วันนี้ (29 เมษายน 2568) ศิริกัญญา ตันสกุล สส.แบบบัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวถึงกรณีที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนในเรื่องความคืบหน้าการเจรจาทางการค้ากับสหรัฐอเมริกาที่ยอมรับตอนหนึ่งว่า ทางสหรัฐฯ ได้ใช้ข้อมูลจากหลายหน่วยงานเข้ามาผสม ทั้งเรื่องของความมั่นคง ตลอดจนเรื่องที่หน่วยงานรัฐฟ้องร้องชาวอเมริกัน
ศิริกัญญากล่าวว่า แม้ว่าทักษิณจะไม่ได้พูดว่าประเด็นความมั่นคงนั้นเป็นเรื่องอะไร หรือการฟ้องร้องชาวอเมริกันท่านใด แต่พอจะเดาได้ว่าทางสหรัฐฯ ได้หยิบเรื่องการส่งตัวชาวอุยกูร์และการฟ้องร้อง พอล แชมเบอร์ส (Paul Chambers) นักวิชาการรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มาเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาทางการค้ากับสหรัฐฯ หรืออาจจะเป็นเงื่อนไขว่า ไทยจะได้เข้าเจรจาหรือไม่
รองหัวหน้าพรรคประชาชนกล่าวต่อไปว่า ในเรื่องนี้ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องออกมาตอบว่า ปัญหาแท้จริงที่ประเทศไทยยังไม่สามารถเข้าเจรจาได้เหมือนประเทศอื่นคืออะไร ตลอดจนแนวทางการแก้ไขปัญหาของทั้ง 2 เรื่อง
“นายกรัฐมนตรีต้องออกมาชี้แจงเรื่องนี้ให้กระจ่างกับสังคมด้วยตัวเอง ไม่ยืมปากคุณทักษิณที่ไม่ได้มีตำแหน่ง อำนาจหน้าที่ หรือความรับผิดชอบใดๆ ยืดอกรับผลการกระทำที่ส่งผลเสียหายมาถึงปากท้องของประชาชน หากเราตกขบวนการเจรจา และแถลงแนวทางแก้ไขที่จะทำให้การเจรจาสามารถเดินหน้าต่อได้ โดยยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ” ศิริกัญญากล่าว
ขณะที่ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.แบบบัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการทหาร ระบุว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงในชั้นกรรมาธิการเห็นว่า การแจ้งความพอลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นการกระทำที่อาจเข้าข่าย ‘การใช้อำนาจโดยไม่ชอบ’ ทั้งหลักฐานที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ที่เป็นเว็บไซต์สูจิบัตรแนะนำหัวข้อสัมมนาออนไลน์ที่พอลไม่ได้เป็นผู้เขียน และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษา ยูซุฟ อิสฮัค (ISEAS-Yusof Ishak Institute) ซึ่งเป็นผู้จัดสัมมนาแต่อย่างใด
วิโรจน์กล่าวต่อว่า ตนรู้สึกกังวลเป็นอย่างมากภายหลังพลตรี วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่า “การกระทำผิดตามมาตรา 112 นั้นเป็นอาญาแผ่นดิน ใครที่พบเห็นการกระทำสามารถแจ้งความได้” ตนมองว่า ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้คือ พลโท กิตติพงษ์ แจ่มสุวรรณ แม่ทัพภาคที่ 3 ไปแจ้งความในนามของ กอ.รมน.ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ ดังนั้นการดำเนินการต้องอยู่ภายใต้หลักการของกฎหมายมหาชน คือจะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อกฎหมายระบุให้ทำ
อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ทั้งผู้แทนจาก กอ.รมน.ภาคที่ 3 และโฆษกกองทัพบก ไม่สามารถตอบได้อย่างชัดเจนว่า อาศัยอำนาจจากมาตราใด
“สิ่งที่ กอ.รมน.กระทำ นอกจากจะเข้าข่ายการบ่อนทำลายหลักนิติรัฐแล้ว ยังส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเกี่ยวพันกับประโยชน์ของประเทศอย่างใหญ่หลวง และที่น่ากังวลที่สุด ก็คือการกระทำในครั้งนี้ อาจเข้าข่ายการอ้างความจงรักภักดี ใช้ ม.112 เป็นเครื่องมือในการก่อข้อพิพาทระหว่างประเทศ โดยที่สถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องตกอยู่ท่ามกลางข้อพิพาทนั้น กระทบต่อพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ในเวทีโลก” วิโรจน์ระบุ
นอกจากนั้นประธานคณะกรรมาธิการการทหารระบุว่า บิดาของนายกฯ ยังออกมายอมรับว่า เรื่องที่เกิดขึ้นอาจมีผลกระทบต่อการเจรจากับสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามจนถึงปัจจุบัน แพทองธารในฐานะผู้อํานวยการ กอ.รมน.ยังไม่แสดงความเห็นเรื่องนี้ว่า จะคลี่คลายสถานการณ์อย่างไร
“นี่เป็นอีกข้อพิสูจน์ว่า รัฐบาลเพื่อไทยไม่มีเจตจำนงในการทำให้รัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือกองทัพเลย ปล่อยให้ฝ่ายความมั่นคงลุแก่อำนาจ ใช้ ม.112 ตามอำเภอใจ เหมือนบ้านเมืองไม่มีขื่อไม่มีแป โดยไม่สนใจเลยว่า ความเขลาและความคลั่งอำนาจของตน จะสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนแค่ไหน ถ้าบ้านเมืองของเรายังมีรัฐทหารที่อยู่เหนือกฎหมาย สามารถทำตามอำเภอใจตนเอง การปฏิรูปกองทัพจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย” วิโรจน์ทิ้งท้าย
Tags: ม112, วิโรจน์, ศิริกัญญา, พรรคประชาชน, พอล แชมเบอร์ส, เจรจาการค้า, ส่งตัวอุยกูร์