หากใครได้ดูซีรีส์เรื่อง GELBOYS สถานะกั๊กใจ เรื่องราวความรักของเด็กผู้ชายวัยมัธยม 4 คนที่เกิดขึ้นย่านสยามใจกลางกรุงเทพฯ จากฝีมือผู้กำกับ บอส-นฤเบศ กูโน คงจะได้เห็นภาพไลฟ์สไตล์ของวัยรุ่นสยามในห้วงเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่สะท้อนตัวตนซึ่งมองเห็นเป็นรูปธรรม อย่างการทำเล็บเจลในกลุ่มเด็กผู้ชาย สติกเกอร์น่ารักๆ พวงกุญแจหรือสารพัดของกุ๊กกิ๊ก และการเลือกเสื้อผ้าเครื่องการแต่งกาย รวมถึงวัฒนธรรมในการเสพสื่อ T-Pop กับ K-Pop แล้วนำเอาแฟชั่นของเหล่าไอดอลมาทำตามอย่างตัวละคร ‘โฟร์มด’ (นิว-ชยภัค ตันประยูร) ที่เซตผมตามอองรี (ออสการ์ เอ็ดเวิร์ด วัตราเศรษฐ์) วง PROXIE และมีพฤติกรรมการใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนทั้งไปเดินเล่นในสยาม เข้าออกร้านใหม่ๆ รวมกลุ่มกันตั้งวงดนตรีแล้วไปเล่นกลางสยาม และเต้นคัฟเวอร์ (ต้องถ่ายคลิปแนวตั้งเพื่อลง TikTok)
นอกจากไลฟ์สไตล์และเพลงที่ฟังจะต่างกันแล้ว อีกหนึ่งพฤติกรรมที่ซีรีส์นำเสนอออกมาคือ การจีบกันและบอกรักกันผ่านเพลง แต่ไม่ใช่การส่งเพลงรักให้โต้งๆ หรือแลกเพลงกันไปกันมาในช่องแชตเหมือนเจเนอเรชันก่อนหน้า เพราะสำหรับเด็ก Gen Z ที่เติบโตมากับเทคโนโลยี สมาร์ตโฟน และโซเชียลมีเดีย จะใช้วิธีสร้างเพลย์ลิสต์ใน Spotify แล้วแชร์เพลย์ลิตส์นี้ให้คนที่เราชอบมาร่วมเพิ่มเพลงได้ พูดง่ายๆ ก็คือการสร้างเพลย์ลิสต์ด้วยกันเพื่อฟังด้วยกัน แต่ก่อนจะไปถึงขั้นสร้างเพลย์ลิสต์ด้วยกัน ก็ต้องผ่านการพูดคุยจนสนิทหนึ่งในระดับหนึ่งก่อน ไม่ใช่การรุกจีบส่งลิงก์เพลย์ลิสต์ให้ส่งเดช
ทั้งนี้พฤติกรรมการแชร์เพลย์ลิสต์ Spotify ไม่ได้เป็นที่นิยมแค่ในประเทศไทย เพราะ Spotify ได้เผยแพร่รายงานที่เจาะลึกแนวโน้มเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของ Gen Z กับดนตรี ระบุว่า Gen Z มองว่าการแชร์ดนตรีและพอดแคสต์เป็น ‘ยารักษาอาการ Doomscrolling’ หรือการเลื่อนหน้าจอมือถือเสพสื่อและรับพลังงานลบไปเรื่อยๆ แบบหยุดดูไม่ได้ โดยกลุ่มนี้คิดเป็น 52% ของจำนวนเพลย์ลิสต์ร่วมที่ถูกสร้างขึ้นบน Spotify ในปี 2567 ซึ่ง Gen Z ให้คุณค่ากับดนตรีเสมือนเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยง สร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ มากกว่าการฟังเพื่อความสนุกส่วนตัว
เมื่อลองถอดรหัสเพลย์ลิสต์รักของ Gen Z และมองข้ามเรื่องแนวเพลงหรือรสนิยม คนเจนอื่นๆ ก็สามารถแชร์เพลย์ลิสต์ให้กับคนรักของเราได้ไม่ต่างกัน แต่ถ้าอยากเพิ่มความหวานใสสไตล์ Gen Z ให้ลองเพิ่มกิมมิกในการตั้งชื่อเพลย์ลิสต์ขอเราดู ซึ่งในเรื่อง GELBOYS สถานะกั๊กใจ ตั้งชื่อเพลย์ลิสต์แรกว่า ‘รักที่สมหวังไม่มีหรอก สมหวังเป็นชื่อคน’ ซึ่งแน่นอนว่า ชื่อเพลย์ลิสต์อาจไม่เกี่ยวอะไรกับความสัมพันธ์ของเราเลยก็ได้ แต่เป็นความสนุกในการครีเอทีฟของแต่ละคน
โดยความยาวของเพลย์ลิสต์ของมีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะจำนวนชั่วโมงและนาทีรวมของเพลงทั้งเพลย์ลิสต์นี่แหละ คือเครื่องสะท้อนความแน่นแฟ้นในสายสัมพันธ์ เพราะตัวละครวัยรุ่นในเรื่องมองว่า ยิ่งใช้เวลาจีบกัน คบหาดูใจกันนานเท่าไร เพลงในเพลย์ลิสต์ก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และจำนวนเลขเวลาก็จะเยอะตาม หากไปส่องหน้า Spotify ของคนที่เราชอบแล้วไปเจอว่า เขากำลังแชร์เพลย์ลิสต์อยู่กับใคร เป็นจำนวนรวมหลายชั่วโมงก็อาจสื่อว่า เขากำลังอยู่ในความสัมพันธ์ที่พิเศษอยู่
อย่างไรก็ตามรักได้ก็หมดรักได้ สร้างเพลย์ลิสต์ได้ก็ลบทิ้งได้ เหมือนการเผาจดหมายรักทิ้ง เพราะเพลงที่ใส่ในเพลย์ลิสต์เป็นเพียงอารมณ์ ความรู้สึกในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้ยึดโยงไปกับตัวตนทั้งหมดของผู้สร้าง แต่สำหรับเรื่องราวความรักในซีรีส์ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า เพลย์ลิสต์ของ Gen Z ในเรื่องจะมีเพลงเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ หรือจะถูกลบทิ้งไปในที่สุด
อ้างอิง
https://musically.com/2024/10/08/spotify-explores-gen-z-trends-blendships-mainstreaming-and-more/
Tags: GELBOYS สถานะกั๊กใจ, Gen Z, Music, เพลง, Spotify, Entertainment, Share Playlist, แชร์เพลย์ลิสต์