‘ถึงเป็นแค่แรงงานของนาย แต่ผมคือหัวใจของบ้าน’
นี่คือท่อนหนึ่งจากเพลงเสาหลักของบ้าน แรงงานของนาย ร้องโดย เบียร์-พร้อมพงษ์ วงษ์อินตา แต่งโดยครูสลา คุณวุฒิ ศิลปินแห่งชาติปี 2564 ผู้ประพันธ์เพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับแรงงานไว้จำนวนมาก หลายเพลงมักถูกขับร้องโดยศิลปินที่มีภูมิลำเนาเป็นชาวอีสาน และถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาหรือสำเนียงอีสานได้อย่างลึกซึ้ง รวมไปถึงเพลงจากปลายปากกาของนักแต่งเพลงท่านอื่นๆ ที่พูดถึงแรงงาน ก็มักเล่าภาพวิถีชีวิตและตัวตนของคนอีสานเช่นกัน
จุดนี้ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า “ทำไมเพลงที่พูดถึงแรงงาน มักเป็นเพลงอีสานเสมอ”
คำตอบนี้อาจไม่ซับซ้อนนัก เมื่อย้อนดูประวัติชีวิต วิถีสังคม และวัฒนธรรมของผู้แต่งเพลง อย่างครูสลาเองมีบ้านเกิดอยู่ในจังหวัดอำนาจเจริญ ผลงานของครูสลาที่เป็นเพลงอีสานมีมากนับไม่ถ้วน เช่น ดอกหญ้าในป่าปูน-ต่าย อรทัย, ยาใจคนจน-ไมค์ ภิรมย์พร, สร้างฝันด้วยกันบ่-มนต์แคน แก่นคูณ หรือน้องมากับคำว่าใช่-ไหมไทย ใจตะวัน
ในขณะเดียวกัน วสุ ห้าวหาญ ผู้แต่งเพลงคนบ้านเดียวกัน-ไผ่ พงศธร ที่เล่าเรื่องชีวิตแรงงานผ่านจังหวะสนุกสนานจนคนทั้งประเทศร้องตามได้ ก็เป็นคนอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เช่นเดียวกับผู้แต่ง ถนนค้นฝัน เพลงจากปี 2550 ที่กลับมาไวรัลในโซเชียลฯ เมื่อปีที่ผ่านมา โดยตั๊กแตน ชลดาเป็นผู้ขับร้อง
และแน่นอนว่า ศิลปินใช้ประสบการณ์ที่ตนพบเห็นบรรจุเป็นน้ำหมึกปากกา จรดลงบนกระดาษเขียนเพลง ซึ่งประสบการณ์นั้นคือ การรับรู้ว่ามีคนอีสานจำนวนมากที่ต้องจากผืนดินที่ราบสูงไปขายแรงงานไกลบ้าน ถึงตรงนี้เชื่อว่าหลายคนคงสงสัยว่า “ทำไมมีแต่คนอีสานที่เป็นผู้ใช้แรงงาน” ซึ่งคำตอบของคำถามนี้จำเป็นต้องกรอภาพไปที่สภาพสังคมอีสานในหลายสิบปีที่แล้ว
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย (รวมถึงภาคอื่น) ดำรงชีวิตด้วยเกษตรกรรมและการเลี้ยงสัตว์ แต่โชคไม่ดีนักที่อีสานของเราส่วนใหญ่เป็นดินทรายที่ไม่อุ้มน้ำ เมื่อฝนตกก็กักเก็บน้ำได้ไม่มาก ถึงคราวเพาะปลูกในหลายพื้นที่แทนที่พืชผลจะเจริญงอกงามเหลือกินเหลือใช้ กลับกลายเป็นแห้งแล้งเพราะปัญหาขาดแคลนน้ำ และเมื่อไม่สามารถเลี้ยงชีพด้วยการเกษตรได้ ชาวอีสานจึงหันเหไปรับจ้างใช้แรงกายในพื้นที่อื่นที่มีความอุดมสมบูรณ์กว่า ดั่งปรากฏในเพลงจากบ้านนาด้วยรัก–วิเศษ เวณิกา (ต่าย อรทัยนำมาขับร้องภายหลัง) ที่ร้องว่า
‘โอ้บ้านนา ฝนฟ้าไม่อำนวย โชคไม่ช่วย บ้านนาถึงคราระทม
แหงนมองเบิ่งฟ้า เมฆฝนลา ไหลตามคลื่นลม
หมู่เฮาถึงคราวซานซม เข้าเมืองหนีความแห้งแล้ง’
เพลงนี้แต่งโดย ครูดาว-นคร พงษ์ภาพ ผู้ก่อตั้งวงดนตรีเพชรพิณทอง บันทึกเสียงราวปี 2520 สะท้อนว่า ภาคอีสานประสบวิกฤตความแห้งแล้งและอพยพไปหางานทำที่อื่นตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว ทั้งนี้ด้วยความที่อีสานเป็นภูมิภาคใหญ่และมีประชากรเยอะกว่าภาคอื่น จึงทำให้มีแรงงานอีสานกระจายไปอยู่ในทุกพื้นที่ของไทย และรวมถึงในหลากหลายอุตสาหกรรม
แรงงานจำนวนหนึ่งเป็นแรงงานในเรือประมง จากเนื้อเพลง ‘ฉันเกิดอยู่แดนอีสาน ถิ่นกันดารที่เขาดูหมิ่น ดูแคลน จากไกลไปหากินต่างแดน’ และ ‘ไม่ได้จับไถ เลยไปจับปลา ไม่ได้ทำนา เลยมากับเรือตังเก’ ในเพลงตังเก ของน้าหมู-พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ เพลงเพื่อชีวิตที่น้าหมูแต่งเองร้องเองในปี 2533
นอกจากนี้ ในช่วงปี 2520-2530 มีแรงงานอีสานจำนวนไม่น้อยเดินทางไปทำงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย ส่วนใหญ่ทำงานในสายก่อสร้าง หลายเพลงจึงสะท้อนชีวิตแรงงานไทยในต่างแดน เช่น ซาอุดร-คาราบาว ที่ออกมาในปี 2528 เล่าเรื่องชายคนหนึ่งที่อยากขายที่ดิน เพื่อซื้อตั๋วเครื่องบินไปทำงานที่ซาอุดีอาระเบีย หรือเพลงน้ำตาเมียซาอุ-พิมพา พรศิริ และเพลงลอยแพ-พรศักดิ์ ส่องแสง ที่เล่าถึงความเปราะบางของชีวิตแรงงานอีสานในต่างแดน
ในช่วงคาบเกี่ยวกันกับที่คนอีสานไปซาอุฯ จนถึงปี 2540 เศรษฐกิจไทยก็เริ่มขยายตัวขึ้น มีโรงงานอุตสาหกรรมมากมาย และตึกสูงใหญ่ในกรุงเทพฯ เริ่มผุดขึ้น ซึ่งการก่อสร้างอาคารเหล่านั้นก็มาจากแรงงานของชาวอีสานจำนวนมากที่เข้ามาเป็นกรรมกรในเมืองกรุง ซึ่งเป็นช่วงที่เพลงอีสานหลายเพลงโด่งดังในห้วงเวลานี้ โดยเฉพาะเพลงของไมค์ ภิรมย์พร ศิลปินขวัญใจผู้ใช้แรงงาน เช่น ละครชีวิต ยาใจคนจน เหนื่อยไหมคนดี ขายแรงแต่งงาน ซึ่งครั้งหนึ่งไมค์ ภิรมย์พรก็เคยทำงานเป็นกรรมกรเช่นกัน
สิ่งที่น่าสนใจคือ แรงงานอีสานจำนวนมากมีพื้นเพจากภาคเกษตรกรรมในบ้านเกิด ซึ่งเดิมก็เป็นงานที่ต้องใช้แรงกายอยู่แล้ว ฉะนั้นการเข้ามาทำงานแบกหามอย่างงานก่อสร้าง จึงเป็นการทำงานที่คนอีสาน ‘บ่ยั่น’ แต่สิ่งที่ทำให้ลำบากเป็นยิ่งยวดคือ การอดทนกับการถูกกดขี่และดูถูกเหยียดหยาม เพราะมีการศึกษาน้อยและไม่มีอำนาจต่อรอง ไม่นานนักเราจึงได้เห็นลูกหลานเลือดอีสานที่เข้ามาทำงานในตำแหน่งสูงขึ้น ตามมาด้วยเพลงอีสานที่พูดถึงการทำงานในอาชีพอื่นๆ ที่ไม่ใช่กรรมกรก่อสร้าง นัยว่ามีรายได้เพิ่มมากขึ้นด้วย เช่น อาชีพรับจ้างทั่วไป พนักงานโรงงาน คนขับแท็กซี่ และค้าขายในกรุงเทพฯ เห็นชัดในเพลงคนบ้านเดียวกัน-ไผ่ พงศธร หรือดอกนีออนบานค่ำ-ตั๊กแตน ชลดา
ไปจนถึงแรงงานที่ไม่ได้ใช้พละกำลังร่างกายอีกแล้ว เพราะหลายเพลงยังนำเสนอชีวิตของคนทำงานในออฟฟิศติดแอร์ มีโต๊ะประจำตำแหน่ง ผ่านคำร้องและมิวสิกวิดิโอเพลง สะท้อนว่านี่เป็นยุคที่คนอีสานมีการศึกษา ดังเช่นที่ปรากฏในเพลงดอกหญ้าในป่าปูน ของต่าย อรทัย ที่บอกเล่าถึงการเข้ากรุงเทพฯ ของเด็กสาวเพื่อคว้าใบปริญญา อย่างไรก็ตามเพลงเหล่านี้ยังอยู่ในธีมสู้ชีวิต อดทนฝ่าฟันอุปสรรค อันเป็นคาแรกเตอร์ที่โดดเด่นของคนอีสาน
ทั้งนี้เพลงอีสานที่พูดถึงแรงงานมีมากเหลือคณานับ ซึ่งปัจจุบันยังถูกแต่งออกมาเรื่อยๆ และได้รับความนิยมในกระแสหลัก ทั้งยังเป็นเพลงโปรดของคนภาคอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่คนอีสาน เนื่องจากแรงงานไทยในทุกสาขาอาชีพ ที่ไม่ใช่เพียงผู้ใช้แรงงานแบกหาม เรามีจิตสำนึกส่วนร่วม (Collective Consciousness) ไปในทิศทางเดียวกัน หลายคนอยู่ในบรรทัดฐานของสังคมที่ต้องอดทนทำงาน หนักเอาเบาสู้ เพื่อหาเงินใช้ดำรงชีพ กระทั่งจุนเจือครอบครัวที่กำลังรออยู่ที่บ้านเกิด ซึ่งทัศนคติของเราส่วนนี้ทำให้สุดท้ายแล้วในอีกมุมหนึ่ง เพลงอีสานจะกลายเป็นภาพแทนของแรงงานไทยทั้งประเทศก็ได้
อ้างอิง:
https://archive.lib.cmu.ac.th/full/T/2557/socde50657pct_ch2.pdf
Tags: Music, Entertainment, คนอีสาน, เพลงแรงงาน, เพลงอีสาน, ผู้ใช้แรงงาน, วันแรงงานแห่งชาติ