“ผมไม่ได้ซื้อ CNN BBC USA UN ผมซื้อจักรวาล”
#นางแบกเพื่อไทยภัยสังคม #รำคาญคำผกากาก้าวไกล
#สลิ่มเฟส2 #ส้มเน่า
ในโลกที่โซเชียลมีเดียเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ นอกเหนือจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบออฟไลน์อย่าง ‘การลงถนน’ สุดคลาสสิก ปฏิเสธไม่ได้ว่า มูฟเมนต์ในโลกออฟไลน์ อย่างการปะทะทางความคิดของชาวเน็ต ผ่าน ‘มีม’ และ ‘แฮชแท็ก’ ยังมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการทำหน้าที่ถ่ายทอดสารทางการเมือง (Political Messages) ที่คนเข้าใจร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นมีมสุดคลาสสิกของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกกล่าวหาว่า ‘ซื้อทุกอย่างบนจักรวาล’ ไปจนถึงแฮชแท็กฟาดฟันกลุ่มก้อนทางการเมือง ระหว่างคน 2 กลุ่มอย่าง ‘นางแบก’ กับ ‘ส้มเน่า’ ที่ยกตัวอย่างในข้างต้น
แต่หากอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวในทางมานุษยวิทยา ตัวกลางสื่อสารนี้คือ ‘วัตถุภาวะ’ (Materiality) หรือการศึกษาทำความเข้าใจปรากฏการณ์ในทางสังคมและวัฒนธรรม ผ่านสิ่งที่ไม่เป็นรูปร่างว่า มนุษย์รู้สึกนึกคิดและให้ความหมายต่อสิ่งของอย่างไร ซึ่งเป็นหัวข้อสนทนาในงานประชุมวิชาการมานุษยวิทยา 68 วันที่ 7-9 กรกฎาคม 2568 ธีม ‘พหุปฏิสัมพันธ์ มนุษย์กับสิ่งไม่ใช่มนุษย์’ (Interactive Pluralism: Human-Nonhuman)
The Momentum ถอดเนื้อหาที่น่าสนใจจากการเสวนาทางวิชาการ ‘มีม แฮชแท็ก และกระดาษ: วัตถุภาวะการเมืองไทยร่วมสมัย’ โดยมี นลินรัตน์ เลิศลีลาวิราม เป็นผู้บรรยายเรื่อง #นางแบก: วัตถุสภาวะและปฏิบัติการทางอารมณ์ผ่านแฮชแท็ก ที่อธิบายกลุ่มทางการเมืองนี้ว่า พวกเขาเป็นใครมาจากไหน ก่อตัวได้อย่างไร และมีสำนึกทางการเมืองอย่างไร
ทำความเข้าใจ ‘นางแบก’ ในฐานะโหวตเตอร์พรรคเพื่อไทยรุ่นใหม่
แต่เดิมหัวข้อดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์เรื่อง แดงไหน: คนเสื้อแดงรุ่นใหม่ในบริบทการเมืองที่พลิกผัน ของนลินรัตน์ โดยเธอลงไปศึกษาดูว่า คนเสื้อแดงรุ่นใหม่มีความคิดทางการเมืองอย่างไรบนแพลตฟอร์มดิจิทัล ปรากฏว่าในระหว่างการหาข้อมูล มีสิ่งที่น่าสนใจการถกเถียงบน X ผ่านแฮชแท็ก ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองยอดนิยมในปี 2563 เช่น เรื่องนางแบก ส้มเทิร์นแดง หรือส้มเน่า
ด้วยสาเหตุนี้ทำให้ผู้วิจัยจึงสนใจต่อยอดมองแฮชแท็กในฐานะวัตถุมีชีวิต (Materiality) กล่าวคือ การเคลื่อนไหวในแฮชแท็กอาศัยแพลตฟอร์ม และคนจำนวนมากบนโซเชียลฯ โดยก่อให้เกิดอารมณ์ อัตลักษณ์ และการแสดงออกบางอย่างที่เป็นรูปแบบการแสดงออกทางการเมืองใหม่ ทำให้แฮชแท็กไม่ได้เป็นพื้นที่แค่ระดมพล หรือเครื่องมือต่อสู้กับอำนาจนิยมเผด็จการเพียงอย่างเดียวเหมือนในอดีต
เมื่อพูดถึงนางแบก นลินรัตน์นิยามตัวตนของคนกลุ่มนี้ว่า มีความยึดโยงกับเสื้อแดงยุคก่อนต้นปี 2550 หรือเป็น ‘คนเสื้อแดงรุ่นใหม่’ โดยบางคนเป็นลูกหลานของคนเสื้อแดงยุคก่อน แต่มีความแตกต่างอย่างชัดเจนคือ พวกเขาเป็นชนชั้นกลาง มีการศึกษา สถานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และแอ็กทีฟเคลื่อนไหวทางการเมืองบนพื้นที่ออนไลน์ ต่างจากในอดีตที่ภาพจำของคนเสื้อแดงเป็นรากหญ้า มาจากต่างจังหวัด และยากจน
ขณะเดียวกันนางแบกเป็นนิยามถึงกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย ที่ชอบออกมาแก้ต่าง พยายามปกป้อง สร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำของพรรค ซึ่งดูผิดหลักการ ไร้ตรรกะ แต่สามารถบิดทุกอย่างให้เมกเซนส์ได้ ฉะนั้นในสายตาคนทั่วไป นางแบกจึงดูเป็นพวกดูไม่มีเหตุผล แต่จากประสบการณ์การสัมภาษณ์พูดคุยกับกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า นางแบก ทำให้นลินรัตน์เข้าใจได้ว่า สาเหตุที่พวกเขาออกมาอธิบายหรือแก้ต่างให้แทนพรรคเพื่อไทย เพราะรู้สึก ‘คับข้องใจ’ ที่ไม่ได้ถูกนับให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมืองตั้งแต่ในอดีต
ผู้ทำวิจัยขยายความเพิ่มเติมว่า นางแบก-กลุ่มโหวตเตอร์เพื่อไทย ซึ่งเป็นการรวมตัวของคน 3 กลุ่ม คือ ลูกหลานคนเสื้อแดง, ลูกหลานกลุ่มอนุรักษนิยม และคนรุ่นใหม่ มีความรู้สึกร่วมกัน คือ โกรธและน้อยเนื้อต่ำใจ ที่พรรคเพื่อไทยทำประโยชน์ ประสบความสำเร็จในการบริหารประเทศมาแล้ว แต่กลับไม่ได้รับความเป็นธรรมมาตลอด ถูกปล้นชิงด้วยรัฐประหาร และกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ทำให้เสียงของพวกเขาที่ชนะการเลือกตั้ง ไม่ถูกนับรวมในระบอบการเมืองประชาธิปไตย
หรือแม้แต่การตีตราด้วยคำว่านางแบกในปัจจุบัน ก็เป็นการเหยียดหยาม ดิสเครดิตว่า อีกฝ่ายไม่มีสติมากพอที่จะมีเหตุผลแสดงความคิดเห็นทางการเมือง จึงบิดเบือนและใช้อารมณ์เป็นแกนหลักมากกว่า
อย่างไรก็ตามผู้ทำวิจัยยอมรับว่า กลุ่มนางแบกเป็นตัวแสดงทางการเมือง (Political Actors) ที่เต็มไปด้วยอารมณ์ ความเชื่อมั่น และประสบการณ์ ซึ่งหล่อหลอมคาแรกเตอร์ร่วมกัน คือ ท่าทีต่อต้านระบบดั้งเดิม (Establishment) หรือชอบแทงสวนกระแสหลัก เช่น คนจำนวนมากคิดเห็นเช่นนี้ แต่นางแบกจะรู้สึกตรงกันข้าม เพราะรู้สึกไม่ถูกไม่ควร
ขณะเดียวกัน สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันในกลุ่มประชากรนางแบก และผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยคือ มิติเพศสภาพ เพราะนางแบกจำนวนหนึ่งเป็น LGBTQIA+ โดยเฉพาะกลุ่มกะเทยหรือแซฟฟิก ซึ่งไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเพศกระแสหลัก
ส่วนหนึ่งพฤติกรรมการสร้างมีมที่เห็นได้ชัดคือ การนำ The Face Thailand รายการค้นหานางแบบ ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มความหลากหลายทางเพศ มาทำเป็นมีมทางการเมือง โดยนำเสนอภาพ ‘เมนเทอร์ลูกเกด’ (เมทินี กิ่งโพยม) เป็นตัวแทนพรรคเพื่อไทยและนางแบก ที่มีจุดร่วมกันคือ คาแรกเตอร์เร้าอารมณ์
น่าสนใจว่า แม้กลุ่มประชากรของนางแบกไม่ได้อยู่ในกระแสหลักทางสังคม แต่เมื่ออยู่บนพื้นที่ออนไลน์อย่างแฮชแท็กบน X เสียงของพวกเขากลับดังขึ้นมาจากการสร้างพื้นที่ร่วมกัน จนพรรคเพื่อไทยและสังคมรับรู้การมีอยู่
จาก #นางแบก สู่ วัตถุที่จับต้องได้: ปฏิบัติการทางอารมณ์ที่สร้างตัวตนผ่านแฮชแท็ก
นลินรัตน์อธิบายถึงจุดกำเนิดของคำว่านางแบกว่า ไม่แน่ชัดว่ามาจากไหน บ้างก็ว่า มาจากการนิยามของฝ่ายตรงข้ามที่เรียกผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยในปี 2564 ขณะที่ผู้ให้สัมภาษณ์จำนวนหนึ่งบอกว่า เป็นคำที่พวกเขาใช้เรียกแทนตัวเองก่อนหน้านั้น แต่จะเห็นได้ว่า ลักษณะการก่อตัวของกลุ่มชัดเจนในช่วงการเลือกตั้ง ผ่านการมีอยู่ของแฮชแท็กอย่าง #นางแบกเพื่อไทยภัยสังคม #เพื่อไทยตระบัดสัตย์ #แบกจนบ้ง
แม้เนื้อหาในแฮชแท็กเป็นคำพูดเชิงด่าทอจากฝ่ายตรงข้าม แต่ผู้สนับสนุนเพื่อพรรคไทยกลับนำมาล้อเลียน ทำให้รู้สึกตลกขบขันแทน ทำให้แปรเปลี่ยนอัตลักษณ์เดิมในเชิงดูหมิ่นเหยียดหยามและไร้สติ สู่ความภาคภูมิ ซึ่งยิ่งยั่วล้อกับคาแรกเตอร์ของนางแบก โดยผู้ให้สัมภาษณ์จำนวนหนึ่งอธิบายว่า การถูกด่าว่านางแบก เหมือนกับคำว่า ‘ควายแดง’ ที่คนเสื้อแดงยุคก่อนถูกเรียก
“เขามองว่า การเป็นคนเสื้อแดงกับนางแบกแทบจะไม่ได้ต่างกัน ในแง่ที่ว่า เราถูกผูกกับสังคมการเมืองในแบบเดียวกัน” นลินรัตน์อธิบาย
‘พี่แขก คำ ผกา’ (ลักขณา ปันวิชัย) คือภาพจำของแฮชแท็กนางแบกสำหรับคนทั่วไป ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริง เมื่อเวลาที่ไปเสิร์ชคำดังกล่าวในกูเกิล ก็มักจะมีภาพของเธอ หรือในแฮชแท็กเองก็มีแอ็กเคานต์ของพิธีกรชื่อดังขึ้นมาอยู่เสมอ ทำให้คนทั่วไปเข้าใจร่วมกันว่า เธอคือหัวหอกของนางแบก โดยนลินรัตน์อธิบายว่า ภาพจำดังกล่าวเร้าอารมณ์ โดยเฉพาะตัวคำ ผกาเองที่มีคาแรกเตอร์ท้าทายขนบธรรมเนียมดั้งเดิม ชวนให้คนเข้าไปโต้เถียง จนกลายเป็นจุดส่วนรวม ‘รถทัวร์’ ไปโดยปริยาย
แต่นางแบก ≠ คำ ผกา เพราะพวกเขาไม่ได้ยกคำ ผกาเป็นไอดอล และไม่เห็นด้วยกับความคิดทุกอย่างเสมอไป แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ด้วยเสียงของพิธีกรชื่อดังที่ดังกว่าคนอื่น คำ ผกาทำให้นางแบกเป็นที่รู้จัก จนกลายเป็นหัวข้อที่ถกเถียงในการเมืองไทยมากขึ้น
จากสถานการณ์ตรงนี้ ผู้ทำวิจัยอธิบายว่า นางแบกและคำ ผกาเป็นส่วนสร้างซึ่งกันและกัน และหลายครั้งด้วยกันที่คำ ผกาเป็นภาพแทนของนางแบก เช่น ถูกผลิตซ้ำใช้เป็นมีมทางการเมืองทั้งคอมมูนิตี้เดียวกันหรือฝ่ายตรงกันข้าม ไม่ว่าจะเป็นคลิปที่แสดงความคิดเห็นหรือภาพนิ่ง เพราะท่าทางท้าทายขนบธรรมเนียม ที่สร้างความปั่นป่วนและเร้าอารมณ์ให้กับผู้ชม เช่น กิริยายกแข้งยกขา จนฝ่ายตรงข้ามมักรู้สึกว่า เธอสติไม่ค่อยดี
กล่าวได้ว่า ตัวตนของคำ ผกากลายเป็นต้นแบบ (Prototype) ของนางแบก เช่น ท่าทาง หรือการใช้ภาษา แม้พวกเขาไม่ได้ยกย่องให้เธอเป็นไอดอลก็ตาม ซึ่งนลินรัตน์อธิบายไว้ว่า อาจเป็นเพราะอัลกอริทึมหรือห้องแห่งเสียงสะท้อน (Echo Chamber) ที่ทำให้ทุกคนพูดภาษาเดียวกันได้อย่างบังเอิญ
“ความเป็นตัวแทนของพี่แขกมันดัง มีอิทธิพลมาก จนเกิดเป็นแคมเปญแฮชแท็ก #รำคาญคำ ผกากาก้าวไกล ในช่วงของการเลือกตั้ง มีคนจำนวนหนึ่งออกมาบอกเลยว่า เหตุผลที่เราเปลี่ยนไปเลือกก้าวไกล เพราะเรารำคาญอีผู้หญิงคนนี้” ผู้ทำวิจัยอธิบายว่า คนส่วนหนึ่งตัดสินใจไปเลือกพรรคการเมืองที่มีคาแรกเตอร์ตรงกันข้ามกับนางแบก อย่างพรรคก้าวไกลที่มีท่าทางมาตรฐาน เป็นปัญญาชน ชนชั้นกลาง ดูน่าเคารพ
แต่ไม่นานนัก แฮชแท็กบนโซเชียลฯ เติบโตสู่อัตลักษณ์ทางการเมืองในฐานะวัตถุที่จับต้องได้ภายในชุมชนเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเสื้อครอบครัวนางแบก เพจอินโฟกราฟิกนางแบก สติกเกอร์ไลน์นางแบก ไปจนถึงภาพของนางแบก ที่แทนด้วยภาพ ‘คำ ผกา ชูธง’ ในวันปราศรัยใหญ่ของพรรคเพื่อไทยเมื่อปี 2566 ซึ่งสร้างกระแสทั้งในทิศทางบวกและลบ
แม้มีคนบางส่วนไม่พอใจการมีอยู่ของนางแบก และไม่ได้มองว่า พวกเขาเป็นคนเสื้อแดงจริงๆ แม้ใช้สีหรือสัญลักษณ์บางอย่างร่วมกัน แต่ผู้ทำวิจัยย้ำว่า ภายในแฮชแท็ก #นางแบก เกิดการสร้างพื้นที่ทางการเมือง โดยเราจะเห็นการแสดงออกทางการเมืองใหม่บนโลกออนไลน์ ผ่านการใช้มีม วัฒนธรรมกระแสนิยม เช่น คำศัพท์ของกลุ่ม LGBTQIA+ เพื่อยั่วล้อการด่าทอให้กลายเป็นสิ่งที่สนุกสนาน ถือเป็นอัตลักษณ์การเป็นการเมืองของชนชั้นกลางที่มีการศึกษา
“คนเสื้อแดงรุ่นใหม่ตอนนี้จึงไม่ใช่คนเสื้อแดงที่ไม่มีการศึกษาอีกต่อไป แต่เขาเป็นชนชั้นกลางที่มีการศึกษา และพยายามวิพากษ์ปัญญาชนที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับความเป็นประชาชน เขาจึงพยายามทำตัวเป็นชาวบ้านที่ติดดิน”
นลินรัตน์อธิบายว่า นักการเมืองที่นางแบกรู้สึกเชื่อมโยง คือ สุทิน คลังแสง ผู้มีภาพลักษณ์เป็น ‘พ่อใหญ่’ เข้าถึงง่าย ต่างจากภาพนักการเมืองในอุดมคติแบบ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะ ‘พ่อหนุ่มจบนอก’ ซึ่งภาพดังกล่าวคล้ายกับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งก็ทำให้นางแบกจึงนิยามกลุ่มสนับสนุนพรรคก้าวไกล (หรือพรรคประชาชน) ว่า สลิ่มเฟส 2 อีกด้วย
Tags: แขก คำ ผกา, ทักษิณ ชินวัตร, ลักษณา ปันวิชัย, พรรคเพื่อไทย, การเมืองไทยร่วมสมัย, คนรุ่นใหม่, เสื้อแดง, แฮชแท็ก, มีม, พรรคก้าวไกล, คำ ผกา, Feature, นางแบก, การเมืองไทย, Meme, โซเชียลมีเดีย