ช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หากใครได้ไปเยือนเชียงใหม่ และต้องการท่องเที่ยวแบบใกล้ชิดวัฒนธรรมล้านนา พร้อมซื้อหาของฝากเป็นงานฝีมือจากท้องถิ่น ‘สังกะดี สเปซ (Sanggadee Space)’ อำเภอสันกำแพง คืออีกสถานที่ที่รอให้คุณเข้าเที่ยวชม และนอกจากใช้เวลาเดินเล่นในตลาดงานคราฟต์ที่ชื่อว่า ‘Bamboo Family Market’ แล้ว เรายังสามารถเข้าร่วมเวิร์กช็อปลองทำงานคราฟต์ท้องถิ่นได้ ไม่ว่าจะเป็นงานผ้า งานปั้นดิน หรือเรียนตีกลองก็ได้อีกด้วย
The Momentum ได้พูดคุยกับ รุ้ง-ปรางทอง เตียงเกตุ ทายาทของ ครูนุสรา เตียงเกตุ นักพัฒนาผ้าทอล้านนา และผู้ริเริ่มลงมือสร้างสังกะดี สเปซ ให้เล่าถึงแนวคิดและเป้าหมายในการเปิดพื้นที่แห่งนี้ ที่อยากให้ศิลปินมาลองผิดลองถูกเพื่อสร้างชิ้นงานใหม่ๆ ทั้งส่งเสริมงานคราฟต์จากฝีมือช่างท้องถิ่นและกลุ่มชาติพันธุ์ พร้อมสำรวจว่าสังกะดี สเปซยังมีอะไรให้เราลองทำอีกบ้าง
จากป่าไมยราพสู่พื้นที่ลองผิดลองถูกของศิลปิน
เมื่อเราเดินเข้ามาในสังกะดี สเปซ สิ่งแรกที่สะดุดตาคือ โดมไม้ไผ่หลังใหญ่ มุงหลังคาด้วยใบตองตึง ซึ่งเป็นแลนด์มาร์กของที่นี่ รายล้อมด้วยบ้านดินอีกหลายหลังในพื้นที่ อาคารเหล่านี้ประกอบสร้างจากวัสดุธรรมชาติ โดยรุ้งเล่าว่าโดมไม้ไผ่นี้เป็นฝีมือการออกแบบของสามีเธอ
ก่อนการมาของสิ่งปลูกสร้างง่ายๆ อย่างบ้านดิน และอาคารโดมไม้ไผ่ ย้อนกลับไปในปี 2563 พื้นที่ตรงนี้เคยเป็นป่าไมยราพ และใช้เวลาถางพื้นที่รวมก่อสร้างราว 3 ปี เหตุที่ใช้เวลานานเพราะเงินที่ใช้สร้างพื้นที่นี้มาจากครอบครัว กลุ่มเพื่อน ญาติมิตร จึงถือว่ามีอีกหลายคนที่ช่วยก่อร่างสร้างสังกะดี สเปซ มาด้วยกัน
“เราเริ่มจากในครอบครัว แต่คุณแม่ (นุสรา) ก็เชื่อมเครือข่ายไว้เยอะ เป็นกลุ่มคนที่เคยทำงานด้วยกัน เคยแลกเปลี่ยนความรู้ แรงบันดาลใจกัน จนสนิทกันเหมือนครอบครัว เขาก็ช่วยซื้อของมาสร้างที่นี่ เพราะเรามีงบไม่มาก ที่แห่งนี้จึงสร้างมาด้วยการช่วยเหลือกัน ช่วงไหนมีเงินหน่อยก็เอามาถมที่ ทำตามกำลังที่มี ซึ่งทุกคนทำเพื่อให้ศิลปินรุ่นต่อไปได้มีพื้นที่ทดลองเรียนรู้ ได้หาแรงบันดาลใจเกี่ยวกับกับงานคราฟต์ วัฒนธรรม และศิลปะ” รุ้งเล่า
คำว่า สังกะดี ที่แปลว่า อะไรก็ดี จึงกลายเป็นชื่อของสถานที่นี้ โดยต้องการให้ศิลปินเข้ามาทำอะไรก็ได้ ทำอะไรก็ดี ได้มีพื้นที่ผลิตและพัฒนางานคราฟต์ของตนเอง ด้วยเล็งเห็นว่าศิลปินบางคนยังอยู่ในช่วงค้นหาตัวเอง ยังไม่มีชิ้นงานหรือผลิตภัณฑ์ของตนเอง และอาจไม่มีพื้นที่กว้างพอให้ลองสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ สังกะดี สเปซจึงเกิดขึ้นมา
นอกจากนี้ สังกะดี สเปซ ยังเป็นพื้นที่ให้ผู้สนใจงานคราฟต์ได้เข้ามาเรียนรู้กระบวนการทำงานคราฟต์ในแขนงต่างๆ โดยเน้นไปที่งานคราฟต์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งใช้วัสดุธรรมชาติเป็นหลัก
“ไม่จำเป็นต้องมีชิ้นงานเพื่อขาย แต่เปิดพื้นที่ให้ศิลปินได้ลองค้นหาตัวเอง ลองทำ ทดลองไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอ พอใครที่แบรนด์เริ่มเติบโต เริ่มแข็งแรง เขาก็ไปเติบโตในที่ของเขา เป็นเมล็ดพันธุ์เติบโตไป แต่ตอนที่ยังไม่รู้จะเอาอย่างไร อยากทดลองไอเดียก็มาใช้พื้นที่นี้ได้ อยากลองทำอะไรก็ลองเลย แล้วเราก็หาร้าน หาอีเวนต์ หาครูให้ ช่วยกันสอนในคอมมูนิตี้ที่เรียกว่า ‘หลูหลี (Loolii)’ ซึ่งเป็นชื่อเรียกฝ้าย ก่อนที่ปุยฝ้ายจะถูกปั่นจนกลายเป็นเส้นใย ซึ่งในคอมมูนิตี้หลูหลีก็จะมีเด็กจบใหม่ หรือคนที่เรียนจบแล้วแต่ยังไม่รู้จะทำอะไรต่อ ได้เข้ามาทดลองร่วมกัน พอเขาเริ่มชัดเจนกับตัวเองมากขึ้น รู้แล้วว่าชอบงานแบบนี้ เทคนิคแบบนี้ เขาก็เริ่มไปมีแบรนด์ของตัวเองไป” รุ้งอธิบาย
ตลาดงานคราฟต์ท้องถิ่นและชาติพันธุ์
สังกะดี สเปซเปิดมาได้ไม่นานนัก รุ้งเล่าว่าที่นี่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างตอนเปิดตลาด Bamboo Family Market เพื่อขายงานคราฟต์จากท้องถิ่นเมื่อปี 2567 ทำให้มีคนสนใจเข้ามาเที่ยวชม ซื้อของ ส่งผลให้พื้นที่นี้จึงกลายเป็นที่รู้จักขึ้นมา โดยในช่วงแรกรุ้งบอกว่าเปิดเพียงแค่เดือนละครั้ง แต่เมื่อหลายอย่างเริ่มลงตัวจึงได้ปรับมาเป็นเปิดทุกวันเสาร์-อาทิตย์จนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ กลุ่มคนที่มาขายของหรืองานคราฟต์ในตลาดมีทั้งศิลปิน ช่างฝีมือ เพื่อนๆ ของรุ้งที่เป็นชาวพม่า และกลุ่มชาติพันธุ์ในเชียงใหม่
“สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ที่มาขายของที่นี่มีทั้งปกาเกะญอ ดาราอาง และลัวะ เราก็ให้เขาได้มีพื้นที่ขายของ พัฒนาโปรดักส์ร่วมกัน และจึงถูกแนะนำต่อไปเรื่อยๆ จากเดิม ที่ขายอยู่แค่ในหมู่บ้าน เขาก็จะได้เห็นโลกกว้างขึ้น ได้เห็นตลาดมากขึ้น ได้เห็นกลุ่มลูกค้า ได้เห็นว่าสิ่งที่เขาทำมันมีคุณค่า มันไม่ใช่ของทั่วไปแต่มีมูลค่า ซึ่งเราก็ให้พื้นที่เขากางเต๊นท์ เพื่อปลูกบ้านในพื้นที่เลย เพราะหากเขาลงจากดอยมาทุกเสาร์อาทิตย์แล้วกลับ ก็คิดว่าอาจจะเหนื่อยเกินไป” รุ้งตอบ
เมื่อถามว่างานคราฟต์จากท้องถิ่นนอกจากจะขายเป็นของที่ระลึก ช่วยให้คนท้องถิ่นมีรายได้แล้ว ผลงานดังกล่าวยังสะท้อนคุณค่าในแง่สังคมวัฒนธรรมได้ รุ้งจึงอธิบายว่า งานคราฟต์ คือ สิ่งที่อยู่ในวิถีชีวิตคนท้องถิ่นอยู่แล้ว
“เขาทำงานคราฟต์ไม่ใช่เอาไว้ขาย สมมติเขาทำตะกร้าอันหนึ่งก็เพื่อเอาไว้ใส่ของ และเพราะที่บ้านเขามีไม้ไผ่ มีหวาย หรือมีฝ้ายเยอะ ก็เอามาทอผ้า มีฮ่อมเยอะก็เอามาย้อมสีผ้า ทุกอย่างเกิดจากความคิดว่าใช้สิ่งที่เรามี พอใจในสิ่งที่เรามีจริงๆ มีอะไรก็หยิบจับและให้คุณค่ากับสิ่งที่มี เราว่า สีเป็นหัวใจสำคัญของงานคราฟต์ เราจึงพยายามรักษารากฐานนี้ไว้ เพราะว่าถ้าเราไม่มีสิ่งเหล่านั้น เราก็จะไปต่อไม่ได้เลยกับงานคราฟต์”
นอกจากตลาดงานคราฟต์ และห้องทดลองของศิลปินแล้ว สังกะดี สเปซยังมีการเปิดเวิร์คช็อปให้ผู้ที่สนใจ ทั้งการสอนทอผ้าด้วยแบบล้านนาดั้งเดิม เนื่องจากครูนุสราเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าทอล้านนา และมีเครือข่ายครูช่างฝีมือทอผ้าล้านนา แน่นอนว่าหากมาสังกะดี สเปซจะได้ความรู้เรื่องผ้าและเส้นใยอย่างเต็มเปี่ยม และยังมีสอนทำพวงมาลัยจากเส้นด้าย ปั้นดิน รวมถึงมีเวิร์กช็อปสอนตีกลองด้วย
“กลุ่มที่ตีกลอง เขาเข้ามาเพราะชอบงานคราฟต์ ซึ่งจริงๆ แล้วผู้สอน เป็นนักดนตรีอยู่แล้ว เลยลองเอากลองมาตี จากนั้นก็เริ่มชวนเพื่อนๆ มาทำเป็นเวิร์คช็อปสอนตีกลองอย่างในปัจจุบัน” รุ้งยกตัวอย่างเวิร์คช็อป
แม้สังกะดี สเปซจะยังมีกิจกรรมไม่มากนัก ทว่า ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2568 นี้จะมีกิจกรรมเล่าเรื่อง ‘ผ้าลุนตยา’ ที่เชื่อมโยงล้านนากับพม่า สะท้อนวัฒนธรรมที่มีร่วมกัน ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยให้ทุกคนได้รู้ประวัติศาสตร์ไปพร้อมพร้อมกัน
และยังมีงานเส้น หรือ ‘SEN’ เป็นอีเวนต์ใหญ่ที่จัดขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยในปีนี้งาน SEN2025 จะจัดในวันที่ 4-7 ธันวาคม 2568
“สำหรับงานเส้นในปี 2567 ที่ผ่านมา ด้วยความที่ทำกันเองในคอมมูนิตี้ เราก็เลยขายบัตรเข้างาน โดยที่ผู้ซื้อสามารถเรีย นหรือเข้าเวิร์คช็อปอะไรก็ได้ คุณครูทุกคนพร้อมสอน การขายบัตรนี้เราขายเพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสสนับสนุนศิลปิน เราไม่ได้ขายเพื่อเอากำไร และเรามองว่าความยั่งยืนของเราคือศิลปินมีแรงที่จะทำงานต่อไป” รุ้งกล่าว
ทั้งนี้ รุ้งยังกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า การสนับสนุนศิลปินทำได้โดยการอุดหนุนชิ้นงาน แต่สำหรับศิลปินหลายคน อยู่ในระหว่างการค้นหาตัวเอง ทดลองหาสิ่งที่ใช่ และยังไม่มีโปรดักส์เป็นของตัวเอง การขายบัตรเพื่อเข้างานจึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะสามารถนำเงินมาดูแลศิลปินได้บ้าง
Fact Box
- สังกะดี สเปซ อยู่ที่ ต.สันกำแพง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่
- ตลาด Bamboo Family Market เปิดขายของทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 9.00-16.00 น. เข้าฟรี
- งานเส้น หรือ SEN2025 จะจัดขึ้นในวันที่ 4-7 ธันวาคม 2568 เพื่อเปิดพื้นที่ให้คนเข้ามาเรียนรู้งานคราฟต์แขนงต่างๆ
- สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมทาง Facebook: สังกะดี สเปซ - Sang ga dee Space