“การตระหนักได้ถึงขีดจำกัด คือการได้ก้าวพ้นขีดจำกัดนั้นไปแล้ว” คำกล่าวซึ่งได้รับการดัดแปลงให้ง่ายขึ้นของเฮเกล (Hegel) ใน The Science of Logic (1812)  อาจสามารถใช้อธิบายถึงการดื่มและความเมามายได้ด้วยเช่นกัน

ในแง่กายภาพ เมื่อร่างกายสามารถปรับตัวให้ทนต่อแอลกอฮอล์ได้ การเข้าถึงความเมาก็อาจต้องขยับหรือปรับปริมาณการดื่มเพิ่มเข้าไป ซึ่งมักเกิดขึ้นผู้คนในวัฒนธรรมดื่มหนัก (Binge drinking) และในอีกทาง การถึงขีดจำกัดของนักดื่มคือการไม่สามารถหาจุดสิ้นสุดของการดื่มได้ ดังเช่นที่นักเขียนชาวอเมริกันเอฟ. สกอตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ (F. Scott Fitzgerald) หรือมัลคอล์ม โลว์รี (Malcolm Lowry) ผู้เขียนนวนิยายเรื่องดัง Under the Valcano (1948) ต่างต้องเผชิญตลอดชีวิตการทำงาน

มัลคอล์ม โลว์รี นักเขียนชาวอังกฤษผู้จบชีวิตลงด้วยการดื่มสุราอย่างหนัก

คำว่า alcohol ในศตวรรษที่ 16 ไม่ได้หมายความถึงของมึนเมา แต่หมายความถึงผงโลหะที่มีความละเอียด ซึ่งในโลกอาหรับ al-kuhul คือสีที่ใช้ทาเปลือกตา และกว่าที่คำนี้จะถูกใช้ในความหมายเช่นในปัจจุบันก็ต้องย่างสู่ศตวรรษที่ 18 ไปแล้ว ส่วนคำว่า alcoholic ที่ใช้ในความหมายของคนติดเหล้าก็พบว่าเริ่มต้นใช้กันจริงจังก็เมื่อต้นศตวรรษที่ 20 ไปแล้ว ซึ่งศัพท์ที่แพทย์ใช้เรียกอาการพิษสุราเรื้อรังในช่วงปลายของศตวรรษที่ 19 ก็คือ alcoholist

แน่นอนว่าในโลกของวรรณกรรมไทย ความเมามายถือเป็นภัยร้ายของการทำงานสร้างสรรค์ อย่างกรณีของกวีผู้ยิ่งใหญ่ชิต บุรทัตนั้น ชีวิตของเขาไม่เพียงหดสั้นด้วยการดื่มแบบยั่งยืน แต่ยังแปรเปลี่ยนรูปร่างและลักษณาการต่างๆ ของเขาไปอย่างสิ้นเชิง

ชิต บุรทัต หรือ ‘แมวคราว’ กวีคนสำคัญที่ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในรัตนกวีของไทยในช่วงวัยหนุ่ม

ดังเช่นที่ รสสุคนธ์ หรือ น. ประภาสถิตย์ ได้บรรยายไว้ ในบทความ ‘ชิต บุรทัต กวีผู้มีชื่อรุ่งโรจน์ของประเทสไทย’ ที่ตีพิมพ์ในช่วง ‘อักขรวิบัติ’ ไว้ว่า

“เช่นเดียวกับท่านผู้อ่านที่พอไจเรื่อง “ผจนบาป” และ “ข้างหลังภาพ” ของ “สรีบูรพา” หรือเรื่อง “ธาตุหยิง” และเรื่องสั้นๆ ของ “แม่อนงค์” จะวาดภาพผู้แต่งไนลักสนะซึ่งท่านคิดว่าเหมือนตัวเขาที่ท่านเห็นไนหนังสือที่เขาเขียน ฉันวาดภาพ ชิต บุรทัต ไนลักสนะของคนร่างสูง ท่าทางเปนสง่าผ่าเผย มีชีวิตเรียบร้อยราบรื่นเปนสุขหยู่ไนบ้านและสวนอันงามสงัดเงียบตามที่แลเห็นลักสนะของเขาไนภาพถ่าย และการประพันธ์ซึ่งงดงามสแดงความคิดสูง และสุขุม ไนขนะนั้นฉันยังเชื่อว่าคนที่มีดวงความคิดสูงและสุขุมนั้นจะต้องมีชีวิตที่ราบรื่นผาสุกและงดงาม ต่อมาอีกสิบปีฉันก็ได้พบชายกลางคนขาพิการผู้หนึ่งที่สำนักงานหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ชายผู้นั้นแต่งตัวปอนๆ ไม่ไคร่สวมรองเท้า ฉันไม่สนไจว่าชายขาพิการท่าทางอ่อนน้อมต่อคนทั่วไปนี้คือไคร จนกะทั่งไนวันหนึ่งเมื่อไปเที่ยวหาบ้านชิต บุรทัต กวีเอกคนหนึ่งของประเทสไทยสมัยปัจจุบัน เราได้พบชายขาพิการ แต่งตัวตามสบาย นอนเอกเขนกหยู่ไนบ้านหลังหนึ่ง”

ไม่เพียงเท่านั้น แต่ยาขอบ, มนัส จรรยงค์ หรือกระทั่งฮิวเมอริสต์ในช่วงเวลาหนึ่งก็ถือว่าเป็นนักเขียนที่ประสบภัยคุกคามจากความเมามาย ซึ่งนักวิจารณ์ฝีปากคมอย่าง ส. ธรรมยศก็มักจะหยิบยกความเมามายของนักเขียนมาประณาม และแม้แต่ประกาศตนเป็นศัตรูกับแอลกอฮอล์ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกแต่อย่างใด เพราะในสังคมฝรั่งเศสในช่วงปลายของศตวรรษที่ 19 แอลกอฮอล์ก็ถือเป็นภัยร้ายของสังคม ถ้านวนิยายรักพาฝันคืออันตรายสำหรับเด็กสาวในช่วงต้นของศตวรรษที่ 19 เช่นที่โฟลแบรต์ (Flaubert) ได้แสดงไว้ใน Madame Bovary นวนิยายเรื่อง L’Assommoir หรือ เมรัยพิฆาต ของเอมิล โซลา (Émile Zola) ก็เขียนขึ้นเพื่อชี้เตือนให้เห็นถึงอำนาจของแอลกอฮล์ที่ทำลายชีวิตและครอบครัว

อย่างไรก็ตาม นักเขียนกับความเมามายก็ยังเป็นสิ่งที่คู่เคียงกันมา จนหลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่าในความเมามายมีอะไร เหตุไฉนวรรณกรรมจำนวนมากจึงก่อกำเนิดขึ้นจากการท่องไปในโลกของความเมา นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ฌีส์ เดอเลอซ (Gilles Deleuze) ได้บอกเล่าและอธิบายถึงแง่มุมต่างๆ เกี่ยวกับของการดื่มและความเมามายในสารคดี L’Abécédaire ไว้อย่างน่าคิดว่า โลกของความเมามายคือโลกเฉพาะที่เมาเท่านั้นจะสามารถตระหนักได้ โดยเฉพาะความเมามายทำให้เราสามารถเข้าใจความจริงบางด้านของ ‘ชีวิต’ ที่หนักหน่วง

ฌีส์ เดอเลอซ ในภาพยนตร์สารคดี L’Abécédaire

เดอเลอซยอมรับว่า เขาเป็นคนที่เคยดื่มและดื่มอย่างหนักมาก่อน มันทำให้เขาค้นพบข้อเท็จจริงสำคัญที่ว่า บุคคลที่ถูกเรียกว่าแอลกอฮอลิกนั้นจะไม่มีวันได้ดื่มแก้วสุดท้าย (last drink) หรือแม้แต่แก้วก่อนสุดท้าย (penultimate) เพราะพวกเขาอาจพูดว่า “เดี๋ยวแก้วสุดท้ายละ” แต่แก้วสุดท้ายที่ว่าก็ไม่เคยมาถึง แก้วสุดท้ายในความคิดหรือคำพูดติดปากของพวกเขาอาจเป็นได้แค่ของคืนนั้น วันนั้น และพวกเขาก็จะเริ่มต้นใหม่ และพูดถ้อยคำเดิมซ้ำอีกครั้งในวันต่อๆ มา

เหมือนดังคำกล่าวของกวีชาวฝรั่งเศสชาร์ลส์ เปกีย์ (Charles Péguy) ที่เดอเลอซได้ยกมากล่าวอ้างไว้ในบทสัมภาษณ์นี้ว่า “ไม่ใช่ดอกวอเตอร์ลิลลี่ดอกสุดท้ายที่เลียนซ้ำดอกแรก แต่เป็นดอกเวอเตอร์ลิลลี่ดอกแรกต่างหากที่เลียนซ้ำไปจนถึงดอกสุดท้าย”

แก้วสุดท้ายสำหรับแอลกอฮอลิก จึงเป็นแก้วแรกเสมอ แก้วแรกที่จะก่อให้เกิดแก้วอื่นๆ ตามมา การแสวงหาแก้วสุดท้ายสำหรับ แอลกอฮอลิกจึงไม่ต่างจากการแสวงหาจอกศักดิ์สิทธิ์ (holy grail) ในตำนาน

แต่ถึงจะไม่มีแก้วสุดท้าย แต่แอลกอฮอลิกจะมีแก้วโปรดที่ชื่นชอบเป็นการพิเศษ พวกเขาจะไม่ใช่นักดื่มที่เปลี่ยนแปลงเครื่องดื่มของตัวเองไปเรื่อยๆ แต่เพื่อเขาจะสามารถดื่มได้มากๆ เขาจะมีเครื่องดื่มชนิดที่โปรดปรานมากกว่าชนิดอื่นๆ

เดอเลอซมีความเห็นที่ค่อนข้างเฉพาะและแตกต่างจากคนฝรั่งเศสทั่วไป เขาไม่นับมันเป็นส่วนหนึ่งของมื้ออาหาร ด้วยเขาเห็นว่าการดื่มสำหรับเขาแล้วไม่แตกต่างจากสารเสพติด ในแง่ของการเป็นเครื่องมือของนักเขียน หรือกวีจำนวนหนึ่งเพื่อสามารถมองเห็น หรือเป็นผู้เห็น (seer) ความเป็นจริงบางอย่างได้ เช่น อ็องรี มิโชซ์ (Henri Michaux) ผู้โด่งดังจากการใช้สารเสพติดเขียนงานและภาพจิตรกรรม หรือโดยเฉพาะวรรณกรรมอเมริกันและอังกฤษในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ที่ถือเป็นกรณีที่น่าสนใจสำหรับเดอเลอซอย่างมาก ดังที่เขาได้อธิบายไว้ว่า

“พวกเขาสร้างสรรค์ผลงาน และแอลกอฮอล์สำหรับพวกเขาก็คือความเสี่ยง พวกเขาเลือกจะเสี่ยง เพราะคิด ไม่ว่าจะผิดหรือถูกก็ตาม ว่า แอลกอฮอล์จะสามารถช่วยได้ ผมเองก็เคยคิดว่าแอลกอฮอล์ช่วยให้ผมสามารถสร้างแนวคิดบางอย่างได้ มันเป็นเรื่องน่าแปลกนะ แนวคิดทางปรัชญา ใช่ มันเคยช่วยผม แต่หลังจากนั้นมันก็ไม่ช่วยอีกแล้ว นั่นไปสู่จุดที่เป็นอันตรายสำหรับผม ผมไม่ต้องการทำงานอีกต่อไป และเมื่อถึงจุดนั้น คุณก็ต้องเลิก ทั้งหมดก็มีแค่นั้น…”

อย่างไรก็ตามฟิตซ์เจอรัลด์ได้สร้างผลงานที่ถือได้ว่าเป็นสุดยอดผลงาน (อย่างน้อยก็ในมุมมองของเดอเลอซ) ในตอนที่ดื่มแทบไม่ได้อีกแล้ว ดังที่ฟิตซ์เจอรัลด์ได้สรุปรวบยอดความคิดทุกอย่างไว้ในย่อหน้าแรกของ The Crack-Up ว่า “แน่นอนว่า ชีวิตทั้งหลายคือกระบวนการพังทลาย เพียงแต่แรงกระหน่ำที่ทำให้เกิดผลงานสะเทือนชีวิตนี้—แรงกระหน่ำรุนแรงที่เกิดโดยเฉียบพลัน—ครั้งที่คุณจดจำ ตำหนิโทษว่าสิ่งทั้งหลาย และในห้วงขณะอ่อนแอก็ได้บอกเล่าให้เพื่อนคุณฟังนั้น มิได้แสดงผลออกมาในคราวเดียว เพราะยังมีอีกแรงกระหน่ำกำเนิดจากภายใน—คุณจะไม่รู้สึกจนกระทั่งมันสายเกินแก้ไข จนคุณตระหนักได้ในห้วงเวลาสุดท้ายว่า คุณจะไม่มีวันกลับมาดีเหมือนเดิมอีก การแตกร้าวแบบแรกเหมือนจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว—ในขณะที่แบบหลังเกิดขึ้นโดยไม่ทันรู้สึกตัว แต่กระนั้นคุณก็รับรู้ได้ในทันทีที่เกิดขึ้น”

สำหรับมัลคอล์ม โลว์รี นักเขียนชาวอังกฤษที่เลือกจะดื่มไปจนวาระสุดท้าย และเชื่อกันว่าเขาจงใจดื่มเพื่อจบชีวิตของตัวเอง

เขาได้เขียนคำจารึกบนป้ายหลุมฝังศพไว้ว่า “ณ ที่นี้คือที่พำนักของมัลคอล์ม โลว์รี ผู้ล่วงลับจากถนนคนเมา ร้อยแก้วของเขาอ่อนหวาน และบ่อยครั้งก็ชวนให้ถมึงทึง เขามีชีวิตทุกคืนค่ำ เขาดื่มด่ำทุกวารวัน และตายไปขณะเล่นอูคูเลเล” แต่ไม่มีใครยินยอมใช้ข้อความดังกล่าวของเขา

อ้างอิง

Gilles Deleuze, Logic of Sense, (London: Bloomsbury 2015)

 

Tags: , , , ,