Hunter x Hunter อาจจะพอเรียกได้ว่าเป็นมังหงะระดับตำนานที่แทบจะไม่ต้องการบทแนะนำอะไรอีกต่อไป โดยเฉพาะกับคนอายุป้วนเปี้ยนแถวๆ เลขสามอย่างผมแล้วยิ่งน่าจะรู้จักเป็นอย่างดี กระนั้นเพื่อประโยชน์แก่ท่านผู้ไม่เคยอ่านหรือรู้จักเรื่องนี้ ผมก็ขอแนะนำแต่พอสังเขปครับ
Hunter x Hunter (จริงๆ อ่านออกเสียงว่า ‘ฮันเตอร์ ฮันเตอร์’ แต่ผมคิดว่าแทบทุกคนอ่านว่า ‘ฮันเตอร์ เอ็กซ์ ฮันเตอร์’ กันมากกว่า) เป็นผลงานของโยชิฮิโระ โทะงะชิ (Yoshihiro Togashi) โดยลุงโทะยะชินี้เขียนอีกเรื่องที่ดังมากๆ ในบ้านเราอย่าง ‘คนเก่งฟ้าประทาน’ หรือ Yu Yu Hakusho โดยคนเก่งฟ้าประทานเป็นเรื่องแรกที่แปลไทย ตามมาด้วย Level E ที่ไม่ได้ดังนัก แล้วก็ต่อด้วย Hunter x Hunter ที่อาจจะนับได้ว่าดังที่สุดของโทะงะชิ และที่แน่ๆ คือ ยาวที่สุดเท่าที่ลุงแกเขียนมา
ฮันเตอร์นั้นสามารถแบ่งเป็นภาคได้คร่าวๆ ประมาณ 6 ภาคครับ คือ ภาคการสอบฮันเตอร์, ภาคหอคอย, ภาคแมงมุม, ภาคกรีดไอส์แลนด์, ภาคราชามด, และภาคโลกใหม่ ซึ่งเป็นส่วนที่เนื้อเรื่องกำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ แต่เนื้อเรื่องภาคล่าสุดนี้แทบจะเปลี่ยนจากมังหงะสายต่อสู้ผจญภัยไปเป็นมังหงะสายสืบสวนตัวอักษรล้นกันแล้ว
เนื้อเรื่องคร่าวๆ ของเรื่องฮันเตอร์นั้นพูดถึงกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า ‘ฮันเตอร์’ นี่แหละ โดยฮันเตอร์นั้นเป็นอาชีพนะครับ มีองค์กรควบคุมดูแลอย่างชัดเจนเรียกว่าสมาคมฮันเตอร์ (Hunter Association) แต่มันไม่ได้เป็นอาชีพที่ใครอยากเป็นก็เป็นได้ เพราะเมื่อได้เป็นแล้วจะได้ทั้งอภิสิทธิ์ สิทธิพิเศษ และสวัสดิการมากมาย ฉะนั้นการจะเป็นฮันเตอร์ได้จึงจำเป็นต้องผ่านการสอบที่สุดแสนจะเคี่ยวและโหด คนอยากเป็นก็มีมากมายมหาศาลเพราะสิทธิพิเศษที่ว่านั่นแหละครับ ซึ่งแต่ละปีอัตราคนสอบเข้าได้ก็มีเพียงน้อยนิด
การจะพูดถึงลักษณะหน้าที่การทำงานของอาชีพฮันเตอร์นั้นออกจะยากสักหน่อย เพราะหลากหลายเหลือเกิน แต่โดยรวมๆ กว้างๆ แล้วคือ การออกสำรวจ การออกค้นหา หรือขยายพรมแดนของการรับรู้ให้กว้างยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นด้านไหนก็ได้เลยไม่ว่าจะ สำรวจโลก, อาหาร, อัญมณี, โบราณสถาน, สัตว์วิเศษ, ไล่ล่าอาชญากร, ฯลฯ
และการสอบเพื่อเป็นฮันเตอร์นี้เองที่ทำให้ตัวละครหลักของเรื่องนี้ได้มาพานพบกัน ตัวละครหลักของเรื่องนี้มี 4 คน คือ กอน ฟรีคส์, คิลัวร์ โซลดิ๊ก, คุราปิก้า, และเลโอลีโอ (แต่ตัวละครหลักมาจนถึงภาคราชามดจริงๆ คือ 2 ตัวแรก) 4 คนนี้มาสอบเป็นฮันเตอร์ในปีเดียวกันครับ และก็ได้เจอกัน และกลายมาเป็นเพื่อนซี้กันไปในที่สุด
เนื่องจากโดยตัวงานของอาชีพฮันเตอร์นั้นต้องผจญกับอันตรายที่เหนือความคาดหมายตลอดเวลา (เพราะมีหน้าที่ไปชนกับของใหม่ตลอดๆ) หนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่ทางสมาคมฮันเตอร์กำหนดให้ผู้ซึ่งผ่านการสอบมาได้นั่นก็คือต้องฝึกจนสามารถใช้ความสามารถที่เรียกว่า ‘เน็น’ ได้ ซึ่งเป็นการใช้พลังของร่างกายตัวเองนี่แหละครับ แต่เหนือกว่าที่มนุษย์ปกติธรรมดาจะใช้เป็น ฉะนั้นเมื่อเหล่าฮันเตอร์ใช้เป็นแล้ว พวกเขาก็จะมีพลังความสามารถเหนือกว่าคนทั่วๆ ไป และไอ้เน็นนี่ยิ่งฝึกปรือก็ยิ่งเก่งกล้าสามารถจนกลายเป็นตัวเทพไปเรื่อยๆ (อย่างไรก็ดี ก็มีคนเก่งๆ ที่ไม่ใช่ฮันเตอร์ และใช้เน็นได้ด้วยนะครับ คือ ทุกคนที่เป็นฮันเตอร์ต้องใช้เน็นเป็น แต่คนที่ใช้เน็นเป็นไม่ได้จำเป็นต้องมาสอบเป็นฮันเตอร์ทุกคน) ก็นั่นแหละครับ มังหงะก็เล่าเรื่องของตัวละครหลัก การฝึกเน็นของพวกเค้า และผจญภัยพร้อมๆ กันไปเรื่อยๆ นั่นเอง (แถมตัวละครหลักทั้ง 4 คน เป็นผู้ชายทั้งสิ้น เรื่องนี้เลยเป็นหนึ่งในเรื่องที่โดนแต่งเป็นแฟนฟิคชั่นหรือโดจินสาย Y บ่อยสุดด้วย)
ทีนี้ส่วนใหญ่เวลาคนพูดถึงเรื่องฮันเตอร์นี้ มักจะพูดถึงแทบทุกภาค โดยเฉพาะภาคแมงมุม และกรีดไอส์แลนด์ แต่ยกเว้นภาคราชามด (และภาคใหม่ล่าสุด) ด้วยความที่ช่วงภาคราชามดนั้น เป็นช่วงที่คนเขียนอย่างลุงโทะงะชิป่วย เป็นโรคปวดหลังขั้นหนัก ขนาดที่บางกระแสบอกว่าต้องนอนเขียนกันเลยทีเดียว (ในขณะแฟนนานุแฟนผู้เคียดแค้นบางคนเชื่อว่าเป็นข้ออ้างในการอู้เล่นเกม) ทำให้งานภาพของภาคราชามดนี้ช่วงหนึ่งดร็อปลงไปหนักมาก คือ ส่งมาลงในเล่มรายสัปดาห์นั้นแทบจะมีแค่ ‘เนม’ (หรือภาพร่างต้นฉบับ) เลย ทำให้อ่านแล้วเสียอรรถรสมาก รวมไปถึงมีช่วงที่หยุดพักยาว หายไปเป็นปีๆ ด้วย ภาคราชามดนี้เลยกลายเป็นภาคที่คนก่นด่าประณามมาก ตัวผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่อินกับภาคนี้นัก
เนื้อเรื่องคร่าวๆ ของภาคนี้ก็คือมีสัตว์สายพันธุ์ประหลาดอย่าง คิเมราแอนท์ ถูกพัดพามากับทะเลและมาโผล่ที่เกาะแห่งหนึ่ง คิเมราแอนท์ตัวนั้นกลับเป็นนางพญามด ที่ได้กินอาหารชนิดแรกเป็นเด็กมนุษย์สองคน จากนั้นเธอได้ขยายเผ่าพันธุ์จากการ ‘กิน’ แล้วใช้ยีนของสิ่งที่กินเข้าไปไปผสมกับไข่ ผลออกมาเป็นสัตว์สายพันธุ์พิเศษที่มีลักษณะของแต่ละสิ่งที่เธอกินเข้าไปผสมกัน และภัยอันตรายอย่างยิ่งก็เกิดเมื่อพวกมันดันได้ยีนของมนุษย์ที่มีความสามารถในการคิดเข้าไปด้วย แล้วก็จำเพาะว่าเกาะที่นางพญามดสร้างรังนั้นก็ดันเป็นประเทศปิดที่ไม่ยอมให้ประเทศอื่นๆ เข้าไปยุ่งเกี่ยวมากนัก
ความบรรลัยยิ่งเกิดเมื่อราชินีมดให้กำเนิดราชามดที่เป็นสุดยอดของสายพันธุ์ขึ้นมา โดยตัวราชานี่ได้รับยีนของพวกมนุษย์ที่มี ‘เน็น’ เข้าไปด้วยเป็นจำนวนมหาศาล บวกกับพื้นฐานทางร่างกายของเผ่าพันธุ์มดที่แข็งแกร่งกว่าคนทั่วไปยิ่งแล้วใหญ่ ภัยพิบัติจึงยิ่งทวีความร้ายแรงขึ้นอีกเมื่อราชาคิดที่จะเป็นราชาของโลกนี้จริงๆ ถึงตอนนั้นสมาคมฮันเตอร์จึงต้องออกโรง โดยมีประธานเนเทโล่มานำทัพ
กระทั่งเมื่อไม่นานนี้ ทาง Netflix ได้นำอะนิเมะเรื่อง Hunter x Hunter มาลง ซึ่งอะนิเมะทำดีมากและเนื้อเรื่องไล่ยาวมาตั้งแต่ต้นยันจบภาคราชามดเลย พอผมได้มาดูแบบดีๆ อีกที ผมก็รู้สึกว่าจริงๆ แล้วภาคราชามดนี่เนื้อหานอกจากจะดาร์กมากๆ แล้ว อาจจะดาร์กที่สุดเลยก็ได้ (ฮันเตอร์นี่ แม้จะเป็นมังหงะสำหรับเด็ก และมีภาพดูค่อนข้างสดใส แต่จริงๆ แล้วเนื้อหาค่อนข้างจะดาร์กมากอยู่นะครับ) มันยังมีเนื้อหาที่ซ่อนประเด็นไว้ไม่น้อยด้วยครับ และหนึ่งในประเด็นที่ผมคิดว่าน่าพูดถึงที่สุดก็คือเรื่อง Anthropocene หรือยุค (ของ) มนุษย์
หลายท่านอาจจะงงว่าไอ้คำดูยากๆ อย่าง Anthropocene (อ่านว่า ‘แอน-โทร-โพ-ซีน’) นี้มันคืออะไร คำๆ นี้เป็นคำเรียกยุค (epoch) ในทางธรณีวิทยาครับ คำๆ นี้จริงๆ แล้วเป็นคำที่กำเนิดขึ้นในโลกฝั่งวิทยาศาสตร์ก่อนโดยเหล่านักวิทยาศาสตร์ของสหภาพโซเวียตในช่วงทศวรรษ 1960s และมาถูกเผยแพร่จนคุ้นหูกันโดยทั่วไปในปี ค.ศ. 2000 โดยนักเคมีบรรยากาศ (Atmospheric Chemist) ชื่อ พอล เจ. ครุตเซ่น (Paul J. Crutzen) ครับ ว่าอีกแบบก็คือ คอนเซปต์เรื่องแอนโทรโพซีนนี้ถือว่าเป็นคอนเซปต์ที่ใหม่มากทีเดียว มีอายุอานามที่แพร่หลายทั่วโลกแค่ราวๆ 19 ปีเอง
คอนเซปต์ใหม่ที่ว่านี้มันคือการพยายามจะให้คำจำกัดความยุคสมัยที่เรากำลังอยู่กันนี่แหละครับว่าเป็น ‘ยุค(ของ)มนุษย์’ แต่การเป็นยุคในทางธรณีวิทยา หรือ Epoch นั้นมันไม่ใช่ช่วงประวัติศาสตร์สั้นๆ นะครับ การมองหรือแบ่งประวัติศาสตร์เป็นยุคทางธรณีวิทยานั้นโดยหลักแล้วเป็นการมองห้วงเวลาอย่างยาว (จริงๆ ในทางธรณีวิทยาจะมีการแบ่งตามความยาวหลายแบบ Epoch นี่ยาวกว่า Age แต่สั้นกว่า Period ครับ แต่หากเทียบกับ ยุคในทางประวัติศาสตร์ที่เรามักคุ้นชินกัน มันก็นับว่ายาวมากนั่นแหละ)
ไอ้ยุค(ของ)มนุษย์ที่ว่านี้ ก็คือ ข้อเสนอที่ว่า ตอนนี้เราอยู่ในยุคที่มนุษย์เป็นปัจจัยหลักในการสร้างผลกระทบหรือก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา ภูมิประเทศ และ/หรือภูมิอากาศแล้ว ว่าง่ายๆ ก็คือ มนุษย์นั้นเป็นตัวการของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของยุค ไม่ต่างจากที่อุกกาบาตเคยเปลี่ยนโฉมโลกมาแล้วในยุคก่อนๆ
แนวคิดนี้ดูจะได้รับการตอบรับมากทีเดียว ทั้งจากการเกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก โลกร้อน เอลนินโญ่ ลานินญ่า ต่างๆ ไปจนถึงหนังสือชื่อดังจากนักวิชาการมากมาย อย่าง The Sixth Extinction (การสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่ 6) โดยอลิซาเบธ โคลเบิร์ต (Elizabeth Kolbert) ที่อภิปรายอย่างถึงพริกถึงขิงว่า เรากำลังอยู่ในยุคของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งใหม่ ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 6 นับแต่กำเนิดโลกขึ้นมา และตัวการหลักของการสูญพันธุ์หลักในครั้งนี้ก็คือมนุษย์เอง หรือแม้แต่งานชื่อดังก้องโลกอย่าง Sapiens โดยยูวัล แฮรารี (Yuval Harari) ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติแบบระยะยาว ก็ดูจะมีความเห็นในลักษณะเดียวกัน คือ มนุษย์นำมาซึ่งการสูญพันธุ์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมายกับโลกใบนี้แบบที่ไม่เคยมีสิ่งมีชีวิตไหนทำได้มาก่อน
อย่างไรก็ดี ยุค(ของ)มนุษย์ หรือ Anthropocene นี้ยังเป็นเพียงข้อเสนอ ในการเรียกยุคสมัยอยู่นะครับ ไม่ใช่คำที่ยอมรับอย่างเป็นทางการแล้ว แม้จะเป็นที่ใช้กันแพร่หลายและกระจายไปแทบทุกวงการทุกสาขาวิชาแล้วก็ตาม เมื่อมันเป็นเพียงข้อเสนออยู่ ข้อถกเถียงของจุดเริ่มต้นของยุค(ของ)มนุษย์ก็ยังคงอยู่ว่าควรจะนับว่าเริ่มจากสมัยไหนที่ทำให้มนุษย์กระโดดขึ้นมาครองบัลลังก์ ‘ผู้กุมบังเหียนการเปลี่ยนแปลงของโลก’ บางข้อเสนอย้อนไปถึงช่วงยุคหิน บางข้อเสนอบอกว่าน่าจะราวๆ ศตวรรษที่ 18 ที่มนุษย์คิดค้นเครื่องจักรไอน้ำได้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการถลุงทรัพยากร (คือถ่านหิน) และสร้างกำลังอำนาจของมนุษย์ให้เหนือกว่าขีดจำกัดทางธรรมชาติได้ในสเกลใหญ่ บางข้อเสนอบอกว่าควรมองที่การปฏิวัติอุตสาหกรรม บางข้อเสนอบอกว่าควรนับที่จุดเริ่มต้นของทุนนิยม หรือการปฏิวัติการทหาร บางข้อเสนอมองใกล้เข้ามาอีก ว่าควรจะเป็นปี ค.ศ. 1945 ที่เริ่มมีการใช้ระเบิดปรมณูขึ้นเป็นครั้งแรก ที่ฮิโรชิม่า และนางาซากิ เพราะนอกจากจะมีพลานุภาพทำลายล้างมากมหาศาลแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากมาย
หรือหากอ่านงานชื่อดังของแฮรารีอย่าง Sapiens มา ก็อาจจะรู้สึกว่าควรจะนับจุดเริ่มต้นของ Anthropocene ที่การปฏิวัติการรับรู้ของโฮโมเซเปียนส์ ที่รู้จักการใช้ภาษาในรูปแบบที่เหนือล้ำกว่าสิ่งมีชีวิตใดๆ นั่นคือ ‘การอธิบายถึงสิ่งซึ่งไม่มีอยู่จริง’ อย่างคติ ความเชื่อ ไปจนถึงศาสนาต่างๆ ขึ้นมาได้ นำมาซึ่งการรวมกลุ่มมนุษย์อย่างเป็นระบบ และทำให้เรากลายเป็นผู้ล่าที่ไล่แดกทุกสิ่งบนเส้นทางที่ไปเยือน เป็นต้น
การมีข้อถกเถียงเรื่องเงื่อนไข และจุดกำเนิดของ Anthropocene นี้เองที่ดึงให้แทบทุกวงการในโลกวิชาการเข้าไปเอี่ยวกับคำๆ นี้ เพราะเมื่อจะอธิบายมันในฐานะยุค(ของ)มนุษย์ มันก็ไม่ใช่เรื่องของสาขาวิชาธรณีวิทยาล้วนๆ อีกแล้ว นักมานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ปรัชญา และอื่นๆ ต่างกระโดดเข้าสู่สังเวียนของข้อเสนอนี้มากมาย และทำให้เกิดคำย่อยที่อธิบายที่มาของ Anthropocene อีกมาก เช่น Capitalocene (ยุคแห่งทุน), Plantaionocene (ยุคแห่งฟาร์มเพาะปลูก – Plantation) เป็นต้น ที่เป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้มนุษย์เป็นผู้ครองศักยภาพในการเปลี่ยนรูปโฉมโลก (Terra Forming) ได้ หรือหากจะเรียกว่ามีชัยเหนือธรรมชาติก็คงจะไม่ผิด
ฐานคิดเรื่อง Anthropocene นี้โดยรากแล้วมีการแยกระหว่างมนุษย์ออกจากธรรมชาติอย่างค่อนข้างมากในตัวมันเอง การเกิดขึ้นของ Anthropocene นั้นทำหน้าที่ในฐานะจุดแบ่งที่สำคัญของโลก 2 ยุค คือ ยุคที่ “ธรรมชาติกำหนดตัวธรรมชาติเอง” กับยุคที่ “มนุษย์เข้ามากำหนดความเป็นไปของธรรมชาติแทน” ซึ่งไอ้ความขัดแย้งหรือแบ่งขั้วระหว่างมนุษย์กับธรรมชาตินั้นไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลยครับ เราต่อสู้กับธรรมชาติมาตั้งแต่กำเนิดเผ่าพันธุ์ ยันปัจจุบันทุกวันนี้ อย่างไต้ฝุ่น แผ่นดินไหว สึนามิ หรือพายุปาบึกที่เพิ่งผ่านไป เราจึงต้องหาสารพัดกลวิธีมาต่อสู้กับธรรมชาติ ทั้งกำแพง รางระบายน้ำ อาวุธต่างๆ ในการล่าสัตว์ เป็นต้น
มนุษย์มองตัวเองเป็นส่วนที่แยกขาดจากธรรมชาติมาโดยตลอด อยู่แค่ว่าที่ผ่านมามนุษย์มองว่าตัวเองยังคงพ่ายแพ้ต่อธรรมชาติอยู่ จนกระทั่งเมื่อไม่นานนี้จึงได้คิดออกว่าเราถึงจุดที่มีชัยเหนือธรรมชาติแล้วในการกำหนดความเป็นไปของโลกนี้ (แค่ยังเถียงกันไม่จบว่าควรนับเริ่มจากตอนไหน) นั่นจึงแปลว่าเราเข้าสู่ยุคของมนุษย์แล้วนั่นเอง และมนุษย์ผู้เป็นเจ้าของบังเหียนโลกนี้เองก็อาจจะฉิบหายตายห่ากันหมดเพราะผลงานที่ตัวเองสร้างไว้ด้วย
ว่าแต่ที่ร่ายมานี้มันเกี่ยวอะไรกับ Hunter x Hunter และราชามดกันหนอ เอาจริงๆ ก็อาจจะไม่ได้เกี่ยวตรงๆ ขนาดนั้นหรอกครับ เพียงแค่ผมอ่านและดูภาคนี้ซ้ำแล้ว ผมรู้สึกว่ามันกำลังเล่า Anthropocene นี้อยู่ด้วยกลวิธีและภาษาแบบของมัน มนุษย์ผู้ใช้เน็น ก็คือเหล่ามนุษย์ผู้พยายามจะก้าวข้ามขีดจำกัดทางธรรมชาติ ขีดจำกัดของเผ่าพันธุ์ตัวเอง [ส่วนจากนี้ไปจะมีการสปอยล์เนื้อหาของภาคราชามดไปจนจบนะครับ] อย่างไรก็ดี ตลอดเวลาหลายแสนหลายล้านปีนับแต่มนุษย์สายพันธุ์แรกกำเนิดขึ้นมา ไม่ว่ามนุษย์จะพยายามเพียงแค่ไหนในการพัฒนาศักยภาพของร่างกายตนเอง หรือขีดจำกัดที่อยู่บนสัณฐานของความเป็นคน (Human Figure) มนุษย์ก็ยังคงพ่ายแพ้ต่อธรรมชาติอยู่ดี
ความพยายามที่ไม่บังเกิดผลของมนุษย์ ก็ดูจะไม่ต่างอะไรนักกับตัวประธานเนเทโล่ ประธานของสมาคมฮันเตอร์ที่เข้าสู้กับราชามด เนเทโล่อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นมนุษย์ที่เก่งที่สุดในเรื่องฮันเตอร์ฯ เขาทั้งฝึกฝนอย่างเคร่งครัด ขัดเกลาฝีมือจากการต่อสู้จริงนับครั้งไม่ถ้วน สะสมประสบการณ์ชนิดที่ไม่มีฮันเตอร์คนไหนในโลกจะไม่รู้จักหรือยอมรับ ว่าง่ายๆ ก็คือเนเทโล่เป็นเสมือนภาพของจุดสูงสุด (Pinnacle) ของผู้พยายามดิ้นรนที่จะต่อสู้กับขีดจำกัดทางธรรมชาติที่กำหนดกรอบและขีดความสามารถของเผ่าพันธุ์ตนเองไว้นั่นเอง
ในทำนองเดียวกัน เหล่ามด หรือคิเมร่าแอนท์ก็เสมือนเป็นตัวแทนของธรรมชาติ (จะเรียกจำเพาะว่าเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือภัยที่มนุษย์ต้องต่อกรด้วยก็ได้) ที่อยู่เหนือและควบคุมมนุษย์ผู้มีขีดจำกัด ดังที่จะเห็นได้จากการที่คิเมร่าแอนท์มีสถานะเป็น ‘ผู้ล่ามนุษย์’ และมีมนุษย์เองเป็นเป้าหมายหลักในการล่าด้วย ทั้งนี้ผมรู้สึกว่ามันสะท้อนความเป็นจริงที่ว่า ดูๆ ไปแล้วมนุษย์คล้ายจะเป็นสิ่งมีชีวิตเดียวที่พยายามต่อสู้กับธรรมชาติอย่างจริงจังมาโดยตลอด พูดอีกอย่างก็คือ เราเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกระมังที่จงใจมองธรรมชาติเป็นศัตรูที่จะต้องขัดขืนหรือก้าวผ่านไปให้ได้ ในเมื่อสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ มันไม่ได้มองธรรมชาติเป็นศัตรูแต่แรก สถานะความเป็นอื่นระหว่างตัวตนของสปีชี่ส์นั้นๆ กับตัวธรรมชาติเองมันก็ไม่เกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วสถานะความเป็นอื่นระหว่าง ‘ตัวตนของเผ่าพันธุ์ กับธรรมชาติ’ จึงดูจะเกิดขึ้นเฉพาะกับมนุษย์ เหมือนดังเช่นที่คิเมร่าแอนท์มีแต่มนุษย์ที่เป็นเป้าหมาย
และราชาของมวลหมู่คิเมร่าแอนท์ ที่เรามักเรียกกันว่าราชามดนั้นก็จึงเป็นเสมือนตัวแทนของจุดสูงสุดของกำลังของธรรมชาติ ที่ยิ่งใหญ่และแข็งแกร่งมากมหาศาลเสียจนมนุษย์ไม่ว่าจะหน้าไหน รวมทั้งเนเทโล่ที่ทุ่มสุดกำลังในฐานะมนุษย์คนหนึ่งด้วยก็ไม่อาจจะทำอะไรได้ ไม่อาจจะต่อกรกระทั่งเพียงทำให้ราชาเอาจริงได้ มนุษย์ด้วยตัวศักยภาพทางร่างกายของเผ่าพันธุ์ตัวเองแล้ว เป็นผู้ซึ่งพ่ายแพ้ให้กับธรรมชาติในที่สุด เพราะสุดท้ายแล้วร่างกายของเราก็เป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมา เราจึงดูจะไม่อาจจะไปขัดขืนงัดข้อให้มีชัยเหนือธรรมชาติได้ ด้วยร่างกายที่ธรรมชาติให้มาและกลายเป็นกรอบบังคับขีดจำกัดของเรานี้
เมื่อเอาชนะธรรมชาติด้วยอำนาจที่ธรรมชาติมอบให้ไม่ได้ มนุษย์ก็ต่อสู้กับธรรมชาติด้วย สิ่งซึ่งไม่ได้มาจากการมอบและกำหนดให้โดยธรรมชาติ หากแต่เป็นพลังอำนาจที่สร้างขึ้นด้วยมือมนุษย์เอง ซึ่งจะแทนด้วยเครื่องจักรไอน้ำ ภาษา การปฏิวัติอุตสาหกรรม การปฏิวัติการเกษตร การปฏิวัติการรับรู้ หรือระเบิดนิวเคลียร์ก็แล้วแต่ ไม่ต่างจากตัวประธานเนเทโล่เอง ที่เมื่อสู้จนหมดหนทางและยอมรับโดยหมดสิ้นความแคลงใจแล้วว่า ตนไม่อาจก้าวข้ามราชามด (ภาพแทนจุดสูงสุดของพลังธรรมชาติ) ได้ ก็ได้อาศัยเรี่ยวแรงหยดสุดท้ายจุดระเบิดที่คล้ายกับนิวเคลียร์ขนาดย่อมที่ฝังไว้ในร่างกายของตนก่อนจะเดินทางมาทำภารกิจปราบราชามดนี้ เมื่อแรงระเบิดจากประดิษฐกรรมที่มีอำนาจทำลายล้างรุนแรงเหนือพลังธรรมชาติใดๆ ถูกจุดระเบิดขึ้น ราชามดเองก็แทบจะมอดไหม้หมดสิ้น
กระนั้นราชามดไม่ได้ตายจากระเบิดนิวเคลียร์ขนาดย่อมนี้นะครับ เขาร่อแร่แต่ก็ฟื้นตัวได้ (ด้วยความช่วยเหลือจากเหล่าองครักษ์มด) เหมือนจะบอกเป็นนัยๆ กับเราเลยว่าตัวเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่สักชิ้น อย่างเครื่องจักรไอน้ำ เครื่องยนต์ ไปจนถึงระเบิดนิวเคลียร์สักลูกสองลูกนั้น แม้จะรุนแรงจนโลกต้องสั่นไหว แต่อำนาจโดยตรงของมันก็ยังไม่ถึงกับทำให้พลังของธรรมชาติพ่ายแพ้อย่างเด็ดขาดไป แต่สุดท้ายหลังจากโดนระเบิด และฟื้นคืนสภาพ ราชาและมวลหมู่มดแทบทั้งหมดก็ต้องพ่ายแพ้และตายลงจากพิษที่ค้างในร่างกายอันเป็นผลพวงจากตัวระเบิดนั้น (เกิดเป็นเซลล์มะเร็งขึ้น) ผลพวงจากการใช้เทคโนโลยีต่างหากที่ดูจะทำให้มนุษย์ได้ชัยเหนือธรรมชาติ และกลายเป็นผู้กุมบังเหียนของยุคสมัยได้ในที่สุด … ยุคของมนุษย์กำเนิดขึ้นแล้ว
ผมว่าการเล่าเรื่องที่ว่านี้เองที่ทำให้ผมรู้สึกนึกถึงเรื่อง Anthropocene ทันทีที่ดูจบ เพราะ Hunter x Hunter มันกำลังบอกกับเราว่า เราได้มีชัยเหนือธรรมชาติแล้ว เรามีกำลังทำลายและเป็นภัยต่อโลกเสียยิ่งกว่าภัยธรรมชาติใดๆ และวิธีการใช้งานอำนาจที่แทบจะไร้ขีดจำกัดของมนุษย์นั้นก็อาจจะกลับมาทำลายมนุษย์ให้มอดไหม้เองได้ในท้ายที่สุดครับ
นอกจากเนื้อเรื่องดาร์กๆ ที่ว่ามาแล้ว ผมคิดว่าอีกสิ่งหนึ่งที่เรื่องฮันเตอร์พยายามจะพูดคุยกับเรา อาจจะเป็นการบอกว่าจริงๆ แล้วมันมีทางออกอีกแบบหนึ่งอยู่ที่ง่ายมากๆ เลย แค่เราไม่ทำกันเอง นั่นก็คือ การไม่ต้องมองหรือสร้างความเป็นอื่นขึ้นระหว่างตัวเรากับธรรมชาติ ถ้าไม่สร้างความเป็นอื่น ก็จะไม่เกิดการต่อสู้ขัดแย้งขึ้นแต่แรก เหมือนกับอีกหนึ่งตัวละครสำคัญของภาคมดนี้อย่าง ‘โคมุหงิ’ หญิงสาวนักเล่นหมากกระดาน (ที่เรียกว่ากุนหงิ) ระดับตำนานซึ่งตาบอด ทำให้เธอเล่นหมากกระดานแข่งกับราชามดได้อย่างฉันท์มิตร เพราะเธอตาบอด เธอไม่เคยเห็นว่าราชามดเป็นอื่น เธอไม่ได้รับรู้ว่าราชามดเป็นตัวตนที่แปลกแยกตัดขาดออกจากความเป็นเธอ (โดยเฉพาะในทางเผ่าพันธุ์) เช่นนั้นเธอจึงไม่แม้แต่จะคิดที่จะมองราชามดเป็นศัตรู ในขณะที่คนอื่นๆ ทั้งหมดในเรื่องมองเห็นเหล่ามด ‘เป็นอื่น’ และต้องหาทางต่อกรด้วย เพราะหากไม่ต่อกรด้วยก็จะหมดทางอยู่รอดนั่นเอง
Anthropocene หรือยุคของมนุษย์นั้นไม่ใช่คำที่เสนอขึ้นมาเพื่อชื่นชมในความสามารถของมนุษย์นะครับ แต่เป็นคำที่ตั้งมากึ่งเตือนสติให้เราระวังตัว ที่จะไม่พลั้งเผลอทำลายตัวเองจากอำนาจที่ตัวเองสร้างขึ้น ผมคิดว่าเรื่อง Hunter x Hunter โดยเฉพาะภาคนี้ เค้าอยากสื่อสารกับเราจริงๆ นะครับ ว่าเราจะทำอย่างไรกับตนเอง จะทำอย่างไรกับโลก ในวันที่ธรรมชาติอยู่ในกำมือของมนุษย์อย่างเรา
ขอให้สนุกกับมังหงะครับ