“มันก็เป็นเรื่องที่รู้ๆ กันอยู่แล้วอะเนอะ” รุ่นพี่สวมแว่นที่ไม่ได้เป็นโอตะคนหนึ่งเอ่ยขึ้น หลังจากได้ดู Girls Don’t Cry รอบกาลา เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ที่ผ่านมา
เขาคงหมายถึงว่า หากเราคาดหวังข้อมูลเร้นลับอะไรบางอย่าง หรือข้อคิดพลิกมุมมองชีวิตจากหนังสารคดีเรื่องหนึ่ง อาจจะพบว่ามันไม่ได้เป็นข้อคิดที่ใหม่ หรือเพิ่งรู้มาก่อน
แม้จะเป็นรอบสื่อ แต่ก็มีผู้คนมายืนถือกล้องรอจับภาพ BNK48 กันเนืองแน่นที่ทางเข้าโรง พนักงานพารากอน ซีนีเพล็กซ์เข็นรถเข็นป็อปคอร์นไปมา ถังป็อปคอร์นยักษ์สกรีนลายใบหน้าสมาชิก BNK48 หลายถังให้แฟนคลับได้ซื้อหา แม้ไม่ใช่แฟนคลับแต่ก็อาจกำลังคิดกะเก็งมูลค่าและดีดลูกคิดในใจ ซื้อวันนี้-ขายได้ราคาดีในวันหน้า เหมือนกับที่นิตยสารแจกฟรี Giraffe ที่เคยขึ้นปกเฌอปรางเป็นฉบับแรกๆ ตั้งแต่วันที่ยังไม่มีใครรู้จักนัก มาวันนี้กลายเป็นของมีราคาไปแล้ว
ใช่แล้ว มันก็เป็นเรื่องที่รู้ๆ กันอยู่ เป็นบทเรียนในโลกความเป็นจริงที่ทุกคนอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าเธอ-เขาเหล่านั้นจะทำอาชีพอะไร อยู่วงการไหน มีกลุ่มสังคมแบบใด (แม้กระทั่งในวัด)… ความจริงที่ว่า เราไม่ได้เท่าเทียมกัน ความจริงที่ว่า เราต่างต้องแข่งขันกันเพื่อเอาชีวิตรอด
สารคดี Girls Don’t Cry เพียงฉายให้เราเห็นว่า ข้างในนั้น ในกลุ่มสมาชิก BNK48 ที่แปะโลโก้ ‘แบ๊วใส’ ไม่ใช่โลกแฟนซีที่มีโดมแก้วครอบกันไม่ให้สัจธรรมนี้ทะลุเข้าไปได้
มันอยู่ในนั้น มันอยู่ในน้ำตาที่ชัดแจ๋ว บนจอใหญ่โอฬารของโรงหนังสยามภาวลัย
ดูเหมือนผู้กำกับ เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ จะขับเน้นเรื่องการแข่งขันและความปวดร้าวเหลือทนของการไม่ได้รับเลือก ภายใต้เงื่อนไขพิเศษคือ สังคมที่เป็นผู้หญิงล้วน ซึ่งมีบรรยากาศของเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด หรือ frenemy อันอบอวล
ภาพยนตร์เลือกเล่าด้วยการร้อยเรียงคำพูดของสมาชิกรุ่นแรก 26 คน ไหลไปตามประเด็นต่างๆ แทรกด้วยฟุตเตจ ภาพการซ้อม ภาพหลังเวที ภาพในคลิปที่แพร่ทางโซเชียลมีเดีย ทั้งที่พวกเธอบอกว่าเป็นตัวของตัวเอง-และเป็นการสร้างภาพเพื่อเรียกยอดไลก์ หนึ่งใน KPI ที่พวกเธอคิดว่ามีส่วนสำคัญที่บริษัทจะเลือกให้ใครได้เป็นตัวจริง
บางคนบอกว่า ด้วยเทคนิคแบบนี้ที่เราพบมาแล้วใน The Master หนังสารคดีเรื่องก่อนของผู้กำกับคนเดียวกัน มันทำให้บรรยากาศดูนิ่งเกินไป ประหนึ่งบังคับให้เรานั่งมองหน้าพวกเธอในห้องแคบ ฟังสิ่งที่พวกเราไม่ต้องฟังก็ได้ จากเด็กสาวที่หากเราไม่ใช่โอตะก็คงมองว่าเป็นคนธรรมดาคนนึง ที่สักพักเราจะลืมชื่อเมื่อหน้าของเธอปรากฏใหม่อีกครั้งบนจอ
แต่ความนิ่งๆ ไม่หวือหวานี้ ทำให้เราจริงจังกับคำพูดของพวกเธอมากขึ้น ตั้งใจฟัง ‘เรื่องราว’ ที่เขาเล่า มากกว่าแค่จ้องจับผิดน้ำเสียงและสำเนียงที่ต่างจากเพื่อนในชีวิตจริงของเรา
บทสนทนาเริ่มตั้งแต่จุด DAY 0 ว่าอะไรทำให้พวกเธอไหลมารวมกันอยู่ตรงนี้ ประมวลรวมๆ เคาะออกมาได้เท่ากับ ‘ความฝัน’ บ้างก็ฝันของตัวเอง บ้างก็ฝันของคนอื่น…คนที่พวกเธอแคร์
ในบทสัมภาษณ์ เต๋อ-นวพล บอกว่า “คนนอกมองเข้าไปอาจจะมองว่าเขาถูกทำให้เป็นวัตถุ แต่บางอันมันก็เมคเซนส์นะ เขาอาจจะมองว่านี่คือการเป็นศิลปินของเขา หรือคืองานของเขา”
หนังไม่ได้แตะประเด็นเรื่องการเป็นวัตถุหรือวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ อย่างที่คนต่อต้านวัฒนธรรมไอดอลอาจนึกค้านในใจ สิ่งที่หนังเน้นคือแง่งามของการมีความฝัน แต่เป็นการเพ่งมองแง่งามนั้นอย่างระแวงสงสัย และสงวนความคิดเห็นของผู้มองไว้ให้อยู่ภายใต้ปากที่เม้มสนิท
เฌอปรางบอกว่า ที่เธอพยายามหนักหน่วงอยู่ทุกวันนี้ ตั้งแต่เลิกกับแฟนเพื่อเข้า BNK48 และทนความกดดัน เพราะเป็นความตั้งใจตั้งแต่วันที่สมัครแล้วว่า อยากจะอุทิศให้กับการสนับสนุน ‘คอนเซปต์’ นี้ คอนเซปต์ AKB48 วงพี่ที่มาจากญี่ปุ่น ได้มีอยู่ยาวนานในไทย
ส่วนอร นี่อาจเป็นหนทางเดียวจะพลิกชีวิตจากการเป็นโนบอดี้ให้กลายเป็นคนที่ใครๆ ต้องรู้จัก ซึ่งเป็นปมลึกอยู่ในใจของเธอ
ความฝันเหล่านี้ผลักให้เราต้องยอมเป็นวัตถุในมุมของคนอื่นหรือเปล่า?
ถ้าคุณเป็นวัตถุ ฉันก็คงเป็น และ “การไม่ถูกมองเห็นนั้นอันตราย” ในทุกหนทุกแห่ง
กระทั่งความฝันของเราเองก็อาจเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาจากเรื่องเล่าหลายเรื่อง เป็นความฝันที่เสริมแต่งขึ้นมาบนคุณค่าบางอย่าง กระตุ้นให้เราลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เราต่างก็อยู่ในสถานะเดียวกันนี้ และนั่นก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่เรายังคงทำสิ่งที่ทำอยู่ โดยไม่เร่ง ‘จบการศึกษา’ จากเรื่องนี้ไปทำเรื่องอื่น
แม้ว่าข้างบนที่ยืนอยู่บนยอดองค์กรแห่ง ‘ความฝัน’ คือนักธุรกิจที่เคาะตัวเลขกำไร-ขาดทุน และบางคนก็ไม่ค่อยมองเราเป็นมนุษย์สักเท่าไร น่าแปลกที่เรากลับไปตั้งแง่ตั้งคำถามมากมายกับอุตสาหกรรมบันเทิง
Girls Don’t Cry เป็นเสมือนเรียงความที่มีข้อถกเถียงกลับไปมา
คนที่ “โดดเด่น’ กับ คนที่ ‘ดับ’ ใครกดดันและน่าเห็นใจกว่ากัน
‘ความพยายาม’ มันไม่ทำร้ายใครจริงหรือ หรือจริงๆ แล้ว บางคนไม่ต้องพยายามก็ได้
กลมเกลียวหรือแข่งขันคือแก่นแท้ของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์
แต่ดูเหมือนคำถามที่เราคิดอยู่ในใจมากที่สุด ก็คือ “การเป็น ‘ไอดอล’ เป็นความฝันที่ควรค่าแก่น้ำตาของเด็กผู้หญิงเหล่านี้หรือเปล่า” สถานะซึ่งเหมือนจะเป็นตัวแทนของผลิตภัณฑ์ด้านความบันเทิง (และวัฒนธรรม) ในโลกสมัยใหม่
คำตอบของใครคนหนึ่งในนั้น (ซึ่งเราลืมชื่อไปแล้ว) กลับตอบมาในท่อนหนึ่งว่า “ตอนแก่ หากมองกลับมาดูความเครียดตอนนี้ คงมองว่าเป็นเรื่องขำๆ …ก็ผ่านมาได้แล้วไง”
น้ำตาที่อยู่ในนั้นอาจคือความทุกข์ และมันคงไม่เป็นไร หากไม่ใช่การบีบบังคับให้เข้าไป
มองดูเด็กสาวเหล่านี้ ดูเหมือนไม่มีใครที่เข้ามาเพราะการบีบบังคับทางด้านเศรษฐกิจ บ้างเรียนเปียโนมาก่อน บ้างเรียนเต้นมาก่อน บางคนพ่อแม่ลงทุนทำห้องซ้อมให้ในบ้าน และคงต้องขมวดคิ้วอีกครั้ง หากจะเทียบว่าพวกเธอเป็น ‘แรงงานเด็ก’ ชวนให้นึกถึงแรงงานบีบบังคับในบังกลาเทศ หรือตั้งคำถามกับการดรอปเรียนของพวกเธอ
เอาเข้าจริง พวกเธออาจมีโอกาสเลือกมากกว่าใครหลายๆ คน แต่ก็ได้เลือกแล้วว่าจะทำสิ่งนี้
และหากมีบางวันที่จะร้องไห้ เมื่อเกิดคำถามในใจว่า สิ่งที่ทำไปมีคุณค่าเท่าที่ประเมินค่าไว้ก่อนหน้านี้หรือเปล่า ก็เป็นเรื่องที่แต่ละคนต้องเผชิญ
ใครบางคนอาจแค้นเคืองนายทุน บุคคลที่แทบไม่ค่อยมีการเอ่ยถึงในสารคดี (นอกจากท่อนที่ว่าพวกเขาใกล้จะเงินหมด หลังจากเพลงแรกไม่ดัง) แต่ธุรกิจก็คือสิ่งที่พวกเขาเลือกใช้ชีวิตไปกับมัน
ถ้าสารคดี BNK48 มีตอนจบว่าวงแตก อย่างที่ ‘ปูเป้’ หนึ่งในสมาชิกพูดขำๆ เอาไว้ นี่อาจกลายเป็นสารคดีชีวิตที่เศร้าสลดในฟองสบู่สีสดใสของนักธุรกิจผู้เลือกลงทุนเงินหลายล้านกับเด็กสาว 26 คนนี้ก็เป็นได้
ป็อปคอร์นกองพะเนินออกมาจากปากถังขยะของห้างพารากอน อาจเพราะกินไม่หมดจากขนาดแบ่งขายที่ใหญ่เบิ้ม หรืออาจเป็นความตั้งใจแต่แรกของผู้ซื้อ พวกเขาเก็บถังพลาสติกสกรีนลายใบหน้าเหล่านั้นกลับบ้าน อีกไม่นาน ไม่แน่ มันอาจจะไปโผล่ที่ตลาดออนไลน์ที่ไหนสักแห่ง
Tags: เต๋อ นวพล, นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์, BNK48, Girls don't cry