“คนไทยไม่ยอมมีลูก โดยเฉพาะคนที่มีพื้นฐานการศึกษาที่ดี มีความรู้มีความสามารถ มีฐานเศรษฐกิจที่รองรับ ไม่ยอมมีลูก หลายคู่แต่งงานปุ๊บ บังคับให้สามีทำหมันเลย ไม่อยากมีลูก นั่นคือสิ่งที่กำลังบิดเบี้ยวในสังคมไทย”

ข้างต้นคือคำพูดเมื่อ 2 ปีที่แล้วจากปาก นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้รัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ซึ่งในตอนนั้นกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก และจุดประเด็นหลายอย่างให้สังคมได้ถกเถียงกัน

ถึงแม้การเลือกใช้คำจะไม่รื่นหูนัก โดยเฉพาะการกล่าวโทษคนไม่อยากมีลูกว่า ‘บิดเบี้ยว’ แต่นายแพทย์ชลน่านพูดถูกอย่างหนึ่งคือ อัตราการเกิดที่ถดถอยลงทุกปีถือเป็นวิกฤตของประเทศไทยจริง และหากไม่ได้รับการแก้ไขภายในปี 2030 เราก็จะเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสุดยอด (Super Aged Society) ซึ่งแปลว่าจะมีประชากรสูงวัยเกิน 20% ของทั้งหมด

ผู้มีอำนาจส่วนใหญ่ในประเทศเราตระหนักถึงปัญหานี้ดี จึงบอกกันปาวๆ ให้คนไทยมีลูกเพื่อช่วยชาติ แต่อย่างไรก็ตามในแง่ของนโยบายที่เป็นรูปธรรมยังไม่ค่อยเห็นเท่าไร 

“ผู้ชายมีสิทธิลาบวชได้ ทั้งที่เป็นเรื่องปัจเจก ไม่ได้ส่งผลประโยชน์อะไรกับสังคมส่วนรวม แต่พอผู้หญิงเรียกร้องสิทธิลาคลอด 180 วัน สิทธิลาประจำเดือน สังคมจะมีปัญหาทันที” ผู้ใช้ X รายหนึ่งกล่าว

เป็นเรื่องจริงที่ว่า สำหรับหน่วยงานราชการไทย ผู้ชายสามารถลาบวชได้มากถึง 120 วันหรือ 4 เดือน โดยจะยังได้รับเงินเดือนตามปกติ ในทางกลับกันกฎหมายกำหนดให้ผู้หญิงลาคลอดได้มากที่สุดเพียง 98 วัน หรือประมาณ 3 เดือนนิดๆ เท่านั้น 

ทั้งนี้กฎหมายลาคลอด 90 วัน เริ่มบังคับใช้เมื่อปี 1993 ซึ่งกว่าจะได้มาก็ผ่านการประท้วงอย่างยากลำบากของแรงงานหญิง มีทั้งอดข้าวอดน้ำและกรีดเลือด จากนั้นเพิ่งมาเพิ่มเป็น 98 วันในปี 2019 แต่นายจ้างกับกองทุนประกันสังคมจะรับผิดชอบเงินเดือนให้เพียง 90 วันดังเดิม ส่วน 8 วันที่เหลือเป็นการลาแบบไม่ได้รับค่าจ้าง (Leave Without Pay)

สำหรับข้อเรียกร้องที่ให้เพิ่มระยะเวลาลาคลอดเป็น 180 วันหรือ 6 เดือน ทั้งพรรคการเมือง ภาคแรงงาน และมูลนิธิต่างๆ ก็พยายามผลักดันมาสักพัก แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป รวมถึงมีแรงต่อต้านจากหลายฝ่าย บ้างก็บอกว่า ควรเห็นใจนายจ้างด้วย บ้างก็บอกว่า การเรียกร้องที่ ‘เยอะ’ เกินไปจะยิ่งทำให้ผู้หญิงหางานยาก

แต่ตัวเลข 180 วัน ถือว่า ‘เยอะ’ เกินไปจริงหรือ

อ้างอิงจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) และ UNICEF ภายใน 180 วันแรกหลังจากทารกเกิด ควรจะให้ดื่มเพียงแค่นมแม่เท่านั้น เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ ปลอดภัย และเหมาะสมกับร่างกายเด็กที่สุด สถิติเผยว่า เด็กที่ไม่ได้ดื่มนมแม่ใน 180 วันแรก มีโอกาสประสบภาวะขาดสารอาหารและตัวเตี้ยมากกว่าเด็กที่ดื่มนมแม่ นอกจากนั้นอาจยังมีสติปัญญาที่แย่กว่า

UNICEF ยังพบอีกด้วยว่า มีคุณแม่ในไทยเพียง 29% ที่ให้ลูกดื่มนมแม่อย่างเดียวใน 180 วันแรก ซึ่งยังห่างไกลจากเป้าหมาย 50% ตามที่สหประชาชาติตั้งไว้ สาเหตุหลักๆ ก็น่าจะเป็นเพราะไม่สามารถลาได้ครบ 180 วันนั่นเอง

นอกเหนือจากประเด็นเรื่องการให้นม ยังมีอุปสรรคอื่นๆ ที่แม่ลูกอ่อนต้องเจอ ประการแรกคือ ปกติร่างกายผู้หญิงหลังคลอดก็ต้องใช้เวลาพักฟื้น 6-8 สัปดาห์เป็นอย่างต่ำอยู่แล้ว ประการที่ 2 อาจมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Depression) ตามมา ทำให้ยากในการใช้ชีวิตปกติ ประการที่ 3 ภายใน 180 วันแรก ทารกส่วนมากมักจะตื่นกลางดึกทุก 2-4 ชั่วโมง ทำให้ผู้เป็นแม่แทบไม่ได้นอน หากต้องฝืนไปทำงานต่อตอนกลางวันอีก อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

เมื่อพิจารณารวมกันหลายปัจจัย ข้อเสนอให้ลาคลอด 180 วันไม่ได้โอเวอร์เกินไปเลย ถือว่าสมเหตุสมผลกว่า 98 วันด้วยซ้ำ

แต่หากจะอ้างว่า ทำให้นายจ้างเสียประโยชน์ เพื่อนร่วมงานเดือดร้อน ก็ต้องย้อนกลับไปถามว่า แล้วลาบวช 120 วันล่ะ เป็นประโยชน์ต่อใคร เหตุใดจึงไม่เคยมีคนออกมาคัดค้านเท่าลาคลอดบ้าง

ปีที่แล้วประเทศเรามีอัตราเด็กเกิดใหม่ต่ำกว่า 5 แสนคน เป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี แถมหลังจากนี้ก็ดูเหมือนว่ากราฟจะดิ่งลงเรื่อยๆ ไม่มีทีท่าพุ่งขึ้น ถึงเวลาแล้วหรือไม่ ที่ท่านผู้มีอำนาจทั้งหลายจะย้อนกลับมาคิดทบทวน หาวิธีแก้ไขในเชิงโครงสร้าง

เพราะการพูดปากเปล่าว่า ต้องมีลูกเพื่อช่วยชาติ แทบไม่มีน้ำหนักในใจประชาชน

“ทำไมไม่ลาออกแล้วค่อยไปคลอด ที่จะบอกคือ อะไรก็แล้วแต่ให้มันมีขอบเขตและพอดีครับ”

“‪มองมุมนายจ้าง กูจ้างแต่ผู้ชายก็พอ ไม่ก็ LGBTQIA+ ที่ไม่เยอะสิ่งก็ได้ แต่ผู้หญิงแท้ไม่จ้าง”

“เรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมเท่าผู้ชาย เงินก็อยากได้เท่า แต่ชอบอ้างเพศหญิงใช้อภิสิทธิ์ชนเอาเปรียบเพศชาย”

ข้างต้นคือความคิดเห็นบางส่วนบน X จากฝ่ายที่คัดค้านสิทธิการลาของแรงงานหญิง

เห็นได้ชัดว่า นอกจากภาครัฐจะไม่ค่อยมีนโยบายสนับสนุนผู้หญิงตั้งครรภ์แล้ว สังคมก็ยังไม่ค่อยเห็นใจ ไม่ให้ค่ากับพวกเธอมากเท่าข้าราชการชายที่ลาบวช บางทีหาว่าพวกเธอเอารัดเอาเปรียบเพศชาย กลายเป็นคนเห็นแก่ตัวไปเสียอีก

ในเมื่อเป็นกันเสียแบบนี้ แรงงานหญิงจะเอากะจิตกะใจที่ไหนไปรักชาติ อยากช่วยชาติ

ชาติเองยังไม่เอื้อมมือมาช่วยพวกเธอเลย

อ้างอิง

https://www.thairath.co.th/news/politic/2724734 

https://urbancreature.co/aged-society/ 

https://x.com/_anchr/status/1925798490459824502 

https://th.jobsdb.com/th/career-advice/article/leaving-for-ordination-preparation 

https://policywatch.thaipbs.or.th/article/life-120 

https://www.unicef.org/thailand/press-releases/unicef-finds-1-3-mothers-thailand-exclusively-breastfeed-their-babies-far-below 

https://my.clevelandclinic.org/health/articles/postpartum

https://my.clevelandclinic.org/health/articles/14300-sleep-in-your-babys-first-year 

https://www.theprachakorn.com/newsDetail.php?id=1002

Tags: , , ,