*บทความนี้เปิดเผยเนื้อเรื่องและตอนจบของหนัง

มินคนเก่าก่อนจะฆ่าตัวตายเป็นเด็กมัธยมปลายที่มีความแปลกแยก ไร้กลุ่มเพื่อนที่คอยประคอง มีคนรักที่ทำสิ่งที่ไม่คาดคิดซึ่งทำให้เขาผิดหวัง และรู้สึกว่าครอบครัวตัวเองแขนขาดขาขาด จนนำไปสู่ความคิดที่ว่าชีวิตของตัวเองนั้นน่าขยะแขยงซึ่งเป็นคำที่หนังใช้อยู่หลายครั้งหลายครา เขามองว่าความน่าขยะแขยงนั้นเกิดขึ้นกับเขาเพียงคนเดียว พุ่งเป้าตรงมาที่เขา และบาดทะลุไปที่การมีอยู่ของเขา และในเมื่อการมีเขาอยู่บนโลกทำร้ายทุกคนรวมทั้งตัวเขาเอง หากแต่การไม่มีเขาอยู่บนโลกนั้นไม่ทำร้ายใครแถมยังทำให้เขาพ้นจากความทรมาน แล้วไยจะไม่ไปจากโลกนี้เสียเล่า

ความเกลียดชังที่มินมีต่อคนรอบข้าง ทัศนคติของมินเกี่ยวกับคุณค่าของชีวิตและความรักความสัมพันธ์ นำไปสู่การฆ่าตัวตายที่สำเร็จ เพียงแต่ถ้าผู้คุมวิญญาณไม่นำรางวัลนี้มาให้เขา ซึ่งถูกเล่าว่าเป็นวิญญาณเร่ร่อน นั่นคือรางวัลที่จะมีชีวิตต่อไปได้อีก 100 วัน โดยมีเงื่อนไขว่าต้องหาคำตอบให้ได้ว่ามินฆ่าตัวตายเพราะใคร หากหาคำตอบไม่ได้ในเวลาที่ว่าไว้ วิญญาณเร่ร่อนตนนี้ก็จะไม่ได้ไปผุดไปเกิดอีก

เป็นความจำเป็นที่จะต้องเปิดเผยตอนจบของหนังตั้งแต่ตอนนี้ เนื่องจากเราจะพูดถึงตัวละครมิน (เจมส์ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ) และเรื่องราวต่างๆ แบบแยกกันระหว่างมินคนเก่าและมินคนใหม่ที่ไร้ซึ่งความทรงจำในอดีต และตอนจบนั้นก็คือ แท้จริงแล้ววิญญาณเร่ร่อนตนนั้นคือมินเอง แต่เป็นมินที่ถูกลบความทรงจำทั้งหมดออกไป และประสบการณ์ที่ได้รับหลังจากฟื้นคืนชีพขึ้นมาก็นับได้ว่าเป็นประสบการณ์ใหม่ทั้งสิ้น ซึ่งเราจะว่ากันในส่วนสุดท้ายของบทความ

The old มิน: ไม่ใช่ทุกคนที่ฆ่าตัวตายจะต้องเป็นโรคซึมเศร้า

สิ่งที่ผู้เขียนกำลังจะพูดถึงในส่วนนี้ ต้องยอมรับว่ามีที่มาจากการที่ผู้เขียนได้อ่านความเห็นจากเพจต่างๆ และเฟซบุคส่วนตัวของหลายคนที่รีวิวหรือพูดถึงหนังเรื่องนี้โดยนำโรคซึมเศร้าในความหมายของ Clinical Depression (ที่ไม่ใช่ ‘อาการซึมเศร้า’ ที่เป็นอาการที่เกิดเพียงชั่วคราว) มาเป็นฐานของการวิจารณ์หนังเรื่องนี้ แน่นอนว่าตัวละครมินมีกราฟอารมณ์ที่ไม่ปกติตามคำนิยามของคนทั่วไป รวมทั้งมีบุคลิกเก็บตัวและแยกตัวจากคนรอบข้าง ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามินมีสุขภาพจิตที่ไม่ดีและน่าเป็นห่วง

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าผู้สร้างจะตั้งใจสร้างตัวละครมินให้เป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ แต่ผู้เขียนเองเชื่อว่าการใช้การมีอยู่และความตื่นตัวเรื่อง Clinical Depression เป็นฐานของการวิจารณ์นั้นเป็นเรื่องที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลนัก เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ฆ่าตัวตายจะต้องเป็นโรคซึมเศร้า และไม่ใช่ผู้ป่วยซึมเศร้าทุกคนที่มีความคิดอยากตาย เพียงแต่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจำนวนมากที่เลือกหยุดความทรมานด้วยวิธีนี้

กล่าวอีกแบบก็คือ จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่มีเพื่อนและคนรู้จักฆ่าตัวตายสำเร็จไปแล้วราว 5 คน ทำให้เราได้รู้ว่า คนที่คิดหรือฆ่าตัวตายสำเร็จนั้นทำไปด้วยเหตุผลที่ต่างกันนับสิบเหตุผล และเราควรให้เกียรติพวกเขาในฐานะมนุษย์ที่ไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้าเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนของผู้เขียนคนหนึ่งที่ทนอาการป่วยทางสมองของตัวเองไม่ไหวและไม่อยากทรมานกับอาการที่ไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น จนเธอเลือกที่จะทำอย่างนั้น หรือเพื่อนของผู้เขียนอีกคนหนึ่งที่เพิ่งเลือกที่จะจากไป โดยมีเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในชีวิตเป็นหนึ่งในหลายเหตุผล

มินคนเก่านี้ที่ถึงจะมีสุขภาพจิตที่ไม่แข็งแรง แต่เขาก็ไม่ได้ดูเหมือนจะมีอาการเข้าข่ายการเป็นโรคซึมเศร้าแบบ Clinical Depression อย่างความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ไม่สามารถทำให้คนอื่นรู้สึกดีได้ รู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระของคนรอบข้าง และในหลายกรณี มีภาพการฆ่าตัวตายโผล่ขึ้นมาในมโนสำนึก ทั้งที่ไม่ได้อยากทำ  จนต้องตัดสินใจจากไปเพราะความทรมานนี้

แต่ถึงจะมินคนเก่าจะเป็นโรคซึมเศร้าจริงๆ นั่นก็ไม่ใช่ประเด็นของหนังที่ก็ไม่ได้เป็นหนังทริลเลอร์แบบที่โปรโมตไว้เสียทีเดียว แต่เป็นหนังดราม่าวัยรุ่นและครอบครัวเสียมากกว่า อย่างหนึ่งก็เพราะหนังนั้นดัดแปลงมาจาก Colorful (1998) ซึ่งเป็นวรรณกรรมเยาวชนที่สนับสนุนการมีชีวิตอยู่ และความหมายของชีวิตอย่างเต็มสูตร ซึ่งน่าสนใจว่าตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ 20 ปีที่แล้วเลยทีเดียว

การที่หนังเลือกที่จะเดินไปในทางเดียวกับต้นฉบับ นั่นคือสนับสนุนความคิดว่าไม่ว่าจะต้องเจอความทุกข์มากแค่ไหน การมีความสุขในช่วงเวลาสั้นๆ ก็เป็นสิ่งที่มีความหมายเพียงพอที่จะทำให้มีชีวิตอยู่ต่อไปและไม่ดัดแปลงในทางตรงข้ามกับต้นฉบับเพื่อสร้างแรงกระเพื่อมใหม่ นั่นจึงไม่น่าแปลกหาก สำหรับคนที่มองว่า ‘ฆ่าตัวตาย = โรคซึมเศร้า’ จะไม่เห็นด้วยที่หนังมีทีท่าไม่เข้าใจคนเป็นโรคซึมเศร้า

แต่หากตัวละครมินแสดงออกชัดเจนถึงอาการของโรคซึมเศร้า หรือผู้สร้างมีท่าทีตั้งใจที่จะเล่นประเด็นนี้ อย่างซีรีส์วัยรุ่น SOS สเก็ตซึมซ่าส์ (2017) ผู้เขียนเองก็คงอ่านหนังเรื่องนี้ในอีกแบบหนึ่งที่ต่างออกไปโดยสิ้นเชิง

ขณะที่ผู้ป่วยซึมเศร้าส่วนใหญ่เลือกที่จะตายเพราะต้องการหยุดความทรมานจากสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยอาการของโรค ทั้งที่จริงแล้วเราอาจไม่ได้อยากจากไปเลยแม้แต่น้อย เรารู้ว่าคนรอบตัวรักและหวังดีกับเรา ความรักและเป็นห่วงเหล่านั้นส่งมาอยู่ตรงหน้าเรา ห่างเพียงหนึ่งเซ็นติเมตรที่มีกระจกใสกั้นอยู่ อาการของโรคที่ทำให้เราเอื้อมมือไปรับมันมารักษาตัวเองไม่ได้ แต่เรารับรู้เสมอว่ามันมีอยู่ ซึ่งสำหรับมิน เรากลับคิดว่า เขาอยากไปเพราะเขาอยากไปจริงๆ และรู้สึกไม่มีที่จะอยู่ โดยเฉพาะเมื่อเขา (คนเก่า) รับรู้ถึงความเป็นจริงของสิ่งที่เขายกให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวท้ายๆ สำหรับการมีชีวิต ซึ่งนั่น อาจมองได้ว่าเป็นปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้เขาตัดสินใจอย่างนั้น มากกว่าด้วยอาการของโรคหรือสารเคมีในสมอง

อย่างไรก็ดี เราสนใจเหลือเกินว่าหากผู้สร้างทำตอนจบให้ขัดกับต้นฉบับ เช่น ยอมรับการตัดสินใจของมิน ตัวหนังจะเป็นอย่างไร และผู้ชมจะมีความเห็นต่อหนังอย่างไรบ้าง แต่นั่นคงไม่ใช่สิ่งที่ค่ายหนังค่ายนี้จะเลือกทำ สิ่งที่ผู้สร้างเลือกทำคือการเดินตามธีมหลักที่ต้นฉบับสร้างไว้ ซึ่งทำให้เกิดรูรั่วขนาดใหญ่ ดังที่เรากำลังจะกล่าวในส่วนถัดไป

The new มิน: ความทรงจำที่หายไป และรางวัลอันโป้ปดที่ได้มา

อย่างที่กล่าวไป หนังเรื่องนี้ไม่ได้ทำให้ผู้เขียนตระหนักหรือเชื่อตามว่าชีวิตมีทั้งสุขและทุกข์ อย่ามองแต่ด้านทุกข์ เราอยู่ร่างนี้แค่ชั่วคราว จงใช้เวลากับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า และมีความยินดีกับชีวิต” เพราะทุกวันนี้หรือหลังดูหนัง ผู้เขียนก็ไม่ได้คิดอย่างนั้นอยู่ดี

แต่สำหรับคนที่รู้สึกตะหงิดและติดใจว่า ทำไมมินถึงยอมโอบรับความเชื่อนี้เข้ามาได้อย่างเต็มอกเต็มใจ และลืมทุกสิ่งที่ทำให้เขาทรมานมามากนักในอดีตได้ในชั่วนาที ผู้เขียนคิดว่าที่หนังเป็นแบบนี้ได้ ที่ตัวละครเข้าใจตรรกะและความต้องการของผู้คุมได้ง่าย เป็นเพราะเงื่อนไขของต้นฉบับซึ่งผู้สร้างไม่จำเป็นต้องทำตาม แต่พวกเขาก็ได้เลือกแล้ว ที่จะสร้างตัวละครนี้ให้เป็นมินคนใหม่ที่ไม่มีความทรงจำ

นี่คือรูรั่วที่ใหญ่ที่สุดของหนัง เพราะในเมื่อมินคนเก่าไม่ได้มารับรู้เรื่องราวอะไรที่เกิดขึ้นกับมินคนใหม่แล้วจะนับว่าเขาได้ตระหนักถึงความรักที่คนรอบข้างมีให้เขาได้อย่างไร (นึกภาพเราที่ไปอยู่ในร่างและครอบครัวของใครก็ไม่รู้) และในเมื่อมินคนใหม่’ เป็นเพียงผู้ที่เข้าไปสังเกตการณ์ในชั่วระยะเวลาหนึ่ง ไม่ได้ประสบกับความทรมานในการเป็นมินคนเก่า’ มาอย่างยาวนาน แล้วจะเรียกว่าเขาได้รับรู้ถึงคุณค่าชีวิต และยินดีกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้อย่างไร

การที่มินคนเก่าถูกลบความทรงจำและได้เข้ามาอยู่ในร่างนี้ในฐานะมินคนใหม่จึงเป็นอะไรที่ไม่จริงในตัวมันเอง และไม่เป็นไปตามตรรกะที่ควรจะเป็นตั้งแต่ตั้งต้นอยู่แล้ว หากผู้ชมไม่ยอมรับตรรกะที่ว่านี้ และยอมรับความไม่จริงของมันไม่ได้ (ซึ่งแน่นอนว่าผู้ชมไม่จำเป็นต้องยอมรับ) หนังเรื่องนี้ก็จะกลายเป็นหนังที่โกงกฎธรรมชาติตั้งแต่แรก และรางวัลที่ได้นั้นก็ไม่ใช่รางวัลที่มินคนเก่าได้ แต่เป็นรางวัลที่มินคนใหม่ได้การพูดว่าสวรรค์ให้รางวัลมินคนเก่า จึงเป็นการกระทำที่โป้ปดในตัวมันเอง ซึ่งถ้าจะพูดให้ถึงที่สุด การไม่มีความทรงจำเดิมก็ไม่อาจนับได้ว่านี่คือ มิน ด้วยซ้ำ เพราะตัวตนของมนุษย์ ส่วนหนึ่งมันประกอบสร้างขึ้นจากประสบการณ์และชุดความทรงจำที่สะสมมาตั้งแต่เกิด

แต่หากผู้ชมยอมรับตรรกะนี้ ยอมรับในความเป็นแฟนตาซีของหนังที่ต้นฉบับได้โกงเอาไว้ ก็อาจจะไม่ติดใจเท่าไหร่ที่หนังจะรวบตึงแบบง่ายดายแบบที่เป็น ทั้งปมปัญหาเรื่องการสอบโอลิมปิคและความสัมพันธ์ทางเพศลับๆ ของพาย (เฌอปราง อารีย์กุล) ความรักลึกซึ้งที่มินมีให้แม่ (สู่ขวัญ บูลกุล) ความโกรธเกลียดพ่อ (โรจ ควันธรรม) และพี่ชาย (เบสท์ณัฐสิทธิ์ โกฏิมนัสวนิชย์) รวมถึงความสัมพันธ์กับลี้ (เบบี้มายด์ศรุดา เกียรติศราวุธ) ที่ดูเหมือนจะโคจรอยู่รอบตัวมินทั้งหมด อย่างไรก็ดี นี่คือหนังของเขา ที่เล่าเรื่องของเขา ผ่านสายตาของเขา เราจึงพอที่จะยอมรับได้ที่หนังไม่ได้สำรวจปมปัญหายิ่งใหญ่ในใจของตัวละครอื่นๆ ถึงแม้เราจะดูหนังเรื่องนี้ด้วยสายตาของผู้สังเกตการมิน ไม่ได้แทนตัวเองเข้าไปเป็นมินก็ตาม

และเอาให้ถึงที่สุด สิ่งที่เรามองเห็นในตอนนี้คือ หนังเรื่องนี้ซึ่งดัดแปลงมาจากวรรณกรรมเยาวชนที่มีอายุ 20 ปีเรื่องนี้ได้ทำให้เราเห็นว่า การให้คุณค่ากับสถาบันครอบครัวของสังคมตะวันออกนั้นเข้มแข็งและมีอิทธิพลกับวัยรุ่นในโลกฝั่งตะวันออกมากเพียงใด เป็นแบบนี้มาเนิ่นนานเพียงใด และมีแนวโน้มที่จะเป็นแบบนี้ต่อไปอีกนานเพียงใด

แน่นอนว่าในโลกตะวันตกก็ให้คุณค่ากับครอบครัวที่ครบพร้อม แต่ถ้าไม่เป็นไปตามรูปแบบนั้นก็อาจไม่ถึงกับตาย แต่ในสังคมที่เราและมินอยู่ หากครอบครัวไม่สามารถเติมเต็มคุณค่านั้นได้ นั่นคือครอบครัวของเราเป็นเสมือนร่างกายที่บาดเจ็บสาหัส ผู้เขียนจึงรู้สึกว่า โครงสร้างทางสังคมการเมืองที่ทำให้เรามีค่านิยมตามที่รัฐของเราวาดเอาไว้ต่างหากคือสิ่งที่ทำให้ครอบครัวของมินและของอีกหลายคนน่าขยะแขยง ไม่ใช่เพราะสิ่งที่มันเป็นนั้นน่าขยะแขยงในตัวมันเอง

ถึงแม้ว่าในตอนจบ มินคนใหม่จะได้รับความทรงจำเก่ากลับมา และตระหนักว่าชีวิตก็มีด้านดี แต่มันก็เป็นไปเพราะหนังโกงเราด้วยการใส่ montage ภาพความทรงจำอันอบอุ่นในชีวิตของมินเข้ามา (อย่างที่หนังหลายเรื่องของค่าย GDH เคยทำมาก่อน) ฉะนั้นหากผู้เขียนเป็นวิญญาณเร่ร่อนที่รับรู้ว่าตัวเองยังคงเป็น ‘มินคนเก่า’ และยังเต็มไปด้วยความทรงจำของความทดท้อทรมานของการมีชีวิตอยู่ในที่ที่ไม่ใช่ของตัวเอง หากเป็นผู้เขียนเองก็คงจะต่อต้านผู้คุม ต่อต้านเงื่อนไขของเวลา ไม่ยอมรับรางวัลที่โป้ปดนี้ และอาจจะตัดสินใจฆ่าตัวตายอยู่ดี

หากไม่นับงานสร้างที่ดีกว่ามาตรฐานหนังไทยจำนวนมากในช่วงหลายปีมานี้ ทั้งบทดัดแปลง การตัดต่อ การสร้างภาพ CG และการแสดงที่เป็นไปตามมาตรฐาน โดยเฉพาะ เบสท์ณัฐสิทธิ์ ที่เราประทับใจกับความน้อยได้มากเป็นพิเศษ หนังเรื่องนี้รอดตายในเชิงตรรกะได้อย่างหวุดหวิด เพราะตัวละครที่โลดแล่นอยู่ตลอดเรื่องเป็นมินคนใหม่แต่หากมินที่เราเห็นเป็นมินคนเก่าที่ยอมเชื่อผู้คุมง่ายๆ ตั้งแต่เริ่มเรื่องและยอมทำตามเงื่อนไขนั้นไปจนจบ หนังเรื่องนี้ก็คงเป็นหนังสอนใจวัยรุ่นอีกเรื่องหนึ่งเท่านั้น

Tags: , , , , ,