พายุ สึนามิ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด … ทันทีที่เกิดภัยพิบัติในประเทศสมาชิกอาเซียน คนกลุ่มหนึ่งจะได้รับอีเมลและข้อความ SMS ถามว่าพร้อมไหมที่จะลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่ ถ้าพร้อมก็กด Yes ชื่อของคนคนนั้นก็จะไปปรากฏที่ศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ (ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on disaster management – AHA Centre) ซึ่งตั้งอยู่ที่ประเทศอินโดนีเซีย
คนกลุ่มดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า ASEAN-Emergency Response and Assessment Team หรือ ASEAN-ERAT พวกเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการฝึกอบรมมาให้รับมือกับภัยพิบัติโดยเฉพาะ ปัจจุบัน มีการอบรมมาแล้ว 9 รุ่น ‘พรรณภา ณ น่าน’ รักษาการนักวิเทศสัมพันธ์ชำนาญการพิเศษ จากสำนักวิจัยและความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย เป็น 1 ในคนไทยที่ได้ร่วมอบรม โดยเธอเป็นรุ่นที่ 3
กลไกเหล่านี้เกิดขึ้นหลังจากรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้ร่วมลงนามใน ‘ความตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน’ (ASEAN Agreement on Disaster Management and Emergency Response: AADMER) เมื่อปี 2548 เพื่อหาทางรับมือกับภัยพิบัติในภูมิภาค
“เราจะเห็นความวุ่นวายอย่างสึนามิที่เกิดที่เมืองไทย (2547) วุ่นวายมาก ทุกคนอยากช่วย เราเข้าใจนะ แต่ความอยากช่วยของคุณบางทีมันเป็นภาระให้กับประเทศที่ประสบภัย กลับกลายเป็นภัยที่มันใหญ่กว่าเดิม ฉะนั้น หลังๆ จะสังเกตเลยว่าประเทศที่ประสบภัยจะจำกัดไว้เลยว่าจะรับอะไรบ้าง อยากได้แค่นี้ ไม่ได้เอาหมด เพื่อที่จะสามารถจัดการภายในได้” พรรณภาบอกและว่า การส่งทีมผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการฝึกโดยเฉพาะ เข้าไปจะสามารถทำให้ประเทศนั้นๆ สามารถรับมือกับภัยพิบัติและสื่อสารกับหน่วยงานภายนอกประเทศได้ดีขึ้น
พรรณภา เล่าว่า หน้าที่หลักของ ASEAN-ERAT ประกอบด้วย หนึ่ง สนับสนุนข้อมูล (information management) สอง คือประเมินความต้องการเบื้องต้น (rapid assessment) และ สาม ประสานงานทั้งหน่วยงานภายในและภายนอก (coordination)
โดยในการอบรม ASEAN-ERAT ประเทศสมาชิกอาเซียนจะส่งคนเข้าร่วม ประเทศละ 2 คน ของประเทศไทย นอกจากเจ้าหน้าที่รัฐ ก็จะมีคนจากองค์กรไม่แสวงหากำไร อย่างผู้แทนจากสภากาชาดไทยเข้าร่วมด้วย
ในการอบรม จะพูดถึงขอบเขตงานว่าภูมิทัศน์ในเรื่องการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในระดับสากลเป็นอย่างไร เราอยู่ตรงไหน มีการพูดถึงกรอบความร่วมมืออาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ ซึ่งแต่ละปี จะมีโปรเจกต์ที่ชัดเจนว่าต้องทำอะไรบ้าง มีการอบรมเชิงปฏิบัติการ เช่น การใช้เครื่องมือสื่อสารต่างๆ โทรศัพท์ ดาวเทียม การต่อ การใช้เครื่องมือประเมิน การทำแบบสำรวจ แบบประเมินเบื้องต้นและประเมินสภาพแวดล้อม มีแบบฟอร์มอะไร ใช้แนวทางอย่างไรในการที่จะประเมินว่าต้องสังเกตอะไรบ้าง มีการอบรมเรื่องการเตรียมความพร้อมส่วนบุคคล การจัดทำข้อมูล การรายงานต่างๆ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างคนที่ไปลงพื้นที่ปฏิบัติการมา
เธอบอกว่า ก่อนจบคอร์ส จะมีการจำลองสถานการณ์ 48 ชม. สองวันเต็มไม่มีพัก โดยมีการแบ่งกลุ่มและสับเปลี่ยนหมุนเวียนตำแหน่งกัน และมีการจำลองสถานการณ์ที่มีทีมของ UN เข้ามาทำงานด้วย มีเต๊นท์ของแต่ละกลุ่มและทุกกลุ่มจะได้โจทย์ต่างๆ กัน ไม่ว่าเรื่องของข้อมูลภัยพิบัติ เรื่องคำร้องต่างๆ การประสานงาน หรือแม้กระทั่งมีผู้ประสบภัยมาเคาะเต๊นท์ขอของ เป็นการจำลองเสมือนจริงว่าถ้าลงไปปฏิบัติงานแล้ว คุณจะเจออะไรบ้าง
ปฏิบัติงานจริง
“เมื่อเกิดภัยจะมีอีเมลและ SMS มาที่สมาชิก ERAT ทุกคน แจ้งเตือนว่าตอนนี้มีสถานการณ์นี้เกิดขึ้น คุณพร้อมไหมที่จะลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่ ถ้าคุณพร้อมก็กด yes ชื่อก็จะไปขึ้นรวมกันที่ AHA Centre” พรรณภาเล่า และอธิบายต่อว่า ระหว่างนั้น AHA Centre ก็จะถามไปยังประเทศที่ประสบภัยว่าต้องการความช่วยเหลือหรือไม่ หรือบางครั้ง ประเทศนั้นๆ ก็จะขอความช่วยเหลือมายัง AHA Centre เอง เมื่อเขาอนุญาตให้เข้าไปในพื้นที่ปุ๊บ AHA Centre ก็จะเลือกทีม โดยที่ AHA Centre เป็นผู้ดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งหมด
ถามว่าก่อนจะตอบ yes ต้องประเมินอะไรบ้าง พรรณภา บอกว่า ต้องดู priority ของงานตัวเอง เพราะเราต้องหายจากออฟฟิศไป 10-14 วัน โดยที่อาจจะไม่มีอินเทอร์เน็ต หรือช่องทางติดต่อสื่อสาร สอง ถามผู้บังคับบัญชาว่าถ้าเราไป โอเคไหม แล้วก็ต้องคุยกับที่บ้านให้เรียบร้อยว่าฉันไม่อยู่ จะไปไหน ให้เบอร์ติดต่อฉุกเฉินไว้
เมื่อถามว่า ถ้ามีคนพร้อมจะลงพื้นที่จำนวนมาก AHA Centre จะเลือกจากอะไร พรรณภา เล่าว่า สมาชิก ERAT ทั้งหมดมีประมาณแค่ 200 กว่าคน ฉะนั้น AHA Centre ในฐานะที่เป็นคนเทรนก็จะรู้คุณสมบัติของแต่ละคน ระหว่างที่ฝึกอบรม เขาก็จะจดโน้ตของเขาไปด้วยว่าคนนี้เก่งด้านนี้ๆ ฉะนั้นแต่ละคนก็จะมีหน้าที่ของตัวเอง ตำแหน่งหัวหน้าทีม รองหัวหน้าทีม ฝ่ายจัดการข้อมูล โลจิสติกส์ แอดมิน ประสานงาน นอกจากนี้ ทักษะภาษาอังกฤษเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะว่าทุกอย่างที่ทำจะต้องรายงานออกมาเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ไม่มีล่าม ERAT ต้องไปแล้วทำงานในบริบทสากลได้เลย
“บางทีส่งข้อความมาวันที่ 1 เดินทางวันที่ 2 การเข้าทีมพวกนี้คุณต้องพร้อมออกเดินทางใน 24 ชม. 12-24 ชม.ด้วยซ้ำ”
นอกจากนี้ พรรณภาบอกว่า สิ่งที่ต้องมีคือ กระเป๋าเก็บอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะช่วยให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ประมาณสองอาทิตย์ ที่สำคัญมากคือ เสื้อกั๊กของทีม ที่จะบ่งบอกว่าคุณมาทำอะไร เพราะในช่วงโกลาหลจะไม่รู้ว่าใครมาทำอะไรบ้าง
บทบาทของไทยในอาเซียน
นอกจากบุคลากรแล้ว ยังมีความช่วยเหลือในรูปของสิ่งของ ไม่ว่าจะเป็น เต๊นท์ เตียงสนาม ยารักษาโรค เครื่องครัว เครื่องปั่นไฟ เรือท้องแบนน้ำหนักเบา ไฟส่องแสงสว่าง หรือห้องน้ำเคลื่อนที่ สิ่งเหล่านี้ถูกเก็บอยู่ที่คลังเก็บสินค้าและอุปกรณ์ช่วยเหลือหลัก (Regional Warehouse) ที่จังหวัดซูบัง ประเทศอินโดนีเซีย ขณะที่ประเทศไทยก็ได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งของคลังเก็บสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยย่อย (Satellite Warehouse) โดยอยู่ที่ จ.ชัยนาท โดยศูนย์คลังเก็บสินค้าแห่งนี้ จะเป็น 1 ใน7 ของศูนย์อาเซียนที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2562 ซึ่งประเทศไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน
“เขาเลือกไทยเป็น satellite warehouse ที่จะส่งไปยังประเทศ mainland และเลือก ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เป็น standalone warehouse ที่จะส่งความช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติในฟิลิปปินส์หรืออินโดนีเซีย เพราะว่าสองประเทศนี้เกิดภัยพิบัติบ่อย จึงสมเหตุสมผลที่จะมี warehouse เป็นของตัวเอง” พรรณภาเล่าและว่า ชัยนาทนั้นเป็นจังหวัดเดียวที่ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ แล้วก็เป็นที่ดินของ ปภ.เอง มีจุดเด่นที่สามารถส่งต่อความช่วยเหลือไปยังเมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม โดยใช้เส้นทางคมนาคมขนส่งทางบกเป็นหลัก หรือประมาณชั่วโมงครึ่งก็สามารถไปถึงสนามบินดอนเมืองได้
“บทบาทของไทยเชิงนโยบายในอาเซียนก็ถือว่าเป็นบทบาทนำด้านการจัดการภัยพิบัติด้วยเช่นกัน โดยมีศักยภาพในเรื่องของการจัดประชุม การเป็นที่ฝึกอบรม การจัดหาสิ่งของช่วยเหลือ หรือความร่วมมือกับภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ของเราค่อนข้างที่จะโดดเด่นในเวทีอาเซียน นอกจากนี้ เรายังมีคนเก่งเยอะ มีทีมช่วยเหลือกู้ภัยทั้งในภาครัฐและเอกชนที่มีศักยภาพสูง ได้รับการอบรมมาอย่างดี”
สิ่งที่ไทยต้องทำต่อไป พรรณภามองว่า คือการประสานความร่วมมือหลายๆ ด้านให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น มีกรอบความร่วมมือที่ชัดเจน และสร้างมาตรฐานภายในประเทศเรื่องของการกู้ภัย การจัดการภัยพิบัติ ซึ่งตอนนี้ ปภ. ก็กำลังดำเนินการอยู่
ในภาพใหญ่ระดับภูมิภาค เธอวิจารณ์ว่า ยังมีปัญหาติดขัดเรื่องของเงินสนับสนุนจากประเทศสมาชิกอาเซียน ที่ยังไม่เพียงพอกับการใช้งาน เพราะรัฐบาลประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ยังสนใจแต่ปัญหาเศรษฐกิจมากกว่าเรื่องภัยพิบัติ และแม้จะลงนามร่วมกันในปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยความเป็นหนึ่งเดียวในการตอบโต้ภัยพิบัติทั้งภายในและภายนอกภูมิภาคแล้ว แต่ก็มักจะให้ความสำคัญกับการตกลงกันเองระหว่างประเทศมากกว่าที่จะใช้กลไกของอาเซียน
ขณะที่ในมุมบวก เธอว่า อาเซียนแทบจะเป็นกรอบความร่วมมือเดียวในโลกเลยก็ว่าได้ ที่มีธรรมนูญเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติโดยเฉพาะ
“ตอนนี้อาเซียนเหมือนเป็นแม่แบบที่หลายกรอบความร่วมมือดูงาน ไม่ว่า กรอบความร่วมมือของมหาสมุทรอินเดีย หรือกรอบความร่วมมือของแอฟริกา ก็ยังมาดูงานที่ AHA Centre ของเรา ว่าทำงานกันอย่างไร เพราะที่อื่นเขาไม่มีคุยกันเรื่องนี้โดยเฉพาะ ด้วยความที่เราเป็นภูมิภาคที่มีภัยพิบัติเกิดขึ้นค่อนข้างเยอะมาก เลยทำให้เรามีอะไรที่เป็นรูปธรรม มีธรรมนูญที่ชัดเจน มีศูนย์ฯ มีคลังเก็บพัสดุ มี ERAT ในการช่วยเหลือปฏิบัติงาน เรามีแผนงานต่างๆ ในเรื่องการลดความเสี่ยง เตรียมความพร้อม มีอุปกรณ์ทุกอย่างครบครันมาก ทำให้อาเซียนมีความเข้มแข็งด้านนี้มากที่สุดในกรอบความร่วมมือต่างๆ”
Fact Box
- กรณีเขื่อนพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อยในแขวงอัตตะปือ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของ สปป.ลาว พังทลายจนเกิดน้ำท่วมใหญ่ เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 40 ราย สูญหายอย่างน้อย 98 ราย และกว่า 6,600 คนไม่มีที่อยู่ ซึ่ง AHA Centre ได้ประสานงานกับชาติสมาชิกอาเซียนทั้งสิบอย่างต่อเนื่อง ผ่านทางวิดีโอคอลและเว็บไซต์ โดยส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ และส่งสิ่งของจำเป็น อาทิ เรืออะลูมิเนียม เตนท์ครอบครัว ชุดอุปกรณ์เพื่อสุขอนามัย เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ คิดเป็นมูลค่ากว่า 7.66 ล้านบาท
- นับแต่ก่อตั้ง เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2011 AHA Centre ปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือฉุกเฉินแล้วทั้งสิ้น 21 ครั้งใน 7 ประเทศในภูมิภาค
- ดูเพิ่มเติมที่ AHA Centre https://ahacentre.org