เมื่อมาถึงสหรัฐอเมริกา ผู้อพยพเข้าเมืองต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงภายนอกหลายอย่าง เช่น บ้านใหม่ งานใหม่ ชุมชนใหม่ แต่ก็มีความเปลี่ยนแปลงภายในเกิดขึ้นพร้อมกันด้วย.. ในลำไส้ของพวกเขา
งานวิจัยที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนบอกว่า ช่วงเวลา 9 เดือนที่ผู้อพยพเข้าเมืองจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พวกเขาเริ่มสูญเสียไมโครไบโอมในลำไส้ใหญ่ของตัวเองไป และได้รับไมโครไบโอมใหม่ที่มีลักษณะเหมือนกับของชาวอเมริกันเข้ามา ซึ่งมีชนิดของแบคทีเรียน้อยกว่า
‘ชีวนิเวศจุลชีพ’ หรือ ไมโครไบโอม (microbiome) เป็นสังคมของจุลินทรีย์หลากหลายชนิด ทั้งแบคทีเรีย รา ไวรัส ในร่างกายมนุษย์มีหลายล้านล้านตัว แดน ไนท์ส (Dan Knights) นักจุลชีววิทยาสถาบันเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยมินนิโซตา สหรัฐอเมริกาที่ศึกษาความเปลี่ยนแปลงของไมโครไบโอมของผู้อพยพเข้าเมืองบอกว่า “เมื่อคุณย้ายเข้าไปยังประเทศใหม่ คุณก็เอาไมโครไบโอมใหม่จากประเทศนั้นเข้าสู่ร่างกายด้วย”
ความเปลี่ยนแปลงนี้ยิ่งชัดเจนมากขึ้นในแต่ละเจเนอเรชันที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา คนที่ย้ายมาอยู่เป็นรุ่นแรกสามารถส่งต่อความเปลี่ยนแปลงนี้ไปยังรุ่นลูกได้ เนื่องจากไมโครไบโอมในลำไส้ใหญ่เกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย รวมทั้งความอ้วน การเปลี่ยนแปลงนี้จึงมีผลทางสุขภาพต่อประชากรที่ย้ายเข้ามา
มินนิโซตามีผู้อพยพชาวม้งและปกาเกอะญอจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ย้ายมาอยู่เป็นจำนวนมาก ตอนที่อยู่ในประเทศไทย ผู้หญิงม้งอยู่ในชนบทที่ห่างไกลจากตัวเมืองมากๆ กินอาหารที่ตัวเองปลูกซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าวและผักที่ทำให้สุก ไม่ค่อยกินเนื้อสัตว์ แต่เมื่ออพยพมาอยู่ในสหรัฐอเมริกา ระบบบางอย่างในร่างกายเปลี่ยนไป พวกเธอกินโปรตีน น้ำตาล ไขมัน อาหารที่ผ่านกรรมวิธีมาแล้วเหมือนคนอเมริกัน ภายในเจเนอเรชั่นเดียว อัตราของผู้หญิงม้งที่เป็นโรคอ้วนเพิ่มจาก 5% เป็นมากกว่า 30%
สองปีที่แล้ว Pajau Vangay นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาในสาขาวิชาจุลชีววิทยาคอมพิวเตอร์ซึ่งทำงานกับไนท์สมีสมมติฐานว่า การย้ายถิ่นอาจจะเปลี่ยนไมโครไบโอมในลำไส้ใหญ่ของบุคคลนั้น เธอจึงเริ่มศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ม้งและปกาเกอะญอในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการสัมภาษณ์ เก็บตัวอย่างอุจจาระ และให้พวกเขาทำแบบสอบถามเกี่ยวกับอาหารที่กินเข้าไปในรอบ 24 ชั่วโมง
เนื่องจากในอุจจาระมีข้อมูลเกี่ยวกับแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นที่รวมของจุลินทรีย์มากที่สุดในร่างกายของเรา ทีมวิจัยจึงเก็บตัวอย่างอุจจาระจากชาวม้งและปกาเกอะญอหลายคน รวมทั้งคนที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นตัวแทนของคนที่ยังไม่ได้อพยพมา คนที่เพิ่งย้ายมาอยู่ในสหรัฐอเมริกา และผู้อพยพรุ่นที่ 2 ซึ่งเป็นลูกของผู้ที่อพยพมารุ่นแรกรวม 514 คน นอกจากนี้ยังเก็บตัวอย่างจากคนที่มีเชื้อสายยุโรป-อเมริกัน 36 คนเพื่อเปรียบเทียบ
ภายใน 9 เดือนหลังจากที่ย้ายไปสหรัฐอเมริกา ไมโครไบโอมของพวกเธอเปลี่ยนแปลงอย่างสังเกตได้ หลังจากอพยพ ผู้หญิงเหล่านี้เสียความหลากหลายของแบคทีเรีย Prevotella ซึ่งมีเอนไซม์ที่ย่อยเส้นใยพืช และเริ่มมีจุลชีพในกลุ่ม Bacteroides ซึ่งพบได้ทั่วไปในไมโครไบโอมของชาวตะวันตก
ข้อค้นพบนี้แสดงว่าลำไส้จะมีเครื่องมือที่ย่อยกากใยจากผักน้อยลง ความเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ผู้หญิงที่เป็นคนรุ่นสองของการอพยพก็มีไมโครไบโอมเหมือนผู้หญิงที่เกิดในสหรัฐอเมริกาแล้ว
นักวิจัยคิดว่าเหตุผลหลักมาจากการกินอาหาร เพราะว่าอาหารที่เรากินกลายเป็นอาหารของจุลินทรีย์ อย่างไรก็ตามก็มีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย สิ่งแวดล้อมใหม่ หรือการได้รับการรักษาทางการแพทย์ใหม่ก็เปลี่ยนแบคทีเรียในลำไส้เราได้เช่นกัน
จากการศึกษาในเกือบทุกโรค เป็นที่รู้โดยทั่วไปว่า การมีไมโครไบโอมที่มีความหลากหลายน้อยเป็นสัญญาณของสุขภาพที่ไม่ดี ความหลากหลายที่น้อยลงของจุลินทรีย์ในลำไส้เกี่ยวข้องกับหลายโรค รวมทั้งโรคอ้วน ถึงแม้ว่าจะยังมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์ในลำไส้เป็นสาเหตุของการมีน้ำหนักตัวมากเกินไป แต่มันก็อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่ง มีงานวิจัยออกมาแล้วว่า ผู้ที่อพยพเข้าไปอยู่ในสหรัฐอเมริกามีอัตราการเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้น 4 เท่า หลังจากที่อยู่ในสหรัฐอเมริกามากกว่า 15 ปีขึ้นไป
งานศึกษาในอนาคตจะเป็นการหาคำตอบว่าจุลินทรีย์ในลำไส้ใหญ่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วนมากแค่ไหน และโรคเรื้อรังอื่นๆ ที่ผู้อพยพเข้าเมืองมาอาจจะต้องเจอหลังจากย้ายเข้ามา
ที่มา:
https://qz.com/1447740/immigrants-who-move-to-the-us-quickly-develop-an-american-microbiome
https://gizmodo.com/immigrants-to-the-u-s-rapidly-gain-a-new-microbiome-1830149580
https://www.theatlantic.com/health/archive/2018/11/how-immigration-affects-microbiome/574585/
ที่มาภาพ: Gettyimages / GOLFX
Tags: ไมโครไบโอม, แบคทีเรีย, ชีวนิเวศจุลชีพ