ไรอัน คูเกลอร์ (Ryan Coogler)เพิ่งจะสร้างแรงสะเทือนระดับปรากฏการณ์ให้อุตสาหกรรมฮอลลีวูด ประการแรกคือ Sinners (2025) หนังยาวลำดับล่าสุดของเขา ด้วยฝาแฝดคนดำที่พยายามสร้างสถานบันเทิงเล็กๆ ทางตอนใต้ของสหรัฐฯ ต้องเผชิญทั้งแวมไพร์ทั้งเหล่าคนเหยียดผิว กวาดทั้งรายได้ทั้งคำวิจารณ์ระดับที่หลายมองว่า หนังอาจไปไกลถึงการได้เข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของปี ประการที่สอง เขายื่นข้อเสนอกับสตูดิโอวอร์เนอร์ บราเทอร์ ขอถือลิขสิทธิ์ไฟนอลคัตของหนัง และระบุให้อีก 25 ปีนับจากวันที่หนังออกฉาย เขาจะกลายเป็นเจ้าของหนังทั้งเรื่องโดยค่ายไม่มีส่วนได้ส่วนเสียใดๆ อีกต่อไป ซึ่งเงื่อนไขที่ว่านี้ทำให้หลายคนมองว่า อาจเปลี่ยนระบบสตูดิโอในฮอลลีวูดไปตลอดกาล หากว่าคนทำหนังพากันออกมาเรียกร้องข้อเสนอแบบเดียวกันกับคูเกลอร์
ทั้งนี้คูเกลอร์เป็นคนทำหนังที่สตูดิโอรักมาตลอด หนังของเขาประสบความสำเร็จทั้งด้านรายได้และคำวิจารณ์เสมอมา ซึ่งไม่เพียงแต่ต้องอาศัยความแม่นยำในการกำกับ แต่ยังเต็มไปด้วยความละเมียดละไม จริงใจต่อสิ่งที่ตัวเองทำ อันเป็นหัวใจสำคัญในหนังของคูเกลอร์ ซึ่งว่าด้วยชีวิตคนดำในแง่มุมอันหลากหลายเสมอมา
จุดร่วมในหนังของคูเกลอร์ หากไม่นับว่าต้องแสดงโดย ไมเคิล บี. จอร์แดน (Michael B. Jordan) อยู่เสมอทุกเรื่อง คือเขาถ่ายทอดชีวิตของการเป็นคนดำในสหรัฐฯ ได้อย่างมีหัวจิตหัวใจ ทั้งเด็กหนุ่มที่ถูกตำรวจใช้ความรุนแรงจนถึงแก่ชีวิต, นักมวยที่พยายามไต่ไปยังจุดสูงสุดของอาชีพ, กษัตริย์แห่งดินแดนล้ำค่าในจักรวาลซูเปอร์ฮีโร่ จนมาถึงตำนานการต่อสู้ของคนดำกับแวมไพร์ ทุกเรื่องล้วนบอกเล่าผ่านสิ่งละอันพันละน้อย ของการเป็นคนดำที่มีแต่เพียงคนทำหนังที่เป็นคนผิวดำเท่านั้นที่จะถ่ายทอดสิ่งนี้ออกมาได้
คูเกลอร์ไม่ได้สนใจจะเป็นคนทำหนังตั้งแต่เด็ก เขาชอบดูหนังก็จริงอยู่ และโตมาในครอบครัวที่พ่อมักพาเขาเข้าโรงหนังอยู่บ่อยๆ แต่การจะเป็นผู้กำกับก็ไม่ได้อยู่ในความคิดเขานัก อันที่จริง เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเป็นนักกีฬากรีฑากับอเมริกันฟุตบอล ทั้งยังมีผลงานยอดเยี่ยมจนได้รับทุนการศึกษาด้านกีฬาให้เรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งเขาตั้งใจจะลงเรียนเอกเคมี
กระทั่งเมื่อเขาต้องเข้าเรียนวิชาการเขียนเชิงสร้างสรรค์ ที่ไม่รู้สักนิดว่ามันจะกลายเป็นฐานอันแข็งแรงของการเขียนบทภาพยนตร์ในอนาคต และแม้ตารางซ้อมกีฬาจะหนักแค่ไหน แต่เขาก็หาทางเบียดวิชาภาพยนตร์เข้าไปในตารางจนได้ และพร้อมกันกับที่ก็หัดเขียนบท ทำหนังสั้นไปพลางๆ และนับตั้งแต่หนังสั้นเรื่องแรกซึ่งยาวเพียง 6 นาที คูเกลอร์ก็พบว่า เขาฝันใฝ่อยากถ่ายทอดชีวิตของคนดำลงบนแผ่นฟิล์ม
“แนวคิดที่ว่าพวกเราที่เป็นชาวแอฟริกัน-อเมริกันถูกทิ้งไว้ในแผ่นดิน ซึ่งไม่ใช่บ้านเกิดของเรา ตอนที่มีคนมาถามผมว่าผมมาจากที่ไหน ผมก็จะตอบไปว่าผมมาจากเบย์แอเรีย แต่ความเป็นจริงก็ตามนั้นแหละ พวกเราล้วนมาจาก ‘ที่นั่น’ กันทั้งนั้น” เขาบอก
“สำหรับคนดำ เราได้ยินเรื่องสถานที่มหัศจรรย์แห่งหนึ่งเสมอแหละ เพราะการจะเล่าให้เด็กๆ ฟังเรื่องการตกเป็นทาสมันยากมาก เรื่องมันเศร้าและเลวร้ายจนคุณต้องหาทางอธิบายมันด้วยวิธีการอื่นแทน เราจึงมีนิทานเด็กแบบชาวแอฟริกันว่า ‘เราเป็นราชาและราชินี เราไปไหนมาไหนก็ได้ กินอาหารแสนอร่อย ทุกคนมีเสรีภาพ”
หนังเรื่องแรกของคูเกลอร์คือ Fruitvale Station (2013) ที่ชิงรางวัล Un Certain Regard Award จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ ดัดแปลงมาจากโศกนาฏกรรมในชีวิตจริงของ ออสการ์ แกรนต์ (แสดงโดย จอร์แดน) ชายหนุ่มผิวดำวัย 22 ปีที่ถูกตำรวจสังหารในเช้าวันหนึ่งของปี 2009 ที่สถานีฟรุตเวล เมืองโอ๊กแลนด์ หนังฉายให้เห็นหนึ่งวันอันแสนเป็นปกติของแกรนต์ เขาเป็นคนธรรมดา เคยติดคุกแต่ก็พ้นโทษแล้ว เขาเบื่อหน่ายที่ตัวเองยังกลับไปหางานทำไม่ได้ แต่ก็ยังคิดว่าชีวิตยังมีหวังอยู่ เขาอยู่กับเมียก็มีทะเลาะบ้าง แต่ก็ยังรักกันดี เป้าหมายของวันนี้มีแค่ว่าตอนเย็น เขาจะไปงานวันเกิดแม่ด้วยการนั่งรถไฟที่สถานีฟรุตเวล เพราะแม่ไม่อยากให้เขาขับรถ
กลางดึกของวันนั้น แกรนต์นั่งรถไฟกลับบ้านและเจอคู่ปรับเก่าสมัยอยู่ในคุกจึงเกิดการปะทะวิวาทกัน นายตำรวจประจำเบย์แอเรียรุดเข้าที่เกิดเหตุ จับแกรนต์ไว้ก่อนจะลั่นไกยิง แกรนต์เสียชีวิตที่โรงพยาบาล โดยที่ไม่รู้เลยว่าหลังจากที่เขาจากไปแล้วนั้น ความตายอันโศกสลดส่งแรงกระเพื่อมต่อฝูงชนให้ออกมารวมตัวประท้วง ในการกระทำเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่นเดียวกันกับเหตุการณ์จริงที่ฝูงชนรวมตัวกันออกมาเคลื่อนไหวและก่อจลาจล เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้แกรนต์ ขณะที่นายตำรวจผู้ก่อเหตุ หลังการสั่งฟ้องและการยื้อยุดทางกฎหมายอันแสนยืดเยื้อ ถูกสั่งจำคุก 2 ปี โดยเขาออกมาจากเรือนจำได้ในปี 2011
คูเกลอร์อยู่ในเบย์แอเรียช่วงที่คนกำลังออกมาประท้วง สำหรับเขาแล้วการตายของแกรนต์สั่นสะเทือนจิตใจอยู่พอสมควร ทั้งในแง่ที่เป็นคนโอ๊กแลนด์เหมือนกัน และในแง่ที่ว่าเขากับแกรนต์เกิดในปีเดียวกันพอดี “ช่วยไม่ได้จริงๆ ที่ผมจะคิดว่า นั่นอาจเป็นผมก็ได้” เขาบอก
“ตอนผมเห็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เห็นเพื่อนของเขาซึ่งก็ดูเหมือนเพื่อนของผม เราสวมเสื้อผ้าแบบเดียวกัน สีผิวแบบเดียวกัน ผมเลยคิดว่า ถ้านั่นเป็นผมขึ้นมาล่ะ ไอเดียเริ่มจากตรงนี้แหละ มันเริ่มขึ้นจากความเจ็บปวด จากความโกรธเกรี้ยว จากความเดือดดาลและความสับสนว่าเกิดอะไรขึ้นแน่
“ผมเองก็มาจากเบย์แอเรียและผมเข้าใจดี เพราะผมเองก็โตมากับความหวาดกลัว และเป็นความกลัวที่เข้าใจได้ด้วยว่าตัวเองจะถูกยิงตาย ทั้ง 9 ใน 10 ครั้ง คนที่ผมเห็นว่าถูกทำร้ายก็หน้าตาไม่ต่างจากผมสักนิด”
จอร์แดนกลับมาร่วมงานกับคูเกลอร์อีกครั้งในหนังยาวลำดับถัดมาของเขาอย่าง Creed (2015) ที่ถือว่าเป็นหนังหน้าตาสตูดิโอกว่าเดิมมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เริ่มจากทุน 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กับนักแสดงแถวหน้าอย่าง ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน (Sylvester Stallone) ที่กลับมาอีกครั้งในฐานะร็อกกี บัลบัว จากแฟรนไชส์ Rocky ยอดนักมวยที่ร่างกายโรยราและบอบช้ำจากการขึ้นสังเวียนมานานหลายสิบปี เขาได้เจอกับอโดนิส (แสดงโดย จอร์แดน) ลูกชายนอกสมรสของอพอลโล ครีด ผู้เป็นทั้งคู่ปรับเก่าและเพื่อนรักของเขา ซึ่งลาจากโลกไปแล้วกลางอ้อมแขนของเขา ที่ในเวลานั้นเป็นพี่เลี้ยงให้ขณะชกมวย โดยอโดนิสมาขอให้เขาช่วยฝึกสอนมวยเพื่อที่เขาจะได้เดินตามรอยครีด แม้ว่าร็อกกีจะปฏิเสธเขาอย่างแข็งขัน เพราะภาพการจากไปของครีดยังติดอยู่ในใจ แต่เขาก็ต้องยอมแพ้ให้ลูกตื๊อของเด็กหนุ่มในที่สุด และการฝึกซ้อมอันทรหดของอโดนิสก็เริ่มขึ้น
เพื่อจะรับบทอโดนิส จอร์แดนเพิ่มน้ำหนักขึ้นมา 10 กิโลกรัม ด้วยการออกกำลังกายวันละ 2-3 ครั้ง 6 วันต่อสัปดาห์ พร้อมตารางการกินเพื่อเพิ่มกล้ามเนื้ออันเข้มงวด และด้วยความมุ่งมั่นจะไม่ใช้นักแสดงแทนมารับบทเป็นนักมวย เขาจึงต้องไปเรียนการชกมวยจริงจังเป็นเวลานานหลายเดือน ทั้งด้วย ‘ธรรมเนียม’ ของแฟรนไชส์ Rocky ที่นักแสดงต้องเคยรับ ‘หมัดจริง’ อย่างน้อยก็สักครั้ง จอร์แดนจึงเข้าฉากกับ โทนี เบลลูว์ นักมวยอาชีพที่มาร่วมแสดงในหนัง
“ในหนังผมโดนต่อยล้มคว่ำ กล้องไล่ตามจับมาที่ผม แต่กลายเป็นว่าเทกแรกที่เราถ่ายกัน กำปั้นของโทนีไปบังมุมกล้องเข้าน่ะ เราเลยต้องถ่ายใหม่อีกรอบ” จอร์แดนเล่า
“พอถ่ายรอบสอง ผมโดนต่อยอีก รู้เลยว่าคนในกองถ่ายตื่นเต้นกันมากๆ ผมเลยคิดว่ามันต้องออกมาดีแน่เลย เพราะทุกคนเงียบกริบเลย ได้ยินเสียงโปรดิวเซอร์วิ่งมาสั่งคัต เพราะเขากลัวผมจะเจ็บ ซึ่งบอกเลยว่าผมเห็นดาววิ้งๆ ยังจำกลิ่นผ้าใบได้เลย แต่ผมโดนต่อยจริงๆ อย่างกับโดนรถชนเลย แถมโทนีบอกว่า เขาใช้กำลังแค่ 40% เอง หมัดหนักอย่างกับเขาปล่อยมา 85%”
หนังประสบความสำเร็จด้วยการทำเงินไปทั้งสิ้น 173 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ และสร้างภาคต่อตามมาอีก 2 ภาค โดยภาคที่ 3 ซึ่งออกฉายปี 2023 นั้นกำกับโดยจอร์แดนเอง (เป็นเรื่องแรกด้วยนะ!) ทั้งประสบความสำเร็จในแง่รายได้และคำวิจารณ์เช่นเดียวกับภาคก่อนๆ ด้วย
ความสำเร็จของ Creed เปิดโอกาสให้คูเกลอร์ได้มากำกับหนังซูเปอร์ฮีโร่แห่งจักรวาลมาร์เวล Black Panther (2018) ที่ถือเป็นหนังเรื่องแรกของค่ายที่เล่าเรื่องของตัวละครหลักที่เป็นคนดำ ว่าด้วย ทีชาลา (แสดงโดย แชดวิก โบสแมน) ราชาหนุ่มแห่งวากันดา ประเทศในแอฟริกาใต้ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยธรรมชาติและแร่ล้ำค่าอย่างไวเบรเนียม และแม้ประเทศจะดูสงบสุขดี แต่เขาก็ต้องรับมือกับความขัดแย้งของชนเผ่าต่างๆ และสายตากังขาที่ไม่ยอมรับในตัวกษัตริย์หนุ่มอย่างเขา มากไปกว่านั้น เขายังต้องเผชิญหน้ากับคิลมองเกอร์ (แสดงโดย จอร์แดน) ผู้ท้าชิงบัลลังก์ลึกลับ
สำหรับคูกเลอร์ การทำหนังซูเปอร์ฮีโร่ที่ว่าด้วยคนดำและวัฒนธรรมแอฟริกันถือเป็นการหวนย้อนกลับไปหารากของเขาเอง สิ่งหนึ่งที่ทำให้ Black Panther ได้รับคำวิจารณ์แง่บวก จนถือเป็นหนังซูเปอร์ฮีโร่เรื่องแรกที่เข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมได้คือ การที่มันถักร้อย บอกเล่าความเป็นคนดำอย่างเข้าอกเข้าใจและมีจิตวิญญาณ ผ่านสำเนียงของตัวละคร เครื่องประดับ ตลอดจนความเชื่อที่ยึดโยงกับบรรพบุรุษ
“ผมว่าคำถามสำคัญคือ ‘การเป็นคนแอฟริกันมีความหมายว่ายังไง’ มันเป็นคำถามที่ผมเองก็ตอบไม่ได้หรอก ตอนที่รับโปรเจกต์หนังเรื่องนี้มาทำ มันก็ทำให้ผมอยากตอบคำถามนี้ให้ตัวเองเหมือนกัน มันเหมือนหาสิ่งที่เชื่อมโยงกันน่ะ
“คำถามนั้นมันฟังดูเฉพาะเจาะจงก็จริง แต่มันก็มีความเป็นสากลอยู่นะ
“มันเป็นคำถามประเภทที่ว่า คุณต้องใช้เวลาในชีวิตเพื่อค้นหามันอยู่เรื่อยๆ น่ะ” เขาบอก
หนังประสบความสำเร็จถล่มทลายและทำรายได้ไปทั้งสิ้นหนึ่ง 1,000 กว่าล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเปิดประตูให้คูเกลอร์มากำกับภาคต่อ Black Panther: Wakanda Forever (2022) ซึ่งประสบความสำเร็จไม่แพ้ภาคก่อนหน้า จากนั้นจึงตามมาด้วย Sinners โปรเจกต์ที่คูเกลอร์หมายมั่นปั้นมืออยากทำมานาน และอาจจะเรียกได้ว่าเป็นการ ‘รวมลมปราณ’ ในการทำหนังครั้งใหญ่ของเขา
หนังว่าด้วยสหรัฐฯ ยุค 1930s ที่กฎหมายเหยียดผิว จิม โครว์ ยังบังคับใช้อยู่ในบางรัฐทางตอนใต้ของสหรัฐฯ สโมกกับสแตก (แสดงโดย จอร์แดน) ฝาแฝดหวนกลับมาจากชิคาโก้พร้อมเงินกองใหญ่ เขากลับมาเปิดร้านเหล้าที่มีทั้งอาหาร เครื่องดื่ม และดนตรี สำหรับคนดำมาใช้หย่อนใจสุดสัปดาห์ เขาชวนแซมมี (แสดงโดย ไมลส์ คาตัน) ญาติหนุ่มที่เป็นลูกชายนักบวชและหลงใหลดนตรีไปเล่นกีตาร์ด้วย
ทั้งระหว่างนั้นพวกเขายังเจอกับแมรี (แสดงโดย เฮลี สไตน์เฟลด์) แฟนเก่าของสแตกที่ดูเหมือนคนขาวแต่มีเชื้อสายคนดำอยู่ในตระกูลและแอนนี (แสดงโดย วุนมี โมซากู) เมียของสโมกที่เป็นกึ่งหมอผีคนทรง สองฝาแฝดจัดงานเลี้ยงรื่นเริงโดยไม่ทันรู้ว่า อีกฟากหนึ่งนั้นมีเรมมิก (แสดงโดย แจ็ก โอคอนเนลล์) แวมไพร์ชาวไอริชที่หวังดื่มเลือดพวกเขาแล้วดึงเข้ามาอยู่ในโลกหลังความตายด้วยกัน
สิ่งที่พิเศษมากๆ ของหนังคือ การที่หยิบเอาวัฒนธรรมคนดำและบรรยากาศของการตกอยู่ใต้กรอบกรงบางอย่างที่สร้างขึ้นโดยคนขาว มาเล่าผ่านฌองร์เฮอร์เรอร์ แต่ที่พิเศษกว่านั้นคือหนังไม่ได้ทำตัวเป็นหนังเฮอร์เรอร์ที่มีคนต่อสู้กับผีเป็นหลัก ตรงกันข้ามมันค่อยๆ พาคนดูทำความรู้จักกับชีวิตของคนดำที่อยู่ในไร่ฝ้าย, นับถือศาสนา เชื่อฟังพระเจ้า, ดื่มกินและร้องรำทำเพลง ซึ่งหมายรวมถึงฉากอันแสนน่ามหัศจรรย์กลางเรื่องนั้นด้วย
“คนดูมาดูหนังเรื่องนี้เพราะอยากตื่นเต้น อยากเจอความน่ากลัว อยากดูไมเคิล บี จอร์แดน 2 คนพร้อมๆ กันมาดูเนื้อเรื่อง แต่ไม่มีใครรู้หรอกว่าจะได้ดูฉากมองตานั้น” คูเกลอร์บอก
“ซีเควนซ์นั้นนี่ให้ความรู้สึกว่า คนดูที่ดูหนังจบออกไปแล้วต้องพูดถึงมันแน่ๆ ลำพังแค่ฉากนั้น เราก็ถ่ายเป็นสัปดาห์แล้ว เราซ้อมหนักซึ่งคุ้มค่ามากๆ เพราะเรารู้ว่ามันจะส่งผลต่อผู้ดูสุดๆ เลยไงล่ะ
“และสำหรับผม หนังเรื่องนี้คือจดหมายรักต่อประสบการณ์การดูหนังในโรงภาพยนตร์
“เราถ่ายกันด้วยฟอร์แมตสำหรับฉายโรง และเพราะแบบนี้แหละเราถึงได้ทำงานกับหามรุ่งหามค่ำ ก็เพราะมันเป็นจดหมายรักต่อการได้มีประสบการณ์อันน่าตื่นเต้น ที่ได้ดูหนังร่วมกันคนแปลกหน้าหมู่มาก โดยที่คุณไม่มีทางรู้สักนิดว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป มันมีหนังที่ทำให้ผมรู้สึกแบบนั้นเยอะมาก และผมก็อยากลองทำหนังแบบนั้นด้วยตัวเอง เพื่อมอบมันให้คนดูน่ะ!” เขาปิดท้าย
Tags: People Also Watch, Ryan Kyle Coogler, Ryan Coogler, ไรอัน คูเกลอร์, Fruitvale Station, Creed, Sinner, ภาพยนตร์, Black Panther