เป็นที่รู้กันดีว่า ออสการ์ไม่ค่อย ‘เห็นค่า’ หนังฌ็อง Horror นัก แม้หลายสิบปีที่ผ่านมา หนัง Horror หลายต่อหลายเรื่องจะพิสูจน์ตัวเองทั้งในแง่รายได้และคำวิจารณ์ แต่ออสการ์ก็ดูจะไม่แยแสหรือพิจารณาคุณค่าของหนัง Horror นัก ด้านหนึ่งก็อาจมาจากการเป็นหนังเกรดบีที่ ‘ไม่ใช่ทาง’ ของออสการ์ทั้งในแง่ของตัวหนังหรือในแง่การแสดงก็ตาม

ความสำเร็จของ The Substance (2024) ที่เข้าชิงออสการ์ 4 สาขา รวมทั้งสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมโดย เดมี มัวร์ (Demi Moore) และปรากฏการณ์นี้ไม่เพียงแต่จุดประกายให้ผู้คนหันมาสำรวจหนัง Horror ด้วยสายตาแบบใหม่ แต่ยังรวมถึงการแสดงที่ก็ต้องอาศัยพลัง ฝีมือ และหัวจิตหัวใจไม่น้อยไปกว่าหนังฌ็องอื่นๆ

ยิ่งสำหรับมัวร์เอง บทบาทของ อลิซาเบธ อดีตนักแสดงดังของฮอลลีวูดที่ถูกโปรดิวเซอร์บีบให้ ‘ตกกระป๋อง’ เพราะอายุที่มากขึ้นจนเธอต้องหันไปพึ่งสารลึกลับที่ทำให้เธองอกร่างใหม่ที่สาวกว่า สวยกว่า และสมบูรณ์แบบกว่าออกมา ก็เป็นบทบาทแรกที่ส่งเธอชิงออสการ์ ทั้งก่อนหน้านี้ก็ส่งเธอคว้ารางวัลนำหญิงยอดเยี่ยม สาขาภาพยนตร์ดราม่าจากเวทีลูกโลกทองคำมาครอง นำมาสู่สปีชการขึ้นรับรางวัลชวนสั่นสะเทือนหัวใจเมื่อเธอบอกว่า “นี่นับเป็นรางวัลแรกของฉันตลอด 45 ปีในฐานะนักแสดงเลย”

The Substance 2024

สำรวจภาวะชิงชังตัวเองของมนุษย์

The Substance ฉายรอบปฐมทัศน์ที่คานส์ มันคว้ารางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากคานส์และส่ง กอราลี ฟาร์ฌาต์ (Coralie Fargeat) ผู้กำกับเข้าชิงปาล์มทองคำเป็นครั้งแรก ทั้งสื่อยังพากันประโคมข่าวที่คนดูพร้อมใจกันลุกขึ้นยืนปรบมือให้การแสดงของมัวร์ นักวิจารณ์บอกว่า มันเป็นบทบาทที่ดีที่สุดตั้งแต่ที่เธอเคยแสดงหนังมา “ฉันไม่เคยมีหนังที่ได้มาฉายรอบปฐมทัศน์ที่คานส์เลย” มัวร์บอก “มันเลยเหมือนได้มานั่งในโรงหนังกับคนที่รักหนังมากๆ และเป็นประสบการณ์ที่ตราตรึงมากๆ ด้วยเช่นกัน”

ทั้งนี้ตัวละครอลิซาเบธของมัวร์ทนทุกข์อยู่กับการถูกวงการฮอลลีวูดปฏิเสธ โปรดิวเซอร์ชายผิวขาวย้ำว่า วงการนี้ไม่มีที่สำหรับเธอแล้ว เธอจึงเลือกไปใช้บริการยาลึกลับที่ทำให้เธองอก ซู (มาร์กาเร็ต ควอลลีย์) หญิงสาวหน้าตาสะสวยคนหนึ่งออกมาจากกระดูกสันหลัง (!!) โดยทั้งคู่จะได้ตื่นมาใช้ชีวิตคนละ 7 วัน ถือเป็นกฎสำคัญที่ละเมิดไม่ได้ แต่เมื่อซูติดลมการใช้ชีวิตในฐานะดาวรุ่งหญิงคนใหม่ของฮอลลีวูดมากขึ้นเรื่อยๆ เธอก็เริ่มคิดว่าการต้องสลับร่างกับอลิซาเบธเริ่มเป็นเรื่องวุ่นวายขึ้นทุกที นำพามาซึ่งการทำลายสมดุลอันเข้มงวดของทั้งสอง 

หนึ่งในฉากที่หลายคนน่าจะจำได้ติดตาจากหนังคือ อลิซาเบธแต่งตัวสวยเพื่อออกจากบ้านไปดินเนอร์กับเพื่อนสมัยมัธยม เธอยืนมองตัวเองในกระจก ตัดสินใจ ‘เติมหน้า’ เล็กน้อยและคว้ากระเป๋าจะออกจากห้องหากแต่เธอชะงัก เธอรู้สึกว่าตัวเองไม่สวยพอจึงกลับมายังห้องน้ำอีกหนและแต่งหน้าใหม่ ก่อนจะรวบรวมใจเดินออกจากห้องอีกครั้ง ทว่าเมื่อถึงหน้าห้อง เธอก็ยังรู้สึกว่าตัวเองสวยไม่มากพอจึงกลับมาแต่งหน้าใหม่ลงเอยด้วยการที่เธอลบเครื่องสำอางทั้งหมดทิ้งด้วยสายตาชิงชังตัวเองอย่างที่สุด (นี่เป็นหนึ่งในฉากที่เหล่านักแสดงนำหญิงเต็งรางวัลทั้งหลายที่ไปออกรายการ Actress Roundtable ของ The Hollywood Reporter พากันเอ่ยชื่นชม) โดยมัวร์เล่าว่า เธอต้องถ่ายทำฉากนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และต้องขยี้ใบหน้าตัวเองสุดแรงเสียจนเธอไม่อาจทำได้อีกต่อไป เพราะเธอทนความแสบร้อนไม่ไหว

“ในแง่ของความรู้สึก ฉันคิดว่าเราน่าจะเคยผ่านจุดที่เราพยายามทำให้บางสิ่งมันดีขึ้นมาสักนิด แต่กลับลงเอยที่ทำให้มันย่ำแย่ลงไปอีก” เธอว่า “สำหรับฉัน ช่วงที่ชวนให้ใจสลายมากที่สุดจากหนังทั้งเรื่องคือ ฉากหน้ากระจก เราถ่ายทำกันอย่างต่ำครั้งละ 15 เทก จนถึงที่สุดหน้าฉันก็แทบจะป่นเป็นผงเลยล่ะ”

The Substance สำรวจภาวะการชิงชังตัวเองของมนุษย์ ที่ความรู้สึกกลัวและบานปลายไปยังความเกลียดเริ่มขึ้นจากการไม่มีที่ยืนอันเนื่องมาจากพวกเธอ (หรือพวกเขา) ไม่อยู่ในมาตรฐาน ‘ความงาม’ อันไม่มีทางไปถึงของอุตสาหกรรมฮอลลีวูดได้อีกแล้ว องก์ท้ายของเรื่องที่ว่าด้วยความบ้าดีเดือดและกองเลือดหลายลิตร จึงเป็นเสมือนเสียงตะโกนระบายความอัดอั้นแค้นใจของตัวละคร ไม่ว่าจะอลิซาเบธหรือซู รวมทั้งผู้คนอื่นๆ ในอุตสาหกรรมแห่งนี้ที่ถูกปัดกวาดทิ้ง

“ถ้าเรามองย้อนกลับไปยังการเป็นนักแสดง หนังมันพูดถึงความปรารถนาในการจะถูกยอมรับ ถูกมองเห็นถูกชื่นชม ได้เป็นหนึ่งเดียวกับคนอื่น และมันยังว่าด้วยเรื่องความรู้สึกของการถูกปฏิเสธ รู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอสักที ความรู้สึกของการที่มีคนมาตอกย้ำใส่เราว่าเราไม่ดีอะไรสักอย่าง” มัวร์ว่า “และยิ่งเมื่อเพิ่มมิติด้านอายุเข้าไป ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ มันก็กลายเป็นการสำรวจการยอมรับตัวเองอันกะพร่องกะแพร่งของตัวละคร สิ่งที่ฉันรู้สึกว่าเชื่อมโยงกับตัวเองมากที่สุดคือ วิธีการอันแสนประหลาดที่ฟาร์ฌาต์เลือกเรื่องราวเหล่านี้แหละ” 

Carrie 1976

พลังจิตและการแก้แค้นของเด็กสาว 

หนัง Horror อีกเรื่องที่เคยส่งนักแสดงนำเข้าชิงออสการ์สาขานำหญิงยอดเยี่ยมคือ Carrie (1976) ของ ไบรอัน เดอ พัลมา (Brian De Palma) ดัดแปลงจากงานเขียนชื่อเดียวกันของ สตีเฟน คิง (Stephen King) หนังเล่าเรื่องของ แคร์รี (ซิสซี สเปเซก) นักเรียนหญิงวัย 16 ปีที่ถูกเพื่อนๆ กลั่นแกล้งเสมอ เพราะความเป็นคนพูดน้อยและเก็บเนื้อเก็บตัวของเธอ และหนักหนามากขึ้นเมื่อเธอเป็นประจำเดือนครั้งแรกกลางชั้นเรียนพละ ยังผลให้เธอถูกเพื่อนร่วมชั้นหัวโจกล้อเลียนให้อับอาย ทั้งยังปาผ้าอนามัยใส่เธอกลางห้อง ซ้ำร้ายไปกว่านั้น แม่ของเธอที่เป็นพวกหมกมุ่นกับศาสนาแบบสุดโต่ง ยังพร่ำบอกเธอว่า เลือดประจำเดือนของเธอเป็นคำสาปเพราะเธอทำบาปหนาไว้ และบังคับให้เธอสวดอ้อนวอนขอความเมตตาจากพระเจ้า ไม่นานหลังจากนั้นแคร์รีพบว่า เธอมีพลังจิตที่ยิ่งทำให้แม่ของเธอเชื่อว่าเธอเป็นแม่มดร้าย และยิ่งทำให้แคร์รีต้องเก็บงำพลังนี้ไว้กับตัวเอง

หลังจากที่ใช้ชีวิตในรั้วโรงเรียนด้วยความอับอายและอยู่ในบ้านที่ราวกับเป็นนรก ช่วงเวลาดีๆ ก็เหมือนจะมาเยือนแคร์รี เมื่อหนุ่มหล่อของโรงเรียนชวนเธอไปงานพรอม โดยไม่รู้ว่าในงานนั้น เพื่อนหัวโจกที่เคยกลั่นแกล้งเธอวางแผนให้เธอได้รับเลือกให้เป็นราชินีของงาน แล้วเทเลือดหมูทั้งถังใส่แคร์รีจนเธอเปื้อนเลือดไปทั้งตัว ด้วยความอับอายและโกรธจัด แคร์รีระเบิดพลังจิตของเธอล้างบางคนทั้งงาน แล้วจึงหายตัวไปจากเมืองอย่างเงียบเชียบ

เช่นเดียวกับงานเขียนเรื่องอื่นๆ ของคิงที่มักว่าด้วยความแหลมคมของศาสนาและความเชื่อ ทว่าสิ่งที่ทำให้ Carrie ทั้งเวอร์ชันวรรณกรรมและภาพยนตร์ถูกพูดถึงอย่างมากคือ การที่มันพูดถึงความเป็นหญิงกับการเติบโต เลือดประจำเดือนถูกมองเห็นของต่ำช้าและน่าอับอาย และมันยังถูกอ่านได้ว่าเป็นการ ‘ถือกำเนิด’ ของแคร์รีในการมีพลังจิตและควบคุม รวมถึงแก้แค้นคนที่กลั่นแกล้งรังแกเธอได้ 

ช่วงที่ถ่ายทำ แม้ตัวละครจะเป็นเด็กสาวอายุ 16 ปี แต่เวลานั้นสเปเซกก็อายุ 25 ปีแล้ว เธอทำการบ้านด้วยการตัดขาดตัวเองจากเพื่อนฝูง รวมถึงทีมงานคนอื่นๆ และประดับห้องแต่งตัวด้วยคัมภีร์ไบเบิลกับโปสเตอร์ว่าด้วยศาสนากับความเชื่อ ทั้งยังพยายามทำความเข้าใจภาษากายของคนที่ ‘โดนตรึงไว้ด้วยความผิดบาปของตัวเอง’ ซึ่งปรากฏชัดในฉากท้ายๆ ของเรื่อง 

“จำได้ว่าฉันบอกไบรอัน เดอ พัลมาที่เป็นผู้กำกับว่า หนังเรื่องนี้มันพูดถึงเด็กสาวที่อยากจะกลมกลืนกับคนอื่นๆ แต่เขาแย้งว่า “ไม่เลย ซิสซี นี่มันว่าด้วยเรื่องความโกรธของวัยรุ่นต่างหากล่ะ” ซึ่งฉันคิดว่า จุดใดจุดหนึ่งในชีวิต เราคงเคยรู้สึกเหมือนแคร์รีนี่แหละ โดยเฉพาะช่วงมัธยม และฉันว่าเหตุผลนี้เองที่ทำให้หลายคนรู้สึกเข้าใจตัวละครนี้ เพราะมันเป็นเรื่องดีมากๆ เลยที่เราหาทางระบายบางสิ่งบางอย่างออกไปได้ผ่านตัวละครในหนังน่ะ

“หัวใจของหนังเรื่องนี้มันว่าด้วยเด็กสาวที่แปลกแยกจากคนอื่น เป็นคนนอก ไม่ถูกยอมรับ และเราได้สำรวจเรื่องราวของเธอไปด้วยกัน เข้าใจความเศร้าที่เธอเจอในชีวิต เห็นอกเห็นใจเธอ ซึ่งฉันว่าไบรอันกำกับเรื่องนี้ได้ดีมากๆ เลย”

บทแคร์รีส่งให้สเปเซกเข้าชิงนำหญิงยอดเยี่ยมเป็นครั้งแรก และเธอไปคว้ารางวัลนี้ได้จากการสวมบทเป็น ลอเรตตา ลินน์ (Loretta Lynn) นักร้องคันทรี่สาวชาวอเมริกันที่เป็นตำนานแห่งวงการดนตรีจาก Coal Miner’s Daughter (1980)

Aliens 1986

ชีวิตสุดระหกระเหินของริปลีย์และการต่อสู้กับ ‘ซีโนมอร์ฟ’ 

ขณะที่คอหนัง Horror-แอ็กชันคงรู้กันดีว่า ซิกัวร์นีย์ วีเวอร์ (Sigourney Weaver) ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์จาก Aliens (1986) หนังภาคต่อว่าด้วยมนุษยชาติกับ ซีโนมอร์ฟ สิ่งมีชีวิตต่างดาวแสนอำมหิต โดยหลังจาก Alien (1979) ที่กำกับโดย ริดลีย์ สก็อตต์ (Ridley Scott) ประสบความสำเร็จถล่มทลาย สตูดิโอก็ไฟเขียวให้มีภาคต่อที่กำกับโดย เจมส์ แคเมอรอน (James Cameron) แทบจะในทันที โดยหนังว่าด้วยชีวิตสุดระหกระเหินของ ริปลีย์ (วีเวอร์) นักท่องอวกาศที่เป็นประจักษ์พยานความน่าสะพรึงของซีโนมอร์ฟหรือเอเลี่ยนด้วยตาตัวเอง เธอพยายามบอกมนุษย์ที่ออกไปตั้งรกรากบนดาวดวงอื่นว่า มีสิ่งมีชีวิตจอมทำลายล้างและเลือดเย็นเหล่านี้อยู่ แต่ก็ไม่มีใครใส่ใจฟังกระทั่งเมื่อพวกเขาค่อยๆ เงียบหายไปจากการติดต่อ และพบว่า ดาวดวงหนึ่งที่ลูกเรือทั้งหลายร่อนลงไปเจอนั้น คือที่อยู่ของฝูงเอเลี่ยนจำนวนมหาศาล!

รสมือของหนังอาจจะเปลี่ยนจากภาคแรกที่สก็อตต์กำกับ เพราะแคเมอรอนเน้นหนักไปทางฉากแอ็กชันสุดตระการตา การตะเกียกตะกายเอาชีวิตรอดของมนุษย์และความเด็ดขาดของริปลีย์ มีไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็นนักแสดงหญิงจากฌ็องหนัง Horror และแอ็กชันหลุดเข้าไปยังรอบชิงสาขานักแสดงของออสการ์ และทั้งหมดก็มาจากการแสดงอันแม่นยำของวีเวอร์ ในอันจะถ่ายทอดความเป็นมนุษย์อันอ่อนไหว ทว่าเด็ดเดี่ยวของตัวละครผู้ ‘รอดชีวิต’ ของเธอ มากไปกว่านั้นเธอยังรับหน้าที่ดูแลเด็กหญิงคนหนึ่งที่ตกอยู่ในอันตรายสุดขีดอีกด้วย

“สิ่งที่ฉันสนใจมากๆ คือตัวละครริปลีย์ไม่ได้เข้มแข็งตั้งแต่เริ่มแรกของเรื่องเลย เธอแหลกสลายและหมดแรง” วีเวอร์บอก “ฉันสัมผัสได้ถึงความสิ้นเรี่ยวสิ้นแรงของเธอ และรู้ดีว่าเธอรีดเค้นพลังงานจากทุกส่วนเพื่อเดินหน้าทำภารกิจต่อ ถึงที่สุดเธอกลายเป็นแม่ของเด็ก 9 ปีอีกต่างหาก 

เพื่อเตรียมตัวสำหรับการแสดง เธอจะแบกปืนขนาดใหญ่ยักษ์ 3 กระบอก ทั้งปืนพ่นไฟ ปืนกล และปืนยิงระเบิด ที่ใช้ในฉากไปไหนมาไหนด้วยเสมอ เพราะอยากให้รู้สึก ‘คุ้นมือ’ ให้มากที่สุด มิหนำซ้ำทุกเย็นเธอจะไปหัดใช้ปืนแต่ละชนิดกับผู้เชี่ยวชาญ “เรื่องที่ยากที่สุดคือ ปืนแต่ละกระบอกมันหนักเป็นบ้าเลย” เธอว่า “คุณต้องตรวจให้มั่นใจเสมอว่าไม่ได้เหนี่ยวไกผิดแล้วไปเผาสตันต์แมนโดยไม่ได้ตั้งใจเข้า ดังนั้นแม้จะเป็นปืนปลอมแต่มันก็อันตรายมากๆ และฉันก็เคารพอาวุธเหล่านี้มากๆ ด้วยเช่นกัน”

Black Swan 2010 นาตาลี พอร์ตแมน กับด้านขาวและด้านดำของนักบัลเลต์ 

หนัง Horror อีกเรื่องที่เคยส่งนักแสดงหญิงเข้าชิงออสการ์สาขานำหญิงยอดเยี่ยมและตัวหนังก็ชิงรางวัลสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมคือ Black Swan (2010) ของ ดาร์เรน อาโรนอฟสกี (Darren Aronofsky) ที่ถึงที่สุดแล้วก็ทำให้ นาตาลี พอร์ตแมน (Natalie Portman) คว้ารางวัลนำหญิงมาครองได้เป็นครั้งแรก จากการรับบทเป็นนักบัลเลต์หญิงที่หมกมุ่นกับความสมบูรณ์แบบ นีนา (พอร์ตแมน) นักบัลเลต์ที่อาศัยอยู่กับแม่ที่รู้สึกว่าเธอยังเป็นเด็กอยู่เสมอ นีนารู้มาว่าโทมัส (แวนซองต์ คาสเซล) ผู้กำกับละครเวทีชื่อดังกำลังจะคัดเลือกนักแสดงมารับบทเป็นนำใน Swan Lake 

เงื่อนไขสำคัญคือ ต้องรับบทเป็นทั้งหงส์ขาวอันเป็นด้านสว่าง และหงส์ดำที่เปรียบเสมือนความดำมืดของตัวละคร และนีนานั้นสวมบทบาทเป็นตัวละครหงส์ขาวได้ยอดเยี่ยม ขณะที่เธอไม่อาจเป็นหงส์ดำได้เลยทำให้ ลิลี (มิลา คูนิส) นักบัลเลต์อีกคนดูจะเป็นตัวเลือกที่โทมัสสนใจกว่า และยิ่งผลักให้นีนาหมกมุ่นหาทางเป็นหงส์ดำให้ได้ดีที่สุด ยังผลให้เธอถลำลึกไปสู่การสำรวจภาวะดำมืดในใจตัวเองที่เธอไม่เคยรับรู้มาก่อน

พอร์ตแมนเตรียมตัวสำหรับบทนีนาด้วยการเรียนบัลเลต์นาน 1 ปีเต็ม โดยระหว่างนั้นยังเป็นช่วงที่อาโรนอฟสกียังหาทุนทำหนังได้ไม่มากนัก (คูนิสเคยให้สัมภาษณ์ติดตลกว่ากองถ่ายของเธอ ‘ถังแตก’) ทำให้พอร์ตแมนออกเงินค่าเรียนของเธอด้วยตัวเองทั้งหมด ทั้งยังลดน้ำหนักไปร่วม 9 กิโลกรัม เพื่อให้รูปร่างคล้ายนักบัลเล่ต์จริงๆ 

“โค้ชสอนเรื่องพื้นฐานมากๆ ให้ฉัน ตั้งแต่การใส่ใจยืดปลายเท้า ก็คือต้องออกกำลังแค่หัวแม่เท้าวันละ 15 นาทีตลอดเพื่อให้ร่างกายพร้อมสำหรับการยืนแบบบัลเลต์” เธอบอก “แล้วจากนั้นก็ค่อยๆ เพิ่มการฝึกเข้าไปจนสุดท้ายเราฝึกกันวันละหลายชั่วโมง เพิ่มการว่ายน้ำเข้าไปด้วย ว่ายกันวันละไมล์จนร่างกายแข็งแรงขึ้นน่ะ

 “เรื่องที่ยากที่สุดคือการต้องรักษาน้ำหนักทั้งที่เราต้องใช้พลังงานมหาศาลในการถ่ายทำนี่แหละ” เธอว่า “ฉันหิวมาก ต้องการพลังงาน และฉันก็ไม่ใช่พวกหักห้ามใจตัวเองเก่งด้วยสิ คนในกองถ่าย ทั้งโค้ชสอนบัลเล่ต์ ทั้งดาร์เรน พากันพูดกับฉันว่า ‘คุณยังดูไม่ค่อยเหมือนนักบัลเล่ต์เลยแฮะ’ ซึ่งหมายความว่า ‘คุณยังผอมไม่พอ’ อะไรทำนองนั้นน่ะ”

พอร์ตแมนมองว่า เส้นแบ่งระหว่างเธอกับตัวละครนีนาที่หมกมุ่นกับความสมบูรณ์แบบนั้น อาจอยู่ที่การไม่ผลักตัวเองไปจนถึงจุดอันตรายอย่างที่ตัวละครเป็น “ฉันเป็นพวกวิจารณ์ตัวเองหนักอยู่แล้ว และไม่เคยสุขใจกับสิ่งที่ตัวเองทำจริงๆ สักครั้ง แต่ก็ไม่ใช่คนที่จะลงโทษตัวเองน่ะ” เธอว่า “ฉันเลือกไปนอนแล้วตื่นไปออกกำลังกายที่ยิม ส่วนตัวละครในหนังนี่ตื่นตั้งแต่ตี 4 หรือไม่ก็ตี 5 ไปออกกำลังกายแล้วก็ไปทำงาน เลยมีอาการเจ็บเนื้อเจ็บตัวเสมอ แต่เพราะมันเป็นโลกที่ต่างไปจากโลกที่ฉันอยู่น่ะ ถ้าเป็นฉันก็คงไปนอน ไปนวดไปหาอะไรมีความสุขทำมากกว่า”

The Silence of the Lambs (1991)

เอฟบีไอมือใหม่ กับการสำรวจเบื้องลึกจิตใจฆาตกรต่อเนื่อง 

และในประวัติศาสตร์หนัง Horror ที่ผ่านมา The Silence of the Lambs (1991) ถือเป็นหนังเรื่องเดียวที่คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากออสการ์ได้ รวมทั้งทางวัลนำชายโดย แอนโทนี ฮอปกินส์ (Anthony Hopkins) และนำหญิงยอดเยี่ยมคือ โจดี ฟอสเตอร์ หนังว่าด้วยเรื่อง สตาร์ลิง เจ้าหน้าที่เอฟบีไอมือใหม่ (ฟอสเตอร์) ได้รับมอบหมายให้สืบคดีฆาตกรรมต่อเนื่องที่ถลกหนังเหยื่อด้วยความอำมหิตทุกครั้ง

เธอขอรับคำแนะนำจาก ดร.ฮันนิบาล เล็กเตอร์ (ฮอปกินส์) ฆาตกรที่เป็นอดีตจิตแพทย์ที่เคยสร้างความสยดสยองให้คนทั้งเมืองด้วยการสังหารเหยื่อแล้วกินศพ เล็กเตอร์ถูกจำคุกอยู่ในบัลติมอร์ เขาสนทนากับสตาร์ลิงด้วยความสนใจอย่างยิ่งและพร้อมกับแนะแนวทางเข้าใจฆาตกรต่อเนื่องที่เธอยังตามจับไม่ได้ เขาก็สำรวจสภาพจิตใจและอดีตเบื้องหลังของเธอผ่านการสนทนาอันแหลมคมไปด้วย

ฮอปกินส์ปรากฏตัวในหนังทั้งเรื่องเพียง 26 นาที กับการออกแบบการแสดงอันแม่นยำและเยี่ยมยอด ไม่ว่าจะท่าทีความเยือกเย็นของเล็กเตอร์, การจ้องมองมายังคนดูโดยตรง, การที่ตัวละครแทบไม่กะพริบตาเลย เพื่อสร้างความรู้สึกคุกคามและเป็นอื่น ขณะที่ฟอสเตอร์ในวัย 29 ปีคว้าออสการ์ได้เป็นครั้งที่ 2 ถัดจากThe Accused (1988) กับคำชื่นชมการแสดงของเธอที่ไม่เพียงแต่ต้องเผชิญหน้ากับฮอปกินส์และไม่โดนกลบ แต่ยังหาทางฉายแสงและถ่ายทอดเรื่องราวของตัวละครได้อย่างมีมิติ โดยเฉพาะการเก็บงำความลับในวัยเด็กของตัวเองและต้องยอมรับมันกับตัวละครเล็กเตอร์

“มันมีฉากหนึ่งที่ฮันนิบาลพูดว่า ‘คุณรู้ไหมว่าผมมองคุณที่สะพายกระเป๋าสวยๆ กับรองเท้าถูกๆ เหมือนอะไร’ ฉันไม่รู้อีกแล้วว่า การพูดจาทำร้ายใจใครสักคนมันจะเจ็บปวดไปกว่านี้ได้ยังไง มันเหมือนเขาพูดว่า ‘ผมเสียใจกับคุณจริงๆ คุณดูน่าสมเพชมาก’ แล้วจากนั้นเขาก็เริ่มล้อเลียนสำเนียงพูดฉัน” ฟอสเตอร์ว่า “เขาบอกว่า ‘ปัญหาของคุณนะคลาริส คุณต้องหาทางใช้ชีวิตให้สนุกกว่านี้’ และตอนนั้นแหละที่ฉันรู้สึกเจ็บปวดมากเลย เพราะแอนโทนีเป็นเพื่อนร่วมงานที่น่ารักที่สุดคนหนึ่งเท่าที่ฉันเคยเจอมาทั้งชีวิต แต่พอเขากลายเป็นตัวละคร วิธีที่เขาฉายภาพความคุกคามของฮันนิบาล เล็กเตอร์มันช่างน่าสนใจจริงๆ

 “จำได้ว่าตอนถ่ายทำ ฉันแทบไม่ได้คุยกับเขาเลย เพราะหลบหน้าเขาทุกครั้งที่พอจะทำได้” ฟอสเตอร์ว่า “จนเขาตรงมาหาฉัน จำได้ว่าฉันเงยหน้าขึ้นมองเขา น้ำตาคลอเบ้าเลย บอกเขาไปว่า ‘ฉันกลัวคุณมากเลย’ แล้วเขาก็บอกฉันว่า ผมก็กลัวคุณมากเหมือนกัน!” 

การเข้าชิงออสการ์สาขานำหญิงยอดเยี่ยมของเดมี มัวร์ในครั้งนี้ อาจปักหมุดหมายสำคัญของนักแสดงหญิงในหนังฌ็อง Horror ขึ้นมาอีกครั้ง เพราะเธอได้พิสูจน์แล้วว่า มันก็เป็นหนังในฌ็องหนังที่เรียกร้องทักษะและพลังทางการแสดงสูงลิ่ว ไม่แพ้ฌ็องอื่นใดที่ออสการ์โปรดปรานเลย

 

Tags: , , , , ,