26 มกราคม 2562 ณ บริเวณด้านหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท่ามกลางบรรยากาศฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่ชาวกรุงเทพฯ กำลังเผชิญกันอยู่ ผมมีนัดกับ นงลักษณ์ พรหมเพศ ชาวบ้านวังหีบ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ที่เดินทางมาปักหลักชุมชนอย่างสงบร่วมกับชาวบ้านในนามเครือข่าย ‘ปกป้องดินน้ำ ป่า นครศรีธรรมราช พัทลุง’
ชาวบ้านเหล่านี้คือผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการของกรมชลประทาน เช่นโครงการเขื่อนวังหีบ อ่างเก็บน้ำคลองสังข์ โครงการผันน้ำบรรเทาอุทกภัยจังหวัดนครศรีธรรมราช และโครงการประตูกั้นน้ำเค็มคลองปากประ จ.พัทลุง เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อคัดค้านโครงการทั้งหมด
ผมเคยเจอกับนงลักษณ์มาแล้วครั้งหนึ่งที่บ้านวังหีบ สักราวสองปีก่อน ทันทีที่ทราบข่าวว่าตอนนี้ชาวบ้านขึ้นมาประท้วงรัฐบาลเรื่องเขื่อนวังหีบ รวมถึงโครงการอื่นๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง ด้วยว่าเคยติดตามเรื่องนี้กันมาก่อน จึงอดไม่ได้ที่จะกลับไปพูดคุย ถามไถ่ความคืบหน้าของโครงการฯ
“จำผมได้มั้ย” ผมเอ่ยทักหลังกล่าวสวัสดีกับเธอ “จำได้สิ” เธอตอบกลับมา ก่อนที่ผมจะนั่งลงข้างๆ ก่อนจะเอ่ยถามเธอถึงคดีความที่เธอและนายวุฒิชัย แก้วลำหัด หรือป้อม หนึ่งในชาวบ้านวังหีบ ถูก นายจิรโรจน์ สำแดง นายอำเภอแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาร่วมกันกระทำด้วยประการใดๆ ให้ทางสาธารณะ ประตูน้ำ ทำนบ เขื่อน อันเป็นส่วนของทางสาธารณะ หรือที่ขึ้นลงของอากาศยาน อยู่ในลักษณะอันน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่การจราจร
นงลักษณ์เล่าให้ฟังว่า เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2562 มีหมายเรียกจาก สภ.อ.ทุ่งสง ให้ไปรายงานตัวในคดีดังกล่าว ต่อมาในวันที่ 22 ม.ค. ทั้งสองคนจึงได้ การเข้ามารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อ.ทุ่งสง
“เราไม่ได้เป็นผู้ต้องหา เราพร้อมที่จะเดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่รัฐควรให้โอกาสประชาชนบ้าง โดยเฉพาะประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างพวกเรา รัฐควรรู้ให้ได้ว่า เราเดือดร้อนเรื่องอะไร ทำไมถึงเดือดร้อน แต่กลับกัน รัฐเอาแต่ปิดหูปิดตา”
เขาเล่าเพิ่มเติมอีกว่า ในข้อหาที่ถูกแจ้งความนั้น ความเป็นจริงไม่ได้เป็นไปตามที่ถูกกล่าวหา
“ตอนที่นายอำเภอเอาเหล็กที่กั้นทางจราจรมาเป็นข้อกล่าวหา ก็อยากถามว่าเอามาจากใคร ที่ผ่านมา เราไม่เคยปิดกั้นการจราจรเลยสักครั้ง” เขาระบายความอัดอั้นใจ
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2562 ในการประชุมเพื่อรับฟังความเห็นของผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอทุ่งสง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ รองอธิบดีกรมชลประทาน และตัวแทนจากกรมป่าไม้เข้าร่วมด้วย
นงลักษณ์เล่าว่า เดิมทีหนังสือเชิญเข้าประชุมครั้งนี้ระบุแค่เชิญชาวบ้าน (ในพื้นที่ที่อาจจะได้รับผลประโยชน์จากการสร้างเขื่อน) ซึ่งในมุมมองของเธอแล้ว มองว่าควรจะระบุชัดเจนว่าเชิญ ‘คนวังหีบ’ ด้วย เนื่องจากเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง
“หนังสือไม่เคยมาถึงพวกเราเลย เรารู้เรื่องจากไลน์ที่ส่งต่อกันมา เพราะฝ่ายรัฐรู้ว่า หากพวกเราไปร่วม เราจะต้องค้านแน่นอน ในที่ประชุมเลยต้องการชวนคนภายนอกไปแทนพวกเรา เพื่อให้เวทีเกิดความชอบธรรมว่ามีชาวบ้านอยู่ร่วมด้วย เพื่อให้ได้ภาพว่าอย่างน้อยก็มีคนยกมือ เพราะยังไงก็มองว่าคนภายนอกไม่รู้หรอกว่าใครคือผู้ได้รับผลกระทบตัวจริง เขาคิดว่าพวกเราคือตัวปัญหาในการดำเนินโครงการฯ เราแทบจะไม่รับรู้ข้อมูลอะไรเกี่ยวกับโครงการเลย” นงลักษณ์เล่าให้ฟังถึงความคับแค้นใจต่อการทำหน้าที่ของภาครัฐ
นงลักษณ์เล่าถึงบรรยากาศในเวทีวันนั้นให้ฟังว่า ป้ายเวทีบอกชัดเจนว่าเป็นเวทีของการมีส่วนร่วม ทำความเข้าใจกับชาวบ้าน แต่ถึงเวลาจริงๆ กลับไม่เป็นอย่างนั้น กลับเป็นการพูดแต่เรื่องการเวนคืนพื้นที่อย่างเดียว ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวบ้านไม่อาจยอมรับได้ เพราะกระบวนการเวนคืนควรเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่หมายถึงจะดำเนินโครงการฯแล้ว “เมื่อยังไม่ถึงจุดนั้น ทำไมมาพูดเรื่องการเวนคืนในเวทีรับฟังความเห็น พวกเรายังคัดค้านโครงการกันอยู่เลย”
“วันนั้น การประชุมไม่ครบทุกวาระ แต่ในรายงานกรมชลประทานกลับบอกว่า การประชุมผ่านไปได้ด้วยดี จริงๆ เวทีวันนั้นแตกด้วยซ้ำ ชาวบ้านเดินออกจากที่ประชุมเพื่อเป็นการประท้วง” เธออธิบายก่อนจะบอกว่า “สุดท้ายก็มีหมายเรียกดำเนินคดีอย่างที่เห็น”
18 ธ.ค. 2561 มติคณะรัฐมนตรี อนุมัติในหลักการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมชลประทาน) ดำเนินโครงการวังหีบอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช มีกำหนดแผนงานโครงการ 5 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 – 2566) กรอบวงเงินงบประมาณโครงการทั้งสิ้น 2,377.644 ล้านบาท และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย สำหรับงบประมาณดำเนินโครงการให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ทั้งนี้ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ชี้แจงและทำความเข้าใจกับราษฎรในพื้นที่ และผู้ที่ได้รับผลกระทบให้ได้ข้อยุติก่อนดำเนินการตามโครงการต่อไป
โครงการเขื่อนวังหีบถูกอ้างเรื่องการแก้ปัญหาอุทกภัยในพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำวังหีบด้านทิศใต้ รวมถึงประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำด้านอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้ง โดยวัตถุประสงค์ในการก่อสร้างเพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำต้นทุนเพื่อการชลประทาน จำนวน 13,014 ไร่ แหล่งแพร่และขยายพันธุ์สัตว์น้ำจืด การบรรเทาอุทกภัย รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจให้ราษฎรที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่โครงการและบริเวณใกล้เคียง
นงลักษณ์ซึ่งเกิดและโตในพื้นที่วังหีบ กล่าวว่า “เรื่องอ้างว่าจะช่วยน้ำท่วมเมืองทุ่งสงนั้นไม่จริงเลย เมื่อก่อนชาวบ้านทุ่งสงคิดว่า น้ำท่วมมาจากคลองวังหีบ แต่ตอนนี้คนในเมืองทุ่งสงเข้าใจแล้วว่าคลองวังหีบไม่ได้ไหลผ่านทุ่งสง และคนอีกส่วนที่จะได้รับผลกระทบหนักคือคนท้ายเขื่อน พบว่าตอนนี้เริ่มมีการสำรวจขุดบ่อดิน ยืมดิน เพื่อทำสันเขื่อน ชาวบ้านจึงลุกขึ้นมาค้านด้วย”
“หากโครงการดำเนินไปได้จริง จะมีคนในหมู่บ้านราว 45 ครัวเรือน ประมาณ 155 คนที่ต้องอพยพย้ายถิ่น” นงลักษณ์บอก เธออธิบายให้ฟังอีกว่า ในบริเวณนั้นยังมีผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ สายน้ำกลางหมู่บ้านหรือที่รู้จักกันในนามน้ำตกหนานปลิวไม่เคยแห้งแม้กระทั่งฤดูร้อน คนมาเที่ยวตลอดทั้งปี คนในทุ่งสงยังต้องมาใช้น้ำที่นี่ช่วงหน้าแล้ง
“ดังนั้นถ้าถามถึงเหตุผลที่ชาวบ้าน 300 กว่าคนขึ้นมาประท้วงวันนี้ ใจความหลักคือ อยากให้ยกเลิกมติครม. วันที่ 18 ธ.ค. 61 และเราไม่ต้องการการเวนคืน ชาวบ้านพร้อมที่จะอยู่ที่นั่น ปกป้องรักษาธรรมชาติเอาไว้”
ย้อนไปเมื่อราวสัก 2 ปีก่อนหน้า บนโขดหินริมตลิ่งของน้ำตกหนานปลิว เช้าวันนั้นอากาศสดใส สูดเข้าได้เต็มปอด เสียงน้ำที่ไหลไม่หยุดมาหลายช่วงอายุคน ผมพบกับนงลักษณ์ครั้งแรกที่นั่น หลังตัดสินใจลงตีตั๋วลงพื้นที่เพื่อเข้าไปดูให้เห็นกับตาว่าป่าวังหีบเป็นอย่างไร อุดมสมบูรณ์แค่ไหน ตั้งแต่ที่เริ่มมีการปลุกผีเขื่อนพื้นที่จังหวัดนครศรีฯ ขึ้นมาอีกครั้ง
“ป่าผืนนี้ไม่เคยโดนสัมปทานป่าไม้มาก่อน” นงลักษณ์บอกกับผมพร้อมชี้ให้ดูความเขียวขจีรอบตัว
“ความจริงโครงการนี้มีมานานเป็นสิบปีแล้ว ปัจจุบันบริบทชาวบ้านเปลี่ยนไปหมดแล้ว ไม่ใช่ตอนปี 2533 ที่มีการอ้างเรื่องน้ำท่วม เรื่องการเกษตร การท่องเที่ยว เหตุผลตรงนี้ไม่มากพอในการสร้างเขื่อนวังหีบ”
นงลักษณ์บอกเหตุผลที่ลุกขึ้นมาปกป้องบ้านเกิดตัวเองว่า “ด้วยความผูกพัน เราไม่อยากสูญเสีย เราอยากให้คนได้ใช้ประโยชน์ที่แท้จริงของป่า เพราะพื้นที่ป่าไม้ไม่ใช่เฉพาะของคนวังหีบ แต่คือของทุกคน ในปี 2518 ครั้งหนึ่งเคยมีจะนำไปทำป่าสัมปทาน คนรุ่นปู่ย่า ตายาย ก็ต่อสู้คัดค้านกันมา จนรอดพ้นมาได้ มาถึงทุกวันนี้เราก็อยากเก็บไว้ให้ลูกหลานต่อไป”
แสงแดดส่องทะลุใบไม้เป็นลำแสง มีเสียงนกร้องผสมกับเสียงของน้ำตกที่ไม่เคยหยุดไหล นงลักษณ์หยุดเล่ากลางคัน น้ำตาเธอกำลังคลอเบ้า เมื่อต้องเล่าถึงเรื่องลูกของเธอ เธอเล่าว่า “ตอนที่รู้ว่าจะมีการสร้างเขื่อน เราก็เครียดไม่อยากให้มีการสร้างเขื่อน เพราะพื้นที่ตรงนี้เป็นมรดกตกทอด ชาวบ้านทำมาหากินในตรงนี้ ถ้าเขื่อนเกิดขึ้นจริง ลูกหลาน เราจะทำมาหากินอะไร ลูกกำลังเรียนหนังสือ อนาคตกำลังไปได้สวย แต่เมื่อจะมีการทำเขื่อนสิ่งที่กังวลคือพ่อแม่อย่างเราจะหาเงินจากที่ไหนมาส่งให้เขาเรียน
จะมาย้ายพวกเราออกไป ไปอยู่ที่อื่น ไม่มีที่ดินของตัวเอง จะให้ทำงานรับจ้าง ขายแรงงานคงไม่ได้ เพราะอายุมากแล้ว” เธอเล่า
เวลา 14.30 น. วันที่ 29 มกราคม เข้าสู่วันที่ 4 ของการเดินทางมาชุมนุมของชาวบ้าน ชาวบ้านราว 300 คน มีตั้งแต่คนรุ่นลูกยันรุ่นย่าที่มาปักหลักอยู่ด้านนอกบนทางเท้า บริเวณถนนพระราม 5 ข้างทำเนียบรัฐบาล พวกเขากำลังรอฟังคำตอบจากรัฐบาลคสช. ต่อข้อเรียกร้องให้มีการชะลอโครงการทั้งหมดออกไปก่อน รวมถึงเรียกร้องให้มีการยกเลิกมติครม.เมื่อที่ 18 ธ.ค. 61 ด้วย
ต่อมา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนั้นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะช่วยกันชี้แจงสร้างการรับรู้ เราต้องมองว่าประโยชน์ที่ได้มาเป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ขนาดไหน คนส่วนน้อยที่คัดค้านก็อาจจะเสียประโยชน์เราจะดูแลตรงนี้ได้อย่างไร ไม่อย่างนั้นก็แก้ไม่ได้ แล้วค้านกันอยู่อย่างนี้ ไม่ได้ข้อยุติเสียที ทำให้ผลประโยชน์ที่ได้รับกลับมาโดยรวมช้า เพราะเขื่อนเป็นโจทย์สำคัญในการรวมน้ำ เก็บน้ำ การกระจายน้ำ ถ้าไม่มีเขื่อนก็จะควบคุม บริหารจัดการน้ำไม่ได้ 4 ปีที่ผ่านมารัฐบาลพยายามบริหารจัดการน้ำได้ดีพอสมควร เห็นได้จาก 4-5 ปี ไม่มีน้ำท่วมขนาดหนัก เมื่อมีอุทกภัยก็สามารถแก้ปัญหาได้ทันเวลา
ต่อมา นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฎิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรัฐบาลรับข้อร้องเรียนและหารือกับชาวบ้านเครือข่ายอนุรักษ์ดินน้ำป่า จ.นครศรีธรรมราช-พัทลุง ระบุว่า รัฐบาลรับเรื่องดังกล่าวและหารือร่วมกับตัวแทนเครือข่ายอนุรักษ์ดินน้ำป่า มีข้อสรุปเห็นชอบให้ชะลอทั้ง 4 โครงการไว้ก่อน และเห็นชอบตั้งกรรมการร่วม 3 ฝ่าย มีตัวแทนนักวิชาการ จากมหาวิทยาลัยเป็นคนกลาง ตัวแทนกรมชลประทาน และตัวแทน ประชาชนที่เกี่ยวข้อง
“รัฐบาลยืนยันว่าตั้งใจแก้ปัญหา นายกฯ จึงสั่งการให้มารับเรื่อง ส่วนประเด็นการเวนคืนที่ดินนั้น ขอให้สบายใจได้ว่ารัฐบาลไม่ตั้งใจรังแกประชาชน แต่ที่ต้องการเดินหน้าโครงการเพราะไม่อยากให้น้ำท่วมและมีน้ำเก็บไว้ใช้หน้าแล้ง จึงมีแนวคิดดำเนินโครงการต่างๆ ถ้าไม่ดำเนินการอะไรเลยท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปในอนาคต ลูกหลานจะลำบาก” นายพุทธิพงษ์ต่อหน้าชาวบ้านที่รอฟัง
เมื่อได้ข้อสรุปที่ชัดเจนจากฝั่งรัฐ และผลการเจรจาเป็นอันพอใจ นงลักษณ์, ป้อม วุฒิชัย และชาวบ้านคนอื่นๆ เก็บกระเป๋าเดินทางกลับภูมิลำเนา เบื้องหน้าของรอยยิ้มในบ่ายวันนั้น ผมอดคิดไม่ได้ว่า
การพัฒนาโครงการแต่ละโครงการเป็นไปด้วยความชอบธรรมมากน้อยแค่ไหน เพราะลำพังแค่การถึงข้อมูลเบื้องต้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบยังไม่เคยได้มีโอกาสเข้าถึงข้อมูล กระทั่งได้ร่วมกำหนดนโยบายร่วมกันกับฝ่ายรัฐเลยแม่แต่น้อย มิหนำซ้ำหลายคนยังโดนกฎหมายมาดักขาเล่นงาน นี่ไม่ใช่เหตุการณ์แรกที่ชาวบ้านโดนแบบนี้ นับแต่อดีตจนปัจจุบันมีคดีความมากมายที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน เพียงเพราะพวกเขาต้องการปกป้องบ้านเกิด ดูแลสิ่งแวดล้อม ต้องการสิทธิพื้นฐานในการเข้าถึงข้อมูล เพื่อขอมีส่วนร่วมกำหนดอนาคตในบ้านเกิดของตน กลับกลายว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องคอขาดบาดตายในสายตารัฐเสียอย่างนั้น
ท่ามกลางฝุ่นควันพิษ PM 2.5 ที่จุดประเด็นให้คนกรุงเทพฯ ตื่นตัวกับสิทธิขั้นฐานในการมีอากาศที่ดี การมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี หากสิ่งเหล่านั้นคือสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนเพิ่งจะมี แล้วทำไมชาวบ้านวังหีบ หรือผู้ได้รับผลกระทบในอีกหลายๆ โครงการ ถึงจะมีไม่ได้เล่า
ที่มาข้อมูล
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=377171629751898&set=t.100015808152667&type=3&theater
https://www.ryt9.com/s/cabt/2930435
https://mgronline.com/south/detail/9620000007609
https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_2123116
Tags: นครศรีธรรมราช, เขื่อนวังหีบ, พัทลุง