คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางสั่งจำคุก พิรงรอง รามสูตร คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 2 ปี ไม่รอลงอาญา ในคดีที่บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง สั่นสะเทือนหลากหลายวงการ โดยเฉพาะวงการสื่อสารมวลชนและนิเทศศาสตร์ ที่เดือดดาลกับเรื่องดังกล่าว ชวนให้ตั้งคำถามไปถึงกระบวนการยุติธรรม และคำตัดสินของศาลที่เห็นว่าพิรงรองมีเจตนาทุจริต และ ‘กลั่นแกล้ง’ ทรู ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าไปไกลเกินกว่าที่ควรจะเป็น

แต่ในอีกด้านก็มีผู้ที่ออกมาปกป้องคำพิพากษาของศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ที่ระบุชัดว่า ฝั่งพิรงรองมี ‘ช่องโหว่’ และอาจมีเจตนากลั่นแกล้งบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ที่อยู่ภายใต้ซีพีจริง

แล้วเรื่องนี้มีที่มาอย่างไร สองมุมต่างของกรณีดังกล่าว จากฝั่งที่สนับสนุนคำพิพากษาศาลและฝั่งพิรงรอง ‘เห็นต่าง’ กันเรื่องไหนบ้าง แล้วเรื่องนี้จะเดินหน้าอย่างไรต่อ ทั้งในส่วนของคดีและในส่วนของการจัดการเรื่อง OTT

The Momentum จะค่อยๆ ไล่เรียงให้ฟัง

1. ที่มากรณีดังกล่าว

เป็นที่รู้กันว่ากล่อง TrueID นั้นมีการฉายโฆษณาแทรก ไม่ได้แทรกแต่ในคอนเทนต์ของ TrueID เท่านั้น แต่แทรกในรายการปกติที่ไปฉายใน TrueID นำมาซึ่งการร้องเรียนขององค์กรผู้บริโภคไปยัง กสทช.และถึงพิรงรองในฐานะประธานอนุกรรมการรับเรื่องร้องเรียน 

พิรงรองนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ โดยตนเองนั่งเป็นประธาน เอกสารข่าว คำพิพากษาของศาลระบุว่า มีเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุม มีการแสดงความคิดเห็นถึงลักษณะ พฤติการณ์การให้บริการของ TrueID แต่จนแล้วจนรอดที่ประชุมก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปในเรื่องดังกล่าวได้

มุมต่างก็คือในที่ประชุมอนุกรรมการฯ เห็นว่า กสทช.ไม่ได้มีอำนาจเหนือ TrueID และผู้ให้บริการ TrueID ก็ไม่ได้เป็นผู้รับใบอนุญาตจาก กสทช. โดยเห็นว่า การให้บริการของ TrueID เป็นลักษณะ Over-the-Top (OTT) ซึ่ง กสทช.ยังไม่ได้มีการกำหนดนิยามเฉพาะ ขณะเดียวกันยังมีผู้ให้บริการลักษณะ OTT เหมือนกับ TrueID อีกมาก ไม่จำเป็นต้องพูดถึง TrueID เจ้าเดียว

ฝ่ายที่เห็นด้วยกับศาลก็คือเรื่องที่รับร้องเรียน และอนุกรรมการรับมาพิจารณาควรจะยุติตรงนี้ การ ‘เดินหน้า’ ของพิรงรองโดยที่ไม่ได้มีอำนาจใดๆ ถือเป็นการจงใจกลั่นแกล้ง หากแต่พิรงรองเห็นว่าควรทำหน้าที่ต่อ รับเรื่องจากผู้บริโภค

ประเด็นที่ยืดยาวดังกล่าวจึงเริ่มต้นจากจุดนี้

2. ต้องเตรียมตัวจะ ‘ล้มยักษ์’

ในการประชุมครั้งเดียวกันมีคำพูดจากพิรงรองที่หลุดไปเป็นหลักฐานในชั้นศาล โดยพิรงรองพูดในที่ประชุมว่า จะไม่ได้แจ้งเรื่องนี้ไปยังบริษัท TrueID โดยตรง แต่แจ้งไปยังช่องรายการที่ได้รับอนุญาตจาก กสทช.ทั้ง 127 ราย ให้ตรวจสอบดูว่า ได้นำช่องรายการที่ได้รับอนุญาตจาก กสทช.ไปออกอากาศผ่านโครงข่ายใด นำไปเผยแพร่ในแพลตฟอร์มใด และได้ปฏิบัติตามประกาศ กสทช.ที่เรียกว่ากฎ Must Carry หรือไม่ ถึงตรงนี้พิรงรองระบุว่า “เป็นวิธีตลบหลัง” 

ในคำพิพากษาของศาล ปรากฏคำพูดว่าพิรงรองใช้คำว่า “ต้องเตรียมตัว จะล้มยักษ์” ซึ่งกลายเป็นหลักฐานสำคัญที่ทรูไอดีอ้างว่า พิรงรองตั้งใจจะล้มกิจการ และศาลก็เห็นไปในทิศทางนั้น

คำพิพากษาของศาลรวมถึงฝั่งทรูเห็นว่า การที่สำนักงาน กสทช.ส่งเรื่องดังกล่าวไปยังผู้ได้รับอนุญาตทั้ง 127 ราย เป็นการสร้างความเสียหายให้กับทรูโดยตรง

ข้อมูลภายในพบว่า มีการออกหนังสือทั้งสิ้น 3 ฉบับ 

1. ฉบับแรกออกถึงสื่อที่ได้รับใบอนุญาตประกอบการ 

2. ฉบับที่ 2 ออกโดยสำนักงาน ให้มีการ ‘ระบุถึงบริษัท’

3. ฉบับที่ 3 ทำถึงบริษัทอีกบริษัทที่มีการประกอบการ OTT แบบเดียวกัน

นอกจากนี้ในคำพิพากษายังระบุว่า มีรายงานการประชุม ‘ปลอม’ ที่พิรงรองเป็นคนสั่งให้ทำ โดยให้ระบุชื่อบริษัท TrueID ชัดเจน ในหนังสือแจ้ง ทั้งที่ไม่ได้เป็นมติที่ประชุม

ถึงตรงนี้มีรายงานว่าในตอนแรก ทรูได้ยื่นฟ้องไปยังเจ้าหน้าที่ กสทช.ที่ออกหนังสือไปยังผู้ได้รับอนุญาต 127 ราย แต่กรณีนี้สุดท้ายมีการ ‘ถอนฟ้อง’ และนำหลักฐานดังกล่าวไปยื่นฟ้องพิรงรองในศาลอาญาคดีทุจริตโดยใช้คำให้การพยาน-หลักฐานจากคดีก่อนหน้าไปฟ้องพิรงรอง

2 มุมต่างในเรื่องดังกล่าวก็คือ พิรงรองมีเจตนา ‘สุจริต’ หรือไม่ มุมหนึ่งอาจมองได้ว่าเป็นการทำหน้าที่ Regulator กำกับดูแล ตามบทบาท กสทช.คือเมื่อมีประชาชนร้องเรียนมา ก็ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบและออกหนังสือ ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน และปกป้องประโยชน์ของผู้ได้รับใบอนุญาต

ขณะที่อีกมุมหนึ่งมองว่า เป็นการทำหน้าที่เกินบทบาทของ กสทช.เพราะ กสทช.ไม่ได้มีอำนาจตามกฎหมายในเรื่องดังกล่าว เป็นการทำเกินหน้าที่ และจงใจกลั่นแกล้งทรู

3. การเมืองภายใน กสทช.

ณ จุดหนึ่งมีการรวบรวมคดีที่ฟ้องกันไปมาภายในสำนักงาน กสทช.มากถึง 7 คดี ซึ่งฟ้องกันไปมาระหว่างพิรงรอง-กรรมการ กสทช.คนอื่นๆ รวมถึงผู้บริหารสำนักงาน กสทช.ทั้งรักษาการเลขาธิการ และรองเลขาธิการ ต่างก็มีคดีกับกรรมการ กสทช.

ตรงจุดนี้ทำให้ยากที่ กสทช.จะทำหน้าที่เป็น Regulator ในการกำกับดูแลวิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคม เพราะแม้แต่ในองค์กรเองยังกำกับดูแลตัวเองไม่ได้

กรรมการ กสทช.ถูกแบ่งออกเป็น ‘เสียงข้างมาก’ และ ‘เสียงข้างน้อย’ นับตั้งแต่กรรมการชุดนี้เข้ามา เรื่องที่เห็นชัดก็คือ การออกมติ ‘ควบรวม’ ทรูและดีแทคที่ กสทช.ไฟเขียวไปเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ที่ตอนแรกเสียงเท่ากัน แต่ในเวลาต่อมา นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ใช้สิทธิโหวตซ้ำจนดีลดังกล่าวผ่านฉลุย หรือกรณีวุ่นวายภายในว่าด้วยการคัดเลือกเลขาธิการ กสทช. โดยเป็นที่รับรู้ว่า พิรงรองอยู่ในฝ่ายเสียงข้างน้อย ตรงข้ามกับฝั่งนายแพทย์สรณเสมอมา

แต่เรื่องนี้ผู้ที่เห็นด้วยกับคำพิพากษาเห็นว่า ไม่ได้เกี่ยวกับการเมือง หากแต่เป็นท่าทีและการใช้คำของพิรงรอง ที่ไม่อาจมี ‘การเมืองภายใน’ เข้าไปแทรกได้ รวมถึงความพยายามเรื่องการเปลี่ยนรายงานการประชุม ที่ ณ ตอนนี้ยังมีแต่หัวข้อ ไม่ได้มีรายละเอียดว่าพิรงรองสั่งการอย่างไร 

ฝั่งพิรงรองยังไม่ได้ชี้แจงเรื่องนี้ และอาจไม่ได้ชี้แจงในที่สุด เพราะจะเป็นรายละเอียดในการสู้คดีในศาลอุทธรณ์-ศาลฎีกาต่อไป 

4. สถานะของ OTT 

ปัจจุบัน AIS PLAYBOX ดำเนินธุรกิจโดยระบุว่าเป็น IPTV อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. ทว่า TrueID ระบุว่า เป็นกิจการประเภท OTT ซึ่งอยู่นอกเหนือการกำกับดูแลของ กสทช. 

ประเด็นสำคัญก็คือฝ่ายผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลต่างเรียกร้องให้ กสทช.ออกกฎเพื่อควบคุม OTT ไม่ให้ระบบ OTT สามารถโฆษณาออนไลน์ โฆษณา Pop Up ขึ้นมาได้ระหว่างชม โดยอาศัยช่องว่างระหว่างที่ กสทช.ยังไม่มีกฎหมายควบคุมมารับเงินโฆษณาเอง โดยที่ผู้ประมูลทีวีดิจิทัลเสียประโยชน์จากการได้รับเงินค่าโฆษณาโดยตรง กลายเป็นผู้ประกอบการ OTT ที่ได้รับโฆษณา 

ตรงจุดนี้ พิรงรองและฝั่งผู้ประกอบการอยู่ระหว่างทำร่างประกาศเพื่อกำกับดูแลแพลตฟอร์มสตรีมมิงเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่แล้วเสร็จ ยังไปไม่ถึงคณะกรรมการชุดใหญ่

แหล่งข่าวใน กสทช.ระบุว่า เรื่องยากลำบากคือ หากกำหนดเฉพาะ OTT ไทย แต่ไม่ครอบคลุมไปกำกับดูแล OTT ต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็น YouTube, Facebook ไปจนถึง iQIYI, VIU หรือกระทั่ง Netflix ให้อยู่ภายใต้กฎ Must Carry ก็อาจถูกร้องเรียนเรื่อง ‘การเลือกปฏิบัติ’ ได้

เรื่อง OTT จึงคาราคาซัง โดยมีเดิมพันสำคัญคือการประมูลทีวีดิจิทัลอีกครั้งในปี 2572 โดยหากระบบทีวีเปลี่ยนผ่านไปสู่ OTT กันหมด เมื่อถึงเวลานั้นอาจไม่มีใครเข้าร่วมการประมูลอีกต่อไป เป็นการล่มสลายของทีวีดิจิทัล (แบบเดิม) อย่างแท้จริง 

5. อนาคตของ ‘พิรงรอง’

สิ่งที่หลายคนตั้งคำถามก็คือ แล้วนับจากนี้นับจากวันที่ถูกศาลตัดสินจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา พิรงรองจะยังสามารถพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวกับ ‘ทรู’ ได้อีกหรือไม่ หรือหากพิจารณาก็จะมีข้อร้องเรียนจากทรู รวมถึงฝั่งตรงข้ามอีกมากว่าพิรงรองนั้น ‘เป็นกลาง’ พอจะพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวกับทรูได้หรือไม่

ขณะเดียวกันหากพิรงรองไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องที่เกี่ยวกับทรู สถานะส่วนตัวในฐานะกรรมการ กสทช.ก็จะลำบากยิ่ง เพราะทรูนั้นอยู่ทั้งกิจการเผยแพร่ภาพ กิจการอินเทอร์เน็ต รวมถึงกิจการโทรคมนาคม

เดือนพฤษภาคมนี้ กสทช.จะมีการประมูลคลื่น 6G 6 คลื่นย่านความถี่ ซึ่งประธาน กสทช.เคยพูดก่อนหน้านี้ว่าจะนำเงินเข้ารัฐมากกว่า 1.2 แสนล้านบาท นอกจากนี้ยังมีเรื่องสำคัญอื่นๆ ที่ค้างนานหลายปี เป็นต้นว่าร่างประกาศ กสทช.เรื่องการกำหนดและกำกับดูแลโครงสร้างอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ ร่างประกาศ กสทช.เรื่องโครงสร้างภายในสำนักงาน กสทช.ต่างก็ค้างเติ่งตั้งแต่ปี 2566 เรื่องคาราคาซังเหล่านี้เป็นผลพวงจากการเมืองภายในอันยุ่งเหยิงทั้งสิ้น

แต่ทั้งหมดหลักใหญ่ยังอยู่ที่เรื่องของคำพิพากษาศาลคดีทุจริตฯ ชั้นต้น ฉบับเต็มที่จะระบุว่า การกระทำของพิรงรองในรายละเอียดนั้น ‘กลั่นแกล้ง’ และ ‘จงใจเลือกปฏิบัติ’ กับทรูอย่างไร ซึ่งจนถึงขณะนี้ฝั่งทรูก็เงียบ และฝั่งที่สนับสนุนพิรงรองก็ยังไม่ได้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมเช่นกัน

ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัวระหว่างใครหรือองค์กรใด แต่ล้วนซับซ้อน โยงใย เดิมพันด้วยผลประโยชน์มหาศาล และแน่นอนว่าไม่อาจจบลงได้ง่ายๆ

Tags: , , , ,