีบไปทำ หาทางให้ชาวไร่ชาวนาเกษตรกรมีเงินมีรายได้

 

แล้วทางพรรคประเมินรัฐบาลหลังเลือกตั้งอย่างไร คิดว่าตัวเองจะได้เข้าไปอยู่ในส่วนไหน

เอาอย่างนี้ก่อน ประเด็นตรงนี้ก่อนนะ ประเด็นเรื่องชาวบ้านก่อน ผมจึงเป็นคนแรกที่ออกมาพูดว่า เศรษฐกิจของชาวบ้านไม่ดี เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนในสังคมวันนี้ต้องมาให้ความสนใจ แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของชาวบ้าน ผมก็มารายงานกรรมการบริหารพรรค ทีมวิชาการของพรรค พรรครวมพลังประชาชาติไทยจึงได้กำหนดเป็นนโยบายว่า เราจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจชาวบ้านที่ตรงไปตรงมาชัดเจนที่สุด

แต่ทีนี้ ถามว่าจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจชาวบ้านอย่างไร ก็ต้องทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น มีเงินเหลือที่จะจับจ่ายใช้สอยเลี้ยงครอบครัวได้ นโยบายของพรรครวมพลังประชาชาติไทยจึงได้กำหนดว่า เราจะต้องให้เกษตรกรชาวไร่ชาวนาทั้งหลายขายผลผลิตของเขาแล้วได้กำไร มีเงินเหลือกลับบ้าน แต่ว่าการที่จะทำอย่างนี้ ต้องทำกันด้วยเหตุผล ไม่ใช่เอากิเลสของประชาชนมาเป็นของเล่นในทางการเมือง ไม่ได้หลอกล่อด้วยกิเลส

 

คุณสุเทพคิดว่าจะได้ดำเนินนโยบายนี้ ในฐานะฝ่ายรัฐบาลไหมคะ

จะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้านก็ต้องทำ วันนี้ต้องผลักดันให้ประเทศเดินหน้าไปอย่างนี้ เราเป็นรัฐบาลเรามีอำนาจทำก็ทำเอง ทำไม่ได้เราก็ต้องรบกับรัฐบาลว่า ก็ต้องทำอย่างนี้ คุณปล่อยให้เกษตรไปตามยถากรรมนี้ไม่ได้

 

ถ้าให้คุณสุเทพลองให้คะแนนว่า…

เดี๋ยวค่อยเอาคะแนน เอาเรื่องของผมก่อนนะ

สิ่งที่เราจะทำก็คือ อันแรก วางแผนการผลิต การแปรรูป การตลาด เท่ากับเรารู้เป้าหมายว่าจะต้องผลิตอะไร เอาไปเข้าโรงงานอุตสาหกรรมกันอย่างไร มีตลาดไหนรองรับ สามารถจะให้ข้อมูลกับเกษตรกรได้ว่า ควรเพิ่มลดกำลังผลิตส่วนไหนก่อนที่เขาจะลงทุนไป

อันที่สองที่ต้องทำก็คือ ต้องคำนวนต้นทุนพืชผลทางการเกษตรกันอย่างจริงจัง ข้าวนาปีต้นทุนเกวียนละเท่าไร ยางพาราที่เป็นยางแผ่น ยางแผ่นดิบ ต้นทุนเท่าไร ปาล์มน้ำมันต้นทุนเท่าไร มันสำปะหลังต้นทุนกิโลฯ ละเท่าไร วันนี้มันคำนวณได้แล้ว ตัวเลขอย่างนี้มันเป็นคณิตศาสตร์ เป็นวิทยาศาสตร์ ทีนี้พอคุณประกาศราคาได้แล้ว คุณก็ต้องประกาศ ‘ราคาเป้าหมาย’ รัฐบาลต้องกล้าหาญที่จะประกาศว่า รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้ราคาพืชผลการเกษตรไปถึงเท่าไร

พรรครวมพลังประชาชาติไทยคิดว่า ราคาเป้าหมาย ต้องเป็นราคาทุนบวกกับกำไรที่เกษตรกรเขาสมควรจะได้รับ

 

เราใช้คำว่าประกันราคาได้ไหมคะ

ไม่ใช่เลย ไม่ได้เกี่ยวกับเขาเลย เรามีราคาต้นทุนที่เป็นมาตรฐาน วันนี้มันมีคอมพิวเตอร์หมดแล้ว ถ้าค่าแรงอย่างนี้ ค่าปุ๋ยเท่านี้ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงเท่านี้ ต้นทุนมันจะเท่าไร แล้วรัฐบาลก็ประกาศราคาเป้าหมายเลยนะครับ

ผมยกตัวอย่าง ชาวสวนยาง ต้องแบกรับความเสี่ยง ฝนตกน้ำท่วมเจ๊งหมด ฝนแล้งก็เจ๊งหมด โรคระบาดมา จะเป็นโรคอะไรก็แล้วแต่ เจ๊งหมด ต้องแบกภาระมาก พรรครวมพลังประชาชาติไทยคิดถึงว่าเกษตรกรต้องได้กำไร 100% เขาถึงจะอยู่ได้ แบกรับความเสี่ยงได้ เช่น ถ้าเราคำนวณว่าข้าวเปลือกนาปีต้นทุนคือ 6,000 บาท เพราะฉะนั้นราคาเป้าหมายที่รัฐบาลจะประกาศคือ 12,000 บาท ยางพาราของประชาชนต้นทุน 40 บาท เพราะฉะนั้นรัฐบาลต้องประกาศว่าราคาเป้าหมายก็คือ 80 บาท

แล้วมันเป็นธรรมตรงที่ว่ารัฐบาลจะใช้มาตรการทุกอย่าง กำลังคน งบประมาณ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้กำไรใน 100%

ทีนี้สมมติว่า รัฐบาลประกาศราคาเป้าหมายไปแล้ว รัฐบาลก็ต้องทำมาตรการที่เข้าไปเสริม ว่าทำอย่างไรถึงจะให้บรรลุเป้าหมาย ให้เกษตรกรขายได้ตามราคาเป้าหมาย นี่เป็นหน้าที่รัฐบาล แต่เราไม่จำเป็นต้องแทรกแซงกลไกปกติของตลาด อย่างเช่นคราวที่แล้ว ที่เขาใช้นโยบายรับจำนำข้าว เขาไปแทรกแซงกลไกการค้าตามปกติ จนกระทั่งทั้งระบบพังหมดเลย ถูกไหมครับ บอกว่าให้จำนำข้าวทุกเมล็ด ชาวนาก็ โอ้โฮ ตั้ง 15,000 บาท ข้าวมีเท่าไรก็ไปจำนำหมดเลย

 

แล้วจะทำอย่างไรถ้าไม่ต้องแทรกแซงตลาด

เห็นที่เกิดขึ้นไหมคราวที่แล้ว พอเอาข้าวไปจำนำหมด ลูกไม่มีข้าวกิน พอรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่จ่ายเงิน ฆ่าตัวตาย เห็นไหม จำได้ใช่ไหม อันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้น เราไม่ต้องการให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น เพราะว่าการที่รัฐบาลเข้าไปดำเนินการโดยวิธีนี้ มันเป็นช่องโหว่ให้มีการทุจริตคอร์รัปชันกันได้สารพัด เช่น ไปเอาข้าวจากเขมร ซื้อมาเกวียนหนึ่ง 5,000-6,000 บาท เอามาจำนำรัฐบาล 15,000 บาท รวยกันไม่รู้เท่าไร โครงการจำนำข้าวโครงการเดียวเราเสียหายไปตั้ง 5-6 แสนล้าน ทั้งโดยข้อผิดพลาด ทั้งโดยการทุจริตคอร์รัปชัน ไอ้อย่างนี้เกิดขึ้นอีกไม่ได้แล้วนะในประเทศไทย

 

ในเมื่อคุณสุเทพก็มีประสบการณ์ ทำงานในฐานะนักการเมืองมาก็ยาวนาน ทำไมครั้งนี้ถึงไม่ลงสมัคร ส.ส. เพื่อเข้าไปแก้ปัญหาเหล่านี้ในระบบ

เดี๋ยว อันนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นคำถามที่ต้องตอบ เดี๋ยวผมจะตอบ ผมพูดตรงนี้ให้คุณเห็นภาพนี้ก่อนนะ พอเรากำหนดราคาเป้าหมายเสร็จ รัฐบาลก็ต้องใช้มาตรการนะครับว่าจะทำอย่างไร คุณเห็นไหมเมื่อเดือนที่แล้ว ท่านนายกรัฐมนตรีกัมพูชาไปประเทศจีน กลับมาก็แถลงว่า จีนจะสั่งซื้อข้าวจากกัมพูชาเพิ่มเป็น 4 แสนตัน อย่างนี้เป็นมาตรการการเจรจาทางการเมือง เราก็ทำได้ เราจะต้องเจรจากับจีน เจรจากับประเทศที่เขาต้องนำเข้าข้าว อย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย ประเทศตะวันออกกลาง แล้วต้องประกาศให้สินค้าเกษตรทั้งหลายเป็นสินค้าควบคุม ไม่ใช่ปล่อยให้พ่อค้าไปแข่งขันกันขายราคาถูกๆ แล้วก็กลับมากดราคาซื้อ

ทีนี้ถ้าสมมติว่ารัฐบาลทำทุกอย่างแล้วไม่ได้ รัฐบาลก็แสดงความรับผิดชอบได้นะครับว่าเมื่อเกษตรกรผลิตได้เท่านี้ด้วยต้นทุนเท่านี้ รัฐบาลพยายามให้ขายได้เท่านี้ แต่ปรากฏว่าทำแล้วมันไม่ได้ รัฐบาลก็เติมส่วนที่ขาดให้เกษตรกร ไม่ใช่ประกันรายได้นะ เติมส่วนที่ขาดให้เขา เช่นเราตั้งเป้าว่า ให้ชาวสวนยางขายได้ 80 บาท แต่พอรัฐบาลทำไปแล้ว ปรากฏว่าเกษตรกรขายได้ 70 บาท เกษตรกรก็ไม่ต้องโวยวายอะไร คุณก็เอาหลักฐานการซื้อขายธรรมดาส่งให้รัฐบาล รัฐบาลก็โอนเงินจากกระเป๋ารัฐบาลไปเข้ากระเป๋าคุณ 10 บาทต่อกิโลฯ ไม่มีใครมาทุจริต ไม่มีใครมาดักกินหัวคิวกลางทางได้

ตอนที่ผมทำให้ยางพาราขายได้กิโลฯ ละ 170-180 นี่ ชาวสวนยางเปลี่ยนจากหลังคาสังกะสีเป็นหลังคากระเบื้อง ซื้อรถมอเตอร์ไซค์ ซื้อทีวีใหม่ บางคนก็ซื้อรถปิ๊กอัปใหม่ การค้าการขายดี เศรษฐกิจข้างหน้าจะดีเลย

ทีนี้ จะมีเกษตรกรอีกประเภทหนึ่งที่อย่างไรก็ไม่พอกินเพราะมีที่ดินน้อย มีที่ 2 ไร่ 3 ไร่ เป็นหน้าที่ที่รัฐบาลจะต้องเข้าไปดูแล เหมือนกับประชาชนที่อยู่ตามสลัม ตามชุมชนทั้งหลายในกรุงเทพฯ หรือในเมืองใหญ่ๆ มีทุกเมือง คุณไปดูสิ เขาลำบากนะ เศรษฐกิจที่ผมพูดว่าไม่ดี เศรษฐกิจชาวบ้านเนี่ย ไม่ใช่เฉพาะต่างจังหวัดนะ คุณไปเดินตลาดในกรุงเทพฯ ก็เหมือนกัน ผมเดินมาแล้ว

  

มันเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วยไหมคะ

นี่ไง ที่เราพูดเรื่องเหลื่อมล้ำเนี่ย เป็นวาทกรรม เป็นนามธรรม แต่จริงๆ มันพูดจริงได้ ด้วยคอมพิวเตอร์ ด้วยข้อเท็จจริง วันนี้คุณคำนวณได้เลยว่า ครอบครัวหนึ่งควรจะมีเงินเท่าไร เขาถึงจะมีชีวิตอยู่ได้ ผมสมมตินะว่า 2 คน สามีภรรยามีลูกเล็กคนหนึ่ง ควรจะมีรายได้เดือนหนึ่ง 15,000 บาทถึงจะอยู่ได้ สมมตินะฮะ สามีได้มา 10,000 แสดงว่าเขาขาด 5,000 บาท เป็นหน้าที่ที่เราจะต้องเอาคนในครอบครัวนี้มาเข้าโครงการพิเศษที่จะสร้างรายได้ให้กับเขา

พรรครวมพลังประชาชาติไทยกำหนดว่า เราจะต้องนำเอาศาสตร์พระราชา เศรษฐกิจพอเพียงมาดำเนินการ ทำโครงการเศรษฐกิจพอเพียงกันอย่างจริงจัง เพื่อที่จะช่วยเหลือคนเหล่านี้ให้เขามีชีวิตที่พอเพียงได้ ถึงวันนี้ผมคิดว่า เราต้องมาพูดความจริงกันแล้วว่า คนครอบครัวหนึ่งควรจะมีรายได้เท่าไร เขาถึงจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างสมศักดิ์ศรี พอเพียงที่เป็นมนุษย์

 

พอเพียงนี่รวยได้ไหม

คนรวยไปอีกทางหนึ่ง อันนี้ผมหมายถึงคนที่ลำบากก่อน พาเขาไปถึงเส้นนี้ก่อน (ยกมือขึ้นวาดเส้นมาตรฐานกลางอากาศ) พอจาก 15,000 ที่เป็นเส้นมาตรฐานแห่งความพอเพียง เราก็ต้องมาคุยกันนะ คนที่อยู่ในกรุงเทพฯ วันนี้ ที่จะเรียกได้ว่ามีชีวิตอยู่มั่นคงแล้วควรจะมีรายได้เท่าไร เช่นสมมติว่าเส้นความพอเพียงมันอยู่ที่ 15,000 นะ ครอบครัวสองคนถ้าจะให้รู้สึกว่าอยู่ได้ไม่อัตคัดขัดสน มีเงินเหลือออมบ้าง ต้อง 25,000 บาท สมมติอย่างนี้ ก็เป็นหน้าที่เราที่ต้องต่อยอดว่า จะพาคนจาก 15,000 ไป 25,000 อย่างไร

  พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ไม่ได้สอนให้คนไทยรอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลนะ นิทานเรื่องพระมหาชนกท่านให้เราเพียรพยายาม แล้วต้องพูดกันด้วยเหตุผล แล้วครอบครัวเองก็ต้องวางแผนนะ มีรายได้เท่านี้เราจะใช้ได้อย่างไร คนในเมือง คนในชนบท เหมือนกัน ไม่มีที่ดิน 20 ไร่ 30 ไร่ เขามีอยู่ 3 ไร่ 5 ไร่ ก็ต้องเอาเขามาเข้าโครงการ ช่วยให้เขามีรายได้ ยืนอยู่ได้ด้วยตัวเขาเองอย่างพอเพียง นี่เป็นเรื่องใหญ่ ถ้าชาวบ้านมีรายได้ มีกำไร มีเงินเหลือ กำลังซื้อก็มี ในขณะเดียวกัน ต้องช่วยเขาลดรายจ่าย คนที่แต่งงานแล้ว มีลูกแล้ว สิ่งที่กังวลมากที่สุดก็คือไม่รู้ว่าเอาสตางค์ที่ไหนส่งลูกเรียน กลุ้มใจมากนะ วันนี้เราต้องปฏิรูปการศึกษา ทำไปด้วยกัน เพื่อจะลดภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว เรื่องการศึกษาของลูก

 

เราคุยเรื่องนโยบายกันมาพอสมควรแล้ว ขอย้อนถามไปถึงเรื่องของ กปปส. ในอดีต ที่มีคนมองว่าการออกมาชุมนุมของ กปปส. เป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการรัฐประหาร คุณสุเทพมีความเห็นต่อคำกล่าวนี้อย่างไร

จริงๆ แล้วถ้าใครยกประเด็นนี้ขึ้นมาถามเนี่ยนะ เราก็ต้องถามเขาด้วยความเคารพด้วยว่า คิดอย่างนั้นจริงเหรอ.. คิดอย่างนั้นจริงเหรอ.. ผมอยากจะกราบเรียนอย่างนี้ว่า โดยข้อเท็จจริง ผมไม่ได้ไปเรียกร้องเชิญชวนให้ทหารเขามาปฏิวัตินะ วันนั้นผมไม่ใช่เป็นคนว่างงานนะ ผมเป็น ส.ส.นั่งอยู่ในสภานะ แล้วผมเห็นว่าบ้านเมืองมีปัญหา ผมก็ลาออกจาก ส.ส. ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ มาต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับประชาชนบนถนนนะครับ เพราะว่าเห็นแล้วว่า ประเทศอันตราย ไม่มีทางที่จะทำอย่างอื่นได้นอกจากต้องใช้พลังของประชาชนมาเพื่อระงับยับยั้งไม่ให้รัฐบาลทรราชมีอำนาจทำการปกครองประเทศต่อไป ผมใช้คำว่า รัฐบาลทรราช เพราะเขาใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม ใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้อง เขาทุจริตคอร์รัปชัน เขาฆ่าคน เขาทำสารพัดนะ ผมไม่ต้องบรรยาย

 

ตอนนั้นที่มีการชุมนุมใหญ่ เป้าหมายหลักก็คือขับไล่รัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์ใช่ไหม

มันเป็น 2 ตอนนะ ตอนแรกที่เราออกมาชุมนุม เรามาชุมนุมเพื่อที่จะต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมก่อน จำได้ใช่ไหมครับ ประชาชนที่ถึงจุดที่ทนไม่ได้จริงๆ กับกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอย

  นั่นเป็นเรื่องใหญ่เลย เมื่อเราพยายามจะแสดงพลังต่อต้าน คัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรม ปรากฏว่าถูกปราบปรามรุนแรง แล้วก็ใช้เล่ห์เหลี่ยมชั้นเชิงหลอกล่อกับประชาชน นึกว่าประชาชนโง่เง่าเบาปัญญานะ อยู่ๆ ก็บอกว่าถอนกฎหมายหมดแล้วทุกฉบับ ส่วนร่างฉบับนี้ เมื่อวุฒิสภามีมติไม่รับ ส่งคืนมาก็ถือว่าจบ ที่จริงมันไม่ใช่ กฎหมายที่วุฒิสภาส่งคืนมาที่สภาผู้แทนราษฎร เก็บไว้แค่ 180 วัน ส.ส. คนเดียวยกขึ้นมาพิจารณาใหม่ ลงมติทีเดียวใช้ได้เลย ทีนี้ประชาชนจะตั้งตัวไม่ทัน

  เพราะฉะนั้น ประชาชนก็เห็นว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ฟังประชาชน ไม่จริงใจกับประชาชน ใช้เล่นเล่ห์เหลี่ยมกับประชาชน โหดร้ายกับประชาชน เพราะฉะนั้น การต่อสู้หลังจากนั้นก็ยกระดับจากการต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรม กลายเป็นต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์

 

แต่ตอนนั้น พอรัฐบาลยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภาแล้ว ทางมวลชนก็ยังเคลื่อนไหวต่อ พร้อมวาทะที่ว่า ‘ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง’

ถูกต้อง ถูกต้อง

พูดตรงนี้ดีแล้ว วันนั้นพอประชาชนชุมนุมต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มันไม่ใช่แค่ล้านสองล้านคนนะ มันเป็นสิบๆ ล้านคนทั่วประเทศไทย แน่นอนที่มาชุมนุมกับผม นอนกลางดินกินกลางถนน อยู่ตามราชดำเนิน ลุมพินี อันนี้แค่ 3-4 ล้านคน หมุนเวียนกันไป แต่ว่าจังหวัดต่างๆ ก็มีเวทีขึ้นตามจังหวัดต่างๆ เหมือนกัน แถมยังมีผู้สูงอายุนะนั่งเฝ้าจอทีวีเชียร์กัน พอกระแสมันแรงถึงขนาดนี้ ยิ่งลักษณ์ก็ยุบสภาใช่ไหมครับ ประชาชนเห็นเลยว่า ไอ้นี่เป็นแผนการทางการเมือง ยุบสภาเพื่อที่จะกลับไปเลือกตั้งใหม่ แล้วกลับมามีอำนาจอีกนะครับ ประชาชนเห็นแล้ว

 

หมายความว่า ประเมินกันแล้วว่าถ้าเลือกตั้งใหม่เขาก็ชนะอีกแน่นอน

มันเห็นชัดเจนแล้ว คุณจำไม่ได้เหรอ ปี 2552-2553 เขาทำอะไรกับประเทศไทยบ้าง ทั้งณัฐวุฒิ (ใสเกื้อ) ทั้งจตุพร (พรหมพันธุ์) ทั้งหมอเหวง (โตจิราการ) ใครต่อใครเยอะแยะเอาปืนมายิงกับทหารที่ถนนราชดำเนิน พลเอกร่มเกล้า (ธุวธรรม) ตาย ทหารตาย ประชาชนตาย เผาโรงหนังสยาม เผาเซ็นทรัลเวิลด์ เผาศาลากลางจังหวัด ประชาชนเห็น แต่พอเลือกตั้งปี 2554 พวกเขาก็ชนะอีก ประชาชนเห็นแล้วว่า การเมืองที่เป็นอยู่ ระบบการเมืองที่เป็นอยู่ มันไม่ใช่ประชาธิปไตยที่แท้จริง มันเป็นประชาธิปไตยเฉพาะชื่อ ประชาธิปไตยแบบปลอมๆ

  กรรมวิธีที่จะเข้ามาสู่อำนาจโดยผ่านกลไกการเลือกตั้ง ถ้าเป็นอยู่อย่างนั้น ไม่มีทางที่จะได้คนดีเข้ามานะ คนก็รู้แล้ว ทั้งซื้อเสียง ทั้งใช้อิทธิพล ทั้งโกงกันสารพัด ประชาชนถึงบอกว่านี่แย่ ต้องปฏิรูปการเมือง ต้องปฏิรูปแก้ไขทุจริตคอร์รัปชัน ต้องปฏิรูประบบการบริหารราชการแผ่นดิน ต้องปฏิรูปเรื่องกระบวนการวิธีการในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ต้องปฏิรูปเรื่องของกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือตำรวจ

 

แต่พอมีการรัฐประหารแล้ว จากวันนั้นมาจนถึงวันนี้ คิดว่าการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งสัมฤทธิ์ผลจริงไหม หรือว่ามันหยุดชะงัก

เมื่อกี้ที่ผมพูดว่า เราต้องการให้มีการเลือกตั้งภายใต้กฎเกณฑ์กติกาอย่างใหม่ วันนี้ต้องให้เครดิต คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ว่าเขาเขียนรัฐธรรมนูญ เป็นฉบับที่ประชาชนรู้สึกว่า นี่คือรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปประเทศ ถ้าคุณมีโอกาสได้ไปศึกษารัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็จะเห็นว่ามีบทบัญญัติว่าด้วยการปฏิรูปประเทศไทยครบถ้วนตามเจตนารมณ์ของประชาชน แม้จะไม่เหมือนที่ประชาชนต้องการทุกอย่าง

  ผมยกตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญฉบับนี้มันจะกันคนไม่ดีเยอะมาก ไม่ให้มีสิทธิ์ที่จะมาสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรได้ เช่น คนที่เคยติดคุกมา ออกจากคุกไม่เกิน 10 ปี หรือคนที่เคยติดคุกหรือถูกลงโทษ เพราะฉ้อโกง ทุจริตคอร์รัปชัน หรืออะไรต่ออะไรอย่างนี้นะ คนค้ามนุษย์ คนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ฯลฯ เรียกว่าสกรีนคนชั่วออกไปเยอะเลย แล้วก็มีบทบัญญัติที่ไม่ให้ผู้แทนราษฎรกับรัฐมนตรีสมคบกันโกงงบประมาณแผ่นดิน มีบทจัดการกับคนที่ทุจริตคอร์รัปชันทั้งหลาย เช่น คนที่ทุจริตแล้วหนีไปเมืองนอก คดีความเขาไม่หยุดนะ ไม่ใช่ต้องรอเขากลับมานะ สามารถดำเนินคดีลับหลังได้ อย่างนี้เป็นต้น

 

เมื่อสักครู่คุณสุเทพพูดถึงรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า  “แม้จะไม่เหมือนที่ประชาชนต้องการทุกอย่าง” ตรงนั้นคืออะไร

มีบางเรื่องที่ประชาชนอาจจะต้องการให้เขียนเอาไว้ชัดเจน เช่น การปฏิรูประบบราชการ การบริหารจัดการแผ่นดิน วันนี้ อำนาจการบริหารราชการแผ่นดินมารวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพฯ อำนาจอยู่ที่กระทรวงอยู่ที่กรม แล้วก็ส่งข้าราชการไปทำงานที่หัวเมืองในจังหวัดต่างๆ ประชาชนต้องการที่จะเขียนให้ชัดเจนว่า ต่อไปนี้การบริหารราชการแผ่นดินมีเฉพาะราชการส่วนกลางกับราชการส่วนท้องถิ่น ไม่ต้องมีราชการภูมิภาคอีกต่อไปแล้ว อย่างนี้ไม่ได้เขียน

 

คิดเห็นอย่างไรกับการทำงานของ คสช.

ผมก็ถือว่า การที่ คสช. สามารถเขียนรัฐธรรมนูญอย่างนี้มา ถูกใจประชาชน 16,800,000 คน ที่ลงประชามติรับรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่ 2 พรรคใหญ่ เขาต่อต้าน เพื่อไทยต่อต้าน ประชาธิปัตย์ต่อต้าน วันนั้นไม่มีใครเชื่อว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติ เพราะเพื่อไทยเลือกตั้งครั้งสุดท้ายปี 54 ได้คะแนนตั้ง 14 ล้านเศษ ประชาธิปัตย์เลือกตั้งปี 54 ได้คะแนน 12 ล้านเศษ สองพรรคนี้รวมกันแล้ว 27 ล้าน เพราะฉะนั้นไม่มีใครคิดว่ารัฐธรรมนูญผ่าน แต่ประชาชนก็สร้างปาฏิหาริย์ 16,800,000 เสียง

 

แต่ตอนนั้นหลายเสียงก็บอกว่า แม้คนจะไม่เห็นด้วย แต่ยอมโหวตรับรัฐธรรมนูญให้ผ่าน เพื่อให้ประเทศไปต่อได้ ไม่อย่างนั้นมันก็จะติดหล่มอยู่ที่เดิม

ก็แล้วแต่มองนะ คนเวลาจะพูดอะไรก็ต้องคิดว่า ตกลงคุณเชื่อจริงหรือเปล่าที่คุณพูด หรือคุณตั้งใจว่าจะตะแบงไปเรื่อยๆ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

อย่างกรณีที่เขากำหนดเรื่องแผนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเมื่อก่อน เราจะเห็นเลยว่า พอนายกฯ คนนี้ขึ้นมา จะทำอย่างนี้ ประเทศก็วนอยู่แบบนี้แล้วขาดทุน เสียโอกาส คนไม่เห็นด้วยก็ไปมองว่านี่คือแผนสืบทอดอำนาจ ที่จริงสำหรับเรา เราไม่เกี่ยว เราถือว่านี่เป็นเรื่องของประเทศโดยส่วนรวม ไม่มีใครยืนค้ำฟ้าได้หรอกถ้าประชาชนไม่เอา

 

มวลชนที่เคลื่อนไหวร่วมกันมา หรือสมาชิกพรรครวมพลังประชาชาติไทย มีข้อเรียกร้องให้คุณสุเทพเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีบ้างไหม

นี่ไง ตอนที่ผมออกมานำเดินขบวน มานำต่อสู้กับทักษิณ ผมบอกกับประชาชนชัดเจนแล้วว่า ผมไม่ได้ต่อสู้เพื่อตัวผมนะ ผมออกมานำเดินไม่ใช่เพราะผมอยากดัง ผมออกมานำเดินขบวนไม่ใช่เพราะว่าผมต้องการสร้างต้นทุนทางการเมืองไว้เพื่อที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีในวันข้างหน้า ผมไม่ได้ต่อสู้เพื่อตัวเอง เพื่อพรรค ผมไม่เกี่ยวกับพรรคไหนแล้ว แล้วผมก็จะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกแล้วนะ ผมจะลงสมัครที่ไหนผมก็ได้เป็นผู้แทนราษฎรนะ ผมอยู่ที่ไหนก็ได้ ผมไม่เอา ผมบอกชัดเจนเลยว่า ผมไม่เอา แล้ววันนี้ผมก็ไม่เอาจริงๆ ผมไม่ต้องการมีตำแหน่งอะไรทางการเมือง วันนี้ผมมาช่วยประชาชน ตั้งพรรคการเมืองของประชาชน โดยผมไม่รับตำแหน่งอะไรในพรรคนี้เลย

 

แต่ถ้าว่ากันตามตรง พรรคนี้ก็ขาดคุณสุเทพไม่ได้

เดี๋ยวก่อน ไม่มี ไม่ใช่ อย่างนี้ก่อน อย่างนี้มันหาเรื่องผม (หัวเราะ)

ผมหมายความว่า ข้อเท็จจริงอีกประการที่ว่า ผมไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค ไม่มีตำแหน่งใดในพรรค ข้อเท็จจริงประการที่สอง ก็คือว่าเมื่อเขาเปิดรับสมัครรับเลือกตั้ง ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาฯ จนถึง วันที่ 8 กุมภาฯ ผมไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนเขตไหนทั้งสิ้น ผมไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ นี่ชัดเจนว่าผมไม่ได้ทำเพื่อตัวผม ขนาดอย่างนี้ยังมีคนมาด่าว่าผมตระบัดสัตย์อะไรต่ออะไร คุณเห็นไหม ยังกล่าวหาผมอยู่เลย

 

คนก็คงมองละค่ะว่าคุณสุเทพก็ยังอยู่ในรอบๆ นี้

คนที่ด่าผมเนี่ยเขาทำเพื่อตัวเองนะ เขาคิดสมัครผู้แทนนะ เขาคิดจะเป็นรัฐมนตรีนะ เขาคิดจะเป็นนายกรัฐมนตรีนะ ผมไม่ได้คิดเป็นอะไร แล้วผมตั้งใจจะช่วยประชาชน ทำไมมากล่าวหาว่าผมเป็นคนผิด ถูกไหมครับ

 

แต่ว่าการสมัครเป็นผู้แทนก็ถือว่าเป็นการทำงานให้ประชาชนเช่นกันใช่ไหมคะ

อะไรนะครับ

 

งานของนักการเมือง การเป็นผู้แทนก็คือการทำงานเพื่อสาธารณะ เพื่อประชาชนเช่นกัน

นี่ไง คำพูดอย่างนี้ ถ้าผมชี้แจงตรงนี้ได้ก็คงมีข้อหาอื่นมาอีก แต่ว่าผมเอาตรงไปตรงมาว่า ผมทำเพื่อประชาชน ผมทำเพื่อประเทศไทย ผมต้องการเห็นพรรคการเมืองของประชาชนเกิดขึ้นจริง แล้วก็บังเอิญว่า ผมมีประสบการณ์ทางการเมืองมา 30-40 ปี เฉพาะที่ผมเป็นผู้แทนราษฎร 37 ปี ติดต่อกัน 12 สมัยเลือกตั้งนะครับ เพราะฉะนั้นผมเป็นประโยชน์ให้กับประชาชนเรื่องนี้ได้ ผมทำหน้าที่เป็นโค้ช ไม่ใช่เป็นนักกีฬา

 

คุณสุเทพเคยคิดอยากจะเป็นนายกรัฐมนตรีไหม

ไม่คิด เมื่อก่อนคิดจะเป็นผู้แทนราษฎรตลอดชีวิต แต่ตอนนี้ก็จบ

 

ตอนที่อยู่พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่เคยคิด

ไม่เคยคิด

 

ทั้งที่มีประสบการณ์ยาวนาน และตำแหน่งสูงสุดถึงขั้นเคยเป็นรองนายกฯ เลยนะคะ

ใช่ ผมไม่ค่อยมีกิเลสมากมายขนาดนั้นนะครับ ผมว่าผมก็ทำหน้าที่ให้ดี แต่ผมทำงานให้กับประชาชน

 

เหตุผลอะไรที่พรรครวมพลังประชาชาติไทยไม่ส่งแคนดิเดตนายกฯ

อ้อ อันนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง คุณต้องคิดอย่างนี้ พรรคการเมืองที่อยู่ในประเทศวันนี้ ที่เขาลงสนามคราวนี้ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคพวกนี้เขาทำพรรคกันมา 10 ปี 20 ปี 30 ปี ทั้งนั้น พรรครวมพลังประชาชาติไทยเพิ่งตั้งไม่กี่เดือนนี้เองนะครับ เราก็ตัดสินใจทางการเมืองตามความเป็นจริง เราคงไม่ชนะที่ 1 ได้เสียง 251 ที่นั่งในสภาหรอก เพราะฉะนั้นไม่ต้องคิด เราไม่เสนอชื่อบุคคลเพื่อจะเป็นนายกรัฐมนตรีในนามของพรรค เพื่อให้ทุกคนได้เห็นว่าเราเปิดโอกาสที่จะร่วมมือกับใครก็ได้ที่เราเห็นว่าเขาจะทำประโยชน์ให้ประเทศ

 

ใครก็ได้—แต่ไม่ใช่พรรคเพื่อไทยใช่ไหม

อ๋อ แน่นอน ถามอย่างนี้ก็ตอบเลย ผมและพี่น้องในพรรครวมพลังประชาชาติไทย ร่วมมือกับใครก็ได้ ที่จะทำงานให้กับประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือที่มีความมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ตามเจตนารมณ์ของประชาชน และมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาชาวบ้าน แต่จะไม่รวมกับพรรคเพื่อไทยและพรรคในตระกูล ‘เพื่อ’ ทั้งหลาย หรือพรรคในเครือของระบอบทักษิณ เพราะผมบอกตั้งแต่แรก—ผมเป็นคนที่บอกเองนะว่า พี่น้องทั้งหลายระวังนะครับ เขาจะใช้ยุทธวิธีแตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อยนะ แล้วก็เป็นจริง แล้วความเป็นจริงนี้ไม่ใช่คนอื่นไปรับรองนะ ทักษิณรับรองมาเองว่านั่นพรรคของเขา เพราะฉะนั้นเราไม่ร่วมมือกับคนเหล่านี้ เพราะความจริงทางประวัติศาสตร์ได้บอกเขาแล้วว่า คนพวกนี้เป็นพิษภัยต่อประเทศไทย เป็นพิษภัยต่อประชาชน

 

สมมติว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ ผลออกมาว่า ทางสายของเพื่อไทยและพรรคเครือข่ายทั้งปวงในเครือข่ายของคุณทักษิณดันชนะการเลือกตั้งขึ้นมาอีก…

ไม่ชนะ ไม่ชนะ ไม่ดันชนะ ดันไม่ได้

 

ไม่มีทางเลย?

ไม่มีทาง

 

เพราะอะไรคะ

ผมทำงานกับประชาชน ผมคลุกคลีกับประชาชน ผมเดินพบประชาชนมาทั่วประเทศ ผมคิดว่าพี่น้องประชาชนคนไทยได้ประสบการณ์จากชีวิตจริง เห็นชัดเจนแล้วว่าในช่วง 10 กว่าปีที่มาผ่านมา ระบอบทักษิณและเครือข่ายของระบอบทักษิณมันทำร้ายประเทศหนักหนาสาหัสขนาดไหน ฉุดรั้งประเทศไว้อย่างไร ทำให้ประเทศเสียโอกาสอย่างไร โหดร้ายอย่างไร อย่าดูถูกประชาชน ยิ่งมาใช้ชั้นเชิงแตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย หลอกล่อประชาชน เขารู้ ทำไมเขาต้องให้คุณวันนอร์ (วันมูหะมัดนอร์ มะทา) ไปตั้งพรรคประชาชาติ เพราะว่าพรรคเพื่อไทยมันขายไม่ได้ เรื่องกรือเซะ เรื่องตากใบ เรื่องโจรกระจอก ที่ทั้งอุ้มทั้งฆ่า เขาไม่เอา เอาชื่อใหม่ไป แต่สินค้าเดิมโรงงานเดิมนะ ใส่ยี่ห้อใหม่ใส่กล่องใหม่ ประชาชนเขาก็รู้ทัน

 

มีความเป็นไปได้ไหมว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ แม้จะเป็นไปได้ยากที่เครือข่ายเพื่อไทยจะชนะกติกา แต่จะได้คะแนนรวมทั้งประเทศ (ป็อบปูลาร์โหวต) มากกว่า

ไม่มีครับ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์กติกาของรัฐธรรมนูญ

 

กรณีผลออกมาพลิกล็อกจากที่คุณสุเทพคาดเดา มวลชนที่ทำงานกับคุณสุเทพจะออกมาเคลื่อนไหวอีกไหม

อ๋อ ไม่มี พวกผมไม่ทำอีกแล้ว

ผมคิดว่าวันนี้ ประชาชนคนไทยทั้งหลายได้สรุปบทเรียนแล้วว่า ไอ้เรื่องที่วุ่นวายกันทั้งหลายทั้งปวงมันต้องหยุดแล้วนะ ประเทศเสียโอกาสมากแล้ว ประชาชนก็เสียโอกาส เราควรจะพัฒนาไปได้ ผมเชื่อเหมือนที่พลเอกประยุทธ์ (จันทร์โอชา – หัวหน้า คสช./นายกฯ) พูดนะว่า ภายใต้ร่มพระบารมีของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 บ้านเมืองต้องสงบเรียบร้อย

 

ไม่ได้มองว่าจะมีการเมืองบนท้องถนนอีกแล้ว

ฝ่ายผมไม่ทำ ฝ่ายผมไม่ทำเด็ดขาด เพราะเมื่อประชาชนตั้งใจจะมาตั้งพรรคการเมืองของประชาชน ที่ชื่อว่า รวมพลังประชาชาติไทย ก็หมายความว่า ยุติการต่อสู้บนถนน กลับไปต่อสู้ในกรอบกติกาของรัฐธรรมนูญ ส่วนฝ่ายระบอบทักษิณ ผมคิดว่าวันนี้เขาจะคิดแล้วว่า ไม่มีใครเอาด้วยนะ การที่จะทำอย่างนั้น มันอยู่ที่ประชาชนครับ ถ้าประชาชนไม่เอา ใครก็ทำไม่ได้หรอก

 

แล้วคิดอย่างไรกับพรรคอนาคตใหม่ กับกระแส ‘ฟ้ารักพ่อ’

ผมพูดไปจะแรงไปไหม…ผมจะบอกว่า เราเคยเห็นตัวร้ายเก่า แล้วเราก็มาเจอกับตัวร้ายใหม่ ซึ่งเป็นอันตรายต่อบ้านเมืองทั้งสิ้น แล้วผมก็คิดว่า ประชาชนก็ไม่อยากให้ตัวร้ายสองตัวนี้จับมือกัน อันตรายมาก ผมพูดได้อย่างนี้นะครับ ผมไม่ได้ระบุเจาะจงถึงพรรคไหนนะครับ แต่ว่าไปดูให้ดีนะครับว่า เขาคิดอย่างไรกับประเทศไทยโดยส่วนรวม กับองค์กรสถาบันอะไรต่างๆ อันตรายมาก

 

ถ้าเกิดว่าเพื่อไทยรวมกับอนาคตใหม่ และพรรคประชาชาติ ก็ดูมีแนวโน้มที่จะได้คะแนนจำนวนหนึ่งเหมือนกัน

ผมว่าไม่ได้ ผมเชื่อว่าไม่ได้ ไม่ต้องลุ้นเลย

 

แล้วในฐานะที่คุณสุเทพเคยอยู่ประชาธิปัตย์มาก่อน คาดว่าประชาธิปัตย์จะได้คะแนนไหมในคราวนี้

พูดอย่างนี้ เดี๋ยวก็ปลิว (ยิ้ม)

เอาอย่างนี้ เอาอย่างนี้ ผมตอบให้เป็นกลางๆ อย่างนี้ดีกว่า จะได้ไม่โกรธกันมาก ผมเชื่อว่าพรรคใหญ่ ๆ จะได้คะแนนลดลงเป็นครึ่ง สมมติว่าเคยได้ 14 ล้าน ก็อาจจะเหลือ 5-6 ล้าน

 

เพราะอะไร

เพราะประวัติศาสตร์มันเกิดขึ้น คนยังจำได้ทุกอย่างนะ คุณยังแกล้งถามผมมาตั้งเยอะตั้งแยะ ที่จริงคุณตอบเองก็ได้ คุณก็ยังจำได้ตั้งเยอะตั้งแยะว่าเกิดอะไรขึ้น

นี่ผมพูดจริงๆ นะว่า สิ่งเหล่านั้นมันยังอยู่ในใจประชาชน และประชาชนเห็นจริง เห็นด้วยตัวเอง มันเป็นประสบการณ์จริงที่ประชาชนเจอด้วยตัวเอง

 

ที่คุณสุเทพย้ำว่า การตั้งพรรคนี้ขึ้นมาเพื่อที่จะให้เป็นพรรคของประชาชนอย่างแท้จริง ตอนที่ยังอยู่พรรคประชาธิปัตย์ ประชาธิปัตย์ไม่ใช่พรรคที่จะเป็นพรรคของประชาชนอย่างแท้จริงหรือ

เวลาผมพูดว่า พรรคของประชาชนแท้จริง ไม่ใช่พรรคของความเห็นนะ พรรคการเมืองที่ประชาชนเป็นเจ้าของจริงๆ เนี่ย ประชาชนเป็นเจ้าของ ก็หมายความว่า หนึ่ง ประชาชนเป็นคนออกทุน เงินที่ใช้จ่ายในทางการเมืองต้องมาจากประชาชนนะ จะทอดกฐิน จะทอดผ้าป่า จะทำอะไรก็ว่าไปนะ

คุณจะสังเกตเห็นว่า พรรครวมพลังประชาชาติไทยเนี่ย หนึ่ง พวกผู้ร่วมก่อตั้งลงขันกันคนละ 50,000 นะ 600 คนก็ได้มา 30 ล้าน กับสมาชิกพรรคที่ผมออกไปเดินเชิญชวนมาเนี่ย ออกสตางค์กันวันละบาทต่อคน ก็ปีละ 365 บาทนะ พรรคอื่นเนี่ยแค่ 100 บาทก็บ่นกันแทบแย่ ต้องลงไปทำให้ คสช. เก็บค่าบำรุง 50 บาท ผมไม่ทราบว่าเงินที่เหลือมาจากไหนอย่างไร แต่ของผมมาจากประชาชน จะเลือกตั้งนี่ ผมจัดงานระดมทุนนะ เหมือนกับงานเลี้ยงน้ำชาของชาวบ้านนี่แหละ ก็จะได้มีเงินมาใช้จ่าย นี่คือเงินมาจากประชาชนก่อน

สอง อำนาจในพรรคมาจากประชาชน พรรคนี้คนที่เสียวันละบาทนี่ เลือกหัวหน้าพรรคโดยตรง ไม่มีกรรมวิธีซับซ้อน และเวลาใครจะลงสมัครผู้แทนราษฎรเขตไหน สมาชิกในเขตนั้นเขาทำไพรมารีโหวตนะ

  และพรรคนี้ประชาชนควบคุมนักการเมืองนะ เรามีคณะกรรมการวินัยและจริยธรรม ถ้านักการเมืองประพฤติตัวไม่ดี เขาจัดการกันก่อนในพรรคเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเลย ส่วนเรื่องนโยบายพรรค ไม่ใช่ว่าวิลิศมาหรานะ ศาสตราจารย์ด็อกเตอร์โน่นนี่นักวิชาการ นี่มาจากประชาชนเลือก เรื่องที่ผมเล่าให้คุณฟังเรื่องนโยบายมาจากประชาชน ประชาชนเป็นคนกำหนด นี่คือพรรคของประชาชน ผมบอกคุณได้อย่างเดียวว่า ที่แล้วมา ไม่เคยมีพรรคการเมืองในลักษณะอย่างนี้

 

คุณสุเทพคิดว่า ฝั่งของตัวเองจะมีทางแพ้เลือกตั้งไหมคะ

แปลว่าอะไร

 

พรรคที่เป็นเครือข่ายด้วยกันเอง จะแพ้การเลือกตั้งครั้งนี้ไหม

ผมไม่เป็นเครือข่ายกับใคร พรรครวมพลังประชาชาติไทยส่งผู้สมัคร 350 เขต ส่งบัญชีรายชื่อ 150 คน หญิงครึ่งหนึ่ง ชายครึ่งหนึ่ง ไม่มีพรรคไหนทำได้ อันนี้ผมจะบอกคุณว่า ข้อเด่นของเราก็คือว่า หญิงกับชายเราเท่ากัน เราจะเป็นพรรคเดียวที่ให้ความสำคัญหญิงชายทำงานการเมืองคู่กัน

 

ที่ถามถึงเรื่องแพ้-ชนะ เพราะหลายคนประเมินหลังการเลือกตั้งว่า ถึงอย่างไรคงไม่สามารถเกิดรัฐบาลพรรคเดียวได้ ต้องจับมือกันหลายๆ พรรค คำถามก็คือ ถ้ารวมคะแนนจากพรรคต่างๆ ในสายที่พรรครวมพลังประชาชาติไทยจะไปจับมือด้วยแล้วก็ยังคงได้คะแนนน้อยกว่า จะวางแผนอย่างไรต่อ

ไม่ใช่ ไม่ต้องวางแผนต่อ มันมีกฎเกณฑ์กติกาตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมายอยู่แล้วครับ เลือกตั้งเสร็จ ประกาศผลเลือกตั้ง หลังจากนั้น 15 วัน ก็มีการประชุมสภานัดแรก แล้วหลังจากนั้นก็จะนัดประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี การเลือกนายกรัฐมนตรีนี่เลือกกันในสภานะ ถ้าใครได้เสียงวุฒิสภา 250 เสียง ก็ต้องการเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีก 126 เสียง ก็จะได้ 376 ก็จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นคนจัดตั้งรัฐบาล ทีนี้ก็จะไปชวนใครมาร่วมก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

แต่นั่นก็ทำให้ได้มาเฉพาะนายกรัฐมนตรี ถัดจากนั้นมันก็คือการบริหารประเทศ การโหวตนโยบายต่างๆ ซึ่งก็ต้องอาศัยเสียงครึ่งหนึ่งของสภา

พอเลือกนายกรัฐมนตรีได้แล้ว ทีนี้ก็ไปถึงขั้นตอนการตั้งรัฐบาล ผมเคยมีประสบการณ์นะ เพราะว่าผมเคยช่วยให้คุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) เป็นนายกรัฐมนตรี ผมเป็นผู้จัดการรัฐบาล พออภิสิทธิ์แข่งกับ ประชา พรหมนอก และอภิสิทธิ์ชนะ ก็เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วก็ตั้งรัฐบาล แล้วก็ชวนพรรคนู้นพรรคนี้มาคุย ใครจะมา มีเงื่อนไขอย่างไรอะไรก็ว่ากันไป อันนั้นก็เป็นขั้นตอนหนึ่ง ผมเชื่อว่าทุกอย่างผ่านไปได้เรียบร้อย ไม่มีปัญหา คุณจำได้ ผมยังคุยกับคุณเนวิน (ชิดชอบ) ผมยังคุยกับคุณบรรหาร

ผมเชื่อว่าหลังการเลือกตั้งแล้วบ้านเมืองจะสงบเรียบร้อย เดินหน้าไปได้ ต้องไปตามครรลองนี้แน่นอน เพราะประชาชนไม่ต้องการเห็นเป็นอย่างอื่น

Fact Box

สุเทพ เทือกสุบรรณ เกิดเมื่อ 7 กรกฎาคม 2492 ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี จบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านรัฐศาสตร์จาก Middle Tennesse State University สหรัฐอเมริกาในปี 2518 เมื่อกลับมาเมืองไทย เขาได้รับเลือกเป็นกำนันตำบลท่าสะท้อนขณะอายุ 26 ปี ซึ่งเป็นที่มาให้ทุกวันนี้คนเรียกสุเทพว่า ลุงกำนัน

จากนั้นเมื่ออายุ 30 ปี เขาได้เป็นส.ส.จังหวัดสุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ และชนะเลือกตั้งเป็นส.ส.ต่อเนื่องเรื่อยมา เขายังเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ในสมัยที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2551 สุเทพมีตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง ซึ่งมีบทบาทในการรับมือและปราบปรามการชุมนุมของกลุ่มแกนนำต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ที่ชุมนุมใหญ่ช่วงปี 2552 - 2553 และเป็นเหตุให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ประกาศยุบสภา

เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ พรรคประชาธิปัตย์แพ้พรรคเพื่อไทยที่คะแนน 159 - 265 เสียง เปิดทางให้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้น มีการชุมนุมจากมวลชนในนามกปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) เพื่อต่อต้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับเหมาเข่ง และเรียกร้องให้ยิ่งลักษณ์ลาออก จนต่อมา รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยุบสภา แต่การชุมนุมของกปปส.ยังคงเกิดขึ้นต่อไป โดยมีการเลือกตั้งใหม่ในปี 2557 แต่มวลชนกปปส.เข้าขัดขวางและเรียกร้องให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งเสียก่อน การชุมนุมจึงยืดเยื้อต่อ จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารในปี 2557

จากนั้น กปปส.ก็ยุติบทบาท แล้วสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงที่เป็นแกนนำกปปส. ก็มาตั้งมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยขึ้นเพื่อต่อยอดพลังการเคลื่อนไหวของมวลชนกปปส.ในรูปแบบองค์กรเอกชน และยังคงก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทยโดยประกาศตัวเป็นที่ปรึกษาของพรรค แต่จะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ

Tags: , , ,