ก่อนหน้านี้เวลาไปเดินหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) บางคนอาจสัมผัสได้ว่า พื้นที่นี้ยังขาดอะไรไปสักอย่าง แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นสิ่งของหรือชิ้นงานแบบไหน จนกระทั่งในวันที่ BACC ได้จัดแสดงนิทรรศการ ‘Local Myths: ความงามตามพื้นเพ’ จึงกระจ่างว่าสิ่งที่มาเติมเต็มหอศิลปกรุงเทพฯ ให้สมบูรณ์คือ งานศิลปะจากศิลปินท้องถิ่นซึ่งเล่าเรื่องราวจากบ้านเกิดสะท้อนกลับมายังเมืองหลวง
โดยนิทรรศการ Local Myths: ความงามตามพื้นเพ จัดแสดงถึงวันที่ 10 ตุลาคม 2568 ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 7 และในครั้งนี้ BACC ได้ชวนศิลปินจากสามจังหวัดชายแดนใต้ และ 3 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขงประกอบด้วย มหาสารคาม อุบลราชธานี และอุดรธานี รวมถึงกลุ่ม Speedy Grandma จากกรุงเทพฯ ซึ่งทั้งหมดถ่ายทอดเรื่องราวผ่านงานศิลปะที่ชั้นนอกเคลือบด้วยความงามและเสน่ห์ของท้องถิ่น แต่หากกระเทาะให้เห็นเนื้อในจะพบว่า มีทั้งผลงานที่ขับเคลื่อนด้วยการตั้งคำถาม งานที่แฝงด้วยความรวดร้าว การถูกกดทับของชีวิตชายขอบ รวมถึงความหวังที่กำลังส่องแสงรำไร
เพื่อทำความเข้าใจที่มาที่ไปของผลงานแต่ละชิ้น ไปจนถึงมโนทัศน์ของศิลปินท้องถิ่น และสถานการณ์ปัจจุบันของเหล่าศิลปินที่อยู่นอกเมืองหลวง The Momentum ได้พูดคุยกับ ปู-เพ็ญวดี นพเกตุ มานนท์ ภัณฑารักษ์แห่งหอศิลปกรุงเทพฯ ผู้ซึ่งลงพื้นที่ไปแต่ละท้องถิ่น และเป็นผู้ร่วมทางของศิลปินในการนำงานศิลปะจากท้องถิ่นมาสู่สายตาคนเมือง
อีสาน: เสียงครวญของลุ่มน้ำโขง กำเนิดอุดรฯ และไส้เดือนสารคาม
ศิลปินที่ใช้คำว่า ‘ความงามตามพื้นเพ’ จนกลายเป็นชื่อของนิทรรศการนี้คือ ครูป้อม-ณพล ผาธรรม ซึ่งภัณฑารักษ์เล่าว่า ครูป้อมเป็นอาจารย์ด้านดนตรีที่จังหวัดอุบลราชธานี รวมถึงภูมิภาคอีสาน ทว่าศิลปินผู้นี้ชอบทำงานที่บ้านเกิดตัวเองมากกว่าการทำงานในเมืองหลวง เพราะฉะนั้น นิทรรศการครั้งนี้ที่ได้ผลงานของเขามาจัดแสดงจึงเป็นเรื่องสุดพิเศษสำหรับคนรักดนตรีและศิลปะ
ผลงานของครูป้อมใช้เสียงที่เรียกว่า ‘ดนตรีภาวนา’ เข้ามาเป็นส่วนประกอบในศิลปะจัดวาง (Installation Art) โดยนำเอาน้ำ ดิน และขวดน้ำพลาสติกที่เจอในแม่น้ำโขง อุบลฯ มาสร้างเป็นงานศิลปะ
“ศิลปินเขาพูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง และเขื่อนที่เกิดขึ้น โดยแสดงให้เห็นว่าเขื่อนกำลังค่อยๆ ทำลายแม่น้ำโขงอย่างไร ตอนที่เราลงพื้นที่เราก็ไปเจอขวดน้ำพลาสติกที่ลอยมาในแม่น้ำโขง ซึ่งมันไม่ได้มาจากประเทศไทยอย่างเดียว แต่มาจากทุกประเทศลุ่มแม่น้ำโขง เราเลยสนใจว่า เรื่องนี้มันไม่ได้เกิดแค่ลุ่มน้ำโขงไทยเรา แต่เป็นภาวะร่วม ครูป้อมเลยทำเป็นแทงก์ตู้ปลา แล้วนำน้ำกับทรายจากแม่น้ำโขง และขวดจากแม่น้ำโขงมาทำเป็น Installation Art รวมถึงมีดนตรีภาวนาร่วมด้วย” เพ็ญวดีเล่าถึงเรื่องราวที่เจอตอนลงพื้นที่จนเกิดเป็นงานศิลปะชิ้นนี้
ถัดมาที่อุดรธานี เพ็ญวดีเล่าว่า มีศิลปินทั้งหมด 4 คน สร้างผลงานศิลปะที่ต่างกันในประเด็นประวัติศาสตร์ สังคมท้องถิ่น ตำนาน ความเชื่อ และศรัทธา
โดยศิลปินที่ได้แรงบันดาลจากประวัติศาสตร์การถือกำเนิดของอุดรธานี และนำเอาเหรียญตรามาสร้างเป็นงานศิลปะชื่อว่า ‘Eclipse’ ด้วยเทคนิคภาพถ่ายฟิล์มกระจก แสดงแสงของเหรียญไล่จากเหรียญที่มืดไปสู่เหรียญที่ได้รับแสงสว่าง คล้ายปรากฏการณ์สุริยุปราคา
“เรื่องประวัติศาสตร์ของเมืองอุดร ศิลปินทำเรื่องการกำเนิดของเมืองอุดรฯ ซึ่งยุคนั้นเป็นยุคที่ทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศส แล้วไทยถูกบังคับให้ถอยร่นมา 25 กิโลเมตร เพื่อมอบผืนดินฝั่งแม่น้ำโขงทางซ้ายให้ฝรั่งเศส และต้องมอบเงินจำนวน 3 ล้านฟรังก์ให้ฝรั่งเศส ซึ่งการมอบเงินต้องใช้เหรียญเฉพาะเหรียญหนึ่ง ศิลปินก็เลยได้แรงบันดาลใจจากเหรียญตรงนั้นมาทำเป็นชิ้นงาน ซึ่งเขาพูดเรื่องอำนาจต่อรอง พูดเรื่องความเปลี่ยนแปลงของประเทศ การเกิดขึ้นของอุดรฯ” เธออธิบาย
และมีศิลปินที่นำเสนอประวัติศาสตร์ของอุดรฯ ในอีกยุคสมัยหนึ่งที่เป็นฐานทัพของสหรัฐอเมริกา ทำให้เกิดค่ายรามสูร ที่ซึ่งทุกวันนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ค่ายรามสูร โดยศิลปินคือ ปณชัย ชัยจิรรัตน์ กับปุญญิศา ศิลปรัศมี สามี-ภรรยาเจ้าของ NOIR ROW ART SPACE ในอุดรธานี
“เขาสนใจประเด็นเรื่องสงครามเย็น เรื่องค่ายเมขลากับค่ายรามสูร แต่ปัจจุบันค่ายเมขลาเป็นของเอกชนไปแล้ว ซึ่งเขาสนใจทำเรื่องพื้นดินที่แตกหน้าค่ายเมขลา เขาก็จำลองมาแสดงในนิทรรศการ ซึ่งมันมาจากตำนานเมขลาล่อแก้ว กับรามสูรที่ขว้างขวาน เป็นกึ่งประวัติศาสตร์ กับตำนานเรื่องเล่า”
เดินก้าวมาสู่เรื่องราวสังคมปัจจุบันของอุดรฯ ที่มีแลนด์มาร์กสำคัญอย่างหนองประจักษ์ใจกลางเมือง กับคำชะโนด มีศิลปินที่มองภาพสถานที่เหล่านี้เป็นมากกว่าสถานที่สำคัญ
“ศิลปินที่ทำเรื่องชุมชน เขาได้รับอิทธิพลจากคุณแม่ บวกกับบ้านอยู่ติดกับหนองประจักษ์ของอุดรฯ จึงได้รับมรดกตกทอดมา เขารู้สึกว่ามรดกตกทอดตรงนั้นสำคัญมากกว่าความเป็นแลนด์มาร์กของอุดรฯ จึงอยากทำตรงนี้เป็นพื้นที่ชุมชนสำหรับเด็กรุ่นใหม่ มีการทำเซรามิก เวิร์กช็อป แล้วก็ให้เด็กๆ ช่วยกันถ่ายรูปพื้นที่หนองประจักษ์ที่จะมีสะพานแขวน นำมาจัดแสดงเป็นภาพเลนทิคูลาร์ (Lenticular) แล้วทิ้งรูปหนึ่งของคุณแม่ที่เป็นแรงบันดาลใจไว้ให้เห็นความเป็นอัตลักษณ์ของการเป็นพื้นที่ของคนในชุมชนมากกว่าสะพานแขวนนั้น”
เพ็ญวดีเล่าต่อไปยังอีกหนึ่งผลงานจากอุดรฯ ในพื้นที่คำชะโนดว่า มีความพิเศษตรงที่ได้นำเอาน้ำศักดิ์สิทธิ์จากคำชะโนดมาจัดแสดงร่วมด้วย
“ของพื้นที่คำชะโนด มีผลงานชื่อ ธรณีประตู เป็นการคาบเกี่ยวกันระหว่างโลกความจริงกับโลกความเชื่อ จัดทำเป็นวิดีโอ 2 ชิ้น ข้างๆ วิดีโอก็จะมีคนโทน้ำศักดิ์สิทธิ์จากคำชะโนด เขาเคยทำงานกับคำชะโนดมาแล้ว ทำเรื่องพลังงานที่มีอยู่จริงหรือไม่มีอยู่จริง เขาก็ตั้งคำถามว่าสิ่งเหล่านั้นทำให้คำชะโนดเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง เมืองบาดาลมีอยู่จริงไหม”
ออกจากอุดรธานีมาสู่งานจาก ‘หอสิน กางธ่งมหาสารคาม’ เป็นชิ้นงานที่เกิดจากการตั้งคำถามต่ออนาคตของอีสานเช่นกัน
“หอสิน กางธ่งมหาสารคาม เล่าเรื่องไส้เดือน ซึ่งกลายเป็นวิถีชีวิตใหม่ในร้อยเอ็ด ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ที่ทางจีนส่งพ่อค้ามาหายาสมุนไพร ที่ทำจากไส้เดือน จึงเกิดธุรกิจใหม่ขึ้นมาในชุมชน มีการตั้งกลุ่มพ่อค้า ที่ได้รับอุปกรณ์เครื่องมือจากจีนเป็นเครื่องรีดไส้เดือน ผ่าครึ่ง และมีกรรมวิธีที่บรรดาแม่ๆ มาทำการล้าง ตากไส้เดือน เป็นวิถีใหม่ของชุมชน พอมาถึงช่วงขาย ก็จะมีการแข่งขันระหว่างร้านชำ ออกโปรโมชันเพื่อดึงดูดผู้ขาย
“จึงเกิดการตั้งคำถามของศิลปินว่า การเปลี่ยนแปลงของชุมชนจะนำไปสู่อะไรในอนาคต ดินจะเปลี่ยนไปไหม หรือระบบนิเวศจะเกิดอะไรขึ้น ศิลปินจึงคิดทำเครื่องรีดไส้เดือนจำลอง และมีสถิติของการได้รับเงินแต่ละวันจากการขายไส้เดือน แล้วก็มีแผนผังชุมชนว่าโซนไหนเป็นโซนที่รีดไส้เดือน ขายไส้เดือน ศิลปินเขาอยากพูดเรื่องว่าทุกอย่างเกิดขึ้นจากพฤติกรรมมนุษย์ และทุกอย่างก็เป็นการตั้งคำถาม” ภัณฑารักษ์อธิบายถึงงานศิลปะที่จำลองมาจากเครื่องจักรรีดไส้เดือน
ชายแดนใต้: ศิลปะที่ผุดพรายในพื้นที่ไม่สงบ
เพ็ญวดีพูดถึงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ว่า เธอมีโอกาสลงสำรวจพื้นที่นี้ตั้งแต่ปี 2559 ได้เห็นพลวัตของพื้นที่ชายแดนใต้เป็นเวลาเกือบ 10 ปี และนิทรรศการครั้งนี้มีกลุ่ม Melayu Living ซึ่งเป็นกลุ่มนักกิจกรรมมาจัดแสดงผลงานศิลปะกลางเมืองด้วย
“กลุ่ม Melayu Living ซึ่งแปลตรงๆ คือห้องรับแขกมลายู ศิลปินอยากทำผลงานเกี่ยวกับการต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง เป็นชุดรับแขกพื้นถิ่น แต่เอามาปิดด้วยสติกเกอร์สีแดง ซึ่งทับอยู่บนกระดาษที่เป็นจดหมายสนเท่ห์ ที่เขาเคยได้รับประมาณปี 2562 เพราะเขาเป็นกลุ่มที่ทำกิจกรรมเยอะในพื้นที่ ทำเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองปัตตานีและได้รับการตอบรับดี ซึ่งปัจจุบัน Melayu Living ก็ได้รับมอบหมายให้ดูแล TCDC ปัตตานีด้วย”
ภัณฑารักษ์ขยายความว่าจดหมายสนเท่ห์ถูกส่งไปยังผู้สนับสนุนกลุ่ม Melayu Living ในกรุงเทพฯ
“ด้วยความที่เขาทำกิจกรรมเยอะเลยอาจมีผู้ไม่ประสงค์ดีส่งจดหมายสนเท่ห์มาให้ผู้สนับสนุนในกรุงเทพฯ ก็เขียนประมาณว่า เขาได้รับทุนสนับสนุนจากผู้ก่อการร้าย แล้วเขาก็ตกใจ แล้วเขาก็อยากจะรู้ว่าคนอื่นรู้สึกอย่างไร”
ทั้งนี้ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ยังมีเรื่องประวัติศาสตร์การค้าขายในปัตตานี ซึ่งเป็นข้อถกเถียงถึงประเด็นอาณาจักรปาตานีว่ามีอยู่จริงหรือไม่ โดยมีการนำเสนอภาพของ ‘กระจง’ เป็นภาพแทนของสัตว์ในตำนาน สื่อถึงการเกิดขึ้นของปัตตานี และยังมีผลงานจากศิลปินที่ทำเรื่องแม่น้ำสายบุรีที่ไหลผ่าน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นสายน้ำที่หล่อเลี้ยงบ้านเกิด
“ศิลปินทำเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสายน้ำจากอดีตจนถึงปัจจุบัน จากคำบอกเล่าของคุณพ่อของศิลปิน”
รวมถึงผลงานชุดกระโปรงหญิงสาวขนาดใหญ่ที่ตั้งตะหง่านในนิทรรศการ คล้ายชุดกระโปรงสุ่มในยุควิกตอเรียน โดยผลงานนี้เป็นการพูดถึงเรื่องภายนอกที่แสดงออกของผู้หญิงมุสลิม และการถูกกดทับจากภายใน
“โดยหลักศาสนาของมุสลิมกับวิถีชีวิตของสามจังหวัดชายแดนใต้ ทำให้ผู้หญิงมุสลิมต้องเป็นช้างเท้าหลังในคนรุ่นหนึ่ง แต่ในคนรุ่นใหม่อาจต่างออกไป ซึ่งคนรุ่นใหม่ก็ถอดบทเรียนออกมาเป็นชุดของผู้หญิงมุสลิมที่มีความงามจากภายนอก แล้วก็มีความถูกกดทับอยู่ภายใต้ ข้างนอกกับข้างในก็จะแตกต่างกัน เป็นการเล่นเกี่ยวกับภายนอกภายในของผู้หญิงมุสลิม” ภัณฑารักษ์เล่า
เมื่อกล่าวถึงพื้นที่ชายแดนใต้ สิ่งที่หลายคนอยากทราบคงเป็นเรื่องสถานการณ์ความไม่สงบ ซึ่งท่ามกลางเหตุการณ์แสนเจ็บปวด ศิลปินท้องถิ่นกับศิลปะจะงอกเงยทะลุผ่านความรวดร้าวในพื้นที่ไปได้หรือไม่อย่างไร โดยในประเด็นนี้ เพ็ญวดีที่ได้สัมผัสพื้นที่นี้มาหลายปีกล่าวว่า คนสามจังหวัดยังมีความหวังในเรื่องศิลปะอยู่
“คนในพื้นที่เขาพยายามปรับวิถีชีวิตให้ชิน ถามว่าเขามีความหวังไหม เขาก็มีความหวังในแบบของเขาอยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นเขาไม่อยู่ต่อ ศิลปะในสามจังหวัดชายแดนตอนนี้ก็ดีขึ้น เพราะศิลปะมันช่วยเยียวยาบางอย่าง นักกิจกรรมในพื้นที่ก็มีเยอะมาก ไม่ใช่แค่เรื่องศิลปะ ความคิดสร้างสรรค์ แต่รวมถึงเรื่องดีไซน์ การปลูกสร้างเมืองใหม่ มันก็ช่วยให้คนมีเวลามาใช้กับส่วนนี้มากขึ้นแทนที่จะหมกมุ่นกับความรุนแรง ทุกคนก็พยายามจะฟื้นฟูเมือง พยายามจะทำให้เป็นเมืองสร้างสรรค์” เพ็ญวดีเล่า
นอกจากพื้นที่อีสานและสามจังหวัดชายแดนใต้ ยังมีกลุ่ม Speedy Grandma ที่เป็นตัวแทนของศิลปินนอกกระแสในกรุงเทพฯ
“ท้องถิ่นของกรุงเทพฯ เราพูดถึงความเป็นชายขอบ หรือศิลปินที่อยู่นอกกระแสหลัก ก็คือกลุ่ม Speedy Grandma ซึ่งปัจจุบันเขาจะเป็นคอลเลกทีฟ (Collective) แต่ก่อนหน้านั้นเขาจะเป็นพื้นที่ศิลปะ แล้วก็ค่อยขยับตัวมาเรื่อยๆ มีความเป็นมายาวนานถึง 13 ปี เราก็เลยสนใจว่ากลุ่มศิลปินนอกระแสในกรุงเทพฯ อยู่กันยืดยาวได้อย่างไร ก็เลยชวนเขามาทำบันทึกการเดินทางจากปีแรกจนถึงปีนี้เป็นอย่างไรบ้าง” เธออธิบาย
ความหวัง โอกาส และการเติบโตของศิลปะในท้องถิ่น
อย่างที่หลายคนทราบว่า การใช้ชีวิตอยู่ในท้องถิ่นหรือพื้นที่ชายขอบเท่ากับว่า โอกาสที่จะได้ฉายแสงย่อมริบหรี่กว่ากลางเมือง โดยเฉพาะในวงการศิลปะ ซึ่งเป็นสิ่งที่หอศิลปกรุงเทพฯ พยายามแก้ไขจุดบกพร่องตรงนี้ โดยการให้ศิลปินท้องถิ่นได้มีพื้นที่จัดแสดงผลงานของตนเอง ซึ่งจะมีคนมองเห็นได้มากขึ้น และต้องการสานต่อนิทรรศการท้องถิ่นต่อไปในอนาคตด้วย
“ในเรื่องศิลปะแม้แต่คนกรุงเทพฯ ก็ยากอยู่แล้ว คนจากภูมิภาคอื่นๆ ก็ยากขึ้นไปอีก ศิลปินกลุ่มที่อยู่ในภูมิภาคไม่ได้รับโอกาสเท่าส่วนกลางเท่าไร แม้ว่าจะเป็นโลกดิจิทัลแล้ว เขาไม่ได้รับโอกาสในเรื่องขององค์ความรู้ งบประมาณ”
หลายคนในประเทศไทยอาจจินตนาการไม่ออกเสียด้วยซ้ำว่า ศิลปินท้องถิ่นจะทำผลงานศิลปะออกมาอย่างไร มีความยึดโยงผูกพันกับบ้านเกิดเช่นไร และมีความเป็นสากลหรือไม่ สำหรับคำตอบของข้อสงสัยเหล่านี้อาจคลายลงเมื่อได้มาเดินดูนิทรรศการ LOCAL MYTHS
“จริงๆ คนท้องถิ่นเรื่องเล่าเขาเยอะ ทั้งประวัติศาสตร์ ความเป็นจริงก็เยอะ พอคนเรามีเรื่องเล่าเยอะ และมีวัฒนธรรมเฉพาะของแต่ละพื้นที่ เสน่ห์มันรุนแรงมาก เราลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้มานาน ยังเล่าไม่หมดเลย แม้ว่าจะพาคนไปที่เดิม เราก็จะได้อะไรใหม่ๆ มาตลอดเวลา เพราะมันรุ่มรวย เรามีการพาศิลปินจากไปยังท้องถิ่นอื่นๆ ด้วย เราเห็นว่ามีศิลปินเยอะขึ้น หน่วยงานต่างๆ ก็เริ่มตอบรับสิ่งเหล่านี้เพิ่มขึ้นด้วย”
อย่างไรก็ตามหากศิลปินท้องถิ่นได้มีพื้นที่จัดแสดงผลงานมากขึ้นและกว้างขึ้น โอกาสที่ศิลปินจะได้รับก็จะขยายใหญ่ขึ้นด้วย อย่างที่ภัณฑารักษ์เล่าว่า บางหน่วยงานเริ่มได้รับซื้อผลงานจากคลังศิลปะของสำนักงานศิลปะร่วมสมัยแล้ว ซึ่งเธอรู้สึกภูมิใจที่จากท้องถิ่น ทำงานที่บ้านเกิด แล้วสุดท้ายได้รับความสนใจจากพื้นที่ส่วนกลาง
สุดท้ายนี้เมื่อถามว่า ศิลปะจะช่วยพัฒนาเมือง พัฒนาท้องถิ่นได้หรือไม่ เพ็ญวดีตอบไว้อย่างน่าสนใจว่าศิลปะจะพัฒนาคน
“ศิลปะพัฒนาคนแล้ว คนก็ไปพัฒนาเมือง ถ้าเป็นศิลปะร่วมสมัยเรารู้สึกว่ามันเป็นองค์ความรู้และข้ามศาสตร์ด้วย การที่เราลงพื้นที่ เราก็ได้ไปเรียนรู้เรื่องมนุษย์ สังคม ประวัติศาสตร์ หรือเป็นไปเรียนรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ และในสมัยนี้ก็มีคนทำเรื่องไบโออาร์ตเยอะ พอข้ามศาสตร์แล้ว มันไม่ใช่แค่วิสัยทัศน์ แต่คือมโนทัศน์ผสมกับองค์ความรู้ ความเป็นจริง มันก็ทำให้คนพัฒนา พอคนพัฒนามันก็ทำให้สิ่งเหล่านี้กระจายไปสู่คนอื่นๆ ต่อ ก็ทำให้คนนั้นเป็นกึ่งนักวิจัยที่ถ่ายทอดออกมาผ่านความงาม และอาจจะซับซ้อนน้อยกว่าวิชาการ เพื่อให้คนได้เรียนรู้และซึมซับในเชิงความรู้สึก” ภัณฑารักษ์ทิ้งท้าย
Fact Box
- นิทรรศการ Local Myths: ความงามตามพื้นเพ จัดแสดงถึงวันที่ 10 ตุลาคม 2568 ในห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 7 ที่ BACC หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
- เปิดเวลา 10.00-20.00 น. วันอังคารถึงวันอาทิตย์ (หยุดวันจันทร์) เวลา 10.00-20.00 น.