*เนื้อหาต่อไปนี้เปิดเผยเนื้อเรื่องบางส่วนของหนัง

‘Homestay’ เป็นเรื่องของวิญญาณเร่ร่อนที่ได้โอกาสกลับมาเกิดอีกครั้งในร่างของ ‘มิน’ (เจมส์ – ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ) เด็กนักเรียนมัธยมปลายที่ฆ่าตัวตายตอนอายุ 17 เขาต้องสืบหาสาเหตุการตายของมินให้ได้ภายใน 100 วัน มิเช่นนั้นจะต้องจากร่างชั่วคราวหรือร่างโฮมสเตย์นี้ไปตลอดกาลและไม่ได้กลับมาเกิดอีกเลย ระหว่างที่ใช้ชีวิตนั้น เขารักกับ ‘พาย’ (เฌอปราง – เฌอปราง อารีย์กุล) และเจอกับ ‘ผู้คุม’ (ปีเตอร์ – นพชัย ชัยนาม) ที่คอยหลอกหลอน ย้ำเตือนเวลาที่กำลังจะหมดลง และเสาะหาคำตอบว่าใครทำให้มินฆ่าตัวตาย ระหว่างที่ชีวิตครอบครัวของเขาก็ดูเหมือนจะมี ‘แม่’ (สู่ขวัญ บูลกุล) เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ  

รักโรแมนติกคือความหมายยิ่งใหญ่ในชีวิต?

ในหนัง วิญญาณเร่ร่อนได้สืบหาสาเหตุการตายของมินจนไปพบจดหมายลาตายแล้วเปิดอ่าน หนึ่งในส่วนสำคัญของจดหมายนั้นก็คือถ้อยคำบรรยายความสุขที่มิน—ผู้ซึ่งดูเหมือนเด็กซึมเศร้าเก็บกด บรรยายถึงช่วงเวลาที่อยู่กับพาย พี่รหัสที่ดูแลเอาใจใส่เขาเป็นอย่างดี ในฐานะผู้ชม สำหรับช่วงแรกๆ พายดูเหมือนจะมีอิทธิพลอย่างมากในการฉุดรั้งไม่ให้มินฆ่าตัวตาย และเมื่อวิญญาณนั้นได้มาใช้ชีวิตในร่างมิน พาย ก็กลายเป็นรางวัลชิ้นใหญ่ที่ทำให้เขาอยากใช้ชีวิตนั้นต่อ แต่เมื่อเรื่องดำเนินไป หนังก็เปิดเผยให้เราเห็นพายในมุมที่ไม่คาดคิด และนั่นเอง หนังนับเป็นสาเหตุหนึ่งในจุดจบของมิน

อะไรที่ทำให้ความรักระหว่างหนุ่มสาว – หรือที่ผู้เขียนจะขอเรียกว่า ‘ความรักโรแมนติก’ มีอิทธิพลต่อชีวิตได้ถึงเพียงนี้? อย่างน้อยก็สำหรับเรื่องราวที่ปรากฏในงานวรรณกรรมหลายชิ้น เช่นเดียวกับ Homestay เองก็มีต้นฉบับมาจากวรรณกรรมญี่ปุ่นอย่าง Colorful

ย้อนกลับไปในสมัยศตวรรษที่ 18 เมื่อเกอเธ่ (Johann Wolfgang von Goethe) นักเขียนชื่อดังชาวเยอรมัน เขียนเรื่อง ‘แวเธ่อร์ระทม’ (The Sorrows of Young Werther) ซึ่งเป็นจดหมายพรรณนาความรู้สึกของชายหนุ่มนามว่า ‘แวเธ่อร์’ ที่มีต่อ ‘ลอตเตอ’ หญิงสาวที่เขารักแต่มีคู่หมายแล้ว จุดที่น่าสนใจก็คือ ตัวละครหลักของเรื่องนี้ไม่ใช่แวเธ่อร์ แต่คือ ‘ความรัก’ และเป็นความรักที่ไม่สมหวัง ซึ่งจบลงด้วยการฆ่าตัวตายของแวเธ่อร์หนุ่ม

วรรณกรรมชิ้นนี้เป็นครั้งแรกๆ ที่นิยามความรักฉันท์ชู้สาวเป็นธีมหลักของเรื่อง ในขณะที่ในยุคก่อนหน้า เมื่อพูดถึงความรัก มักจะหมายถึงการเสียสละตนเอง ความรักในสิ่งสูงส่ง (courtly love) หรือความรักแบบพี่น้อง (brotherly love) เสียส่วนใหญ่ แวเธ่อร์ระทม จึงได้เป็นตัวจุดชนวนกระแสของวรรณกรรมโรแมนติกที่ตามมาต่อจากนั้น

ความรักในแวเธ่อร์ระทม ถูกบรรยายในรูปแบบของความรู้สึกที่ไม่ได้มีเหตุผลหรือที่มาที่ไป แต่เป็นอารมณ์อันเข้มข้น รุนแรง ยากเกินต้านทาน และสามารถชี้เป็นชี้ตายชีวิตได้ ทั้งยังทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่น่าตื่นตะลึง เมื่อผู้อ่านวรรณกรรมเรื่องนี้ต่างก็ฆ่าตัวตายไปเป็นจำนวนมาก! เช่นเดียวกับที่แวเธ่อร์กระทำเพราะบังอาจไปรักคนที่มีคู่อยู่แล้ว

มาถึงตรงนี้ก็ขอย้อนกลับไปพูดถึงวรรณกรรมอีกเรื่องที่ว่าด้วยความรักซึ่งจบลงที่การฆ่าตัวตายอย่าง โรมิโอกับจูเลียต

แวเธ่อร์ระทม และโรมิโอกับจูเลียตนั้น มีความเหมือนกันตรงที่มันให้ความสำคัญกับ ‘ฉากเปิดของความรัก’ คือความรักในช่วงเวลาที่มันสวยงามที่สุด มีพลังที่สุด และยากจะคาดเดาที่สุด โดยเงื่อนไขที่ต้องมีในความรักเช่นนี้คือ ‘ความปรารถนา (passion)’ ในตัวกันและกันของคู่รัก ทั้งสองเรื่อง รวมถึง Homestay ไม่ได้กล่าวถึงความรักที่จืดจางลงเมื่อเวลาผ่านไปในระยะยาว แต่เป็นรักในช่วงที่อารมณ์ความรู้สึกกำลังพลุ่งพล่านถึงที่สุด

มันเป็นความรักที่อารมณ์ทางเพศมีบทบาทอยู่ไม่น้อย ในฉากที่วิญญาณเร่ร่อนในร่างของมินไปพบนักจิตวิทยาเด็ก เขาถูกถามเกี่ยวกับเรื่องความรู้สึกทางเพศต่อผู้หญิงที่โรงเรียน ซึ่งเมื่อเขาตอบว่าเขามีความรู้สึก นักจิตวิทยาก็กลายร่างเป็นผู้คุมและชี้ให้เห็นว่าเขาชักจะ ‘ติดใจ’ การอยู่ในร่างนี้เสียแล้ว

อาจเป็นไปได้ว่า ความปรารถนา—โดยเฉพาะความปรารถนาทางเพศที่อยู่ในรักโรแมนติกนั้น เป็นพลังงานชีวิต ซึ่งอาจตรงกับสิ่งที่นักจิตวิเคราะห์ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) เรียกว่า ‘สัญชาตญาณมุ่งเป็น (Eros or Life Instinct)’ ซึ่งเป็นแรงผลักที่ปะทะกับ ‘สัญชาตญาณมุ่งตาย (Thanatos or Death Instinct)’ มนุษย์มีทั้งสองสัญชาตญาณที่กล่าวมานี้ แต่สัญชาตญาณมุ่งเป็นนั้นจะแสดงออกมาในรูปของแรงขับทางเพศ หรือการแสวงหาความพึงพอใจทางกาย เช่นทางปาก (การกิน การพูด) เป็นต้น

การที่มินมีพายเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจที่สำคัญนั้น อาจมาจากการที่ตัวพายตอบสนองต่อสัญชาตญาณมุ่งเป็นของเขา ทำให้เขาอยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไป แต่เมื่อได้ค้นพบความเป็นจริงเกี่ยวกับพายที่ต่างออกไป มันก็ทำให้สัญชาตญาณมุ่งเป็นของเขาถูกทำลายลง และเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เขาเลือกจะจบชีวิตของตัวเองในที่สุด

ในทรรศนะของผู้เขียน เป็นที่น่าสนใจว่าบทของพายนั้นดูเหมือนจะเขียนให้เฌอปราง กับตันแห่งวง BNK48 เล่นเป็นตัวเอง ทั้งความกดดัน ความมุ่งมั่น และความทะเยอทะยานในตัวเด็กสาวคนนี้ดูพ้องกันกับบุคลิกของเธออย่างเหมาะเจาะ แต่ที่สำคัญ ความเป็นผู้หญิงสวย เก่ง และการมีความเป็นแม่ (ที่ต้องดูแลมิน / ที่ต้องดูแลสมาชิกวง) ในตัวพายและเฌอปรางนั้นดูชัดเจนว่าเป็นลักษณะของ ‘ผู้หญิงในอุดมคติ’ ซึ่งแฟนคลับชาย โดยเฉพาะในวัยมัธยมปลายเช่นเดียวกับมินยึดถือและให้คุณค่าอยู่ไม่น้อย และท้ายที่สุดสิ่งที่พายทำก็ได้ทำลายคุณค่านั้นในสายตาที่เคยชื่นชมบูชา จนพังทลายลง

เห็นได้ชัดว่า กระแสตอบกลับที่เหล่าแฟนคลับมีต่อหนังหลังจากที่เห็นว่าคาแรกเตอร์ที่เฌอปรางต้องเล่นนั้น ‘ดาร์ก’ กว่าที่คิด และทำให้พวกเขาทึ่งปนช็อคอยู่พอสมควร มินเองอาจเป็นภาพสะท้อนของเด็กผู้ชายกลุ่มนี้ได้ ต่างกันตรงที่มินยึดถือคุณลักษณะดังกล่าวเป็นแกนกลางของชีวิตเพราะไม่เหลือที่ใดให้พึ่งพิงอีกมากนัก เมื่อคนรักไม่เป็นไปตามอุดมคติที่เขาคาดหวังเอาไว้ สัญชาติญาณมุ่งตายจึงเริ่มทำงาน

และเช่นเดียวกับที่ แวเธอร์ระทม กับ โรมิโอ จูเลียต ได้สะท้อนค่านิยมบางอย่างของสังคมผ่านตัวบท Homestay และ Colorful ก็ทำหน้าที่นั้นได้อย่างน่าสนใจเช่นกัน

ปมรักแม่ – เมื่อเด็กหนุ่มอ่อนไหวต่อผู้หญิงในชีวิต

เรายังจะอยู่กับซิกมันด์ ฟรอยด์ต่อไป เพราะในหนังเรื่องนี้ ไม่เพียงแต่คนรักเท่านั้นที่ส่งผลต่อชีวิตของเด็กหนุ่มอย่างมิน แต่ยังมี ‘แม่’ ที่เป็นอีกบุคคลสำคัญที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของเขา เราจะเห็นได้ชัดว่าบทของพายและแม่ของมินมีมากกว่าตัวละครชายคนอื่นๆในชีวิตของมิน เช่น พี่เม่น-พี่ชายของมิน และพ่อของมิน และมินเองก็บอกว่าตัวเขานั้นไว้ใจและรักแม่มากที่สุด ดูเหมือนว่าชีวิตของมินจะถูกรายล้อมด้วยเพศหญิง และมีเพศหญิงเป็นจุดศูนย์กลางในการตัดสินใจทำสิ่งสำคัญต่างๆ

ความยึดติดกับแม่ของมินนั้น อาจอธิบายได้ด้วยทฤษฎีเรื่องปมอิดิปุส (Oedipus complex) ของฟรอยด์ ซึ่งเป็นปมในวัยเด็กชนิดหนึ่ง ชื่อของปมนี้มาจากละครโศกนาฏกรรมของกรีก ชื่อ อิดิปุส เร็กซ์ (Oedipus Rex) เขียนขึ้นโดยโซโฟเคลส (Sophocles) เป็นเรื่องของราชานามว่าอิดิปุสซึ่งกำพร้าแต่เด็ก และได้ฆ่าพ่อของตนเองเพื่อยึดบัลลังค์ พร้อมทั้งแต่งงานกับแม่ของตนเองโดยไม่ได้ตั้งใจ

ตามทฤษฎีของฟรอยด์นั้น มนุษย์ของเราจะมีพัฒนาการเป็นขั้นๆไป โดยพัฒนาตามความพึงพอใจในการใช้อวัยวะส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น เมื่อเราอายุ 0-18 เดือนจะอยู่ในพัฒนาการขั้นปาก (Oral stage) คือเด็กจะมีความพึงพอใจในการใช้กิจกรรมทางปาก เช่น การดูดนมแม่ ดูดนิ้ว และดูดขวดนม ส่วนปมอิดิปุสนั้นจะอยู่ในพัฒนาการขั้นอวัยวะเพศ (Phallic Stage) คือ 3-5 ปี ในขั้นนี้ เด็กผู้ชายจะชอบสัมผัสอวัยวะเพศของตน และรัก หวงแหนแม่มากเป็นพิเศษ มีความรู้สึกว่าพ่อเป็นศัตรูที่มาแย่งแม่ไป แต่ในที่สุดเด็กชายก็จะเก็บกดความรู้สึกอยากเป็นเจ้าของแม่ไว้ แล้วทำตัวเลียนแบบพ่อ จนพัฒนามาเป็นลักษณะของความเป็นชายในที่สุด (ส่วนถ้าตรงข้ามกัน ในกรณีที่เด็กผู้หญิงรักและหวงแหนพ่อจะเรียกว่าปมอิเล็กตรา – Electra Complex) ในบางกรณี เขาก็จะเลือกคู่ครองที่เหมือนหรือคล้ายกับแม่ของตัวเองด้วย ฟรอยด์บอกว่าถ้าพัฒนาการในขั้นใดเกิดความผิดพลาด ก็จะเกิดเป็นปมหรือความผิดปกติทางจิตขึ้นได้

เราจะเห็นได้ในหนังว่ามินเกลียดและเห็นว่าพ่อของเขาน่าขยะแขยง คิดถึงแต่งานของตัวเอง ส่วนพี่ชายก็เป็นคู่แข่งของเขาและอยากจะเกิดมาเป็นลูกคนเดียว ความคิดที่เป็นศัตรูกับพี่ชายนั้นก็อาจจัดเข้าในปมอิดิปุสได้ ซึ่งคาแรกเตอร์ของ ‘แม่’ ที่จะทำให้ลูกชายเกิดปมเอดิปุสได้ ก็อาจต้องเป็นแม่ที่มีภาพอยู่ในอุดมคติและความคาดหวังของเด็กชายคนนั้นด้วย

หากจะยึดตามทฤษฎีของฟรอยด์ ก็อาจเป็นไปได้ว่ามินยังติดอยู่กับปมอิดิปุสตั้งแต่ในวัยเด็ก และไม่สามารถเคลื่อนออกจากจุดดังกล่าวได้ เมื่อเขาค้นพบความจริงว่าไม่สามารถไว้ใจแม่ได้อีก หนำซ้ำพายก็ทำให้เขาผิดหวัง นั่นยิ่งดูเหมือนว่าเขาไม่เหลือใครให้รักอีกต่อไป

น่าสนใจอีกข้อหนึ่งที่ผู้หญิงที่สามารถยึดโยงมินเอาไว้กับโลกใบนี้จะต้องเป็นผู้หญิงที่มีลักษณะเป็นหญิงชัดเจน เพราะแม้เขาจะมีเพื่อนสนิทเป็นผู้หญิงที่ชื่อ ‘ลี้’ (ศรุดา เกียรติวราวุธ) แต่เธอก็มีลักษณะเป็นทอมบอย ซึ่งต่างจากแม่ของเขาและพายที่ดูเป็นผู้หญิงจ๋า และเขาก็ไม่ได้เขียนถึงเธอในจดหมายลาตายเลยด้วยซ้ำ

สิ่งที่ Homestay ถ่ายทอดออกมา จึงเป็นภาพสะท้อนที่น่าสนใจ เกี่ยวกับผู้หญิงในสังคมชายเป็นใหญ่ (อาจพูดได้ว่าเรายังคงเป็นอย่างนั้น) ที่ทางหนึ่งได้ถูกจำกัดกรอบอย่างอ้อมๆ ด้วยภาพอุดมคติที่ผู้ชายคาดหวังให้พวกเธอพึงจะเป็น อย่างน้อยก็ต้องไม่ใช้เซ็กส์แลกเงิน และไม่เป็นพวก polygamy ซึ่งหากมองด้วยมุมมองอื่นแล้ว ผู้หญิงอาจไม่จำเป็นต้องจำกัดตัวเองอยู่ในกรอบเหล่านั้น แต่ถึงที่สุดแล้วก็ไม่ได้มีแค่ผู้หญิงที่ตกหลุมพราง เพราะภาพอุดมคติเหล่านั้นก็สามารถย้อนกลับมาทำร้ายผู้ชายเองได้เช่นกัน

Tags: , , , , ,