จากข่าวการประหารชีวิตนักโทษเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี ที่เป็นเรื่องใหญ่ให้คนในสังคมทั้งออนไลน์และออฟไลน์วิพากษ์วิจารณ์กันเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เป็นเหมือนหนังรีเมกที่วนกลับมาฉายซ้ำภาพความขัดแย้งของกลุ่มที่จุดยืนแตกต่าง ในครั้งนั้นคนจำนวนหนึ่งเชื่อว่าโทษที่แรงน่าจะทำให้ช่วยลดการก่ออาชญากรรมลงได้

อย่างไรก็ดี ตะกอนคำถามยังค้างคาอยู่ภายในหัวของผู้เขียนถึงกลไกกระบวนการยุติธรรม ว่าเป็นเพราะเหตุใด ทั้งที่คดีอาญาจำนวนมากมีโทษสูง แต่อัตราการก่ออาชญากรรมถึงยังเพิ่มขึ้น ทำไมยังเกิดอาชญากรทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่เดินเข้าเดินออกในวงจรกฎหมายอยู่เรื่อยไป

ปัจจุบัน มีจำนวนนักโทษที่ถูกจำคุกในเรือนจำกว่าสามแสนคน มากเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มอาเซียน และอยู่อันดับ 6 จากการจัดอันดับรวมประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ ยังพบปัญหาการกระทำความผิดซ้ำของอดีตนักโทษ ซึ่งอาจจำเป็นต้นวนกลับมาตั้งคำถามเสียใหม่ว่า กระบวนการยุติธรรมที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ของไทย มาถูกทางแล้วหรือยัง

ในต่างประเทศมีแนวคิดหนึ่งที่พยายามแก้ปัญหานี้ ด้วยการสร้างวัฒนธรรมการผนวกสู่สังคม เป็นเครื่องมือที่ต่างประเทศยอมรับว่า สามารถแก้ปัญหาอาชญากรรมได้อย่างยั่งยืน  

วัฒนธรรมการผนวกสู่สังคมคืออะไร?

จากการเสวนาในเวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน “แนวทางใหม่เพื่อสร้างสรรค์ความเป็นธรรมด้วยหลักนิติธรรม” เมื่อวันอังคารที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนผ่านวัฒนธรรมเพื่อฟื้นฟูผู้ต้องขังกลับสู่สังคม ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย ในขณะที่นานาประเทศ เช่น สิงคโปร์ ใช้วิธีนี้แก้ปัญหาอาชญากรรม ลดจำนวนนักโทษหน้าเก่าที่มักจะวนกลับมาทำผิดซ้ำ  

หลักการสำคัญอยู่ที่การพัฒนาฟื้นฟู ซึ่งต้องเกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานทุกส่วน ทั้งนักโทษที่พ้นโทษและสังคมรอบตัวของนักโทษ เช่น ครอบครัว ผู้ว่าจ้างงาน วิธีฟื้นฟูทั้งร่างกาย ความคิด และจิตวิญญาณ ตามมาตรฐานความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน เพื่ออุดช่องโหว่จากวงจรที่จะเป็นหลุมให้อดีตนักโทษกลับไปกระทำผิดอีกครั้ง

เข็มอัปสร สิริสุขะ นักรณรงค์สิ่งแวดล้อมและนักเคลื่อนไหวอิสระ กล่าวว่า วงจรชีวิตของอดีตนักโทษจะเริ่มเปลี่ยนไปนับตั้งแต่วันแรกที่ก้าวเท้าเข้าไปในเรือนจำ

“เมื่อนักโทษก้าวเท้าเข้าสู่คุก นั่นก็เท่ากับว่าเขาถูกกีดกันออกจากสังคมปกติ อาจมีโอกาสได้รับความรุนแรง จึงควรได้รับการกล่อมเกลาจากนักจิตวิทยา รวมไปถึงได้รับการศึกษา หรือทักษะอาชีพเพื่อเลี้ยงตัวเองหลังจากพ้นโทษ มีอาชีพที่สามารถใช้เลี้ยงตัวเองได้โดยไม่เดือดร้อน และเมื่อพ้นโทษก็ควรจะได้รับโอกาสในการเข้าถึงงานที่ตรงกับความสามารถของตัวเอง เพื่อยกระดับฐานะ หลีกหนีจากความยากจน”

เห็นได้ชัดว่ากระบวนการนี้มีการปรับเป็นขั้นเป็นตอน จากรากถึงใบ เป็นกระบวนการที่ประเทศไทยยังพัฒนาไปไม่ถึง เพราะยังมีการแบ่งส่วนกันทำงาน มีกรมราชทัณฑ์เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน ในขณะที่หน่วยงานอื่นๆ อาทิ เช่น รัฐและเอกชนผู้ที่มีอำนาจจะว่าจ้างแรงงานเองยังไม่เคยได้เข้ามาพูดคุยหรือส่งเสริมการเข้าถึงอาชีพอย่างเป็นจริงเป็นจัง ต่างจากประเทศสิงคโปร์ที่มีหน่วยงานรัฐและเอกชนเข้ามาช่วยเหลือ มีโครงการ Yellow Ribbon เป็นโครงการที่จัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2004 โดยประธานาธิบดีเอส.อาร์. นาธาน มีหลักการเดินหน้าวางแผนยุทธศาสตร์ให้คนในสังคมตระหนักถึงการให้โอกาส ให้การยอมรับ และให้ความเข้าใจ มีการจัดประชุมสัมมนาหารือกันระหว่างฝั่งนักสิทธิ ฝั่งรัฐบาลและฝั่งเอกชนในทุกๆปี  รวมถึงการจัดทำแคมเปญสื่อโฆษณารณรงค์เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันของสังคมอีกด้วย

ไม่ใช่เพื่อเธอ ไม่ใช่เพื่อเขา แต่เพื่อ “เราทุกคน”

นางสาวชลธิช ชื่นอุระ หัวหน้ากลุ่มโครงการ IBR สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยกล่าวถึงความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านวัฒนธรรมคืนผู้ต้องขังกลับสู่สังคมในงานเวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนว่า การให้โอกาสคือการยกระดับสังคมโดยรวมอย่างยั่งยืนที่สุด สำหรับอนาคตอันใกล้ เพราะปัญหานักโทษล้นรวมถึงปัญหานักโทษกลับมาทำผิดซ้ำ สามารถบ่งบอกได้ถึงปัญหาของสังคมที่วนเป็นลูกโซ่ จากความเหลื่อมล้ำ การขาดแคลนรายได้ส่งผลไปถึงการขาดโอกาสในการเข้าถึงระบบการศึกษา และเมื่อขาดการศึกษา สิ่งที่จะตามมาก็คือการขาดโอกาสในการได้งานทำก่อนจะวนเวียนไปเป็นวัฏจักรปัญหาสังคมที่ส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวมเช่นเดิม  หากจะแก้ไขก็ต้องแก้ที่ตัวสังคม เพราะเราทุกคนต่างเป็นผลผลิตของสังคม

ดังนั้นการยกระดับสังคมที่ดีที่สุด ก็ไม่ควรที่จะทิ้ง “ใคร” ไว้ข้างหลัง เราควรจะผลักดันให้ทุกคนพัฒนาภายใต้สิทธิมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน เพราะเมื่อใดก็ตามที่ “พวกเขา”ปลอดภัย เราทุกคนเองก็จะปลอดภัยเช่นเดียวกัน

Tags: ,