วันนี้ (6 กุมภาพันธ์ 2568) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อ่านคำพิพากษาคดี บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด เป็นโจทก์ฟ้อง พิรงรอง รามสูต คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรณี กสทช.มีหนังสือแจ้งผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ให้นำช่องรายการไปให้บริการบนแพลตฟอร์ม TrueID 

ทั้งนี้คำพิพากษาของศาลระบุว่า พิรงรองกล่าวในที่ประชุมคณะอนุกรรมการ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 แสดงให้เห็นถึงเจตนาที่จะ ‘ล้มกิจการ’ ของทรู โดยกล่าวทำนองว่า “วิธีการที่เราจะจัดการเรื่องนี้ไม่ได้ไปทำที่โจทก์ (ทรู) โดยตรง แต่ไปทำที่ช่องรายการที่รับใบอนุญาตจาก กสทช.เป็นการใช้วิธีตลบหลัง” โดยในที่ประชุมมีผู้เข้าประชุมไม่เห็นด้วยกับวิธีการของพิรงรอง เนื่องจากเป็นการกระทำเฉพาะการให้บริการแอปพลิเคชัน TrueID แต่พิรงรองพยายามโน้มน้าวและรวบรัดการพิจารณา และก่อนจบการประชุมของคณะอนุกรรมการฯ จำเลยให้เตรียมความพร้อมที่จะล้มหรือระงับการให้บริการแอปพลิเคชัน TrueID ของโจทก์ โดยใช้คำพูดว่า “ต้องเตรียมตัวจะล้มยักษ์” 

ขณะเดียวกันต่อมาพิรงรองให้สำนักงาน กสทช.แจ้งไปยังผู้ได้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ทุกราย ให้ทราบเกี่ยวกับการให้บริการแอปพลิเคชัน TrueID ของโจทก์เพียงรายเดียวว่า ยังไม่ได้เป็นผู้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ และยังมิได้แสดงความประสงค์ขอรับใบอนุญาตตามขอบเขตการได้รับบริการประเภทโครงข่ายไอพีทีวี

“โดยการกระทำของจำเลยดังกล่าว ทำให้ผู้ที่ได้รับหนังสือแจ้งของจำเลยมีความเข้าใจว่า โจทก์จงใจกระทำผิดกฎหมาย ไม่แสดงความประสงค์ขอรับใบอนุญาต ทั้งที่จำเลยทราบข้อเท็จจริงว่า การให้บริการแพลตฟอร์มโอทีที (Over the Top) ในรูปแบบแอปพลิเคชัน TrueID กสทช.ยังมิได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เป็นการเจตนาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ อันเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมาย

ทั้งนี้ในคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบระบุตอนหนึ่งว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ประชุมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับลักษณะหรือพฤติการณ์ในการให้บริการของ TrueID แต่ที่ประชุมยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้

ประกอบกับที่ประชุมเห็นว่า ปัจจุบันมีผู้ให้บริการในลักษณะโอทีทีเช่นเดียวกับ TrueID จำนวนมาก ซึ่งไม่ได้เป็นผู้รับใบอนุญาตและไม่ได้รับการกำกับดูแลจาก กสทช.

การนำเอาประเด็นลักษณะของการให้บริการของ TrueID มาพิจารณาเพียงรายเดียว จึงอาจส่งผลต่อการพิจารณาในประเด็นต่างๆ ในอนาคตได้ ขณะเดียวกัน กสทช.ยังไม่ได้มีการประกาศกำหนดนิยามของบริการโอทีทีเป็นการเฉพาะ รวมถึงยังได้มีหนังสือไปยังผู้ได้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์

“แต่ปรากฏว่า ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 เจ้าหน้าที่ฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมการได้จัดทำบันทึกและร่างหนังสือของสำนักงาน กสทช. ตามเสนอเข้าสู่ระบบงานสารบัญทางคอมพิวเตอร์ของสำนักงาน กสทช. ให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณาตามขั้นตอน นาง ก. ซึ่งทำหน้าที่กลั่นกรองงานให้แก่รองเลขาธิการ กสทช. ทำให้นาง ก.ได้สอบถามเหตุผลและความจำเป็น ในการทำบันทึกและร่างหนังสือของสำนักงาน กสทช. จะต้องระบุชื่อการให้บริการ TrueID ของโจทก์เป็นการเฉพาะ ซึ่งได้รับแจ้งว่า จำเลย (พิรงรอง) เป็นผู้สั่งการและเร่งรัดให้จัดทำบันทึกและร่างหนังสือดังกล่าว และ กสทช.ได้มีหนังสือไปยังผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์รวม 127 ราย 

“ต่อมาวันที่ 2 มีนาคม 2566 มีการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ครั้งที่ 4/2566 ซึ่งจำเลยได้ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม จำเลยได้มีการต่อว่าและตำหนิฝ่ายเลขานุการที่มีการจัดทำหนังสือ โดยไม่ได้ระบุหรือเจาะจงถึงการให้บริการ TrueID ของโจทก์ และในรายงานการประชุมของคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ครั้งที่ 3/2566 ไม่ได้มีมติให้สำนักงาน กสทช.จะต้องมีหนังสือแจ้งไปยังผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ โดยระบุเจาะจงถึงบริการ TrueID ของโจทก์ แต่ตามบันทึกรายงานการประชุมกลับมีการระบุว่า ที่ประชุมมีมติรับรองรายงานการประชุมครั้งที่ 3/2566 และเห็นควรมีหนังสือแจ้งผู้ให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ทั้งที่ในความเป็นจริงการประชุมคณะอนุกรรมการ ครั้งที่ 4/2566 ไม่ได้มีมติดังกล่าวแต่อย่างใด อันเป็นการทำเอกสารรายงานการประชุมอันเป็นเท็จ เมื่อพิจารณาประกอบกับถ้อยคำที่จำเลยได้กล่าวในการประชุมคณะอนุกรรมการ”

ขณะเดียวกันในการประชุม พิรงรองยังระบุว่า “ต้องเตรียมตัวจะล้มยักษ์” และพิรงรองก็ยอมรับว่าคำว่า ‘ยักษ์’ หมายถึงโจทก์ (ทรู) ถือเป็นการสื่อความหมายชัดเจนว่า ประสงค์ให้กิจการของโจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ เจตนามุ่งประสงค์กลั่นแกล้งโจทก์ และใช้อำนาจหน้าที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เพราะภายหลังจากมีหนังสือดังกล่าวแจ้งไปยังผู้ประกอบการรวม 127 รายแล้ว มีผู้ประกอบกิจการหลายรายได้ชะลอหรือขยายระยะเวลาเข้าทำนิติกรรมกับโจทก์

“การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ส่วนพยานหลักฐานของจำเลย ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำคุก 2 ปี”    

ก่อนหน้านี้พิรงรองยืนยันว่า การทำหน้าที่ของตนเองและอนุกรรมการมุ่งหมายหาแนวทางแก้ปัญหาของผู้บริโภค ตามที่มีข้อร้องเรียนและให้มีการกำกับดูแลผู้รับใบอนุญาตตามกฎหมาย รวมถึงต้องการให้ผู้รับใบอนุญาตช่องรายการ ตรวจสอบและตระหนักถึงการป้องกันตนเอง ไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิในรายการ ขณะเดียวกันการพิจารณาให้ความเห็นก่อนหน้านี้เป็นเพียงการให้ข้อเสนอแนะต่อสำนักงาน กสทช. และคณะอนุกรรมการไม่ได้มีอำนาจสั่งการ การที่สำนักงาน กสทช.มีหนังสือเวียน ถือเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ปกติ

ทั้งนี้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้อนุญาตให้ ‘ประกันตัว’ พิรงรองด้วยหลักทรัพย์ 1.2 แสนบาท ทำให้ยังสามารถดำรงตำแหน่ง กสทช.ต่อไปได้ โดยหลังจากนี้ยังสามารถต่อสู้คดีได้ในศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาต่อไป

Tags: , ,