วันนี้ (22 มกราคม 2567) ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสัมมนา ‘การปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรมไทย แบบทำน้อยได้มากและเห็นผลเร็ว: กรณีศึกษา ลุงเปี๊ยก ที่ตกเป็นแพะรับบาป และถูกทรมานบังคับให้สารภาพผิดคดีฆาตกรรมป้าบัวผัน’

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมา การปฏิรูปตำรวจทำกันมามาก แต่ไม่เห็นผล เพราะมุ่งเป้าไปที่การแก้ไขโครงสร้างใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแก้กฎหมาย การออกระเบียบต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้เวลานานและปฏิบัติได้ยาก

ด้วยเหตุนี้ จึงเสนอการปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรมด้วยการทำน้อยได้มากและเห็นผลเร็ว ด้วยการเริ่มแก้ไขปัญหาที่แก้ไขได้โดยไม่จำเป็นต้องรอการเปลี่ยนแปลงจากระบบใหญ่ แต่ทำได้เพราะมีเครื่องมือและกฎหมายรองรับอยู่แล้ว

สำหรับกรณีของ ‘ลุงเปี๊ยก’ ผู้ถูกให้เป็นแพะรับความผิดจากการเสียชีวิตของป้าบัวผัน ซึ่งท้ายที่สุดตำรวจยอมรับว่าจับผิดตัว แต่ยังคงมีการทำแผนประกอบคำรับสารภาพ และถูกตั้งข้อสงสัยว่ามีการทรมานลุงเปี๊ยกให้สารภาพ สะท้อนว่ากระบวนการยุติธรรมของไทย ไม่ได้เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง ขณะที่ประเทศอื่น อย่างเยอรมนีที่ให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง นอกจากนี้ยังไม่เคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน โดยการสอบสวนมุ่งไปเพื่อให้เกิดการสารภาพ เพราะตำรวจพิพากษาไปแล้ว

นอกจากการทำงานที่ไม่มุ่งเน้นไปยังประชาชนแล้ว ยังไม่ได้กระทำตามกฎหมายว่าด้วยกระบวนวิธีในการพิจารณาความอาญา อีกทั้งยังมีประกาศใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการอุ้มหายทรมานแล้ว นอกจากนี้ ยังฝากขังผู้ต้องหาเร็วเกินไปและไม่พิจารณาอย่างถี่ถ้วน ทั้งที่โดยปกติเรือนจำคือบทลงโทษสุดท้าย คนที่จะนอนในเรือนจำได้คือผู้ที่ถูกลงโทษและศาลพิพากษาแล้ว

“ท้ายที่สุด แม้จะมีการให้ศาลเข้ามาตรวจสอบก่อนการฝากขัง แต่ศาลก็ไม่ได้พิจารณาถี่ถ้วน เพราะมีการนำฝากขังให้ไปขังกับนักโทษ แม้กระทั่งผู้พิพากษาเอง ก็ไม่ได้ทำตามรัฐธรรมนูญ”

จากปัญหาเหล่านี้ ปริญญาชี้ให้เห็นว่า กระบวนการยุติธรรมของไทยมีปัญหาและถูกแก้ไขอย่างไม่เห็นผล จึงเสนอแก้ไขกระบวนการยุติธรรม 4 ข้อ ดังนี้

1. เปลี่ยนตำรวจไทยให้ทำงานแบบ Citizen Oriented หรือการเอาประชาชนเป็นศูนย์กลางและเคารพกฎหมาย การจะไปเปลี่ยนหลักสูตรโรงเรียนนายร้อยเป็นสิ่งที่ต้องทำ แต่เป็นแผนที่ใช้เวลานาน จึงเสนอวิธีการที่ทำได้ทันที คือการทำหลักสูตรระยะสั้น

2. ยกเลิกการที่ผู้ต้องหาและจำเลยถูกคุมขังในคุก

3. ผู้ต้องกักขังที่ต้องคำพิพากษาให้จ่ายค่าปรับแล้วไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ เป็นกฎหมายที่กักขังคนจน

4. กระบวนการยุติธรรมต้องมีการบูรณาการ ตรวจสอบและประเมินผล โดยใช้ตัวชี้วัด ดังนี้

– จำนวนผู้ต้องขังลดลง

– จำนวนผู้กระทำผิดซ้ำลดลง (ระบบจัดหางานให้นักโทษที่พ้นโทษ)

– ค่าใช้จ่ายคดีสูงมาก ความเหลื่อมล้ำสูงมาก

– ต้องลดความล่าช้าของคดี และเปลี่ยนตัวชี้วัดโดยใช้การบังคับใช้กฎหมายและการกระทำความผิดลดลงเป็นเป้าหมาย

อย่างไรก็ตาม ปริญญาย้ำว่า การเสนอแนวทางนี้ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือคนใดคนหนึ่ง แต่แนวทางนี้จะช่วยให้ผู้ที่ไม่จำเป็นและไม่มีเหตุผลต้องถูกกักขัง ได้รับความยุติธรรมและช่วยลดจำนวนนักโทษในเรือนจำ ซึ่งปัญหานักโทษล้นเรือนจำเป็นปัญหาที่นำไปสู่การออกจากเรือนจำเร็วและกระทำผิดซ้ำซาก

Tags: ,