ถ้าเห็นคำว่า ‘นวัตกรรม’ ขึ้นมาในป้ายโฆษณาหรือพาดหัวบทความ คุณจะรีบอ่านข้อมูลเพิ่มเติมหรือเบือนหน้าหนี

น่าเสียดายที่ทุกวันนี้มันมักจะเป็นอย่างหลัง อย่างที่สก็อตต์ เบอร์คัน กล่าวไว้ในหนังสือ มายานวัตกรรม (The Myths of Innovation) “ลำพังการพูดว่าอะไรสักอย่างเจ๋งมากไม่อาจทำให้มันเจ๋งจริงได้ … คนใช้คำว่า “นวัตกรรม” กันเกร่อเสียจนมันไม่มีความหมายอะไรอีกต่อไป”

จริงอยู่ที่การยกย่องชื่อบุคคลคนหนึ่งขึ้นมาเมื่อเราเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์สิ่งประดิษฐ์ จะทำให้เราจำง่ายขึ้น เช่น เอดิสันประดิษฐ์หลอดไฟ เบลล์คิดค้นโทรศัพท์ ฟอร์ดคิดค้นรถยนต์ พี่น้องตระกูลไรต์คิดค้นเครื่องบิน หรือแม้แต่สตีฟ จ็อบส์คิดค้นไอพ็อด แต่ราคาที่ต้องแลกเพื่อให้เราจำชื่อคนเหล่านี้ได้ง่าย อาจทำให้คนเข้าใจ ‘ที่มา’ และ ‘นิยาม’ ของนวัตกรรมผิดไปอย่างสิ้นเชิง

เมื่อเราจะสอนเด็กๆ ว่า กว่าที่สิ่งประดิษฐ์เหล่านั้นจะกลายเป็นของที่ใครๆ ก็ใช้ทุกวันนี้ มันเป็นมาอย่างไร กลายเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ที่เราจะต้องหยิบตัวละครหลักสักตัวขึ้นมา เพื่อจะทำให้การเล่าประวัติศาสตร์กลายเป็นเรื่องเรียบง่าย ไม่มีโครงเรื่องหลัก-โครงเรื่องรองให้ต้องเวียนหัว

เบอร์คันบอกว่า เรื่องเล่าเหล่านี้ส่งผลให้คนเข้าใจผิดกันมากว่า คนคนนั้นคิดขึ้นได้เองทั้งหมด และความคิดนั้นมาผุดในหัวของเขาแบบไม่มีที่มาที่ไป

กลายเป็นว่า นวัตกรรม หรือภาวะที่คิดอะไรเจ๋งๆ ขึ้นมาได้ เป็นอภิสิทธิ์สำหรับคนบางคน หรือเป็นบัญชาจากสวรรค์ (นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ในบางสังคมในบางยุค ไม่มีการจดบันทึกว่าใครคือผู้คิดสิ่งสิ่งหนึ่งขึ้นมาได้ เพราะเขาไม่สมควรได้เครดิตด้วยซ้ำไป)

เบอร์คันยกตัวอย่าง ‘มายาคติปิ๊งแวบ’ ที่ภาษาอังกฤษเรียกการปิ๊งแวบนี้ว่า epiphany ซึ่งเป็นคำที่มีรากทางศาสนา เชื่อมโยงไปว่าปัญญานั้นเกิดมาด้วยพลังศักดิ์สิทธิ์ และพระเจ้าคือ “ขุมพลังสร้างสรรค์เดียวในเอกภพ” (หน้า 28) และเรื่องเล่าที่เราชอบเล่าต่อๆ กัน ก็ยกตัวอย่างเช่นเรื่องของนิวตันที่จู่ๆ แอปเปิลก็หล่นใส่หัว แล้วตื่นรู้เรื่องแรงโน้มถ่วง

คนพูดถึงเรื่องเล่านี้ ราวกับว่าก่อนหน้านิวตัน ไม่มีใครรู้จักแรงโน้มถ่วงเลย ทั้งที่สถาปัตยกรรมที่สร้างมาก่อนนิวตัน จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากมนุษย์ยังไม่รู้ว่าแรงโน้มถ่วงนั้นมีอยู่

เบอร์คันบอกว่า อันที่จริงนิวตันเพียงใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์ที่เขามี มาอธิบายแรงที่ว่านี้ และการปิ๊งแวบนั้นไม่ใช่ ‘สาเหตุ’ ที่นำไปสู่ความคิด แต่เป็น ‘ผลลัพธ์’ จากการค้นคว้าและหมกมุ่นอยู่กับประเด็นนั้นๆ มานานต่างหาก

และอันที่จริง แอปเปิลอาจไม่เคยหล่นใส่หัวนิวตันเลยก็ได้ เรื่องเล่านี้น่าจะเป็นการสร้างสรรค์เติมแต่งของบรรดานักเขียน นักข่าว นักเล่าเรื่องทั้งหลาย ที่ชอบใส่สีตีไข่ให้การค้นพบนั้นกลายเป็นเรื่องมหัศจรรย์ เพื่อให้ผู้คนเสพง่ายและแพร่หลายต่อไป ถ้าเป็นสมัยนี้ก็เหมือนกับการกระตุ้นยอดไลก์ยอดแชร์

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนิวตันกับแรงโน้มถ่วง หรืออาร์คิมีดีสกับความหนาแน่น สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากเรื่องเหล่านี้ ไม่ใช่ว่าความคิดทางวิทยาศาสตร์เหล่านี้เกิดมาอย่างไม่มีที่มาที่ไปจากสิ่งลี้ลับ ซึ่งฟังดูย้อนแย้งชอบกล แต่เป็นเพราะการ “ทำงานด้วยความหลงใหล แต่ก็จงหยุดพักด้วย …ปล่อยให้จิตเถลไถล ปลดปล่อยจิตใต้สำนึกให้ทำงานแทนเรา” (น. 39)

มายานวัตกรรม อุทิศแต่ละบทเพื่อสำรวจความเข้าใจผิดยอดนิยมแต่ละข้อ ที่คนมีต่อคำว่า นวัตกรรม แต่ละบทที่เบอร์คันรู้สึกคันจนต้องค้นคว้าและพาเราไปสำรวจ อาจทำให้เราต้องรื้อบรรดา (สิ่งที่เราคิดว่าเป็น)ความรู้ออกมาให้หมด โดยเฉพาะชื่อนักประดิษฐ์ในย่อหน้าที่ 3 ของบทความนี้ แล้วเข้าใจเสียใหม่ว่า

พวกเขาไม่ใช่คนที่คิดได้คนแรก

หรือ พวกเขาอาจคิดได้ แต่ไม่ใช่คนที่ทำให้มันใช้งานได้จริง

หรือ พวกเขาไม่ใช่คนที่สามารถโน้มน้าวให้มวลชนนำมันไปใช้จนเรียกว่าเป็นนวัตกรรมได้

หรือ พวกเขาไม่ได้ทำให้มันประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์

หรือ พวกเขาไม่ใช่คนที่ทำทั้งหมดที่กล่าวมาได้คนแรก เพียงแต่เป็นพลเมืองของบางประเทศที่เสียงดังกว่าในการเขียนตำราประวัติศาสตร์ เราจึงมักหลงคิดว่าคนยุโรปคิดค้นสิ่งประดิษฐ์เปลี่ยนโลกได้ก่อนใคร ทั้งที่ตามหลังเอเชียในบางกรณี

เบอร์คันเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของผลิตภัณฑ์เปลี่ยนโลกเหล่านี้ รวมไปทั้งความบังเอิญของโพสต์อิท 3M หรือเว็บไซต์ Flickr ที่ไม่ใช่ว่าคนคิดค้นนั้นตั้งใจจะคิดมันขึ้นมาตั้งแต่แรก เพื่อนำกรณีตัวอย่างเหล่านี้มาทำลายมายาคติทีละข้อๆ โดยไม่ได้เล่ายาวยืดจนทำให้หนังสือเล่มนี้กลายเป็นหนังสือประวัติศาสตร์สิ่งประดิษฐ์แสนน่าเบื่อ แต่เหมือนการอ่านบทความสั้นๆ ที่ชวนเราพยักหน้าคิดตาม

ผู้อ่านอาจถามว่า แล้วมีประโยชน์อะไร ถ้าเรารู้ว่าใครคนนั้นที่เราจำๆ ชื่อกันมา ไม่ใช่คนที่คิดได้คนแรกหรอกนะ เอาไว้คุยทับคนอื่นน่ะหรือ

พวกเขาไม่ใช่คนที่คิดได้คนแรก

มีประโยชน์แน่นอน เพราะหนังสือเล่มนี้ช่วยบิดความคิดที่เรามีต่อนวัตกรรมใหม่ให้เข้ารูปเข้ารอย ว่าเราเองก็เป็นคนที่คิดนวัตกรรมได้ นวัตกรรมไม่ใช่สิ่งวิเศษที่เป็นอภิสิทธิ์ขององค์กรไอทีสุดล้ำ หรือสตีฟ จ๊อบส์ คนต่อไปที่จะลงมาจุติบนโลก แต่คือคน (หรือกลุ่ม หรือแม้แต่องค์กร) ที่ทำงานกับเรื่องเรื่องหนึ่งมากพอ ประจวบเหมาะกับยุคสมัยที่ตอบรับไอเดียนั้นอย่างคึกคัก

เบอร์คันมองว่า นิยามที่มีพลังที่ที่สุดของคำว่า นวัตกรรม คือ การเปลี่ยนแปลงเชิงบวกขนาดใหญ่ ซึ่งอาจจะต้องดูอย่างอื่นประกอบ เช่น มุมมองของผู้รับรู้ ว่าพวกเขามองเห็นสิ่งนั้นเป็นสิ่งใหม่และเป็นประโยชน์กับเขาหรือไม่ ถ้าไม่ใช่แค่อย่างใดอย่างหนึ่ง สิ่งที่คิดขึ้นมาได้อาจจะเป็นหมันก่อนจะกลายเป็นนวัตกรรมที่เราเรียกๆ กัน

อีกทั้งนวัตกรรมนั้นไม่ได้มีเส้นทางเป็นเส้นตรงหรือมีแค่เส้นเดียว มันประกอบด้วยการแข่งขันกันคิดค้นของคนหลายๆ คน หรือบริษัทหลายๆ เจ้า หยิบยืม ผสมผสาน และทำการตลาดจนคนหันมาใช้ หรือที่ในหนังสือเรียกผู้ที่โดดเด่นในการแข่งขันนี้ว่า ‘แบบนำ’ ซึ่งไม่ได้หมายความว่ามันมี แบบเดียว โดยปริยาย พวกเขาอาจจะอวดอ้างว่าคิดได้ก่อนใคร แต่การสร้างสรรค์นวัตกรรมไม่ได้ทำงานแบบนั้น นั่นคือสิ่งที่เบอร์คันย้ำนักย้ำหนา

นวัตกรรมนั้นไม่ได้มีเส้นทางเป็นเส้นตรงหรือมีแค่เส้นเดียว มันประกอบด้วยการแข่งขันกันคิดค้นของคนหลายๆ คน หรือบริษัทหลายๆ เจ้า หยิบยืม ผสมผสาน และทำการตลาดจนคนหันมาใช้ หรือที่ในหนังสือเรียกผู้ที่โดดเด่นในการแข่งขันนี้ว่า ‘แบบนำ’

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ฝันอยากเป็นนักประดิษฐ์ หรือเจ้าของธุรกิจที่สร้างตัวได้จากนวัตกรรม ก่อนอื่นขอให้พลิกไปอ่านหน้า 88 ที่เบอร์คันสรุปความท้าทาย 8 ข้อที่นวัตกรต้องเจอ เริ่มตั้งแต่ การหาความคิด พัฒนาทางออก หาผู้สนับสนุน ผลิตซ้ำ เข้าถึงลูกค้า เอาชนะคู่แข่ง จังหวะ และต้นทุนที่ต้องเสีย

เขาบอกว่านี่ไม่ใช่รากฐานของนวัตกรรม เขาไม่กล้าอวดอ้างเช่นนั้นเพราะการคิดอะไรล้ำๆ ขึ้นมาได้นั้นไม่มี และไม่ควรมีสูตรสำเร็จ (ไม่อย่างนั้นมันก็คงไม่ล้ำ) แต่เป็นเพียงนั่งร้านที่ใช้ก่อขึ้นไปแล้วพร้อมจะรื้อออกมาใหม่ได้

เจอความท้าทายยังไม่พอ นวัตกรอาจจะต้องทำความเข้าใจปัจจัย 5 ประการที่ทำให้สิ่งที่คิดขึ้นได้นี้ แพร่หลายต่อไป เช่น สิ่งนั้นดีกว่าของเดิมมาก สังคมเข้าใจและเปิดใจยอมรับ มีต้นทุนที่ต้องจ่ายเพื่อทดลองไม่มากนัก ฯลฯ ซึ่งหากขาดไปอย่างใดอย่างหนึ่ง เรื่องราวของสิ่งประดิษฐ์สุดล้ำอาจจบลงตรงนั้น จบลงในโรงรถของคนคนหนึ่งที่ตื่นเต้นกับความคิดล้ำๆ ของตัวเองแต่เพียงลำพัง

หนังสือ มายานวัตกรรม จึงเป็นเหมือนสนามซ้อมเจ็บปวดของนักฝัน ทำให้เห็นภาพว่าเส้นทางเบื้องหน้าสู่นวัตกรรมนั้นขรุขระ แม้จะคิดได้ แต่ก็มีงานมากมายที่ต้องสานต่อจากความคิดตั้งต้น แต่ในขณะเดียวกัน มายานวัตกรรม ก็ฉุดคำว่า นวัตกรรม ลงมาให้เราเอื้อมถึงได้ เพราะแม้จะขรุขระ แต่เส้นทางนั้นไม่ได้ถูกปิดไว้ให้กับบุคลใดบุคคลหนึ่ง ในประเทศใดประเทศหนึ่ง

และอันที่จริงอาจจะดีกว่า ถ้าเราไม่ต้องเรียนประวัติศาสตร์แบบที่ว่าใครคิดค้นอะไรได้ขึ้นมา ถ้ามันจะนำไปสู่มายาคติไม่รู้จบของคำว่านวัตกรรม

Tags: , ,