ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ชาวอิตาเลียนต่างพึงพอใจในรสชาติกาแฟที่ผ่านการต้มกับกา ‘บิอาเล็ตตี’ (Bialetti) แต่มาถึงยุคปัจจุบันที่เครื่องชงกาแฟสำเร็จรูปแบบแคปซูลกลายเป็นที่นิยมมากขึ้น การเติบโตของบริษัทผู้ผลิตกระทะและกาต้มกาแฟอย่าง ‘บิอาเล็ตตี’ ไม่เพียงแต่ต้องสะดุด หากยังมองไม่เห็นอนาคตของตนเองอีกด้วย
ชื่อแบรนด์ดังจากอิตาลี แม้จะเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก แต่นั่นก็ไม่ได้รับประกันว่าจะคงความสำเร็จไปตลอด กิจการบิอาเล็ตตีเริ่มเข้าตลาดหุ้นเมื่อปี 2007 ด้วยราคา 2.5 ยูโร เวลาล่วงเลยมาสิบปี มูลค่าหุ้นตอนนี้เหลือเพียง 34 เซนต์ มูลค่าหุ้นรวม จากเดิม 187 ล้านยูโร ปัจจุบันคงเหลือเพียง 37 ล้านยูโรเท่านั้น
เหตุเพราะเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียง ทำให้ชายอิตาเลียนผู้มีประสบการณ์ด้านการลงทุนในธุรกิจสินค้าหรูของอิตาเลียนสองคนสนใจที่จะช้อนซื้อหุ้น คนหนึ่งคือ ดิเอโก เดลลา วัลเล (Diego Della Valle) เจ้าของแบรนด์รองเท้าแฟชั่นหรู ‘Tod’s’ และ ‘Hogan’ ที่ซื้อไปถือครอง 10 เปอร์เซ็นต์ อีกคนคือเพื่อนของเขา-ลูคา ดิ มอนเตเซโมโล (Luca di Montezemolo) อดีตประธานบริษัท Ferrari แจ้งว่าได้ซื้อไป 1 เปอร์เซ็นต์
แต่สำหรับทั้งสองแล้ว บิอาเล็ตตีในวันนี้กลายเป็นหุ้นที่นอกจากไม่สร้างกำไรแล้ว ยังประสบภาวะขาดทุน จนแทบไม่มีใครอยากปริปากเอ่ยถึง ไม่ว่างบดุลปี 2017 หรือข้อมูลธุรกิจอย่างเป็นทางการสำหรับครึ่งปีแรก อนาคตของบริษัทดูเหมือนจะไม่แน่นอน
ทั้งๆ ที่ชื่อบิอาเล็ตตีคือผลิตภัณฑ์ซึ่งคล้ายเป็นสัญลักษณ์ของอิตาลีมานานหลายทศวรรษ เป็นแบรนด์ของกาอลูมิเนียมสำหรับต้มกาแฟที่มีชื่อเสียง อัลฟอนโซ บิอาเล็ตตี (Alfonso Bialetti) เจ้าของโรงหล่ออลูมิเนียมในหมู่บ้านครูซินัลโล เป็นคนคิดค้นและประดิษฐ์ขึ้นเมื่อปี 1933 ภูมิภาคแถบตะวันตกของทะเลสาบมัจโจเรมีชื่อเสียงด้านการผลิตกระทะและหม้อมายาวนาน และเพื่อนบ้านหนึ่งในละแวกนั้นที่ประสบความสำเร็จคือ อเลสซี (Alessi)
ย้อนกลับไปในอดีต อิตาลีเมื่อปี 1918 ขณะที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลง มีการประดิษฐ์คิดค้นรถยนต์ เครื่องบิน และอาวุธสงคราม ช่วงเวลานั้น รสชาติของกาแฟเอสเพรสโซก็กำลังติดปาก ผู้คนพากันหลั่งไหลเข้าร้านกาแฟเพื่อลิ้มลองรสชาติที่เข้มข้นของมัน
อัลฟอนโซ บิอาเล็ตตีเพิ่งเดินทางกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอนของตนเองที่โอเมญา ริมฝั่งทะเลสาบออร์ตา เขาไม่ได้กลับสู่อิตาลีที่งดงามด้วยมือเปล่า หากผละจากโรงงานอลูมิเนียมในฝรั่งเศสมาพร้อมกับไอเดียเจิดจรัส และมาก่อตั้งโรงหล่ออลูมิเนียมของตนเองขึ้นในปี 1919
บิอาเล็ตตีมีความใฝ่ฝัน อยากให้ทุกบ้านได้ลิ้มลองเอสเพรสโซ่เหมือนที่คุ้นเคยกันในบาร์และคาเฟ่ การออกแบบผลิตกาชงกาแฟเขาต้องลดแรงดันของไอน้ำลง ขณะเดียวกันก็พยายามไม่ให้รสชาติของกาแฟสดสูญเสียไป ระหว่างที่เครื่องชงตามบาร์ใช้สปริงเป็นแรงอัด แต่กาชงกาแฟของบิอาเล็ตตีนั้นส่งผ่านไอน้ำจากความร้อนด้วยแรงดันต่ำผ่านกาแฟบด
หลังจากวางแผน ออกแบบ และพัฒนาอยู่นาน ปี 1933 เขาก็ทำสำเร็จ จนได้ ‘La Moka’ กาเอสเพรสโซรูปทรงแปดเหลี่ยมคลาสสิก มีหูจับ คล้ายเครื่องชงกาแฟแบบอิตาเลียนดั้งเดิม โดย ลา โมคา ทำจากอลูมิเนียมอย่างดี
เมื่อแรกเริ่ม อัลฟอนโซ บิอาเล็ตตีนำผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาดด้วยตนเอง ผลงานสิ่งประดิษฐ์ของเขาจึงเป็นที่รู้จักเฉพาะในภูมิภาค แต่เมื่อเรนาโต (Renato) บุตรชายของเขา ตระหนักถึงศักยภาพของความคิดนั้น จึงขอจดสิทธิบัตรและสร้างโรงงานผลิตเครื่องชงกาแฟที่ใหญ่ที่สุดในโลกขึ้น แล้วประสบความสำเร็จด้วย
ทุกอย่างยึดมั่นตามคำโฆษณาที่ว่า in casa un espresso come al bar (เอสเพรสโซที่บ้านเหมือนในคาเฟ่) – บิอาเล็ตตีสามารถชงกาแฟได้เองที่บ้านและรสชาติไม่ต่างจากกาแฟในบาร์หรือคาเฟ่ และด้วยขั้นตอนที่ง่ายๆ ด้วยกาเอสเพรสโซ ที่คุณภาพดี ใช้งานได้นาน ที่สำคัญราคาไม่แพง ตราบถึงทุกวันนี้ กาสีเงินทรงแปดเหลี่ยมมียอดจำหน่ายแล้วราว 300 ล้านชิ้น และกลายเป็นอุปกรณ์ประจำครัวส่วนใหญ่ของชาวอิตาเลียน (cucina italiana)
ความต้องการกาชงกาแฟบิอาเล็ตตียังคงมีต่อเนื่อง ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สองโรงงานของเขาสามารถผลิตกาบิอาเล็ตตีออกสู่ตลาดได้ราว 10,000 กาต่อปี กระทั่งหลังสงครามโลก เรนาโต-ผู้สืบทอดกิจการจากบิดานับแต่ปี 1946 ได้เพิ่มกำลังผลิตเป็นวันละ 1,000 กาเพื่อเข้าสู่ตลาดในอิตาลี
เรนาโต บิอาเล็ตตีเคยเป็น ‘ชายไว้หนวด’ ในโฆษณาสินค้าลา โมคาด้วยตนเอง และกลายเป็นดาราโฆษณาที่มีชื่อเสียงช่วงหลังสงครามโลก หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นลา สตัมปาเคยตั้งฉายาเขาเป็น ‘ไอคอนแห่งเมด อิน อิตาลี’
บิอาเล็ตตี ลา โมคา ทรงแปดเหลี่ยม นอกจากใช้อลูมิเนียมในการผลิตแล้ว ยังมีการใช้สเตนเลส และแก้วอีกด้วย แต่ได้รับความนิยมน้อยกว่าการูปแบบคลาสสิก ซึ่งพิพิธภัณฑ์โมเดิร์นอาร์ตในนิวยอร์กนำไปจัดแสดงตั้งแต่ปี 2003
จากยุคเฟื่องฟูเข้าสู่ยุคตกต่ำ – การเปิดตัวของเครื่องชงกาแฟอัตโนมัติทำให้สัดส่วนการตลาดของกาชงกาแฟบิอาเล็ตตีถูกช่วงชิงไป แม้ราคาของสินค้าใหม่จะสูงกว่ากาอลูมิเนียมแบบง่ายๆ แต่มันก็รับประกันความสะดวกและคุณภาพของเครื่องดื่มกาแฟ ยิ่งใครที่คุ้นเคยกับกาแฟจากตู้อัตโนมัติด้วยแล้ว จะมองว่ากาลา โมคาเป็นทางเลือกสุดท้ายสำหรับการชงกาแฟดื่มเอง
เมื่อธุรกิจของครอบครัวบิอาเล็ตตีพบทางตัน จึงขายกิจการของตนไปในปี 1983 ชื่อของบิอาเล็ตตีคงเหลือไว้เพียงเป็นบริษัทเล็กๆ ที่ผลิตกระทะและหม้อ รวมถึงอุปกรณ์ครัวเท่านั้น
อัลฟอนโซ บิอาเล็ตตี เสียชีวิตเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 1970 ในซากาโรโล ส่วนเรนาโต-บุตรชาย เสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2016 ที่เทสซิน สวิตเซอร์แลนด์ อัฐิของเขาถูกบรรจุไว้ในกาเอสเพรสโซ ฝังไว้รวมกันในสุสานของครอบครัวในแคว้นปิเอมอนเต ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอิตาลี
อ้างอิง:
- https://www.faz.net/aktuell/stil/essen-trinken/espressokannen-hersteller-bialetti-steckt-in-der-krise-15885354.html
- https://www.cremundo.de/magazin/bialetti-geschichte-des-espressokochers/
- https://www.espressokanne.org/espressokocher/alfonso-bialetti-und-seine-espressokannen
Tags: Alfonso Bialetti, กาแฟ, บิอาเล็ตตี, อัลฟอนโซ บิอาเล็ตตี