เทศกาล BIPAM ซึ่งย่อมาจาก Bangkok International Performing Art Meeting หรือ เทศกาลศิลปะการแสดงร่วมสมัยนานาชาติแห่งกรุงเทพฯ เป็นเทศกาลระยะเวลา 5 วันอันประกอบด้วยการแสดง งานเสวนา การอบรมเชิงปฏิบัติการ และกิจกรรม Networking ระหว่างคนทำงานศิลปะการแสดงร่วมสมัยจากหลากหลายประเทศทั่วโลก เริ่มต้นเมื่อปี 2017 และปัจจุบันจะจัดกันในทุกๆ 2 ปี โดยครั้งล่าสุดเพิ่งจะจัดไประหว่างวันที่ 12-16 มีนาคม 2025 ที่ผ่านมา

และในปีนี้ก็มีวาระพิเศษที่ทางชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง ประเทศไทย หรือ IATC Thailand Centre ร่วมกับภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดการประชุมวิชาการด้านการแสดงร่วมสมัยเรื่อง “trans-” ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักวิชาการ นักวิจัย ศิลปินและนักวิจารณ์จาก 11 ประเทศ ในหัวข้อ transtemporal/ transcultural/ transition/ transformation/ transtopia/ transhuman/ transcendence และอีกหลากหลาย trans- พร้อมๆ กับการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการวิจารณ์สำหรับนักวิจารณ์รุ่นใหม่จากหลากหลายชาติ Young Critics’ Workshop ไปด้วยในเวลาเดียวกัน 

งานนี้นักวิจารณ์และนักวิชาการด้านการละครทุกๆ รุ่น จากนานาประเทศจึงมีโอกาสได้ชมการแสดงอันน่าตื่นตาตื่นใจที่ทางเทศกาล BIPAM เชิญมาร่วมแสดงกันอย่างถ้วนหน้า ท้าทายเหล่านักวิจารณ์ด้วยการแสดงที่อุดมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่ ด้วยหน้าตาที่แตกต่างไปจากขนบการแสดงละครเวทีที่เราคุ้นเคย งานนี้ ‘กัลปพฤกษ์’ ในฐานะผู้ร่วมจัดงานก็เลยมีโอกาสได้ร่วมชมการแสดงนานาชาติที่ทาง BIPAM ประกาศโปรแกรมไว้ครบทั้ง 6 เรื่อง จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้

1: MANUAL / คู่มือ

การแสดงโดย Adam Kinner และ Christopher Willes จากแคนาดา

รอบวันที่ 12 มีนาคม 2025 เวลา 16.30 น. ณ TK Park

การแสดงหนึ่งต่อหนึ่งแบบมีส่วนร่วมระหว่างผู้ชมทีละท่าน ประกบกับทีมงานผู้แสดงคนละราย ซึ่งจะนำพาเราไปค้นหาความหมายแห่งผัสสะอันละเมียดรอบๆ พื้นที่ห้องสมุด TK Park บริเวณชั้น 8 ของศูนย์การค้า centralwOrld โดยผู้แสดงจะนำพาเราเดินไปสำรวจ ณ จุดต่างๆ สื่อสารด้วยการกางสมุดโน้ตที่เขียนข้อความแนะนำขั้นตอนกิจกรรมไว้ พร้อมชักชวนให้เราเปิดใจและใส่ใจในทุกๆ ผัสสะที่ได้รับ สดับทุกๆ ความสงบเงียบเยียบเย็นเน้นการใช้สมาธิ ในขณะที่ห้องสมุดก็ยังเปิดบริการให้แก่คนทั่วไป

เราจึงได้หลับตาฟังเสียงเมืองใหญ่ผ่านแผ่นกระจกหนาในตึกสูง ตอบรับถ้อยคำชักจูงให้สังเกตผู้คนที่เดินผ่านไปมา รับรู้ทั้งความหนัก ความหน่วง และความหนาของกองหนังสือที่ค่อยๆ พะเนินบนหน้าตัก จากนั้นจึงจะได้นั่งพัก ‘ดู’ หนังสือ สวมหูฟังสดับเสียงสื่อประกอบอันปลอบประโลมใจ ก่อนที่ผู้แสดงจะเลือกหนังสือภาพมาเปิดพลิกหน้าให้ ค่อยๆ เลื่อนกระดาษเผยให้เห็นภาพ ‘มือ’ ในอิริยาบถต่างๆ อย่างอ่อนโยน

เสร็จแล้วจะนำพาเราไปยังอีกโซน เปิดข้อความที่โดนซุกซ่อนไว้ในหนังสือเล่มใหญ่ ผลัดกันอ่านทำความเข้าใจ และเล่นเกมตอบปัญหาทายใจฝึกให้เราได้ใช้จินตนาการ งานแสดง Manual จึงเหมือนจะดำเนินไปอย่างเรียบง่าย หาได้มีแนวคิดในระดับน่าตื่นตาตื่นใจ หากมันช่างละมุนละไมจนสามารถให้ความรู้สึก ‘พิเศษ’ โดยเฉพาะมัคคุเทศก์ใจดีที่จูงเราไปทุกที่ด้วยท่าทีอันเป็นมิตรน่าไว้วางใจ เบิกวิถีการมองใหม่ๆ จนทำให้ TK Park ที่เราคุ้นชิน เหมือนเป็นดินแดนลับแลที่เราไม่เคยย่างกรายมาก่อน!

Photo by Chattapol Jantayung, BIPAM 2025

2: RIDDEN

การแสดงโดย Leu Wijee และ Mio Ishida จากอินโดนีเซีย

รอบวันที่ 13 มีนาคม 2025 เวลา 19.30 น. ณ ศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การแสดงเคลื่อนไหวร่างกาย หรือ Physical Theatre นำเสนอกระบวนท่าทางที่สะท้อนขีดจำกัดต่างๆ ของร่างกาย ผ่านการร่ายรำที่คล้ายพิธีกรรมทำความเคารพพระแม่โพสพ ผู้คอยประคบประหงมดูแลต้นกล้า ทว่าในช่วงแรกผู้แสดงชายหญิงทั้ง 5 ราย ในชุดสำหรับออกกำลังกายร่วมสมัยแบบสบายๆ จะใช้ร่างกายในการเคลื่อนไหว โดยให้ทุกๆ คนมีอาการทุพพลภาพขาข้างหนึ่งพับทาบอยู่กับพื้นไม่สามารถลุกยืนได้ และต้องอาศัยองคาพยพส่วนที่เหลือเลื่อนสไลด์ร่างกายหยุบๆ โหย่งๆ โคลงซ้ายเอียงขวาสลับกันไปในความพร้อมเพรียง

ส่วนครึ่งหลังนักแสดงสามรายที่ยังลุกไหวก็จะหยิบต้นข้าวมายืนเรียง ระบำกระทืบเท้าไปตามเสียงฉาบเคาะ ราวจะเจาะพื้นเวทีให้แหลกคาฝ่าเท้า แต่ละคนอยู่ในภวังค์เหมือนผีเข้า เร่งเร้าลูกจังหวะที่เอาแต่โหมประโคมจนเหงื่อโซมกาย ดูแล้วแอบกลัวนักแสดงจะบาดเจ็บอันตราย เพราะพวกเขากระหน่ำเต้นกันแบบไม่กลัวตาย ด้วยลีลาท่าทางที่ท้าทายมากขึ้นๆ ทุกทีๆ

โดยภาพรวมแล้วการแสดงไร้บทสนทนาหรือคำอรรถบรรยายเรื่องนี้ จึงมีทั้งความ ‘ดิบ’ และอาการ ‘บ้าพลัง’ ที่รังสรรค์ออกมาได้อย่างน่าตื่นเต้นดี หากส่วนที่ยังไม่ใคร่จะสื่อสาร เหมือนเป็นอีกงานที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง ก็คือข้าวของประกอบฉากหลังตรงฟากด้านซ้ายและขวาซึ่งมาพร้อมกล่องลังที่ยังไม่ได้แกะเปิดวางเรียงรายอยู่มากมาย หากไร้ปฏิสัมพันธ์กับนักแสดงทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย จนไม่รู้ว่าจะมีไว้ทำไมให้เกะกะพื้นที่ ที่ควรจะปล่อยให้เป็นเวทีให้พวกเขาได้โชว์ลีลาต่างๆ ในทุกทิศทางได้มากขึ้น!

Photo by Teeraphan Ngowjeenanan, BIPAM 2025

3: JUGGLE & HIDE (SEVEN WHATCHAMACALLITS IN SEARCH OF A DIRECTOR)

การแสดงโดย วิชย อาทมาท For WhaT Theatre จากประเทศไทย

รอบวันที่ 14 มีนาคม 2025 เวลา 19.30 น. ณ Bangkok CityCity Gallery

การแสดงที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นรูปแบบใหม่ของโรงละครที่นำเสนอผ่านการให้ ‘ชีวิต’ แก่ข้าวของและสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ โดยไม่ต้องจ้างนักแสดง มีเฉพาะแรงงานแห่งงานศิลปะคอยเป็นคณะทำงานควบคุมการเคลื่อนไหวของสิ่งต่างๆ พร้อมทั้งจัดวางแต่ละ Object ให้สื่อความหมายภายในขดรางของรถไฟเด็กเล่น แล้วฉายภาพจาก Top View ให้คนดูได้เห็นทุกสิ่งอย่างด้วยการยิงไปบนข้างกำแพง

เนื้อหาจะแบ่งออกเป็น 2 องก์ใหญ่ๆ ในองก์ที่หนึ่งจะเป็นการขึงไทม์ไลน์ประวัติชีวิตและการทำงานของผู้กำกับ วิชย อาทมาท เองว่า เกิด เติบโต และมีโอกาสเริ่มต้นสร้างงานศิลปะการแสดงมาอย่างไร เล่าสลับกับไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์การเมืองเรื่องสำคัญๆ ของประเทศไทย โดยเฉพาะการรัฐประหารครั้งใหญ่ และการใช้ความรุนแรงในการปราบปรามประชาชนของฝ่ายรัฐบาล คู่ขนานกับชีวิตและผลงานตลอดระยะเวลาเกินกว่าทศวรรษของวิชย ประกอบการฉายคลิปสั้นๆ ว่า ผลงานในอดีตของเขาเข้าไปข้องเกี่ยวกับบรรยากาศการเมืองไทยในแต่ละปีกันอย่างไร

ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้วางเรียงรายบนโต๊ะญี่ปุ่นขนาดใหญ่ ก็คือหนังสือภาษาไทยที่ไล่ย้อนเหตุการณ์ในเดือนตุลาฯ และสื่อประชาสัมพันธ์หลากหลายที่สะท้อนความวุ่นวายอันไม่รู้จักจบสิ้น จากนั้นทีมงานฝ่ายศิลป์จาก Duck Unit ก็จะเริ่มประดิดประดอยพื้นที่ด้วยแสงสีและสายไฟ เพื่อใช้บังคับทั้งอุปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์ ของเล่น และกล้องเลนส์ที่ใช้ถ่ายให้เคลื่อนไหวเองได้ ค่อยๆ เติมข้าวของต่างๆ วางไว้ระเกะระกะมากมาย ก่อนจะย้ายเข้าองก์ที่ 2 เมื่อผู้กำกับและทีมงานต้องระเห็จออกจากพื้นที่ไป ปล่อยให้ข้าวของต่างๆ กร่างประท้วงทวงสิทธิ์แห่งการสร้างความหมายในตัวเอง โดยไม่ต้องหวั่นเกรงอำนาจศิลปินผู้สร้างงานอีกต่อไป กลายเป็นความโกลาหลวุ่นวายที่เชื้อชวนผู้ชมให้ได้เดินเข้าไปดูใกล้ๆ ให้ได้เห็นกับตาว่าสิ่งของเหล่านี้มีเจตจำนงอย่างไร หากจะไม่ใส่ใจการอุปโลกน์ความหมายจากผู้กำกับ 

ทำให้ Juggle & Hide (Seven Whatchamacallits in Search of a Director) เป็นงานที่สร้างความประทับใจในความแปลกและแหวกแนวในการตั้งคำถามของมัน เปิดเปลือยกระบวนสัญลักษณ์ที่นักทำละครมักจะยัดเยียดให้สิ่งของประกอบฉากต่างๆ อย่างโดยอำเภอใจ ซึ่งดูเหมือนทุกอย่างจะเล่าอย่างตรงไปตรงมาแต่ก็ไม่ใช่ เพราะแม้แต่ในส่วนของบทของการแสดง ก็ยังไหว้วานขอแรงให้เพื่อนสนิทอย่าง ‘มิสโอ๊ต’ เป็นคนเขียนให้ ทั้ง ๆ ที่ทั้งหมดก็อาศัยเรื่องราวชีวิตและการทำงานของวิชยเอง

Photo by Dithawat Paisarnthanachok, BIPAM 2025

4: WHEN FLOODS HIGH AS SKIES, FISH FEAST ON THE STARS

การแสดงโดย Reverberation Area จากประเทศไทย

รอบวันที่ 15 มีนาคม 2025 เวลา 16.00 น. ณ William Warren Library, Jim Thompson Art Center

การแสดงกึ่งการบรรยายวิชาการ หรืองาน Lecture Performance จากการกำกับโดย วสุ วรรลยางกูร มีศูนย์กลางเนื้อหาอยู่ที่อุดมการณ์พิทักษ์รักษาภาวะนิเวศ ณ ลำน้ำโขงอันเป็นที่อาศัยของฝูงปลา โดยบรรดานักกิจกรรมหลากเพศหลายวัย ซึ่งจะสลับกันมาให้ข้อมูลว่า มลภาวะจากการกระทำของมนุษย์ทั้งหลายทำลายธรรมชาติของแม่น้ำสายนี้ไปอย่างไรบ้าง

การแสดงมี ‘ผู้แสดง’ หนึ่งนายและหนึ่งนางคือ หนุ่มแรปเปอร์ นนทนันท์ นาคสุข สมาชิกวง Rap Against Dictatorship ผู้คอยขับขานคำกานท์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการเต้น ภาวิดา วชิรปัญญาพร ซึ่งจะมาแสดงท่าทางซ่อนนัยโดยไม่ใช้วาจา ก่อนจะเชิญให้ผู้บรรยายซึ่งเป็นนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมทั้งสาม ได้แก่ ชนาง อำภารักษ์ นักทำละครผู้ต่อกรกับบรรดานายทุนหนุนหลังธุรกิจทำลายธรรมชาติ, เดชรัต สุขกำเนิด ซึ่งประกาศเปิดตัวเป็นนักนโยบายสาธารณะ ใช้ชีวิตอย่างสมถะและใส่ใจกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย สมปอง เวียงจันทร์ ชาวประมงที่ผันตัวมาเป็นสมัชชาคนจน ผู้ไม่ยอมทนต่อการทำลายแหล่งน้ำ และเคยเป็นแกนนำในการเคลื่อนไหวต่อต้านการสร้างเขื่อนปากมูล ในจังหวัดอุบลราชธานี สลับกันมาเข้าพื้นที่การแสดง แถลงอุดมการณ์ส่วนตัว และเล่าว่าสถานการณ์นี้น่ากลัวขนาดไหน หากเราจะไม่ใส่ใจพิทักษ์ดูแลแม่น้ำโขงอันโยงใยเป็นสายเลือดใหญ่ให้พี่น้องชาวอีสาน! 

ถึงแม้ว่างานจะนำเสนอทุกอย่างออกมาด้วยน้ำเสียงอันจริงใจ แต่ด้วยวิธีการที่ออกจะตรงมาตรงไป ทำให้ภาพรวมของสารยังมีความด้านแข็งแบบ Didactic คอยจิกเทศนา แอบด่าคนดูที่ไม่คิดลุกขึ้นสู้ และยกชูอุดมการณ์แต่เพียงด้านเดียวไปสักนิด คือถ้าการแสดงเปิดโอกาสให้คนดูได้ใคร่ครวญพินิจ หรือขยายมุมมองข้อมูลให้รอบทิศมากขึ้น คนดูอาจจะได้ตื่นเต้นกับการวิวาทะ มากกว่าที่จะมานั่งฟังความจากเพียงฝ่ายเดียว

Photo by Krai Sridee, BIPAM 2025

5: THO DIA เทพลืมเมือง

การแสดงโดย ToLo Puppet Theatre จากเวียดนาม

รอบวันที่ 15 มีนาคม 2025 เวลา 18.30 น. ณ TK Park

การแสดงละครหุ่น ทั้งหุ่นขยะ หุ่นกระบอก หุ่นเชิด หุ่นเทริดหน้ากาก จากประเทศเวียดนาม เล่าชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในกรุงฮานอย เรียงร้อยผ่านการแสดง และการฉายแสง สี เสียง ด้วยสื่อมัลติมีเดียอันทันสมัย โดยให้ตัวละครเด็กชายผู้มีหุ่นปีศาจสะพายหลัง และชายชราที่ยังเฝ้ากวาดพื้นถนนบนแผ่นดินแห่งเมืองสีเทา เป็นผู้เล่าเรื่อง ซึ่งเนื้อหาหลักๆ ก็จะว่าถึงชีวิตการเป็นคนเมืองใหญ่ ใช้ภาพฉายหนังสารคดีที่ถ่ายมาจากกรุงฮานอยจริงๆ มาประกอบบนฉากหลังสับปะรังเค ราวอุปกรณ์ประกอบฉากทุกอย่างทำมาจากกองขยะที่เททิ้งไว้ นำกลับมาใช้ใหม่ไม่ให้เสียของ 

ซึ่งก็รังสรรค์ออกมาจนน่ามองอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะเส้นขนมจีนที่เอามาพันกันเป็นต้นไม้ใหญ่ พอต้องแสงไฟในความมืดแล้วก็ดูสวยดี แต่โดยภาพรวมแล้ว การแสดงยังไม่มีแก่นแกนหลักที่สามารถหยิบจับได้มากนัก เหมือนสักแต่จะหยิบนั่นโน่นนี่มาตีแผ่ แม้บางประเด็นจะน่าสนใจ แต่การแสดงยังต้องการแก่นสารสาระในภาพใหญ่ มากกว่าเพียงจะพาเราไปให้เห็นว่าเกิดอะไรในกรุงฮานอยแห่งนี้บ้าง

Photo by Thanit Vasu Yantrakovit, BIPAM 2025

6: CHOREOGRAPHIC INTRUSION กวน-ເຕັ້ນ

การแสดงโดย Ole Khamchanla, Compagnie KHAM ร่วมกับ Thrixept และ Taratawan Krue-On จากลาว

รอบวันที่ 16 มีนาคม 2025 เวลา 17.00 น. ณ One Bangkok Park, The One Bangkok

ปิดท้ายด้วยการแสดงร้อง เล่น เต้น แจม งานแถมท้ายที่เปิดให้ทุกคนเข้าชมได้ฟรีๆ ที่ลาน One Bangkok Park ใจกลาง The One Bangkok ในช่วงเวลาเย็นๆ โดยนักเต้นมาในชุดเสื้อผ้าที่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นนักแสดง แต่งตัวเหมือนเป็นคนดูทั่วไป ก่อนที่นักเต้นชายจะปรากฏกายขึ้นพร้อมกับนักร้องหญิงเสียงโหยหวน ชักชวนกันออกท่าทาง ประกอบเสียงขับขานก้องกังวาน วาดลวดลายกันในลีลาสตรีท ด้วยบีตเพลงที่เร่งจังหวะขึ้นเรื่อยๆ พอเริ่มเหนื่อย พ่อหนุ่มนักเต้น ก็ลองหันไปเล่นกับกลุ่มคนดู ออกท่าชูมือไม้ให้เข้าจังหวะแบบง่ายๆ เชิญให้ผู้ชมลองเต้นตาม ความคึกคักของดนตรีทำให้สุภาพสตรีที่ได้รับคำเชิญชวนลองทวนท่าทางค่อยๆ จัดวางร่างกายตาม เริ่มต้นด้วยความเก้ๆ กังๆ ทว่าหลังจากนั้นนางก็โชว์ลีลาเท้าไฟ สามารถรวมขบวนกับพ่อหนุ่มในท่าใหม่ๆ ทำให้ทุกคนรู้ว่า อ้อ! นี่คือนักแสดงหน้าม้าที่เตี๊ยมกันมาสินะ! 

ซึ่งพ่อหนุ่มก็สุ่มร่ายระบำกับทั้งคนดูจริงๆ และเหล่านักเต้นหญิงที่ปลอมตัวมา จนสุดท้ายก็สามารถวาดลวดลายพร้อมเพรียงกันจนครบ ตบท้ายด้วยการแยกกันให้ผู้ชมร่วมสังสรรค์ มาออกท่าออกทางกันอย่างม่วนจอย ค่อยๆ หลอมกลืนการแบ่งแยกระหว่างคนดูกับผู้แสดงท่าทาง ให้รวมร่างเป็นมวลชนหมู่เดียวกันอีกครั้ง ด้วยการแสดงเล็กๆ ง่ายๆ แต่ก็ยังปัง! 

ใครจะสามารถยั้งใจได้กับจังหวะทำนองที่ร่างกายเรียกร้องให้ต้องตอบสนองกับผองชน!

Photo by Chayut Sunthornsiri, BIPAM 2025

ขอขอบคุณผู้สนับสนุนการจัดงานประชุมวิชาการและการอบรมเชิงปฏิบัติการ โดย ชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง IATC Thailand Centre ได้แก่ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม สมาคมการค้าส่งเสริมอุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย

Tags: , , , ,